4 พฤศจิกายน 2022
3 K

ท่ามกลางบ้านเรือนเก่าแก่ในย่านยมจินดาที่เรียงตัวกันแน่นขนัด ทำให้ภาพของอาคารหลักร้อยปี ณ หัวมุมถนนชุมพลดูตระหง่านมีพลังอย่างไม่น่าเชื่อ ด้านในคือหลานเอก คอฟฟี่เฮาส์คาเฟ่ที่เมื่อคุณยืนอยู่หน้าร้าน มองไปด้านหนึ่งจะเห็นถนนชุมพล และมองไปอีกด้านคือถนนยมจินดา ตึกนี้คืออาคารพาณิชย์สไตล์ชิโน-ยูโรเปียน ที่สร้างด้วยไม้ผสมปูนหลังแรกของจังหวัดระยองโดย นายกี่พ้ง แซ่ตัน และตกทอดมาถึงครอบครัว นายเอก พะเนียงทอง จนตอนนี้ได้รุ่นหลานฝีมือดีมาช่วยปัดฝุ่นตึกเก่านี้ให้กลายเป็นจุดเช็กอินที่ว่ากันว่า หากมาที่นี่ถือว่าได้มาถึงเมืองระยองแล้วอย่างแท้จริง 

หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ คาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนยมจินดา ที่ตั้งใจรักษาความเป็นระยอง


การจะเข้าไปในร้านต้องผ่านประตู 2 ชั้น บานแรกคือประตูบานพับไม้เก่าแก่ บ่งบอกว่าคุณได้เข้ามาใน ‘ตึกกี่พ้ง’ แล้ว และบานที่สองคือประตูกระจกที่เมื่อเปิดเข้าไปคุณจะพบกับตู้โชว์อุปกรณ์ทำกาแฟโบราณ เฟอร์นิเจอร์วินเทจ กลิ่นหอมอ่อน ๆ เพลงแจ๊ส และคุณหมีที่บดกาแฟอย่างขยันขันแข็ง 1 ตัว

หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ คาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนยมจินดา ที่ตั้งใจรักษาความเป็นระยอง
หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ คาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนยมจินดา ที่ตั้งใจรักษาความเป็นระยอง

เจ้าของบรรยากาศชวนหวนอดีตแบบนี้ ไม่ใช่ผู้สูงวัยหรือนักธุรกิจวัยกลางคนแต่อย่างใด แต่เป็น ซัน-กษิดิ์เดช พะเนียงทอง ผู้เป็นหนึ่งใน ‘หลานเอก’ ที่ดูแลคาเฟ่แห่งนี้ตั้งแต่การริเริ่มหาคอนเซ็ปต์ร้าน ปรับปรุงอาคาร เลือกสรรเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงออกแบบเครื่องดื่มและอาหารในคาเฟ่ สิ่งที่ทำให้เราแปลกใจคือ ทำไมคนที่ดูวัยรุ่นอย่างเขา ถึงหันมาสนใจอาคารเก่าแก่นับร้อยกว่าปีในย่านเมืองเก่าไกลกรุงเช่นนี้

“ผมอยากให้คนที่มาที่นี่ 100 คน อาจมีสัก 50 คนที่เขาสนใจเรื่องราวของจังหวัดระยองแล้วนำไปเล่าต่อ”

นี่คือหนึ่งในคำตอบที่เขาบอกเรา

เดิมทีซันเป็นคนระยองที่มีโอกาสไปเห็นมุมต่าง ๆ ของเมืองเก่าในภูเก็ตหรือสงขลา คำถามที่ตามมาคือ ทำไมเมืองเก่าเหล่านี้ถึงกลับมามีชีวิตชีวา ย่านยมจินดาจะเป็นอย่างนั้นได้หรือเปล่า เมื่อเขามีโอกาสรับข้อเสนอในการรับช่วงต่อดูแลตึกแห่งนี้ เขาก็ตอบรับในทันที ถึงแม้วันนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้ แต่เขาก็หวังว่ามันจะเป็นไฟดวงเล็กที่จุดขึ้นในย่านเมืองเก่าที่เงียบเหงา

“โชคดีมากที่เจ้าของคนเก่าแต่ละคนแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในตัวตึกเลย สภาพของมันแทบจะเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม้เก่า ประตูเก่า กระเบื้องเก่า พอเราต้องซ่อมแซมก็ตั้งใจว่าจะทำให้ปลอดภัยเป็นหลัก แต่ยังคงความโบราณเอาเท่าที่จะทำได้

“แผ่นไม้ที่ผุพัง เราก็ไปหา ‘ไม้ใหม่ที่เก่า’ มาแทน ก็คือหาไม้เก่าที่สภาพแข็งแรงมาต่อเติม กระเบื้องหลังคาโบราณที่แตกเราก็ต้องรอคิวช่างซ่อมโบสถ์ซึ่งชำนาญการซ่อมอาคารเก่านานเป็นปี เพราะช่างทั่วไปจะไม่คุ้นเคยกับอาคารเก่าแบบนี้ เรายอมรอดีกว่าเพื่อรักษาให้ตึกเหมือนเดิมมากที่สุด”

หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ คาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนยมจินดา ที่ตั้งใจรักษาความเป็นระยอง
หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ คาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนยมจินดา ที่ตั้งใจรักษาความเป็นระยอง

แต่การจะถนอมตึกไว้เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ก็น่าเสียดายเกินไปสำหรับซัน เขาคิดว่าต้องมีอะไรที่เชื่อมโยงให้คนอยากแวะเวียนมามากกว่าการมาศึกษาประวัติศาสตร์ และคาเฟ่คือคำตอบ

เดิมทีซันไม่ได้เรียนจบทางด้านอาหารหรือการบริการ แต่ตัวตนข้างในของเขาคือคนที่ชื่นชอบอาหาร-เครื่องดื่ม ถึงกับตระเวนไปเรียนคอร์สทำอาหารในหลายจังหวัด และด้วยความรักบรรยากาศของคาเฟ่ เสน่ห์ของการไปมาหาสู่ผ่านแก้วกาแฟจึงถูกเลือกนำมาใช้เป็นตัวกลางเชื่อมผู้มาเยือนกับสถานที่เข้าด้วยกัน ทุกคนจึงเผลออ่านประวัติของตึก ที่มาของถนน และแผนที่ย่านยมจินดาบนผนังร้านระหว่างจิบกาแฟยามบ่ายโดยไม่รู้ตัว

หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ คาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนยมจินดา ที่ตั้งใจรักษาความเป็นระยอง
หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ คาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนยมจินดา ที่ตั้งใจรักษาความเป็นระยอง

ชั้นสองของคาเฟ่เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมหรือนิทรรศการหมุนเวียน โดยโจทย์คือต้องเกี่ยวข้องกับชุมชนหรือจังหวัดระยองเท่านั้น ในวันที่เราไปถึงคือโจทย์ ‘ทะเล’ ผลงานจากศิลปินชาวระยองจัดวางไว้อย่างเนืองแน่น ความตั้งใจของซันคือการช่วยรักษาความเป็นระยองและสนับสนุนศิลปิน โดยหลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ ไม่คิดค่าจัดแสดงหรือค่าเช่าแม้แต่บาทเดียว และรายได้จากการซื้อขายภาพหรือของเก่าที่ระลึก ก็จะเป็นของศิลปินหรือกลับสู่ชุมชน 

หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ คาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนยมจินดา ที่ตั้งใจรักษาความเป็นระยอง

เมื่อเราทักว่าเขาดูรักจังหวัดระยองมาก ซันยิ้มและตอบเกือบทันที

“ผมเกิดและโตที่นี่ก็จริง แต่เพราะได้มาทำคาเฟ่นี้จริงจังถึงได้รู้สึกอินมากขนาดนี้ พอไปสำรวจและศึกษา พบว่าที่นี่อาจจะเป็นตึกเดียวที่เก่าและยังสมบูรณ์ มันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก เวลาคนพูดถึงเมืองเก่า คนอาจจะคิดถึงอยุธยาหรือสงขลา ส่วนคนมาระยองเขาก็จะขับรถเลยไปเที่ยวเกาะ ผมอยากให้เขาได้แวะมาที่นี่ 

“ผมไม่ซีเรียสเลยถ้าจะมีร้านคาเฟ่หรือร้านอื่น ๆ เปิดขึ้นมาใกล้ ๆ หรือในย่านเดียวกัน ดีซะอีกที่เราจะได้มาช่วยกันทำให้ที่นี่มีชีวิตชีวา ตอนนี้ผมอยากทำให้เห็นว่าคาเฟ่ที่แอบอยู่ในย่านเมืองเก่ายังอยู่ได้เลย ถ้าหากในอนาคตย่านนี้เต็มไปด้วยร้านที่คนเดินเข้า-ออกได้ทั้งถนนก็คงจะดี”

ตึกใหญ่หลังนี้ซ่อนตัวอยู่ในถนนเล็ก ๆ และยังถูกล้อมไปด้วยบ้านเรือนจนแทบมองไม่เห็นจากภายนอก หากเป็นคนอื่นคงรู้สึกว่าถูกบดบังทัศนียภาพ แต่ซันกลับมองว่านี่คือความโชคดี เพราะทำให้คาเฟ่แห่งนี้แดดไม่ร้อน และเป็นการย้ำเตือนการอยู่ร่วมกับชุมชน

“แบบนี้มันสวยกว่าการอยู่แบบ Standalone อีกนะ ถึงแม้บางทีอาจจะเห็นข้างบ้านตากผ้าหรือออกมาเล่นโยคะบ้าง แต่นั่นก็มันอบอุ่นและรู้สึกถึงชุมชนมากกว่า”

หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ คาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนยมจินดา ที่ตั้งใจรักษาความเป็นระยอง

แพสชันที่มีต่อการส่งต่ออดีตไม่ใช่เพียงแค่ตัวตึกหรือการตกแต่ง แต่รวมไปถึงอาหารที่ซันดึงเอากลิ่นอายของเมืองเก่ามาทำเป็นเมนูต่าง ๆ ที่เราอยากพูดถึงคงไม่พ้น ‘Old Town Matcha’ เครื่องดื่มที่เล่าถึงอดีตของตึกแห่งนี้เมื่อครั้งหนึ่งเคยขายเครื่องเทศมาก่อน ออกมาเป็นมัทฉะที่ผสมกับเครื่องเทศ ทั้งขิง อบเชย และแอปเปิ้ล ที่มาช่วยรสชาติกลมกล่อม เมนูนี้ขอแนะนำให้กับผู้ที่ต้องการความสดชื่น แปลกใหม่ และอยากดื่มประวัติศาสตร์ของตึกกี่พ้ง

หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ คาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนยมจินดา ที่ตั้งใจรักษาความเป็นระยอง
Old Town Matcha

ยังอยู่ที่เมนูมัทฉะกับ ‘นิ่มนวลมัทฉะ’ ตั้งชื่อมาจาก ขนมนิ่มนวล ขนมท้องถิ่นของจังหวัดระยองซึ่งหาทานได้ยากในปัจจุบัน และคาแรกเตอร์ของขนมก็ถูกนำมาดัดแปลงเป็นเครื่องดื่มที่ประกอบไปด้วยมัทฉะ น้ำมะพร้าว ข้าวหอม ให้กลิ่นที่หอมฟุ้งไปทั่วปาก นิ่มนวลสมชื่อ ขอแนะนำให้กับผู้ชอบชื่นชอบกลิ่นหอมและอยากชิมขนมโบราณ

‘หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์’ ในตึกเก่า 109 ปีกลางเมืองระยอง ที่อยากผลักดัน Old Town และเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนยมจินดา
Old Town Matcha และ นิ่มนวลมัทฉะ 

