The Cloud x องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)

ณ จังหวัดชื่อสั้นสุดในแดนอีสาน เสียงลือเสียงเล่าอ้างจากที่นี่ดังไกลไปถึงเมืองหลวงว่า เมืองเลยมีแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่แจ้งเกิดจากความอุตสาหะของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง

ในอ้อมกอดของภูใหญ่ 2 ลูกอันเป็นที่มาของชื่อ ‘ตำบลภูหอ’ และ ‘อำเภอภูหลวง’ ทุ่งนาเขียวขจีและกอกล้วยดกครึ้ม เป็นเหมือนเพื่อนร่วมทางซึ่งติดตามเราไปทุกที่ หรือไม่ก็เจ้าถิ่นใจดีที่ช่วยนำทางเราไปสู่จุดหมายที่ซ่อนกายอยู่ท่ามกลางดอยดงหล่งลึกของตำบลนี้ หลังป้ายทำมือเขียนว่า ‘Banana Landคือที่ดินผืนใหญ่ที่ถูกแบ่งสรรเป็นที่ทอผ้า บ่อปลา แปลงนา ผลิตงานฝีมือ และฟางกองใหญ่ที่สุมกันในรูปปราสาทจำลอง เสียงหัวเราะและรอยยิ้มของชาวบ้านหนองบัว ตำบลภูหอ ที่มาร่วมแรงทำงานตามความถนัดของตนเองที่นี่ ล้วนเป็นมาตรวัดความสุขที่พวกเขาได้รับยามมาเยือนสถานที่เที่ยวเปิดใหม่

ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้พัฒนาบ้านเกิดด้วยกล้วยในชุมชน เป็น บานาน่าแลนด์ แห่ง อ.ภูหลวง

บั้ม-ลักขณา แสนบุ่งค้อ ปรากฏตัวในชุดม่อฮ่อมย้อมคราม นุ่งผ้าขาวม้าทอเอง รวบผมสั้นมัดจุกง่าย ๆ ลุคเดียวกับที่เราเคยเห็นในทีวีเมื่อ 4 – 5 ปีก่อน ตอนเธอนำผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปของอำเภอภูหลวง แปะฉลาก ‘Banana family’ ไปขายไอเดียถึงสตูดิโอรายการ Win Win WAR Thailand สุดยอดนักธุรกิจแบ่งปัน ซีซันแรก

วันนั้น Banana Land ของเธอเพิ่งตั้งไข่ในฐานะโมเดลพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเพื่อชุมชน

วันนี้ โมเดลที่เคยคิดเพื่อตอบโจทย์ของรายการได้รับการสานต่อให้เป็นจริง ด้วยแรงใจและไฟฝันอันโชติช่วงของสาวเลย ผู้เรียกตัวเองว่า ‘คนบ้าพลัง’ และในวันที่ Banana Land ของบั้มก่อกำเนิดเป็นรูปเป็นร่าง เราอยากชวนเจ้าตัวมาเล่าย้อนถึงหลักกิโลเมตรแรกที่เธออุทิศตนเองเพื่อรอยยิ้มและรายได้ของคนในชุมชน เผื่อว่าผู้อ่านที่รักทุกท่านจะได้รับพลังบวก ๆ ไปจากผู้หญิงบ้าพลังคนนี้

จากภูหลวง

ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้พัฒนาบ้านเกิดด้วยกล้วยในชุมชน เป็น Banana Land แห่ง อ.ภูหลวง

“ที่นี่คืออำเภอภูหลวง ภูยาว ๆ ที่เป็นสันเขาฝั่งกระโน้นคือชื่ออำเภอนี้ เป็นภูยาวที่กินพื้นที่ 3 อำเภอ ส่วนด้านหลังโน่นคือภูหอ ส่วนมากคนรู้จักชื่อ 2 ภูนี้ ภูหนึ่งคือชื่อตำบล อีกภูคือชื่ออำเภอ” บั้มวาดแผนที่กลางอากาศให้คนต่างถิ่นอย่างเราเข้าใจภูมิศาสตร์ของบ้านเกิดเธอในไม่กี่ประโยค

“บ้านบั้มอยู่ที่นี่ เป็นที่ดินของบรรพบุรุษ ตาทวดให้ยาย ยายยกให้แม่ แล้วส่งต่อมาถึงรุ่นบั้ม” เจ้าบ้านตีวงให้แคบลงมาถึงแค่ผืนดินเขียวขจีที่พวกเรายืนอยู่

ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้พัฒนาบ้านเกิดด้วยกล้วยในชุมชน เป็น Banana Land แห่ง อ.ภูหลวง

ทุกถ้อยกระทงความที่บั้มกล่าวถึงอำเภอภูหลวงที่ตระกูลเธอหยั่งรากอาศัยมาหลายชั่วอายุคน เปี่ยมด้วยความรักใคร่อย่างที่ใครฟังก็รู้สึกได้ แต่เพื่อความก้าวหน้าของการงานอาชีพ หญิงสาวชาวภูหลวงคนนี้จึงจำจากบ้านเกิดในชนบทไปยังเมืองฟ้าอมร เพื่อโอกาสทางการศึกษาที่เปิดกว้างกว่า

บั้มเรียนจบปริญญาตรีคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ทั้งที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ก่อนจะได้รับทุน IFP Thailand ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ AIT (Asian Institute of Technology) โดยสาขาที่เลือกเรียนในตอนนั้นคือ วิชาความเสมอภาคระหว่างหญิงและชาย หากแต่วิชาที่กำหนดเส้นทางอนาคตของเธอกลับไม่ใช่วิชาที่เลือกโดยจำเพาะ แต่เป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาที่ได้รับทุนทุกคน

คืนภูหลวง

“พ.ศ. 2557 บั้มไปเรียน SE (ธุรกิจเพื่อสังคม) ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยกชุดไปสอนพวกเรา เพราะเด็กทุนทุกคนต้องเรียนเรื่องนี้ ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่า SE คืออะไร รู้แต่ว่าต่างประเทศเขาเน้นเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมกันมานานมาก แต่ประเทศไทยไม่มีเลย มีแต่ทำบริษัทใหญ่โต รวยแล้วค่อยแบ่งไปทำ CSR (ความรับผิดชอบต่อสังคม) ซึ่งมันต่างจาก SE มาก”

อาจกล่าวได้ว่า นี่คือวิชาที่ปลุกวิญญาณนักพัฒนาในตัวบั้มอีกขั้นหนึ่ง ก่อนหน้านี้เธออาจเคยเป็นมือข้างหนึ่งที่ร่วมด้วยช่วยกันในกิจกรรมยกระดับความเป็นอยู่ของคนในบ้านเกิดมาแล้ว แต่เรื่องธุรกิจการค้ายังไม่เคยปรากฏในหัวคิดเช่นครั้งนี้

ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้พัฒนาบ้านเกิดด้วยกล้วยในชุมชน เป็น Banana Land แห่ง อ.ภูหลวง
ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้พัฒนาบ้านเกิดด้วยกล้วยในชุมชน เป็น Banana Land แห่ง อ.ภูหลวง

“เราได้โจทย์มาว่า ถ้ากลับมาที่ชุมชนของเรา เราจะทำธุรกิจเพื่อสังคมอะไรได้บ้าง” สาวเลยร่างเล็กเอ่ยด้วยดวงตาฉายแววครุ่นคิด “ก่อนหน้านี้พวกเราไม่เคยขายของ เคยแต่ทำงานอาสา ทำกลุ่มเยาวชนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ชื่อ ‘ชวนน้องออมถวายพ่อหลวง’ ชวนกันออมเงิน ออมบ้าน ออมเด็ก ออมเวลา อันสุดท้ายนี้หมายถึงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เลยชักชวนกันมาทำ SE”

Banana family

โจทย์ที่ได้จากห้องเรียนธุรกิจเพื่อสังคมทำให้บั้มครุ่นคิดอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะพบทางสว่างเมื่อเธอสำรวจพื้นที่บ้านเกิดจนทั่ว แล้วพบว่าของดีประจำถิ่นคือ ‘ต้นกล้วย’ เธอชักชวนชาวบ้านละแวกใกล้เคียงมาแปรรูปกล้วยที่ปลูกในชุมชนเป็นขนมกล้วย ได้แก่ Banana Stick และ Banana Snack

เริ่มจากกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เคยร่วมงานกันในฐานะสมาชิกกลุ่มชวนน้องออมถวายพ่อหลวง รูปที่ใช้ออกแบบโลโก้บนหีบห่อ ก็ได้แบบจากใบหน้ารุ่นน้องที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าฝ่ายผลิต

“ตอนแรกเราจะทำรูปภูหอ แต่ตอนนั้นภูหอยังไม่ดัง ไปเสนออาจารย์แล้ว อาจารย์ก็แย้งว่าเห็นรูปภูหอแล้วใครจะรู้ว่าขายกล้วย ตอนนั้นก็เหมือนจะเรียนเรื่องทำแผนธุรกิจอยู่ค่ะ แก้ไขกันมานานพอสมควรกว่าจะได้โลโก้นี้ เราคิดกันว่าสัญลักษณ์ประจำตัวเด็กอีสานอย่างเรา ๆ มันคืออะไรนะ

“โหนกแก้มใหญ่ กรามเยอะ ตาน้อย ๆ ใช่ไหม ก็เลยออกมาเป็นรูปการ์ตูนประมาณนี้”

ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้พัฒนาบ้านเกิดด้วยกล้วยในชุมชน เป็น Banana Land แห่ง อ.ภูหลวง

บั้มและผองเพื่อนเยาวชนตั้งชื่อแบรนด์ให้ขนมกล้วย ๆ ทั้งหมดของพวกตนว่า Banana family มีเมนูชูโรงคือ ‘กล้วยเส้น’ ที่สร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างเห็นผลจริง จึงเป็นแรงผลักดันให้เธอเพิ่มรสและกลิ่นใหม่ ๆ อย่างปาปริก้า สาหร่าย และบาร์บีคิว ก่อนที่ตรา Banana family จะขยายผลไปสู่ผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบอื่น ๆ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องผลิตเองและปลอดสารพิษ

“SE สอนให้เราเลือกคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผลกำไรต้องแบ่งปันได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ผู้ผลิตวัตถุดิบต้องได้กำไรด้วยตั้งแต่แรก ซื้อของโดยไม่กดราคา คัดคุณภาพเพื่อการผลิตที่ดี กลางน้ำคือการผลิตที่ดี มีการผลิตที่ดีมั้ย ไม่ใช่ตะบี้ตะบันทำงาน แล้วของจะมีคุณภาพได้ยังไงถ้าคนที่ทำยังไม่ดี สุดท้ายปลายน้ำก็คือผู้บริโภค ถ้าเราเริ่มต้นมาดีทั้ง 2 อย่าง การส่งมอบของต่าง ๆ ก็จะดีไปด้วย นี่คือสิ่งที่ SE บ่มเพาะเรา เลยทำให้สินค้ามีคุณภาพดี มีมาตรฐานส่งออก GMP Codex ทุกอย่าง”

ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้พัฒนาบ้านเกิดด้วยกล้วยในชุมชน เป็น บานาน่าแลนด์ แห่ง อ.ภูหลวง

ถ้าถามว่าสินค้าตรา Banana family มีคุณภาพดีสมคำร่ำลือหรือไม่ เราขอตอบด้วยผลงานว่าเพียง 1 ปีที่ขนมขบเคี้ยวจากกล้วยของบั้มเริ่มวางจำหน่าย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ก็เลือก Banana family เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยวในอำเภอภูหลวง และทุกคราวที่บั้มเปิดไลฟ์ขายของ ลูกค้าจากทั่วสารทิศก็พร้อมใจเข้ามาชมและสั่งสินค้ากันใหญ่

Banana Land

ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้พัฒนาบ้านเกิดด้วยกล้วยในชุมชน เป็น บานาน่าแลนด์ แห่ง อ.ภูหลวง

Banana family ออกจำหน่ายอยู่ 4 ปี บั้มก็รู้สึกว่าสายป่านที่ใช้หล่อเลี้ยงธุรกิจกล้วยเส้นของเธอเริ่มจะสั้นเกินไปเสียแล้ว เพื่อหาเงินทุนมาต่อยอดทำบรรจุภัณฑ์และเครื่องจักรบางอย่าง เธอจึงตัดสินใจนำแบรนด์ Banana family ไปท้าประลองในรายการ Win Win WAR Thailand สุดยอดนักธุรกิจแบ่งปัน ด้วยความมุ่งหวังที่พกพาจากเมืองเลยว่า จะนำเงินรางวัลกลับไปเพื่อการนั้น

“เรามีความคิดว่าอยากทำ Banana Land อยู่แล้ว แต่กะว่าจะขยาย Banana family ก่อน ค่อยเอาเงินมาทำบ้านตัวเองเป็น Banana Land ต่อ เราลงแข่งรายการนี้เพราะมันเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมโดยตรง ไปเจอ โค้ชเจ-เจรมัย พิทักษ์วงศ์ แกเป็นโค้ชส่วนตัวของเรา แกก็โยนคำถามมาคำถามหนึ่งว่า ‘บั้มอยากให้หมู่บ้านของบั้มกลายเป็นหมู่บ้านอุตสาหกรรมเหรอ’ ไม่เคยมีใครถามเราแบบนี้”

ครั้งนั้น โค้ชเจเสนอแนะกับบั้มว่า แทนที่จะมองหาเครื่องจักรชุดใหม่และอะไรอีกหลายขั้น คงจะสบายกับเธอมากกว่า หากเธอสร้าง Banana Land ทันทีโดยไม่ต้องหมายน้ำบ่อหน้า

ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้พัฒนาบ้านเกิดด้วยกล้วยในชุมชน เป็น บานาน่าแลนด์ แห่ง อ.ภูหลวง
ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้พัฒนาบ้านเกิดด้วยกล้วยในชุมชน เป็น บานาน่าแลนด์ แห่ง อ.ภูหลวง

ด้วยคำแนะนำของกุนซือผู้มองการณ์ไกล บั้มได้เสนอแนวคิดแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อชุมชน Banana Land ต่อรายการ Win Win WAR Thailand สุดยอดนักธุรกิจแบ่งปัน เรียกเสียงปรบมือและคะแนนความนิยมกึกก้อง แม้ไม่อาจคว้ารางวัลชนะเลิศกลับมาได้ แต่การติดอันดับ 1 ใน 5 สุดยอดธุรกิจ ก็ไม่ทำให้การเข้ากรุงต้องเสียเปล่า เนื่องจากเงินรางวัลที่เธอได้รับจากการเข้ารอบสุดท้าย มากเพียงพอสำหรับการพลิกฟื้นที่ดิน 8 ไร่อันตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะของคนบ้านใกล้เรือนเคียง

เครือกล้วยใน Banana Land ยังเป็นสายพานสำคัญที่ป้อนผลผลิตสู่โรงงาน Banana family แต่ ‘ดินแดนกล้วย ๆ’ แห่งนี้หาได้มีแค่กล้วยเหมือนในชื่อ เพราะที่นี่คือแหล่งท่องเที่ยวชุมชนผสมเครือข่ายชาวบ้าน เปิดโอกาสให้คนในและคนนอกมาพบปะและเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านกิจกรรม พร้อมแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ อาทิ สปาเท้า เตียงแคร่ งานแฮนด์เมด อีโคพรินต์ ทอผ้า อาหารพื้นบ้าน เลี้ยงกุ้งหอยปูปลา ร้านกาแฟ นาข้าว รวมถึงปราสาทฟางหลังใหญ่ที่กำลังจะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของตำบลภูหอและอำเภอภูหลวงในไม่ช้านี้ ทั้งหมดทั้งมวลนี้วางอยู่บนแนวคิด ‘อนุรักษ์ เชื่อมความสัมพันธ์ และแบ่งปัน’

ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้พัฒนาบ้านเกิดด้วยกล้วยในชุมชน เป็น บานาน่าแลนด์ แห่ง อ.ภูหลวง

อนุรักษ์

“การอนุรักษ์ เราทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่พวกเราทำเรื่อง 4 ออม หลังจากนั้นเราเห็นชุมชนเราเผาฟาง เราก็มาคุยกับเด็ก ๆ ว่าเราจะทำยังไงไม่ให้ชุมชนเผาฟาง เด็ก ๆ อยากได้สวนสนุก ก็เลยสร้างปราสาทฟางขึ้นมา เราไม่ได้บอกเขาว่า ห้ามเผานะ แต่เราจะดึงเขามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วยกัน”

ผู้ใหญ่บางคนอาจติว่าความคิดดังกล่าวฟังดูเหมือนคบเด็กสร้างบ้าน แต่ถึงไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าปราสาทฟางของบั้มช่วยลดการเผาฟางข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยวได้มากราว 60 – 100 ตัน หรือคิดเป็นประมาณ 1,000 ไร่ ทั้งยังเป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านรุ่นเยาว์ทุกผู้ทุกนาม

ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้พัฒนาบ้านเกิดด้วยกล้วยในชุมชน เป็น Banana family แห่ง อ.ภูหลวง

เชื่อมความสัมพันธ์

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ทุกชุมชนต้องประสบเหมือน ๆ กันคือเรื่องช่องว่างระหว่างวัย ที่คนวัยไม้ใกล้ฝั่งกับลูกหลานวัยเด็กมักคิดเห็นขัดแย้ง แม้กายอยู่ใกล้ แต่ใจกลับอยู่ห่างราวกับต่างมีโลกของตัวเอง

เรื่องนี้บั้มมีวิธีคลายปัญหาด้วยการเชื่อมความสัมพันธ์แบบกล้วย ๆ ว่า “จะเด็ก วัยรุ่น หรือผู้สูงอายุ เราทำงานร่วมกันได้ด้วยการท่องเที่ยว ก่อนหน้านี้วัยรุ่นกับผู้เฒ่าไม่คุยกัน พอเราให้พวกเขามาคุยกัน เฮ้ย ก็เข้ากันได้นะ วัยรุ่นก็ถามเขาหน่อยว่าผู้เฒ่าผู้สูงอายุคิดยังไง ผู้สูงอายุก็ถามวัยรุ่นหน่อยว่าเด็ก ๆ คิดยังไง เสร็จแล้วก็กลับมาคุยกันเอง เล่าสู่กันฟังว่าสิ่งที่เราเรียนรู้คืออะไร แล้วให้มาเจอกันครึ่งทาง”

การพัฒนาบ้านเกิดด้วยแนวคิด ‘อนุรักษ์ เชื่อมความสัมพันธ์ และแบ่งปัน’ สู่ Banana family และ Banana Land จังหวัดเลย

ตัวอย่างการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนหลากวัยที่เห็นชัดที่สุด คือ ภาพวาดที่บั้มภูมิใจนำเสนอแขกผู้มาเยือนที่ปราสาทฟาง บางรูปวาดโดยเด็ก บางรูปวาดโดยคนชรา และมีบางรูปที่เธอให้คน 2 กลุ่มวาดบนผืนกระดาษแผ่นเดียวกันจากมุมมองที่แตกต่างกัน ผลที่ได้รับคือจิตรกรรมอันงดงามตามคติที่ว่า ‘ศิลปะไม่มีถูกไม่มีผิด’

แบ่งปัน

แบ่งปันในความหมายของบั้ม คือ การมอบให้คนนอกที่แวะมาเยี่ยมเยือน Banana Land ของเธอได้ตักตวงความสุขและประสบการณ์ดี ๆ ไปจากคนพื้นถิ่นอำเภอภูหลวง

“คำว่าแบ่งปัน ก็คือให้นักท่องเที่ยวมารับอากาศดี ๆ ทานอาหารพื้นบ้านที่เราปลูก ที่เราทำ ได้มาใช้ผ้าห่ม ซื้อของที่ทำในชุมชน ที่นี่ไม่ได้ทำการท่องเที่ยวแบบเชิงธุรกิจจ๋า เพราะเราไม่ได้เปิดทั้งปี เราอยากแบ่งปันหน้าฝน ฉันก็จะบอกว่าฉันเปิดแค่หน้าฝน หน้าแล้งพวกคุณอย่ามา ถ้ามาจะไม่เห็นอะไรเลย สมมติว่าช่วงนี้มาแล้วไม่เห็นอะไร ก็เพราะฉันไม่ได้ทำอะไร คุณมาผิดช่วง

“เหมือนกับข้างนอกเขามาเติมเต็มเรา เราก็เติมเต็มข้างนอก ส่วนมากที่ข้างนอกเขามาเติมเต็มเรา คือการให้ไอเดียเรา เขาชอบนะ เขาเหมือนเห็นเราเป็นคนในครอบครัว อย่างบางคนที่ซื้อสินค้าเรา ปีที่แล้วซื้อแล้ว ปีนี้ก็ซื้อซ้ำอีก เหมือนเขาเอ็นดูเรา อยากมาแชร์กับเรา”

ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้พัฒนาบ้านเกิดด้วยกล้วยในชุมชน เป็น Banana family แห่ง อ.ภูหลวง

คงป่วยการเปล่าหากเราจะถามบั้มว่ารู้สึกอย่างไรในสิ่งที่เธอทำอยู่ทุกวันนี้ ในเมื่อยิ้มชื่นบานตามติดใบหน้าคล้ำแดดของเธอไปตลอดทางที่นำเราเที่ยว

“เป็นคนบ้าพลัง มีงานทุกวัน ไม่เคยมีวันหยุด” อะไรจะยืนยันคำอวดอ้างนี้ได้ดีเท่ากระดานข้างฝาบ้าน ที่บั้มและทีมงานผู้ช่วยของเธอพากันลงหมึกปากกาจดคิวงานจนแน่นไปทั้งแถบ

“เรารู้สึกว่ารอยยิ้มที่เราได้จากชุมชนที่ยิ้มกลับมาให้เรา หลายคนบอกว่า “บั้ม ทำไมเราไม่เจอกันให้นานกว่านี้ หรือ ทำไมบั้มไม่เกิดตั้งนานแล้ว” เหมือนเราพาเขามาทำงานกลุ่มแล้วเขาประสบความสำเร็จ มีรายได้ที่มั่นคง ทำให้เรารู้สึกว่ารอยยิ้มของคนในชุมชนที่พวกเขายิ้มได้จากการมีรายได้ จากการที่ไม่ต้องออกไปนอกเมือง มันคือรอยยิ้มของเราด้วยเหมือนกัน”

ถึงยามอำลาจากภูหลวง ภูหอ รวมทั้งเจ้าของแบรนด์สินค้ากับแหล่งท่องเที่ยวที่ชื่อ ‘บั้ม’

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พลังอันเหลือล้นของเธอจะถ่ายทอดไปยังหัวใจดวงน้อย ๆ ของเยาวชนทุกคน เพื่อให้มวลธาตุแห่งความคิดบวกคงอยู่คู่บ้านเกิดของเธอไปอีกนานเท่านาน

ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวเลยผู้พัฒนาบ้านเกิดด้วยกล้วยในชุมชน เป็น Banana family แห่ง อ.ภูหลวง

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน