เราลงรถที่สีวลีรังสิต 2 หมู่บ้านเลียบลำคลองที่เต็มไปด้วยไม้ดอกนานาชนิด ทั้งที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ทางหมู่บ้านปลูกไว้ ตลอดจนลูกบ้านปลูกเอง

ที่นั่น The Cloud ได้พบกับสาวร่างเล็ก ท่าทางกระฉับกระเฉงใจดี ผู้กำลังบรรจงร้อยมาลัยด้วยใจรัก

“ครูนิด สวัสดีครับ”

“โอ้ นั่งก่อนๆ”

ร้อยเรียบ : เพจรวมผลงานมาลัยที่ร้อยจากพันธุ์ไม้รอบตัว ทั้งดอกพุด กุยช่าย ถึงผักชีลาว

บายศรี กาญจนพันธุ์ หรือ ครูนิด คือผู้ก่อตั้ง ‘ร้อยเรียบ’ เพจเฟซบุ๊กรวบรวมผลงานมาลัยที่ร้อยด้วยดอกไม้และใบไม้รอบตัว ตั้งแต่ดอกไม้ทั่วไปอย่างดอกรัก พุด หรือมะลิ จนถึงพืชที่ไม่มีใครคิดว่าจะร้อยเป็นมาลัยได้อย่างประดู่ กุยช่าย และผักชีลาว เกิดเป็นมาลัยหน้าตาหายากที่อาจมีแค่พวงเดียวในโลก

ร้อยเรียบ : เพจรวมผลงานมาลัยที่ร้อยจากพันธุ์ไม้รอบตัว ทั้งดอกพุด กุยช่าย ถึงผักชีลาว
ร้อยเรียบ : เพจรวมผลงานมาลัยที่ร้อยจากพันธุ์ไม้รอบตัว ทั้งดอกพุด กุยช่าย ถึงผักชีลาว
มาลัยผักชีลาว

ไม่ว่าจะไปที่ไหน ครูนิดจะพกเข็มและด้ายติดตัวไว้เสมอ ทั้งสองสิ่งคือ ‘ถุงยังชีพ’ ที่ช่วยให้เธอไม่เคยพลาดโอกาสเก็บดอกไม้ใบหญ้ามาเรียงร้อยได้อย่างทันใจ เป็นความสุขเล็กๆ ริมทางที่หาได้ใกล้ตัว

ในห้องเรียนขนาด 6 ตารางเมตรที่สโมสรของหมู่บ้าน ครูนิดเล่าเรื่องราวของตัวเองก่อนจะมาเป็นเจ้าของเพจที่มีจุดเด่นไม่ซ้ำใครให้เราฟัง 

เธอเรียนจบจากสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทดลองเป็นฝ่ายศิลป์ให้กับบริษัทเอกชนสองสามแห่ง ก่อนมุ่งหน้าประกอบอาชีพครูสอนศิลปะที่หมู่บ้านนี้ตามคำชักชวนของรุ่นพี่ที่รู้จักกัน

ครูนิดเริ่มต้นจากการสอนเด็กๆ วาดรูปและใช้สี ก่อนแวะเวียนไปเรียนจัดดอกไม้ที่สาขาวิชาการบริหารธุรกิจคหกรรมศาสตร์ โชติเวช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

ตอนนั้นเองที่ผู้ปกครองของนักเรียนคนหนึ่งพูดขึ้นว่า ‘อยากให้ครูนิดสอนร้อยมาลัยด้วยจัง’

ความรักที่มีต่อการร้อยและเพจที่เล่าเรื่องมาลัยจึงเริ่มต้นจากตรงนั้น

 1 ปีที่ร่ำเรียน

“ตอนนั้นเรายังรู้เรื่องมาลัยไม่ลึก คิดว่าต้องรู้ให้ลึกก่อนถึงจะสอนเด็กๆ ได้ ก็เลยหยุดทุกอย่าง ทิ้งเลย เลิกสอนศิลปะเพื่อเข้าไปเรียนร้อยมาลัยหนึ่งปีที่โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง)”

ครูนิดย้อนความหลังถึงครั้งที่ทิ้งทุกอย่างเพื่อไปร่ำเรียนวิชาการร้อยมาลัยที่ โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) สถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรดอกไม้สด งานมาลัย เครื่องแขวน ฯลฯ โดยเฉพาะ ซึ่งต้องเรียนทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เช้าจรดเย็น เป็นเวลา 1 ปีเต็ม

“ต้องใส่เครื่องแบบด้วยนะ เป็นนักเรียนเต็มตัวเลย ตื่นตีสี่ เข้าเรียนเจ็ดโมงกว่า กลับถึงบ้านสองทุ่ม ถึงบ้านก็ต้องทำการบ้านต่อ นอนเต็มที่วันละสองชั่วโมง ทุกคนงงว่าไปทำอะไรตั้งหนึ่งปี บางคนว่าเราบ้า คนที่บ้านนี่จำหน้าแทบไม่ได้ ออกไปก่อนลูกตื่น กลับมาลูกนอนแล้ว

“คาถาประจำวันคือต้องปล่อยวาง ตัดเรื่องอื่นออกไปให้ได้ เมื่อมีเป้าหมายแล้ว เราก็ต้องทุ่มเท เรียนกันลึกมาก ได้ลงงานจริง ทำงานอาสา จนได้รู้ลึกและรู้ดีเรื่องการทำมาลัย”

ยิ่งการร้อยมาลัยต้องอาศัยความประณีตและทุ่มเทมากแค่ไหน การฝึกทักษะในช่วงเริ่มต้นยิ่งต้องใช้พลังใจมากขึ้นเท่านั้น ครูนิดเสียสละหลายสิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘เวลา’ เพื่อฝึกปรือฝีมือการร้อยให้ชำนาญ ความมุ่งมั่นตลอด 12 เดือน เปลี่ยนให้เธอกลายเป็นช่างร้อยมาลัยมากความสามารถคนหนึ่ง

ร้อยเรียบ : เพจรวมผลงานมาลัยที่ร้อยจากพันธุ์ไม้รอบตัว ทั้งดอกพุด กุยช่าย ถึงผักชีลาว
คุยกับครูนิด ผู้ร้อยดอกไม้และพืชผักสารพัดเป็นมาลัยแปลกใหม่สร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่าความงามอยู่รอบตัว

ที่โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) ครูนิดต้องร้อยมาลัยตามรูปแบบที่โรงเรียนสอน เมื่อจบหลักสูตรและมีพื้นฐานมากพอ เธอจึงอยากต่อยอดเป็นมาลัยรูปแบบอื่นๆ ดูบ้าง

เมื่อลองนำดอกไม้ใบหญ้าหน้าตาแปลกใหม่มาร้อยตามใจตัวเอง ครูสอนมาลัยป้ายแดงก็อยากแบ่งปันผลงานให้เพื่อนๆ ร่วมชื่นชม นำมาซึ่งการทำเพจอย่างจริงจัง

“พอถ่ายลงเฟซบุ๊กส่วนตัวก็กลัวรูปมาลัยจะเยอะจนรกตาคนอื่น เราเกรงใจ เพราะตอนเรียนก็ลงไปเยอะมากแล้ว จึงตัดสินใจนำไปรวมไว้ในเพจ ตั้งชื่อว่า ‘ร้อยเรียบ’ คือมีอะไรก็ร้อยให้เรียบ ง่ายๆ ตรงๆ จำง่ายด้วย ดอกอะไรก็ได้ ถ้าร้อยได้ก็จะร้อยให้หมดเลย

“รู้สึกสนุกกับมันมาตลอด เหมือนเราได้บอกคนว่าดอกนี้มาจากไหน เรื่องราวของมาลัยพวงนี้เป็นยังไง บางโพสต์ก็มีรุ่นน้องแต่งกาพย์ประกอบมาลัยให้ด้วย หลายคนที่ตามเพจก็ชอบ เคยคิดจะทำยูทูบเหมือนกันนะ แต่ไม่มีใครตามเราไปเลย (หัวเราะ) ก็โอเค แค่เพจก็ได้ ด้วยวัยของเราก็คงไม่สมบุกสมบันมากแล้วด้วย แต่ถ้ามีคนเสนอมา เราพร้อมนะ จะปีนต้นไม้ให้ดูเลย”

เริ่มร้อยด้วยรัก

หากใครมีโอกาสได้ชมภาพในเพจ ก็คงทึ่งกับรูปลักษณ์ของมาลัยที่สวยงาม แปลกตา จนอดสงสัยไม่ได้ว่า กว่าจะมาเป็นมาลัยแต่ละพวงมีขั้นตอนอย่างไร

“ขั้นแรกเริ่มจากเก็บดอกไม้หรือใบไม้ ต้องลองจับดูก่อน ส่วนที่ร้อยได้ต้องมีก้านที่ใหญ่พอให้เข็มเข้าได้ ส่วนมากก็จะใช้ความชอบพุ่งไปยังดอกไม้ที่สนใจ แต่ก็ต้องดูอีกทีว่าดอกนั้นร้อยได้หรือเปล่า ถ้าร้อยได้ก็ร้อยเรียบ รีบเก็บมา นำมาล้างให้สะอาด เตรียมของให้พร้อม เหมือนทำอาหารเลย ก่อนทำก็ต้องเตรียมวัตถุดิบให้เรียบร้อย ถูกมั้ย 

“พอของพร้อม ก็คัดเลือกอันดีๆ มาร้อย เริ่มทำอุบะ (ส่วนล่างของมาลัย) ก่อน เพราะตัวพวงใช้เวลานานมาก ถ้าทำตัวพวงก่อนจะไม่ทันกัน พอทำอุบะเสร็จก็ห่อทิชชูเอาเข้าตู้เย็นรอไว้ จากนั้นใช้เวลาที่เหลือกับตัวพวง ดูยูทูบไป ร้อยไป

“เคยทำนานที่สุดสามวัน เพราะคิดไม่ออก พวงนั้นทำจากลูกสน วันแรกลองแล้วไม่สำเร็จ วันสองก็ต้องไปเก็บใหม่ ทำเสร็จแล้วอยากจดสิทธิบัตรไว้เลย มันยากมาก” ครูนิดหัวเราะ

คุยกับครูนิด ผู้ร้อยดอกไม้และพืชผักสารพัดเป็นมาลัยแปลกใหม่สร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่าความงามอยู่รอบตัว
คุยกับครูนิด ผู้ร้อยดอกไม้และพืชผักสารพัดเป็นมาลัยแปลกใหม่สร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่าความงามอยู่รอบตัว

“บางครั้งทำแล้วล้มเหลวก็มี ไม่สามารถออกสื่อได้ แต่ทุกวันนี้ทำพวงละหนึ่งวัน ลากไปวันครึ่งถ้าไม่รีบ”

เมื่อสังเกตมาลัยในถาดที่ครูนิดเพิ่งหยุดร้อยตอนที่เรามาถึง ก็เข้าใจในทันทีว่ากว่าจะมาเป็นมาลัยหนึ่งพวง ต้องอาศัยสมาธิและความละเมียดละไมขั้นสูง การหมกมุ่นอยู่กับสิ่งสิ่งหนึ่งทั้งวัน หรืออย่างที่ครูนิดเคยร้อยมาลัยถึง 3 วัน ดูยาวนานมาก แต่หากมองไปที่ผลงานตรงหน้า คงเรียกได้ว่าเป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่าและสมเหตุสมผล

มาลัยที่ครูนิดทำค้างไว้มีหน้าตาประหลาด ไม่เหมือนมาลัยทั่วไป ครูนิดเล่าว่ามันคือ เคล ผักตระกูลเดียวกับคะน้า และดอกชุมเห็ด ที่เธอเก็บมาจากริมคลอง 

คุยกับครูนิด จากเพจ ‘ร้อยเรียบ’ ผู้ร้อยดอกไม้และพืชผักสารพัดเป็นมาลัยแปลกใหม่สร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่าความงามอยู่รอบตัว
คุยกับครูนิด จากเพจ ‘ร้อยเรียบ’ ผู้ร้อยดอกไม้และพืชผักสารพัดเป็นมาลัยแปลกใหม่สร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่าความงามอยู่รอบตัว

“ไม่ค่อยซื้อดอกไม้นะ ยกเว้นวันไหนที่ไปตลาดแล้วเจอใบหรือดอกที่ทำให้เกิดกิเลสจริงๆ ถึงจะซื้อ ปกติจะเก็บดอกไม้ในซอยมาร้อย หมู่บ้านนี้ปลูกดอกไม้เยอะอยู่แล้ว บางบ้านก็เอื้อเฟื้อให้เราเก็บไปร้อยด้วย เขาจะคอยถามตลอด วันนี้ร้อยอะไรคะ เพิ่งตัดดอกไม้ที่บ้าน คุณครูอยากเก็บไว้ร้อยรึเปล่า 

“หรือบางทีก็ไปเก็บจากริมคลอง อย่างดอกชุมเห็ดนี่ก็ใช่ แถวนั้นดอกไม้เยอะ เดี๋ยวถ้าออกไปจะชี้เป้าให้ดู เสียดายที่เทศบาลชอบตัดทิ้ง ดอกรักเนี่ยโดนตัดทิ้งเยอะมาก อาจจะเพราะมันลามเร็วมั้ง หลายครั้งเราหมายตาไว้แล้ว พอไปปุ๊บ ไม่เจอ เสียใจมาก หลังๆ ต้องหมายตาเผื่อไว้หลายๆ ต้น” ครูนิดเล่าสลับหัวเราะ

แม้ดอกและใบไม้ที่ใช้จะแตกต่างแปลกตา แต่ครูนิดก็ยืนยันว่า เธอยังรักษาความเป็นมาลัยไว้อย่างครบถ้วน

“เราร้อยแบบพลิกแพลงก็จริง แต่ยังคงส่วนประกอบเดิมไว้ครบ คงความเป็นมาลัย มีตัวพวง มีรัดมาลัย เพียงแต่ไม่ได้ใช้ดอกไม้ที่อยู่ตามท้องตลาดก็เท่านั้น เหมือนเวลาทำงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เช่น ถ้าวาดรูป เรารู้หลักการว่าต้องใช้ดินสอ ต้องลงเส้นยังไง เราก็ยังใช้หลักการเดิม เพียงแต่เปลี่ยนภาพที่จะวาดแค่นั้นเอง”

คุยกับครูนิด จากเพจ ‘ร้อยเรียบ’ ผู้ร้อยดอกไม้และพืชผักสารพัดเป็นมาลัยแปลกใหม่สร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่าความงามอยู่รอบตัว

ร้อยกี่ปี ไม่มีเบื่อ

การร้อยมาลัยอาจไม่ใช่สิ่งที่มีคนสนใจเป็นวงกว้าง แต่กลุ่มคนที่หลงรักพวงดอกไม้เหล่านี้ก็พอจะมีอยู่บ้าง และดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

“ล่าสุดคนชอบมาลัยปลาตะเพียนมาก อาจจะเป็นเพราะคนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับเพจเยอะขึ้นด้วย ข้อมูลเชิงลึกแจ้งว่าตอนนี้คนดูเป็นหลักพันแล้ว โพสต์ที่คนกดไลก์และแชร์มากที่สุด คือมาลัยดอกประดู่ แต่เราเองชอบทุกพวงเลย

คุยกับครูนิด จากเพจ ‘ร้อยเรียบ’ ผู้ร้อยดอกไม้และพืชผักสารพัดเป็นมาลัยแปลกใหม่สร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่าความงามอยู่รอบตัว
มาลัยปลาตะเพียน
คุยกับครูนิด จากเพจ ‘ร้อยเรียบ’ ผู้ร้อยดอกไม้และพืชผักสารพัดเป็นมาลัยแปลกใหม่สร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่าความงามอยู่รอบตัว
มาลัยดอกประดู่

“มันท้าทายในทุกครั้งที่ร้อย เพราะแต่ละพวงไม่เคยเหมือนเดิม เราจึงได้เรียนรู้ทุกครั้ง แล้วก็นำความรู้ที่ได้ไปสอนคนอื่นต่อ ควรเก็บรักษายังไง ร้อยยังไง ดอกไม้ไม่ได้ร้อยที่ก้านอย่างเดียว ร้อยที่กิ่งหรือส่วนอื่นก็ได้ เช่น ดอกพวงชมพู หาวิธีร้อยยาก เพราะมันเล็ก ต้องใช้วิธีตัดดอกให้ติดกิ่งเพื่อร้อย คนที่ติดตามเพจก็คงถูกใจความท้าทายพวกนี้ด้วยเหมือนกัน”

ยอดผู้ติดตามของเพจร้อยเรียบ แม้ไม่สูงนัก แต่ทุกคนต่างรักและสนับสนุนผลงานของครูนิดอย่างเหนียวแน่น เธอจึงตอบแทนแฟนเพจด้วยการร้อยมาลัยที่แปลกใหม่เสมอมา และหลายครั้งดอกไม้ที่ใช้ก็เป็นความคิดที่ผู้ติดตามแนะนำเข้ามาทางเพจ

“เราคงร้อยไปเรื่อยๆ ถึงจะเป็นดอกที่เคยร้อยแล้วก็ยังร้อยรูปแบบอื่นได้ ไม่มีทางเบื่อเลย ที่สำคัญ ดอกไม้ไม่มีวันหมดโลก ยังมีหลายดอกที่เราไม่เคยร้อย แฟนเพจเคยแนะนำดอกมะพร้าว เพราะเราเคยโพสต์ว่า อยากเห็นอะไรเป็นมาลัยก็แนะนำมา ในกล่องข้อความจึงมีคำแนะนำดอกไม้แปลกประหลาดเต็มไปหมด เช่น ขอมาลัยเครื่องต้มยำ อยากทำนะ ติดที่ตะไคร้เนี่ยไม่รู้จะร้อยยังไง ยังลงมือไม่ได้จริงๆ หรือบางคนแนะนำดอกไม้หายาก เราดีใจมาก ถ้าช่วยชี้เป้าแหล่งที่มีดอกไม้พวกนั้นให้ด้วยก็จะดี เราจะได้ไปหาถูก”

ไม่ได้มีไว้เพื่อขาย

งานฝีมือเป็นของมีราคา ยิ่งเป็นมาลัยที่วิจิตรบรรจงอย่างที่เห็นในเพจร้อยเรียบ ก็คงทำเงินได้ไม่น้อย อย่างไรก็ดี ครูนิดยืนยันอย่างหนักแน่นว่า มาลัยที่เธอร้อยไม่ได้มีไว้เพื่อขาย

“ไม่ขาย ถ้าทำเพื่อการค้า เราว่าคนคงจะไม่อยากดู การร้อยมาลัยและทำเพจนี้ เราแค่อยากหาเพื่อนคอเดียวกัน มีคนบ้าดู ฉันก็บ้าร้อย สนุกและอิ่มเอมทุกครั้ง เหมือนได้ก้าวข้ามอุปสรรค คนไหนที่อยากเรียนจริงๆ ก็สอน สมมติมีคนอยากเรียนร้อยต้อยติ่ง มาเลยค่ะ มาเลย เราสอนตั้งแต่วิธีเก็บเลยนะ แต่ช่วงนี้มีโควิด-19 ก็เลยใช้วิธีติดต่อสอบถามทางออนไลน์แทน เราไม่ได้หวงอะไรเลย อยากบอกวิธีทำทุกขั้นตอนอยู่แล้ว” 

แม้ไม่ได้ทำเพื่อการค้า แต่มาลัยที่ไม่ธรรมดาของครูนิดมีที่ไปเสมอ หลังบันทึกภาพประทับใจเพื่อใช้ลงเพจเป็นที่เรียบร้อย ครูนิดก็จะนำมาลัยมาไหว้พระ แล้ววางไว้บนหิ้ง บ้างก็ให้เป็นของฝากแก่มิตรบ้านใกล้เรือนเคียง หรือเป็นของขวัญชิ้นสำคัญก็เคยมีมาแล้ว

“อย่างมาลัยมะกรูด พอโพสต์แล้ว คุณชุติมา เสวิกุล ภรรยา คุณประภัสสร เสวิกุล โทรมาเลย ขอพี่พวงหนึ่งได้มั้ย เราก็ร้อยให้ใหม่พวงหนึ่ง แล้วก็มีพวงพิเศษ เป็นมาลัยหมากพลู เอาใบพลูมาม้วนจีบเป็นมาลัย ตอนนั้นวัดครุฑกำลังบูรณะพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เขาเห็นแล้วก็โทรมา ถามว่ามาลัยพวงนั้นยังอยู่มั้ย ขอไปไหว้พระได้หรือเปล่า โชคดีที่เรายังแช่พวงนั้นไว้ในตู้เย็น เขาก็รีบมาจากอยุธยาเพื่อเอามาลัยไปไหว้ถวายเป็นพุทธบูชาที่วัด รู้สึกปลื้มใจ มีบุญ พวงมาลัยของเรามีที่ไปทุกพวง”

คุยกับครูนิด จากเพจ ‘ร้อยเรียบ’ ผู้ร้อยดอกไม้และพืชผักสารพัดเป็นมาลัยแปลกใหม่สร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่าความงามอยู่รอบตัว
คุยกับครูนิด ผู้ร้อยดอกไม้และพืชผักสารพัดเป็นมาลัยแปลกใหม่สร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่าความงามอยู่รอบตัว

มาเรียน มาลัย

“ตอนสมัครเรียนที่โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) เขาจะสัมภาษณ์ว่าเรียนเอาไปทำอะไร ต้องมีเหตุผลที่ดีถึงจะรับเข้าเรียน ตอนนั้นเราตอบว่าอยากเรียนเพื่อใช้สอน เขาคงคิดว่าเข้าท่า ก็เลยโอเค ให้เรียนได้”

และครูนิดก็ได้สอนอย่างที่พูดไว้จริงๆ หลังฝึกฝนร้อยมาลัยจนชำนาญ และตัดสินใจแน่วแน่ว่าไม่ได้สร้างผลงานเพื่อขาย ครูนิดก็ทำเพจและเปิดสอนพิเศษร้อยมาลัยไปพร้อมกัน ความท้าทายของการสร้างสรรค์มาลัยทุกพวง คือทักษะการใช้เข็มที่ทั้งเล็กและแหลม แต่ครูนิดก็เชื่อสนิทใจว่าคนทุกวัยร้อยมาลัยได้

“นักเรียนที่อายุมากที่สุดคือหกสิบห้าปี เขาก็มาเรียนที่สโมสรนี่แหละ ถือว่าสุดยอด เห็นเลยว่าอายุไม่ใช่ข้อจำกัด 

“เด็กสุดน่าจะห้าขวบ เรายังไม่ให้เขาจับเข็มนะ ให้ใช้ทางมะพร้าวแทน มือเล็กๆ ก็ร้อยไป จริงๆ อยากให้เด็กฝึกทำอะไรด้วยตัวเองแบบนี้ มันน่าจะช่วยให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น อยู่ที่คุณพ่อคุณแม่ด้วย บางบ้านอาจจะเน้นวิชาการมากกว่า บางคนกังวลว่าเดี๋ยวเข็มแหลมจะทิ่มลูก มองอีกแง่หนึ่ง เราก็สอนให้เขารู้จักการจับอย่างปลอดภัยสิ เราห่วงแต่ว่าเข็มจะทิ่ม ทั้งที่จริงๆ ควรสอนเขาไม่ใช่เหรอว่าทำยังไงให้ไม่โดน”

เช่นเดียวกับผู้อ่านหลายคน เราแทบไม่เชื่อว่าเด็ก 5 ขวบ ซึ่งยังไม่ขึ้นชั้นประถมจะทำงานฝีมือที่ละเอียดอ่อนอย่างการร้อยมาลัยได้ 

ครูนิดทำได้ยังไง สอนนานมั้ย นี่เรื่องจริงเหรอ-เราถาม

“จริง ปกติเราต้องสอนน้องวาดรูปสองชั่วโมง แต่พอดีว่าวันรุ่งขึ้นเป็นวันแม่ น้องก็เลยได้เรียนร้อยมาลัยแทน เขามีสมาธิตลอดสองชั่วโมงเลยนะ เป็นผู้หญิงเรียบร้อย ใส่ใจ สุดท้ายก็ร้อยเป็นมาลัยไว้ไหว้คุณแม่ได้สำเร็จ 

“เราเชื่อว่าจริงๆ แล้วคนไทยเป็นคนละเมียดละไม มีทักษะและจิตวิญญาณซ่อนอยู่ บางคนอาจจะคิดว่าตัวเองทำไม่ได้หรอก ติดงาน ไม่มีเวลา แต่ที่บอกว่าไม่ได้ๆ ถ้าลองเปิดใจ สละเวลาเพื่อมาเรียนรู้ เราว่าทำได้ทุกคน ขอแค่มีใจที่อยากเรียน ไม่ต้องมีอย่างอื่นก็ได้ ขนาดเด็กเล็กยังทำได้เลย 

คุยกับครูนิด ผู้ร้อยดอกไม้และพืชผักสารพัดเป็นมาลัยแปลกใหม่สร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่าความงามอยู่รอบตัว

“ผู้นำที่ดีจะพาคนอื่นไปได้ดี สิ่งนี้ตอบว่าทำไมเราต้องไปเรียนร้อยมาลัยเพิ่ม เราต้องรู้ลึกและรู้จริงจึงจะเป็นครูของคนอื่นได้ และเมื่อสอนให้นักเรียนทำซ้ำจนช่ำชอง นั่นถือเป็นความสำเร็จของคนเป็นครู”

หลายคนที่สนใจการร้อยมาลัยอาจอยากลองร้อยตามคลิปในยูทูบ ครูนิดยิ้มนิดๆ แล้วเล่าว่า ถ้าอยากลองทำดูสักพวง การเริ่มต้นดูคลิปแล้วร้อยตามก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าอยากมีความเชี่ยวชาญหรือต้องการนำทักษะไปต่อยอดก็ควรมีคนสอน 

“เราว่าถ้าจะให้ดี ศิลปะหรือการร้อยมาลัยควรมีคนสอนอย่างใกล้ชิด ต้องอยู่ใกล้ๆ เพราะปัญหาเกิดเยอะแยะ ถ้าสอนทิ้งๆ แล้วเขาไม่เข้าใจ ก็อาจจะพาลเกลียดมาลัยไปเลย ช่วงนี้เลยยังไม่รับสอนเพราะโควิด-19 สอนออนไลน์ไม่น่าจะดี”

สุขเล็กรอบมาลัย

สิ่งที่เราสงสัยที่สุดนับตั้งแต่ได้รู้จักเพจร้อยเรียบ คือเหตุใดคนคนหนึ่งถึงมุ่งมั่นตั้งใจร้อยมาลัย ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าผลงานนี้จะมีอายุขัยเพียงไม่กี่วัน ร้อยเสร็จไม่นานดอกไม้ใบไม้ก็ต้องเหี่ยว

ครูนิดนิ่งไปชั่วครู่ เธออมยิ้ม ก่อนตอบเราด้วยท่าทีเรียบง่าย

“อยู่บนต้น ดอกไม้ก็เหี่ยวเหมือนกัน การร้อยมาลัยเหมือนเราได้บันทึกบางอย่างไว้ ดอกไม้ก็คงภูมิใจนะ ฉันเป็นแค่ดอกหญ้าเอง แต่ครั้งหนึ่งได้เป็นมาลัยแล้ว ได้ขึ้นไปอยู่บนหิ้งสูงๆ เชียวนะ เพราะฉะนั้น อย่ามาดูถูกฉัน

“การร้อยมาลัยไม่เคยเอาอะไรไปจากเราเลย มีแต่เอามาให้ ทั้งความภูมิใจ ความอิ่มอย่างบอกไม่ถูก มันคืองานศิลปะอย่างหนึ่งที่เราสร้างขึ้นมา เป็นพวงเดียวในโลกที่ไม่เหมือนใคร เป็นเอกลักษณ์ที่แม้จะอยู่ได้ไม่นาน แต่อย่างน้อยเราก็ได้บันทึกไว้ เรามองเห็นคุณค่าของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ มากขึ้น เกิดเป็นความสุขในแต่ละวัน ไม่ต้องมองหาความสุขใหญ่ๆ ก็ได้ แค่ตาเราสังเกตดอกไม้ เฝ้ามองสิ่งสวยงามอันเล็กๆ หึ เจ้าดอกไม้ เสร็จฉันแน่ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”

พูดจบ ครูนิดก็หยิบมาลัยพวงใหญ่ขึ้นมาร้อยต่อ 

คุยกับครูนิด ผู้ร้อยดอกไม้และพืชผักสารพัดเป็นมาลัยแปลกใหม่สร้างสรรค์ เพราะเชื่อว่าความงามอยู่รอบตัว

ภาพ : Facebook ร้อยเรียบ

Facebook : ร้อยเรียบ

Writer

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

มนุษย์ภูเก็ต เด็กนิเทศที่ทำงานพิเศษเป็นนักเล่าเรื่อง โกโก้ หนัง และฟุตบอล ช่วยให้เข้านอนอย่างมีคุณภาพ

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน