01
การเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น
Kurikindi Collabo Bay พื้นที่สังสรรค์ทางความคิด โรงเรียนทางเลือกใจกลางกรุงโซลที่เพิ่งเปิดใหม่ได้ไม่ถึงปี แตกแขนงมาจาก Haja Center โรงเรียนทางเลือกที่มีอายุ 20 กว่าปีแล้ว
สิ่งที่ Kurikindi ต้องการทำ คือทำให้ผู้เรียนเข้าใจว่าทุกการกระทำของเขา ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอนาคตอย่างไร การมีชีวิตที่ดีคืออะไร ถ้าเราไม่เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ในทุกวัน ในทุกการกระทำของเรา นี่คือปรัชญาหัวใจของที่นี่ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เข้ามาค้นหา ทดลอง เรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้

ชื่อของศูนย์การเรียน Kurikindi มาจากชื่อของนกฮัมมิงเบิร์ด มีเรื่องราวเล่ากันมาว่าวันหนึ่งมีไฟไหม้ป่า สัตว์ป่าทุกตัวกำลังวิ่งหนีออกจากป่า ยกเว้นเจ้านกน้อยที่บินสวนเข้าไปในป่า พร้อมกับน้ำหยดน้อยๆ ในจงอยปากเพื่อจะดับไฟป่า ระหว่างทางบินสวนไปกับสัตว์น้อยใหญ่อื่นๆ พวกเขาต่างพากันตั้งคำถามและหัวเราะเยาะเจ้านกน้อยตัวนี้
“จะบ้าเหรอ ทำอะไรไร้สาระ น้ำหยดน้อยๆ แค่นั้นจะดับไฟป่าได้อย่างไร”
นกตัวน้อยมีคำตอบในใจว่า “ฉันทำสิ่งเล็กๆ ที่ฉันทำได้”
หยดน้ำน้อยๆ ทีละหยด ดับไฟป่าได้เมื่อไหร่ไม่รู้ แต่อย่างน้อยที่สุดมันได้ดับไฟในใจของนกน้อยที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง
Be the change you want to see.
02
จินตนาการเมืองใน 70 ปีข้างหน้า




วันแรกที่เข้าไปที่ศูนย์การเรียนนี้ เราได้รับบัตรเชิญเข้างานนิทรรศการ ‘จินตนาการเมืองใน 70 ปีข้างหน้า’ ของเด็กๆ ระดับประถม มีการฉายหนังแอนิเมชันที่ทำมาจากภาพวาดของเด็กๆ ที่จินตนาการเมืองโซล เกาหลีใต้ ในอีก 70 ปีข้างหน้าเอาไว้ต่างๆ นานาว่า
“จะมีสัตว์ประหลาดและโรคประหลาดลงมาเล่นและระบาดบนโลกราวกับว่านี่เป็นโลกของพวกเขา”
“จะมีหุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์ทั่วทั้งโลก”
“พืชและสัตว์ต่างๆ จะสูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก”
“มหาสมุทรทั้งโลกติดเชื้อ ขยะลอยเต็มทะเล มนุษย์ไม่สามารถเล่นน้ำทะเลได้อีก”
“โรงเรียนจะพังไม่มีเหลือ และไม่มีประโยชน์อีกต่อไป”
ฉายหนังแอนิเมชันเสร็จ มีกิจกรรมพูดคุยของเด็กๆ เจ้าของผลงานเหล่านั้น ระหว่างดูหนังอนาคตในจินตนาการของเด็กๆ ช่างไร้ความหวังจริงหนอ แต่เมื่อได้ฟังการพูดคุยของเด็กๆ เจ้าของผลงาน เรารู้สึกว่าความหวังอยู่ในมือของพวกเขา เด็กๆ หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่พวกเขาจินตนาการกำลังมาถึงในไม่ช้า โลกเปลี่ยนแปลงในอัตราที่เร็วขึ้นทุกวัน โดยที่คนตัวเล็กๆ อย่างพวกเขาอาจควบคุมมันไม่ได้
สิ่งเดียวที่พวกเขาเปลี่ยนแปลงได้ คือการกระทำเล็กๆ ของพวกเขาในแต่ละวัน เหมือนเจ้านกน้อย Kurikindi นั่นล่ะ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ปลูกผักบนดาดฟ้าหรือหน้าบ้าน การใส่ใจเรื่องการแยกขยะ การตื่นตัวและลงมือเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมรอบๆ บ้านและในบ้าน

03
การบ่มเพาะความสมบูรณ์ของมนุษย์


วันต่อมาที่ศูนย์การเรียน เราขึ้นไปเรียนวิชา Urban Farming เกษตรในเมือง เด็กๆ ชาวโซลได้เรียนรู้ว่าอาหารของพวกเขาเดินทางมาจากไหน และมีโอกาสได้ลงมือทำแปลงผักบนดาดฟ้าของโรงเรียนพวกเขา
‘ยางชาง’ ครูผู้สอนเป็นเกษตรกรตัวจริงที่เดินทางมาสอนทุกสัปดาห์ ครูยางชางบอกว่า “หน้าที่ของเกษตรกรไม่ใช่แค่เพาะปลูกพืชผลให้คนกิน แต่ต้องให้การศึกษากับผู้บริโภคด้วยว่าอาหารคืออะไร เส้นทางปลอดภัยและเหมาะสมกับมนุษย์เป็นอย่างไร” นั่นเป็นเหตุผลที่เขาเสนอตัวเข้ามาสอนในโรงเรียนต่างๆ ใจกลางกรุงโซล เขาเชื่อว่าการที่เกษตรกรออร์แกนิกทำงานอยู่ในเรือกสวนไร่นาไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลง
“ปลูกแค่พืชผลนั้นสั้นเพียงฤดูกาล ปลูกความคิดคนนั้นยาวเป็นทศวรรษ”
เด็กๆ กำลังรื้อแปลงต้นฝ้ายที่ใช้ในห้องเรียน Cotton School เพราะอากาศหนาวและหิมะแรกกำลังจะมาในไม่ช้า ต้นผักกาดในกระสอบดินของพวกเขาก็กำลังงาม พร้อมทำกิมจิในไม่กี่วัน แปลงที่รื้อต้นฝ้ายออกไปนั้น พวกเขาปรุงดินใหม่ให้อร่อย ด้วยการใส่อินทรียวัตถุและปุ๋ยหมักที่ทำไว้ตั้งแต่ฤดูร้อน และดูเหมือนว่าพวกเขากำลังจะลงต้นหอมต้นใหญ่ลงไปในแปลง

เสร็จจากภาคปฏิบัติบนดาดฟ้า เด็กๆ กลับเข้าห้องเรียนเพื่อเรียนเรื่องการตัดต่อ GMO ของเมล็ดฝ้ายในอินเดีย ที่ทำให้อินเดียมีเกษตรกรฆ่าตัวตายปีละนับแสน
ที่โรงเรียนมีห้องครัวที่ทำโดยนักเรียนโปรแกรม Young Chef นักออกแบบอาหารรุ่นใหม่ เด็กๆ เล่าให้เราฟังว่า เมนูซุปผักวันนั้น มีผักกาดที่พวกเขาปลูกบนดาดฟ้าด้วย
วันต่อมา ครูยางชางชวนนักเรียนไปฟาร์มของเขาที่ชานเมืองโซล เรานั่งรถไฟฟ้าไปสุดสาย เด็กๆ ได้ลงภาคปฏิบัติที่ฟาร์มของยางชางเดือนละครั้งหรือสองครั้ง พวกเขาจะได้สัมผัสวิถีชีวิตของเกษตรกรตัวจริงว่าอยู่กันอย่างไรอีกด้วย
เด็กๆ คนหนึ่งชี้ชวนให้เราดูสวนที่กว้างสุดตา แล้วพูดว่า “สวยอย่างกับภาพวาด”
เขาคิดว่า “เกษตรกร ก็คือศิลปินที่ปัดพู่กันลงบนพื้นดินนั่นเอง”


04
การออกแบบอาหารเพื่อผู้อื่น
“ส่งต่อคุณค่าที่คุ้นเคยในแต่ละจาน”
อีกโปรแกรมพิเศษของที่นี่คือโปรแกรม Young Chef นักออกแบบอาหารรุ่นใหม่ ซึ่งเปิดเป็นครัวมืออาชีพให้เด็กๆ ที่สนใจจะเป็นเชฟ ไม่ได้หมายความว่าเป็นแค่คนทำอาหาร แต่เป็นนักออกแบบอาหาร อาหารกลางวันทุกวันที่นี่มาจากครัวของเด็กๆ โปรแกรมนี้
บ่ายวันนั้น สิ่งที่เราได้เห็นคือช่วงเวลาที่เด็กๆ บอกว่าตึงเครียดที่สุด คือการออกแบบเมนูมาให้คณะกรรมการครูมืออาชีพลองชิม จากวัตถุดิบที่พวกเขาเลือกสรร เด็กๆ ต้องนำเสนอว่าพวกเขากำลังส่งต่อคุณค่าอะไรในเมนูอาหารแต่ละเมนู อาจไม่ต้องยากพิสดารอะไรเลย เป็นเพียงเมนูบ้านๆ ที่คุ้นเคยก็ได้ แต่ความใส่ใจต่อผู้บริโภคคืออะไรตรงไหนบ้าง หากนักออกแบบชัดเจน เขาเชื่อว่าผู้ทานอาหารจะรู้สึกได้มากกว่าแค่รสชาติ
เด็กคนหนึ่งในโปรแกรมเล่าว่า สิ่งที่เธอกังวลปนตื่นเต้นเสมอต่อการทำอาหารแต่ละจาน คือจะทำให้ชีวิตของคนกินดีขึ้นได้อย่างไร อาหารเป็นสิ่งที่กินเข้าไปแล้วสร้างการเปลี่ยนแปลงในร่างกายทันที คนกินอาจกำลังหิว กำลังเศร้า กำลังหมดหวัง ท้อแท้ อาหารที่เธอทำให้พวกเขากิน จะทำให้พวกเขาอิ่มท้องและรู้สึกดีกับชีวิตขึ้นได้บ้างรึเปล่า



05
Collabo Bay พื้นที่สังสรรค์ทางความคิด
ป้ายบนอาคารเรียนที่นี่ไม่ใช้คำว่า School หรือโรงเรียน แต่เขาใช้คำว่า Collabo Bay พื้นที่สังสรรค์ พบปะทางความคิด เพื่อนครูที่นี่เล่าว่าพวกเขาก่อตั้งที่นี่จากทุนรัฐบาล ซึ่งประกาศให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์หลายๆ ด้าน ไม่ว่าเรื่องการศึกษา เทคโนโลยี วัฒนธรรม ศิลปะ เขียนโครงการเข้ามาขอทุนใช้อาคารเหล่านี้ ซึ่งเคยเป็นย่านศูนย์ราชการร้างของรัฐ โดยรัฐยังให้ทุนตั้งต้นสำหรับประกอบการเพื่อสังคมอีก 3 – 5 ปี
เพื่อนครูกลุ่มนี้จึงแยกตัวออกมาแตกแขนงออกมาจาก Haja Center ทำโปรแกรมการศึกษาทางเลือกใหม่ชื่อว่า Kurikindi Collabo Bay พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นพื้นที่สังสรรค์ทางความคิด และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเด็กและเยาวชน โดยเริ่มต้นที่การกระทำเล็กน้อยๆ
วันที่เราไปถ่ายทำที่นี่ ยังได้กลิ่นสีที่เพิ่งทาใหม่ๆ ของอาคาร ครูและเด็กๆ บ่นว่าไม่ชอบกลิ่นสีที่รัฐทาไว้ให้เลย พวกเขาบอกว่าจะใช้สีจากดินฉาบผนังของห้องเรียนใหม่ไปเรื่อยๆ เพื่อลบกลิ่นสีพลาสติกให้หมดไปในไม่ช้า

รู้จักการศึกษาทางเลือกนานาชาติเพิ่มเติมได้ทาง รายการบินสิ ช่อง ThaiPBS