ผลงานศิลปะชั้นยอดของไทยนั้นมีจำนวนมาก หลายงานมีมูลค่าสูงลิ่วและเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วประเทศ บางชิ้นมีมูลค่าสูงจนไม่อาจประเมินราคาได้ บ้างก็กลายเป็นสมบัติของชาติให้คนรุ่นหลังศึกษาต่อ

ผลงานศิลปะชั้นครูต่างผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน มีอายุเกือบร้อยปีจนเข้าใกล้พันปีด้วยซ้ำ ทำให้ปรากฏริ้วรอยชำรุดตามอายุขัย ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ไม่นานก็สลายไปกับกาลเวลา เหลือไว้เพียงภาพบันทึก

ท่ามกลางผลงานศิลปะจำนวนมากที่ต้องการรับการรักษา เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ประกอบอาชีพนักซ่อมแซมผลงานศิลปะหรือนักอนุรักษ์ ประเทศเรากลับมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านนี้น้อยมาก และในจำนวนเท่าหยิบมือนี้ ชื่อแรกที่หลายคนนึกถึงด้วยความไว้วางใจเมื่อต้องการเรียกหาบริการการซ่อมแซมงานศิลปะก็คือ ขวัญจิต เลิศศิริ

ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย

เธอทำงานอนุรักษ์ผลงานระดับมาสเตอร์พีซของศิลปินระดับประเทศ ผลงานที่อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงหอศิลป์ มาแล้วแทบทั้งหมด หลายชิ้นงานเราคงไม่มีโอกาสได้เห็นอีก หากไม่มีเธอคอยทำงานอยู่ข้างหลังภาพ โดยยังคงไว้ซึ่งชื่อเสียงของศิลปินชั้นครูผู้สร้างสรรค์ผลงาน เธอพยายามซ่อมแซมและยืดอายุให้งานชิ้นเอกได้ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

มาสเตอร์ที่หลายคนมองไม่เห็น วันนี้เราพาคุณมาทำความรู้จักกับนักอนุรักษ์งานศิลปะมือหนึ่งของไทย

ชะตาลิขิตให้เธอเป็นนักอนุรักษ์

ขวัญจิตเกิดและเติบโตที่อำเภอรอบนอกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมัยเด็กเธอคลุกตัวเองอยู่ภายในห้องสมุดของโรงเรียน เลือกหยิบหนังสือสวยๆ สักเล่มมาอ่าน สำหรับเธอ โลกในห้องสมุดคือสถานที่ที่สวยงามที่สุด 

ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้สายตาของครูศิลปะประจำโรงเรียนที่พ่วงตำแหน่งเป็นผู้ดูแลห้องสมุด และเป็นครูคนแรกที่แนะนำให้ขวัญจิตรู้จักกับงานศิลปะ คอยแนะนำหนังสือรวบรวมงานศิลปะสวยๆ ให้เธอได้อ่าน กระทั่งครูศิลปะเห็นแววในตัวขวัญจิต จึงตัดสินใจเดินทางไปพบกับคุณพ่อของเธอ เพื่อขอให้ขวัญจิตได้ศึกษาต่อทางด้านศิลปะ

“ตอนนั้นรู้แค่ว่างานศิลปะทำให้เรามีความสุข เราไม่เคยรู้หรอกว่าเราจะประกอบอาชีพเกี่ยวกับศิลปะได้ ตอนครูไปขอคุณพ่อ เขาก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เรียนศิลปะจะทำอะไรกิน และสิ่งที่คุณพ่อฝันไว้มากก็คือ เขาอยากให้เราทำงานข้าราชการ ครูของเราก็เลยแนะนำว่า เรียนศิลปะก็รับข้าราชการได้ ประกอบอาชีพอิสระก็ได้ คุณพ่อเลยยอม” 

ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย

ขวัญจิตเข้ามาเรียนด้านศิลปะที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาพระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้นก็ศึกษาต่อที่วิทยาลัยเพาะช่าง โดยเธอเลือกเรียนต่อภาควิชาศิลปะประจำชาติ สาขาจิตรกรรมไทย จากการที่มีโอกาสเห็นงานจิตรกรรมสวยงามภายในวัดที่ครูของเธอเคยพาไป และผลงานศิลปะภายในวัดกลับเปลี่ยนแปลงทิศทางชีวิตของเธอตลอดไป

“เราเป็นเด็กต่างจังหวัด ไม่เคยเห็นอะไรที่อลังการ พอเรียนเพาะช่าง อาจารย์ก็พาไปชมงานต่างๆ มีครั้งหนึ่งอาจารย์พาไปวัดสุทัศน์ฯ พอก้าวเข้าไปในพระวิหาร เราตะลึงเลย มันอลังการมาก มีจิตรกรรมทุกตารางนิ้ว

