18 ธันวาคม 2020
28 K

The Cloud x สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)

The Cloud ทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จังหวัดลำพูน และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำโครงการศึกษาอัตลักษณ์ของเมืองลำพูน แล้วนำเสนอในมุมใหม่ เพื่อให้เห็นว่าจังหวัดลำพูนมีเรื่องราวที่น่าสนใจ น่านำมาต่อยอดในรูปแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และน่าเดินทางไปสัมผัสความพิเศษนี้

ลำพูนสำหรับพวกเราคือเมืองน่าอยู่

12 สิ่งบอกเล่าชีวิตผู้คนและความน่าอยู่ของลำพูน เมืองเล็กๆ ที่ใครๆ ก็อยากย้ายมาอยู่, ที่เที่ยวลำพูน
12 สิ่งบอกเล่าชีวิตผู้คนและความน่าอยู่ของลำพูน เมืองเล็กๆ ที่ใครๆ ก็อยากย้ายมาอยู่, ที่เที่ยวลำพูน

เมืองที่ความเก่าและความใหม่อยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว ด้วยความที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว จึงทำให้สถานที่ต่างๆ ในจังหวัดลำพูนไม่ได้สร้างขึ้นอย่างผิวเผินเพื่อจุดประสงค์ทางการค้า แต่ทำเพื่อคนลำพูนโดยเฉพาะ วัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงชัดเจนกว่าจังหวัดใหญ่ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ในขณะที่ความสนิทสนมกลมเกลียวของผู้คน ก็ดึงดูดให้คนต่างถิ่นจำนวนมากตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมาใช้ชีวิตที่นี่

ลำพูน ชื่อเดิมคือนครหริภุญไชย มีปฐมกษัตรีเป็นพระนางจามเทวีจากเมืองละโว้ ในสมัยนั้นนครหริภุญไชยรุ่งเรืองมาก มีความศรัทธาในพุทธศาสนา มีภาษาของตัวเอง และมีชาติพันธุ์ที่หลากหลายที่สุดในภาคเหนือ แต่ที่โดดเด่นที่สุดและเป็นบรรพบุรุษของชาวลำพูนในปัจจุบัน คือไทยอง ผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมสำคัญที่ยังสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ อย่างประเพณีสลากย้อม สำเนียงภาษา และสถาปัตยกรรมบ้านเรือน 

12 สิ่งบอกเล่าชีวิตผู้คนและความน่าอยู่ของลำพูน เมืองเล็กๆ ที่ใครๆ ก็อยากย้ายมาอยู่, ที่เที่ยวลำพูน
12 สิ่งบอกเล่าชีวิตผู้คนและความน่าอยู่ของลำพูน เมืองเล็กๆ ที่ใครๆ ก็อยากย้ายมาอยู่, ที่เที่ยวลำพูน

ลำพูนในวันนี้ขับเคลื่อนโดยผู้คน ทั้งคนรุ่นเก่าที่ใช้ชีวิตด้วยวัฒนธรรมดั้งเดิม และคนรุ่นใหม่ที่น้อมรับสิ่งเหล่านั้นมาต่อยอด พร้อมพัฒนาให้ดีเหมาะสมกับยุคสมัยยิ่งขึ้น เราจึงเห็นเทศกาลที่จัดขึ้นโดยคนหลายวัย คาเฟ่ที่เป็นที่นัดพบคนเจ๋งหลายรุ่น แผนการใช้เทคโนโลยีพัฒนาระบบคมนาคมดั้งเดิม หรือภาพหนุ่มสาวเดินเที่ยวงานสลากย้อมในวัดพระธาตุหริภุญไชย

จากการลองใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ ในเมืองแห่งนี้ ได้เจอผู้คนมากมายทั้ง พี่เอก อาจารย์จุล ป้าไล น้องฟลุ๊ก ลุงขี่สามล้อ พี่ทอง คุณมิ้น ดร.เพ็ญ พี่สิงห์ พี่เนา พี่แพรว และพี่โอ๊ด ที่เป็นทั้งคนลำพูนโดยกำเนิดและคนลำพูนเพราะใจรัก พบความน่าสนใจของเมืองลำพูนหลายอย่าง มากเกินกว่าจะบันทึกในบทความบทเดียว

เราจึงขอเลือก 12 สิ่งที่แสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนลำพูนทั้งในด้านศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประเพณี อาหาร และเศรษฐกิจ เพื่อนำเสนอความน่าอยู่ของเมืองนี้ ที่ทำให้คนในพื้นที่เลือกที่จะอยู่บ้านและคนต่างถิ่นย้ายเข้ามา 

และที่เขาบอกว่าลำพูนเป็นเมืองทางผ่านเห็นจะไม่ผิด เพราะเราต้องการเวลามากกว่าหลักชั่วโมงในการทำความรู้จักลำพูน และคนลำพูนที่ทำให้เมืองนี้น่าอยู่อย่างแท้จริง

01

วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร

วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร, CEA, ลำพูน

“ตีดังเท่าไหร่ บารมีเราดังเท่านั้น ตีตอนเช้าช่วงชัชวาลย์ ถ้าตีตอนเย็นจะตกไปตามการเวลา” คือคำแนะนำการตีกังสดาลของป้าไล ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดลำพูน ส่วนกังสดาลคือเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะหรือทองเหลือง ตั้งอยู่ในหอระฆังทางตะวันออกเฉียงเหนือของวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร ที่คนท้องถิ่นเชื่อว่า ถ้าตีตอนเช้าจะโชคดี ยิ่งตีดังยิ่งดีขึ้น

วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

วัดพระธาตุแห่งนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1651 ทางเข้าเป็นซุ้มประตูงานศิลปะโบราณสมัยศรีวิชัย เดิมเคยเป็นพระราชวังของพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัยองค์ที่ 33 รายล้อมด้วยถนนเส้นสำคัญทั้งสี่ด้าน ด้านหน้าวัดติดถนนรอบเมืองใน ด้านหลังวัดติดถนนสายสำคัญอย่างอินทยงยศ เพราะเป็นสถานที่คู่เมืองลำพูนมานานกว่าพันปี และมีตำแหน่งที่ตั้งใจกลางเมือง

วัดพระธาตุหริภุญชัยจึงกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองลำพูน เป็นสถานที่นัดพบหรือจัดงานประเพณีสำคัญประจำปี อย่างสลากย้อมและเทศกาลโคมแสนดวง ที่เราจะเห็นครอบครัว ผู้สูงอายุ เด็ก และคนหนุ่มสาว มาใช้เวลาร่วมกัน

วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน
วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

วัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นวัดประจำปีระกา ตามความเชื่อของชาวล้านนาโบราณเรื่องการไหว้พระประจำปีเกิด ที่เป็นทั้งบุญกุศลและทำให้คนได้เดินทางไปมาหาสู่ระหว่างพื้นที่ ป้าไลยังบอกอีกว่า ถ้าจะไปทำบุญให้เดินเข้าทางประตูหน้าวัด และต้องเป็นประตูใหญ่ตรงกลางที่มีรูปปั้นสิงห์คู่ขนาดใหญ่ตั้งอยู่

02

ถนนอินทยงยศ

ถนนอินทยงยศ, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

อาจารย์สถาปัตยกรรมท่านหนึ่งแนะนำว่า ถ้าคนรักเมืองได้ไปลำพูน ให้ลองเดินถนนอินทยงยศ ตั้งแต่ประตูเมืองช้างสียาวไปประมาณ 1 กิโลเมตรจนถึงประตูเมืองลี้ สมัยก่อนถนนเส้นนี้เป็นทั้งเส้นสัญจรหลักและย่านเศรษฐกิจสำคัญ เป็นถนนที่เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย ประทับช้างเจากคุ้มหลวงลำพูนมาสักการะพระธาตุฯ เป็นจุดตั้งของธุรกิจเก่าแก่ที่ยังดำเนินกิจการมาถึงทุกวันนี้ เช่น โรงแรมศรีลำพูน โรงแรมแห่งแรกของจังหวัดลำพูน ห้องภาพดาราลำพูน ห้างแจ่มฟ้า ขณะเดียวกันก็มีธุรกิจใหม่อย่าง Temple House ที่บูรณะตึกเก่าหลังวัดพระธาตุฯ ให้เป็นคาเฟ่และแกลเลอรี่ของคนรุ่นใหม่ 

ถนนอินทยงยศ, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน
ถนนอินทยงยศ, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน
ถนนอินทยงยศ, CEA, ลำพูน

สองข้างถนนอินทยงยศเรียงรายไปด้วยสถานที่ที่สำคัญๆ อย่างวัดพระธาตุหริภุญชัย วัดช้างสี จวนผู้ว่าราชการจังหวัด ศาลากลางประจำจังหวัด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย สถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นของธนาคารนครหลวงไทยเก่า พิพิธภัณฑ์ปั๊มน้ำมันสามทหาร ที่เหลือที่นี่แห่งเดียวในประเทศไทย อาคารพาณิชย์ทั้งแบบตึกแถวในปัจจุบัน และแบบเรือนแปที่เป็นอาคารกึ่งไม้กึ่งปูน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพ่อค้าคนจีนที่เข้ามาค้าขาย อาคารอินทพานิชที่เคยเป็นทั้งโรงทอผ้า ชมรมสามล้อ และร้านขายจักรยานร้านแรกของเมือง ตึกชมพูนุทที่ปัจจุบันเป็นร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และจุดถ่ายรูปยอดฮิตของนักท่องเที่ยวและสื่อต่างชาติ จุดเด่นคือฟาซาดที่มีหน้าตาเหมือนรวงผึ้ง เดิมทีไม่ได้เป็นแบบนี้ แต่ได้รับแรงบันดาลใจจากการออกแบบสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ที่ใช้เทคนิคนี้ในการซับเสียง 

อินทยงยศเป็นถนนที่รวมไว้ซึ่งความเก่าและความใหม่ของศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนลำพูน อาคารต่างๆ ยังมีการใช้งานเหมือนหยุดเวลาเอาไว้ พร้อมกับกิจการของเด็กรุ่นใหม่ที่ค่อยๆ ก้าวเข้ามา

03

พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูนและคุ้มเจ้ายอดเรือน

พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูนและคุ้มเจ้ายอดเรือน, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน
พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูนและคุ้มเจ้ายอดเรือน, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูนเคยเป็นคุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2455 แล้วจึงขายให้พ่อค้าคนจีนในราคา 58,000 บาท เพื่อใช้เป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้งสอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ แต่เปิดได้ไม่กี่ปีก็ถูกสั่งปิด เพราะโดนรัฐบาลเพ่งเล็งว่าจะเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงเปลี่ยนเป็นโรงเรียนมงคลวิทยา ก่อนนำมาใช้เป็นพิพิธภัณฑ์เช่นในปัจจุบัน

พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูนนำเสนอวัฒนธรรมร่วมสมัยของจังหวัด โดยใช้พื้นที่คุ้มเจ้าเก่าที่มีลักษณะเป็นเรือนสะระไนสองชั้น มีหลังคาหน้าจั่วและตกแต่งด้วยสะระไนบนชายคาปีกนกตามแบบฉบับเรือนไม้เมืองลำพูน พิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องราวของเมืองผ่านสิ่งของในชีวิตประจำวันจากอดีตที่ชาวลำพูนนำมาบริจาค ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า สลากกินแบ่งที่ไม่ถูกรางวัล ปกนิตยสารประจำจังหวัด โปสเตอร์รูปถ่ายนางงาม ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของสถาปัตยกรรมของลำพูน

พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูนและคุ้มเจ้ายอดเรือน, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน
พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูนและคุ้มเจ้ายอดเรือน, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

เดินต่อไปเพียงหนึ่งนาทีจะถึงคุ้มเจ้ายอดเรือน คุ้มเจ้าอีกแห่งที่มีความสำคัญมากของจังหวัด ก่อนเคยเป็นของเจ้ายอดเรือน ชายาองค์สุดท้ายของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย คุ้มเจ้ายอดเรือนหลังนี้เป็นแบบเรือนสรไนแบบชาวยอง ทำด้วยไม้สัก ใต้ถุนโล่ง หลังคาหน้าจั่วผสมปั้นหยา มีสะระไนอยู่ทุกมุมชายหลังคา แสดงว่าเป็นเรือนของเจ้า ถ้าบ้านคนธรรมดาจะมีแค่สองมุม

เนื่องจากใช้วิธีสร้างแบบโบราณ ทำให้คุ้มเจ้ายอดเรือนได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในบ้านมีข้าวของเครื่องใช้จริงจากสมัยที่เจ้ายอดเรือนยังมีชีวิตอยู่ รวมถึงรูปของเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ที่มีข้อความเขียนว่า “ให้ยอดเรือนไว้โดยความรัก ๑๓/๑๑/๖๖”

04

กาดบ้านทาดอยแก้ว

กาดบ้านทาดอยแก้ว, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

นั่งรถออกจากตัวเมืองไปประมาณครึ่งชั่วโมงบนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-ลำพูน จะเจอกาดบ้านทาดอยแก้วที่อำเภอแม่ทา เมื่อก่อนที่ตรงนี้เป็นแค่ทางผ่านของชาวบ้านที่เข้าไปเก็บอาหารในป่า พอมีคนแวะสอบถามขอซื้อจำนวนมากเข้า เลยกลายเป็นตลาดสดที่ไม่เหมือนตลาดสดอื่น เพราะวัตถุดิบที่ขายไม่ได้มาจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นของป่าที่ผลิตขึ้นตามธรรมชาติในป่าดิบชื้นรอบๆ อีกส่วนคือพืชและสัตว์ที่เหลือกินจากที่ชาวบ้านปลูกหรือเลี้ยงไว้ในครัวเรือน เช่น หมูป่า ไก่บ้าน และตลาดจะเริ่มคึกคักในช่วงสายไปถึงช่วงเย็น

กาดบ้านทาดอยแก้ว, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน
กาดบ้านทาดอยแก้ว, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

ถ้าไม่ใช่คนท้องถิ่นหรือคนเหนือ อาจจะไม่รู้จักของป่าเกินครึ่งที่ขายในตลาด ทั้งผักปั๋ง จิ๊กกุ่ง มะขวง และผำ แต่พอคุยกับแม่ค้า ก็ได้รู้ว่าผักปั๋งเอาไปต้มกับแหนมอร่อย จิ๊กกุ่งคือแมลงคล้ายกับจิ้งหรีดตัวใหญ่ มะขวงมีกลิ่นฉุนนิยมใส่ยำ ใส่แกง ส่วนผำหน้าตาคล้ายไข่ปลาเม็ดเล็กๆ อุดมไปด้วยโปรตีน และคนท้องถิ่นนิยมนำไปคั่ว ช่วงที่เราไปกำลังเข้าหน้าฝน เลยมีเห็ดนานาชนิดวางขายแทบทุกร้าน นอกจากนี้ยังมีอาหารพื้นเมืองปรุงสุกพร้อมทานขายด้วย 

กาดบ้านทาดอยแก้ว, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

กาดบ้านทาดอยแก้วเป็นสถานที่ที่เราจะทำความรู้จักวิถีชีวิตของคนลำพูน (และคนจากจังหวัดใกล้ๆ) ได้เป็นอย่างดี ผ่านอาหารการกินและบทนทนาสั้นๆ ไม่กับพ่อค้าแม่ค้า ก็กับลูกค้าด้วยกัน ที่เห็นเรายืนเก้ๆ กังๆ ก็เลยแนะนำสูตรอาหารเมืองให้ลองกลับไปทำเสียเลย

05

ผ้าไหมยกดอก

ผ้าไหมยกดอก, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน
ผ้าไหมยกดอก, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

ผ้าไหมยกดอกเกิดขึ้นในคุ้มเจ้าหรือวัง เมื่อเจ้าหญิงส่วนบุญ พระชายาของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย ได้ร่ำเรียนวิธีการทอลวดลายสวยงามด้วยวิธีการทอแบบยกดอก จากที่มีการทอผ้าฝ้ายยกดอกอยู่แล้ว ก็พัฒนาเป็นผ้าไหมโดยมีการผสมดิ้นเงินดิ้นทองเข้าไปเพื่อความสวยงาม สมัยก่อนผ้าไหมยกดอกเคยใช้เฉพาะในชนชั้นสูงและราชสำนัก ในปัจจุบันกลายเป็นที่นิยมของคนทั่วไป มีจุดเด่นอยู่ที่ลวดลายที่นูนขึ้นมาจากเนื้อผ้าและสีสันที่ผสมได้หลากหลายกว่า ซึ่งต้องใช้เทคนิคการทอที่ซับซ้อนโดยเพิ่มเส้นพุ่ง 2 เส้นหรือมากกว่านั้น 

ผ้าไหมยกดอก, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

ผ้าลายธรรมดาใช้เวลาการทอประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าลายพิเศษก็อาจจะนานถึงหนึ่งเดือน แหล่งทอผ้าปัจจุบันอยู่ที่อำเภอลี้และอำเภอทุ่งหัวช้าง และมีโรงทอผ้าเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง แต่ยังเป็นภูมิปัญญาและสินค้าเศรษฐกิจที่นำเงินและความภาคภูมิใจมาให้คนลำพูนจำนวนมาก รายได้จากผ้าหนึ่งผืนไม่ใช่แค่สำหรับผู้ประกอบการเจ้าของโรงทออย่างเดียว แต่เป็นอีกอย่างน้อย 5 ครอบครัวที่จะได้ประโยชน์จากผ้าผืนนี้ ตั้งแต่คนฟอกย้อมไหม คนเตรียมเส้นยืน คนทอ คนตรวจคุณภาพ ผ้าผืนหนึ่งคืองานฝีมือของคนห้าคนที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

และไม่ได้โด่งดังแค่ในประเทศเท่านั้น ผ้าไหมยกดอกได้รับความสนใจจากนานาชาติ จน BVLGARI แบรนด์เนมชื่อดังจากอิตาลีนำไปทำเป็นผ้าพันคอเพื่อขายทั่วโลก 

06 

สามล้อลำพูน

สามล้อลำพูน, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

สามล้อเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของจังหวัดที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของคนลำพูนได้ดีที่สุด เป็นยานพาหนะที่เหมาะกับเมืองขนาดเล็กที่ไม่รีบเร่ง สมัยก่อนมีวินสามล้ออยู่ 3 จุด หน้าตึกอินทพานิชหลังวัดพระธาตุฯ โรงแรมศรีลำพูน และตลาดหนองดอก แต่เมื่อเวลาผ่านไป มียานพาหนะใหม่ๆ เข้ามาก็ทำให้ความนิยมของสามล้อลดลงไปด้วย เหลือแค่คนเฒ่าคนแก่ที่ยังชินกับการใช้สามล้อในการเดินทางอยู่

สามล้อลำพูน, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน
สามล้อลำพูน, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

สามล้อเกือบทุกคันดูเก๋าเหมือนผ่านกาลเวลาและประสบการณ์มาสิบๆ ปี รถพ่วงที่นั่งด้านหลังมีลวดลายและสไตล์แตกต่างกันแล้วแต่ชอบ บางคันเรียบๆ บางคันหวือหวา แต่เกือบทุกคันจะมีป้ายไวนิลโฆษณาห้อยไว้ด้านหลัง ค่าจ้างติดโฆษณาราคา 100 บาทต่อเดือน

สามล้อลำพูน, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

คนขี่สามล้อในวันนี้ถ้าไม่ขี่มาตั้งแต่หนุ่มๆ ก็สืบทอดสามล้อมาจากพ่อ ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา มีคนขี่สามล้อที่ซื้อสามล้อใหม่เพราะอยากขี่เพียงแค่ 2 รายเท่านั้น เลยเป็นโจทย์ยากให้ Lamphun New Gen กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานขับเคลื่อนลำพูน ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามล้อยังอยู่ต่อไป เกิดเป็นไอเดียสร้างนักขี่ขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียนหรือคนที่อยากมีรายได้เสริม ให้มาอบรมการขี่สามล้อและการนำเที่ยวในอนาคตอันใกล้ และจะเปลี่ยนสามล้อจากระบบถีบเป็นระบบกึ่งไฟฟ้าเพื่อทุ่นแรง ไปจนถึงพัฒนาแอปพลิเคชันให้ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น โดยหวังว่าจะได้ผู้ขี่และผู้ใช้รุ่นใหม่ๆ มาต่อลมหายใจให้ยานพาหนะนี้อยู่คู่เมืองลำพูนต่อไป

07

Temple House

Temple House, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

Temple House ตั้งอยู่ตรงข้ามกับด้านหลังของวัดพระธาตุหริภุญไชยบนถนนอินทยงยศ เรียกได้ว่าจุดตัดของวัฒนธรรมเก่าแก่กับกิจการรุ่นใหม่ที่ลงตัวสุด ขณะที่คนรุ่นตายายเดินเข้าวัด คนรุ่นใหม่ก็เดินเข้าคาเฟ่และแกลเลอรี่แห่งนี้ 

คอนเซปต์แรกเริ่มของ Temple House ไม่ใช่ร้านกาแฟหรือแกลเลอรี่ แต่เป็นที่ที่คนมานั่งคุยกันเรื่องอนาคต แลกเปลี่ยนบทสนทนา ความรู้ ความสนใจ และไอเดียความคิดสร้างสรรค์ โดยหวังว่าที่แห่งนี้จะเป็นตัวอย่างของการใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยในเมืองลำพูน สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านฟังก์ชันของสถานที่ และดึงดูดให้เด็กรุ่นใหม่เลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น 

Temple House, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน
Temple House, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

จากคอนเซปต์ในหัว Temple House ได้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่คนหลากหลายมาเจอกันจริงๆ มีทั้งพนักงานบริษัทในสิงคโปร์ย้ายมาลำพูนเพราะใช้ระบบ Remote Working ผู้กำกับหนังดังมานั่งเขียนบท สถาปนิกที่ทำงานร่วมกับธรรมชาติ นักโฆษณาบริษัทใหญ่ นักดนตรี ศิลปิน นักการเมือง เศรษฐีชาวเนเธอร์แลนด์ที่อยากย้ายมาอยู่ที่นี่ และนักธุรกิจชาวบราซิลที่บินมาศึกษาธรรมะ เมื่อลูกค้าคนหนึ่งแนะนำให้รู้จักอีกคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็แนะนำให้รู้จักอีกคนหนึ่ง เป็นทอดๆ ต่อไปเรื่อยๆ 

Temple House, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

ถ้ามองด้วยตาเปล่า จะพบว่าด้านล่างเป็นร้านกาแฟและร้านขายของดีไซน์ หนังสือ ส่วนด้านบนเป็นแกลเลอรี่ที่หมุนเวียนแสดงงานศิลปินชาวลำพูนตลอดปี แต่คำนิยามทั้งสองอาจอธิบายตัวตนของ Temple House ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะร้านในวันนี้เป็น Third Place ที่สร้างคอนเนกชันให้กับคนลำพูน ทั้งที่เป็นคนลำพูนโดยกำเนิดและคนลำพูนโดยทางเลือกได้อย่างแท้จริง

08

อุทยานธรรมะและหอศิลป์อินสนธิ์ วงศ์สาม

อุทยานธรรมะและหอศิลป์อินสนธิ์ วงศ์สาม, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน
อุทยานธรรมะและหอศิลป์อินสนธิ์ วงศ์สาม, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

ช่วงวัยหนุ่มของ อินสนธิ์ วงศ์สาม หรือ คุณลุง (เรียกตามหลานสาวและหลานเขยของเขา) ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในประเทศ เขาเดินทางด้วยสกูตเตอร์จากไทยสู่หลายประเทศในทวีปยุโรป เรียนรู้ แสดงงาน ก่อนจะย้ายไปใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกาอีกเกือบ 10 ปี ก่อนจะกลับมาอยู่บ้านเกิดที่เมืองลำพูนด้วยเหตุผลที่ว่า “บ้านเฮาดีที่สุด”

ลำพูนในวันนี้เต็มไปด้วยศิลปินที่ทำงานศิลปะร่วมสมัยทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ เป็นเพราะความเงียบสงบของเมืองที่เอื้อต่อการจินตนาการและความน่าอยู่สบายตัวที่ดึงดูดให้ศิลปินมาอยู่ที่นี่ และศิลปินที่เก๋าที่สุดในบรรดาทั้งหมดคงหนีไม่พ้นคุณลุงอินสนธิ์ เจ้าของอุทยานธรรมะและหอศิลป์อินสนธิ์ วงศ์สาม

อุทยานธรรมะและหอศิลป์อินสนธิ์ วงศ์สาม, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน
อุทยานธรรมะและหอศิลป์อินสนธิ์ วงศ์สาม, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

ที่แห่งนี้เคยเป็นอุทยานธรรมะตามชื่อในสมัยที่ป้าแหม่ม ภรรยาของคุณลุงยังมีชีวิตอยู่ แต่ปัจจุบันเป็นสถานที่เก็บงานศิลปะตลอดชีวิตของศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำ พ.ศ. 2542 คนนี้ ประกอบไปด้วย 5 เรือนเก่าสไตล์คนยอง โรงไม้ และโกดังเก็บของ แสดงผลงานของคุณลุงตั้งแต่สมัยที่อยู่อเมริกาฯ จนถึงนิทรรศการที่ทำขึ้นเมื่อปีที่แล้ว และทุกวันนี้คุณลุงก็ยังวาดภาพอยู่

อุทยานธรรมะและหอศิลป์อินสนธิ์ วงศ์สาม เติบโตจากที่เก็บสถานที่ปฏิบัติธรรมะของป้าแหม่ม เป็นแกลเลอรี่แสดงผลงานของคุณลุง สู่แหล่งความรู้ของศิลปินยุคใหม่ที่หมุนเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียนศิลปินในวัย 86 คนนี้ เป็นที่ทำงานของบัณฑิตเอกภาพพิมพ์จบใหม่ แม้แต่งานประติมากรรมของคุณลุงที่ตั้งไว้ในสวนก็ยังได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องเล่นให้เด็กๆ ในอำเภอป่าซางเข้ามาปีนป่ายหลังเลิกเรียน อย่างกับสถานที่นี้ได้ขับเคลื่อนศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์ในพื้นที่ไปโดยอัตโนมัติ

09

กล้วยทอดโค้งครูบา

กล้วยทอดโค้งครูบา, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน
กล้วยทอดโค้งครูบา, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

ป้าฉลวย หมอนสะอาด ไม่ใช่คนลำพูนโดยกำเนิด แกย้ายถิ่นฐานมาจากบางปะอินและเริ่มทำร้านกล้วยทอดโค้งครูบาเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ผ่านการลองผิดลองถูก จนเจอสูตรที่ทำให้กล้วยทอดร้านนี้เป็นที่รักชาวของลำพูน โดยมีจุดเด่นคือ แป้งเคลือบน้อย รสชาติดี สะอาด และมีความพิถีพิถันในกระบวนการทำ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ กล้วยทอดร้านนี้ได้กลายเป็นของดีที่ถ้าไม่ลองแปลว่ายังไม่ถึงลำพูนโดยไม่รู้ตัว

กล้วยทอดโค้งครูบา, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

ลูกค้าประจำส่วนใหญ่เป็นคนลำพูนเอง มีบ้างที่เป็นนักท่องเที่ยว หรือคนที่มาจากจังหวัดใกล้เคียงอย่างเชียงใหม่ จนมีคนเคยมาตื้อให้ป้าไปเปิดสาขาที่เชียงใหม่ด้วย แถมยังมีลูกค้าประจำเป็นนายกรัฐมนตรีและดาราหลายคน มาซื้อทีก็ซื้อกลับไปเยอะและบอกต่อปากต่อปาก

กล้วยทอดโค้งครูบาขยับขยายจากแผงตรงหัวโค้งถนน มาเป็นหน้าบ้านในซอยป้าฉลวย และนอกจากคนลำพูนจะรักกล้วยทอดร้านนี้มาหลายสิบปี ป้าฉลวยก็รักเมืองลำพูนเหมือนเป็นบ้านเกิดของตัวเอง รักแบบที่ป้าบอกว่า “เกิดอีกทีจะขอมาเกิดที่ลำพูน”

10

สมใจกาแฟโบราณ

สมใจกาแฟโบราณ, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

สมใจกาแฟโบราณคือร้านกาแฟของ สม สุริยะ ที่ทุกคนเรียกกันว่า ลุงสม เป็นร้านกาแฟรถเข็นที่ปัจจุบันอยู่บริเวณริมกำแพงคุ้มหลวงลำพูนในตลาดหนองดอก ถ้านึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงสภากาแฟที่คนท้องถิ่นมาคุยแลกเปลี่ยนเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองเป็นประจำทุกเช้า

สมใจกาแฟโบราณ, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน
สมใจกาแฟโบราณ, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

ลุงสมมีอาชีพทำกาแฟ ชา และเครื่องดื่ม มาตั้งแต่สมัยวัยรุ่นที่ทำงานในร้านอาหารจีน ก่อนจะลาออกเพื่อนำเงินเก็บมาเช่าห้องแถวหน้าศาลากลาง เปิดร้านขายกาแฟเองเมื่อประมาณ 60 ปีก่อน โดยเปิดบริการทุกวันไม่มีวันปิด ลูกค้าประจำส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่ทำงานที่ศาลากลางจังหวัด บ้างแวะมากินไข่ลวกพร้อมกาแฟตอนเช้า บ้างก็สั่งให้ไปส่งที่ทำงาน สามล้อหรือคนที่มารอรถไฟ ไปจนถึงนักกีฬาในจังหวัด

แม้วันนี้ที่ลุงสมจะย้ายร้านจากห้องแถวมาเป็นรถเข็น โดยมีหลานชายมาช่วยขายช่วงเช้า คนลำพูนก็ยังแวะเวียนไปดื่มกาแฟโบราณและไข่ลวกที่เสิร์ฟพร้อมชาร้อนของลุง เพื่อถกเถียงเรื่องปัญหาบ้านเมืองกับลุงทุก 10 โมงเช้า

11

ไส้อั่วยายปี๋

ไส้อั่วยายปี๋, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

หน้าตาของไส้อั่วยายปี๋ไม่ใช่เส้นขดเป็นวงกลมเหมือนที่เราเห็นทั่วๆ ไป แต่เป็นแท่งความยาวประมาณหนึ่งคืบ และเป็นอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่สมัยยายปี๋เริ่มทำเมื่อ 60 กว่าปีก่อน ยายปี๋เริ่มกิจการจากการทำเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่สู้คนจีนไม่ไหว เลยเปลี่ยนมาทำร้านกับข้าวอย่างลูกชิ้นทอด แหนม เช้าไปขายที่ตลาดแล้วก็กลับมาขายที่บ้านต่อ ก่อนจะเหลือขายแค่ไส้อั่วที่สืบทอดโดยลูกสาว แม่ศรีภา ห่านทิรัญ ซึ่งเป็นของฝากที่คนลำพูนรักมากมาจนวันนี้

ไส้อั่วยายปี๋, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

ความโดดเด่นของไส้อั่วยายปี๋คือมันน้อย เน้นคัดเฉพาะเนื้อสันคอและสามชั้นอีกนิดหน่อย ผสมกับพริกแห้ง ตะไคร้ กระเทียม ใบมะกรูด ต้นหอมผักชี ตำละเอียดพร้อมปรุงรส รสชาติอร่อยถูกใจทั้งคนลำพูนและนักท่องเที่ยว ถึงขนาดมีห้างสรรพสินค้าที่กรุงเทพฯ มาติดต่อขอรับไปขาย (แน่นอนว่าแม่ศรีภาปฏิเสธ)

ในร้านนอกจากจะขายไส้อั่วและแคปหมูแล้ว แม่ศรีภายังรับฝากขายอาหารและขนมอื่นๆ เพื่อที่เวลาลูกค้ามาซื้อจะได้ของฝากครบถ้วน และยังเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการคนอื่นๆ ไปด้วยในตัว แต่แเงื่อนไขคือแม่ศรีภาต้องชิมก่อน ถ้าอร่อยมีคุณภาพถึงจะรับฝาก หรือถ้าลูกค้ามีฟีดแบ็ก แม่ศรีภาก็จะเสนอให้เจ้าของปรับปรุง

เราแอบถามคุณยายที่ต่อแถวจ่ายเงินก่อนหน้าว่ามาซื้อบ่อยหรือเปล่า ยายหัวเราะก่อนตอบว่า “โอ๊ย กินมาตั้งแต่รุ่นแม่แล้ว”

12

River Festival

River Festival, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

ทุกช่วงลอยกระทงของทุกปี ลำพูนจะจัดเทศกาลถวายโคม ซึ่งถือเป็นประเพณีคู่เมืองที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนยุคที่ธุรกิจการบินเริ่มเฟื่องฟูและลำพูนเป็นทางผ่านของการขึ้นลงของเครื่องบิน กิจกรรมลอยโคมจึงต้องล้มเลิกเพื่อเปลี่ยนมาเป็นการแขวนโคมแทน ปรากฏจำนวนโคมที่ทำขึ้นเพื่อทำบุญถวายก็มากขึ้นตามกาลเวลา จากหลักพันเป็นหลักหมื่นเป็นหลักแสน จนไม่มีที่แขวนในเมือง

River Festival, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

Lamphun New Gen ซึ่งทำกิจกรรมเกี่ยวกับการดูแลต้นไม้ใหญ่และแม่น้ำในจังหวัดอยู่แล้ว พวกเขาเสนอไอเดีย River Festival เพื่อเฉลิมฉลองการถวายโคม โดยนำโคมที่คนมาบริจาคให้วัดไปตกแต่งริมแม่น้ำกวง มีงานแสดงแสงสีเสียงเล่าเรื่องเมืองตลอดสองฝั่ง ลำพูนอาร์ตมาร์เก็ตขายของดีไซน์หลากหลาย ร้านอาหารพื้นเมืองมีทั้งเมนูดั้งเดิมและเมนูที่นำเสนอในรูปแบบใหม่ๆ 

River Festival, CEA, ลำพูน, ที่เที่ยวลำพูน

ความน่าสนใจของเทศกาลนี้ คือการร่วมมือของหลายหน่วยงานในจังหวัด ทั้งเทศบาล วัด คนลำพูน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มจากการทำสิ่งที่ตัวเองถนัด ในงบประมาณที่มี มาช่วยกันสร้างกิจกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวของลำพูนให้ทั้งคนในและคนนอก สเตปต่อไปที่กลุ่ม Lamphun New Gen จะต่อยอด คือการพัฒนาแม่น้ำกวงให้คนลงไปเล่นน้ำได้

ขอขอบคุณ
คุณไชยยง รัตนอังกูร
คุณชีระโชติ สุนทรารักษ์
คุณเพ็ญพัชร สุนทรารักษ์
คุณพัฒนา กัณฑอุโมงค์
คุณอรัญญา กัณฑอุโมงค์
ดร.เพ็ญสุภา สุคตะ
คุณนเรนทร์ ปัญญาภู
คุณณรัศมิน ขัติยะวรา
คณาจารย์และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล