ผมเริ่มต้นด้วยอคติต่ออุทยานแห่งชาติ Kruger
ทันทีที่รู้ว่า ผมต้องไปประจำการที่สถานทูตในกรุงมาปูโต ซึ่งเป็นเมืองหลวงที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศโมซัมบิก แวบหนึ่งผมก็แอบเพ้อฝันไปว่า ผมจะได้อยู่ใกล้ๆ ดินแดนซาฟารี ซึ่งเป็นที่อาศัยในธรรมชาติของสัตว์ป่าในแอฟริกา เพราะเมืองที่ผมจะไปอยู่นั้นใกล้กับอุทยานแห่งชาติ Kruger ของประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งมีพรมแดนติดกัน
ใจหนึ่งก็กระหยิ่มยิ้มย่องว่า เราคงจะได้ใช้ชีวิตอย่างที่ฝัน คือเมื่อว่าง ก็ขับรถไปดูสัตว์ป่าแอฟริกาในธรรมชาติได้ง่ายๆ แบบไม่ต้องเตรียมตัวและเสียสตางค์แพง ไม่ต้องซื้อทัวร์ไปซาฟารี พักโรงแรมหรูหรากลางป่าเหมือนในเคนยาที่ผมเคยอยู่เคยทำเมื่อหลายปีก่อนเมื่อครั้งไปทำงานที่นั่น แถมระยะทางใกล้จนเดินทางไปเช้าเย็นกลับได้สบาย
อีกใจหนึ่งก็แอบรู้สึกเสียดาย อาจเป็นเพราะอคติในใจว่า อุทยานแห่งชาติ Kruger อาจไม่ให้บรรยากาศและความรู้สึกแบบธรรมชาติแบบดั้งเดิมตามที่ผมคิด คือไม่เสแสร้ง ไม่สร้างขึ้น ยังคงดิบๆ คล้ายๆ ที่ผมเคยไปมาในเคนยาหรือแทนซาเนีย เนื่องจากถนนหนทางรอบอุทยานแห่งชาติ Kruger เป็นถนนลาดยางหรือถนนลูกรังอย่างดี มีการบริหารจัดการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ทำให้ผมไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นเท่าไรนัก
แต่เมื่อใกล้จะกลับประเทศไทยและเริ่มหวนคำนึงถึงสิ่งที่กำลังจากไป ผมมีโอกาสพาครอบครัวไปดูสัตว์อย่างสนุกสนาน อคติที่เคยคิดว่าอุทยาน Kruger ไม่เป็นธรรมชาติแท้หายไปโดยไม่รู้ตัว แทนที่ด้วยความรู้สึกชื่นชมและทึ่งในการบริหารจัดการของเขา
สมแล้วที่อุทยานแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเก่าแก่และมีการบริหารจัดการที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
จากเขตล่าสัตว์เป็นเขตอนุรักษ์เพื่อการอนุรักษ์และท่องเที่ยว
ราว 100 กว่าปีก่อน ใน ค.ศ. 1898 รัฐบาลคนขาวที่ปกครองประเทศแอฟริกาใต้กำหนดให้เขตพื้นที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ตั้งอุทยานแห่งชาติ Kruger ในปัจจุบันเป็นเขตสำหรับล่าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นความบันเทิงที่เจ้าอาณานิคมนิยมชมชอบ การกั้นรั้วแนวเขตป่าให้เป็นพื้นที่เฉพาะ ยืนยันความพิเศษที่มีคนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่เข้าถึงได้
คนขาวล่าสัตว์ป่ากันสนุกสนาน สัตว์ขนาดใหญ่ 5 ชนิด คือ สิงโต ช้าง แรด ควายป่า และเสือดาว ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Big Five ซึ่งหมายถึงสัตว์ที่ล่ายากลำบาก ความคิดที่ว่าใครพิชิตสัตว์เหล่านี้ได้ถือว่าเก่งกาจเยี่ยงวีรบุรุษ ก็มาจากสันทนาการล่าสัตว์ของคนขาวนี่เอง การจัดให้มีเขตล่าสัตว์ป่าเช่นนี้ ก็เพื่อควบคุมดูแลไม่ให้มีการล่าสัตว์มากเกินไปจนเหี้ยนหายสูญพันธุ์ไปหมด ยังพอเหลือให้ลูกหลานของพวกเขาได้มีสัตว์ป่าไว้ล่าชุบชูใจไปอีกเรื่อยๆ
ราว 10 กว่าปีหลังจากนั้น ใน ค.ศ. 1902 เขตล่าสัตว์ป่าแห่งนี้มีผู้ดูแลคนใหม่ แม้เป็นคนขาว แต่ก็มีความตั้งใจทำให้เขตล่าสัตว์นี้กลายเป็นที่อนุรักษ์อย่างที่ควรจะเป็น และผู้ดูแลคนเดียวกันนี้ก็มองเห็นอนาคตที่จะเปิดให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาดูสัตว์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เขาใช้เวลาอีกกว่า 20 ปีต่อมา จนกระทั่งถึง ค.ศ. 1926 รัฐบาลคนขาวของประเทศแอฟริกาใต้ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ Kruger ตามชื่อของ นายพอล ครูเกอร์ (Paul Kruger) ประธานาธิบดีผู้จัดตั้งให้พื้นที่เป็นเขตควบคุมการล่าสัตว์ โดยผนวกเอาเขตอนุรักษ์สัตว์ข้างเคียงกับเขตอนุรักษ์ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของเอกชนสำหรับล่าสัตว์หรือทำฟาร์ม ให้เป็นส่วนหนึ่งของเขตอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ด้วย
ว่ากันว่า ปีแรกที่อุทยานแห่งชาติ Kruger เปิดให้คนมาท่องเที่ยว มีรถนักเที่ยวเพียงแค่ 3 คัน แต่พอใน ค.ศ. 1928 ต่อมา รถนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 180 คัน และเพิ่มเป็น 850 คันใน ค.ศ. 1928
ค.ศ. 2018 ผมมีโอกาสเข้าไปเที่ยวอุทยาน Kruger บ่อยๆ หากไปในวันหยุดยาวหรือช่วงเทศกาล ผมต้องจองคิวซื้อบัตรล่วงหน้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของอุทยาน เพราะเขาจำกัดจำนวนรถเข้าในอุทยานให้ไม่เกินประตูละ 180 คันต่อวัน รวมทุกประตูแล้วไม่ให้เกิน 2,270 คัน
ครั้งหนึ่งเราเคยพาแขกไปโดยไม่ได้จองคิวมาก่อน ออกจากกรุงมาปูโตแต่เช้าตรู่ แต่เมื่อไปถึงประตูทางเข้าริมชายแดนในตอนสายกลับเข้าไม่ได้ เพราะโควต้านักท่องเที่ยวเต็ม ต้องรอจนกระทั่งบ่ายที่จะเข้าได้
เรารอนานกว่าประตูจะเปิด เมื่อเข้าไปแล้วแขกจากประเทศไทยต่างประทับใจทุกคน เพราะในระยะเวลาเพียงครึ่งบ่าย พวกเราได้เห็นสัตว์และธรรมชาติของแอฟริกาอย่างใกล้ชิด
เสียอย่างเดียวที่เราน่าจะมีเวลามากกว่านี้
อุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่พอๆ กับประเทศอิสราเอล
อุทยานแห่งชาติ Kruger มีพื้นที่ 19,485 ตารางกิโลเมตร มีขนาดพอๆ กับประเทศอิสราเอลที่มีขนาด 22,145 ตารางกิโลเมตร
ในปัจจุบัน ประเทศแอฟริกาใต้ โมซัมบิก และซิมบับเว กำลังอยู่ระหว่างการรวมพื้นที่ที่อยู่ติดกัน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ Limpopo ของโมซัมบิก อุทยานแห่งชาติ Gonarezhou และเขตอนุรักษ์อีก 2 แห่งในซิมบับเว กับอุทยานแห่งชาติ Kruger ของแอฟริกาใต้ ให้เป็นเขตอุทยานระหว่างประเทศที่มีชื่อว่า Great Limpopo Transfrontier Park
เมื่อรวมพื้นที่กันแล้ว เขตอนุรักษ์ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาแห่งนี้จะครอบคลุมพื้นที่ 3 ประเทศ มีขนาดรวมกันกว้างขวางถึง 35,000 ตารางกิโลเมตรหรือมีขนาดพื้นที่เท่ากับไต้หวัน
พื้นที่ใหญ่ขนาดนี้ เราคงไม่สามารถไปเข้าไปดูสัตว์ในอุทยานแห่งชาติ Kruger ทั้งหมดในเวลาเดียวกัน ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทางเข้าไปทางประตูทางเข้า 1 ใน 9 ประตูที่อยู่รอบอุทยาน ขึ้นอยู่กับว่าจะใกล้กับประตูไหนที่สุด คนที่เดินทางมาจากนครโจฮันเนสเบิร์กหรือกรุงพริทอเรียเมืองหลวงของประเทศแอฟริกาใต้ มักจะเข้าทางประตู Melelene และหากมาจากกรุงมาปูโตในประเทศโมซัมบิกแบบผม เราก็มักจะเข้าอุทยานทางประตู Crocodile Bridge ซึ่งถือเป็นทางเข้าชุดแรกตั้งแต่เริ่มก่อตั้งอุทยานเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน
ทางเข้าแห่งนี้อยู่แทบติดกับจุดผ่านแดนโมซัมบิกกับแอฟริกาใต้ เราขับรถมาเพียง 100 กว่ากิโลเมตรจากกรุงมาปูโต หรือราวชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงแล้ว
อคติที่เคยมีกับถนนลาดยางตัดผ่าน ร้านอาหารหรูหราที่ตั้งอยู่ท่ามกลางอุทยาน ห้องน้ำสบายๆ ตรงจุดพักนักท่องเที่ยว ลบบรรยากาศความลำบากของการเข้าป่าให้เริ่มหายไป
ในปีสุดท้ายที่ผมอยู่ที่โมซัมบิก ผมมีโอกาสได้พาครอบครัวไปเที่ยวดูสัตว์ที่อุทยานแห่งชาติ Kruger แห่งนี้บ่อยครั้งขึ้น
เที่ยวดูสัตว์แบบง่ายๆ สบายๆ
อาจเคยมองผ่านและดูแคลน แต่อุทยานแห่งชาติ Kruger เป็นหนึ่งในอุทยานแห่งชาติที่ผมที่ชอบที่สุด โดยเฉพาะความเรียบและความง่าย เราขับรถส่วนตัวไปดูสัตว์เพลินๆ ได้สบาย จะพกข้าวเหนียวหมูทอดไปกินในรถ ไปกับลูกเล็กที่ร้องไห้หรือง่วงนอนง่ายก็ไม่ใช่ปัญหา
ทันทีที่เราเดินทางผ่านประตูทางเข้า ผมจอดรถโดยใช้บัตรเดบิตของธนาคารท้องถิ่นในโมซัมบิกจ่ายสตางค์ค่าเข้า ผู้ใหญ่ชาวต่างชาติคนละราว 800 กว่าบาท เด็กราคาลดลงครึ่งหนึ่ง แล้วก็ไม่รีรอบึ่งรถออกไปดูสัตว์ตามเส้นทางหลากหลายเส้นทางที่มีป้ายบอกทางชัดเจน
ผ่านประตูทางเข้าไปไม่ทันไร เราก็เห็นฝูงกวางอิมพาลาหลายร้อยตัวผสมปนเปอยู่กับม้าลายที่ยืนเล็กหญ้าอยู่ในทุ่งหญ้าป่าริมอุทยาน ขับรถไปบนถนนลาดยางต่อสักพัก ก็เห็นฝูงยีราฟกำลังเงยคอเล็มกิ่งไม้อยู่ไกลๆ เรามักเลี้ยวออกไปบนถนนเส้นรองที่เป็นถนนดินลูกรัง เส้นหนึ่งแยกไปทางแม่น้ำ มีที่จอดรถให้หยุดดูฝูงฮิปโปกำลังลอยน้ำเห็นแต่หลังโผล่ขึ้นมาไหวๆ เหมือนขาหมูลอยอยู่ในหม้อทองเหลือง ตรงริมฝั่งแม่น้ำบนก้อนหินก็เห็นจระเข้กำลังนอนผึ่งแดดอ้าปากสบายใจ บางครั้งเราก็เห็นเต่าตัวเล็กเดินเนิบช้าๆ จากแอ่งน้ำที่กำลังแห้งยอดไปที่แอ่งน้ำอีกแห่งหนึ่ง
ออกมาจากริมฝั่งแม่น้ำ ลัดเลาะต่อไปบนถนนดิน สองข้างทางเป็นทุ่งหญ้าผสมกับต้นไม้ในเขตแห้งแล้ง เมื่อมองดีๆ จะเห็นฝูงหมูป่าพ่อแม่ลูกวิ่งหางชี้ร้องออดๆ วิ่งหนีรถที่วิ่งมาแล้วหยุดจอดไปทางหนึ่ง
ขณะกำลังขับรถอยู่เพลินๆ ผมต้องแตะเบรกทันที เพราะเห็นฝูงช้างป่าแอฟริกันหูใหญ่ยาวรวมกันเป็นโขลงกำลังอาบโคลนกันอยู่ หรือไม่ก็กำลังใช้งวงตวัดกิ่งไม้โน้มใบไม้เขียวมากิน ในตอนแรกเรามักหาแรดไม่เจอ แต่พอไปสักพัก แรดก็ไม่ใช่สัตว์หายากอีกต่อไป เพราะเราพอจะจับได้ว่าฝูงแรดเหล่านี้ชอบที่ที่มีแอ่งน้ำและโป่งดิน และเป็นที่ที่ไม่มีสัตว์พวกกวางอิมพาลาหรือม้าลายๆ เพราะมันอาจจะขี้รำคาญ เช่นเดียวกับควายป่าซึ่งเป็น Big Five อีกชนิดที่เราตามหากันหลายครั้ง แต่พอได้เจอ ก็เจอเป็นฝูงทีเดียวนับร้อยๆ ตัว เดินตัดหน้ารถของเราไปอย่างไม่ไยดี
แต่ที่เห็นจะไม่มีวันได้เจอเหมือนคนอื่นเขาเสียที คงเป็นเสือดาว เราอาจไม่มีโชคหรือพวกเราสังเกตกันไม่ดีพอก็เป็นได้ เพื่อนคนไทยซึ่งมีสามีชาวอเมริกันและอยู่ด้วยกันที่มาปูโตบอกว่า เสือดาวไม่ใช่สัตว์ที่เห็นยากเย็น เขาไปทีไรก็ได้เห็นทุกครั้ง ครั้งหนึ่งเราเห็นรถจอดดูสัตว์ติดกันเป็นขบวนยาว เปิดกระจกสอบถามดูได้ความว่า เสือดาวเพิ่งผ่านมาทางนี้ แต่ก็ไม่มีโชคได้เห็น เพียงแค่ฉิวเฉียด
ส่วนการได้เห็นสัตว์แปลกที่คนอื่นไม่ค่อยเห็นกันก็น่าจะเป็นหมาป่าแอฟริกา (African Wild Dog) เราตื่นเต้นที่ได้เห็น เอาไปโม้ต่อได้เป็นคุ้งเป็นแคว แม้ว่าจะไม่เคยเห็นเสือดาวสักที ลูกชายเห็นทีจะชอบนก Secretary Bird มากที่สุด เพราะอาจชอบเรื่องราวและเรื่องเล่าของมัน เช่น ขนที่หัวของมันคล้ายปลายพู่กันสมัยโบราณ ตัวของมันใหญ่และหากินอยู่บนพื้นดินท่ามกลางทุ่งหญ้า จ้องมองหางูและสัตว์เลื้อยคลายอื่นๆ กินเป็นอาหาร
ส่วนสิงโตที่ดูเหมือนจะหายาก กลับเป็นสัตว์ที่หาดูง่ายที่สุด หลายครั้งพวกมันชอบมานอนผึ่งพุงบนถนนลูกรังที่นักท่องเที่ยวขับผ่านไปผ่านมา หลายครั้งก็เดินไปเดินทางไปตามทางรถที่อุทยานตัดไว้นี่แหละ
จนบางครั้งเราก็แอบสงสัยว่า ทำไมสิงโตเหล่านี้รู้งานเสียจริง
ธรรมชาติอยู่รอบๆ ตัวเรา
การไปเที่ยวดูสัตว์ในทุ่งหญ้าแบบสะวันนา (Savannah) แบบง่ายๆ เหมือนป่าอยู่หลังบ้านแบบนี้ ทำให้เรากับลูกชายในวัย 4 ขวบได้เห็นและเข้าใจธรรมชาติอย่างที่เป็น เราได้เห็นสัตว์หากินและพฤติกรรมในธรรมชาติ ได้เห็นห่วงโซ่อาหาร ได้เห็นแดดจ้าจนคล้อยลับหายไปต่อหน้าเมื่อยามพระอาทิตย์ตก ล้วนเป็นโชคดีที่เราได้รับจากการไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติแห่งนี้
ผมรู้สึกดีที่ได้พาครอบครัวไปใกล้ชิดธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้สตางค์จำนวนมากมาย ไม่ต้องเสียค่าโรงแรมหรูๆ เราห่อข้าวเหนียวหมูทอดไปกินได้แบบไม่ต้องมีพิธีรีตอง และเป็นกิจกรรมที่เราเป็นผู้ดำเนินได้เองโดยไม่ต้องไปรบกวนหรือจ้างคนอื่นให้มาเป็นไกด์เล่าให้เราฟัง ในเวลานั้น แม้เขายังจะไม่ค่อยรู้เรื่องนักเพราะยังเล็กอยู่ แต่ลูกชายชอบพลิกดูรูปสัตว์และนกต่างๆ ในคู่มือเยี่ยมชนอุทยานแห่งชาติ Kruger และใช้นิ้วชี้บอกชื่อสัตว์บางชนิดที่เขาเคยเห็นและพอรู้จักได้อย่างคุ้นเคย เราพูดถึงประตูทางเข้า Crocodile Bridge ที่เราใช้ประจำเพราะเป็นทางเข้าอุทยานที่ใกล้ที่สุดจนเขาคุ้นหู นำมาตั้งเป็นชื่อเพื่อนในจินตนาการของเขาจวบจนทุกวันนี้
ผมมานั่งย้อนคิดกลับไปถึงการไปท่องเที่ยวดูสัตว์ดูธรรมชาติแบบนี้ ก็ทำให้พอนึกได้ว่า หลายครั้ง เราอาจไม่ต้องขวนขวายหรือพยายามเข้าไปหาธรรมชาติเลย เพราะธรรมชาตินั้น จริงๆ แล้วก็อยู่รอบตัวเรานี่แหละ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนหรือแม้จะอยู่ในเมืองใหญ่อย่างในกรุงเทพฯ ก็ตาม
สิ่งสำคัญที่สุดอาจอยู่ที่โจทย์และคำถามที่ว่า เราจะทำอย่างไร เพื่อสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมแบบที่แอฟริกาใต้เขาทำ และบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ Kruger แห่งนี้ ให้ทุกคนเข้าถึงสัตว์ป่าและธรรมชาติรอบตัวได้ง่ายๆ แบบนี้ต่างหาก