ซุ้มอาร์เคด พื้นที่ทางเดินหน้าร้านค้าที่เรียงต่อกันระหว่างห้องตึกแถวคละสีคลุมโทน รูปลักษณ์ภายนอกที่ผสมผสานองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมระหว่างตะวันตกและตะวันออก ป้ายร้านค้าที่เขียนด้วยตัวหนังสือจีนขนาดใหญ่ บ้างสีแดงบ้างสีทอง และสัญลักษณ์เครื่องรางเครื่องตกแต่งของคนจีนทอดแทรกอยู่ตามเสาโรมัน ประตูโค้ง หน้าต่างครึ่งวงกลม ชานระเบียง หรือแม้แต่ซุ้มกระถางต้นไม้ติดหน้าต่าง เหล่านี้เป็นกลิ่นอายและเอกลักษณ์ของตึกแถว ช็อปเฮ้าส์ จากยุคโคโลเนียลของย่านเมืองเก่าเซี่ยงไฮ้ อาจเรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของ ’ยุคโมเดิร์นจีน’ ในช่วงทศวรรษที่ 1930 – 1940
ฉากสถาปัตยกรรมโคโลเนียลของเมืองเซี่ยงไฮ้แบบนี้ เรามักจดจำจากภาพยนตร์จีนคลาสสิกที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองเซี่ยงไฮ้ในยุคอันธพาล เจ้าพ่อ มาเฟียครองเมือง เต็มไปด้วยการต่อสู้ระหว่างแก๊งต่าง ๆ การเข้าแทรกแซงหน่วยงานราชการ และการกดขี่รังแกชาวบ้านผู้หาเช้ากินค่ำ ตรอกเล้าหมู ชุมชนที่มียอดฝีมือแฝงตัวอยู่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรม
นั่นคือเรื่องอย่างย่อของหนังจีนกำลังภายใน เรื่อง กังฟูฮัสเซิล ‘Kung Fu Hustle’ (功夫) หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อ ‘คนเล็กหมัดเทวดา’ ซึ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกใน ค.ศ. 2004 กำกับและแสดงนำโดย โจว ซิงฉือ
ภาพยนตร์แอคชัน-คอเมดี้เล่าและเปรียบเทียบบริบทของเมืองเซี่ยงไฮ้ไว้เหมือนเหรียญสองด้าน
ด้านหนึ่งเป็นฉากในตัวเมืองที่อยู่ในระบบระเบียบ เมืองต้นแบบในอุดมคติที่ซุกซ้อนสิ่งไม่ประพึงประสงค์ไว้หลังบ้าน เมืองที่ความเจริญของโลกสมัยใหม่เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ถนนลาดยาง ฟุตพาทคอนกรีต ระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา น้ำเสียน้ำทิ้ง รวมไปถึงการจัดการขยะและอื่น ๆ
แต่อีกด้านหนึ่ง เป็นฉากของ ‘ตรอกเล้าหมู’ (猪笼城寨) ชุมชนชานเมืองที่ยังไม่ถูกจัดระบบ ผู้คอยป้อนทรัพยากรให้กับตัวเมือง ชุมชนของคนหาเช้ากินค่ำที่มีความแออัด จำนวนผู้อยู่อาศัยหนาแน่นกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดและสัดส่วนของตัวอาคาร
เพราะรูปลักษณะภายนอกที่ดูอึดอัดและผิดระเบียบแบบแผนของทางการ ทำให้ประหนึ่งถูกแปะป้ายจำกัดความว่า ‘ชุมชนคอกหมู’ หรือเป็นชุมชนไม่พึงประสงค์ที่รัฐต้องเข้ามาจัดระเบียบและปรับปรุงจากภายนอก อาจเป็นชีวิตที่ลำบากอันโหดร้าย ซึ่งเป็นความจริงด้านเดียวที่มองผ่านเลนส์ของกฎหมายอาคาร
แต่เชื่อว่าสำหรับชาวจีนโพ้นทะเล ชาวจีนตอนใต้ หรือชาวฮ่องกง ที่เติบโตกับมาภาพจำในอดีตของฉากเหล่านี้ จะรับชมฉากของตรอกเล้าหมูด้วยรอยยิ้ม เพราะทำให้หวนคิดถึงชีวิตที่เรียบง่าย ทำงานหนัก ตรงไปตรงมา การพึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชนอย่างแท้จริง
01
รู้หรือไม่ว่าฉากย่านเมืองเมืองเก่าสุดไอคอนิกของเซี่ยงไฮ้ที่ปรากฏใน คนเล็กหมัดเทวดา นั้น ถ่ายทำในเมืองจำลองของถนนหนานจิง (南京路) ที่อยู่ใน Shanghai Film Park สถานที่สำหรับภาพยนตร์ย้อนยุคหลายเรื่อง โดยตัวฉากของถนนหนานจิงในฟิล์มพาร์กนี้ ได้ถ่ายทอดบรรยากาศสภาพแวดล้อมของตัวเมืองเก่าเซี่ยงไฮ้ในทศวรรษที่ 1930 ผสมผสานกับตึกอาคารสไตล์ยุโรปยุคโคโลเนียล บ้านวิลล่า โบสถ์ คาสิโน่ ผับบาร์ ร้านอาหาร รวมทั้งรถยนต์เก่า สามล้อถีบ รถม้า และรถราง จำลองไว้ในที่เดียว
เหตุผลที่ถนนเส้นนี้มีอาคารยุโรปลูกผสมหลากหลายรูปแบบ เนื่องมาจากถนนเส้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในสนธิสัญญาพิเศษ The Shanghai International Settlement (上海公共租界) ซึ่งเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1839 โดยเปิดให้พ่อค้าต่างชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำกิจการค้าขายได้
จำนวนประเทศที่เข้ามาร่วมในสนธิสัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมาสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1943 หลังกองทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปัจจุบันมีเพียงอาคารบางส่วนเหลืออยู่ ส่วนถนนหนานจิงนั้นยังคงเป็นแหล่งการค้า เป็นถนนช้อปปิ้งที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่ผสมระหว่างอาคารเก่าและใหม่ รวมถึงตึกสูงระฟ้าเข้าด้วยกัน
02
ฉากใน คนเล็กหมัดเทวดา ออกแบบโดย Oliver Wong ผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาเผยความยากลำบากของการสร้างฉากของหนังแอคชันที่ต้องคำนึงถึงจุดต่าง ๆ ที่จะต้องพังเสียหายขณะถ่ายทำฉากต่อสู้ แต่ในขณะเดียวกันพวกมันก็ต้องแข็งแรงพอสำหรับรับน้ำหนัก และต้องตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง
โดยภาพรวมแล้ว ฉากหลัก ๆ นั้นแยกออกเป็น 2 ส่วน หนึ่งคือฐานที่ตั้งของแก๊งขวานซิ่ง และสองคือตรอกเล้าหมูที่อยู่อาศัยของเหล่ายอดฝีมือ
ตึกคาสิโนบนถนนหนานจิงเป็นที่ตั้งของแก๊งขวานซิ่ง (斧頭幫) แก๊งมาเฟียคุมเมืองที่มีอิทธิพลเหนือตำรวจ Wong ได้อธิบายถึงแนวแรกที่ต้องการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ให้ความรู้สึกไม่เป็นมิตร ไม่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยในชีวิตจริง เมื่อเข้ามาภายตัวอาคารจะพบกับโถงขนาดใหญ่เต็มไปด้วยแสงไฟประดับ ทั้งจากตัวเพดานกระจกลายดอกไม้และโคมไฟระย้าที่ย้อยลงมาตามโต๊ะพนันจำนวน 5 – 6 ชุดที่อยู่ตั้งกลางห้องโถง
ต่อมาเมื่อเดินไปจนสุดทางเดินที่ค่อย ๆ มืดลง เราจะพบกับประตูต่อเข้าห้องโถง ที่บัญชาการของแก๊งขวานซิ่ง ห้องโถงโล่ง ๆ ที่มีไฟดาวน์ไลต์เพียงไม่กี่ดวง ทางเดินและลวดลายของพื้นที่เป็นสิ่งที่นำทาง บ่งบอกตำแหน่งและความสำคัญของพื้นที่ ภายในห้องมีเฟอร์นิเจอร์ไม่กี่ชิ้นเมื่อเปิดประตูเข้ามา ทางเดินจะนำสายตาของเราพุ่งตรงไปยังแท่นพื้นต่างระดับ มีชุดโซฟานวมรับแขกที่ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของห้อง โดยมีฉากหลังเป็นรูปปั้นเทพเจ้ากวนอูพร้อมแบล็กดรอปแสงสีแดงเข้ม ถือเป็นพื้นที่ที่จงใจสร้างขึ้นเพื่อข่มขู่คู่เจรจาก็ว่าได้
ในขณะที่ตัวเมืองถูกครอบงำด้วยมาเฟีย ตรอกเล้าหมูก็ปกครองโดยเจ๊สี่และเฮียแหลม สองผัวเมียเจ้าของที่ดินและตึกห้องเช่าสูง 4 ชั้นจากยุคโคโลเนียล อาคารมีรูปทรงเป็นรูปตัว U และมีลานกว้างอเนกประสงค์อยู่ตรงกลางตามชื่อของมัน
ห้องเช่าของตึกแห่งนี้มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับจำนวนผู้อยู่อาศัย เปรียบเหมือนคอกหมูขนาดใหญ่ สะท้อนให้เห็นคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกันของฉากในตัวเมือง ตัวอาคารนั้นตั้งอยู่ในเขตชนบทของเมืองเซี่ยงไฮ้ บนพื้นดินลูกรังโล่ง ๆ เมื่อมองไปบริเวณรอบอาคาร จะมองเห็นบ้านแถวอีกประมาณ 4 – 5 หลังอยู่ภายในชุมชน โดยซุ้มทางเข้าของชุมชนจะมีป้ายชื่อและสัญลักษณ์รูปหมูเป็นตัวบ่งบอกอาณาเขต
จุดเด่นของตัวตึกคือการจัดวางบันไดทางขึ้น ระเบียงทางเดิน และหน้าบ้าน ประตู หน้าต่าง ของแต่ละห้อง หันหน้าเข้ามาที่ลานคอร์ตยาร์ดรงกลาง จุดศูนย์กลางที่ไม่ว่าใครจะไปไหนมาไหน ก็ต้องได้เห็นหน้าค่าตากันบ้างอย่างแน่นอน
การออกแบบฉากเสมือนเวทีที่คอยปล่อยตัวนักแสดงออกมาสร้างเสียงฮา ไม่จะการเปิดประตูหน้าต่างเพื่อสอดส่องลูกบ้านของเจ๊สี่และเฮียแหลม ตัวละครที่เดินลงมาจากบันไดกลาง เป็นต้น
03
อีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจคือการใช้รูปทรงตัวยูของตัวตึก เพื่อสร้างกำแพงล้อมรอบ เปิดให้มีทางเข้าทางออกทางเดียว ชวนคิดถึงหมู่บ้านกำแพงทรงกลมของชาว Hakka สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชาวจีนทางตอนใต้ที่นิยมสร้างกำแพงล้อมรอบหมู่บ้านเพื่อความปลอดภัย ป้องกันการโจมตีและปล้นสะดม แต่ละชั้นของตัวบ้านจะแบ่งหน้าที่และประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกัน ชั้นแรกเป็นที่เก็บน้ำ เลี้ยงสัตว์ ชั้นที่ 2 เป็นที่เก็บอาหาร และชั้นที่ 3 แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย
ในรูปแบบที่คล้ายกันนี้ ชั้นแรกของตรอกเล้าหมูเป็นพื้นที่ส่วนรวม แบ่งไว้สำหรับห้องน้ำส่วนกลาง พื้นที่ซักล้าง โรงเก็บข้าว ร้านค้าของลูกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านตัดผมใต้บันได ร้านตัดเสื้อ ร้านหมี่โจ๊กปาท๋องโก๋ ฯลฯ ส่วนชั้นอื่น ๆ นั้นแบ่งเป็นที่พื้นที่อยู่อาศัยของแต่ละครอบครัวไป
ข้อดีของระเบียงทางเดินที่ยื่นออกมาจากตัวอาคารในชั้นที่สูงขึ้นไป คือช่วยบังแดดให้กับร้านค้าและห้องพักที่อยู่ชั้นล่างถัดลงไปได้
04
ภาพความทรงจำในวัยเด็กของทั้งโจว ซิงฉือ และ Oliver Wong มีส่วนสำคัญอย่างมากในการถ่ายทอดบรรยากาศของตรอกเล้าหมู เค้าโครงของย่านชุมชนแออัดที่มีเอกลักษณ์ที่สุดอย่างชุมชนแออัดลอยฟ้า ‘เกาลูนวอลล์ซิตี้’ (Kowloon Walled City) ในฮ่องกง เมืองของคนหาเช้ากินค่ำที่เติบโตอย่างรวดเร็วเหนือการควบคุมของภาครัฐ ชุนชนนี้มีขนาดบล็อกกว้าง 213 เมตร ยาว 126 เมตร เริ่มต้นใน ค.ศ. 1898 ด้วยประชากรเพียง 700 คน เพิ่มขึ้นเป็น 2000 คนในช่วงทศวรรษ 1940 และสุดท้ายก่อนจะถูกรื้อถอนใน ค.ศ. 1980 มีตัวเลขผู้อยู่อาศัยราว 50,000 คน
จากตึกแถว 2 – 3 ชั้น ได้ต่อเติมความสูงไปเรื่อย ๆ จนถึง 6 – 7 ชั้น โดยแต่ละห้องนั้นอาจมีขนาดเล็กเพียง 4 ตารางเมตร
ในฉากเปิดตัวของตรอกเล้าหมู เราจะพบผู้อยู่อาศัยยืนต่อคิวกันเป็นแถวเพื่อใช้น้ำปะปา แต่ไม่ทันไรวาล์วก๊อกน้ำก็ถูกปิด เจ๊สี่เจ้าของที่วิ่งลงมาบ่นเกี่ยวกับการใช้น้ำที่ฟุ่มเฟือยของผู้เช่า ทั้งยังมีกำหนดเปิดปิดน้ำแบบวันเว้นวันอีกด้วย เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงใน Kowloon Walled City ที่ไม่มีแหล่งน้ำปะปาของทางการมาจ่ายน้ำได้มากพอ จนผู้อยู่อาศัยเริ่มขุดบ่อน้ำบาดาลกลางเมือง เพื่อดึงน้ำขึ้นมาใช้กันเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ส่งผลดีต่อโครงสร้างอาคาร
ต่อมาเมื่อทางการเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างท่อน้ำเพิ่มให้ แต่จำนวนประชากรก็กลับยิ่งเพิ่มขึ้นอีก จึงกลายเป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่ภาครัฐแก้ไขไม่ได้
แม้ว่าภาพที่ปรากฏจะดูน่ากลัวสำหรับบุคคลภายนอก แต่สำหรับผู้คนที่เคยอาศัยนั้น หลายคนยังจดจำภาพวิถีชีวิตในอดีตและยังจดจำมันด้วยความรัก ความสัมพันธ์ของชุมชนที่แน่นแฟ้น แม้ยากจนแต่มีความสุข เช่นเดียวกับการในฉากภาพยนตร์ ที่เหล่ายอดฝีมือกังฟูเลือกใช้ชีวิตเรียบง่ายในตรอกเล้าหมู แบบคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำ
05
ฉากจากภาพยนตร์ คนเล็กหมัดเทวดา สะท้อนให้เห็นรูปแบบของเมืองใน 2 บริบท เมืองที่อยู่ในระบบระเบียบ มีสาธารณูปโภคครบถ้วน กับอีกชุมชนหนึ่งที่แม้จะยังขาดแคลนระบบต่าง ๆ แต่ก็จัดสรรแบ่งปันทรัพยากรเท่าที่มีได้ แม้ว่าจำนวนของผู้อยู่อาศัยของตรอกเล้าหมูจะไม่ได้หนาแน่น และขยับขยายเทียบเท่าสภาพของเมืองเกาลูนวอลล์ซิตี้ ตรอกเล้าหมูก็สะท้อนให้ความสามารถของเมืองที่พึ่งตนเองได้
เมืองกำแพง Kawloon City อาจเรียกได้ว่าเป็นอุบัติเหตุของการวางผังเมืองและนโยบายสาธารณะของภาครัฐ แต่ก็แสดงความสวยงามอีกด้านหนึ่งทางสถาปัตยกรรมออกมา แม้จะเป็นความงามที่ค่อนไปทางดิสโทเปีย (Dystopia) ก็ตาม
และนั่นอาจทำให้เราตั้งคำถามที่น่าคิดได้ว่า จะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะอยู่ในชุมชนหรือบ้านที่ไม่เชื่อมต่อกับสาธารณูปโภคหลักกับส่วนกลาง อาทิ ไฟฟ้า น้ำปะปา ระบบน้ำเสีย และการจัดการขยะ หรือแม้แต่การไม่ออกแบบตามระเบียบกฎหมายอาคาร ไม่ว่าจะเป็นกฎ FAR (สัดส่วนพื้นที่อาคาร) การเว้นระยะร่น พื้นที่ว่างของตัวอาคาร และอื่น ๆ
หากความล้มเหลวของ Kowloon Walled City เกิดจากการเติบโตของพื้นที่อยู่อาศัยที่เพิ่มพูนอย่างรวดเร็วเกินไป โดยไม่ได้คำนึงถึงทรัพยากรที่ต้องจัดสรรหาพื้นที่ เพื่อมาสร้างและผลิตพลังงานและทรัพยากร รองรับความต้องการในการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่นไฟฟ้าหรือน้ำปะปา
เป็นไปได้ไหมที่เราจะสร้างเมืองที่พึ่งพาตนเองและการเติบโตด้วยตนเองได้ เมืองที่ผลิตพลังงานไฟฟ้า น้ำปะปาสำหรับอุปโภคและบริโภค ได้มากพอต่อความต้องการของจำนวนประชากรที่มี เมืองที่มีวิวัฒนาการแบบออร์แกนิก เมืองที่ไม่ได้เพียงยึดติดกับลายลักษณ์อักษรที่กำหนดไว้ในตัวกฎหมาย
คำถามคือ หน้าตาคือเมืองเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร
เมืองเหล่านั้นจะจุผู้อยู่อาศัยได้กี่คน
เมืองนอกรีตที่ไม่เชื่อมกับสาธารณูปโภคส่วนกลางจะต้องการพื้นที่จำนวนเท่าไร ในการสร้างพลังงานและทรัพยากรเพื่อให้พึ่งพาตนเองได้