01

บน ‘ดอยชายแดน’ มีวิทยาลัยเกษตรเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อว่า ‘ศูนย์การเรียนบ้านนาโต่’ แต่ผู้คนในละแวกนี้เรียกว่า ‘วิทยาลัยเกษตรนาโต่’ เป็นวิทยาเขตของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย ตั้งอยู่ที่บ้านนาโต่ ตำบลแม่สลอง ใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย สูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตรโดยประมาณ

วิทยาลัยเกษตรนาโต่เกิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้นักเรียนพื้นที่ห่างไกลชายแดนได้มีที่เรียนใกล้บ้าน ไม่ต้องจากบ้านเกิดไปเรียนในเมืองไกลมารดาบิดร

ที่นี่ตั้งอยู่ในหุบเขาลึกที่มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี แวดล้อมไปด้วยเทือกเขาสูงน้อยใหญ่ พี่น้องชาติพันธุ์บนดอยสูงมีมากถึง 6 ชาติพันธุ์ ได้แก่ จีนฮ่อ อาข่า ลาหู่ ไทยใหญ่ ลีซู และม้ง พื้นที่แห่งนี้จึงเต็มไปด้วยความหลากหลายของวิถีวัฒนธรรม เกิดเป็นความสวยงามที่แตกต่างและน่ายินดี

นักเรียนที่มาเรียนมีหลากหลายชาติพันธุ์ปนกันไป กว่าครึ่งเป็นอาข่าและลาหู่ ครอบครัวของนักเรียนแต่ละคนล้วนทำอาชีพเกี่ยวกับการเกษตรบนดอยสูงเป็นหลัก มีไร่ชา ไร่กาแฟ เกือบทุกบ้าน ช่วงนี้เป็นฤดูกาลของการเก็บชาแรก ชาวไร่ชาทั้งหลายได้พักชามาตลอดกลางฤดูหนาวจนกระทั่งต้นฤดูร้อน ฝนแรกเป็นฝนที่ดีเยี่ยม ทำให้ชาที่พักมานานผลิยอดชาแรกของฤดูให้ชาวไร่ได้อมยิ้มมิใช่น้อย

ไม่แปลกหรอก เวลาที่ฉันจะไปเยี่ยมบ้านนักเรียนหรือได้รับเชิญไปงานสีสวยงาม จนกระทั่งงานขาวดำ ต่างก็มีน้ำชาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น น้ำชาร้อนๆ ในแก้วไม้ไผ่เก่าๆ คือ Welcome Drink แรกที่ฉันได้รับสม่ำเสมอ บางครอบครัวดื่มชาแทนน้ำดื่มเลยก็มี น้ำชามีสารชนิดหนึ่งที่ดื่มแล้วจะกระตุ้นให้เราตื่นตัวคล้ายๆ ดื่มกาแฟ เพียงแต่นอกจากจะทำให้เราตื่นตัวแล้วยังทำให้จิตใจสงบอีกด้วย  วิถีการทำชาและการดื่มชาของแต่ละชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน ทำให้รสชาติ ความกลมกล่อมละมุนแตกต่างกันไป

นักเรียนเกือบทุกคนเคยช่วยครอบครัวเก็บชา นวดชา และคั่วชา ตามวิถีของเผ่าชนที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่บรรพบุรุษอพยพมาจากตอนใต้ของทิเบตอันห่างไกล

สุระชัย นักเรียนชั้น ปวช.3 เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ (ดำ) ลาหู่บนดอยแห่งนี้แยกเป็นกลุ่มย่อยได้อีก 4 – 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็ยิบย่อยไปอีก แต่วันนี้จะขอพูดถึงวิถีการทำชาแบบสุระชัย ลาหู่ดำ เพราะสุระชัยชอบนำชาที่เขานวดเองบ้าง คุณพ่อคุณแม่นวดบ้าง มาฝากฉันให้ได้ชิมอย่างสม่ำเสมอ 

ทำให้ฉันมีไอเดีย ‘ห้องเรียนชา ลาหู่ดำ กับน้องๆ ปวช.1

‘ห้องเรียนกลางไร่ชาอาจพูดว่าเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนหรือทัศนศึกษานอกสถานที่ก็คงไม่ผิด การออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมมาไร่ชา ซึ่งมิใช่สถานที่ที่นักเรียนไม่เคยเห็น แต่เป็นสิ่งที่คุ้นเคยเสียมากกว่า เป็นความคุ้นเคยที่คู่ควรจะรักษา ฉันเคยเห็นวิถีผู้คนกลางไร่ชา คุณแม่สะพายลูกๆ ไว้ข้างหลังแล้วก้มเก็บยอดใบชาอย่างชำนาญ ลูกๆ ยังหลับตาอ้าปากหวอไม่สะทกสะท้านกับการเคลื่อนไหวของมารดาในงานเก็บชาแต่อย่างใด

วันนี้ฉันในฐานะครูเกษตรที่รับผิดชอบสอนรายวิชา ‘การผลิตไม้ผลไม้ยืนต้น’ ชาก็ถูกจัดอยู่ในรายวิชานี้เช่นกัน  อีกทั้งเป็นพืชเศรษฐกิจบนดอยสูง ควรแก่การพัฒนาไปข้างหน้าโดยยึดหลักวิถีดั้งเดิม การดำเนินตามวิถีอย่างนี้นี่แหละ ความยั่งยืนคงไม่หนีไปไหนหรอก เพียงแต่ว่าที่พานักเรียนชั้น ปวช.1 มายลชมวิถีการผลิตชาของรุ่นพี่นายสุระชัยเพื่อย้ำความเป็นตัวตนให้ลึกซึ้งกว่าเดิม ให้เห็นวิถีรากเหง้าผ่านการลงมือด้วยตนเอง  มิใช่ตามกระแสของสังคมที่วกกลับมาไม่ได้

แล้วเสน่ห์ชาวิถีจะอยู่ที่ไหนกันเล่า

 

02

ฝนตกรอบแรกของปีเพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ กลิ่นของดินที่เคยหอมหวนซึ่งห่างหายจากหยาดฝนฟ้าแดนไกล กลับมาหอมฟุ้งทั่วทั้งขุนเขาชายแดนอีกครั้งหนึ่ง

‘พญาไพรเล่าจอ เป็นชื่อของหมู่บ้าน 1 ใน 3 ของเหล่าพญาไพรที่ตั้งอยู่ในตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตชาจีนและชาอัสสัมคุณภาพต้นๆ ของประเทศไทย ดินแดนดอยสูงแห่งนี้มองไปแห่งหนใดก็เต็มไปด้วยความเขียวขจีของไร่ชาสุดลูกหูลูกตา พื้นที่ ‘เล่าจอ’ ตั้งอยู่บนความสูงเฉียด 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลเลยทีเดียว การเดินทางจากตัวเมืองเชียงรายประมาณ 100 กิโลเมตร เดี๋ยวนี้สะดวกรวดเร็วแล้ว ใช้เวลา 2 ชั่วโมงโดยรถส่วนตัวก็ถึงไร่ชาขนาดยักษ์

สายแล้ว…ม่านฟ้าเคลือบสีเทามัวๆ ผสมกลบผสานกับเมฆหมอกลอยต่ำหลังฝนซาจางๆ อย่างลงตัว เหล่าแมลงกรีดปีกร้องเสียงดังลั่นไพร นกตัวน้อยๆ หลายสิบตัวที่เกาะบนต้นไม้ใหญ่ข้างทางต่างสะบัดขนสะบัดหัว สะบัดหางให้กับฝนห่าใหญ่ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อชั่วโมงกลาย

ผู้เฒ่ากว่า 200 ชีวิตยืนหยัดตระหง่านกลางป่าไพร ข้างๆ มีลูกหลานเหลนโหลนพร้อมหน้าอย่างอบอุ่น ผู้เฒ่าที่ว่ามิใช่มนุษย์ แต่คือสิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นกำเนิดของชาหลายพันไร่ ใช่ครับ… เรากำลังพูดถึงต้นตอ ต้นกำเนิด ของชาแดนไพรชายแดน ต้นชาที่ว่าอาจจะเรียกว่าชาป่าก็คงไม่ผิด เพราะอยู่ในป่า อยู่กันเป็นกลุ่มหลายร้อยต้น จากการคาดเดาเมื่อสังเกตด้วยตาเปล่าพร้อมสัมผัสเรือนร่างของผู้เฒ่าดูแล้ว น่าจะอายุมากกว่า 100 ปี จนถึง 200 กว่าปีได้

ต้นชาป่ายิ่งอายุมากขึ้น การเอื้อมถึงยอดชาอันแสนจะบริสุทธิ์ก็ยิ่งยากลำบากมากขึ้นเช่นกัน
การปรับตัวในการเก็บชาตามวิถีนับว่าสำคัญพอๆ กับการทำความเข้าใจ ที่จะคอยช่วยให้เราเข้าถึงยอดชาจากผู้เฒ่าร้อยปีได้อย่างน้อมรับปฏิบัติตาม    

ครั้งแรกที่ได้ยลเห็นกลุ่มชาทวด พวกเราตื่นเต้นไปหมด ไม่เคยเห็นกลุ่มชาต้นใหญ่ที่อยู่รวมกลุ่มกันหลายร้อยต้นเยอะขนาดนี้มาก่อน ถ้าหากว่าไม่มีการตั้งกฎระเบียบของหมู่บ้าน ต้นชาเหล่านี้คงถูกแผ้วถางกลายเป็นฟืนไม้ร้อยปีอย่างแน่นอน

อย่างไรแล้ว เราได้ขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ขึ้นไปเก็บยอดชาจากต้นชาทวด ลองดูว่าเป็นอย่างไร ตามกันมาเลยครับ

 

03

ดวงตะวันเริ่มโผล่พ้นจากเจ้าหมอกหนาที่บดบังภูเขาเบื้องหน้า เสียงจ้อแจ้วของนักเรียนวัยรุ่นหนุ่มสาวชั้น ปวช.1 จำนวน 14 คน ดังมาแต่ไกล พวกเขากำลังก้าวย่างเดินเรียงหนึ่งแถวตอนลึก แต่เหมือนงูเลื้อยโค้งไปโค้งมา

เบื้องหน้าพวกเขาคือสวนชากลางป่าหลายร้อยปีที่ยืนตะหง่านกลางป่าน่าทะมึน เขียวครึ้มตลอดทางก่อนถึงสวนชา

หนุ่มสาวผู้ขี้สงสัยต่างชี้โน้นนี้นั้น แลกเปลี่ยน พรรณนา ดู หัวเราะ ชอบใจ เพราะความแปลกที่ แปลกถิ่น พฤติกรรมที่อยู่ในก้นบึ้งของความขี้สงสัยก็เริ่มทำงาน หนุ่มๆ มักจะสนใจกระรอก กระแต ที่วิ่งอยู่บนต้นไม้ใหญ่ไกลๆ บ้างสนใจนกตัวน้อยๆ ที่เกาะบนกิ่งไม้ใกล้ๆ เป็นพิเศษ (มีเด็กหนุ่มบางคนพึมพำว่า “ถ้าเอาหนังสติ๊กมา เจ้านกน้อยตัวนั้นคงไม่รอดจากฝีมือเขาเป็นแน่”)

ส่วนสาวๆ คงไม่รอดเรื่องอาหารการกิน ผลไม้ข้างทางนับเป็นสิ่งที่พวกเธอมองข้ามมิได้ บางคนเอ่ย “อยากกินจัง แต่อยู่สูง” เธอหมายถึงกล้วยป่าลูกแดงจ้ำที่เห็นอยู่เบื้องหน้า อีกคนชี้ไปที่ไม้ยืนต้นต้นหนึ่งที่อยู่ข้างหลังหุบ สูงประมาณ 15 เมตรได้ มีผลลูกกลมๆ รีๆ สีเขียวๆ หลายสิบลูกอยู่ตรงปลายยอด

“เขาเรียกว่าอะไรคะครู” หญิงสาวนักเรียนรูปร่างอวบเอ่ยถาม

“อะโวคาโดครับ” ฉันตอบพร้อมมองไปที่ผลไม้ที่อยู่บนเรือนยอดต้นนั้น

“รสชาติเป็นอย่างไรคะ” หญิงสาวคนเดิมถามต่อ

“จืดๆ มันๆ น่ะครับ” ฉันตอบตามความจริงที่เคยลิ้มรส

“เธอไม่เคยกินเหรอ” ฉันถามกลับด้วยความสงสัย

“ไม่เคยค่ะครู” เธอตอบหน้านิ่งเฉย

ถ้ามีโอกาสครูจะให้พี่สุระชัยปีนเอามาให้ชิมแล้วกันนะ แต่…มดแดงเยอะจัง พี่สุระชัยจะไหวไหม

แปลกแต่จริง ของดีๆ ที่มีประโยชน์ส่วนใหญ่จากบนดอยสูงกลับเป็นที่รู้จักของคนข้างล่างในเมือง คนป่าคนดอยบางคนยังไม่เคยกิน เป็นไปได้ไง น่าสงสัยเหลือเกิน

 

04

นักเรียนส่วนใหญ่ที่มาครั้งนี้ พ่อแม่ของพวกเขาต่างมีไร่ชาเป็นของตัวเอง ทุกคนเคยไปเก็บชา บางคนไม่มีไร่ชา แต่ต่างก็เคยรับจ้างเก็บชาเช่นกัน

พวกเขาเก็บชาเพื่อรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้นเอง พูดง่ายๆ ก็คือรับจ้างเลี้ยงชีพ สิ่งที่ได้รับตอบแทนมาคือ ‘เงิน’ เงินเท่านั้นที่จะเยียวยาความยากจน เขาคิดอย่างนั้น วงจรของพวกเขาจะเป็นวงกลมอย่างนี้ได้นานแค่ไหนนั้น เราไม่ทราบ แต่สิ่งที่พวกเขาควรรู้คือ สิ่งที่บรรพบุรุษฝากไว้ให้รุ่นสู่รุ่นมากกว่าเก็บชาแล้วได้เงิน มันต้องได้อะไรที่มีค่า มีคุณค่า ที่เงินทองไม่สามารถซื้อได้

การเดินทางของทวดชาป่า 200 ปีวันนี้ เป็นการเชิญทวดชาป่าลึกมาเยือนวิถีแห่งลาหู่ดำ มายลครัวเก่าๆ แต่หอมกรุ่นไปด้วยความรักและความสุขของวิถีแห่งการทำชาของชาติพันธุ์เล่าหว่าง ณ บ้านเล่าหว่างเก่า ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

 

05

เที่ยงกว่า พระอาทิตย์เพียงแค่ส่องแสงอ่อนๆ เท่านั้น พวกเราเก็บยอดชาได้พอประมาณ จึงเดินทางกลับไปยังบ้านทำชาวิถีลาหู่

ไร่ชา

บ่ายโมงตรงเป๊ะ หนุ่มสาวมารวมตัวกันในห้องครัวที่มุงด้วยหญ้าคาเก่าๆ หากสังเกตดีๆ จะเห็นร่องรอยของเขม่าควันไฟติดอยู่ที่เพดานหลังคาหญ้าคา เป็นสีดำขุยๆ คล้ายใยแมงมุง โยงใยฝากฝาเรือนห้องครัว ส่วนพื้นเรือนครัวเป็นดินที่อัดแน่น มันวาว น่าจะผ่านการเหยียบย่ำ ก้าวเดินมาหลายทศวรรษ  

ไร่ชา

ไม่นาน การทำชาแบบลาหู่ดำเล่าหว่างก็เริ่ม

เริ่มแรก แม่ของสุระชัยก่อไฟโดยนำฟืนไม้ 4 – 5 อันมาก่อรวมกัน แม่ใช้เสี้ยนไม้อันหนึ่งเป็นตัวจุดไฟใส่กองฟืนกองนั้น โดยมีพี่สุระชัยช่วยอยู่ข้างๆ สักพักควันไฟสีขาวโขมง ฟุ้งไปทั่วสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งรากเหง้ากระท่อมหญ้าคา นักเรียนบางคนดึงชายเสื้อมาปิดจมูก บ้างเดินออกไปนอกห้องเรียน น้ำตากลางควันไฟของพวกเราวันนี้ที่รินไหลออกมาคือธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่สัมผัสกับความจริงที่สวยงาม ควันไฟฟุ้งกระจายไม่เกิน 5 นาที ก็กลับเข้าสู่สถานการณ์น่าเรียนต่อ

แม่ทั้งเขี่ยเสี้ยน เพิ่มไม้ฟืนอีกนิด เกิดเป็นเปลวไปสีส้มเบาๆ คงที่ หลังจากนั้นแม่นำกระทะขึ้นตั้ง สาวๆ ถือกระด้งใส่ยอดใบชาเตรียมนำไปคั่ว ยืนอยู่ข้างกองฟืนข้างๆ แม่ แม่ให้สัญญาณ สาวๆ นำยอดชาลงกระทะ สาวๆ หน้าใหม่อาสานำยอดชาใส่กระทะอย่างชำนาญ (เธอน่าจะเคยทำมาบ้างแล้ว)

ไร่ชา

แสงไฟจากถ่านไม้ริบหรี่เหมือนกับดวงดาวตอนกลางคืนส่องแสงระยิบระยับอย่างไรอย่างนั้น

ไฟที่ใช้คั่วชาควรอ่อน ไม่แรงหรือเบาจนเกินไป ใช้มือคนใบชาในกระทะได้

ไร่ชา

พอยอดชาในกระทะยุบตัวสักพัก หนุ่มคนหนึ่งอาสานำยอดชาที่ผ่านการคั่วลงสู่กระด้ง เพื่อจะให้ช่วยกันนวดชาต่อไป ไอควันสีขาวจางๆ จากยอดชาในกระด้งฟุ้งมาเป็นระยะๆ เมื่อลอยผ่านแสงที่ส่องผ่านฝาเรือนครัว กลิ่นหอมของยอดชาคั่วหอมฟุ้งไปทั่วบริเวณ จนมีคนเอ่ยปากออกมาว่า “หอมจัง”

หนุ่มสาวอาสานวดชาเพื่อกระตุ้นสารที่อยู่ภายในเซลล์ของชาให้แตกตัวกระจายทั่วยอดชา จะได้กลิ่นหอมเฉพาะของชา มือที่ใช้นวดชาคั่วคือความตั้งใจของบรรพบุรุษที่ตั้งใจมอบให้จากรุ่น สู่รุ่น สำเนียง จังหวะ กระบวนการทำชา ผ่านทางลมปากอันน่าเชื่อถือของบุคคลที่เคารพและคารวะ

“ลองอีกครั้งๆๆๆ สิ” เป็นเสียงของคนทำชาวิถีบอกกับเรา เพลงเราเกือบเพราะแล้ว เหลืออีกนิด จังหวะการทำชาของพวกเราเป็นโน้ตชาที่น่าอมยิ้มมิใช่น้อย จนกระทั่งชิน ชม กับสิ่งที่ตัวเองทำ และตระหนักอยู่เสมอว่าเรามีตัวตนแห่งวิถี พวกเขานวดชาจนได้ที่จึงเข้าสู่กระบวนการสางเพื่อให้อากาศผ่านตัวยอดใบชานวด ใช้เวลาพอประมาณ

ไร่ชา

แล้วนำยอดชาที่ผ่านการสางไปตากแสงแดดได้ ถ้าแดดแรง แดดสองแดดก็เสร็จ
แต่แดดอ่อนคงใช้แดดหลายแดด จนแห้งสนิทเพื่อที่จะได้เก็บไว้บริโภคนานๆ ไม่อย่างนั้นชาจะยังมีความชื้นเกิดเป็นที่อยู่ของเชื้อรา แบคทีเรีย สบายๆ

ไร่ชา ไร่ชา ไร่ชา

 

06

วันนี้ ‘นักเรียน’ ได้ท่องไปในโลกของชาป่า จากเล่าจอสู่เล่าหว่าง ในแบบของหิ่งห้อยเปล่งแสงกลางป่าใหญ่ไพร ลองนึกดูว่า ท่ามกลางป่าไม้อันกว้างใหญ่จะมีสิ่งมีชีวิตสักกี่ชนิดกัน ที่เปล่งแสงเพิ่มสีสันยามราตรีกาล

ไร่ชา

‘หิ่งห้อย’ แมลงตัวน้อยๆ ที่เป็นดัชนีตัวชี้วัดคุณภาพของระบบนิเวศป่าเขาลำเนาไพร

คือสิ่งแรกที่ฉันนึกถึง ตอนฉันเห็นแสงวาบวาวในป่าพง

หิ่งห้อยทำให้ป่าวังเวง เงียบเหงา หายง่วง กลับมีชีวิตชีวาสดชื่น ราตรีตื่นตระการตาอีกครั้ง ทว่าเช้าเมื่อไหร่ หิ่งห้อยน้อยแสงกลับสงบพลางตัวกลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นเวลาของนักบินสุดสวย ผีเสื้อสีสันมาสร้างความงดงามของภาคกลางวันแทน

การทำชาวันนี้อาจจะริบหรี่ท่ามกลางไร่ชาหมื่นไร่

แต่แสงของหิ่งห้อยก็เติมเต็มให้ป่าไพรงดงาม มิใช่หรือ

โลกของชา โลกของวิถี โลกของฉัน คือโลกของเรา

ขอบคุณวันที่วิเศษ กิจกรรมวันนี้คงตราตรึงอยู่ในใจของพวกเราตลอดไป ชาที่ทำวันนี้เป็นชาที่เกิดจากความสุข ความใส่ใจ ความรู้สึก และมีจิตใจ มิใช่เป็นชาที่ทำหรือแปรรูปจากเครื่องจักรกลโรงงาน

หิ่งห้อยกลุ่มหนึ่งยังเปล่งแสงโบยบิน ทักทายเพื่อนพ้องในแบบวิถีของเขา ยินดีกับวิถีที่ต่าง พอเช้าก็นั่งเงียบๆ ในมุมสงบ ดูความสวยงามของวันใหม่มาเยือน

ผีเสื้อเธอสวยเหลือเกิน

เธอรู้จักหิ่งห้อยไหม

รู้จักสิ หิ่งห้อยมีแสงสีเหลือง เรืองจ้าสวยงามเลยทีเดียว

ถ้าเธออยากเจอหิ่งห้อย เวลาพลบ เธอไปเจอได้ที่หลังป่าชายแดนโน้น เธอจะเห็นหิ่งห้อยตัวน้อยนิดบินไปมากลางป่าไพรทะมึนที่มืดสนิท วับวาวๆ

Writer & Photographer

Avatar

สนธยา คำบุญเรือง

สนธยา คำบุญเรือง ชอบใช้นามปากกาว่า 'พลบไพร' จบจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่เป็นคนเชียงราย เป็นครูเกษตรอาชีวศึกษาบนดอยสูง (สอนพืชศาสตร์ พฤกษศาสตร์) ณ ศูนย์การเรียนบ้านนาโต่ฯ ชอบพานักเรียนเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว เดินทางเข้าป่า เข้าชุมชน ขึ้นดอย จนกระทั่ง ชวนนักเรียนลงดอยไปดูเมือง