“แต่แปลกตรงที่เราสะดุดตากับภาพวาดสัตว์หิมพานต์ต่างๆ ในกรอบ เรารู้สึกว่างามมาก แต่ก็งงว่าทำไมมันถึงได้โทรมจังเลย มีแมลงกิน บางภาพมีรอยน้ำที่หยดจากเพดานจนกระดาษบวม เราเลยถามอาจารย์ว่าทำไมเขาถึงปล่อยมันพังแบบนี้ อาจารย์ก็บอกว่า เขารอ ‘นักอนุรักษ์’ ต้องมีนักอนุรักษ์มาซ่อม ไม่ใช่ใครๆ ก็ซ่อมได้ 

“เราได้ยินคำว่า นักอนุรักษ์ ครั้งแรกที่นี่ และตั้งใจตั้งแต่นั้นเลยว่า เราจะกลับมาเป็นอนุรักษ์ที่นี่”

หลังจากนั้น คำว่า ‘ศิลปิน’ ก็ไม่เคยอยู่ในความคิดของขวัญจิตอีกเลย 

ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย

“ตั้งแต่เห็นภาพที่วัดสุทัศน์ฯ เราเกิดความสงสัยว่า เรียนศิลปะ ทำไมต้องมีแต่คนสร้าง ทำไมไม่มีคนรักษาบ้าง แล้วงานที่ครูบาอาจารย์สร้างไว้ใครจะดูแล ความคิดนี้แวบเข้ามาในหัว แม้อาจารย์จะพูดคำว่า ‘นักอนุรักษ์’ ขึ้นมา แต่เราก็ไม่รู้ว่านักอนุรักษ์คืออะไร ก็เลยถามอาจารย์ว่ามันเป็นยังไง เขาทำงานที่ไหน เราได้คำตอบว่านักอนุรักษ์ทำงานที่กรมศิลปากร เราก็นึกขึ้นได้อีกว่าถ้าทำงานที่กรมศิลปากร หมายความว่าเป็นข้าราชการ ก็ตอบความต้องการของพ่อ

“ที่สำคัญ เราได้ทำงานอนุรักษ์ศิลปะที่อยากทำด้วย ทุกอย่างดูพอเหมาะไปหมดเลย”

ความพอเหมาะพอเจาะยังไม่จบเพียงเท่านั้น หลังจากเธอตั้งใจแล้วว่าจะทำงานด้านอนุรักษ์ พอปิดเทอมเธอก็ตัดสินใจไปฝึกงานกับกรมศิลปากร ทำงานบูรณะจิตรกรรมฝาผนัง ช่วงปีสุดท้ายของการเรียน ขวัญจิตมีโอกาสรับงานออกแบบ ‘บุษบก’ และ 1 เดือนหลังจากนั้น เพื่อนของเธอก็มาชวนให้ไปสอบเข้ารับราชการกับกรมศิลปากร ซึ่งกำลังเปิดรับสมัครตำแหน่งนายช่างพอดี และในข้อสอบครั้งนั้นโจทย์ที่ทุกคนได้รับก็คือ การออกแบบบุษบก 

“มันบังเอิญมากเลย ปรากฏว่าวันสอบภาคปฏิบัติเขาให้เขียนบุษบก เรารู้ดีว่าเวลาสามชั่วโมงที่เขากำหนด ไม่มีทางพอสำหรับการวาดบุษบกให้เสร็จทั้งอันแน่ เราเลยลักไก่ทำสเกลตีครึ่ง เพราะเรารู้ว่าซ้ายกับขวามันต้องเหมือนกันอยู่แล้ว และวาดเก็บรายละเอียดแค่ครึ่งเดียว ขณะที่คนอื่นไม่เคยทำมาก่อน แต่เราฝึกมือมาแล้วจากตอนรับงาน”

จากกลุ่มเพื่อนที่ไปสอบด้วยกัน เธอเป็นผู้ที่สอบผ่านเพียงคนเดียว

ชะตายังไม่ได้ลิขิตเธอไว้แค่นั้น หลังจากขวัญจิตสอบผ่าน เธอมีสิทธิ์เลือกว่าจะไปทำงานกับหน่วยไหน และความบังเอิญก็เกิดขึ้นกับหญิงสาวคนนี้อีกครั้ง บังเอิญในตัวเลือกมี ‘หน่วยวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์’ อยู่ในนั้น

“เราเห็นว่ามีคำว่าอนุรักษ์อยู่ แต่ยังไม่รู้หรอกว่าเขาทำงานอะไร เราก็สงสัยว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แต่เราเรียนศิลปะ มันจะเกี่ยวกันมั้ย ก็เลยถามคนคุมสอบว่าตำแหน่งนี้ทำงานอะไร เขาบอกว่าเป็นงานอนุรักษ์ผลงานศิลปะและโบราณวัตถุ เราว้าวสิทีนี้ ตรงตามที่เราต้องการเลย ได้ทำงานอนุรักษ์ ได้รับข้าราชการ เรากรอกสมัครทันที”

ขวัญจิตทำงานเป็นข้าราชการอย่างที่พ่อเธอหวัง และทำงานด้านอนุรักษ์งานศิลปะอย่างที่เธอวาดฝัน

เธอทำงานอย่างตั้งใจ เรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมและมีโอกาสได้อนุรักษ์งานชั้นครูจำนวนมาก 

กระทั่ง 28 ปีผ่านไป โชคชะตาก็วกกลับมาหาเธออีกครั้ง

ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย
ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย

“มีวันหนึ่งเราได้รับงานซ่อมภาพในกรอบที่วัดสุทัศน์ฯ นั้นจริงๆ ซึ่งตั้งแต่วันนั้นที่เราได้ยินคำว่านักอนุรักษ์ครั้งแรก ก็ยังไม่เคยมีนักอนุรักษ์คนไหนเข้ามาซ่อมภาพเหล่านั้นเลย เขามาซ่อมแต่ภาพบนฝาผนัง แต่ภาพในกรอบเขาไม่กล้าเอาลงมาซ่อม มันลำบากและยาก แต่เราได้รับการแนะนำมาอีกที จนได้รับงานอนุรักษ์นี้อย่างที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก”

ในความเป็นจริง ก่อนที่จะเกิดเหตุบังเอิญนี้ ตั้งแต่เธอเข้าทำงานเธอก็พยายามส่งเรื่องทำโครงการการซ่อมแซมภาพในกรอบวัดสุทัศน์ฯ ยื่นไปหลายครั้งมาก แต่ไม่เคยได้รับการอนุมัติ กระทั่งปีสุดท้ายที่เธอคิดจะรับราชการ

“มีอาจารย์สถาปัตยกรรมไทยจากศิลปากรท่านหนึ่ง เขากำลังทำหนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของวัดสุทัศน์ฯ เขาก็เข้าไปเก็บข้อมูลและสนิทกับเจ้าอาวาส วันดีคืนดีภาพจิตรกรรมในกรอบนั้นตกลงมาแตก โชคดีที่ชิ้นงานไม่เป็นอะไร พออาจารย์รู้เข้าเลยบอกเจ้าอาวาสว่า ภาพนี้เป็นภาพที่มีคุณค่ามากนะ เดี๋ยวเขาจะหาผู้เชี่ยวชาญมาซ่อมแซม อาจารย์ก็เลยปรึกษากับ อาจารย์สมศักดิ์ แตงพันธ์ ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าของเรา อาจารย์สถาปัตย์มาปรึกษาหาคนที่เชี่ยวชาญเรื่องงานกระดาษ อาจารย์สมศักดิ์เลยแนะนำเรา เพราะตอนทำงานเรามีโอกาสศึกษาเรื่องกระดาษจากญี่ปุ่น 

“พอภาพตกลงมาก็กลายเป็นงานเร่งด่วน เลยทำเรื่องซ่อมได้อย่างรวดเร็ว และภาพนั้นเป็นภาพแรกที่จุดประกายให้วัดเกิดความต้องการอยากซ่อมทุกๆ ภาพที่อยู่ในกรอบ และเจาะจงให้เราเป็นคนอนุรักษ์ภาพทั้งหมด”

ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย

หลังจากฝีมือการอนุรักษ์ของขวัญจิตก็เริ่มเป็นที่รู้จัก เธอก็มีโอกาสถวายงาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อซ่อมแซมภาพภายในวังสระปทุม โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงปีสุดท้ายที่เธอกำลังตัดสินใจลาออกจากราชการ ด้วยความอิ่มตัวของการทำงานในระบบ แต่เธอยังคงลังเล เพราะกลัวว่าจะไม่มีโอกาสทำงานอนุรักษ์อย่างที่เคยทำ 

เมื่อ 2 งานที่เข้ามาล้วนเจาะจงชื่อของเธอ ขวัญจิตจึงได้รับความมั่นใจและเธอรู้ตัวเองแล้วว่า 

