The Cloud X ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

“ไม่มีหินก้อนใดโง่”

“โรงเรียนนอกกะลา”

เพราะเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพเท่าเทียมกัน ไม่มีใครฉลาดหรือโง่กว่าใคร มีแต่เด็กที่ไม่ได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดี ถูกต้อง และมีคุณภาพเท่านั้น โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จึงถูกก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2546 

ด้วยวัตถุประสงค์ในการเป็นโรงเรียนตัวอย่างที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้ทุกคนโดยเท่าเทียมกัน

ลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กฉลาดผ่านความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเอง

เราเดินทางไกลสู่จังหวัดบุรีรัมย์เพื่อไปพูดคุยกับ ครูวิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่และผู้ก่อตั้งโรงเรียนที่ร่มรื่นไปด้วยไม้ใหญ่แห่งนี้มีรูปแบบการสอนฉีกไปจากแนวคิดเดิมทางการศึกษา เพื่อสร้างระบบปัญหาการศึกษาที่ยั่งยืนและเท่าเทียมสำหรับทุกคน

“มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ การศึกษาที่แท้จริงจึงเป็นกระบวนการพัฒนาตัวเอง จากการตั้งคำถาม ปฏิบัติเพื่อค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ดังนั้นครูจึงไม่ใช่ผู้สอน แต่เป็นเสมือนผู้ร่วมทางที่จะช่วยประคับประคองนักเรียนไปบนเรือลำเดียวกัน”

01

โรงเรียนนอกกะลา

ที่นี่เป็นโรงเรียนเอกชนที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียน งบประมาณดำเนินการส่วนใหญ่มาจากเงินบริจาค กิจกรรมหารายได้ของโรงเรียน และรับนักเรียนด้วยการจับสลาก ไม่วัดจากความสามารถหรือข้อสอบ ไม่คัดใครเข้าและไม่คัดใครออก โดยเด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชาวไร่ชาวนาในพื้นที่ 

ลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กฉลาดผ่านความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเอง

“การศึกษาในปัจจุบันเน้นการท่องและจำเหมือนนกแก้วนกขุนทองตามแบบที่เขาว่า ซึ่งเขาเหล่านั้นตายไปแล้วเป็นร้อยปี เป็นรูปแบบการศึกษาที่เน้นวัดผลด้วยคะแนนสอบ และมาพร้อมกับความเชื่อว่าคนที่ได้คะแนนน้อยกว่าจะล้มเหลว ซึ่งเป็นการแบ่งแยกระดับที่ทำลายมนุษย์จากการตีความว่ามนุษย์โง่

“หัวใจของการศึกษา คือกระบวนการพัฒนามนุษย์ให้เป็นอิสระ อิสระจากความไม่รู้ อิสระจากสิ่งที่ครอบ” ครูวิเชียรเริ่มต้นอธิบาย ฉันนึกถึงกะลาและคำบนป้ายหน้าโรงเรียน ‘โรงเรียนนอกกะลา’

ลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กฉลาดผ่านความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเอง

การจัดการศึกษาของโรงเรียนลำปลายมาศตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จึงเน้นพัฒนาความเป็นมนุษย์และศักยภาพของผู้เรียนอย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยสอนให้นักเรียนมีทักษะในการใช้ชีวิต การประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ มีจิตสำนึกในการช่วยเหลือผู้อื่นและพัฒนาสังคม

เมื่อสำเร็จการศึกษา นักเรียนทุกคนจะรู้จักตัวเอง สามารถคิดวิเคราะห์ และมีทักษะแก้ปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นต่อการเติบโตและดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน 

02

ปัญญาภายใน, ฉลาดจากความเข้าใจตัวเอง

“เราชัดเจนเรื่องเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน เรามองถึงเรื่องการพัฒนาคน อยากให้เขาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์โดยมองสองด้าน ด้านแรกคือความฉลาดภายนอก เข้าใจต่อโลกและปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และความฉลาดภายใน คือความเข้าใจตัวเอง ซึ่งความฉลาดทั้งสองด้านจะนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่มีความสุขได้

“ฉลาดคือมีทั้งความรู้และมีความเข้าใจ ระบบการศึกษาแบบเดิมเน้นให้เด็กรู้ เด็กก็ท่องจำสิ่งเหล่านั้นโดยไม่ได้เข้าใจมัน เด็กรู้ว่าต้นไม้ผลิตออกซิเจน มีคุณสมบัติอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ได้เข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมันเกื้อหนุนเชื่อมโยงกัน และตัวเราเองมีความสัมพันธ์กับพวกมันอย่างไร

“ในขณะเดียวกัน การศึกษาแบบเดิมก็สอนให้เด็กมีความเข้าใจภายในตัวเองน้อยมากเช่นกัน ปีนึงโรงเรียนอาจจะพาเด็กไปเข้าค่ายธรรมะสักสามวัน แต่ค่ายธรรมะไม่ได้ทำให้โครงสร้างความคิดเชิงจริยธรรมในสมองของเด็กๆ ต่างออกไป”

ตารางเรียนในแต่ละวันของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาประกอบไปด้วยการเสริมสร้าง Emotion and Spiritual Quotients (ปัญญาภายใน) และ Intellectual Quotients (ปัญญาภายนอก) 

ในทุกเช้า เด็กๆ จะได้ทำกิจกรรมจิตศึกษา เป็นการพัฒนาปัญญาจากภายใน เพื่อสร้างการตระหนักรู้ของเด็กให้ตื่นด้วยการฝึกสติ ฝึกใคร่ครวญให้รู้ตัว เท่าทันอารมณ์ ควบคุมตัวเองได้ เห็นคุณค่าของสรรพสิ่ง และน้อมนำสิ่งที่ดีงามเข้าไปสู่จิตใต้สำนึก 

ลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กฉลาดผ่านความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเอง

และเป็นการปรับคลื่นสมองของเด็กๆ ที่เพิ่งวิ่งเล่นมา ให้อยู่ในสภาวะคลื่นสมองต่ำ เพื่อความพร้อมในการรับข้อมูล ซึ่งส่งผลต่อความจำและการเรียนรู้ 

ครูวิเชียรอธิบายว่า จิตศึกษาไม่ใช่การบังคับให้เด็กนั่งสมาธิ เพราะการนั่งสมาธิอาจจะยังไม่เหมาะกับพฤติกรรมของเด็กวัยซน ถ้าเราไปบังคับให้ทำ เขาจะยิ่งเบื่อ ไม่ให้ความร่วมมือ และไม่เกิดผลลัพธ์ที่คาดหวังในที่สุด

ลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กฉลาดผ่านความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเอง

อย่างทางเดินที่ฉันเพิ่งเดินผ่านมาเมื่อครู่ เป็นทางเดินพิเศษที่สร้างขึ้นโดยมีบ่อน้ำเล็กๆ ตรงสุดทางเดิน และมีท่อนไม้วางกระจัดกระจายอยู่ตลอดทาง เพื่อให้ผู้เดินได้ฝึกสติ จดจ่อกับปัจจุบัน และรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร เพราะถ้าไม่รู้ตัว อาจสะดุดสิ่งกีดขวางเหล่านี้เอาได้ง่ายๆ 

03

ปัญญาภายนอก, มองโลกด้วยความเข้าใจถ่องแท้

หลังกิจกรรมจิตศึกษา ก็มาสู่การเสริมสร้างปัญญาภายนอก ช่วงเช้าในห้องเรียนรูปหกเหลี่ยมที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันปัญหาเด็กหลังห้อง เด็กๆ จะได้เรียนรู้วิชาทักษะพื้นฐานภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์แบบองค์รวม 

เช่น ภาษาไทย เรียนรู้ผ่านวรรณกรรมที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย ฝึกวิเคราะห์ภาษาตามหลักภาษา ภาษาอังกฤษ เน้นการสื่อสารผ่านวรรณกรรมต่างประเทศ ส่วนคณิตศาสตร์เรียนรู้ผ่านความเข้าใจ ไม่เร่งหาคำตอบ แต่เน้นการเขียนแผนภาพ วางแผนการแก้ปัญหา เป็นต้น 

“ครูเป็นหัวใจในฐานะผู้สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ในฐานะของผู้สอน เพราะฉะนั้น การที่ครูจะเปลี่ยนกรอบคิดจากผู้สอนมาเป็นผู้มีบทบาทในการจัดการเรียนรู้ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีมองเด็กด้วย ทั้งเนื้อทั้งตัวเขาคือมนุษย์ที่กระหายจะเรียนรู้ ต้องมองไปในลักษณะนั้น แล้วก็กระตุ้นด้วยคำถามหรือองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ แล้วก็อำนวยให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตนเองและเรียนรู้ร่วมกันเสมอ”

ลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กฉลาดผ่านความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเอง

จากนั้นในช่วงบ่าย เด็กๆ จะได้เรียนรู้ด้วยกระบวนการ PBL หรือ Problem Based Learning เพื่อเสริมสร้างปัญญาภายนอก ให้เด็กรู้จักตั้งคำถามและแก้ปัญหาในหัวข้อที่ตัวเองสนใจหรือเรื่องที่เกี่ยวกับชุมชน

PBL เป็นรูปแบบการจัดการศึกษาที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง บูรณาการหลากหลายศาสตร์วิชาเข้าด้วยกัน อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติและการเรียนรู้ของสมอง ซึ่งจะทำให้เด็กเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตจริงได้

ลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กฉลาดผ่านความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเอง

“นอกจากเด็กๆ จะได้ฝึกทักษะการคิดและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้พวกเขากล้าแสดงความคิดเห็นต่อข้อมูลที่ไปแสวงหาค้นคว้ามาด้วยตัวเอง ได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ อย่างอิสระ โดยไม่มีใครมาตัดสินว่าผิดหรือถูก

“เมื่อได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เด็กจะเรียนรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองตั้งสมมติฐานนั้นถูกหรือผิดด้วยเหตุผลอะไร จากที่สอนตามแบบเรียนเป็นบทๆ ไป ครููผู้สอนก็เปลี่ยนบทบาทเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งแน่นอนว่าครูจะต้องทำงานหนักขึ้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็คุ้มค่า เพราะเมื่อเด็กได้ค้นหาคำตอบในสิ่งที่เขาอยากรู้ด้วยตัวเอง เขาจะสนุก สนใจ และจดจำเรื่องนั้นๆ ได้มากขึ้นโดยอัตโนมัติ”

04

คำตอบที่กลับไปสู่คำถาม

ครูวิเชียรอธิบายต่อว่า “แม้จะไม่มีแบบเรียน ไม่ได้ท่องจำสูตรใดๆ เมื่อต้องไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่สี่ในโรงเรียนที่สอนแบบดั้งเดิม เด็กๆ ก็ปรับตัวได้และมีความรู้ทางวิชาการไม่ต่างจากการเรียนจากหนังสือ ที่เพิ่มเติมมาคือกระบวนการคิดวิเคราะห์ การตั้งคำถาม และทักษะการแก้ไขปัญหาที่มากกว่าเด็กทั่วไป” 

PBL ใช้คีย์เวิร์ด 3 คำในการสร้างกระบวนการ คือ

Play (ชง) คือการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง เช่น ในแบบเรียนสอนว่าจากกล้าต้นเล็ก จะค่อยๆ เติบโตออกรวงเป็นต้นข้าว แต่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาให้เด็กทำนาปลูกข้าวในท้องนาเลย และให้เด็กๆ ดูแลนาข้าวของตัวเองตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสิ้นสุด เขาจะได้สังเกต เรียนรู้ และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

ลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กฉลาดผ่านความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเอง

Talk (เชื่อม) คือการแลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงกับเพื่อนๆ และครูผู้สอน เพื่อต่อยอดความคิดให้กว้างไกลขึ้น ซึ่งจะนำเด็กๆ ไปสู่การตั้งคำถามและการหาคำตอบต่อไปอย่างไม่มีสิ้นสุด

Learn (ใช้) คือการวิเคราะห์ข้อสงสัยของตัวเองอย่างเป็นระบบ ในการหาคำตอบเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีครูเป็นผู้ช่วยแนะแนวทาง กระตุ้นการเชื่อมโยงสิ่งที่เด็กรู้อยู่แล้ว และสิ่งที่เด็กไม่รู้สู่การค้นหาคำตอบในการแก้ไขปัญหา

“คำถามประเด็นต่างๆ ในกระบวนการเรียนรู้ PBL จะเปลี่ยนไปทุกสัปดาห์ ตลอดทั้งสัปดาห์เด็กๆ จะหาข้อมูล วาดแผนภาพ Mind Map ที่ช่วยเชื่อมโยงความคิดให้เป็นระบบ เข้าใจที่มาที่ไปของชุดข้อมูลที่มี จากนั้นนำมาเสนอหน้าชั้นเรียนให้ครูและเพื่อนๆ ฟัง จบแต่ละสัปดาห์ผลงานหลากสีสันของนักเรียนทุกคน จะถูกนำมาติดไว้หน้าห้อง เมื่อเขามีความภาคภูมิใจ เขาก็สนุกที่จะได้เรียนรู้ต่อไป”

ลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กฉลาดผ่านความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเอง

คำถามที่ถูกตั้งขึ้นในแต่ละชั้นเรียนจะยาก ท้าทาย และซับซ้อนขึ้นตามลำดับ เช่นในวันที่ฉันได้ไปสำรวจโรงเรียนแห่งนี้ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กำลังหาคำตอบว่า ‘ทำอย่างไรให้น้ำในคลองสะอาด’ 

ซึ่งเป็นคำถามจากปัญหาที่ชุมชนในพื้นที่รอบๆ กำลังประสบภาวะขาดแคลนน้ำอยู่จริง เด็กๆ จึงอยากทดลองทำให้น้ำในลำคลองสะอาด จนสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ เพื่อนำความรู้ที่ได้นี้ไปช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่จริง

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาไม่มีการสอบปลายภาคอย่างโรงเรียนอื่นๆ แต่ใช้วิธีวัดและประเมินผลตามสภาพจริง และกระทำอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน จากชิ้นงาน PBL ที่ค้นคว้าหาคำตอบและนำเสนอตลอดทั้งภาคการศึกษา หลังจากนำเสนอผลงานแล้ว ก็จะมีการประเมินและสะท้อนงานกันและกัน 

05

กระบวนการสอนแบบไร้ตำรา

ตั้งแต่เริ่มแรก โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบในชนบท ที่สอนเด็กให้ใช้ความคิดและเหตุผลมากกว่าการท่องจำ ซึ่งเป็นปัญหาคู่ระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน โดยได้ทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเจมส์ คลาร์ก 

“ครูเป็นตัวกลางที่สำคัญที่สุดในการหล่อหลอมให้เด็กๆ เติบโตขึ้นบนระบบความคิดแบบใหม่ ที่มีความรู้ ความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเองอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้นครูเองก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติ และความเข้าใจที่มีต่อเด็กใหม่เช่นกัน ครูต้องเปิดใจที่จะรอรับการเรียนรู้ของเด็ก ฝึกให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และกล้าที่จะแลกเปลี่ยนความคิดของตัวเองกับคนอื่น”

ที่นี่จึงมีกระบวนการพัฒนาครูผ่านชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพที่เรียกว่า PLC หรือ Professional Learning Community ซึ่งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันระหว่างครูในโรงเรียนเครือข่ายกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ ที่นำรูปแบบการจัดการศึกษาของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาไปใช้ โดยมีฐานข้อมูลออนไลน์ที่ให้ครูทุกคนสามารถเข้าไปจัดทำแผนการสอนได้

ลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กฉลาดผ่านความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเอง

“โครงสร้างการศึกษาดั้งเดิมที่แข็งแรงมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ควรเปลี่ยนมากที่สุด คือโครงสร้างตารางเรียนที่สอนเป็นรายวิชา ด้วยโครงสร้างที่ล้อมกรอบแน่นหนานี้ ไม่ว่าคุณจะใส่กิจกรรมใหม่ๆ หรืออะไรลงไปก็ตาม พฤติกรรมและรูปแบบการสอนของครูจะไม่เปลี่ยน

“ทุกโรงเรียนที่ตั้งใจมาศึกษาดูงาน เพื่อนำระบบการสอนของเราไปใช้ เราจะชวนเขาเปลี่ยนโครงสร้างตารางเรียนใหม่เป็นก่อน จากรายวิชาเป็น Module เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมครูเป็นอย่างแรก เมื่อครูไม่สามารถเปิดตำราสอน เขาจะต้องทำแผนการเรียนใหม่ ซึ่งแรกๆ เขาก็จะยังไม่ค่อยเข้าใจระบบ เปิดโอกาสให้ครูแต่ละคนหันหน้าเข้าหากัน เพื่อช่วยกันทำงานเป็นทีม

“เมื่อครูรู้สึกถึงการยกระดับความรู้ความเข้าใจของตนเองต่อสิ่งที่จะสอนให้เด็กๆ รู้สึกถึงทักษะการจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น ครูก็จะมีความภาคภูมิใจในวิชาชีพและรู้ว่าบทบาทของตัวเองสำคัญอย่างไร” 

06

ปลูกโรงเรียนตามใจผู้เรียน

ฉันเดินเยี่ยมชมโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาอยู่นานหลายชั่วโมง และพบว่านอกจากจะร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่แล้ว ที่นี่ยังมีป้ายประกาศที่เต็มไปด้วยผลงานของนักเรียน และถ้อยคำที่กระตุกต่อมความคิดอยู่ตามมุมต่างๆ ของโรงเรียน

ห้องเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมออกแบบเป็นรูปทรงหกเหลี่ยมอย่างที่เล่าไปข้างต้น ในขณะที่ห้องเรียนของนักเรียนระดับชั้นมัธยมกลับเป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงแบบไทย ครูวิเชียรบอกว่าเด็กๆ ในชั้นจะต้องช่วยกันดูแลห้องเรียนหลังนี้เหมือนบ้านตัวเองไปตลอดปีการศึกษา

ลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กฉลาดผ่านความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเอง
ลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กฉลาดผ่านความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเอง

“ใครอยากจะอยู่รกๆ สกปรกๆ ก็ได้ แต่ถ้าอยากให้บ้านน่าอยู่ ก็ต้องช่วยกันทำความสะอาด” ครูวิเชียรเอ่ยขึ้นยิ้มๆ

 ทางโรงเรียนยังให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นการรับส่ง หรือร่วมเป็นพี่เลี้ยงเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ ตลอดจนเป็นวิทยากรพิเศษในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

ลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กฉลาดผ่านความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเอง

ครูวิเชียรกล่าวทิ้งท้ายว่า “หัวใจของเราตั้งแต่ต้น คือเราอยากให้โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนตัวอย่างที่ค้นคว้านวัตกรรมในการสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ครู ชุมชน และสังคม ได้ขยายผลไปสู่โรงเรียนรัฐมากๆ เรามีโรงเรียนอยู่แล้วเยอะแยะ เราไม่จำเป็นต้องสร้างโรงเรียนเพิ่ม แต่เราเปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนกรอบคิดพวกนี้ แล้วทำให้เกิดผลกับเด็กได้”

ลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กฉลาดผ่านความเข้าใจโลกทั้งภายนอกและภายในตัวเอง

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