“จริง ๆ คุณจะทานเครื่องดื่มหรือขนมพวกนี้ที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าคุณมาทานในตึกนี้ มันจะเพิ่มบรรยากาศ เพิ่มอารมณ์ร่วมและความขลังมากขึ้น ซึ่งในอนาคตที่เราพร้อมกว่านี้ ผมจะมีเมนูที่เพิ่มขึ้นมาอีก 30% และจะใส่ความเป็นระยองมากกว่าเดิม”

จังหวะนี้ซันหันมาใบ้กับเราว่า หนึ่งในเมนูที่ตั้งชื่อไว้คือ ‘กาแฟน้ำปลารสเด็ด’ โดยเขาขออุบไว้ก่อนว่าส่วนผสมคืออะไร คาดว่าปีหน้าเราคงจะได้รู้กันในวันที่ที่นี่เติบโตขึ้น

หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์ เปิดครั้งแรกเมื่อเดินสิงหาคม พ.ศ. 2565 ระยะเวลาผ่านไปเพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่กระแสตอบรับกลับดีเกินคาดหมาย ซันเชื่อว่าที่ทุกสิ่งออกมาดีเพราะเขาชอบทุกสิ่งที่ทำ

“มันไม่ใช่แค่เพื่อเงินหรือตามกระแส ผมชอบทุกอย่างที่อยู่ที่นี่ ที่สำคัญที่สุดคือ ผมมีความสุขที่ได้ทำ”

เราถามว่าความสุขที่ได้รับกลับมาคืออะไร

ซันเล่าว่าบนชั้นสองมีโต๊ะเขียนโปสการ์ดสำหรับใครที่แวะเวียนมา หลายข้อความเขียนขอบคุณที่ดูแลที่นี่ ดีใจที่ตึกนี้มีชีวิต อยากให้ตึกนี้อยู่ตลอดไป และมีหลายใบที่สันนิษฐานได้ว่าเป็นลายมือของเด็ก 

สิ่งนี้อาจเป็นเพียงตัวหนังสือ แต่สำหรับซัน นี่คือสิ่งมีค่าที่ย้ำเตือนว่าเขาและครอบครัวคิดถูกที่ตั้งใจรักษาที่นี่ไว้ให้ทุกคนได้กลับมาเยี่ยมเยียน ถึงแม้ยมจินดาจะยังเป็นย่านเมืองเก่าที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก นักท่องเที่ยวอาจไม่ได้เยอะเท่าที่อื่น แต่เมื่อมีคนเหยียบเข้ามาในร้านแล้วชี้ไปที่รูปเก่าของอาคาร แล้วบอกว่า “ฉันจำที่นี่ได้ ฉันเคยอยู่ตอนเด็กๆ” หรือ “เมื่อก่อนตึกนี้เป็นที่ตากยางกลิ่นเหม็น ไม่คิดเลยว่าจะเปลี่ยนไปขนาดนี้” นี่คือความภูมิใจของหลานเอกในตึกกี่พ้ง ซึ่งเราเชื่อว่าจะเติบโตไปพร้อมกับชุมชนยมจินดาตราบนานเท่านาน

‘หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์’ ในตึกเก่า 109 ปีกลางเมืองระยอง ที่อยากผลักดัน Old Town และเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อชุมชนยมจินดา

หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์

ที่ตั้ง : 131 ถนนชุมพล ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง (แผนที่)
เปิดบริการทุกวัน 09.00 – 18.00 น.
โทรศัพท์ : 06 4265 9699

Facebook : หลานเอก คอฟฟี่เฮาส์

Writer

Avatar

วรัมพร ศิริสวัสดิ์

Creative Video ที่จบภาพยนตร์ แต่อยากเขียนหนังสือ เป็นมือใหม่หัดวาด เก่งศาสตร์ฝันกลางวันและมีดวงจันทร์เป็นรอยสักกับนามปากกา

Photographer

Avatar

ชาคริสต์ เจือจ้อย

ช่างภาพอิสระและนักปั่นจักรยานฟิกเกียร์ ชอบสั่งกระเพราหมูสับเผ็ดน้อยหวานๆ