“ทริปมอเตอร์ไซค์ทั้งหมดที่ทำมา ชอบเมืองไหนในประเทศอะไรมากที่สุด”

เราเคยคิดว่าคำถามนี้ตอบยาก เพราะจะเมืองไหนประเทศอะไรก็ต้องมีอารมณ์ถูกใจและไม่ถูกใจผสมกันอยู่ จะให้เลือกมาที่เดียวเลยก็เกิดอาการรักพี่เสียดายน้อง แต่พอมีคนถามหลายครั้งเข้า เราก็เริ่มสังเกตว่าเมืองที่เราเลือกมาตอบมักจะวนเวียนอยู่ไม่กี่แห่ง และหนึ่งในนั้นที่ไม่เคยหลุดโผเลยก็คือทะเลสาบอัตติลันในประเทศกัวเตมาลา เมืองที่เราคิดกันว่าจะแค่ขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านไปกินลมชมวิวไม่กี่วัน แต่แล้วสุดท้ายก็จับพลัดจับผลูอยู่ยาวเกือบ 3 เดือนแบบไม่คาดคิด

ทะเลสาบอัตติลัน ประเทศกัวเตมาลา

อัตติลัน (Lake Atitlán) หรือที่เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า Lago de Atitlán เป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่ทอดยาวอยู่ท่ามกลางเทือกเขาเซียร์รา มาเดร (Sierra Madre) เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,563 เมตร ตัวทะเลสาบมีลักษณะเป็นแอ่งยุบปากปล่องหรือแอ่งภูเขาไฟรูปกระจาด (Caldera) ซึ่งเกิดจากการระเบิดอย่างรุนแรงและฉับพลันในส่วนลึกลงไปของภูเขาไฟเมื่อ 84,000 ปีมาแล้ว พลังระเบิดทำให้พื้นที่ส่วนบนกระจัดกระจายรอบทิศทางจนกลายเป็นแอ่งที่มีขอบเอียงลาดลงสู่ก้นด้านล่าง

พื้นที่ที่ปกคลุมด้วยน้ำของทะเลสาบแห่งนี้มีความกว้างประมาณ 10 กิโลเมตร ยาวประมาณ 19 กิโลเมตร และมีความลึกถึง 320 เมตร อัตติลันจึงขึ้นแท่นเป็นทะเลสาบที่ลึกที่สุดในประเทศกัวเตมาลาและในทวีปอเมริกากลางอีกด้วย

ทะเลสาบอัตติลัน ประเทศกัวเตมาลา
© alq666, via Flickr CCBY-SA2.0

สามยักษ์ใหญ่ผู้พิทักษ์อัตติลัน

ความพิเศษของทะเลสาบอัตติลันไม่ได้อยู่ที่ความลึกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะมีภูเขาไฟรายล้อมถึง 3 ลูกด้วยกัน ลูกแรกคือ ภูเขาไฟซานเปโดร (Volcán San Pedro) มีอายุเก่าแก่ที่สุดและหยุดระเบิดอย่างสิ้นเชิงไปตั้งแต่เมื่อ 40,000 ปีที่แล้ว

ลูกที่สองคือ ภูเขาไฟโทลิมาน (Volcán Tolimán) ที่ยังมีชีวิตและมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่เคยมีบันทึกว่ามีการระเบิดเกิดขึ้น

ส่วนลูกสุดท้ายคือ ภูเขาไฟอัตติลัน (Volcán Atitlán) เป็นภูเขาไฟสลับชั้น (Stratovolcano) ขนาดใหญ่ และมีพัฒนาการเต็มที่ในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมา ภูเขาไฟลูกนี้ระเบิดมากกว่า 12 ครั้งในช่วง ค.ศ. 1469 – 1853 ปัจจุบันก็ยังเป็นภูเขาไฟที่คุกรุ่นอยู่

หลายชีวิต…ที่ริมทะเลสาบอัตติลัน

ทะเลสาบแห่งนี้มีเมืองขนาดเล็กกว่า 11 เมืองตั้งอยู่โดยรอบ เดิมทีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมายัน ชนเผ่าเก่าแก่หลายกลุ่ม (Tz’utujil, Kaqchikel และ K’iche’) แต่ในช่วง 40 ปีให้หลังมานี้ มีชาวต่างชาติจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาที่นี่ด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป มีทั้งท่องเที่ยว พักผ่อน นั่งสมาธิ ฝึกโยคะ ไปจนถึงชาวอเมริกาเหนือหรือชาวยุโรปวัยเกษียณที่นำเงินก้อนมาลงทุนทำธุรกิจ ตัวอย่างเช่นบ้านริมทะเลสาบที่เราตัดสินใจเช่าในตอนนั้น ก็มีเจ้าของเป็นครอบครัวชาวฝรั่งเศสที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานแบบถาวรในกัวเตมาลาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว

ทะเลสาบอัตติลัน ประเทศกัวเตมาลา

ชาวต่างชาติเหล่านี้มาพร้อมกับวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยม ที่แตกต่างจากชนพื้นเมือง เมื่อต้องมาอยู่ร่วมกัน บางจุดก็ดูเหมือนจะปรับตัวเข้ากันได้ดีแม้จะไม่ดีมาก เช่นในเมืองปานาฮาเชล (Panajachel) หรือที่คนท้องถิ่นเรียกติดปากกันว่า ‘ปานา’ ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางของหมู่บ้านริมทะเลสาบทั้งหมด เพราะมีถนนหนทางเข้าถึงได้ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่นๆ

ท่าเรือหลักของทะเลสาบและตลาดที่ใหญ่ที่สุดก็ตั้งอยู่ที่เมืองนี้ ปานาจึงเปรียบเสมือน ‘ประตู’ สู่ทะเลสาบอัตติลัน หากใครมาเที่ยวแถวนี้ ส่วนใหญ่ก็ต้องมาแวะขึ้นรถต่อเรือที่ปานาแทบทั้งนั้น

จำนวนของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาปานาในแต่ละวันนำไปสู่การเจริญเติบโตของธุรกิจโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ตัวแทนนำเที่ยว ฯลฯ เมืองที่เคยสงบเงียบกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันของผู้คนหลายเชื้อชาติหลากวัฒนธรรม ชาวมายันที่อยู่ในปานาบางส่วนก็หันมาขายสินค้าที่ระลึก ทั้งงานผ้าทอ งานปั้น งานสาน มีการเพิ่มรถสามล้อรับจ้างสีสันสดใสไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว มีตลาดของฝากที่เปิดทุกวันเพื่อนักเที่ยวโดยเฉพาะ ฯลฯ  เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบเต็มตัว ซึ่งก็มีทั้งคนถูกใจและไม่ถูกใจ

ในขณะที่เมืองซานเปโดร (San Pedro) และซานมาร์คอส (San Marcos) มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่เกือบจะถึง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งหมด เพราะมีโรงเรียนสอนภาษา สอนโยคะ สอนนั่งสมาธิ วิปัสสนา ฯลฯ ใน 2 เมืองนี้ ชาวต่างชาติและชาวพื้นเมืองใช้วิธีแยกกันกินแยกกันอยู่ ชาวต่างชาติสร้างที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร เกาะกลุ่มกันใกล้ริมทะเลสาบ ส่วนชาวพื้นเมืองก็สร้างที่พักและร้านค้าเกาะกลุ่มกันอยู่ด้านบน ต่างคนต่างใช้ชีวิตและไม่ยุ่งเกี่ยวกัน

หากเทียบกับกรณีแรก วิธีนี้ดูเป็นทางออกที่ประนีประนอมทั้งสองฝ่ายได้มากกว่า เรื่องการสร้างบ้านใกล้น้ำ ชาวมายันเลือกที่จะอยู่ห่างน้ำมากกว่าใกล้น้ำ เพราะมีความเชื่อว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และจากผลการวัดระดับน้ำที่ผ่านมาหลายปี ถ้าไม่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิดที่ทำให้น้ำลด ความเชื่อเรื่องระดับน้ำที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ของชาวมายันก็ถูกต้องแม่นยำเสียด้วย

นอกจากนั้น ก็มีเมืองอื่นๆ ที่มีลักษณะเฉพาะตัวต่างออกไป ไม่ว่าจะด้วยอิทธิพลของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นหรือไม่ก็ตาม เช่น ซานแอนโตนิโอ (San Antonio) เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องงานปั้นและงานเซรามิก เหมาะกับการไปเพื่อหาซื้อของที่ระลึก

ซานตาครูซ (Santa Cruz) เมืองเล็กๆ ที่เข้าถึงได้ด้วยการนั่งเรือหรือเดินเท่านั้น ใกล้ท่าเรือซานตาครูซจะมีร้านเช่าอุปกรณ์ทำกิจกรรมและกีฬาทางน้ำ รวมไปถึงโรงเรียนสอนดำน้ำ ทัวร์ดำน้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากหลังจากมีการค้นพบเมืองโบราณของชาวมายันที่จมอยู่ใต้ทะเลสาบ หรือจะดำน้ำดูปล่องภูเขาไฟบางส่วนที่ยังจมอยู่ใต้น้ำก็ได้

ทะเลสาบอัตติลัน ประเทศกัวเตมาลา

เมืองซานฮวน (San Juan) เป็นแหล่งทอผ้า ผลิตยาสมุนไพรพื้นบ้าน กาแฟคั่ว และมีจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ดีที่สุดของทะเลสาบอัตติลันชื่อว่า ‘อินเดียนโนส’ (Indian Nose) เพราะจากจุดนั้นสามารถมองเห็นทะเลสาบทั้งหมดพร้อมภูเขาไฟทั้งสามลูกได้ ส่วนการเดินขึ้นไปให้ถึงอินเดียนโนสนั้นจะต้องใช้เวลาเดินขึ้นเขาที่มีความชันประมาณครึ่งชั่วโมงสำหรับคนทั่วไป หรือชั่วโมงกับอีกสามสิบนาทีสำหรับคนที่ไม่พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจอย่างเรา

ทะเลสาบที่สวยที่สุดในโลก

เรายังไม่เคยเห็นทะเลสาบทั่วทั้งโลกเลยยืนยันไม่ได้ว่าคำกล่าวนี้เป็นความจริงรึเปล่า แต่เราคิดว่าการที่ทะเลสาบอัตติลันได้รับยกย่องว่าสวยที่สุดในโลก น่าจะเป็นเพราะใครก็ตามที่ได้มาสัมผัสและเห็นทะเลสาบแห่งนี้ด้วยตาตัวเองแล้ว จะรู้สึกคล้ายตกอยู่ในมนตร์สะกดจนนึกหาสถานที่อื่นมาเปรียบเทียบไม่ได้อีก เพราะเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้แต่ตอนที่ย้ายเข้าไปอยู่เป็นเดือนแล้วก็ยังมีจังหวะที่เงยหน้าขึ้นมาเจอทะเลสาบและภูเขาไฟตรงหน้าแล้วต้องหยุดทำทุกอย่างเพราะความสวยที่ยากจะเชื่อว่ามันคือของจริงที่จับต้องได้

ทะเลสาบอัตติลัน ประเทศกัวเตมาลา

โดยเฉพาะกับ ‘มาเรีย’ แม่บ้านชาวมายันที่มาคอยดูแลรดน้ำต้นไม้ดอกไม้ในสวนให้ ทุกครั้งหลังจากทักทายสวัสดีกันแล้ว มาเรียมักจะมีประโยคที่พูดติดปากทุกครั้งว่า

“วันนี้อัตติลันสวยนะคะ”

ตอนแรกเราไม่ได้เก็บมาคิดอะไร แต่หลังจากได้ยินบ่อยๆ เข้าก็เลยหาโอกาสนั่งคุยกับมาเรียเรื่องนี้ และเจ้าตัวก็เล่าให้ฟังด้วยความเต็มใจว่าความสวยงามของทะเลสาบอัตติลันไม่ใช่แค่สิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยใจและจิตวิญญาณ ชาวมายันเชื่อว่าที่แห่งนี้คือทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ พลังงานพิเศษที่ถูกปลดปล่อยออกมาปกคลุมพื้นบริเวณนี้เป็นพลังงานบริสุทธิ์ที่ช่วยชำระล้างความทุกข์ ความโศกเศร้า และทำให้จิตใจสงบ มาเรียบอกเราว่า เธอชอบมองทะเลสาบเพราะ ‘พลังพิเศษ’ ทำให้มีกำลังใจและหายเหนื่อย ก็เลยคิดว่าคนอื่นๆ น่าจะหาเวลาชื่นชมมันบ้าง

ตั้งแต่วันนั้นมาเราก็ทำตามที่มาเรียแนะนำ ด้วยการวางปากกาแล้วเงยหน้ามองความมหัศจรรย์ของทะเลสาบแห่งนี้อยู่บ่อยๆ เอ… หรือที่เรายังรักทะเลสาบอัตติลันเหมือนบ้านหลังที่สองมาจนทุกวันนี้ จะเป็นเพราะ ‘พลังพิเศษ’ ของมาเรียหรือเปล่านะ 🙂

ทะเลสาบอัตติลัน ประเทศกัวเตมาลา

Writer & Photographer

Avatar

เอมิลิญา รัตนพันธ์

สาวนครศรีฯ เรียนและทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่ ก่อนจะเก็บกระเป๋ามาออกทริปมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ปลายปี 2015 ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เมืองเกวงกา ประเทศเอกวาดอร์ และยังคงเดินทางอยู่ :) Facebook ซ้อนท้ายมอไซค์ไปขั้วโลก