25 กุมภาพันธ์ 2022
4 K

‘La Mitra’ เป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าให้วัตถุดิบเหลือใช้ ในขณะเดียวกันก็สร้างรายได้ให้ชุมชน ไปพร้อม ๆ กับการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น มีสินค้าชูโรงคือ กระเป๋าหนังที่พิเศษทั้งการออกแบบ การใช้งาน และเรื่องราวเบื้องหลัง

“สิ่งที่เขาสะพายอยู่ ไม่ใช่แค่ความสวยงาม มันมีอะไรมากกว่านั้น” – เธอเปรยจนเราอยากชวนคุณค้นหาสิ่งที่ว่า

จูจู้-เกวลี วู สาวเจ้าของแบรนด์และเพื่อนคู่คิดของเธอบอกว่า La Mitra มาจากคำว่า ‘มิตรภาพ’ และ ‘เมตตา’, นี่จึงเป็นแนวคิดหลักของแบรนด์ที่ให้ความเป็นมิตรกับ 3 สิ่งสำคัญ คือ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และธรรมชาติ 

La Mitra กระเป๋าหนัง Upcycle จากงานปักฝีมือพี่น้องชาติพันธุ์ ดอยผาหมี จ.เชียงราย

ความเป็นมิตรนี้เริ่มต้นมาจากจูจู้ เธอเป็นจิตอาสา ณ ดอยผาหมี จังหวัดเชียงราย จูจู้ไปเห็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสัมผัสกับผู้คนที่นั่น สิ่งที่ติดอยู่ในใจแม้จะกลับมาแล้วคือการที่เธอไปเจอหญิงชาวม้งและชาวอาข่า พวกเขาทุ่มแรงกายแรงใจในการปักผ้าอย่างพิถีพิถัน เธอว่างานหนึ่งชิ้นใช้เวลา 14 วัน แต่พวกเขากลับได้ค่าตอบแทนเพียงหลักสิบปลาย ๆ จนถึงหลักร้อยต้น ๆ หญิงสาวเก็บความตั้งใจนั้นไว้ เธอไปศึกษาต่อที่เซี่ยงไฮ้ พร้อมกลับมาสร้างโอกาสในการทำงานให้กับชาวม้งและชาวอาข่า และมอบรายได้ที่เป็นธรรมมากกว่าปกติถึง 5 เท่า เพื่อให้พวกเขาเกิดความภูมิใจในตัวเอง

ในทุกกระบวนการผลิต La Mitra เลือกใช้วัตถุดิบออร์แกนิกและเป็นมิตรกับทุกฝ่ายอยู่เสมอ ทั้งการใช้หนัง Upcycle สีจากธรรมชาติ และการบำบัดน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำใสหลังจบจากการฟอกหนัง และยังเป็นมิตรแม้กระทั่งกับการตลาด ทางแบรนด์เลือกใช้วิธีโปรโมตที่จริงใจและยั่งยืน ยอดจากการยิงโฆษณาไม่ใช่สิ่งแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญ แต่อาศัยความเชื่อใจของลูกค้าที่เชื่อเรื่องเดียวกับสิ่งที่แบรนด์กำลังทำ และการไปออกรายการ Shark Tank ก็เป็นหนึ่งในวิธีทำการตลาดเช่นกัน

ตลอด 2 ปีของแบรนด์กระเป๋าใบนี้ นับเป็นความตั้งใจของหญิงสาวยุคใหม่ที่อยากสนับสนุนช่างฝีมือท้องถิ่นและสืบสานภูมิปัญญา ไปพร้อม ๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อม La Mitra จึงเกิดขึ้น และหยิบยื่นความเป็นมิตรอย่างต่อเนื่องและต่อไป

La Mitra กระเป๋าหนัง Upcycle จากงานปักฝีมือพี่น้องชาติพันธุ์ ดอยผาหมี จ.เชียงราย

ที่ไปของเมตตา ที่มาของมิตรภาพ

La Mitra คงจะไม่เกิด ถ้าหากว่าเธอไม่ไปเรียน Fashion Design กับ Marketing ที่เซี่ยงไฮ้

จูจู้เผยจุดเริ่มต้นแรก จุดที่ทำให้รู้จักความชอบด้านนี้ เธอย้อนกลับไปสมัยที่เป็นล่ามอาสาของหน่วยงาน International Medical Relief ที่จังหวัดเชียงราย ที่นั่นทำให้เธอได้เจอกับชาวอาข่าพร้อมฝีมือการปักผ้าที่หาจากไหนไม่ได้ แต่ลายผ้าที่เต็มไปด้วยความวิจิตรบรรจงนั้น กลับถูกกดราคาไว้เหลือเพียงแค่หลักสิบ-หลักร้อย จูจู้มองเห็นและสนใจถึงปัญหาตรงนั้น หลังจากกลับมาจากการเป็นจิตอาสาและทำงานอีกสักพัก สิ่งนี้ยังคงติดอยู่ในใจ เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปเรียน Fashion Design ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

การไปเรียนครั้งนั้นให้มากกว่าศาสตร์การออกแบบ จูจู้เล่าว่าอาจารย์สอนวิธีคิด กระบวนการออกแบบที่มากกว่าแค่ออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่เป็นการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาจากเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ซึ่ง La Mitra เล็งเห็น 3 ปัญหาหลักและอยากนำมาพัฒนาให้ดีขึ้น ปัญหาแรกคือวัตถุดิบเหลือใช้จากอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ถูกปล่อยทิ้งกลายเป็นขยะมหาศาล สองคือมูลค่าของภูมิปัญญาและงานฝีมือของชาวบ้านถูกกดราคา และสามคือการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไม่ให้เลือนหายไปกับคนรุ่นเก่า 

“เราคงเปลี่ยนอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราทำให้มันดีขึ้นได้ และในอนาคตมันจะกลายเป็น Bigger Impact” 

La Mitra กระเป๋าหนัง Upcycle จากงานปักฝีมือพี่น้องชาติพันธุ์ ดอยผาหมี จ.เชียงราย

La Mitra

หลังจบหลักสูตร ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ จูจู้เดินทางไปที่ดอยผาหมี จังหวัดเชียงรายอีกครั้ง 

ในครั้งนี้เธอไปเพื่อจะสนองความตั้งใจแรกให้เป็นจริง นั่นคือการสนับสนุนชาวบ้านบนดอยผาหมีในหลาย ๆ หมู่บ้าน 

“เราอยากไปเรียนรู้และเข้าใจความเป็นอยู่ของเขา ไปเรียนรู้ว่าเขาหากินกันยังไง อาหารของเขาคืออะไร แล้วงานฝีมือของเขายากง่ายขนาดไหน ซึ่งการเข้าไปของเรา เราไม่ต้องการเข้าไปปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเขา แต่อยากเพิ่มโอกาสให้เขา

“การเข้าไปสร้างงานให้เขาจะทำให้เขามีรายได้ที่ยั่งยืน ไม่จำเป็นต้องเข้าเมืองเพื่อมาเป็นแรงงาน ที่สำคัญ มันอาจจุดประกายให้คนรุ่นใหม่อยู่บ้านมากขึ้น และภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษของพวกเขาก็จะยังคงอยู่ด้วย” จูจู้เล่าจุดประสงค์

จากการสำรวจพื้นที่ เธอแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังว่า คนท้องถิ่นบนดอยผาหมีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเชิงเกษตรกรรม ทั้งปลูกข้าว ปลูกชา และปลูกกาแฟ รวมถึงงานฝีมือเย็บปักถักร้อย ซึ่งเธอก็ถูกอกถูกใจกับงานปักผ้าของสาวชาวม้งและชาวอาข่า จึงเลือกหัตถกรรมที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นมาเป็นส่วนหนึ่งของ La Mitra, จูจู้ใช้งานปักผ้ามาประกอบกับสายสะพายของกระเป๋าหนัง

สายกระเป๋าของ La Mitra ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ใครเหมือนเส้นนี้ มาจากฝีมือและภูมิปัญญาของชาวม้งและชาวอาข่า โดยการปักของพี่น้องทั้งสองชาติพันธุ์ต่างกันที่จุดประสงค์ เนื้อผ้า และลวดลาย ชาวม้งปักผ้าเพื่อนำมาตกแต่งเสื้อผ้า เลยใช้ผ้าที่มีรูใหญ่ ปักลวดลายเล่าเรื่องราววิถีชีวิตด้วยเส้นด้ายหลากสีสัน ผสานกับลวดลายที่เกิดจากสิ่งรอบตัว เช่น ลายก๊ากื้อ (ก้นหอย) ลายปั้นโต๊วโต่ว (ฝักถั่ว) ลายปั้นโต๊วจี่ (ไม้กางเขน) ส่วนผ้ารูเล็กที่ปักเพื่อตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า ปักด้วยฝีเข็มเน้น งานละเอียดเนี้ยบ เล่าเรื่องราวรอบตัวผ่านผืนผ้า เช่น ลายอาปะ (ใบไม้) ลายโจวพะ (ดอกหญ้า) และลายอาลูละโอ (ลิ้นผีเสื้อ) เป็นเสน่ห์ที่ยากจะเลียนแบบของชาวอาข่า

La Mitra กระเป๋าหนัง Upcycle จากงานปักฝีมือพี่น้องชาติพันธุ์ ดอยผาหมี จ.เชียงราย

แค่ได้ฟังชื่อลายก็สนุกแล้ว เราจึงอยากรู้ว่าแบรนด์เลือกใช้ลายดั้งเดิมหรือปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัยมากขึ้น 

“เราเอาสิ่งที่เขามีอยู่แล้วมาปรับเปลี่ยน และออกแบบแพตเทิร์นของแบรนด์ให้เขาด้วย ซึ่งเขายินดีจะพัฒนางานร่วมกันกับเรา แต่ส่วนใหญ่เขาจะปักลวดลายของเขา เพราะมันบ่งบอกเรื่องราวของเขาบนเสื้อผ้า” ทุกฝีเข็มจึงเต็มไปด้วยลายปักที่มีชีวิต

เมื่อได้สายกระเป๋าแล้ว ถัดไปเป็นส่วนกระเป๋า ยังคงไว้ซึ่งคอนเซ็ปต์เดิมของ La Mitra คือการไม่สร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม เธอจึงเลือกหนังที่เป็น Surplus ของโรงงานครอบครัวมาทำกระเป๋า เจ้าหนัง Surplus ที่ว่าก็คือ หนังที่โรงงานผลิตเกินกว่าจำนวนที่ลูกค้าต้องการ 2 เปอร์เซ็นต์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผิดพลาด ส่วนมากถ้าไม่ได้ใช้ หนังเหล่านี้จะกลายเป็นขยะ นำมาทำกระเป๋าหนังได้ 20,000 ใบต่อปี ถ้านำมากางจะเท่ากับสนามฟุตบอล 13 สนาม จูจู้รู้และเข้าใจสิ่งนี้ดี เพราะเธอเป็นลูกสาวโรงงานฟอกหนัง

“เราเอาหนังมา Upcycle ค่ะ เอาสต็อกพวกนี้มาทำให้มันมีชีวิตที่ 2”  หนังส่วนเกินทั้งหมดจึงได้รับการนำมาเพิ่มมูลค่าที่โรงฟอกหนังของครอบครัวที่เปิดมานานกว่า 30 ปีในจังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นนำหนังเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนสี ด้วยการพ่นสีธรรมชาติแต่ยังคงไว้ซึ่งโทนสีเดียวกันจากของเดิม พ่นทั้งหมด 2 รอบ แล้วนำไปฉายแสงยูวีให้สีซึมเข้าไปในตัวหนังเพื่อเพิ่มความติดทน

La Mitra กระเป๋าหนัง Upcycle จากงานปักฝีมือพี่น้องชาติพันธุ์ ดอยผาหมี จ.เชียงราย

และเข้าสู่กระบวนการสุดท้าย คือการตัดเย็บจากช่างฝีมือที่เข้าใจและสนับสนุนในสิ่งเดียวกันกับแบรนด์

ส่วนการออกแบบ La Mitra อยากสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น ไปพร้อม ๆ กับการก่อขยะให้น้อยที่สุด จึงออกมาเป็น Mycelia Bag กระเป๋า 1 ใบที่ปรับเปลี่ยนการใช้งานให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ได้ถึง 5 แบบ เป็นได้ทั้งกระเป๋าสะพายข้าง กระเป๋าคลัทช์ กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพายไหล่ กระเป๋าเป้ ตอบโจทย์ครบจบทุกไลฟ์สไตล์ในใบเดียว ซึ่งเหตุผลของการออกแบบให้สะพายได้หลากหลายก็น่ารักเข้าที จูจู้บอกว่าเธอกำลังแก้ปัญหาให้สาว ๆ ที่ต้องมีกระเป๋าหลายใบ เลยออกแบบให้ใบเดียวตอบโจทย์ พลิกแพลงได้ทุกโอกาส

เธอกระซิบว่า กว่าจะออกมาเป็นกระเป๋าที่มีฟังก์ชันสุดคุ้มขนาดนี้ ต้องขึ้น Prototype ไปกว่า 5 ครั้ง!

กระเป๋าหนังจากคนรุ่นใหม่ที่คำนึงถึงผู้ผลิต ผู้บริโภค ธรรมชาติ และขยายโอกาสจากเมืองกรุงถึงดอยผาหมี

คุณค่าของความเป็นมิตร

เรื่องราวทั้งหมดผ่านน้ำเสียงของจูจู้ที่เล่าถึงเบื้องหลังกระเป๋าใบนี้ ตั้งแต่คลุกคลี ทำความรู้จักกับชาวบ้านสุดเขตชายแดนบนดอยผาหมี การไม่หยุดค้นหาวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราคิดว่าต้องมีบางอย่างที่ทำให้เธอสนุกกับการทำสิ่งนี้เป็นแน่ 

“ความสนุกของเรา คือการได้ไปท่องเที่ยว ไปเจอชาวบ้าน ได้คิดกระบวนการออกแบบที่ช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน มันมีความสุขนะคะ เพราะว่ามันมาจากแพสชันของเรา แล้วเราก็ได้เห็นว่าชุมชนผู้หญิงที่ดอยผาหมีเขามีงาน มีรายได้มากขึ้น ถือเป็นความสุขเล็ก ๆ ของเราและแบรนด์เหมือนกัน แต่คิดว่าชุมชนเดียวยังไม่พอ เราอยากพัฒนาให้ได้อีกหลาย ๆ ชุมชน”

La Mitra ให้ความสำคัญกับเรื่องแฟชั่นยั่งยืน จูจู้มองว่าปัญหาการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ควรเป็นสิ่งพื้นฐานที่บริษัทหรือแบรนด์ต้องคำนึงถึง ไม่ใช่เฉพาะสิ่งแวดล้อม แต่รวมไปถึงความเป็นอยู่ของคนต้นน้ำด้วยด้วย ตั้งแต่ช่างฝีมือที่ผลิตกระเป๋า ผลิตเสื้อผ้า เพราะอุตสาหกรรมแฟชั่นส่วนใหญ่ ส่งผลเสียเป็นวงกว้างในกระบวนการผลิต เช่น ผู้ผลิตต้องการผลิตสินค้าให้มีราคาถูก ด้วยมีการแข่งขันสูงและต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย จึงต้องลดต้นทุนในการผลิต เลือกใช้วัตถุดิบหรือว่าใช้เคมีถูก ๆ กับโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งกดราคาแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับแบรนด์ที่เป็นมิตรและเมตตาอย่าง La Mitra

“โปรดักต์ทุก ๆ ชิ้นไม่ได้เป็นแค่กระเป๋าใบเดียว แต่สายทุกเส้น ทุกฝีเข็มมันมีเรื่องราว มีความรู้สึก แล้วก็มีความใส่ใจอยู่ในทุกฝีเข็มที่เขาปัก เราเชื่อว่าลูกค้าไม่ได้ซื้อแค่กระเป๋า แต่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แล้วก็มีรายได้เพียงพอที่เขาเอาไปเลี้ยงดูครอบครัวได้ ที่สำคัญ เราได้ซัพพอร์ตผู้หญิงด้วยกัน” นี่คือกระเป๋าเพียงหนึ่งใบที่ส่งต่อสิ่งดี ๆ ซึ่งกันและกัน

กระเป๋าหนังจากคนรุ่นใหม่ที่คำนึงถึงผู้ผลิต ผู้บริโภค ธรรมชาติ และขยายโอกาสจากเมืองกรุงถึงดอยผาหมี

มิตรภาพ + เมตตา

มิตรภาพและความเมตตา ทั้งต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และธรรมชาติ ของ La Mitra เป็นความตั้งใจดีที่สร้างผลลัพธ์ในระยะยาว การเพิ่มโอกาสในการสร้างงานให้กับชุมชนดอยผาหมี จังหวัดเชียงราย แบรนด์ต้องการให้ภูมิปัญญาชาวบ้านขยายเพิ่มมากขึ้น ต่อยอดได้มากขึ้น ให้มีความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านและทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

La Mitra จึงเปิดโอกาสให้ชาวบ้านแสดงฝีมือผ่านผลงานอย่างเต็มที่ แลกกับค่าแรงที่เป็นธรรม ในแง่ของผู้บริโภค ทางแบรนด์เลือกใช้องค์ประกอบของกระเป๋าที่เป็นมิตรต่อผิวหนัง เช่น หนังคุณภาพดี ย้อมสีธรรมชาติและสมุนไพร จึงมั่นใจได้ว่าขณะสะพายจะไม่รู้สึกระคายเคืองต่อผิวแม้เล็กน้อยอย่างแน่นอน และยังเลือกใช้เคมีที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทุกวัตถุดิบถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่จนถึงกระบวนการสุดท้าย หรือแม้แต่ทำให้วัตถุดิบเหล่านั้นได้มีชีวิตที่ 2 เช่น ถุงใส่กระเป๋าให้ลูกค้า เป็นถุงที่มาจากการรีไซเคิลขวด PET หากเป็นกล่องบรรจุภัณฑ์ ก็เป็นกล่องคราฟต์ที่รีไซเคิลมาจากกล่องกระดาษอีกที และมีการบำบัดน้ำเสียจากการฟอกหนังจนใสสะอาด จนดื่มและนำไปเลี้ยงสัตว์ต่อได้ นี่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า นี่คือแบรนด์เป็นมิตรต่อต้นน้ำและปลายน้ำจริง ๆ 

กระเป๋าหนังจากคนรุ่นใหม่ที่คำนึงถึงผู้ผลิต ผู้บริโภค ธรรมชาติ และขยายโอกาสจากเมืองกรุงถึงดอยผาหมี
กระเป๋าหนังจากคนรุ่นใหม่ที่คำนึงถึงผู้ผลิต ผู้บริโภค ธรรมชาติ และขยายโอกาสจากเมืองกรุงถึงดอยผาหมี

ถึงมิตร จาก La Mitra

ความตั้งใจแรก ความตั้งใจหลัก แต่ไม่ใช่ความตั้งใจสุดท้ายของแบรนด์ คือ 

“เราอยากให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนของประเทศไทยได้ไปต่างประเทศ” จูจู้เล่าว่าชุมชนดอยผาหมีเป็นการเริ่มต้น La Mitra ของเธออยากกระจายการพัฒนาไปในหลาย ๆ ชุมชน แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นก็ต้องเพิ่มยอดขายให้มากขึ้นก่อน ทางแบรนด์ตั้งใจจะตีตลาดที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เพราะจูจู้เชื่อว่าถ้าพาคราฟต์ประเทศไทยไปไกลถึงต่างประเทศได้แล้ว คนไทยก็จะหันมาสนใจมากขึ้น 

“เราคิดว่าประเทศไทยมีทรัพยากรงานคราฟต์เยอะมาก เยอะกว่าหลาย ๆ ประเทศ แล้วเราคิดว่ามันไปได้ทั่วโลก แต่คนไทยต้องให้คุณค่า ให้ราคากับมันมากขึ้นก่อน คนรุ่นใหม่จะได้เห็นคุณค่า แล้วก็เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ เขาถึงอยากจะกลับไปพัฒนา” สายกระเป๋าฝีมือพี่น้องชาวม้งและชาวอาข่าแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า เมืองไทยคือแหล่งขุมทรัพย์ของงานคราฟต์อย่างแท้จริง

สำหรับคอลเลกชันใหม่ La Mitra เตรียมอวดโฉมกระเป๋าใส่โทรศัพท์ พิเศษตรงที่ลายโลโก้แบรนด์จะอยู่บนตัวกระเป๋า ขยับขยายพื้นที่ลายปักบนสายกระเป๋ามาสู่ตัวกระเป๋า และปีหน้าเธอตั้งใจนำเศษหนังที่เหลือจากการทำกระเป๋ามาอัดพื้นรองเท้าและทำเป็นรองเท้าคู่เก๋ เพราะไม่ใช่แค่อยากให้ Waste มี Second Life แต่ต้องการให้ขยะทั้งหมดเหล่านั้นกลายเป็น Zero Waste 

การเกิดขึ้นของ La Mitra เปรียบเสมือนการเดินทางเพื่อเรียนรู้และค้นหาพัฒนาสิ่งใหม่ที่เป็นมิตรและเมตตาอยู่เสมอ

กระเป๋าหนังจากคนรุ่นใหม่ที่คำนึงถึงผู้ผลิต ผู้บริโภค ธรรมชาติ และขยายโอกาสจากเมืองกรุงถึงดอยผาหมี

La Mitra

โทรศัพท์ : 09 2549 4515

เว็บไซต์ : lamitra.co

Facebook : La Mitra

Writer

Avatar

ปิยฉัตร เมนาคม

หัดเขียนจากบันทึกหน้าที่ 21/365 เพิ่งค้นพบว่า สลัดผักก็อร่อย หลงใหลงานคราฟต์เป็นชีวิต ของมือสองหล่อเลี้ยงจิตใจ ขอจบวันง่าย ๆ แค่ได้มองพระอาทิตย์ตกจนท้องฟ้าเปลี่ยนสี วันนั้นก็คอมพลีทแล้ว

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน