ถึงนาทีที้คงไม่มีใครไม่รู้ว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล แหล่งพลังงานหลักที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน เป็นทรัพยากรที่ในวันหนึ่งจะถูกใช้จนหมดไปจากโลก 

แม้การใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ลม หรือน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้หมุนเวียนต่อไปได้เรื่อยๆ จะคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่เป็นทางเลือกหลักสำหรับคนส่วนใหญ่อยู่ดี โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เพราะราคาที่สูงลิ่วของค่าติดตั้งและค่าดูแลรักษาอุปกรณ์ 

เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์ เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง นำขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายชิ้นรวมแล้วราคาไม่เกิน 500 บาทมาประกอบร่างเป็นกังหันลม ติดตั้งบริเวณนากุ้งที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง กระต๊อบหลังน้อยปลายนาสุกสว่างทั้งคืน จากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลม 

กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์

จากนั้นไม่นาน เพื่อนของช่างไก่นำคลิปวิดีโอเล่าเรื่องแหล่งพลังงานราคาไม่กี่ร้อยบาทนี้ไปลงใน YouTube กลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน และชีวิตของช่างกุ๊กไก่ก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

จากช่างไก่เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง กลายเป็นอาจารย์กุ๊กไก่ ผู้มีลูกศิษย์ที่เคารพและศรัทธาเขาอยู่มากมาย ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้พลังงานทดแทนราคาถูกลง และทุกคนจับต้องได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงวาทกรรมเลื่อนลอยย อาจารย์กุ๊กไก่จึงส่งต่อความรู้และนวัตกรรมฉบับบ้านๆ สไตล์เขาในการสร้างแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้า 

แรกๆ มีลูกศิษย์ลูกศิษย์มาเรียนกันเต็มบ้านและนากุ้ง เวลาผ่านไปนับปีก็ไม่มีทีท่าว่าจำนวนคนจะน้อยลง ช่างไก่จึงตัดสินใจเปิดเพจ ‘บรรลัยการช่าง’ เพื่อสอนทุกขั้นตอนการสร้างพลังงานทดแทนแบบไม่มีกั๊ก โดยเฉพาะเรื่องการชำแหละ ผ่าตัดและดัดแปลงขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กลับมามีประโยชน์และมูลค่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาถนัด เพื่อให้องค์ความรู้นี้ส่งต่อออกไปให้กว้างไกลที่สุด 

กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์
กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์

ลูกศิษย์บางคนเดินทางดั้นด้นมาหาช่างไก่จากพื้นที่ห่างไกลไร้ซึ่งไฟฟ้า และเพื่อนำองค์ความรู้กลับไปพัฒนาบ้านเกิด เขาจึงรับรู้ว่ายังมีพื้นที่อีกมากมายที่อยู่ในความมืดมนอัตคัด 

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางทั่วไทยไปช่วยเหลือชาวบ้านของช่างไก่ เพื่อสร้างพลังงานทดแทนจากทรัพยากรฟรีในพื้นที่ทั้งน้ำ ลม แสงแดด และมูลสัตว์ ด้วยอุปกรณ์มือสอง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ดัดแปลง และความสร้างสรรค์อันยอดเยี่ยมที่ไม่เหมือนใครของเขาคนนี้

01 

จริงๆ แล้วโลกนี้ไม่มีขยะ

ช่างไก่เริ่มเล่าด้วยเสียงดังฟังชัด “ผมจบช่างไฟฟ้า แล้วก็เคยเปิดร้านคัดแยกขยะมาก่อน เลยรู้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิด วัสดุหลายๆ อย่างข้างในเป็นอะไรบ้าง เพราะชอบหยิบขยะและของเก่ามาแยกชิ้นส่วนเล่น เป็นความรู้นอกตำรานอกจากที่เรียนช่างมา อย่างมอเตอร์ที่คนทิ้งกันมา เมื่อผ่าออก เราแยกทองแดงและเหล็กไปขายชั่งกิโลได้ แบบนี้จะเรียกขยะก็ไม่ถูก เพราะมันยังมีมูลค่าอยู่ 

กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์

“หรือถ้าคุณไปเดินตามร้านมือสอง จะเจอแบตเตอรี่เก่าเยอะมากที่ถูกขายทิ้งมา คนมักคิดว่ามันหมดประโยชน์ เพราะใช้สตาร์ทรถยนต์ไม่ได้แล้ว จริงๆ รถยนต์ใช้ไฟรูปแบบ CPA ในขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าอุปกรณ์ DC ต้องการใช้แรงดัน ดังนั้นแม้มันจะสตาร์ทรถยนต์ไม่ได้ แต่แรงดันยังอยู่ที่สิบสองโวลล์เท่าเดิม แบตเตอรี่พังๆ จากรถยนต์ทุกลูก ต่อกับแผงโซลาร์เซลล์ เก็บไฟสำหรับหลอดไฟได้ทั้งคืน ใช้ไปเลยอีกเป็นปีๆ แถมราคาถูกกว่าซื้อใหม่หลายพันบาท

“คนได้ยินผมอธิบายแบบนี้ก็ถูกใจ บอกว่าผมความคิดแปลกดี จริงๆ มันไม่ได้แปลก แค่ใครมองเห็นหรือมองไม่เห็นต่างหาก ขยะไม่มีในโลก มีแต่ของที่ไม่ได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์เหมาะสมกับตัวมันเอง” 

กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์

จากนั้นช่างไก่ผันตัวเป็นเกษตรกรเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ “พอไม่มีไฟฟ้า จะทำอะไรแต่ละอย่างก็ลำบาก ผมเลยตัดสินใจสร้างไฟฟ้าใช้เอง โดยเอาความรู้เดิมที่มีอยู่มาประยุกต์ สร้างเป็นกังหันลม ปรากฏว่ามันก็ปั่นผลิตกระแสไฟได้ปกติ ชาร์จโทรศัพท์ ดูทีวี เปิดพัดลมได้ทั้งคืน

“เราก็ใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่หลายเดือน จนเพื่อนมาเยี่ยมถามไถ่สารทุกข์สุขดิบจากการผันตัวเป็นเกษตรกร เขาเห็นว่าแม้พื้นที่นี้ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง แต่ผมอยู่ได้อย่างสำราญด้วยกังหันลม เลยขออัดคลิปวิดีโอ แล้วให้ผมช่วยอธิบายด้วยว่าพลังงานทดแทนในกระท่อมกลางนากุ้งนี้ใช้กลไกอะไรบ้าง ผมก็อธิบายไปแบบบ้านๆ ไม่ได้คิดอะไร ปรากฏว่านั่นล่ะ คือจุดที่เปลี่ยนชีวิตผมไปหน้ามือเป็นหลังมือ” 

02 

จากนายช่างมาเป็นอาจารย์

คลิปวิดีโอกลายเป็นไวรัลที่มียอดวิวหลายล้านในเวลาไม่กี่วัน ขณะเดียวกันก็มีคนโทรศัพท์มาขอให้ช่างไก่สอนวิธีทำกังหันลมอย่างละเอียดทุกวันแทบจะ 24 ชั่วโมง จากนั้นเริ่มมีคนมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ถึงนากุ้ง 

เมื่อ 8 ปีที่แล้ว พลังงานทดแทนราคาแพงมาก กังหันลมตัวละ 3 – 4 หมื่นบาท แผงโซลาร์เซลล์ไม่ต้องพูดถึงเหยียบแสน กังหันลมของช่างไก่ใช้ใบพัดจากคอมเพรสเซอร์แอร์และมอเตอร์จากเครื่องซักผ้าที่พังเสียหายไปแล้ว โดยทำการดัดแปลงเพื่อให้ปั่นไฟเป็นกระแสไฟฟ้าได้ และราคาย่อมเยากว่าหลายสิบเท่าตัว

กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์

“มีคนมาหาทุกวัน จนกลายเป็นว่าผมแทบไม่ได้ใช้กังหันลมของตัวเองเลย เพราะต้องคอยปีนไปถอดมาให้คนดู ถอดๆ ใส่ๆ ทั้งวัน จนน็อตที่ไขหลวม คุณจะเอาไปสร้างเป็นรายได้หรือจะเอาไปเผยแพร่ต่อก็ได้ตามสบายเลย

“เป็นแบบนี้อยู่พักใหญ่จนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ผมยินดีให้ความรู้กับทุกคนนะ แต่พอถึงจุดที่มันเริ่มกระทบกิจวัตรประจำวันเพราะผมก็ไม่มีเวลาว่างขนาดนั้น เลยคิดว่าต้องหาวิธีที่เราถ่ายทอดความรู้ออกไปครั้งเดียว ละเอียดๆ ชัดๆ แล้วหลายคนเรียนรู้ได้พร้อมกัน”

กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์

ช่างไก่จึงเริ่มเปิดแชนแนลยูทูบของตัวเอง อัดคลิปอธิบายวิธีการแต่ละอย่างของเขาอย่างละเอียดยิบ ในขณะเดียวกันก็เปิดห้องเรียนสอนวิชา ‘พลังงานทดแทนราคาถูก’ ฟรีแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ลูกศิษย์กลุ่มแรกมีมากถึง 200 คน

“คนที่มีทักษะช่างอยู่แล้ว ดูคลิปในยูทูบก็คงทำตามได้ ผมเลยเน้นสอนชาวบ้านธรรมดาๆ ทั่วไป เพื่อให้เขามีความรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในบ้าน ในที่นาของเขาได้ เป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้เขาอีกทางหนึ่งด้วย อย่างการสอนผ่าตัดเพื่อดัดแปลงมอเตอร์มือสองให้ปั่นไฟเป็นกระแสไฟฟ้าได้เนี่ย เขาไปรับงานผ่าตัดแบบนี้ได้ค่าจ้างลูกละหลายร้อยบาทนะ”

03 

อาสามาหาไฟฟ้า

“รู้ไหมว่าในไทยยังมีพื้นที่ที่น้ำไฟเข้าไม่ถึงอยู่เยอะมาก” ช่างไก่เอ่ยขึ้น 

การมีลูกศิษย์มากขึ้น ทำให้เขาได้พบเจอคนมากขึ้น หลายคนเดือดร้อน ไม่มีไฟฟ้าใช้ในหมู่บ้านที่ห่างไกล แถมยังไม่มีเงินทุนและความรู้เรื่องพลังงานทดแทน ช่างไก่และทีมบรรลัยการช่างจึงเริ่มอาสาเดินทางไปติดตั้งพร้อมให้ความรู้ถึงพื้นที่

“ไฟฟ้าสำหรับคนในเมืองเป็นของหาง่ายแค่กดสวิตซ์ เราเลยไม่ค่อยเห็นคุณค่า อย่างหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ เคยนับไหมที่บ้านเราต้องใช้กี่หลอด สำหรับชาวเขาแค่หลอดเดียวได้เป็นสิบหลังคาเรือน คนที่ขาดแคลนและต้องการจริงๆ แค่นิดเดียวก็เปลี่ยนชีวิตเขาได้ นี่คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการออกเดินทางไปตามพื้นที่ห่างไกล

“พลังงานมันต้องราคาถูก แต่เราไม่มีความรู้ เพราะความไม่มีความรู้เลยต้องไปซื้อของราคาแพง ตกเป็นเหยื่อของความไม่รู้ ก็เลยต้องการที่จะสอนเขาให้รู้ว่าระบบแพงๆ มันทดแทนได้ด้วยอะไร บ้านเราแดดดี น้ำดี ลมดี ใช้พลังงานทดแทนได้ทั้งประเทศ”

กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์
กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์

ช่างไก่บอกว่า แต่ละพื้นที่มีบริบทที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นรูปแบบพลังงานทดแทนที่ใช้ก็ย่อมแตกต่างกันไป พื้นที่โล่งกว้างรับแดดดี ก็ทำโซลาร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ พื้นที่ลมดี ก็ทำกังหันพลังงานลม พื้นที่ติดห้วยติดคลอง ก็ทำกังหันพลังงานน้ำ ฟาร์มหมู ฟาร์มวัว ก็นำมูลสัตว์มาทำแก๊สชีวภาพ 

“อย่างแรกที่ต้องทำเมื่อไปถึง คือมองหาพลังงานที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่ก่อน ถ้าพื้นที่ไหนมีพลังงานครบทุกรูปแบบ ก็ต้องวิเคราะห์ว่าทำอะไรคุ้มค่าที่สุด เช่น พื้นที่ตรงนั้นมีน้ำไหลตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง แสดงว่ากังหันน้ำจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอดเวลา ในขณะที่โซลาร์เซลล์จะผลิตได้เฉพาะตอนกลางวันที่แดดดี อย่างนี้อะไรคุ้มค่ากว่า ก็ต้องพลังงานน้ำสิ

“เคยมีฟาร์มหมูอยากให้ผมไปช่วยติดโซลาร์เซลล์ให้ มีหมูอยู่เป็นพันตัว โอ้โห ถ้ามีหมูอยู่เยอะขนาดนั้น แก๊สขี้หมูเลยครับพี่ จะมาลงทุนกับโซลาร์เซลล์เพิ่มทำไม คือบางทีพออะไรเป็นกระแสนิยมขึ้นมา คนก็จะแห่ทำตามโดยไม่ได้ดูบริบทของตัวเอง ว่ามีทรัพยากรอะไรอยู่ในมือบ้าง”

กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์
กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์

04

เรื่องของไฟฟ้าแรงดันต่ำ

นอกจากจะเอาขยะมาทำเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าแล้ว สิ่งที่เป็นซิกเนเจอร์ของช่างไก่ คือการใช้ไฟแรงดันต่ำ 

“กระแสไฟบ้านเรา โวลล์ที่มันสูงสองร้อยยี่สิบโวลต์เนี่ย มันเป็นเรื่องของการส่งกระแสไฟฟ้า ถ้าแรงดันสูงก็ส่งได้ไกล ดังนั้นการไฟฟ้าเลยทำแรงดันสูงๆ เพื่อส่งได้ไกลๆ ไม่ต้องทำสถานีเพิ่มเยอะ อันนั้นเป็นเรื่องของการส่งไฟ แต่ถ้าเรามาใช้ปัญญาคิดดู บ้านเรายาวไม่กี่เมตรเอง ใช้แค่ไฟ DC แรงดันต่ำ ก็พอแล้วและปลอดภัยด้วย

“เราเคยชินกับการเสียบปลั๊กเพื่อใช้ไฟบ้าน ซึ่งปกติกระแสไฟสูงถึงสองร้อยยี่สิบโวลต์ โซลาร์เซลล์ให้แรงดันไฟต่ำ ทำให้หลายคนเลยคิดว่าไม่เพียงพอสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่จริงๆ อุปกรณ์ไฟฟ้าพื้นฐาน เป็นไฟแรงดันต่ำอยู่แล้ว ตู้เย็นบ้านผมเป็นตู้เย็นแรงดันต่ำที่ผ่านการแปลงให้ใช้ไฟแค่ยี่สิบสองโวลต์ ทีวี พัดลม และเครื่องใช้อีกหลายๆ อย่าง ล้วนถูกแปลงให้ใช้ไฟแรงดันต่ำหมด 

“หลอดไฟสิบสองโวลต์ให้แสงสว่างเท่ากัน อ่านหนังสือได้เหมือนกัน ไม่ต่างจากการใช้โคมไฟเสียบปลั๊กสองร้อยยี่สิบโวลต์ ที่ผ่านมาเราใช้ไฟผิดประเภท เกินความต้องการ พอเปลี่ยนมาเป็นไฟแรงดันต่ำ จะเห็นเลยว่าค่าใช้จ่ายแตกต่างกันมาก”

กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์
กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์

ช่างไก่เล่าให้ฟังถึงหนึ่งในพื้นที่ที่เขาลงไปช่วยเหลือ นั่นคือชุมชนป่าเด็ง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำให้ไม่สามารถมีเสาไฟหรือเดินสายไฟฟ้า ชาวบ้านที่นี่จึงต้องใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก

หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รู้จักช่างไก่จากโลกออนไลน์ ตัดสินใจเดินทางไปหาและเล่าให้ฟังว่า การใช้โซลาร์เซลล์ของชาวบ้านแรกๆ เหมือนจะดี แต่ต่อมาไม่กี่ปีแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ ทำให้กลางคืน ชาวบ้านมีไฟฟ้าที่เก็บสำรองไว้ใช้ถึงแค่หัวค่ำเท่านั้น วันไหนฝนตกไม่ต้องพูดถึง มืดกันทั้งหมู่บ้าน

ช่างไก่และทีมบรรลัยการช่างช่วยชาวบ้านแปลงเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นไฟแรงดันต่ำ ปรากฏว่าหลอดไฟ 12 โวลต์ส่องสว่างตลอดคืน ดูละครหลังข่าวได้ จากที่เมื่อก่อนดูได้แค่ละครก่อนข่าว ตู้เย็นทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ชาวบ้านเห็นประสิทธิภาพของไฟฟ้าแรงดันต่ำ ก็ขยายสิ่งที่ได้รู้และกระบวนการทำออกไปเป็นทอดๆ 

ชุมชนป่าเด็งก็ไม่มืดมิดอีกต่อไป

05

นวัตกรรมชาวบ้าน

หลักการกระแสไฟฟ้าแรงดันต่ำ ทำให้ที่มาของการกำเนิดไฟฟ้า มีความเป็นไปได้ในหลายรูปแบบมากขึ้น อย่างน้ำที่ไหลเอื่อยๆ ในฝายของชุมชนก็ผลิตพลังงานได้

รอบๆ ชุมชนป่าเด็งมีฝายอยู่มากกว่า 1 แห่ง แต่ชาวบ้านที่นี่ใช้โซลาร์เซลล์เป็นหลัก เพราะเป็นระบบที่ติดตั้งและจัดการได้ง่ายกว่า ช่างไก่บอกว่าถ้าติดตั้งกังหันน้ำได้สำเร็จ ชาวบ้านจะมีพลังงานฟรีจากกระแสน้ำไว้ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และนั่นคือหนึ่งในภารกิจของบรรลัยการช่าง

“มันคือระบบกังหันน้ำแรงดันต่ำ คือเจนเนอเรเตอร์ทั่วไป จะปั่นไฟออกมาสองร้อยยี่สิบโวลต์ แต่ที่เราไปทำที่ป่าเด็ง ปั่นไฟออกมาเป็นแรงดันต่ำ โดยหน้าตาจะไม่เหมือนกังหันลอยน้ำที่คุ้นหน้าตากัน เพราะพื้นที่บริเวณนี้มีน้ำป่าไหลหลากในฤดูฝน ถ้าใช้แบบนั้น เวลาน้ำมา ก็พัดกังหันลอยไปด้วย

“จากสายน้ำหลัก ผมให้ชาวบ้านขุดทางน้ำเล็กๆ แยกออกมา ไปสู่ถังน้ำซีเมนต์ที่ปลายทางซึ่งอยู่ระดับที่ต่ำกว่า เพื่ออาศัยแรงโน้มถ่วงให้กระแสน้ำไหลแรงขึ้น เมื่อน้ำไหลเข้า-ออกจากถังด้วยความแรง มันจะไปหมุนใบพัดที่ติดตั้งอยู่ข้างใน เจนเนอเรเตอร์ก็จะทำงานปั่นกระแสไฟ ทีนี้ชาวบ้านก็นำแบตเตอรี่มาสลับกันชาร์จไฟ เพื่อนำไปได้ได้ทั้งวันทั้งคืน

“อย่างที่บอกไป ชาวบ้านอยู่กับพลังงานมหาศาลมากมาย แต่มองไม่เห็นมัน เพราะขาดความรู้ ไม่มีตัวอย่าง ไม่มีต้นแบบมาทำให้ดูว่านวัตกรรมบ้านๆ แบบที่ใครๆ ก็ทำได้มีอะไรบ้าง ในเมื่อเรามีความรู้จากที่ได้เรียนมา จากการฝึกฝนทดลองเองมากมาย มันควรส่งต่อออกไป ให้เขามีพลังงานทางเลือกเพื่อเป็นทางเลือกในการใช้ชีวิต และพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องไปเสียเงินแพงๆ ซื้อความไม่รู้อีก”

ช่างไก่บอกว่าอีกอย่างที่สำคัญคือ เมื่อชาวบ้านเห็นว่าทรัพยากรรอบตัวมีประโยชน์เชื่อมโยงถึงตัวเอง เขาก็จะรักษาทรัพยากรเหล่านั้นเป็นอย่างดี อย่างสายน้ำเล็กๆ เส้นนี้ของชาวป่าเด็ง

กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์
กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์

06

บรรลัยการช่าง

ไม่เพียงสร้างอุปกรณ์ผลิตพลังงานจากขยะและออกเดินทางไปทั่วไทยเพื่อช่วยชาวบ้าน เพื่อนำทรัพยากรรอบตัวมาสร้างไฟฟ้าใช้เองเท่านั้น ทุกวันนี้ช่างไก่ยังหาเวลาไปเป็นวิทยากรให้ความรู้นอกตำรากับนักศึกษาไฟฟ้ากำลัง โดยเฉพาะเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้ข้าวของที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ อย่างที่เขามองของที่ถูกทิ้งขว้างทุกชิ้นมีคุณค่าและมูลค่าไม่ใช่ขยะอย่างที่คนอื่นเห็น

“สำหรับผม ระบบไฟฟ้าที่ดีที่สุด ไม่ใช่ระบบที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุด แต่เป็นระบบที่คนใช้เข้าใจและทำเองได้ทุกขั้นตอน ที่ผ่านมาเราเสียเงินให้กับความไม่รู้ไปเยอะมาก ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าดูแลรักษาอุปกรณ์ จริงๆ เรื่องไฟฟ้ามันไม่ได้ยากเลยนะ แค่จับจุดให้เจอ คุณก็พึ่งพาตัวเองได้อย่างสมบูรณ์”

สิ่งที่เขาและทีมบรรลัยการช่างกำลังทำ ไม่ใช่แค่ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ แต่คือองค์ความรู้ที่เป็นผลดีกับทั้งตัวเองและโลกใบนี้ องค์ความรู้ที่ทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอย่างรบกวนโลกน้อยที่สุด ด้วยขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้น น้ำทุกหยด แสงแดด ลม ไปจนถึงมูลสัตว์ และนั่นคืออุดมการณ์ที่จะไม่เปลี่ยนไป

กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ช่างไฟฟ้าผู้เปลี่ยนขยะเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนในราคาย่อมเยา, ช่างไก่-ธีรยุทธ ทองเต่าอินทร์

ติดตาม กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง ได้ที่ 

Facebook : กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง

YouTube :  กุ๊กไก่ บรรลัยการช่าง

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน