16 กุมภาพันธ์ 2022
4 K

01
บรรณาธิการ

ช่วงก่อนโควิด ผมเคยไปเยี่ยมเยียน พี่จุ๊ก-ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย เจ้าของ Talent 1 บริษัทผลิตสื่อที่ทำทั้งหนังสือ หนัง และซีรีส์ ที่สำนักงานของเธอในซอยอารีย์อยู่บ้าง ห้องทำงานของเธออยู่บนชั้นสองของบ้านที่ชั้นล่างเป็นคาเฟ่

ในวงการสิ่งพิมพ์ ไม่น่ามีคนไม่รู้จักเธอ เพราะเธอเป็นผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการหนังสือเกือบ 400 เล่ม ของสำนักพิมพ์ Image, Bliss, JBOOK สำนักพิมพ์ที่บุกเบิกนิยายแปลร่วมสมัยจากทั่วโลกซึ่งอยู่ใต้ร่มเงาของแกรมมี่ ซึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ The Cloud เรื่องนี้ไปเมื่อปีที่แล้วในคอลัมน์ พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง

ในเวลาเดียวกัน เธอเป็นผู้บริหารสายงานศิลปินกลุ่มป๊อปในเครือแกรมมี่ (กอล์ฟ-ไมค์, เป๊ก อ๊อฟ ไอซ์) และดูแลการสื่อสารแบรนด์ขององค์กรด้วย

จากนั้นเธอก็ขยับมาทำหนังในบทบาทผู้อำนวยการสร้าง พ่วงตำแหน่งครีเอเตอร์ หรือหัวหน้าทีมบท เป็นคนตั้งต้นไอเดียบทของเรื่อง Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย, The Couple รัก ลวง หลอน และ รักของเรา The Moment

แล้วเธอก็ทำบทบาทเดียวกันกับซีรีส์เรื่อง 7 วันจองเวร 3 ซีซั่น และ คำตอบสำหรับสวรรค์

แต่ถ้าย้อนกลับไปสัก 20 ปี หนึ่งในจุดเริ่มต้นบนสายอาชีพของเธอคือ การเขียนหนังสืออัตชีวประวัติให้ พจน์ สารสิน, เกษม จาติกวณิช, ชัชนี จาติกวณิช และ ทักษิณ ชินวัตร

งานของเธอหลากหลาย แต่ดูจะเกี่ยวกันกับ 2 รูปแบบ นั่นคือ การเล่าเรื่อง และ การบริหารเรื่องเล่า

ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย หนังสือประวัติทักษิณ เว็บตูนการเมือง ซีรีส์ และชีวิตหลังสโตรก
ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย หนังสือประวัติทักษิณ เว็บตูนการเมือง ซีรีส์ และชีวิตหลังสโตรก

02
ผู้ป่วย

วันนี้พี่จุ๊กเดินฝ่าไอแดดตอนบ่าย 2 มาเยี่ยม The Cloud

หลักใหญ่ใจความก็คือ มาทักทายถามไถ่เรื่องงาน และเอาผลงานใหม่มาปรึกษา เธอสรุปชีวิตในปีที่ผ่านมาว่า ต่อสู้กับปัญหาสุขภาพ ขึ้นโรงขึ้นศาลเรื่องลิขสิทธิ์ และง่วนกับการเตรียมผลงานใหม่ เกริ่นกันไปได้สักพัก ผมก็คิดว่า น่าบันทึกเรื่องราวที่เราพูดคุยกันมาแบ่งปันให้คนอื่น ๆ ร่วมวงด้วย

พี่จุ๊กบอกว่า ปีที่ผ่านมาพักงานซีรีส์แบบยาว ๆ เพราะออกกองถ่ายไม่ได้ แล้วก็ยังเคราะห์ซ้ำด้วยปัญหาสุขภาพ

“วันที่ 20 กุมภา พี่เป็นสโตรก” เธอจำวันที่ได้แม่นยำ “ควบคุมร่างกายครึ่งขวาไม่ได้ ตอนนั้นนั่งเขียนงานอยู่ พอรู้ตัวก็รีบไปโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน แล้วก็เข้าห้องไอซียูทันที พี่ก็เลยได้รู้ว่ามีสวัสดิการรัฐที่เรียกว่า UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้สุด โดยที่โรงพยาบาลห้ามปฏิเสธ จนพ้นช่วงวิกฤต แล้วรัฐจะออกค่ารักษาให้”

เมื่อออกจากโรงพยาบาลมาคนทำสื่อวัย 54 ปี ก็ต้องกินยา ทำกายภาพจนร่างกายดีขึ้น อย่างน้อยเธอก็เดินขึ้นบันได 5 ชั้นมาออฟฟิศ The Cloud ได้สบาย ๆ

พี่จุ๊กหยิบม็อกอัพหนังสือ ตาดูดาว เท้าติดดิน หนังสืออัตชีวประวัติของ ทักษิณ ชินวัตร ออกมาให้ช่วยวิจารณ์ปก 2 แบบที่ลองทำมา

ไม่ใช่แค่การพิมพ์ซ้ำหนังสือที่เธอเขียนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน

แต่เธอยังคิดจะทำหนังสือภาคสองที่เล่าถึงช่วงชีวิตหลังเข้าสู่วงการการเมืองจนถึงปัจจุบัน

ขอขยับเครื่องอัดเสียงเข้าไปใกล้เธออีกนิด

ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย หนังสือประวัติทักษิณ เว็บตูนการเมือง ซีรีส์ และชีวิตหลังสโตรก
ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย หนังสือประวัติทักษิณ เว็บตูนการเมือง ซีรีส์ และชีวิตหลังสโตรก

03
นักบริหารเรื่องเล่า

คำถามที่ทุกคนคงอยากรู้เหมือนผมก็คือ การเอาหนังสือประวัติคุณทักษิณมาพิมพ์ซ้ำในช่วงนี้ หวังผลทางการเมืองไหม

“ไม่เกี่ยวกับการเมือง เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณทักษิณมากกว่า” พี่จุ๊กมองตาผมแล้วตอบตรง ๆ ช้า ๆ ชัด ๆ ตามสไตล์ของเธอ “พี่ไม่ได้สนิทกับคุณทักษิณ หลังจากทำหนังสือ ตาดูดาวฯ ก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย 22 ปี”

พี่จุ๊กเล่าที่มาของหนังสือเรื่องนี้ว่า ช่วงที่เธอเป็นบรรณาธิการนิตยสารครอบครัวแห่งหนึ่ง เธอรับงานเป็นนักเขียนเงา เขียนประวัติชีวิตให้คนดังหลายคน จนมีคนถามเธอมาว่า สนใจอยากเขียนประวัติคุณทักษิณไหม ซึ่งวันนั้นเป็นคนหนุ่มที่เพิ่งลงสู่สนามการเมืองและเพิ่งออกจากพรรคพลังธรรม มีความคิดอยากตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง แต่ยังไม่สุกงอม และยังไม่ไม่มีชื่อพรรคไทยรักไทย

“พี่ขอเจอเขาก่อน เรารู้สึกว่าเขาเป็นคนของอนาคต แล้วก็ไม่ได้อยากเล่าเรื่องอดีตอย่างเดียว เขาอยากสะท้อนเบา ๆ ว่า เขาได้อะไรจากอดีตแต่ละช่วงบ้าง” พี่จุ๊กพูดถึงสิ่งที่แตกต่างจากคนดังอื่น ๆ ที่เธอเคยทำงานด้วย

แต่สิ่งที่เหมือนกับทุกงานคือ เงื่อนไขในการทำงาน ที่ลิขสิทธิ์ของงานเป็นของผู้สร้างสรรค์

“ข้อตกลงคือ งานนี้ไม่รับจ้างทำ พี่ไม่รับเงินจากคุณทักษิณ รายได้มาจากลิขสิทธิ์ในรูปแบบต่าง ๆ รับค่าเรื่องจาก มติชนสุดสัปดาห์ เป็นตอน รวมเล่มก็ต่างหาก รวมถึงค่าลิขสิทธิ์ที่ช่อง 7 ซื้อไปทำละคร “นอกจากนั้นจะได้มีอิสระในการเขียน ไม่งั้นจะเขียนไม่ได้ เพราะนี่ไม่ใช่หนังสืองานศพที่จะมาชื่นชมตัวเอง ซึ่งตรงกับที่คุณทักษิณต้องการ”

นักเขียนรุ่นใหญ่เล่าวิธีการทำงานว่า เนื่องจากเป็นอัตชีวประวัติที่เล่ากึ่งนิยาย เธอจึงต้องสวมบทเป็นตัวละครที่ชื่อทักษิณ

“เวลาเขียนเหมือนมีเสียงในหัวดังอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเสียงความคิดและความทรงจำของคุณทักษิณ เราต้องเข้าใจและเห็นภาพเดียวกับคุณทักษิณมาก ๆ น้ำเสียงจึงจะออกมาใกล้เคียงกับคุณทักษิณมากที่สุด”

การทำงานจึงไม่ใช่การสัมภาษณ์คุณทักษิณคนเดียวแล้วถอดเทปมาเรียบเรียง แต่ต้องเก็บข้อมูลจากคนรอบข้างและหาข้อมูลบริบทของสังคมตอนนั้น เธอพยายามตรวจสอบทุกข้อมูลที่คุณทักษิณเล่า เพราะอาจจะคลาดเคลื่อนด้วยหลายเหตุผล เช่น จำผิด ไม่ได้พูดอย่างที่คิดจริง ๆ หรือการตีความที่ไม่ตรงกัน

เจ้าของนามปากกา วัลยา ต้องเดินทางไปดูสถานที่จริง ค้นหนังสือมากมายจากห้องสมุด แค่ประวัติตระกูลชินวัตรก็ต้องอ่านเกิน 10 เล่ม แล้วก็ขอสัมภาษณ์คนรอบข้างคุณทักษิณทั้งหมด 65 คน

“พี่สัมภาษณ์เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร ถึงได้รู้ว่าตอนเรียนมีฉายาอะไร เพื่อนมองคุณทักษิณอย่างไร จากนั้นกลับมาเช็กเหตุการณ์เดียวกันกับคุณทักษิณ หรืออย่างเช่นความทรงจำแรกพบกันของคุณทักษิณกับคุณหญิงอ้อ คุณทักษิณจำได้กระทั่งคุณหญิงใส่ชุดอะไร และรู้สึกว่าเป็นผู้ใหญ่ น่าชื่นชม แต่คุณหญิงอ้อกลับจำได้ว่า คุณทักษิณถามเธอว่าเรียนมหาวิทยาลัยหรือ คงมองเธอว่าแก่ เราต้องรู้และเข้าใจตัวละครหลักกับตัวละครร่วม ถึงจะเขียนเป็นบทสนทนาออกมาได้”

ความท้าทายอีกอย่างคือ การเล่าเรื่องของความขัดแย้งทางธุรกิจมากมาย ซึ่งพาดพิงถึงบุคคลต่าง ๆ พี่จุ๊กบอกว่า เธอมีหลักการที่ยืดถือในการเขียนอยู่ 2 ข้อ “หนึ่ง การพาดพิงคนที่เสียชีวิตแล้ว ไม่ทำ สอง การพาดพิงคนที่มีสถานะด้อยกว่า ไม่ทำ เพราะเขาไม่มีโอกาสได้ตอบโต้”

ในที่สุดผลงานนี้ก็กลายมาเป็นหนังสือเรื่อง ตาดูดาว เท้าติดดิน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2542 กับสำนักพิมพ์มติชน ยอดขายรวมหลายแสนเล่ม เป็นอัตชีวประวัติที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่งในประวัติศาสตร์หนังสือ

“ตอนนั้นไม่มีใครรู้หรอกว่าคุณทักษิณจะกลายเป็นนายกฯ พรรคไทยรักไทยจะประสบความสำเร็จ แต่อาชีพนักสร้างสรรค์ (Creator) ก็คือการเดิมพัน (Bet) และการลงทุนแบบหนึ่ง ความอยู่รอดของเราขึ้นอยู่กับความนิยมหรือยอดขาย แต่เมื่อเดิมพันแล้วสำเร็จ ลิขสิทธิ์ก็คือสมบัติที่เราจะเก็บเกี่ยวหรือใช้ได้ไปตลอดชีวิต

“การหยิบมาพิมพ์ซ้ำครั้งนี้ ก็คือการบริหารทรัพย์สินทางปัญญา ที่ผ่านมามีคนถามหาและอยากรู้เรื่องของคุณทักษิณตลอด ที่สำคัญเราเชื่อว่า คนอ่านยุคนี้เปิดกว้างที่จะรับข้อมูลที่หลากหลาย” พี่จุ๊กสรุปคำถามแรกให้แบบชัด ๆ

ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย หนังสือประวัติทักษิณ เว็บตูนการเมือง ซีรีส์ และชีวิตหลังสโตรก

04
นักเล่าเรื่อง

“มีแต่คนบอกว่า อย่าทำเลย เดี๋ยวทัวร์ลง” พี่จุ๊กพูดถึงคำแนะนำจากคนรอบข้างที่รู้ว่า เธอกำลังจะทำหนังสือประวัติชีวิตคุณทักษิณในยุคปัจจุบัน

เล่มแรกคุณทักษิณติดต่อมา เล่มนี้เธอเป็นฝ่ายติดต่อไปแบบไม่กลัวดราม่า

“ปี 64 ช่วงโควิด พี่เห็นคุณทักษิณออกมาพูดเรื่องวัคซีนโควิดแบบภาพใหญ่ที่ปฏิบัติได้ในระดับภาพรวม ทำให้นึกขึ้นได้ว่า ถ้าสังคมใช้เขาเป็น คนคนนี้จะมีประโยชน์มาก ไม่ว่าจะเคยเกิดเรื่องอะไรมาก่อนก็ตาม คุณอาจจะเคยผ่านงานอะไรมาไม่รู้กี่อย่าง จะมีสักกี่คนที่เคยผ่านงานนายกฯ มาก่อน การที่เขาออกมาพูดแบบนี้ เพราะเขาการแก้ปัญหาระดับชาติ ไม่เหมือนกับการแก้ปัญหาบริษัทหรอก เห็นว่าอำนาจรัฐทำอะไรได้บ้าง ผู้นำกับผู้นำทำอะไรได้บ้าง พอได้ฟังก็คิดถึงเขาเป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบปี”

“ที่สำคัญ พี่เริ่มเกิดความอยากเล่าเรื่องการเมืองในเชิงดราม่า บ้านเรายังไม่เคยมีเรื่อง (Story) ที่ตัวละครเป็นนักการเมืองเลย คุณทักษิณเป็นตัวละครที่มีสีสันมากที่สุดก็ว่าได้”

พี่จุ๊กเล่าต่อว่า เธอติดต่อไปเพื่อขอเขียนประวัติชีวิตภาคต่อ แต่รอบนี้เธอเสนอเพิ่มเติม นอกจากหนังสือให้ทำในรูปแบบที่เน้นการเล่าด้วยภาพ คือ เว็บตูน และ สารคดี

งานหนังและหนังสือคือสิ่งที่เธอคุ้นเคย แต่อะไรทำให้เธออยากเล่าประวัติคุณทักษิณผ่านเว็บตูน

“พี่ไม่ต้องการเขียนให้คนรุ่นพี่อ่าน พี่ต้องการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ จากกลุ่มเป้าหมายก็ไปสู่สื่อที่จะใช้ เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยอ่านอะไรยาว ๆ เว็บตูนนอกจากเด็กไทยจะอ่านกันมากกว่า 18 ล้านคน สื่อนี้มีความ Fictional ก็จะทำให้สร้างเรื่องได้สนุกมากขึ้นอีก”

05
เรื่องเล่า

พี่จุ๊กยกตัวอย่างเรื่องที่สังคมไทยควรได้ฟังจากคุณทักษิณ

“เขาเป็นนักเรียนเตรียมทหารและนักเรียนนายร้อย เขาเล่าเรื่องการเรียนการสอนของโรงเรียนทหารละเอียดมาก ยังไม่เคยเจอใครเล่าละเอียดเท่าเขานะ

“เขาภูมิใจมากที่ได้เป็นนักเรียนเตรียมทหาร และบอกอย่างซื่อตรงว่า บางทีก็เบื่อ เขาเล่าใน ตาดูดาวฯ ว่า หนึ่ง ระบบการเรียนการสอนของทหาร ผู้บังคับบัญชามีสิทธิ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาด สอง มีกฎหมู่ ถ้าใครทำผิด ทุกคนต้องรับโทษหมด คนที่ทำผิดจึงกดดันมาก

“ในปัจจุบัน เขาเห็นสิ่งที่ได้รับมาจากระบบทหาร วิธีคิดแบบทหาร และปัญหาที่มาจากความคิดแบบทหาร เรื่องนี้มีคนกล้าพูด แต่อาจจะไม่ใช่คนที่เคยอยู่ในระบบทหาร คุณทักษิณเคยอยู่ในระบบนั้น เคยบริหารระบบนั้น รวมถึงถูกรัฐประหารด้วยระบบนั้นมาก่อน นี่คือสิ่งที่น่าสนใจ”

พี่จุ๊กเล่าต่อว่า ได้วางโครงเรื่องไว้แล้วไม่อยากเล่าแต่เรื่องในอดีต แต่จะเล่าจากเหตุการณ์ปัจจุบันไปเชื่อมโยงกับเหตุที่ทำให้เป็นอย่างนี้ “พี่วางโครงเรื่องหมดแล้ว เขียนตอนแรกแล้วด้วย เริ่มตั้งแต่เด็กเลย เอาเรื่องปัจจุบันเชื่อมกลับไปตอนเด็ก ความที่เป็นคนดื้อ ตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้ส่งผลอะไร” แล้วเธอก็ออกแบบแกนเรื่องให้อยู่บนจุดเปลี่ยนของชีวิตครั้งต่าง ๆ เน้นเรื่องชีวิตที่พลิกผัน ซึ่งสนุกและซับซ้อน ไม่ต่างจากงานทำบทซีรีส์ที่เธอถนัด

“สัมภาษณ์ออนไลน์ไปแล้วหลายรอบ วางโครงทั้งเล่มแล้ว น่าเสียดายว่าระหว่างเก็บข้อมูลพี่ป่วยเลยขอคืนงาน ส่วนจะมีใครทำต่อหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ” พี่จุ๊กเล่าถึงจุดพลิกผันของงานนี้

แม้ว่าเล่มสองจะไม่ได้เกิดขึ้นด้วยนามปากกาของเธอ แต่ก็น่าสนใจว่า ทำไมเธอถึงเห็นต่างจากทุกคนที่ให้คำแนะนำ

“ไม่กลัวดราม่า ไม่กลัวว่าจะโดนแปะป้ายว่าอยู่ฝั่งไหนเลย” ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่ออย่างยาวนานตอบด้วยน้ำเสียงมั่นใจ “สังคมควรได้เห็นทุกอย่าง เปิดรับข้อมูลที่หลากหลาย และมันก็เป็นสิทธิ์ของเราที่จะถ่ายทอด เราต้องไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง เรามักจะบอกว่ากฎหมายทำให้เรากลัว แต่บางครั้งเราก็กลัวไปเอง ตราบใดที่เราไม่ได้ไปละเมิดคนอื่น ไม่ทำร้ายคนอื่น ก็ไม่ต้องกลัว คุณทักษิณเป็นบุคคลที่น่าศึกษา เพราะเขามีหลาย ๆ เรื่องไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งสังคมควรจะเปิดเพื่อพูดเรื่องนี้กัน”

ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย หนังสือประวัติทักษิณ เว็บตูนการเมือง ซีรีส์ และชีวิตหลังสโตรก

06
โจทก์

งานที่พี่จุ๊กทำมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาทั้งชีวิตล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องลิขสิทธิ์

ตอนทำสำนักพิมพ์หน้าที่ของเธอคือ การคัดเลือกและดูแลจัดการ (Curate) ลิขสิทธิ์หนังสือจากทั่วโลกให้ทำรายได้ในประเทศไทย เธอได้เห็นว่าผลงานสร้างสรรค์ที่ดีสามารถขยายผลและเก็บเกี่ยวได้อย่างไร หัวใจของนักสร้างสรรค์คือ ผลงานที่ดีและการบริหารลิขสิทธิ์ที่มีประสิทธิภาพ หรือต้องทำให้ลิขสิทธิ์นั้นทำงาน (Active)

ตอนที่เธอช่วยงานที่จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ในฝ่าย Artist Management เธอก็ได้เรียนรู้ว่า ศิลปินเป็นเสมือนคอนเทนต์หนึ่งซึ่งดัดแปลงขยายผลได้คอนเทนต์อีกหลายรูปแบบ เช่น เพลง โชว์ ละคร พรีเซนต์เตอร์ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีมูลค่า หรือแม้แต่เพลงหนึ่งเพลง ก็ประกอบจากนักสร้างสรรค์หลายคน ระบบการจัดสรรปันส่วนรายได้ของแกรมมี่ ทำให้นักสร้างสรรค์ทำเป็นอาชีพได้ และมีสมบัติสะสมให้เก็บเกี่ยวไปตลอดชีวิต สิ่งนี้เรียกว่า การบริหารทรัพย์สินทางปัญญา

“เราต้องเริ่มต้นจากการสร้างสรรค์ผลงานที่มีมูลค่าทางปัญญา” พี่จุ๊กพูดถึงกระดุมเม็ดแรก ซึ่งหมายถึงการลงทุนทุ่มเทงานที่จะมีมูลค่าในระยะยาว และยอมเสี่ยงเพราะไม่ใช่การรับจ้างทำ โดยที่ลิขสิทธิ์ไม่ได้อยู่ที่เรา ยกตัวอย่างเช่น หนังสือ ตาดูดาวฯ ที่ลิขสิทธิ์อยู่กับเธอ

แต่เมื่อมีสมบัติเป็นลิขสิทธิ์ สำหรับสังคมไทยที่ไม่ค่อยเข้าใจหรือให้ความสำคัญ เธอจึงคุ้นเคยกับการถูกละเมิดลิขสิทธิ์เป็นอย่างดี เหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งจบไปคือ เธอลงทุนสร้างสรรค์บทภาพยนตร์ขึ้นเรื่องหนึ่ง เมื่อเขียนเสร็จส่งไปถามผู้กำกับว่าสนใจกำกับไหม คุยกันสองสามครั้งก็แยกย้ายกันไป

แล้ววันหนึ่ง เธอก็เห็นบทของเธอถูกค่ายหนังแห่งหนึ่งนำไปทำเป็นภาพยนตร์ออกฉาย และชื่อตัวละครเหมือนเดิม เธอพยายามติดต่อขอคำอธิบายจากผู้กำกับ แต่เมื่อไม่ได้รับการตอบกลับ เธอก็ตัดสินใจฟ้องเป็นคดีอาญา

ทนายบอกให้ไปกรมทรัพย์สินทางปัญญาก่อน กรมฯ ก็ช่วยออกจดหมายตามผู้กำกับ และออกจดหมายขอบทภาพยนตร์จากค่ายหนังผู้สร้าง

“ข้อมูลที่สะดุดใจที่สุดคือ นี่คือการฟ้องครั้งแรกของบทภาพยนตร์หนังไทย” พี่จุ๊กเว้นจังหวะ “ไม่ใช่ที่ผ่านมาไม่มีใครทำ แต่มันเสียเวลา บางทีนักเขียนไม่มีปัญญาจ้างทนาย หรือไม่อยากมีปัญหากับค่ายหนัง ต่อไปค่ายไหนจะอยากทำงานด้วย กลายเป็นคนมีปัญหา กลัวไม่มีใครอยากจ้าง ซึ่งมันไม่ยุติธรรมเลย”

พี่จุ๊กเล่าต่อว่า เห็นข่าวลงในสื่อว่านักเขียนคนหนึ่งถูกละเมิดลิขสิทธิ์ นิทานถูกดาวน์โหลดให้อ่านฟรีโดยหน่วยงานรัฐ เมื่อติดต่อไปกลับได้รับคำตอบว่า ให้คิดว่าเป็นการทำบุญให้คนได้อ่านช่วงโควิดก็แล้วกัน นักเขียนหญิงรุ่นเด็กคนนั้นไม่มีเงินจ้างทนายและค่าเดินทางจากต่างจังหวัด มาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเอง

รอมแพงก็เพิ่งโดนคนเอานิยายเรื่อง พรหมลิขิต หรือภาคต่อของ บุพเพสันนิวาส ไปดาวน์โหลดให้อ่านฟรีทั้งเล่ม เมื่อติดต่อคนละเมิดสิทธิ์ก็ได้รับคำตอบว่า จะเดือดร้อนอะไร แล้วเป็นหนังสือของเธอเหรอ สุดท้ายรอมแพงก็เข้าแจ้งความ

“คนบอกว่า หนัง ละคร ซีรีส์คือ Soft Power ของประเทศ จะเกิดขึ้นได้ยังไง ถ้าเรายังละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น โดยไม่คิดว่าเป็นเรื่องเสียหาย คนที่ถูกละเมิดก็คงหมดกำลังใจทำงาน ฝั่งรัฐก็ต้องสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำเสียเอง” พี่จุ๊กให้เหตุผลที่ทำให้เรื่องนี้สำคัญระดับประเทศ

ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย แห่ง Talent 1 กับการทำหนัง ซีรีส์ โกอินเตอร์ และการบริหารสินทรัพย์ทางปัญญา

07
ผู้ชนะ

“พี่ชนะคดี เป็นการฟ้องแล้วชนะครั้งแรกเรื่องบทภาพยนตร์ไทย” พี่จุ๊กสรุปผลการฟ้องร้อง

เธอเล่าว่า สุดท้ายก่อนจะเข้าห้องพิจารณาคดี ผู้กำกับก็ยอมรับว่า บทหนังเป็นของเธอจริง ทนายของค่ายหนังถึงกับถามเธอว่า “ถามจริง ๆ เถอะ คุณมีอะไรอยู่ในมือ ผู้กำกับถึงยอมรับ”

“ความจริง” พี่จุ๊กตอบสั้น ๆ “ต่อให้บริษัทสร้างหนังเรื่องจดทะเบียนลิขสิทธิ์ทางปัญญาก่อนพี่ แต่การยืนยันสิทธิ์ว่าเป็นของใครนั้นศาลจะเป็นผู้วินิจฉัย เพราะการจดลิขสิทธิ์เป็นการจดเพื่อแจ้งไว้เท่านั้น”

กรณีหนังเรื่องนี้ เมื่อเอาบทดั้งเดิมมาเทียบกับหนังที่ทำออกมา เหมือนกัน 80 เปอร์เซ็นต์ บทสนทนา ฉาก ชื่อตัวละครก็เหมือนกัน ศาลจึงวินิจฉัยให้สิทธิ์เป็นของคนที่ทำก่อน

“พี่เล่าเรื่องนี้เพื่อให้กำลังใจคนจำนวนมากที่อาจจะเผลอไม่ได้ไปจดลิขสิทธิ์ไว้เหมือนพี่ ไม่ต้องกลัว ถ้าเรามีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าเราเป็นผู้สร้างสรรค์ สิ่งที่พี่ใช้พิสูจน์ความเป็นเจ้าของคือ พี่พัฒนาบทมาหนึ่งปี มีอีเมลโยนความคิดกันไปมา มีการจ่ายเงินให้คนที่ทำงาน นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ว่า พี่ทำบทนี้มานานแล้ว”

แต่การจดแจ้งไว้กับกรมทรัพย์สินฯ ก็ยังเป็นเรื่องที่ควรทำ ทางที่ดีกว่าก็คือ เอาไปแต่เนิ่น ๆ ซึ่งตอนนี้จดได้แม้กระทั่งไอเดีย เรื่องย่อ ถึงจะไม่ได้ยืนยันว่าคุณเป็นเจ้าของสิทธิ์ แต่อย่างน้อยก็เป็นการแสดงตัวตนว่า คุณคิดเรื่องนี้ขึ้นมา และถ้าทำงานเป็นทีม ก็ควรส่งอีเมลที่ทำงานร่วมกันเป็นหลักฐานชั้นดี เพราะสิ่งนี้ใช้เป็นหลักฐานได้ว่าเราเริ่มต้นคิดสิ่งนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่

ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย แห่ง Talent 1 กับการทำหนัง ซีรีส์ โกอินเตอร์ และการบริหารสินทรัพย์ทางปัญญา

08
นักสร้างสรรค์

พี่จุ๊กตอบคำถามเรื่องซีรีส์เรื่องต่อไปของเธอ ด้วยการย้อนกลับไปเล่าถึงงานก่อนหน้านี้

พี่จุ๊กเล่าถึงอีกหนึ่งตัวอย่างของการบริหารลิขสิทธิ์ ที่บริษัทของเธอทำหน้าที่ผู้บริหารสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Licensor) ซีรีส์เรื่อง คำตอบสำหรับสวรรค์ ที่นำแสดงโดย ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ และกันต์ กันตถาวร เมื่อ 4 ปีก่อน เธอบริหารลิขสิทธิ์ซีรีส์เรื่องนี้ให้ฉายพร้อมกันทั่วโลกใน 3 แพลตฟอร์มสำเร็จเป็นครั้งแรก คือ ทาง iQiyi ประเทศจีน ช่อง one31 ในประเทศไทย และ Netflix

แล้วมันน่าสนใจยังไง

ยุคก่อน สถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ เป็นผู้ซื้อสำคัญของตลาดจะจ้างผู้จัดให้ผลิตละคร โดยลิขสิทธิ์เป็นของช่อง การเกิดขึ้นของการเกิดขึ้นของดิจิทัลทีวีทำให้เกิดโมเดลลูกผสมขึ้น มีทั้งจ้างผลิตแบบเดิม การร่วมกันถือลิขสิทธิ์ระหว่างช่องกับผู้จัด

ปัจจุบันแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เข้ามาในประเทศไทย ก็ทำให้ความต้องการคอนเทนต์ขยายตัวขึ้นอีก โอกาสที่ผู้สร้างจะได้รับค่าจ้างผลิตและได้รับข้อเสนอให้ถือ IP หรือลิขสิทธิ์ไว้ได้ก็มีมากขึ้น หมายความว่า นักสร้างสรรค์ไทยมีโอกาสจะสร้างงานที่ลิขสิทธิ์เป็นของตนเอง เพื่อบริหารและเก็บเกี่ยวเป็นสมบัติมีค่าติดตัวได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

“อยากให้กำลังใจและชวนให้คนไทยสร้างสรรค์งาน เพื่อจะได้มีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของตนเอง ที่เล่าประสบการณ์เหล่านี้ก็เพื่อให้เห็นวิธีบริหารลิขสิทธิ์ และการป้องกันต่อสู้เพื่อลิขสิทธิ์ของตัวเองด้วย

“พี่ได้เห็นได้ลองมาแล้วหลายบทบาท ทั้งการเป็น Curator การเป็นผู้บริหารสิทธิ์หรือ Licensor และการเป็นผู้สร้างสรรค์ Creator สิ่งที่สังเกตเห็นคือ เรื่องหรือ Story ที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เพลง ซีรีส์ หนัง หรือเว็บตูนที่โตอย่างรวดเร็วนั้นจะมี 3 องค์ประกอบสำคัญ

“อย่างแรกคือความ Original และ Unique ส่วนนี้คือความโดดเด่นทางงานสร้างสรรค์ สองคือ Universal Concept ที่คนชาติอื่นแชร์ได้ สามคือค่านิยมทางสังคม (Social Value System) ร่วม ตัวอย่างที่ดีคือ เว็บตูนและซีรีส์เกาหลี ที่ทุกเรื่องวิพากษ์สังคม ระบบ อำนาจที่เหนือกว่า เช่น ทุนนิยมหรือรัฐ แต่ยังสนุกได้ มีประธานาธิบดีเป็นผู้ร้ายในซีรีส์แอคชันสุดมันอย่าง Vagabond นางในซึ่งเป็นนางเอกในซีรีส์โรแมนซ์ยอดฮิตอย่าง The Red Sleeve ปฏิเสธจะเป็นนางสนมทั้งที่รักกษัตริย์ เพราะตั้งคำถามกับความเท่าเทียมกัน หรือซีรีส์วัยรุ่น Itaewon Class ก็คือการต่อสู้ของสตาร์ทอัพกับทุนนิยมเจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหาร”

การได้คลุกคลีกับงานสร้างสรรค์ลิขสิทธิ์ และได้เห็นโอกาสที่เปิดของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ในยุคนี้ นอกจากทำให้พี่จุ๊กอยากถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้คนในวงการเดียวกันแล้ว ยังทำให้เธอเองเริ่มสนใจการสร้างสรรค์งานที่มีเนื้อหาและรูปแบบที่ท้าทายขึ้น

“ปีนี้พี่เองก็กำลัง Pitch งานกับแพลตฟอร์มอินเตอร์ เนื้อหาเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันและความกลัวในสังคมไทย แต่จะทำให้เป็นเอนเตอร์เทน โปรเจกต์หนึ่งเป็นซีรีส์ทริลเลอร์ ดาร์กคอเมดี้ และอีกโปรเจกต์คือเว็บตูนแนว Heist Action Political ว่าด้วยการปล้นประชาธิปไตยของกลุ่มคนหนุ่ม ชื่อเรื่อง 2475

ส่วนเรื่องนี้จะเล่าในมุมไหน อย่างไร ต้องรอติดตาม

ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย แห่ง Talent 1 กับการทำหนัง ซีรีส์ โกอินเตอร์ และการบริหารสินทรัพย์ทางปัญญา

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน