คุณเคยใช้เวลาไปกับการเพ่งมองผ้าสักผืนไหม

เราไม่ได้กำลังพูดถึงผ้าทอมือสุดวิจิตร แต่กำลังพูดถึงเสื้อยืด ถุงผ้า หรือแม้กระทั่งผ้าห่ม

แต่เรากำลังอยากให้คุณลองหยิบเสื้อขึ้นมาสักตัว แล้วลองร่วมจินตนาการว่าในอีก 10 หรือเพียงแค่ 5 ปีข้างหน้า เสื้อในมือคุณจะไปจบลงที่ตรงไหน ในถังขยะ บนพื้น ตู้เสื้อผ้า หรือมันจะถูกส่งต่อไปอยู่ในมือใครอีกสักคน

“ผมว่าผ้าผืนนี้อายุไม่ต่ำกว่า 50 ปีนะ อย่างม่านผืนนี้เป็นผ้ามาจากญี่ปุ่น” นิ-รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง เอ่ยปากเล่าเรื่องราวของผ้าม่านตรงหน้า ในบ้านของเขาที่กลายร่างเป็นสตูดิโอสำหรับสร้างสรรค์ผลงานเสื้อผ้าที่อวดโฉมอยู่บนหน้าโทรทัศน์ ตลอดจนเป็นเสื้อผ้าที่คนดังต่างเลือกสวมใส่ ไม่ว่าจะเป็นคนดังในประเทศ หรือไกลจนถึงต่างประเทศก็ตาม

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

‘La Rocca’ หรือชื่อเต็ม ‘La Rocca Royalgalleryproject’ เริ่มต้นโด่งดังจากการตัดเย็บเสื้อผ้าในสไตล์ Patchwork ด้วยการหยิบเอาผ้าแบดาน่า (Bandana) มาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน

แต่ไม่ใช่แค่นั้น นิยังมีมนตร์วิเศษที่เรียกว่าเข็มกับด้าย มาเสกคืนชีวิตให้กับกางเกงยีนส์ผ้าตายที่พร้อมขาดเสมอทุกครั้งที่สวมใส่ รวมถึงพร้อมคืนวิญญาณให้กับถุงผ้ารักษ์โลกที่หมดวาระการใช้งาน ด้วยการเนรมิตให้มันกลายร่างเป็นเสื้อเชิ้ตสีสันจัดจ้าน และสารพัดวิธีที่นิพร้อมงัดขึ้นมาฟื้นสไตล์ให้สารพัดของมือสอง

ที่เราต้องอ้าปากค้างเมื่อมันไม่ได้มีแค่ผ้าแบนดาน่า ยีนส์ ถุงผ้า และเสื้อเชิ้ตเก่า เท่านั้น แต่มันยังมีสิ่งที่คาดไม่ถึงอีกด้วย

แต่ก่อนที่นิจะพาเราไปรู้จักกับงานของเขา นิชี้ชวนให้เรามองม่านผืนหนึ่งที่อยู่ใกล้กันกับบริเวณโต๊ะทำงาน ผ้าม่านที่ดูจะคล้ายกับรวบรวมผ้าหลากหลายผืนผ้าเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งทันทีที่เรามองเห็นก็ชวนให้นึกถึงผลงานของนิที่มักจะเป็นงาน Patchwork

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

“ผมว่าอันนี้เมื่อก่อนมันต้องเป็นผ้าห่ม เราเองก็ไม่รู้ว่ามันใช้ไปทำอะไร แต่ผมว่าน่าจะเป็นผ้าห่ม” นิยังคงเล่าภาพที่เขาเห็นจากผ้าสีหม่นตรงหน้า ซึ่งถูกปะไปด้วยผ้าภายใต้โทนสีเดียวกัน จนยากจะระบุว่าอะไรคือสีตั้งต้นของม่านปริศนาผืนนี้กันแน่ “เราเคยไปต่างจังหวัด แล้วเห็นคุณยายที่ชุนผ้าที่ขาดแล้วด้วยตัวเอง แต่ด้วยลวดลายบนผ้าผืนนี้ ที่เป็นผ้ามือสอง เมื่อเรามองแล้วเราก็รู้สึกว่า เออ… มันสวยนะ และอยากรู้ว่าเขาทำยังไง”

นิบอกว่า เขาเชื่อว่ากว่าจะได้เป็นลวดลายเช่นนี้บนผืนผ้านั้นอาจใช้เวลานานกว่า 50 ปี กว่าผ้าผืนหนึ่งจะถูกใช้งานจนขาด จากนั้นจึงถูกส่งผ่านมืออันหลากหลาย จนมาหยุดอยู่ด้านหน้าหน้าต่างของนิเช่นนี้

“ผมมองว่ามันเป็นศิลปะชิ้นโบแดงมาก” เขายิ้มภูมิใจ

ม่านผืนเก่งถูกม้วนกลับขึ้นไปดังเดิม เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ นิ-รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง เปิดประตูต้อนรับพวกเราสู่โลก Patchwork ของเขาในวันนี้

เริ่มที่จตุจักร

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เด็กชายคนหนึ่งเคยเดินทางจากบ้านของเขาย่านบางซ่อนไปจตุจักร แวะกระโดดเล่นน้ำระหว่างทาง บ้างก็วิ่งเล่นในตลาดจตุจักรอันแสนคุ้นเคย ก่อนที่อีก 10 ปีข้างหน้าเด็กชายคนนั้นจะเติบโตมาเป็นพ่อค้าในห้องหมายเลข 155 ซอย 55/2 โครงการ  5

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของนิกับ La Rocca

“มันเริ่มต้นจากการขายเสื้อผ้ามือสองประมาณ 20 ปี เราขายมาตั้งแต่เรียนจบ ปวส. จากนั้นก็อิ่มตัว เลยมาลองทำกระเป๋าขายก่อน”

กระเป๋าใบแรกเกิดขึ้นจากความไม่ชอบความจำเจของนิ

เขาไม่ชอบอะไรที่มันเหมือนคนอื่น และอยากใช้อะไรที่มันมีแค่ชิ้นเดียว เขาจึงอยากทำอะไรที่มันมีชิ้นเดียวให้กับลูกค้าเช่นเดียวกัน กระเป๋าในตอนนั้นจึงทำมาจากเสื้อ กางเกง แจ็กเก็ต และเสื้อฮาวาย โดยไม่ได้เป็นลักษณะ Patchwork ดังเช่นตอนนี้ แต่คือการใช้เสื้อหนึ่งตัวมาทำเป็นกระเป๋า 1 ใบ ซึ่งทำให้นิเป็นที่รู้จักในหมู่ลูกค้าได้เป็นอย่างดี

ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้สวย จนกระทั่งเวลาผ่านไป

“จู่ๆ ก็ ติสต์แดก” นิว่า ก่อนเอ่ยเสริม “พอเย็บไปปีสองปีก็รู้สึกเบื่อ มันไม่มีช่างที่ตอบโจทย์เราได้อย่างเมื่อก่อน คนเริ่มทำกระเป๋าเยอะด้วย มีตัวเลือกเยอะ เราก็เลิกทำกระเป๋า มาทำเสื้อผ้าแทน”

ความคุ้นเคยและความเข้าใจในวัตถุดิบทำให้เขาตัดสินใจเลือกของที่ใช้แล้วมาแปลงร่างเป็นเสื้อผ้า ไม่ว่าจะเป็นเอากระเป๋ามาทำเป็นเสื้อ จากที่เมื่อก่อนเคยเอาเสื้อมาทำเป็นกระเป๋า เอาเสื้อด้วยกันเองมาแปลงร่างเป็นเสื้ออีกแบบหนึ่ง หรือแม้กระทั่งเอาถุงผ้ารักษ์โลกมาทำเป็นเสื้อและกางเกงก็ตาม

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะค้นหาผ้ามือสองซึ่งมีเพียงชิ้นเดียวแบบเดียวมาประกอบกันเป็นของใหม่ นิจึงเลือกทำเสื้อผ้าแบบที่มีชิ้นเดียวในโลก นั่นทำให้เขาตัดใจยากทุกครั้งที่มีคนมาขอซื้อผลงาน

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

ปะติด-ปะต่อ

เราถามนิว่าเสื้อผ้าหรือกางเกงตัวแรกที่ทำคือตัวไหน

ความน่ารักของผู้ชายน่าดุตรงหน้าคือการตอบอย่างไม่คิดว่า “เป็นกางเกงผู้หญิง… ตอนนั้นเอาเสื้อลายอินเดียนมาทำเป็นกางเกงขาสั้นให้แฟนใส่”

เราทำท่าจะแซว นิจึงรีบเสริมว่า “มันต้องเริ่มจากคนใกล้ตัวก่อน ให้ลูกน้องบ้าง แฟนบ้าง ลูกชายบ้าง คนใกล้ตัวมันจะชอบหรือไม่ชอบก็ต้องใส่ แล้วเราก็ต้องดู และพัฒนาไป”

เราถามนิว่าแฟนชอบไหม — นิจึงตอบอย่างภาคภูมิใจ

“ชอบ นี่เป็นจุดเริ่มต้นเลยก็ว่าได้”

นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ผลตอบรับจากคนใกล้ตัวกลายเป็นสิ่งที่ทำให้นิรู้สึกว่าเขาต้องขยายสิ่งนี้ออกมาให้มีลมหายใจอยู่ในวงกว้างขึ้น “ตอนนั้นลองทำสักห้าตัวสิบตัวไปขายกับกระเป๋า ผลตอบรับจากลูกค้าบอกเราว่าสิ่งนี้เริ่มไปได้”

ซับซ้อน ยุ่งยาก วุ่นวาย คือ นิยามของแบรนด์ La Rocca Royalgalleryproject

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

นิบอกว่า เขาไม่เคยรู้ว่าความสวยในงานจะไปหยุดอยู่ตรงไหน มีแค่ตัวเขาเองที่รู้ว่าถ้าต้องการให้ผ้าขาดเท่านี้ แปลว่ามันจะสวยในสายตาของเขา สุดท้ายนิก็ค่อยๆ ลองผิดลองถูก เริ่มต้นปะ ตัด และต่อ สารพัดของมือสองให้กลายมาเป็นผ้าผืนใหญ่อย่างที่ชอบ ก่อนจะส่งต่อให้ลุงกับป้าช่างเย็บคู่ใจไปแปลงร่างผ้าให้กลายเป็นเสื้อผ้าต่อไป

เสื้อผ้าเกือบทุกตัว นิจะมีช่างประจำเป็นคนตัดเย็บให้

แต่สำหรับผ้าผืนที่ใช้เป็นผ้าพื้นสำหรับตัดเย็บ จนถึงวันนี้ เขาจะยังคงเป็นคนชุนและปักด้วยตัวเองทุกผืน รวมถึงเป็นคนที่เลือกเอาวัตถุดิบมาใช้ด้วยตัวเอง ก่อนจะเอามาแจกจ่ายมอบหมายงานให้ช่างนำไปทำเป็นเสื้อหรือกางเกงต่อ แต่ยังไงก็ตาม ขั้นตอนการร้อยเรียงผ้าให้เป็นผืน เขาจะต้องเป็นคนทำด้วยตัวเองเสมอ

“เพราะไม่ไว้ใจคนอื่น” นิบอกแบบนั้น เขายืนยันว่าขั้นตอนทุกอย่างไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด แต่แค่ต้องการทำให้มันถูกใจเท่านั้นเอง

ถึงจะเย็บผ้าทุกวัน แต่นิบอกเราว่า เขาไม่เคยเรียนการตัดเย็บมาก่อนเลย นอกจากในวิชาการงานอาชีพเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าการเย็บผ้าไม่ใช่เรื่องยากหรือทุลักทุเล เพราะเขามองว่ามันจะไม่มีผิดหรือถูก ทุกการปะเกิดจากความถึงพอใจว่าต้องการแบบไหนตามความต้องการของตัวเอง

“จริงๆ เมื่อก่อนเคยรับจ้างปะผ้านะ”​ นิว่า ก่อนหยิบเอากางเกงยีนส์ตัวหนึ่งให้เราได้ดู

“อันนี้กางเกงตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ มันเป็นกางเกงที่ผ้ามันตายแล้ว คือผ้ามันขาดทุกทีที่เรามาใส่”

เขาพูดพร้อมฉีกกางเกงให้ดูอย่างที่ว่า

“ที่ชอบตัวนี้เพราะเวลาใส่ทุกครั้งมันจะขาดทุกครั้ง และเราได้ซ่อมมันทุกครั้ง คล้ายๆ กับย้อนไปเรื่องของผ้าม่านเลยใช่ไหมล่ะ”  

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

ให้ผ้านำทาง

นิจัดการกางม่านผืนเดิมลงมาอีกครั้ง ก่อนจะอธิบายให้เราฟังต่อว่าทำไมเขาจึงชื่นชอบการชุนผ้า และหลงรักการนำเอาของมือสองมาแปลงร่างเหลือเกิน

“ผ้าผืนนี้คือเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจ เราชอบเสื้อผ้าขาดๆ ที่มีการปะ มีการชุน เราจึงอยากทำดูในรูปแบบของเรา ลองหัดทำดู ซึ่งมันไม่ได้ใช้เวลานานมาก และเกิดเป็นแบบที่เราต้องการพอดี ซึ่งพอทำ ลูกค้าก็รอ และเราเองก็ขายได้หมด

“สเน่ห์ของผ้าผืนนี้ที่ทำให้รู้สึกว่าเราอยากทำให้ได้แบบนี้ คือการที่มันต้องอาศัยเวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี มันเกิดจากการที่คุณใช้งานจนมันขาด แล้วจึงค่อยๆ ปะและชุนมัน” นิเล่า

ผ้าผืนโปรดผืนนี้นิซื้อมาจากร้านของเพื่อนที่ญี่ปุ่นมาในราคาสองหมื่นกว่าบาท

ด้วยความหลงใหลในลายที่ดูมีมิติ และเกิดจากการตั้งคำถามว่าแต่ละรอยนั้นมันขาดเพราะอะไร จึงนับได้ว่าผ้าผืนหนึ่งสามารถบอกเล่าเรื่องราวให้เกิดขึ้นในหัวของนิได้มากมาย รวมถึงคอลเลกชันใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันนี้ นิจัดการนำผ้าจากของมือสองมาเรียงร้อยต่อกันเก็บไว้เป็นจำนวนหนึ่งร้อยถึงสองร้อยผืน แล้วจึงส่งให้ช่างประจำนำไปตัดเป็นเสื้อผ้า และไม่นานมานี้เขาได้นำมาทำเป็นรองเท้าเช่นกัน

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

แถมยังมีการข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำกับแบรนด์ญี่ปุ่นอีกด้วย

“เมื่อก่อนผมทำงานรีเมกกับคนญี่ปุ่น เมื่อก่อนเขาเองก็ใช้วัตถุดิบมือสองมารีเมก เราเองก็ใช้ตรงนั้นมาปรับเป็นตัวเรา อย่างตอนนั้นเขามีดีไซเนอร์มา และเราก็เป็นคนไปหาซื้อวัตถุดิบมาให้ช่างตัดเย็บ เราเจอกับทีมเขาตอนกำลังขายเสื้อผ้ามือสอง ทุกวันนี้ก็ยังคบกันอยู่นะ เขาเองก็มีธุรกิจในไทย”

ไม่ใช่แค่เจ้านายเก่าของนิเท่านั้นที่มีธุรกิจในไทย แต่ปัจจุบันแบรนด์ของนิก็ได้ไปวางที่ญี่ปุ่นเช่นกัน

“กระเป๋าก็ส่งไปที่ Journal Standard ถามว่าญี่ปุ่นชอบของเราไหม เขาก็ชอบ แต่ด้วยของเราที่ราคาแพง จริงๆ ก็เคยโดนดุมาเหมือนกัน แต่ผมบอกตัวเองเสมอว่าเราจะไม่ขายถูก เพราะเราจะไม่ดูถูกฝีมือตัวเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราขายถูก มันจะหมายความว่าเราดูถูกฝีมือของตัวเอง เพราะเรานั่งปะผ้า ใช้เวลากับมันนานมากกว่าจะได้ผ้าผืนหนึ่ง”

ฟีดแบ็กที่ได้รับมาคือ ผ้าของนิไม่ค่อยเหมือนของคนอื่น เนื่องจากมันเกิดจากผ้านับร้อยผืนที่สะสมความบังเอิญให้กลายมาเป็นเอกลักษณ์บนผ้าผืนใหม่ในที่สุด

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

นิหยิบผ้ายีนส์ที่กำลังรอวันที่จะได้เปลี่ยนสภาพเป็นเสื้อผ้ามาให้เราดู ก่อนลงมือเล่าถึงกระบวนการให้เราได้ฟัง

“ข้างล่างของผ้าผืนนี้มันคือลายที่เราต้องการ อาจจะมาจากชุดเดรสบ้าง กระเป๋าบ้าง แล้วแต่จะเลือก เราทำสต็อกผ้าไว้สองสามร้อยผืนแล้วค่อยคิดว่าจะทำอะไร แต่จะไม่ทำออกมาทีละเยอะๆ เช่น ทำกระเป๋าห้าใบสิบใบ พอแล้ว มันเป็นทั้งความต้องการของลูกค้าและความต้องการของเรา และมันจะกลับไปที่เราทำน้อย แล้วก็จะไม่ค่อยอยากขาย เพราะถ้าทำเยอะมันก็จะดูน่าเบื่อ”

“เราเทกมันเป็นงานศิลปะ ทำผ้าเก็บไว้สักสองสามร้อยผืนแล้วค่อยเอามาทำเป็นรองเท้าหน่อยหนึ่ง กางเกงอีกสักหน่อย จริงๆ โซฟาก็เคยทำขายไปแล้วนะ” นิกล่าว

เรื่องราวของโซฟากับนิเกิดขึ้นจากความบังเอิญ ตอนนั้นเขาทำและเอาไปวางที่หน้าร้านในจตุจักร บังเอิญว่ามีลูกค้าคนหนึ่งให้ความสนใจและถามราคาอย่างที่นิไม่ได้คิดว่าเขาจะซื้อ

“ปรากฏว่าเขาซื้อในราคาสองหมื่นห้า”

ช่างคู่ใจ

“ผมเป็นคนไม่มีระเบียบในตัวเอง วันนี้อยากทำอันนี้ก็ทำ พรุ่งนี้อยากทำกระเป๋าก็จะทำกระเป๋า ตอนนี้ทำเสื้อ กางเกง กระเป๋า รองเท้า หมวกไม่ค่อยเยอะ เพราะกางเกงตัวหนึ่งต้องใช้ผ้า 6 ผืน และเราไม่มีโรงงานเย็บกางเกงยีนส์ที่ตอบโจทย์ เรายังใช้ช่างลุงป้าน้าอาแถวๆ บ้านอยู่”

ตั้งแต่นาทีแรกที่เราได้คุยกัน นอกจากนิจะย้ำว่าตัวเองเป็นคนรักอิสระแล้ว อีกสิ่งที่เขาย้ำเสมอ คือการให้เครดิตกับช่างคู่ใจที่คอยคืนชีพให้ผ้าของเขาอยู่เสมอ หนึ่งในนั้นคือบุคคลในอินสตาแกรมที่เขารีบเปิดให้เราดู

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

“เคยเห็นยัง… คนนี้เหมือนเป็นนายแบบ เมื่อก่อนเขาไม่อินกับเรา แต่เดี๋ยวนี้พอทำเสร็จเขาจะขอลองใส่ทุกครั้ง  แล้วเราก็จะบอกเขาว่าเราเพิ่งซื้อโทรศัพท์ใหม่ เดี๋ยวจะถ่ายรูปให้ พอถ่ายทุกรูปก็ลงทุกรูป คนในไอจีก็ชอบทุกคน ส่วนเราก็รู้สึกว่าเขาคงภูมิใจกับสิ่งที่เขาทำในระดับหนึ่งแล้วถึงขอใส่ เวลาลงไอจีลูกค้าก็จะบอกว่า โอ้โห คุณพ่อเท่จังเลย”

จริงๆ แล้วบุคคลในรูปนั้นไม่ใช่พ่อของนิแต่อย่างใด แต่คือช่างตัดคู่ใจที่ชื่อว่า ลุงแก้ว  

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

“ลุงแก้วเป็นคนทำงานช้า ทำงานเยอะไม่ได้ เวลาที่เขาทำแต่ละชิ้นเขาจะประณีตมาก ถ้าลูกค้าได้ของไปมันจึงเป็นของดีแน่นอน”

ความสัมพันธ์ของลุงแก้วกับนินั้นเรียกได้ว่าอยู่ด้วยกันมานานนับสิบปี ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมามากมาย นิเล่าให้เราฟังว่า เขาและลุงแก้วนั้นเคยไม่คุยกันนานถึง 8 ปี

“ต่างคนต่างงอน ตอนนั้น” นิบอก ก่อนเล่าเรื่องราวในอดีต “แต่พอเวลาผ่านไปเราก็โตขึ้น เมื่อก่อนเราเกรี้ยวกราดมาก คือเราไม่เข้าใจเขา เราอยากได้งานเยอะๆ เพื่อให้ได้เงินเยอะๆ”

กาลเวลาที่ผันผ่านทำให้นิที่เคยอารมณ์ร้อนค่อยๆ ตกตะกอนความคิด สมัยก่อนนั้นเมื่อได้รายการสั่งซื้อจำนวนมากมาเขาจะรีบเร่งให้ลุงแก้วตัดให้ไวขึ้น แต่ลุงแก้วไม่สามารถทำให้ได้

“ตอนนั้นเราลืมไปว่าเขาแก่แล้ว เขาทำคนเดียว และทำงานประณีต ไม่ได้ทำงานลวกๆ เราจะคิดเอาแต่ใจเราไม่ได้”

สิ่งนี้ทำให้นิค่อยๆ นึกขึ้นได้ว่าสิ่งที่เขาต้องการคือการทำงานเพื่อคุณภาพ ไม่ใช่เพื่อจำนวน และเมื่อเติบโตขึ้น เขาจึงกลับไปขอโทษลุงแก้ว และได้ลุงแก้วกลับมาเป็นช่างคู่ใจอีกครั้ง

“ตอนนั้นที่ทำให้ร้าน BEAMS ผมทำเป็นกระเป๋า เพราะเสื้อผ้าทำยาก แบรนด์ทุกแบรนด์จะเป๊ะเรื่องสัดส่วนมาก ขนาดเป็นเพื่อนกันยังกำหนดละเอียดเลยว่าตรงนี้ 5 เซน ตรงนี้ 6 เซนติเมตร มันต้องทำให้ได้ จริงๆ เราอยากทำแบบนี้ แต่เราไม่สามารถคุมป้า ลุง ที่เรามีอยู่ได้ เขาเคยทำแบบไหนมาเขาจะทำแบบนั้น เขาเคยเย็บลูกโซ่กับกางเกง จู่ๆ มาให้เขาเย็บหมวกให้ เขาไม่ทำให้คุณหรอก

“ช่างที่อยู่กับผมทุกคน หลายๆ คนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจ เพราะผมวาดรูปไม่เป็น ไม่ได้เรียนด้านนี้มา ทุกอย่างเกิดขึ้นจากความชอบ เพราะฉะนั้น เวลาที่เราทำงานอะไรแบบหนึ่ง สิ่งที่มันอยู่ในหัวคือ เราจะทำยังไงให้เขาเข้าใจสิ่งที่เราคิดได้ เพราะเราวาดรูปไม่เป็น เพราะฉะนั้น มันจะต้องเกิดจากการที่เราอธิบายให้เขาฟังเยอะๆ แล้วเขาเข้าใจไปกับเรา”

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

ถึงแม้จะมีช่างคู่ใจ แต่นิก็ยังเลือกที่จะประกอบชิ้นผ้าเองอยู่ดี เพราะเขาเชื่อว่าในเมื่อทุกอย่างเริ่มต้นจากเขาแล้ว มันจะต้องจบที่เขาเช่นเดียวกัน เพราะเขาจะเป็นคนเดียวที่เข้าใจว่าอยากให้ชิ้นส่วนของผ้าอยู่ตรงไหน สีไหนจะอยู่ตรงไหน ทั้งหมดบีบบังคับให้นิต้องลองเริ่มเหยียบจักรด้วยตัวเอง แม้จะไม่เคยลองเหยียบมาก่อนก็ตาม

“คนเราอยากทำอะไรมันก็ต้องทำได้ เคยอยากทำอะไรแล้วอยากให้มันเสร็จมั้ย แต่ดันทำไม่เป็น เหมือนเวลาขับรถนั่นแหละ ยังไงเราก็ต้องขับรถ ถ้ามันเป็นของเรา มันจะชนก็ช่างมัน”

ทุกวันนี้นิก็ยังทำงานของเขาต่อไปเรื่อยๆ โดยมีแรงผลักดันคือการที่ลูกค้าจัดการคอนเฟิร์มอยู่ตลอดเวลา “อยากกลับไปอยู่กับมันทุกวัน ผมว่ามันสนุกดี” นิว่าพร้อมรอยยิ้ม

ถุงผ้า ผ้าเช็ดหน้า กระเป๋าเดินทาง และผ้าห่อศพ

“ตอนนี้มันเป็นเทรนด์นะที่ไม่ต้องการสัดส่วน ไม่ต้องการเป๊ะ ให้มันสั้นบ้างยาวบ้าง เพราะการรีเมกมันไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรมาควบคุม นอกจากความลงตัวและสวยงาม ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนที่ชอบงานแบบนี้คือไม่อยากแต่งตัวซ้ำใคร” นิยิ้ม เราก็ยิ้ม

ปัจจุบันนี้ นิบอกว่าที่หน้าร้านของเขาที่จตุจักร เสื้อรีเมกถูกขายไปแล้วสี่ร้อยหรือห้าร้อยตัว โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ขายได้เยอะมากเป็นพิเศษ จากสเน่ห์ที่เขามองว่ามันเป็นเพราะเสื้อผ้าแบบนี้จะไม่มีทางถูกสวมใส่ซ้ำกันเด็ดขาด

“ลูกค้าที่ชอบ บางคนก็บอกว่ามีเวลาให้เรา 2 วัน เขาจะไปต่างประเทศ เราทำให้ได้ไหม… คือถ้าคุยโอเค ผมก็ทำให้”

เอกลักษณ์ที่การันตีให้ลูกค้าเชื่อใจได้ว่า เมื่อเลือกซื้อเสื้อผ้าจากร้านของนิแล้ว มันจะไม่มีวันเหมือนและซ้ำใครเด็ดขาด โดยนอกจากผ้าเช็ดหน้า Bandana ที่สร้างภาพจำให้กับแบรนด์ของนิแล้ว ลายล่าสุดที่ทำมาจากถุงผ้าลดโลกร้อน ก็ยังเป็นสิ่งที่สร้างเสียงฮือฮาให้กับเขาเช่นกัน

เพราะมันเป็นเสื้อผ้าที่ทำมาจากถุงผ้าน่ะสิ!

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

“คนไม่ใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนมาใช้ถุงผ้า แต่คุณจะใช้ถุงผ้านานเท่าไหร่ล่ะ สองสามเดือนก็ไม่ใช่แล้วถูกมั้ย แต่มันจะไปอยู่ที่ไหน นอกจากนอนเฉยๆ ในตู้เสื้อผ้า ทุกๆ แบรนด์ต่างรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก แห่ผลิตมา 10 ล้านใบ ใช้เวลาเห่อกันสองสามเดือน สุดท้ายเราก็สร้างขยะให้โลกอยู่ดี

“คุณบอกว่ารักโลก ส่วนผมเริ่มทำงานนี้มาไม่กี่เดือน แต่น่าจะใช้ถุงผ้าแบบนี้มาประมาณ 60,000 หรือ 70,000 ใบแล้ว บางทีคนเยอรมันมาถามว่า คุณรู้มั้ยว่าถุงนี้เป็นถุงบิ๊กซี เป็นภาษาเยอรมัน เสื้อตัวหนึ่งผมจะใช้ผ้าทั้งหมด 2 ผืน ผืนหนึ่งประกอบด้วยถุงผ้า 25 ใบ ดังนั้น เสื้อ 1 ตัวจะประกอบไปด้วยถุงผ้าทั้งหมด 50 ใบ ปัจจุบันมันเป็นพื้นสีออฟไวท์อยู่ แต่ตอนนี้กำลังทำเป็นพื้นสี อีกสักเดือนหนึ่งคงได้เห็น”

เสื้อคอลเลกชัน ‘ไหนบอกว่ารักโลก’ ของนิ เป็นอีกตัวที่เราพบว่ามันเดินทางมาไกล

แน่นอนว่ามันมาจากทั่วทุกมุมโลก หากลองจับที่เสื้อตัวนั้นดูแล้ว คุณจะพบว่าทุกๆ ตารางเซนติเมตรของผ้าล้วนประกอบไปด้วยเรื่องราวที่ซ่อนไว้เสมอ มันอาจเป็นถุงที่เคยใส่ผลไม้เมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว หรือเด็กหญิงคนหนึ่งอาจเคยถือมันไปโรงเรียนในซีกโลกตะวันตกก็เป็นได้ นั่นคือสเน่ห์ของเสื้อผ้าทุกๆ ตัวที่นิทำ คือมันไม่ได้บอกเรื่องราวเพียงแค่ฝีจักรจากมือของลุงและป้า หรือไม่ได้บอกว่าเขากำลังคิดอะไรขณะลงมือทำเท่านั้น แต่มันยังบรรจุสารพัดเรื่องราวไว้แน่นเอี้ยดเสมอ

แต่ไม่ได้มีแค่ถุงผ้าเท่านั้น เพราะนิเดินเข้าไปในส่วนทีเก็บของของตัวเองที่หลังม่าน ก่อนจะกลับมาพร้อมถุงใบใหญ่

“นี่ แคนวาส ถุงทะเล ถุงนอน ที่ห่อศพสมัยสงครามโลก… ผมเอามาทำเสื้อ”

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

พวกเราแทบจะอ้าปากค้าง แล้วนิก็ลงมือเล่าต่อ “อันนี้ผมเอาไปให้ช่างคนหนึ่งทำ แต่เขาทำงานช้ามาก ชอบรับงานคนอื่นก่อน แต่ผมไม่ต้องคุยอะไรกับแกเลย แค่เอาของไปให้แก แล้วแกก็ทำเป็นเสื้อออกมาให้ได้ มันเกิดจากการคุยกันก่อน ตอนที่เขาได้ถุงพวกนี้มาเขาก็งงนะ แต่เราน่ะงงกว่าที่เขาทำออกมาเป็นสิ่งที่เราต้องการ”  

เรียกได้ว่าเต็มเปี่ยมไปด้วยสตอรี่จริงๆ

“เสื้อพวกนี้มันไปออกรายการบ้าง แต่ผมเลือกขายคนนะ ผมขายคนที่ใส่แล้วมันได้”

สู่ La Rocca Royalgalleryproject

La Rocca Royalgalleryproject มีจุดเริ่มต้นมาจากชื่อ Rude Gallery ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นชื่อร้านกระเป๋าของนิที่ไทย และในขณะเดียวกันก็เป็นชื่อร้านแบรนด์สตรีทของเพื่อนที่ญี่ปุ่นด้วย จนกระทั่งชื่อเสียงของร้านค่อยๆ เติบโตขึ้น เขาจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น La Rocca Royalgalleryproject ดังปัจจุบัน

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

“มีพี่ที่เคารพคนหนึ่ง เป็นคนชอบขายต้นไม้ ตอนนั้นร้านเขาชื่อ La Rocca ส่วนของผมชื่อ Rude Galleryproject เราก็เลยบิดจากคำ่ว่า Rude มาเป็น Royal โดยมีพี่เขาช่วยออกแบบโลโก้”

นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ La Rocca Royalgalleryproject ก็เติบโตและมีชื่อเสียงไปทั่วทั้งโลก ถึงขนาดที่ว่าไม่ใช่แค่คนดังชาวไทยเท่านั้นที่สวมใส่เสื้อผ้าของนิ แต่ยังรวมถึงไอดอลวง Winner แห่งค่าย YG จากเกาหลีใต้ ก็เลือกเสื้อของนิไปใส่ด้วยเช่นกัน จากการที่มีเอเจนซี่เลือกเสื้อของเขาไปวางขายที่เกาหลี

ถึงอย่างนั้นนิก็ยังยืนยันกับเราว่าเขาไม่ใช่มืออาชีพ นิไม่สามารถมอบแคตตาล็อกให้ลูกค้าได้ เพราะเขาเลือกที่จะดำเนินไปบนทางที่นิเรียกว่า ‘บ้านๆ’ แต่ยังรักษาความเป็นตัวตนไว้

“ชาวต่างชาติส่งข้อความมาขอซื้อมากนะ แต่ผมไม่ค่อยขาย ผมเลือกคนไทย เพราะเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสทำกระเป๋า แล้วก็ฮิตในคนไทย ตอนนั้นเพื่อนเอาของผมไปขายที่ญี่ปุ่น ผลตอบรับดีมาก เพราะในบ้านเราคนทำน้อยมาก ระหว่างนั้นเองก็มีลูกค้าที่กำลังสนใจเราในไทยเหมือนกัน ตอนนั้นเราได้ข้อเสนอว่าต้องทำให้ทัน เราก็เลือกทำที่ญี่ปุ่น พอทำได้สักปีสองปี ปรากฏลูกค้าคนไทยหายหมด เราไม่สามารถทำให้ทั้งญี่ปุ่นที่ต้องผลิตจำนวนมาก ไปพร้อมๆ กันกับผลิตให้คนไทยที่ซื้อปลีกได้ การซื้อปลีกนั้นหมายความว่าแบบมันต้องอัพเดตเรื่อยๆ แต่เราไม่ได้อัพเดตเลย เราเอาเวลาทั้งหมดไปขายส่งให้ญี่ปุ่น 500 ใบ พอกลับมาไทยคนไทยหายหมดเลย นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เรากลับมาทำเสื้อผ้า

“ในวันนี้มันก็เหมือนตอนนั้นที่ทำกระเป๋าเลย แต่เราเลือกไม่เหมือนกันแล้ว ลูกค้าจะให้เราขายส่ง แต่วันนี้เราเลือกทำให้คนไทย เพราะหากวันนี้เราทิ้งเขาอีก เราอาจเจอปัญหาเหมือนครั้งที่แล้ว แต่ถ้าทำคู่กันได้ มันก็โอเค” นิเล่า

ปัจจุบัน เสื้อผ้าของนิมีการไปวางขายที่ Upperground ในห้างเซนทรัลเวิลด์ด้วยเหตุผลที่ว่าอยากเปิดโลกกว้างให้แบรนด์เป็นที่รู้จักกว้างขึ้น และยังมีเอเจนซี่จากหลากประเทศที่ซื้อไปวางขายในประเทศของตน แต่บางทีเขาก็เจอลูกค้าต่างประเทศมาถามว่าจะต้องจ่ายเงินระบบไหนบ้าง

“วุ่นวาย” เขาบอก “แต่ถ้าเขาอยากซื้อจริงๆ บางทีเขาก็บินมาซื้อเช้าเย็น” นิหัวเราะ

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

วันนี้แบรนด์ของนิเติบโตไปจนมีลมหายใจอยู่แทบจะทั่วทั้งโลก แต่เขาก็ยังเลือกที่จะไม่ทิ้งช่างที่อยู่เคียงข้างเขามาเสมอ สิ่งหนึ่งที่นิบอกเรามาตลอด คือเขาจะไม่คิดราคาเสื้อผ้าที่ดูถูกตัวเอง และในขณะเดียวกัน เขาจะไม่มีทางกดราคาช่างเช่นเดียวกัน

“ปัจจุบันผมไม่คิดว่าจะพาแบรนด์ไปถึงจุดไหน ตอนนี้ผมยังห่วง ยังไม่ไว้ใจใคร บางทีคอลเลกชันหนึ่งเราทำออกมาสัก 50ตัว มันก็ไม่สนุก มันอิ่มแล้ว แต่ถ้าอีก 4 เดือนกลับมาอีกทีมันก็จะยังขายได้”

นิบอกว่า เขาไม่เคยวางแผนว่าจะต้องทำอะไรก่อนและทำอะไรจึงจะดัง เขาบอกว่า บางทีเขาก็อยากจะเริ่มวางแผนบ้างเหมือนกัน แต่ตอนนี้เขายังคิดว่าอยากทำอะไรก็จะทำอยู่เหมือนเดิม และมันทำให้เขามีความสุขในทุกวัน

นิยังยืนยันว่า เขาจะไม่เรียกตัวเองว่าดีไซเนอร์เด็ดขาด แต่เขาจะเรียกตัวเองว่าผู้ผลิตหรือเมกเกอร์ เพราะเขาไม่ใช่แฟชั่นนิสต้าที่ต้องการทำให้แบรนด์โด่งดังขนาดนั้น แม้ตลอดเวลาสองสามเดือนมานี้เขาจะมีความคิดว่าอยากทำงานให้เป็นมืออาชีพมากกว่านี้อยู่บ้างเหมือนกัน

“คนที่เก่งกว่าผมคือช่าง ผมว่าบางทีดีไซเนอร์บางคนก็กำลังลืมเบื้องหลัง” นิบอก ก่อนจะยื่นเสื้อที่ทำจากถุงทะเลให้พวกเราได้ลองสวมใส่

นิบอกว่า งานของเขาจะมีสีสันจัดจ้างแอบแฝงอยู่เสมอ เขายังไม่หยุดทำงานตามใจตัวเอง และยังคงผลิตในจำนวนน้อย ไม่มีกฎระเบียบดังเดิม

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

“วันนี้อยากออกเสื้อ 5 ตัว ทำแล้วลูกค้าชอบก็ไม่ขาย ถ้าลูกค้าชอบ สั่งซื้อ วันนี้ผมไม่ทำ อีก 2 เดือนค่อยมาทำ ถ้าเขายังรอก็แปลว่าเขาชอบ” นิเล่าพร้อมรอยยิ้ม

“เสื้อผ้ามันมีสตอรี่ ผมถึงได้อยู่กับมัน บางทีก็ยังไม่อยากขาย”  

จากกางเกงตัวแรกที่ตัดให้ภรรยาได้สวมใส่ ปัจจุบันเสื้อผ้าของนิเติบโตจนไปวางอยู่ในมุมต่างๆ ของโลก แต่เขาก็ยังไม่หยุดขายของที่จตุจักรอยู่ดี

“จตุจักรเป็นเหมือนแหล่งกำเนิดของคนต้นคิด” นิบอกแบบนั้น

หวนให้เราได้นึกภาพว่าหากเด็กชายตัวเล็กๆ ที่เคยวิ่งเล่นในจตุจักร ได้พบเจอกับเขาที่เป็นเจ้าของแบรนด์สตรีท ‘ฮาร์ทเมด’ ชื่อดังคนนี้ เด็กคนนั้นจะทำอย่างไร

บางทีเด็กคนนั้นอาจจะกำลังมองเขาด้วยสายตาที่สะท้อนความตื่นเต้น — ใครจะไปคิดกันล่ะว่าวันหนึ่งนิที่เคยเป็นพ่อค้าเสื้อผ้ามือสอง จะกลายมาเป็นเจ้าของแบรนด์ที่มีชื่อเสียงข้ามประเทศได้ขนาดนี้

และที่สำคัญคือ เขาไม่เคยลืมว่าใครอยู่เบื้องหลังทุกความสำเร็จ

นั่นคือสิ่งที่นิย้ำให้เราฟังเสมอ ก่อนที่เขาจะเอ่ยบอกคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเริ่มอะไรสักอย่าง เป็นการปิดท้าย

“จริงจัง ทุ่มเทกับสิ่งที่ทำ และทำแม่งเข้าไปเหอะ ทำไปเยอะๆ สวยไม่สวยมันก็ต้องทำ”

เขากล่าวจริงจังด้วยน้ำเสียงที่แฝงไปด้วยความสุข เหมือนดังเช่นชั่วโมงแรกที่เราได้คุยกันอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

La Rocca Royalgalleryproject

Facebook : La Rocca Royalgalleryproject
Instagram : larocca_studio

La Rocca, นิ รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง

Writer

Avatar

ฐาปนี ทรัพยสาร

อดีตนักเรียนหนังสือพิมพ์ที่ก้าวเข้าสู่วงการประชาสัมพันธ์ ผู้เชื่อมั่นว่าตัวอักษรสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ หลงใหลในวัฒนธรรมและมนุษย์

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