‘ต่อให้เธอไปอยู่ที่ไหน เธอก็ยังคงได้ทำงานอนุรักษ์อย่างที่รัก’

ปัจจุบันขวัญจิตทำงานอยู่ที่บ้านในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี สุริยะ เลิศศิริ คู่ชีวิตที่เรียนมาด้วยกันตั้งแต่อาชีวะอยุธยาจนถึงเพาะช่างเข้ามาช่วยอีกแรง และรับซ่อมแซมงานระดับมาสเตอร์พีซของประเทศอีกจำนวนมาก

งานอนุรักษ์ผลงานศิลปะ คือความร่วมมือกันระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ

“ตอนเราเข้าไปทำงานในหน่วยวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ คนทำงานส่วนใหญ่ตอนนั้นเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่เราจบมาจากสายศิลปะและมีความรู้ด้านการอนุรักษ์มาบ้างแล้ว แต่เราก็ยังมีความอหังการอยู่ เพราะจบด้านศิลปะ เรามีความรู้ด้านงานศิลปะมากกว่านักวิทยาศาสตร์แน่ๆ ช่วงนั้นมีงานส่งเข้ามาให้ซ่อมแซม ภาพนั้นสีดำกระด่างมาก 

“เราคิดว่าคงเป็นเพราะสีลอกหายไป แค่เพนต์รีทัชสีก็พอแล้ว ไม่ได้ยากอะไรเลย แต่วันหนึ่งท่านผู้อำนวยที่เป็นนักอนุรักษ์และนักเคมีเข้ามาดู ก็บอกเราว่า อย่าเพิ่งทำอะไรนะ ผมขอเอาไปตรวจสอบสภาพก่อน เขาไม่ให้เราทำอะไรเลยทั้งที่ตอนนั้นเรามองแล้วว่าก็แค่เพนต์รีทัชก็ไม่ได้ยากอะไรเลยนิหน่า ปรากฏว่าที่เราคิดว่าสีหลุดลอก พอนำไปตรวจ มันเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมี สีขาวในภาพนั้นทำมาจากตะกั่ว ทีนี้ตะกั่วเจอสารซัลเฟอร์ไดออกไซน์ที่อยู่ในมลภาวะทางอากาศ ทำปฏิกิริยากับโลหะก็เลยทำให้เป็นสีดำ วิธีการซ่อมแซมคือ การใช้สารเคมีซ่อมเพื่อให้สีนั้นสดใสขึ้นมา เราแค่เช็ดทุกตารางนิ้วด้วยน้ำยาที่เขาผสมให้ ปรากฏว่าสีมันกลับมาสดใสโดยที่เราไม่ต้องเพนต์สีหรือซ่อมอะไรเลย”

ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย

ภาพซ้าย : ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม, ภาพกลาง : สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เขียนราวปี พ.ศ.2401
และภาพขวา : เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ฝีมือศิลปินชาวอิตาเลียน คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) หนึ่งในศิลปินที่เขียนจิตรกรรมในพระที่นั่งอนันตสมาคม สมัยรัชกาลที่ 6

“วันนั้นทำให้เราตระหนักเลยว่า ความรู้ทางศิลปกรรมอย่างเดียวไม่เพียงพอ หากวันนั้นเราตัดสินใจโดยเอาความอหังการของตัวเองเข้าไปทำ โดยขาดความรู้ ความเข้าใจ เราก็คงจะสร้างปัญหาใหม่ให้ชิ้นงาน ทั้งที่งานนั้นแค่ใช้สารเคมีทำความสะอาดอย่างเดียว ความรู้ด้านเดียวของเรามันอันตรายมาก มันทำร้ายงานที่เรากำลังอนุรักษ์ได้เลย 

“งานอนุรักษ์จึงต้องมีทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะอยู่ร่วมกัน”

กระบวนการของการอนุรักษ์

“การทำงานอนุรักษ์ เราต้องดูว่าคนป่วย ป่วยเป็นอะไร แล้วเอาสาเหตุของการป่วยนั้นออก เสริมภูมิคุ้มกันให้เขา เราไม่ได้ทำให้ลุงอายุร้อยปีกลับมาเหมือนลุงอายุห้าสิบปี แต่เราทำให้เขาแข็งแรงขึ้น ช่วยพยุงให้อยู่ต่อไปได้ 

“การทำงานอนุรักษ์ต่างจากการเป็นศิลปินนะครับ ศิลปินมีอัตตาได้ แต่นักอนุรักษ์ต้องไม่มีอัตตา ต้องไม่คิดว่าตัวเองเป็นศิลปิน และไม่ไปเติมงานเขา คุณต้องคิดว่าจะดูแลเขาในสภาพที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุดได้ยังไง ตัวตนนี่ทิ้งไปเลย”

สุริยะเอ่ย เวลาได้รับภาพที่ต้องทำการอนุรักษ์มา ทั้งคู่จะช่วยกันวิเคราะห์ภาพเป็นขั้นตอนแรก

ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย

“เวลางานมา เราจะนั่งวิเคราะห์กันก่อนว่าควรทำอะไรเป็นอันดับแรก โดยปกติต้องสร้างความแข็งแรงให้กับงาน ก่อนแล้วค่อยรักษา และงานอนุรักษ์ เราต้องเก็บข้อมูล วินิจฉัย และทดสอบในจุดเล็กๆ ก่อน ทุกอย่างมันละเอียดอ่อนมาก เพราะงานพวกนี้ผ่านกาลเวลามา เราไม่รู้ว่าศิลปินเขาใช้อะไรไปบ้าง ศิลปินบางคนใช้เทคนิคผสมด้วยซ้ำ ถ้าเราผสมน้ำยาแล้วเช็ดทั้งผืน แบบนั้นทำไม่ได้ มันมีสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราต้องค่อยๆ ทำทีละส่วน

“งานอนุรักษ์ถ้าเราไม่เก่งด้านไหน ก็ต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วย อย่าอหังการว่าเราทำได้ บางเรื่องเราไม่เก่งจริงๆ ก็ต้องขอความช่วยเหลือ ดีกว่าซ่อมงานแล้วตายไปให้คนรุ่นหลังเขามาบ่นว่า ทำอะไรไว้วะเนี่ย เราไม่อยากทิ้งภาระ และไม่อยากสร้างภาระเพิ่ม ทุกวันนี้เวลาทำการอนุรักษ์ที เรายังต้องคลำทางกันเกือบทุกชิ้น เพราะมันไม่เคยมีประวัติ เราไม่รู้เลยว่าภาพนี้เคยใช้น้ำยาอะไรมา เราต้องค่อยๆ ทดลองจากจุดเล็กๆ จนได้น้ำยาที่เหมาะสมที่สุดในการซ่อมแซม 

“ดังนั้น นักอนุรักษ์จึงต้องเรียนรู้ว่า อะไรเป็นสาเหตุในการเสื่อมสภาพของวัตถุแต่ละประเภท โชคดีที่เราเคยทำงานในหน่วยงานที่คลุกคลีกับนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ เราเลยเรียนรู้จากเขามาเยอะมาก ได้เรียนรู้วิธีการผสมน้ำยาเพื่อนำมาใช้กับการอนุรักษ์ บางภาพน้ำยาอาจจะระเหยเร็วไป เราก็อาจต้องทำเป็นเจลเพื่อชะลอให้ช้า บางภาพทิ้งน้ำยาไว้นานไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะกัดไปถึงสี เราก็ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดให้แต่ละภาพที่เรากำลังอนุรักษ์

“น้ำยาจึงสำคัญกับนักอนุรักษ์มาก เป็นอีกหนึ่งสีในพาเลตสีของนักอนุรักษ์เลยก็ว่าได้” ขวัญจิตย้ำ

เครื่องมือของนักอนุรักษ์

ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย

เครื่องมือของนักอนุรักษ์เปลี่ยนไปตามความสอดคล้องกับอาการที่พบ ตั้งแต่พู่กันเบอร์เล็กที่สุดจนถึงประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาเอง แม้แต่มีดที่ใช้เซาะก็ต้องเป็นชนิดบางพิเศษ โชคดีที่สุริยะถนัดงานประดิษฐ์เป็นทุนเดิม

สภาพของงานที่มีความเปราะบางมาก พวกเขาต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น ยางลบผง มีคุณสมบัติลบรอยต่างๆ โดยไม่ทำลายเนื้อกระดาษ หรือการใช้น้ำยาทำความสะอาดคราบ ก็ต้องใช้กระดาษสาชนิดบางพิเศษ หาซื้อได้จากประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ค่อยๆ รองบริเวณส่วนที่ขาดและเรียบไม่เสมอกันบนตัวภาพให้พอดี บางทีก็ใช้รองก่อนทำความสะอาดเพื่อรักษาเนื้อสีเอาไว้ ดังนั้น การเลือกอุปกรณ์ที่ถูกต้องสำหรับการรักษาจึงสำคัญและละเอียดอ่อนมาก

ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย
ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย

งานอนุรักษ์ยังเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สีที่ใช้บนภาพ ถ้าหากไม่มีบันทึกไว้ ขวัญจิตและสุริยะต้องลงมือค้นคว้าอย่างจริงจัง จนถึงขั้นถามจากผู้ที่เคยใกล้ชิดตัวศิลปินเพื่อหาสีที่ตรงกับภาพให้ได้มากที่สุด

“ตอนเรียนจิตรกรรมไทย ครูพยายามปลูกฝังเรื่องการดูแลรักษางานครูบาอาจารย์ ซึ่งงานจิตรกรรมฝาผนังมันมีอะไรซ่อนอยู่ มีเทคนิค ภูมิปัญญา ของครูบาอาจารย์รุ่นก่อน เราไม่ได้มองแค่ความสวยงาม เรามองลึกกว่านั้น มองถึงข้างหลังภาพว่าเขาเตรียมพื้นยังไง ใช้สีอะไร ใช้กาวอะไร เรามองเห็นกระบวนการ ตรงนั้นแหละที่บ่มเพาะเรา เช่นกัน เวลาทำงานอนุรักษ์ เลยต้องรู้ว่าศิลปินสร้างสรรค์งานด้วยอะไรและมีกระบวนการคิดอย่างไร” ขวัญจิตอธิบาย

ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย

ภายในสตูดิโอของขวัญจิตและสุริยะจึงเต็มไปด้วยอุปกรณ์ วัสดุ และน้ำยาจำนวนมาก ตั้งแต่ของพื้นบ้านไทยเราจนถึงของต่างประเทศ มีทั้งสีที่ใช้ในงานจิตรกรรมไทยโบราณ อย่างสีเหลืองธงจากยางต้นธงทอง สีแดงจากชาด กาวสารพัดชนิด เช่น กาวจากการคั่วเม็ดมะขาม เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาของคนไทยที่กำลังสูญหาย จนถึงกาวหนังกระต่ายจากต่างประเทศ แม้แต่กระดาษก็ต้องมีหลายชนิด บางชนิดพวกเขาก็ต้องเฟ้นหาสุดฝีมือ อาทิ กระดาษข่อย ที่คนทำเหลือน้อยเต็มที ซึ่งกระดาษข่อยจะนำมาใช้ในการซ่อมแซมงาน เพื่อให้งานออกมาเหมือนแบบเดิมที่สุดเท่าที่ทำได้

รวมถึงชิ้นงานบางชิ้นที่กรอบภาพมีคุณค่าและอายุมาก สุริยะที่เชี่ยวชาญด้านงานไม้ ก็ต้องใช้เวลาศึกษาอย่างลงลึกก่อนลงมืออนุรักษ์ จึงทำให้ทั้งคู่ได้เห็นองค์ความรู้ของคนโบราณจำนวนมากอย่างใกล้ชิด จากการสืบกระบวนการเพื่อนำมาใช้อนุรักษ์ เช่น ภาพในกรอบของวัดสุทัศน์ฯ ที่ขวัญจิตมีโอกาสได้รับผิดชอบ กว่าจะนำภาพที่อยู่ภายในกรอบออกมาได้ใช้เวลานานพอสมควร ทำยังไงก็ถอดออกมาไม่ได้ สุดท้ายสุริยะค้นพบว่า บริเวณหัวของกรอบมีรอยของการลงลิ่มเมื่อถอดออก ชิ้นส่วนของกรอบก็ค่อยๆ คลายออกจากกัน เป็นภูมิปัญญางานไม้ของคนโบราณที่น่าทึ่งมาก

ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย
ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย

ศิลปินซ่อมงานตัวเองได้ไหม

สมัยทำงานอยู่ในสำนักพิพิธภัณฑ์ เราเคยได้รับมอบหมายให้ซ่อมงานของศิลปินระดับประเทศ ตอนนั้นเป็นงานของ อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ เราเกรงเพราะศิลปินยังมีชีวิตอยู่ ไม่กล้าซ่อม ก็เลยถ่ายรูปและไปปรึกษา แกบอกว่า ชิ้นนี้ผมจำได้ ผมเคยซ่อม แต่มันไม่โอเค เอาเลย คุณเป็นช่างอนุรักษ์ คุณไม่ต้องเกรงใจผม อะไรที่คุณเห็นว่าดี ที่ควรอนุรักษ์ คุณทำเลย แต่ก็ไม่ใช่สำหรับศิลปินทุกคนนะคะ” ขวัญจิตหยุดถอนหายใจ “ศิลปินบางท่าน พอรู้ว่าจะมีงานอนุรักษ์ เขาก็ติดต่อถึงอธิบดีเองเลย งานชิ้นนี้เป็นของผม ผมจะซ่อมเอง ไม่ต้องการให้ใครมาแตะต้อง ทีนี้ในความรู้สึกเรา มันเคยมีงานที่ส่งไปให้ศิลปินซ่อมเอง เรามองเห็นปัญหาแล้วว่า การที่ศิลปินซ่อมงานของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรเลย

“เพราะงานที่อยู่ในหอศิลป์แห่งชาติ เขาทำในสมัยที่ตัวเองยังเป็นนักเรียน พอศิลปินเห็นงานที่ตัวเองเคยทำก็อดไม่ได้ที่จะเติมแต่ง พยายามปิดข้อบกพร่อง เอาทักษะปัจจุบันเข้าไปใส่ เพื่อให้มันดีขึ้นในความคิดของเขา หลายคนที่เพนต์งานตัวเองได้ก็ซ่อมงานตัวเองไม่ได้ เพราะสีมันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา มันต้องผสมและเบรกสีเพื่อให้กลมกลืน ไม่ใช่ใช้สีสดๆ เหมือนตอนทำใหม่ๆ หลายชิ้นที่เราเห็นศิลปินซ่อมกลับมา มันไม่กลมกลืน พอสีโดด ก็แก้ปัญหาไม่ได้ เลยเติมเข้าไปอีก สุดท้ายกลายเป็นการป้ายสีทับงานเก่าตัวเอง งานชิ้นนั้นกลายเป็นงานชิ้นใหม่ไปเลย”

ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย
ภาพซ้าย : ฝีมือศิลปิน กาลิเลโอ กีนี (Galileo Chini) ประติมากรและจิตรกรชาวอิตาเลียน ที่เขียนพระที่นั่งอนันตสมาคม สมัยรัชกาลที่ 6
ภาพขวา : คุณหญิงประหยัด เชวงศักดิ์สงคราม วาดโดย อาจารย์จำรัส เกียรติก้อง 

“ตลอดการทำงาน เราเคยมีปัญหากับศิลปินที่อยากซ่อมงานเอง เราต้องบอกตามตรงว่า งานชิ้นนี้เป็นผลงานของอาจารย์ แต่อาจารย์อย่าลืมนะว่าเป็นผลงานของอาจารย์สมัยเรียน ปัจจุบันอาจารย์เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง และงานเหล่านี้เป็นงานที่อยู่ในหอศิลป์แห่งชาติ ถือว่าเป็นสมบัติของชาติแล้ว มันอาจไม่สมบูรณ์แบบอย่างใจอาจารย์ต้องการ แต่มันเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ เรามีบทเรียนจากการให้ศิลปินซ่อมเองมามากพอแล้ว การที่ศิลปินแต่งเติมงานจนกลายเป็นงานอีกชิ้นหนึ่ง ประวัติศาสตร์ก็ถูกเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น ศิลปินต้องยอมรับตรงนี้” เธออธิบายความจริง

งานอนุรักษ์ คือ การส่งต่อ

การทำงานอนุรักษ์จะต้องจดบันทึกกระบวนการต่างๆ รวมถึงเครื่องมือและวัสดุที่ใช้อย่างละเอียด

“หลักการหนึ่งของการทำงานอนุรักษ์ที่ต้องจำไว้เสมอคือ เราไม่ใช่คนสุดท้ายที่จะทำงานอนุรักษ์ ต้องคิดเผื่อนักอนุรักษ์ที่จะเข้ามาทำงานต่อในอีกหลายปีข้างหน้า งานที่อนุรักษ์เสร็จแล้ว เราจะแนบประวัติไปด้วย คล้ายกับประวัติคนไข้ ว่าเขาผ่านการรักษาแบบไหน ใช้ยาอะไร เพื่อให้คนที่จะดูแลต่อ รักษาได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องคลำทางเหมือนเรา

“ต้องบอกตามตรงว่าส่วนใหญ่การทำงานอนุรักษ์ในบ้านเราเป็นงานหินทั้งนั้นเลย ถ้าไม่เจออาการหนักจนสาหัส เขาไม่ส่งมาให้ซ่อมหรอก เหมือนไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา บ้านเราขาดความรู้ด้านการอนุรักษ์เชิงป้องกัน การดูแลสภาพแวดล้อม การยึดตรึง การเข้ากรอบที่ถูกต้อง ขั้นตอนเหล่านี้เราไม่ได้สนใจเลย ทั้งที่มันสำคัญมาก ต่อให้ซ่อมแซมหรือใช้วัสดุอย่างดี แต่พอกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น ผนังชื้นมาก แดดส่องถึง หรืออุณหภูมิขึ้นลงตลอดเวลา ก็ส่งผลให้งานมีอายุสั้นลง และกลับมาเสียหายได้อยู่ดี ทุกครั้งที่ส่งภาพคืน เราจึงพยายามให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์เชิงป้องกันกับผู้เป็นเจ้าของภาพกลับไปด้วย” นักอนุรักษ์หญิงผู้อยู่เบื้องหลังภาพพูดด้วยน้ำเสียงและแววตาจริงจัง

มาสเตอร์พีซของคนทำงานอนุรักษ์งานศิลปะ

“การทำงานของเราคือการเก็บเรื่องราว ความสำคัญ และคุณค่า ของงานนั้นๆ เพื่อจะบอกต่อ ส่งต่อคุณค่าให้ผู้คนได้รับรู้ อย่างเราซ่อมงานวัดสุทัศน์ฯ หลายคนบอกว่าไปวัดสุทัศน์ฯ ไม่เคยสนใจแหงนไปดูภาพในกรอบเลย หลายคนตื่นตะลึงกับจิตรกรรมฝาผนัง แต่หลังจากที่เราแชร์ภาพในกรอบของวัดสุทัศน์ไป หลายคนเริ่มหันมาดู มันสวยแบบนี้นี่เอง

“เรารู้สึกซาบซึ้งในคุณค่าของงาน มันไม่ใช่แค่งานศิลปกรรม แต่มันทำให้เราทึ่งในความคิดและกระบวนการสร้างงานตั้งแต่การผลิตกระดาษ ซึ่งเป็นกระดาษข่อยทำมือและทำได้แผ่นใหญ่มาก ทั้งที่เทคโนโลยียุคนั้นยังน้อย การเข้าลิ่ม การสลัก แม้แต่การใช้สีฝุ่นก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราทึ่ง และยืนยันว่างานชิ้นนั้นมีคุณค่ามาก แม้เวลาจะผ่านมาแล้วสองร้อยกว่าปีแต่ภาพยังสดใส ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนสติปัญญาของคนในยุคนั้นได้อย่างดี ซึ่งมันไม่ธรรมดาเลย 

ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย

“บางทีคนสงสัยว่าทำไมเราถึงต้องเขียนข้อมูลพวกนี้ลงบนเฟซบุ๊ก เราไม่ได้ต้องการอวดภูมิความรู้ของเรานะ แต่เราอยากอวดภูมิความรู้ของคนที่ทำงานภาพนั้นๆ เราหน้าที่ซ่อม เป็นการดูแลแค่ชั่วคราว แต่เราภูมิใจที่ได้มีหน้าที่ดูแลงานชิ้นนั้น เราภูมิใจที่เชื่อมงานเหล่านั้น และส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้ซาบซึ้งเหมือนที่เรากำลังรู้สึกอยู่ในตอนนี้

“การจะให้ผู้คนหันมารักหรือมีใจอนุรักษ์ เราต้องทำให้เขารู้สึกว่างานชิ้นนั้นมีคุณค่าจริงๆ แล้วเราจะทำยังไงให้คนรับรู้คุณค่าของงานเหล่านี้ ซึ่งเราอยากสะท้อนให้เขาเห็นในฐานะที่เราเป็นนักอนุรักษ์ เรามีโอกาสสัมผัสชิ้นงาน สัมผัสสี สัมผัสกระดาษ ซึ่งคนทั่วไปไม่มีโอกาสเลย แต่เราเห็นกระบวนการทุกอย่างในภาพนั้น และเราเชื่อว่าการส่งต่อจะทำให้เขามองภาพชิ้นหนึ่งเปลี่ยนไป พอเขาสัมผัสถึงคุณค่าของงาน เขาจะรักและอนุรักษ์งานชิ้นนั้นเองโดยปริยาย

“ถ้าทำแบบนั้นได้ นั่นแหละคือมาสเตอร์พีซของเราในฐานะนักอนุรักษ์” เธอจบบทสนทนาด้วยรอยยิ้ม

ขวัญจิต และ สุริยะ เลิศศิริ คู่รักนักซ่อมงานศิลปะโบราณ มรดกศิลปะทั่วฟ้าเมืองไทย

หากสนใจการทำงานอนุรักษ์ของ ขวัญจิต เลิศศิริ ติดตามการทำงานของเธอได้ที่ Kwanjit Lertsiri นอกจากความรู้ด้านงานอนุรักษ์ เธอยังนำภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยอย่างกาวมะขาม มาผลิตเป็นสินค้าให้กับผู้ที่สนใจอีกด้วย

Writer & Photographer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่