‘La Mitra’ เป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าให้วัตถุดิบเหลือใช้ ในขณะเดียวกันก็สร้างรายได้ให้ชุมชน ไปพร้อม ๆ กับการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น มีสินค้าชูโรงคือ กระเป๋าหนังที่พิเศษทั้งการออกแบบ การใช้งาน และเรื่องราวเบื้องหลัง
“สิ่งที่เขาสะพายอยู่ ไม่ใช่แค่ความสวยงาม มันมีอะไรมากกว่านั้น” – เธอเปรยจนเราอยากชวนคุณค้นหาสิ่งที่ว่า
จูจู้-เกวลี วู สาวเจ้าของแบรนด์และเพื่อนคู่คิดของเธอบอกว่า La Mitra มาจากคำว่า ‘มิตรภาพ’ และ ‘เมตตา’, นี่จึงเป็นแนวคิดหลักของแบรนด์ที่ให้ความเป็นมิตรกับ 3 สิ่งสำคัญ คือ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และธรรมชาติ
ความเป็นมิตรนี้เริ่มต้นมาจากจูจู้ เธอเป็นจิตอาสา ณ ดอยผาหมี จังหวัดเชียงราย จูจู้ไปเห็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสัมผัสกับผู้คนที่นั่น สิ่งที่ติดอยู่ในใจแม้จะกลับมาแล้วคือการที่เธอไปเจอหญิงชาวม้งและชาวอาข่า พวกเขาทุ่มแรงกายแรงใจในการปักผ้าอย่างพิถีพิถัน เธอว่างานหนึ่งชิ้นใช้เวลา 14 วัน แต่พวกเขากลับได้ค่าตอบแทนเพียงหลักสิบปลาย ๆ จนถึงหลักร้อยต้น ๆ หญิงสาวเก็บความตั้งใจนั้นไว้ เธอไปศึกษาต่อที่เซี่ยงไฮ้ พร้อมกลับมาสร้างโอกาสในการทำงานให้กับชาวม้งและชาวอาข่า และมอบรายได้ที่เป็นธรรมมากกว่าปกติถึง 5 เท่า เพื่อให้พวกเขาเกิดความภูมิใจในตัวเอง
ในทุกกระบวนการผลิต La Mitra เลือกใช้วัตถุดิบออร์แกนิกและเป็นมิตรกับทุกฝ่ายอยู่เสมอ ทั้งการใช้หนัง Upcycle สีจากธรรมชาติ และการบำบัดน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำใสหลังจบจากการฟอกหนัง และยังเป็นมิตรแม้กระทั่งกับการตลาด ทางแบรนด์เลือกใช้วิธีโปรโมตที่จริงใจและยั่งยืน ยอดจากการยิงโฆษณาไม่ใช่สิ่งแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญ แต่อาศัยความเชื่อใจของลูกค้าที่เชื่อเรื่องเดียวกับสิ่งที่แบรนด์กำลังทำ และการไปออกรายการ Shark Tank ก็เป็นหนึ่งในวิธีทำการตลาดเช่นกัน
ตลอด 2 ปีของแบรนด์กระเป๋าใบนี้ นับเป็นความตั้งใจของหญิงสาวยุคใหม่ที่อยากสนับสนุนช่างฝีมือท้องถิ่นและสืบสานภูมิปัญญา ไปพร้อม ๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อม La Mitra จึงเกิดขึ้น และหยิบยื่นความเป็นมิตรอย่างต่อเนื่องและต่อไป
ที่ไปของเมตตา ที่มาของมิตรภาพ
La Mitra คงจะไม่เกิด ถ้าหากว่าเธอไม่ไปเรียน Fashion Design กับ Marketing ที่เซี่ยงไฮ้
จูจู้เผยจุดเริ่มต้นแรก จุดที่ทำให้รู้จักความชอบด้านนี้ เธอย้อนกลับไปสมัยที่เป็นล่ามอาสาของหน่วยงาน International Medical Relief ที่จังหวัดเชียงราย ที่นั่นทำให้เธอได้เจอกับชาวอาข่าพร้อมฝีมือการปักผ้าที่หาจากไหนไม่ได้ แต่ลายผ้าที่เต็มไปด้วยความวิจิตรบรรจงนั้น กลับถูกกดราคาไว้เหลือเพียงแค่หลักสิบ-หลักร้อย จูจู้มองเห็นและสนใจถึงปัญหาตรงนั้น หลังจากกลับมาจากการเป็นจิตอาสาและทำงานอีกสักพัก สิ่งนี้ยังคงติดอยู่ในใจ เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปเรียน Fashion Design ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
การไปเรียนครั้งนั้นให้มากกว่าศาสตร์การออกแบบ จูจู้เล่าว่าอาจารย์สอนวิธีคิด กระบวนการออกแบบที่มากกว่าแค่ออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่เป็นการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาจากเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ซึ่ง La Mitra เล็งเห็น 3 ปัญหาหลักและอยากนำมาพัฒนาให้ดีขึ้น ปัญหาแรกคือวัตถุดิบเหลือใช้จากอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ถูกปล่อยทิ้งกลายเป็นขยะมหาศาล สองคือมูลค่าของภูมิปัญญาและงานฝีมือของชาวบ้านถูกกดราคา และสามคือการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไม่ให้เลือนหายไปกับคนรุ่นเก่า
“เราคงเปลี่ยนอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราทำให้มันดีขึ้นได้ และในอนาคตมันจะกลายเป็น Bigger Impact”
La Mitra
หลังจบหลักสูตร ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ จูจู้เดินทางไปที่ดอยผาหมี จังหวัดเชียงรายอีกครั้ง
ในครั้งนี้เธอไปเพื่อจะสนองความตั้งใจแรกให้เป็นจริง นั่นคือการสนับสนุนชาวบ้านบนดอยผาหมีในหลาย ๆ หมู่บ้าน
“เราอยากไปเรียนรู้และเข้าใจความเป็นอยู่ของเขา ไปเรียนรู้ว่าเขาหากินกันยังไง อาหารของเขาคืออะไร แล้วงานฝีมือของเขายากง่ายขนาดไหน ซึ่งการเข้าไปของเรา เราไม่ต้องการเข้าไปปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเขา แต่อยากเพิ่มโอกาสให้เขา
“การเข้าไปสร้างงานให้เขาจะทำให้เขามีรายได้ที่ยั่งยืน ไม่จำเป็นต้องเข้าเมืองเพื่อมาเป็นแรงงาน ที่สำคัญ มันอาจจุดประกายให้คนรุ่นใหม่อยู่บ้านมากขึ้น และภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษของพวกเขาก็จะยังคงอยู่ด้วย” จูจู้เล่าจุดประสงค์
จากการสำรวจพื้นที่ เธอแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังว่า คนท้องถิ่นบนดอยผาหมีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเชิงเกษตรกรรม ทั้งปลูกข้าว ปลูกชา และปลูกกาแฟ รวมถึงงานฝีมือเย็บปักถักร้อย ซึ่งเธอก็ถูกอกถูกใจกับงานปักผ้าของสาวชาวม้งและชาวอาข่า จึงเลือกหัตถกรรมที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นมาเป็นส่วนหนึ่งของ La Mitra, จูจู้ใช้งานปักผ้ามาประกอบกับสายสะพายของกระเป๋าหนัง
สายกระเป๋าของ La Mitra ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่ใครเหมือนเส้นนี้ มาจากฝีมือและภูมิปัญญาของชาวม้งและชาวอาข่า โดยการปักของพี่น้องทั้งสองชาติพันธุ์ต่างกันที่จุดประสงค์ เนื้อผ้า และลวดลาย ชาวม้งปักผ้าเพื่อนำมาตกแต่งเสื้อผ้า เลยใช้ผ้าที่มีรูใหญ่ ปักลวดลายเล่าเรื่องราววิถีชีวิตด้วยเส้นด้ายหลากสีสัน ผสานกับลวดลายที่เกิดจากสิ่งรอบตัว เช่น ลายก๊ากื้อ (ก้นหอย) ลายปั้นโต๊วโต่ว (ฝักถั่ว) ลายปั้นโต๊วจี่ (ไม้กางเขน) ส่วนผ้ารูเล็กที่ปักเพื่อตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า ปักด้วยฝีเข็มเน้น งานละเอียดเนี้ยบ เล่าเรื่องราวรอบตัวผ่านผืนผ้า เช่น ลายอาปะ (ใบไม้) ลายโจวพะ (ดอกหญ้า) และลายอาลูละโอ (ลิ้นผีเสื้อ) เป็นเสน่ห์ที่ยากจะเลียนแบบของชาวอาข่า
แค่ได้ฟังชื่อลายก็สนุกแล้ว เราจึงอยากรู้ว่าแบรนด์เลือกใช้ลายดั้งเดิมหรือปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัยมากขึ้น
“เราเอาสิ่งที่เขามีอยู่แล้วมาปรับเปลี่ยน และออกแบบแพตเทิร์นของแบรนด์ให้เขาด้วย ซึ่งเขายินดีจะพัฒนางานร่วมกันกับเรา แต่ส่วนใหญ่เขาจะปักลวดลายของเขา เพราะมันบ่งบอกเรื่องราวของเขาบนเสื้อผ้า” ทุกฝีเข็มจึงเต็มไปด้วยลายปักที่มีชีวิต
เมื่อได้สายกระเป๋าแล้ว ถัดไปเป็นส่วนกระเป๋า ยังคงไว้ซึ่งคอนเซ็ปต์เดิมของ La Mitra คือการไม่สร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม เธอจึงเลือกหนังที่เป็น Surplus ของโรงงานครอบครัวมาทำกระเป๋า เจ้าหนัง Surplus ที่ว่าก็คือ หนังที่โรงงานผลิตเกินกว่าจำนวนที่ลูกค้าต้องการ 2 เปอร์เซ็นต์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผิดพลาด ส่วนมากถ้าไม่ได้ใช้ หนังเหล่านี้จะกลายเป็นขยะ นำมาทำกระเป๋าหนังได้ 20,000 ใบต่อปี ถ้านำมากางจะเท่ากับสนามฟุตบอล 13 สนาม จูจู้รู้และเข้าใจสิ่งนี้ดี เพราะเธอเป็นลูกสาวโรงงานฟอกหนัง
“เราเอาหนังมา Upcycle ค่ะ เอาสต็อกพวกนี้มาทำให้มันมีชีวิตที่ 2” หนังส่วนเกินทั้งหมดจึงได้รับการนำมาเพิ่มมูลค่าที่โรงฟอกหนังของครอบครัวที่เปิดมานานกว่า 30 ปีในจังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นนำหนังเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนสี ด้วยการพ่นสีธรรมชาติแต่ยังคงไว้ซึ่งโทนสีเดียวกันจากของเดิม พ่นทั้งหมด 2 รอบ แล้วนำไปฉายแสงยูวีให้สีซึมเข้าไปในตัวหนังเพื่อเพิ่มความติดทน
และเข้าสู่กระบวนการสุดท้าย คือการตัดเย็บจากช่างฝีมือที่เข้าใจและสนับสนุนในสิ่งเดียวกันกับแบรนด์
ส่วนการออกแบบ La Mitra อยากสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น ไปพร้อม ๆ กับการก่อขยะให้น้อยที่สุด จึงออกมาเป็น Mycelia Bag กระเป๋า 1 ใบที่ปรับเปลี่ยนการใช้งานให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ได้ถึง 5 แบบ เป็นได้ทั้งกระเป๋าสะพายข้าง กระเป๋าคลัทช์ กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพายไหล่ กระเป๋าเป้ ตอบโจทย์ครบจบทุกไลฟ์สไตล์ในใบเดียว ซึ่งเหตุผลของการออกแบบให้สะพายได้หลากหลายก็น่ารักเข้าที จูจู้บอกว่าเธอกำลังแก้ปัญหาให้สาว ๆ ที่ต้องมีกระเป๋าหลายใบ เลยออกแบบให้ใบเดียวตอบโจทย์ พลิกแพลงได้ทุกโอกาส
เธอกระซิบว่า กว่าจะออกมาเป็นกระเป๋าที่มีฟังก์ชันสุดคุ้มขนาดนี้ ต้องขึ้น Prototype ไปกว่า 5 ครั้ง!
คุณค่าของความเป็นมิตร
เรื่องราวทั้งหมดผ่านน้ำเสียงของจูจู้ที่เล่าถึงเบื้องหลังกระเป๋าใบนี้ ตั้งแต่คลุกคลี ทำความรู้จักกับชาวบ้านสุดเขตชายแดนบนดอยผาหมี การไม่หยุดค้นหาวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราคิดว่าต้องมีบางอย่างที่ทำให้เธอสนุกกับการทำสิ่งนี้เป็นแน่
“ความสนุกของเรา คือการได้ไปท่องเที่ยว ไปเจอชาวบ้าน ได้คิดกระบวนการออกแบบที่ช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน มันมีความสุขนะคะ เพราะว่ามันมาจากแพสชันของเรา แล้วเราก็ได้เห็นว่าชุมชนผู้หญิงที่ดอยผาหมีเขามีงาน มีรายได้มากขึ้น ถือเป็นความสุขเล็ก ๆ ของเราและแบรนด์เหมือนกัน แต่คิดว่าชุมชนเดียวยังไม่พอ เราอยากพัฒนาให้ได้อีกหลาย ๆ ชุมชน”
La Mitra ให้ความสำคัญกับเรื่องแฟชั่นยั่งยืน จูจู้มองว่าปัญหาการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ควรเป็นสิ่งพื้นฐานที่บริษัทหรือแบรนด์ต้องคำนึงถึง ไม่ใช่เฉพาะสิ่งแวดล้อม แต่รวมไปถึงความเป็นอยู่ของคนต้นน้ำด้วยด้วย ตั้งแต่ช่างฝีมือที่ผลิตกระเป๋า ผลิตเสื้อผ้า เพราะอุตสาหกรรมแฟชั่นส่วนใหญ่ ส่งผลเสียเป็นวงกว้างในกระบวนการผลิต เช่น ผู้ผลิตต้องการผลิตสินค้าให้มีราคาถูก ด้วยมีการแข่งขันสูงและต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย จึงต้องลดต้นทุนในการผลิต เลือกใช้วัตถุดิบหรือว่าใช้เคมีถูก ๆ กับโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งกดราคาแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับแบรนด์ที่เป็นมิตรและเมตตาอย่าง La Mitra
“โปรดักต์ทุก ๆ ชิ้นไม่ได้เป็นแค่กระเป๋าใบเดียว แต่สายทุกเส้น ทุกฝีเข็มมันมีเรื่องราว มีความรู้สึก แล้วก็มีความใส่ใจอยู่ในทุกฝีเข็มที่เขาปัก เราเชื่อว่าลูกค้าไม่ได้ซื้อแค่กระเป๋า แต่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แล้วก็มีรายได้เพียงพอที่เขาเอาไปเลี้ยงดูครอบครัวได้ ที่สำคัญ เราได้ซัพพอร์ตผู้หญิงด้วยกัน” นี่คือกระเป๋าเพียงหนึ่งใบที่ส่งต่อสิ่งดี ๆ ซึ่งกันและกัน
มิตรภาพ + เมตตา
มิตรภาพและความเมตตา ทั้งต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และธรรมชาติ ของ La Mitra เป็นความตั้งใจดีที่สร้างผลลัพธ์ในระยะยาว การเพิ่มโอกาสในการสร้างงานให้กับชุมชนดอยผาหมี จังหวัดเชียงราย แบรนด์ต้องการให้ภูมิปัญญาชาวบ้านขยายเพิ่มมากขึ้น ต่อยอดได้มากขึ้น ให้มีความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้านและทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
La Mitra จึงเปิดโอกาสให้ชาวบ้านแสดงฝีมือผ่านผลงานอย่างเต็มที่ แลกกับค่าแรงที่เป็นธรรม ในแง่ของผู้บริโภค ทางแบรนด์เลือกใช้องค์ประกอบของกระเป๋าที่เป็นมิตรต่อผิวหนัง เช่น หนังคุณภาพดี ย้อมสีธรรมชาติและสมุนไพร จึงมั่นใจได้ว่าขณะสะพายจะไม่รู้สึกระคายเคืองต่อผิวแม้เล็กน้อยอย่างแน่นอน และยังเลือกใช้เคมีที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทุกวัตถุดิบถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่จนถึงกระบวนการสุดท้าย หรือแม้แต่ทำให้วัตถุดิบเหล่านั้นได้มีชีวิตที่ 2 เช่น ถุงใส่กระเป๋าให้ลูกค้า เป็นถุงที่มาจากการรีไซเคิลขวด PET หากเป็นกล่องบรรจุภัณฑ์ ก็เป็นกล่องคราฟต์ที่รีไซเคิลมาจากกล่องกระดาษอีกที และมีการบำบัดน้ำเสียจากการฟอกหนังจนใสสะอาด จนดื่มและนำไปเลี้ยงสัตว์ต่อได้ นี่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า นี่คือแบรนด์เป็นมิตรต่อต้นน้ำและปลายน้ำจริง ๆ
ถึงมิตร จาก La Mitra
ความตั้งใจแรก ความตั้งใจหลัก แต่ไม่ใช่ความตั้งใจสุดท้ายของแบรนด์ คือ
“เราอยากให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนของประเทศไทยได้ไปต่างประเทศ” จูจู้เล่าว่าชุมชนดอยผาหมีเป็นการเริ่มต้น La Mitra ของเธออยากกระจายการพัฒนาไปในหลาย ๆ ชุมชน แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นก็ต้องเพิ่มยอดขายให้มากขึ้นก่อน ทางแบรนด์ตั้งใจจะตีตลาดที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เพราะจูจู้เชื่อว่าถ้าพาคราฟต์ประเทศไทยไปไกลถึงต่างประเทศได้แล้ว คนไทยก็จะหันมาสนใจมากขึ้น
“เราคิดว่าประเทศไทยมีทรัพยากรงานคราฟต์เยอะมาก เยอะกว่าหลาย ๆ ประเทศ แล้วเราคิดว่ามันไปได้ทั่วโลก แต่คนไทยต้องให้คุณค่า ให้ราคากับมันมากขึ้นก่อน คนรุ่นใหม่จะได้เห็นคุณค่า แล้วก็เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ เขาถึงอยากจะกลับไปพัฒนา” สายกระเป๋าฝีมือพี่น้องชาวม้งและชาวอาข่าแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า เมืองไทยคือแหล่งขุมทรัพย์ของงานคราฟต์อย่างแท้จริง
สำหรับคอลเลกชันใหม่ La Mitra เตรียมอวดโฉมกระเป๋าใส่โทรศัพท์ พิเศษตรงที่ลายโลโก้แบรนด์จะอยู่บนตัวกระเป๋า ขยับขยายพื้นที่ลายปักบนสายกระเป๋ามาสู่ตัวกระเป๋า และปีหน้าเธอตั้งใจนำเศษหนังที่เหลือจากการทำกระเป๋ามาอัดพื้นรองเท้าและทำเป็นรองเท้าคู่เก๋ เพราะไม่ใช่แค่อยากให้ Waste มี Second Life แต่ต้องการให้ขยะทั้งหมดเหล่านั้นกลายเป็น Zero Waste
การเกิดขึ้นของ La Mitra เปรียบเสมือนการเดินทางเพื่อเรียนรู้และค้นหาพัฒนาสิ่งใหม่ที่เป็นมิตรและเมตตาอยู่เสมอ
La Mitra
โทรศัพท์ : 09 2549 4515
เว็บไซต์ : lamitra.co
Facebook : La Mitra