ป้องแอ้ว ดอหางฮี อีเตี้ย ปลาเข็ง
หากคุณไม่รู้ว่าคำข้างต้นคืออะไรถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคุณรู้ล่ะก็ คุณอาจเป็นแฟนพันธุ์แท้ข้าวไทย เพราะคำข้างต้นเป็นตัวอย่างพันธุ์ข้าวในแปลงอนุรักษ์ของ ‘กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง ตำบลกำแมด’ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร
ดาวเรือง พืชผล ประธานกลุ่มเล่าให้เราฟังว่า นับตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ที่กลุ่มก่อตั้ง วันนี้พวกเขารวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองได้กว่าร้อยพันธุ์ มีทั้งพันธุ์พื้นเมืองในกำแมดและพันธุ์พื้นเมืองพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศไทย
“ผมว่ากลุ่มเราน่าจะเป็นกลุ่มเดียวที่ทำโดยภาคประชาชน ชาวนาทํากันเอง”
คุณภาพเมล็ดพันธุ์และความหลากหลายก็ทำให้ชื่อเสียงของกลุ่มชาวกำแมดโด่งดังในวงการชาวนา ตั้งแต่เหนือจรดใต้ต่างเดินทางมาเพื่อเมล็ดพันธุ์ข้าวของพวกเขา
ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่กลุ่มจะก่อตั้ง แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืนเริ่มแพร่หลายในกลุ่มชาวนาไทย รวมไปถึงชาวนาที่กำแมด หลายคนหันมาทำนาข้าวอินทรีย์
“ความยั่งยืนในความหมายของเรา คือชาวนาผลิตทุกอย่างเท่าที่ทำได้เอง มีปริมาณพอกินระดับครอบครัว สร้างรายได้ความมั่นคง และที่สำคัญยังส่งต่อความรู้ให้คนรุ่นหลังได้ด้วย”
แต่ชาวนากำแมดก็ยังเข้าใกล้คำว่า ‘ยั่งยืน’ อย่างสมบูรณ์ไม่ได้ ดาวเรืองบอกว่าเหตุผลคือชาวนายังต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวมาปลูก เกิดการพึ่งพาภาคธุรกิจอย่างมาก จนทำให้ธุรกิจภาคเกษตรกรรมเติบโตเรื่อย ๆ ขณะที่ชาวนามีต้นทุนที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
การหาทางออกจึงเกิดขึ้น นั่นคือชาวนากำแมดต้องเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ข้าว ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เอง แล้วไม่ใช่แค่พันธุ์ข้าวเศรษฐกิจ แต่รวมไปถึงทุก ๆ สายพันธุ์ที่มีอยู่ ภารกิจผลิตและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองจึงเริ่มต้นขึ้น
“ในอดีตกำแมดมีพันธุ์ข้าวของตัวเองตั้ง 62 พันธุ์ แล้วมันก็หายไป คนรู้จักพันธุ์ข้าวอย่างมากแค่ 2 – 3 พันธุ์ เช่น ข้าวหอมมะลิ 105, ข้าว กข15, ข้าวเหนียว กข6 ซึ่งเป็นข้าวเศรษฐกิจ”
ชาวนากำแมดจำนวน 12 ครัวเรือน รวมถึงดาวเรือง ตัดสินใจรวมกลุ่มและช่วยกันทำให้เป้าหมายสำเร็จ คือผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เองและหลากหลายพันธุ์ พวกเขาเริ่มต้นจากพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีอยู่ในมือ พร้อมกับส่งสมาชิกออกไปเรียนรู้จากศูนย์วิจัยเกี่ยวกับข้าวที่ต่าง ๆ ทำให้พวกเขาได้พันธุ์ข้าวกลับมามากมาย เช่น มูลนิธิข้าวขวัญ ศูนย์วิจัยข้าวตามจังหวัดต่าง ๆ
ในที่สุดกลุ่มกำแมดก็ผลิตเมล็ดพันธุ์ของตัวเองผ่านวิธีที่ออกแบบเอง โดยผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับความรู้สมัยใหม่
“อดีตเคยมีการถ่ายทอดวิธีให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ คือการปักดำ แต่ความรู้นี้อยู่กับผู้เฒ่าผู้แก่เสียส่วนใหญ่ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้ อาจเพราะมองว่ายุ่งยาก
“แต่ให้อาศัยภูมิปัญญาบรรพบุรุษอย่างเดียวไม่ได้นะ เพราะสภาพแวดล้อมปัจจุบันเปลี่ยนไป ไม่เหมือนสมัยก่อน เราต้องอาศัยความรู้วิชาการบ้าง อย่างวิธีจดบันทึกข้อมูล”
ปักนาดำ เป็นวิธีทำนาโดยเริ่มจากเพาะต้นกล้าในแปลงที่เตรียมไว้ ก่อนนำต้นกล้าที่โตแล้วไปปลูกในนา เมื่อข้าวโตเต็มที่ถึงช่วงเก็บเกี่ยวก็จะใช้วิธีเกี่ยวด้วยมือ รวมไปถึงนวดข้าวด้วยมือเช่นกัน
วิธีนี้ชาวนาจะได้ใกล้ชิดกับข้าวในทุกกระบวนการเติบโต คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดได้ ตัดข้าวปนหรือข้าวที่ไม่ใช่พันธุ์นั้นออกได้ง่าย
เมื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เอง ชาวนากำแมดก็เข้าถึงคำว่าเกษตรกรรมแบบยั่งยืน จำนวนเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้มีปริมาณมากจนถึงขั้นจำหน่ายได้ สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
ดาวเรืองเล่าว่าราคาข้าวเปลือกปกติเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 17 บาท ขณะที่เมล็ดพันธุ์ขายราคาเริ่มต้นที่ 21 บาท ชาวนาหลายคนจึงสลับผลิตข้าวกับเมล็ดพันธุ์ข้าว สร้างความมั่นคงให้ชีวิต
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวของกลุ่มกำแมดเป็นที่เลื่องลือในกลุ่มชาวนาไทย หลายคนเดินทางมาไกลเพื่อผลผลิตพวกเขา นั่นเป็นเพราะชาวนากลุ่มกำแมดให้ความสำคัญกับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ พวกเขาใช้มาตรฐานหลาย ๆ อย่างมาคำนึงในการวัดคุณภาพข้าว เช่น มาตรฐานของกรมการข้าว พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 เป็นต้น
เมล็ดพันธุ์ข้าวที่กลุ่มกำแมดผลิตแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือเมล็ดพันธุ์ข้าวเศรษฐกิจอย่างข้าวหอมมะลิ 105, ข้าว กข15 เป็นต้น และข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่อยู่ในแปลงอนุรักษ์นับร้อยพันธุ์ หากชาวนาคนไหนต้องการข้าวพันธุ์พื้นเมืองก็มาเลือกได้เองที่แปลง และถ้าจำนวนไม่มากนักพวกเขาก็รับได้เลยทันที แต่ถ้าต้องการปริมาณเยอะเป็นพิเศษจะต้องรอประมาณ 1 ปี เพื่อให้ชาวนากำแมดผลิตเมล็ตพันธุ์ข้าว
ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มกำแมดจากที่เริ่มต้น 12 ครัวเรือน ขยับเป็น 30 ครัวเรือน เป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ที่บอกว่าสิ่งที่พวกเขาเชื่อมั่นนั้นมาถูกทาง
“ตอนแรกไม่ได้คิดหรอกว่าจะผลิตเมล็ดพันธุ์ขนาดนี้ แต่พอได้ทำแล้วใจมันก็รักนะ กับได้มองไปข้างหน้าว่าสิ่งนี้มีประโยชน์กับสังคม เหนื่อยก็ยอม
“ตอนนี้ภัยธรรมชาติมีมากขึ้น ส่งผลกระทบกับการทำนา การมีฐานพันธุ์ข้าวที่หลากหลายเป็นแนวทางรับมืออย่างหนึ่ง”
กว่า 10 ปีที่กลุ่มกำแมดผลิตและส่งต่อเมล็ดพันธุ์ข้าว เร็ว ๆ นี้ พวกเขากำลังพัฒนาพันธุ์ข้าวเป็นของตัวเอง ดาวเรืองออกตัวก่อนว่าการผลิตพันธุ์ข้าวใหม่เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ต้องเริ่มจากมีปัญหาก่อน เพื่อให้ได้โจทย์ในการสร้างข้าว ซึ่งพวกเขาได้รับโจทย์ (ดาวเรืองบอกว่าจะเรียกว่าคำท้าก็ได้) จากชาวนาคนหนึ่งว่าช่วยสร้างข้าวเหนียวแดงที่อายุสั้นได้ไหม
โดยพื้นฐานข้าวเหนียวแดงเป็นพันธุ์ข้าวอายุยาว เหมาะกับการปลูกในพื้นที่นาลุ่ม นาน้ำขังยาว ๆ
เมื่อได้รับคำท้า ชาวกำแมดก็หาหนทางผลิตพันธุ์ข้าวให้ตอบโจทย์ความต้องการ โดยได้รับความช่วยเหลือจากนักวิชาการหลายคนและใช้เวลาทดลองหลายปี จนตอนนี้ใกล้ได้จดทะเบียน
การบริโภคข้าวในปัจจุบันทำให้เราคุ้นชินกับข้าวบางพันธุ์ จนอาจเกิดคำถามว่าในเมื่อข้าวมีรสชาติและลักษณ์คล้ายกันไปหมด การผลิตหลาย ๆ พันธุ์อาจไม่จำเป็น สำหรับดาวเรือง ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวคือความมั่นคงอย่างหนึ่ง ทั้งในแง่ชาวนามีตัวเลือกผลิต ข้าวแต่ละพันธุ์ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมและมีวิธีดูแลแตกต่างกันไป ฝั่งผู้บริโภคเองก็ได้สนุกกับการบริโภคข้าวที่มีทางเลือกมากขึ้น
“เราก็เห็นกันอยู่ว่าเริ่มมีสัญญาณเตือนมากขึ้น ไม่ว่าจะน้ำท่วมหรืออากาศที่แปรปรวนเรื่อย ๆ ถ้าชาวนาปลูกข้าวแค่พันธุ์เดียวแล้ววันหนึ่งปลูกไม่ได้ ข้าวไม่ออกผล ชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร เขาจะพึ่งพาใครได้บ้าง
“อย่างน้อยถ้ามีตัวเลือกให้เขาคงดี เป็นเรื่องสำคัญที่เรามองเห็น การเก็บรักษาพันธุ์ข้าวไว้ เรากำลังดูแลรักษาความหลากหลายให้คงอยู่”