516 ล้านครั้ง คือยอดรับชมเพลง เชือกวิเศษ บนแพลตฟอร์ม YouTube ณ เดือนมกราคม พ.ศ. 2564

ใครหลายคนคงรู้สึกประหลาดใจ ว่าทำไมวงดนตรีที่หายหน้าหายตาไปนาน จึงกลับมาผงาดยืนหนึ่งครองแชมป์เพลงไทยที่มียอดวิวสูงสุด ก้าวผ่าน 500 ล้านครั้งเป็นเพลงแรกในประวัติศาสตร์ดนตรีไทย 

แต่ถ้าคุณได้รับรู้ถึงจุดเริ่มต้นของพวกเขาก็อาจจะเข้าใจ เพราะเมื่อ 22 ปีที่แล้ว เด็กหนุ่มธรรมดาๆ กลุ่มนี้ เคยใช้บทเพลงที่ฟังง่ายจริงใจแบบนี้ สร้างปรากฏการณ์สั่นสะเทือนไปทุกชาร์ต จุดกระแส ‘ยามฟีเวอร์’ ให้กึกก้องไปทั่วประเทศ ส่งให้พวกเขากลายเป็นแรงบันดาลใจของคนตัวเล็กๆ ว่าสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน

หากแต่ความสำเร็จที่ทุกคนเห็นวันนี้ มีเบื้องหลังและต้องแลกมาด้วยอะไรมากมาย ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงขอพาทุกคนมาพูดคุยกับ 3 สมาชิก Labanoon เมธี อรุณ นักร้องนำ-มือกีตาร์ อนันต์ สะมัน มือเบส และ สมเมย์-ณัฐนนท์ ศรีศรานนท์ มือกลอง ถึงเรื่องราวของชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และการกลับมาในอัลบั้มชุดที่ 9 เดลิเวอรี่ ซึ่งพวกเขาอยากย้อนเวลาไปยังจุดเริ่มต้นของตัวเองอีกครั้ง

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

01

โชคชะตาชักนำ

รู้หรือไม่ว่า เมื่อเริ่มตั้งวง Labanoon ไม่ได้มีนักร้องนำชื่อเมธี ไม่ได้มีมือเบสชื่ออนันต์ และแน่นอน สมเมย์ ก็ไม่ใช่มือกลองของพวกเขา

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2539 เมธี เด็กหนุ่มจากอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย

ครั้งนั้นเขาพบกับรุ่นพี่ชื่อว่า สมพร ยูโซ๊ะ ซึ่งมีบ้านเกิดที่นราธิวาสเหมือนกัน ทั้งคู่สนิทกันอย่างรวดเร็ว เมื่อสมพรฟอร์มวงดนตรีกับเพื่อนก็ชักชวนน้องรักมาเป็นมือกีตาร์ โดยที่ตัวเองรับตำแหน่งมือกลอง

วงดนตรีที่ตั้งขึ้นมีชื่อว่า Labanoon เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า นมสด 

“ตอนนั้นมีหลายชื่อ เช่น Green Boy แต่เราชอบ Labanoon ที่สุด เพราะรู้สึกว่านมสดอาจจะดูจืดๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่กินแล้วมีค่า เราอยากเป็นวงที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่มีอะไรบางอย่างในตัว ซึ่งต่อมาเราก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ถ้าสังเกตเพลงของเราแทบไม่มีอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่มาใส่เลย เป็นดนตรีที่เป็นเครื่องดนตรีจริงๆ ไม่ได้สังเคราะห์อะไรทั้งนั้น” เมธีอธิบายนิยามชื่อวง

เริ่มแรก Labanoon เป็นแค่วงที่เล่นสนุกๆ อยู่ในโรงเรียน กระทั่งปีถัดมา คลื่น 91.5 Hotwave จัดประกวดวงดนตรีนักเรียนมัธยม Hotwave Music Award ครั้งที่ 2 พวกเขาจึงส่งผลงานเข้าแข่งด้วย

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

“จริงๆ พวกเราไม่ได้ใฝ่ฝันหรือคิดจะเข้าวงการ ดนตรีก็ไม่เคยเรียนมาก่อน แต่ช่วงนั้น Hotwave เป็นคลื่นที่ร้อนแรงมาก เด็กวัยรุ่นทุกคนต้องฟัง FM 91.5 พอมีโครงการนี้เราก็เลยคิดว่าน่าลองดู”

แต่ก่อนประกวดก็เกิดเหตุการณ์ ทำให้ต้องแก้ปัญหาไม่หยุด ตั้งแต่มือเบสย้ายโรงเรียนไปอยู่ที่เชียงใหม่ ต้องหาสมาชิกใหม่ พอดีเพื่อนของเมธีแนะนำว่ามีเพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่ง ชื่อ อนันต์ เล่นเบสเก่งมาก น่าจะชวนมาร่วมวง

“ไม่รู้จักกัน ไม่เคยคุยกันเลย อยู่คนละห้องด้วย แต่อยู่ชั้นเดียวกัน เมธีเป็นเด็กหอ ผมเป็นเด็กบ้าน ปกติเด็กสองกลุ่มนี้ไม่ค่อยถูกกัน แต่เพื่อนเขาอยู่ห้องเดียวกัน สำหรับผมถือว่าเป็นโชคชะตาจริงๆ” อนันต์เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

แต่ที่หนักสุดคือก่อนส่งใบสมัครไม่กี่วัน นักร้องนำเกิดขอถอนตัวกะทันหัน เนื่องจากร้องไม่ไหว เมื่อหานักร้องใหม่ไม่ทันแล้ว เมธีจึงจำเป็นต้องทำหน้าที่นี้แทน

เป็นจุดเริ่มต้นของ Labanoon ยุคคลาสสิก – เมธี, อนันต์ และสมพร 

ครั้งนั้นพวกเขาส่งโดเมให้ Hotwave 4 เพลง ประกอบด้วย เพลงจิงเกิลของ Hotwave ซึ่งสถานีกำหนดเนื้อเพลงมาให้แล้ว ส่วนทำนองปล่อยให้วงสร้างสรรค์กันเอง โดยพวกเขาแต่งออกมาเป็นเพลงสไตล์อาหรับหน่อยๆ ซึ่งต่อมาถูกต่อยอดเป็นเพลง ยาม ส่วนเพลงอื่นก็มี SHA-LA-LA-LA ของ Pookie, หลอน ของ Blackhead และ เหงา ของ A-MOB ซึ่งทุกเพลงล้วนเคยติดชาร์ต 20 อันดับของ Hotwave

พวกเขาไม่คาดหวังถึงชัยชนะ เพราะมีคู่แข่งมากถึง 215 วง แต่ผลงานของ Labanoon ก็โดดเด่นผ่านด่าน 30 วง จนเข้ามาแสดงให้กรรมการชมสดๆ ที่ Hollywood Place รัชดา ได้สำเร็จ

ขณะที่ทุกวงเตรียมเครื่องดนตรีมาแบบจัดเต็ม Labanoon กลับมีแค่ไม้กลองคู่เดียว ส่วนที่เหลือก็มาใช้ของส่วนกลาง ทว่าด้วยเสียงร้องที่โดดเด่นไม่เหมือนกันใคร และการเล่นสดที่สนุกเกินคำบรรยาย ทำให้พวกเขาชนะใจกรรมการ ทะลุเข้ารอบ 10 วงสุดท้ายได้แบบไม่น่าเชื่อ

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

ในวันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ทั้งสามคนขึ้นเวทีอีกครั้งในชุดลูกเสือสำรอง มีเพื่อนฝูงมาเชียร์กันเพียบ พวกเขาจับสลากได้ขึ้นเล่นเป็นวงแรก ถึงรู้ว่าสู้ยาก แต่พวกเขาก็แสดงกันเต็มที่

หากใครย้อนไปดูเทปวันนั้น จะพบว่า Labanoon สามารถเนรมิตเวทีให้เป็นคอนเสิร์ตของตัวเอง ถึงขั้นผู้ชมที่มาเชียร์เพื่อนวงอื่นๆ ยังส่งเสียงร้องและกระโดดตาม

“นี่เป็นเวทีตื่นเต้นที่สุดในชีวิตแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่เราทำให้เราใจสั่นได้เท่ากับครั้งนั้น ต่อให้เป็นเวทีใหญ่ๆ อย่าง G19, Big Mountain หรือคอนเสิร์ตเปิดกล่องของ Labanoon เองก็ตาม จำได้ว่าตอนนั้นมือสั่นผึ่บๆๆ เลย ความจริงเราไม่ได้สนุกนะ เราเครียดมากกว่า แต่ไม่รู้จะทำให้หายเครียดได้ยังไง ก็เลยกระโดดบนเวทีเลย” เมธีย้อนเวลา 

สุดท้ายพวกเขาไม่ได้รางวัลใดๆ กลับบ้าน แต่การแสดงที่เปี่ยมด้วยพลังก็เข้าตาใครหลายคน

หลังผ่านไปได้เกือบเดือน สมาชิกแต่ละคนแยกย้ายกลับไปตั้งใจเรียนหนังสือ วันหนึ่งอนันต์ก็ได้รับโทรศัพท์จากค่ายเพลง 2 แห่งว่าสนใจอยากให้เข้ามาพูดคุยด้วย

ทั้งสามมุ่งหน้าสู่ตึกซีมิคทาวเวอร์บี สุขุมวิท 21 ก่อน เมธีกับอนันต์ยังจำได้ดีว่า Grammy ในเวลานั้นใหญ่มาก มีคนเดินไปเดินมาเต็มไปหมด พอเข้าไปคุยกับฝ่ายพัฒนาศิลปิน เขาก็ให้ลองกลับไปเขียนเพลงแล้วมาเสนอ หลังจากนั้นอีก 2 – 3 วันต่อมา พวกเขาก็พากันนั่งรถเมล์ไปซอยพร้อมศรี 1 สุขุมวิท 39 เพื่อพูดคุยกับค่ายแมลงดนตรี

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

พวกเขาไม่เคยทราบว่า Music Bugs เคยผลิตผลงานอะไรมาก่อน หรือ เอก-ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เจ้าของค่ายเป็นใคร มาจากไหน

ธเนศสัมภาษณ์ทั้งสามคมอย่างละเอียด รวมทั้งบอกว่าจะให้ค่าแต่งเพลง เพลงละ 15,000 บาท หากแต่งครบอัลบั้มก็เท่ากับ 150,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก ใช้เรียนจนจบปริญญาตรีได้เลย ด้วยบรรยากาศที่อบอุ่นกว่า บวกกับความเชื่อมั่นที่ธเนศมีให้ ทำให้พวกเขาตัดสินใจเลือกค่ายเล็กแห่งนี้เป็นจุดตั้งต้น

“ตอนเซ็นสัญญา เราถามตัวเองว่าจริงเหรอ เรากำลังจะได้ออกอัลบั้มนะ เป็นไปได้เหรอ” เมธีเปิดประเด็น

“แฟนพี่เอกเขายังทักเลยว่า พี่เอาพวกนี้มาทำไม คิดดีแล้วเหรอ” อนันต์เล่าต่อ

“ลองคิดดู เต๋า สมชาย, ศรราม ดังขนาดไหน พื้นฐานของยุคนั้น เพลงดังไม่ดังไม่รู้ แต่หน้าตาต้องมาก่อนแล้ว ชนะเกินครึ่งแล้ว ขณะที่พวกเราดำมาก แต่พี่เอกก็บอกว่าเขาชอบ พวกเราสนุกดี” เมธีช่วยสรุปจบให้

นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของตำนานวงดนตรีที่ยังยึดครองใจของแฟนเพลงมาต่อเนื่องกว่า 20 ปี

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

02

กว่านมสดจะพร้อมดื่ม

“จริงๆ เพลง ยาม ยังมีอีกเนื้อหนึ่ง คือ “..จากวันนั้นที่ KFC นัดเธอที่ McDonald..” ตอนนั้นถกกันเยอะมาก แต่สุดท้ายก็เลือกที่พี่เหนือ (เหนือวงศ์ ต่ายประยูร) เขียนมา” เมธีย้อนที่มาของบทเพลงสร้างชื่อให้ Labanoon

“ไม่รู้ว่าถ้าเลือกอีกเนื้อจะเป็นยังไง ตอนนั้นอาจเพราะกลัวเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยมั้ง มีชื่อทุกร้านเลย” อนันต์ตบท้ายพร้อมเสียงหัวเราะ

แม้เหตุการณ์นี้อาจดูเป็นเรื่องชวนขำ แต่อีกมุมกลับสะท้อนให้เห็นว่า กว่าที่อัลบั้มหนึ่งจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะเมื่อสมาชิกทั้งสามคนต่างไม่เคยมีพื้นฐานด้านดนตรีมาก่อน

ครั้งนั้น ธเนศต้องลงมาควบคุมการทำงานของ Labanoon แบบใกล้ชิด เขาสอนทุกอย่าง ตั้งแต่วิธีการร้อง จังหวะหนึบ จังหวะเด้งเป็นยังไง วิธีอัดเพลง พาไปซื้อเสื้อผ้า ไปจนถึงสอนความรับผิดชอบในฐานะศิลปิน 

หลายคนอาจไม่ทราบว่ากว่าเพลง ยาม จะปรากฏสู่ผู้ฟังทั่วประเทศ เมธีต้องร้องเป็นร้อยๆ เที่ยว ตั้งแต่เช้ายันเย็น พอร้องเพี้ยนก็ต้องร้องใหม่หมด แม้จะรู้สึกท้อจนอยากเลิก แต่สุดท้ายก็ต้องพยายามสู้เพื่อให้ได้ผลงานออกมาดีที่สุด

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

“พี่เอกสอนเยอะมาก ทำให้เราเข้าใจว่ามืออาชีพเป็นยังไง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมบอกไม่อยากร้องเลย ไม่มีอารมณ์ พี่เอกบอกว่า ถ้าคนอื่นบอกว่าไม่มีอารมณ์บ้างจะเป็นยังไง ทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่ายหมด ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าห้องอัด คือมันไม่ใช่แค่ Labanoon เท่านั้น แต่ยังมีส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายพีอาร์ ฝ่ายโปรดักชันต่างๆ การเป็นมืออาชีพจึงไม่ได้เกิดจากอารมณ์ แต่เป็นเรื่อง Professional เช่น ถ้าเราจะขึ้นเวที ต่อให้มีอารมณ์หรือไม่ ก็ต้องทำเต็มที่” เมธีทบทวนความหลัง

กว่าจะไปถึงจุดนั้น ทีมงานต้องดึงศักยภาพและเรื่องราวของศิลปินออกมาให้ได้มากที่สุุด ดังเช่นที่ธเนศเคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อ พ.ศ. 2544 ถึงเคล็ดลับการสร้างเพลงแบบ Music Bugs ในยุคนั้น

“อย่างแรกเลย ต้องเตะหู ส่วนจะเตะด้วยอะไรก็สุดแล้วแต่ อาจเป็นความเท่ของซาวนด์หรือความแปลกของรูปแบบ แต่ฟังแล้วต้องสะดุดจนอยากกลับไปฟังใหม่อีกเรื่อยๆ อย่างที่สอง มันมีอะไรใหม่ๆ ในนั้นไหม สิ่งที่บ่งบอกว่า นี่คือบุคลิกของศิลปินคนนั้น เราหมายถึงสิ่งที่เป็นตัวของคุณเอง และเมื่อเอาสองอย่างมากองเข้าด้วยกัน มันออกมาลงตัวไหม ถ้ามีทั้งหมดที่ว่ามานี้ เราถือเป็นเพลงที่ดี 

“เพราะหนึ่ง มันสะดุดหู สอง มันมีอะไรใหม่ๆ และสาม มันเป็นตัวของคุณเอง ที่เหลือก็คือปล่อยให้มันทำหน้าที่เพลงที่ดีของมันไป” 

เพราะฉะนั้น ก่อนเริ่มงาน จึงต้องมีการพูดคุยกับสมาชิกวงแบบทุกซอกทุกมุม ตั้งแต่ความฝัน ความชอบ ประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต ทำไมถึงแต่งเมโลดี้แบบนี้ออกมา มีอะไรอยู่ในหัว จากนั้นก็ค่อยๆ กลั่นกรองออกมาเป็นประเด็น แล้วนำมาขึ้นกระดานเพื่อถกกัน กระทั่งได้เนื้อเพลงที่เหมาะกับ Labanoon จริงๆ

“ถ้าสังเกตเพลงของเราไม่ได้แตกต่างกันมาก คือนอบน้อม ถ่อมตน ต่ำต้อย เป็นตัวแทนของระดับล่างๆ ไม่ได้ไฮโซ ไม่ได้มีความเท่ เพราะตัวเราเป็นแบบนั้นจริงๆ คือไม่ได้หรูหรา หรือทำเพลงด้วยศาสตร์อะไรสูงๆ จำนั่งว่าตอนประชุมมีพี่เอกนั่งอยู่หัวโต๊ะ แล้วก็มีพี่กบ Big Ass (ขจรเดช พรมรักษา) เราต้องตกผลึกกันจริงๆ เพราะกว่าจะได้ 10 เพลงมา ต้องแต่งออกมา 20 กว่าเพลงเลยเพื่อคัดเลือก เพลงนี้ผ่าน เพลงนี้ไม่ผ่าน” เมธีเล่าบรรยากาศภาพการทำงาน

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

“ตอนนั้นทีมเขียนเนื้อเองก็เพิ่งฟอร์มทีมเหมือนกัน พูดง่ายๆ ที่นี่ก็เป็นคล้ายๆ Academy ซึ่งพี่กบเขามาลงเรียน แล้วค่อยๆ พัฒนาต่อยอดจนกลายเป็น Mango Team” อนันต์ช่วยเสริม

หลังใช้เวลาทำงานนานเกือบปี ในที่สุดอัลบั้มแรกของพวกเขาก็ลุล่วง

Labanoon อัลบั้มนมสด วางแผงเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2541 โดยแทบไม่มีสื่อในมือเลย อย่างแผ่นที่ส่งตามสถานีต่างๆ ก็ต้องรอลุ้นว่าดีเจจะเปิดให้หรือไม่ เช่นเดียวกับมิวสิกวีดิโอก็มีเผยแพร่แต่ในเคเบิลทีวีเป็นหลัก 

แต่ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ทำให้เพลงเปิดหัวอย่าง ‘ยาม’ ทะยานขึ้นชาร์ตอันดับ 1 แทบทุกคลื่นวิทยุ เด็กมัธยม-มหาวิทยาลัยต่างก็ร้อง “..ไม่ได้ยินว่ารัก ฉันก็ยังไม่ไป ต้องหลับในตรงนี้ก็ตาม ไม่ได้ยินว่ารัก ฉันจะขอเป็นยาม อยู่ประจำจนเช้าทุกวัน เฝ้าบ้านให้เธอ..” กันทั่วประเทศ

ไม่เพียงแค่นั้น ความโด่งดังของ ยาม ยังลากเพลงอื่นๆ เช่น หนักใจ เข้ามาอยู่ในกระแสนิยมด้วย ส่งผลให้พวกเขามีคิวงานเข้ามาเต็มไปหมด แต่ที่ไม่เซอร์ไพรส์สุดคือ อัลบั้มนี้มียอดขายเกินล้านตลับ นับเป็นครั้งแรกของ Music Bugs

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

“จำได้ว่าตีคู่กับเพลง ประเทือง ของพี่ไท ธนาวุฒิ คือดังจากตัวเพลงมากกว่า คนไม่ค่อยรู้จักวง” อนันต์เปิดเรื่อง 

“ใช่ๆ คือคนไม่เคยเห็นหน้า เขาฟังจากวิทยุเป็นหลัก ผมยังใส่กางเกงบอล ใส่เสื้อบอล นั่งรถเมล์มา Music Bugs อยู่เลย คือจริงๆ ต้องยอมรับว่าเราไม่เคยตั้งเป้าว่าชุดนั้นจะขายได้ล้านตลับ ได้แค่หมื่นตลับก็ดีใจแล้ว” เมธีกล่าวตาม

“ตอนนั้นเขาบอกว่าต้องขายให้ได้ 30,001 ม้วนขึ้นไป เราถึงจะได้ม้วนละสามบาท หารกันก็เหลือม้วนละบาท ถ้าขายได้สามหมื่นม้วนก็ยังไม่ได้เงิน” อนันต์ขยายความ

ความสำเร็จครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตของเด็กมัธยมสามคนจากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างเมธีก็นำเงินก้อนที่ได้ไปซื้อที่ดินและซื้อบ้านให้แม่อยู่ ซื้อรถคันเล็กๆ ให้ตัวเองขับ ที่เหลือก็นำไปเป็นทุนการศึกษาส่งตัวเองเรียน

หากแต่ยอดขายที่สูงไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าพวกเขาจะเป็นเบอร์ 1 ตลอดไป ในอัลบั้มชุดที่ 2 จึงเต็มไปด้วยความกดดันและการทำงานที่หนักหน่วงไม่แพ้กัน

“เราใช้หลักให้แต่ละเพลงแข่งกันเอง อย่างชุดแรกมีหนักใจ พอชุดที่สอง เรามี บังอาจรักเธอ ถามว่าสู้เพลงเดิมได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็แต่งใหม่ คือเราทำงานกันหนักมาก ท่ามกลางความรู้สึกว่าแต่งยังไงก็ยังไม่พอ ซึ่งถ้าเรายอมรับจุดนั้นไม่ได้ก็จบ” เมธีเล่าเบื้องหลังการทำงาน

“แต่โชคดีที่เราไม่มีอีโก้ เราพร้อมเปิดใจรับฟัง” อนันต์ช่วยเสริม

“ทีมพี่เอกเขาอาจมีเซนส์บางอย่างที่รู้ว่าเพลงนี้ถูกจริตคนไทย บางทีเขาก็บอกว่าเพลงนี้มีแวว ลองขยับฮุกให้มันพุ่งหน่อยได้ไหม เอามาเจียน มาตัด มาทอน ให้มันดี ท่อนนี้ไม่จำเป็น ดูยึกยือ ตัดออกเลย หรือบางเพลงเรียบเรียงออกมาแล้วเชยไปก็ไม่ได้ คือกว่าจะเสร็จเพลงหนึ่ง กว่าจะได้ผ่าน ต้องมีร้อง” นักร้องนำลงรายละเอียดให้เห็นภาพ

ผลจากความทุ่มเทสุดกำลัง ส่งให้อัลบั้ม 191 ขายดีไม่แพ้ชุดแรก มีเพลงฮิตเต็มไปหมด ทั้ง 191, บังอาจรักเธอ, แอบรัก, รางวัลปลอบใจ และยังแรงมาถึงอัลบั้มที่ 3 คนตัวดำ ซึ่งทำยอดขายทะลุล้านตลับเช่นกัน

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

“จำได้ว่า ช่วงนั้นเพลงเราดังมาก คลื่นทางใต้เจ็ดถึงแปดเพลงเป็นของเราหมดเลย แล้วก็ยังเป็นขึ้นอันดับหนึ่งอีกหลายจังหวัด คือบางคนอาจจะคิดว่า Labanoon ดังแค่ทางใต้ แต่ไม่ใช่ อย่างเราไปโคราช นึกว่า F4 อ๋อไม่ใช่ Labanoon ต่างหาก” อนันต์เล่าไปยิงมุกไป

Labanoon ออกอัลบั้มกับ Music Bugs ต่อเนื่องถึง 6 ชุด แม้ช่วงหลังกระแสพูดถึงบนสื่ออาจซบเซาลงไปบ้าง แต่คิวการแสดงยังแน่นเหมือนเดิม แต่แล้ววันหนึ่งพวกเขาก็ตัดสินใจหยุดวงชั่วคราว

ปัจจัยหลักมาจากความเปลี่ยนแปลงภายในค่าย คนเบื้องหลังที่ทำงานร่วมกันมาตลอด เช่น Big Ass ก็ย้ายสังกัดไปอยู่ Genie Records อีกส่วนเป็นเพราะความอิ่มตัว เนื่องจากตลอด 8 ปีที่ผ่านมา พวกเขาวนเวียนอยู่ในถนนสายดนตรีจนแทบไม่มีชีวิตด้านอื่นเลย จึงอยากหาประสบการณ์ชีวิตใหม่ๆ บ้าง

ส่งผลให้ชื่อของ Labanoon ค่อยๆ หายไปจากสารบบเพลงไทยในช่วงเวลาหนึ่ง

03

จากวันที่เกือบเลิก

แม้เป็นการหยุดพัก แต่ดูเหมือนสมาชิก Lababoon ต่างคนก็ต่างแยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเอง

เมธีเรียนต่อปริญญาโทที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จากนั้นก็ได้รับการชักชวนให้ลงการเมืองท้องถิ่นที่จังหวัดสตูล โดยรับตำแหน่งเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล แต่ใน พ.ศ. 2552 กลับเจออุบัติเหตุทางการเมืองต้องเว้นวรรค จึงหันเหไปเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ตามความต้องการของแม่

ขณะที่อนันต์หันไปทำงานประจำ เป็นพนักงานดูแลฝ่ายไอทีให้แก่บริษัทโทรศัพท์มือถือเจ้าหนึ่ง

มีแต่เพียงสมพรเท่านั้นที่ยังโลดแล่นในวงการดนตรี โดยโยกย้ายไปเป็นมือกลองให้วงกะลาแทน

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

ในห้วงสุญญากาศ พวกเขาแทบไม่มีความคิดที่จะกลับมารวมตัวทำดนตรี ด้วยเชื่อว่ายุคสมัยของ Labanoon สิ้นสุดลงแล้ว ครั้งนั้นเมธีถึงขั้นเกือบเอากีตาร์ที่เก็บไว้ไปขาย

กระทั่งใน พ.ศ. 2553 ก็มีจุดพลิกสำคัญเกิดขึ้น เมื่อเมธีเปิดวิทยุฟังแล้วเจอเพลงของ Labanoon ครั้งนั้นดีเจพูดว่า ไม่รู้วงนี้หายไปไหน พอวันรุ่งขึ้นก็ยังได้ยินอีก บวกกับเวลานั้นไปไหนก็มักมีแต่คนถามว่าไม่ออกอัลบั้มแล้วเหรอ ทำให้เขากลับมาทบทวนชีวิตตัวเองว่า เส้นทางสายนักวิชาการที่เลือกเป็นสิ่งที่อยากทำจริงๆ หรือไม่

“การเป็นอาจารย์สอนปริญญาตรี อย่างน้อยต้องต่อดอกเตอร์ ต้องใช้ทุน รายได้เดือนหนึ่งสองหมื่นกว่าบาท ขณะที่เราเล่นคอนเสิร์ตงานหนึ่งก็ได้แล้ว ที่ผ่านมา Labanoon ให้อะไรกับเราเยอะมาก เรายังอยากจะหนีอีกเหรอ แต่อีกมุม เราเห็นพี่ๆ หลายคนที่ไม่รอดก็กลัวเหมือนกัน สุดท้ายเราก็เลือกจะกลับมา คงเป็นโชคชะตาให้เดินมาทางนี้” 

เมธีตัดสินใจโทรศัพท์ไปหาอนันต์ ชักชวนให้กลับมาฟอร์มทีมกันอีก อนันต์ใช้เวลาคิดอยู่พักหนึ่ง ก่อนตอบตกลง พร้อมกับลาออกจากงานที่มั่นคงเพื่อมาโฟกัสกับงานดนตรีเต็มที่

หากแต่การคืนเวทีครั้งนี้ Lababoon เหลือสมาชิกเพียง 2 คนเท่านั้น

“ตอนหยุดไปกะลา วงแตก หนุ่ม (ณพสิน แสงสุวรรณ) ฟอร์มวงใหม่ เลยเอาพี่สมพรไป ส่วนผมกับอนันต์หลุดแล้ว คือไม่ได้อยู่ในวงการ ถ้าเอาพี่พรกลับมา หนุ่มก็ต้องหามือกลองคนใหม่” เมธีเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของวง

“อีกอย่างคือเขากำลังเวิร์กอยู่ แต่เราลูกผีลูกคน ไปดึงกลับมาก็ไม่รู้ว่าเวิร์กหรือเปล่า” อนันต์เสริมภาพให้ชัดขึ้น

อัลบั้มชุดที่ 7 พวกเขายังอยู่ภายใต้สังกัด Music Bugs โดยระหว่างนั้นก็ควานหามือกลองคนใหม่ควบคู่ไปด้วย กระทั่งมาลงตัวที่ สมเมย์ อดีตมือกลองวง Oblivious

“เราอยู่ค่ายเดียวกัน เคยแจมกันมาก่อน” อนันต์เท้าความสัมพันธ์กับสมเมย์ 

“ผมเห็นเขาเป็นคนสนุก น่าจะตีกับเราได้ ก็เลยชวนมา นี่คือพื้นฐานการทำงานกับ Labanoon เราเน้นความสนุกก่อน ทำแล้วมีความสุข เราไม่ได้ต้องการเทพอะไรแบบนั้น ซึ่งสุดท้ายเขาก็ตีกับเราได้จริงๆ” เมธีพูดถึงน้องเล็กของวง

“ตอนแรกไม่มั่นใจเลย เหมือนเรากับต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยกัน จำได้ว่าใช้เวลาอยู่กับพี่ๆ นานสามเดือน ไปซ้อม ไปอยู่ ไปกินด้วยกัน กลับบ้านพร้อมกัน คลุกคลีอยู่ตรงนั้นก่อน ถึงมาเริ่มเล่นคอนเสิร์ตด้วยกันจริงๆ” สมเมย์เสริม

แต่ด้วยร้างราเวทีมานาน เมธีกับอนันต์ยอมรับตามตรงว่ารู้สึกกดดันและท้าทายไม่น้อย เพราะไหนจะต้องรื้อฟื้นการเล่นดนตรีใหม่ ต้องหวนกลับไปฟังเพลงเก่าๆ อีกหน แต่ถึงอย่างนั้นทั้งสองก็ยังมั่นใจว่า ถึงตลาดจะเปลี่ยนไปสักเพียงใด แต่กลุ่มคนที่รักและติดตาม Labanoon ก็ยังมีอยู่ เพราะสิ่งที่ Labanoon นำเสนอออกไปไม่มีใครเลียนแบบได้

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

ดังคำสัมภาษณ์ของเมธีเมื่อ 10 ปีก่อนที่ว่า “เรามีแนวเพลงของเรา ต่อให้กระแสอีโมหรือสกาจะมา Labanoon ก็ยังเป็นแนว Labanoon ไม่ตามกระแส เหมือนเพลง ยาม ฟังเมื่อสิบสองปีที่แล้ว มาตอนนี้ก็ยังฟังได้.. หรือเวลาไปเล่นงานกาชาด คนจ้างบอกว่าจ้าง Labanoon ขาดทุนน้อยที่สุด คนดูเยอะสุด เพราะเวลาเราเล่นบนเวทีชั่วโมงหนึ่ง เราใส่เต็มที่ เราคิดว่าเราเป็นอมตะได้เพราะปากต่อปาก คนบอกต่อว่าเราเล่นประทับใจ มีลูกก็จะเล่าให้ลูกฟัง”

เพราะฉะนั้น แม้อัลบั้ม Keep Rocking อาจไม่โด่งดังเหมือนผลงานก่อนหน้านี้ แต่อย่างน้อยๆ ก็เป็นการยืนยันว่า พวกเขาพร้อมแล้วที่จะกลับมาโลดแล่นบนเส้นทางสายนี้อีกครั้ง 

“ถ้าย้อนกลับไปไม่ใช่ว่า Labanoon ไม่มีงาน ความจริงเรามีเยอะ เพียงแต่ไม่ค่อยมีภาพออกมาเท่านั้น จนพี่กบบอกว่า โพสต์คิวงานบ้างเถอะ เพราะตอนนั้นคนนึกว่า เราเงียบไปแล้ว เพลงไม่มา เป็นวงที่เก่าๆ ไปแล้ว” อนันต์อธิบาย

“จำได้ว่าบางเดือนเรามีงานยี่สิบแปดวัน ส่วนอีกสองวันอยู่ในรถตู้” สมเมย์เสริมพร้อมเสียงหัวเราะ

“โชคดีที่ Labanoon ไม่เคยตก ผ่านเกณฑ์ตลอด เพียงแต่ถ้าคะแนนเต็มสิบ บางครั้งเราอาจจะได้หกหรือเจ็ด แต่เราไม่เคยได้หนึ่งหรือสอง คือเราพยายามประคองตัวเองเสมอ” เมธีช่วยสรุปให้

หลังหมดสัญญากับ Music Bugs พวกเขายังคงเดินหน้าทำผลงานชุดใหม่ โดยครั้งนั้นพวกเขายังลังเลว่าจะทำงานแบบใต้ดิน หรือไปอยู่ค่ายใหม่แห่งหนึ่งซึ่งเพิ่งตั้งขึ้น และมีศิลปินยุคเดียวกันไปร่วมงานหลายวง 

พอดีจังหวะนั้น กบ Big Ass โทรศัพท์มาหาเมธี เพื่อถามไถ่ถึงชีวิตที่ผ่านมา และพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตของวง ซึ่งเหตุการณ์นั้นเองที่ทำให้พวกเขากลายมาเป็นสมาชิกใหม่ของ Genie Records

“ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะมาอยู่ที่นี่ เพราะคิดว่าเขาคงไม่รับ แต่พี่กบบอกว่า คิดถึง Labanoon แล้วถามว่าจะเอายังไงต่อ เลยบอกแกว่า ผมไม่ได้คิดว่าค่ายจะทำให้ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือทีม ผมต้องการพี่กบ ต้องการพี่เหนือ ต้องการทีมสมัยที่เราเคยอยู่ Music Bugs พวกพี่อยู่ตรงไหน ผมก็อยู่ตรงนั้น แกเลยบอกว่า มาอยู่กับพวกเราแล้วกัน จากนั้นพี่กบ พี่อ๊อฟ (พูนศักดิ์ จตุระบุล) ก็พามาเซ็นสัญญา” เมธีเล่าถึงก้าวย่างสำคัญของวง

“พอมาถึง พี่นิค (วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้ก่อตั้ง Genie Records) ก็พูดว่า Labanoon เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่ขาดไปในวงการเพลง เขายินดียินงามด้วย สนับสนุน เราจึงเลยเลือกจะอยู่ที่นี่” อนันต์ช่วยเสริม

การเข้าสังกัดค่ายใหญ่เปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปไม่น้อย อย่างแรกคือ Labanoon เริ่มกลับมาเป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกครั้ง โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับเรื่องโปรดักชันที่มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งการบันทึกเสียง การถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ ช่องทางประชาสัมพันธ์ แต่ที่สำคัญสุดคือ การได้หวนกลับมาทำงานกับคนคุ้นเคยอย่าง Mango Team

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

ผลงานที่พวกเขาผลิตร่วมกันได้รับเสียงตอบรับจากแฟนเพลงสูงมาก ยืนยันได้จากยอดรับชมใน YouTube ที่มากกว่า 1,000 ล้านครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ฉันก็คง 213 ล้านครั้ง, พลังงานจน 237 ล้านครั้ง, ใจกลางเมือง 313 ล้าน, แพ้ทาง 401 ล้านครั้ง และ เชือกวิเศษ 516 ล้านครั้ง หรือการที่พวกเขามีคอนเสิร์ตใหญ่ของตัวเองเป็นครั้งแรก และยังได้เข้าร่วมงานเทศกาลดนตรีอีกเพียบ อาทิ G19 Live, Chang Friend Fest และ Big Mountain Music Festival

ทั้งสามคนบอกว่า ตัวเพลงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จครั้งนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความคิดถึงก็มีส่วนไม่น้อย เพราะสำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว Labanoon ไม่ต่างจากเพื่อนที่ผูกพันกันมานาน

“เราคิดว่าเพลงที่เราทำมีคุณค่าในตัวเอง บางคนป่วยเป็นมะเร็ง แต่พอฟังเพลง Labanoon ทำให้ลุกขึ้นสู้ได้ บางคนกำลังจะเลิกกับแฟน ก็บอกให้เราช่วยเล่นเพลงนี้ง้อแฟนบนคอนเสิร์ตได้ไหม บางคนบอกว่าเพลงนี้ทำให้ได้แฟนคนนี้ แล้วตอนนี้เขามีลูกแล้ว บางคนเริ่มหัดเบส หัดกีตาร์จากเพลงของเรา เพราะเพลง Labanoon ค่อนข้างเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน คือมันมีหลายโมเมนต์มาก เป็นอะไรที่มากกว่าเพลง” มือเบสเล่าถึงความทรงจำกว่า 20 ปี

“ผมอยากให้เพลงของ Labanoon เป็นเพื่อนทุกช่วงเวลา วันที่เขาเศร้า คิดถึงบ้าน วันที่เขาอกหัก วันที่เขาอยากฉลองอะไรสักอย่าง ผมไม่ต้องการเป็นอันดับหนึ่ง แต่ผมดีใจที่เพลงของ Labanoon สามารถไปได้ทุกที่ ผับเพื่อชีวิตเราก็ไปได้ แก๊งไฮโซทองหล่อเราก็ไปได้ คือเราขอเป็นกะเพราไก่ที่ไม่ว่าใครๆ ก็กินได้เท่านั้นก็พอแล้ว” เมธีสรุปความตั้งใจของตัวเอง

04

คืนสู่จุดเริ่มต้น

หลังว่างเว้นการออกอัลบั้มไปกว่า 4 ปี Labanoon กลับมาอีกครั้ง พร้อมผลงานชุดใหม่ เดลิเวอรี่ 

แม้ใครหลายคนอาจมองว่าไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม ด้วยเมืองไทยในขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาสารพัด ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และโรคระบาด แต่ทั้งสามสมาชิกกลับมองต่าง เพราะพวกเขาหวังให้บทเพลงของ Labanoon คอยเป็นเพื่อน บรรเทาความทุกข์ใจของแฟนเพลงให้ผ่านสถานการณ์อันยากลำบากไปด้วยกัน

“ที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าสังคมไทยเครียดมาก แต่ไม่รู้จะช่วยอะไรได้บ้าง เลยคิดว่าอยากจะทำเพลงใหม่ เพื่อให้คนรู้สึกอารมณ์ดีขึ้นมา เหมือนตอนที่เราออกอัลบั้มแรก เวลานั้นเกิดวิกฤตฟองสบู่แตกพอดี เราอยากช่วยให้ทุกคนสงบสติอารมณ์และกลับมายิ้มอีกครั้ง เพราะถ้าอารมณ์ดีขึ้น ทุกอย่างก็จะสวยงามเอง” เมธีเปิดใจ

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าวงการเพลงทุกวันนี้เคลื่อนตัวไวมาก การจะอยู่รอดได้จึงต้องอาศัยความเข้าใจตัวเองและความต้องการของแฟนเพลง

สิ่งหนึ่งที่ Labanoon ยึดเป็นแนวทางมาตลอดมา คือความสนุก เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เน้นเครื่องดนตรีเพียง 3 ชิ้น คือ เบส-กีตาร์-กลอง ไม่สนใจเรื่องเสียงสังเคราะห์หรือองค์ประกอบใดๆ ที่รกรุงรังเกินจำเป็น

“หลายคนมองว่าเราทำแต่เพลงแมส แต่ผมไม่ซีเรียส เพราะส่วนตัวชอบฟังเพลงเพราะอยู่แล้ว แล้วเพลงต่างๆ ก็แต่งมาจากอารมณ์ล้วนๆ ไม่ได้มีศาสตร์ดนตรีแนวไหน แน่นอนถ้าใครฟัง Labanoon อาจรู้สึกว่าสไตล์เดิม ก็ต้องยอมรับ เพราะเราตั้งใจให้เป็นแบบนั้น ซึ่งตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา คนที่ฟังเพลงเรา เขายังชอบสิ่งที่เป็นเราอยู่ เลยตั้งใจว่าจะไม่ไปข้างหน้าแล้ว เพราะถ้าตามกระแสไปทำแรปหรือฮิพฮอพ เราตายแน่”

ด้วยเหตุนี้ อัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon จึงยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายที่ทุกคนคุ้นเคย คือ ความสนุก เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เน้นเครื่องดนตรีเพียง 3 ชิ้น คือ เบส กีตาร์ และกลอง และที่พิเศษกว่า คือพวกเขาอยากถอยไปสู่จุดตั้งต้นสมัยทำอัลบั้มชุดแรกๆ 

“ก่อนทำชุดนี้ เราก็คิดว่าจะไปทางไหนดี ถ้าไปข้างหน้าแล้วตัน เราถอยหลังไปยุค 90 เลยดีกว่า กลับไปอย่างที่เราเป็น ง่ายๆ ใครจะว่าอะไรช่าง ถ้าเป็นไปได้อยากอัดแบบแอนะล็อก เหมือนที่เคยทำตอนอายุสิบเจ็ด เพราะเรารู้สึกว่ามันเจ๋งมาก ล่าสุดผมดูหนัง Bohemian Rhapsody แล้วร้องไห้เลย เขาอายุขนาดนั้นยังไปอัดกลองด้วยกัน ผมว่ามันมีความสุข พวกเราก็เลยมานั่งรวมกัน ช่วยกันแต่ง คิดริฟขึ้นก่อน คือถ้าใครฟังจะรู้เลยว่า Labanoon เราย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.. 2540” 

ในส่วนเนื้อเพลง ยังคงเป็นหน้าที่ของ Mango Team เช่นเดิม เน้นผสมผสานเนื้อหาที่หลากหลาย ทั้งเพลงรัก เพลงอกหัก เพลงฟังสบายๆ โดยเมธีเล่าว่าชุดนี้อาจต่างจากอัลบั้มที่แล้ว เพราะพวกเขาอยากให้เพลงทุกเพลงช่วยเสริมซึ่งกันและกัน เหมือนทีมฟุตบอลที่หวังพึ่งระบบมากกว่าใครเพียงคนเดียว

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

“ถ้าย้อนกลับไปชุดแรก เรามีแค่เพลง ยาม เท่านั้นที่ติดตลาด และทำให้อัลบั้มชุดนั้นขายได้ล้านตลับ พอมาชุดสอง เราไม่มีซูเปอร์สตาร์ แต่เราทำให้ทุกตำแหน่งแข็งแกร่งหมด เรามี 191, ถูกทุกข้อ, แอบรัก, บังอาจรักเธอ แล้วทุกเพลงช่วยกันจนอัลบั้มขายได้ล้านตลับ พอมาถึงชุดนี้เราอยากกลับไปทำแบบนั้นอีก คือเราวางเป็นสเต็ปๆ เลย ถ้าเพลงนี้ไม่เกิด เพลงนี้ช่วยต่อ เพราะชุดที่แล้ว เรามีเพลงช้าอกหักแค่เพลงเดียวคือ เชือกวิเศษ ซึ่งหากไม่เวิร์กก็จบเลยเพลงอกหัก”

สำหรับเพลงแรกที่ปล่อยออกมาแล้ว คือ เดลิเวอรี่ ยังคงเป็นซาวนด์ฟังง่าย เน้นจังหวะชวนโยก และเติมลูกเล่นด้วยท่อนแรป โดยได้แรงบันดาลใจมาจากช่วง COVID-19 ที่ผู้คนรอบตัวหันไปขับรถส่งอาหารหรือทำอาหารขายเดลิเวอรี่ พวกเขาจึงอยากมอบเพลงที่ให้กำลังใจ และบอกว่าไม่ว่าสถานการณ์ไหนก็มีความสุขได้ 

หรือเพลงที่ 2 ดอกฟ้า คือเพลงง่ายๆ อารมณ์เศร้าๆ ที่เป็นจุดขายมาตั้งแต่อัลบั้มแรกๆ อยู่แล้ว เมธีแต่งทำนองเมื่อประมาณ 2 – 3 ปีก่อนจากกีตาร์โปร่งตัวเดียวในห้องนอน และได้กบมาช่วยเขียนเนื้อ ซึ่งตอนแรกกบไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไร จนวันหนึ่งระหว่างกลับบ้านเห็นดอกไม้ร่วงหล่นจากต้นลงสู่พื้นดิน จึงนึกถึงคำว่า ‘ดอกฟ้า’ 

“เราภูมิใจกับอัลบั้มนี้มาก เพราะสำหรับคนที่อยู่ในวงการมานาน สิ่งที่กลัวที่สุดคือความตัน แต่เราโชคดีที่ทำสำเร็จ และหวังว่าเพลงแต่ละเพลงจะมีความหมายให้กับทุกคนที่ได้ฟังจริงๆ” 

กว่า 20 ปีบนเส้นทางสายดนตรี คงไม่ผิดหากกล่าวว่า Labanoon คือตำนานบทสำคัญของวงการเพลงไทย เกือบร้อยเพลงที่พวกเขาช่วยกันสร้างขึ้น ล้วนแต่มีบทบาทและอยู่ในความทรงจำของผู้คนหลายวัย 

แน่นอน ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายแล้วปลายทางของวงดนตรีเล็กๆ วงนี้จะเป็นเช่นไร สิ่งเดียวที่ทั้งสามคนทำได้ คือทำทุกวันนี้ให้ดีที่สุด และเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างความสุขแก่ผู้ฟัง

“เคยมีคนถามเหมือนกันว่าเราตั้งเป้าอนาคตไว้ยังไง แต่ความจริงเราไม่เคยคิดไว้เลย” อนันต์กล่าว

“อาจเป็นเพราะเราไม่เคยคิดที่จะอยู่ตรงนี้มาก่อน มันเป็นโชคชะตาจริงๆ เพราะฉะนั้น ถึงวันนี้ผมคิดว่าตราบใดที่ยังมีแรงก็เล่นไปเถอะ แล้ววันหนึ่งเวลาจะเป็นตัวบอกเอง ถ้าสุขภาพไม่ไหว เสียงไปแล้ว เล่นไปมีแต่เสีย แบบนั้นให้เขาเก็บภาพดีๆ ของเราไว้ดีกว่า แต่ถ้าเรายังไหว ก็สู้ต่อไปและสนุกไปกับมัน” เมธีทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

จากวงดนตรีมัธยมผู้จุดกระแสยามฟีเวอร์ สู่การกลับมาอีกครั้งในอัลบั้มชุดที่ 9 ของ Labanoon

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

  • สัมภาษณ์วง Labanoon วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563
  • นิตยสาร a day ปีที่ 2 ฉบับที่ 12A เดือนกันยายน พ.ศ. 2544
  • นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 983 วันที่ 1 – 7 เมษายน พ.ศ. 2554- รายการ คิดถึงจัง สถานีโทรทัศน์ Majung The Original TV วันที่ 11 – 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน