ผ้าปักรูปครูไหว 500 ชิ้นวางเรียงรายกันอยู่ในตู้

แม้จะเป็นรูปเดียวกัน แต่ปักออกมาด้วยฝีไม้ลายมือแตกต่างกัน ทำให้แต่ละชิ้นงานสวยและมีเอกลักษณ์ต่างกัน

นี่คือ ‘นิทรรศการครูไหวใจร้ายที่สุดในโลก’ จัดแสดงปกผ้าปักของหนังสือเรื่อง ครูไหวใจร้าย ที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่าง มกุฏ อรฤดี หัวเรือใหญ่แห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ผู้เป็นครูสอนวิชาบรรณาธิการหนึ่งในไม่กี่คนของประเทศนี้ และอ๋าย-นพเก้า เนตรบุตร ครูสอนการปักผ้าผู้เป็นที่นับถืออย่างมากในวงการ ร่วมมือกันพิมพ์หนังสือที่หน้าปกทำจากผ้าปักลายด้วยมือจำนวน 500 เล่ม ในวาระครบรอบ 50 ปีของหนังสือเล่มนี้

ครูไหวใจร้าย, ปกผ้าปัก ครูไหวใจร้าย

เมื่อตอนเริ่มต้น The Cloud เคยนำมาเล่าให้คุณฟังแล้วครั้งหนึ่ง กลับไปอ่านได้ที่นี่

ผ้าแต่ละผืนผ่านกระบวนการเกือบปี กลายมาเป็นหน้าปกหนังสือทั้ง 500 เล่มได้สำเร็จ สำนักพิมพ์จึงนำทุกปกที่ปักมาจัดแสดงรวมกันที่ห้องนิทรรศการของหอสมุดแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาเดินดูอย่างทั่วกัน ก่อนที่หนังสือแต่ละเล่มจะเดินทางไปหาผู้สั่งจองแต่ละคนให้ได้เชยชมเป็นการส่วนตัวตามแต่จะพอใจ

โปรเจกต์ใหญ่ที่ใช้มือทำแบบนี้ คิดง่ายแต่เสร็จยาก ทุกองค์ประกอบต้องเอื้อหนุนเพื่อให้งานสำเร็จออกมาได้

นี่คือเรื่องราวระหว่างทาง ที่งดงามไม่แพ้ผลงานเลย

ครูไหวใจร้าย, ปกผ้าปัก

รักข้ามวงการ

เป้าหมายหลักของงานนี้ คือการขยายวงการศิลปะ 2 แขนง

ทั้งพาคนที่ชอบการปักผ้ามาลองอ่านหนังสือ และพาคนที่อ่านหนังสือไปพิศชมความงามของศิลปะการปักผ้า

เมื่อเป็นงานที่เกี่ยวโยงข้ามสายศิลปะ แถมยังไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน ทำให้คนสมัครมีทุกพื้นเพ ทั้งที่มาจากโลกหนังสือ โลกการปักผ้า และโลกภายนอกที่อาจไม่เคยรู้จัก 2 วงการนี้มาก่อน

อาสาสมัครแต่ละคนจึงไม่จำเป็นต้องมีความสามารถ ขอแค่เปิดใจพร้อมรัก

ครูไหวใจร้าย

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ครูมกุฏได้พบเจ้าของโรงงานผลิตไหมที่ช่วยมอบเส้นไหมมาให้ใช้ทำงานปักกันแบบฟรีๆ

ได้พบเจ้าของโรงงานทำถุงเท้า ที่ช่วยผลิตถุงเท้าลายผีเสื้อหลักพันคู่เพื่อให้สำนักพิมพ์ได้นำไปขาย เป็นเครื่องนุ่งห่มชิ้นเล็กที่ช่วยให้เราฉุกคิดทุกเช้าเวลาใส่

และได้พบเจ้าของธุรกิจ เจ้าของสำนักพิมพ์ และผู้ทำอาชีพแปลกๆ อีกหลากหลาย

“มากกว่านักปักผ้า ได้พบมากกว่านักอ่าน คือเราได้พบคนอีกมากมายที่รักในศิลปะทั้งสองอย่างนี้ และปรารถนาจะทำสิ่งดีๆ โดยไม่ประสงค์จะออกนามตัวเอง” ครูมกุฏพูดด้วยความประทับใจ

ครูไหวใจร้าย ครูไหวใจร้าย

 

ตั้งห้องเรียน

ปกผ้า 1 ผืนใช้เวลาปักนานเท่าไร ตอบไม่ได้

เวลาปักขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้ปัก หากเป็นปรมาจารย์ที่ปักมาจนชำนาญแล้ว เวลา 2 สัปดาห์ก็เพียงพอ แต่หากเป็นผู้ใหม่ที่ไม่เคยปักผ้ามาก่อนในชีวิตอาจใช้เวลาหลายเดือน

ในกลุ่มอาสาสมัคร 250 กว่าคนนี้มีคนทั้งสองแบบ

เพื่อจัดการโจทย์แสนยากนี้ ครูมกุฏกับครูอ๋ายบริหารอาสาสมัครทั้งหมดด้วยการแบ่งกลุ่มออกเป็น 9 ห้องเรียน แต่ละห้องจะมีครูประจำชั้น ที่คอยดูแลและให้ความช่วยเหลือนักเรียนตลอดการปักผ้า

หน้าที่ของครูประจำชั้นคือต้องคอยประชุมกันอยู่เรื่อยๆ เพื่อสำรวจความคืบหน้า และช่วยกันหาวิธีแก้ปัญหา เช่น จะอธิบายอย่างนุ่มนวลและชัดเจนให้นักปักฟังอย่างไรดีว่าต้องแก้งานตรงไหน และเพราะอะไร ซึ่งอาจฟังดูไม่ยาก แต่เมื่อถึงเวลาต้องเผชิญหน้ากับนักปักผู้เหนื่อยล้าหมดแรงจริงๆ แล้ว เป็นงานที่ไม่ง่ายเลย

ครูประจำชั้นหลายคนต้องตรวจรับงานตอนดึกดื่น เพราะนักปักมักว่างปักกันนอกเวลางาน และต้องทำงานหนักกว่านักปักทั่วไป แต่ก็เต็มใจรับงานมาอย่างภาคภูมิ

ครูไหวใจร้าย

ครูไหวใจร้าย

 

อาสามาปัก

ก่อนเริ่มงานจริง นักปักทุกคนจะได้ชุดฝึกเย็บปักมาทดลองปัก บางคนซ้อมปักมากถึง 5 ผืน โดยแต่ละชิ้นที่ซ้อมออกมาสวยไม่แพ้ชิ้นจริงเลย

ครูไหวใจร้าย

หลังจากนั้น แต่ละคนจะลงมือปักหน้าปกจริง 2 ผืน โดยมีแบบร่างเป็นเค้าโครงให้ แต่การเติมแต่งลวดลายบนทรงผมและที่เสื้อเป็นพื้นที่อิสระสำหรับแต่ละคนจะจินตนาการ

หลายคนทำทรงผมให้ครูไหวดูเป็นสาวมากกว่าคุณยาย หลายคนปักลวดลายดอกไม้เพิ่มเติมรอบตัวครูไหว หลายคนออกแบบแต่งเติมฟอนต์ชื่อหนังสือให้มีลีลากว่าเดิม

ครูไหวใจร้าย

หลายคนควักเงินตัวเองซื้อด้ายสีอื่นนอกเหนือจากในชุดเย็บปัก

หลายคนปักยังไม่เก่ง ต้องแก้อยู่หลายรอบ ท้อไปหลายรอบ แต่สุดท้ายแล้วก็ตั้งใจแก้ให้ได้ตามมาตรฐาน

คนจำนวนหนึ่งปักผ้าไม่เป็นเลย เลยไปเรียนปักผ้ากับครูอ๋ายเองบ้าง ครูคนอื่นบ้าง ครั้งหนึ่งเสียเงินหลักพันบาท แต่ก็ทุ่มเททำเพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้จริงๆ

นักปักคนหนึ่งเป็นโรคพาร์กินสันและไม่เคยปักผ้ามาก่อน แต่ความตั้งใจก็ทำให้เวลาปักผ้ามือที่สั่นก็หยุดสั่น จนลวดลายที่ปักออกมาสวยงามไม่แพ้ใคร

การเป็นอาสาสมัครแปลว่านักปักและครูทุกคนไม่ได้ค่าจ้างใดๆ จากการทำงานนี้เลย แม้แต่ปกหนังสือที่ตนตั้งใจปัก เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องเข้าเล่ม ส่งให้ผู้สั่งจอง

งานที่ไม่ได้อะไรเลยเช่นนี้ เรียกว่าสำเร็จได้ด้วยความมานะส่วนบุคคลล้วนๆ

 

ประกอบด้วยด้าย

ไม่ใช่แค่หน้าปกที่เป็นลายปัก รูปประกอบภายในก็ด้วย

เดิมทีเป็นภาพลายเส้น แต่ไม่ใช่ลายเส้นที่เหมาะกับการปัก ครูมกุฏจึงตัดสินใจหานักวาดภาพประกอบมาทำงานนี้ใหม่ นั่นคือ ชุติมา บรรยงค์เวช

ครูไหวใจร้าย ครูไหวใจร้าย ครูไหวใจร้าย

ครูมกุฏเล่าที่มาของศิลปินคนนี้ว่า “เขาสมัครมาเป็นอาสาสมัครปักผ้า โดยที่ครูไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ในระหว่างที่ส่งภาพตัวอย่างมาให้ดู ครูเห็นรูปปักที่มีลายเส้นดี จึงลองถามเขาว่าคุณวาดรูปได้ไหม เขาตอบว่าวาดได้ แต่ไม่ใช่หรอก ความจริงคือเขาเป็นนักวาดรูปประกอบมืออาชีพ ครูเลยมอบหมายให้เขาทำรูปประกอบชิ้นนี้”

หน้าที่ของชุติมาประกอบด้วยการวาดรูปต้นแบบ และปักลายเส้นโดยให้ยังคงความเป็นรูปวาด เธอใช้เข็มและด้ายเส้นเล็กละเอียดมาก ทำให้รูปที่ออกมาดูเผินๆ คล้ายเป็นรูปวาดลายเส้น แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จะพบว่าเป็นการปักผ้า

รูปของครูไหวในท่วงท่าอารมณ์ต่างๆ ที่คั่นอยู่ระหว่างเล่มสวยงามจนดูคล้ายมีชีวิต

ครูไหวใจร้าย ครูไหวใจร้าย ครูไหวใจร้าย

 

ปกไม่ปกติ

อีกสิ่งที่ยากไม่แพ้กับการปัก คือการเข้าปก

สำนักพิมพ์ผีเสื้อนั้นได้ชื่อว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือเนี้ยบที่สุดแห่งหนึ่ง ที่นี่นิยมใช้การเข้าเล่มหนังสือแบบดั้งเดิม เช่นการเคาะสันโค้งด้วยมือ และการใช้คิ้วหนังสือทอมือสำหรับกั้นขอบหนังสือเล่มสำคัญ

การทำหน้าปกก็เช่นกัน สำนักพิมพ์มีร้านเจ้าประจำสำหรับเข้าปกอยู่ แต่ในกรณีนี้ ไม่อาจเข้าปกด้วยวิธีการธรรมดาได้ เพราะปกติแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายของการเข้าปกคือรีดปกให้เรียบเสมอกัน โดยใช้แผ่นรีดปาดลงไปบนหน้าปก

แต่เมื่อเป็นปกผ้า แปลว่าปกจะมีความนูนสูงต่ำไม่เท่ากันตามปมด้ายที่ซ่อนอยู่ด้านหลัง

หมายความว่าการจะเข้าปกแต่ละเล่มต้องใช้วิธีการค่อยๆ กดทีละส่วนของหน้าปกให้ติดกับปกแข็ง เวลาในการเข้าเล่มหนึ่งจึงยืดออกไปมาก

นี่เป็นกระบวนการที่เหนื่อยยากสาหัส แต่เมื่อผ่านพ้นไปแล้ว ก็ทำให้ทั้งสำนักพิมพ์และร้านได้องค์ความรู้ใหม่เพิ่มมาอีกไม่รู้เท่าไร

ครูไหวใจร้าย, ปกผ้าปัก ครูไหวใจร้าย

 

ปักสร้างชาติ

เพราะเหตุใดคนจำนวนมากจึงลงทุนลงแรงกับการปักปกผ้า ทั้งๆ ที่จะไม่ได้เงินสักสตางค์เดียว

เหตุผลที่ตอบมามีตั้งแต่การอยากฝึกปักผ้า การได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ระดับประวัติศาสตร์ และความหวังที่จะฝากบางสิ่งบางอย่างไว้ เทียบกับถุงผ้าหรือเสื้อผ้าแล้ว หนังสือดูจะมีอายุยืนยาวไปได้มากมายกว่านัก

ภายใต้เหตุผลทั้งหลายเหล่านั้น มีอีกเหตุผลหนึ่งที่แสนยิ่งใหญ่ซ่อนอยู่

ครูมกุฏตั้งข้อสังเกตว่า “บางคนอาจจะทำเพราะรักผีเสื้อ แต่ถ้าผีเสื้อเติบโตแล้วเขาก็ไม่ได้อะไร บางคนอาจจะทำอุทิศให้ครูอ๋าย แต่ครูก็เป็นเพียงครูคนหนึ่ง จะเสียเวลามากมายขนาดนี้เพื่อคนหนึ่งคนทำไม

“ครูเลยคิดว่าเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ประโยชน์ข้างหน้า คือโรงเรียนสอนวิชาหนังสือที่จะงอกเงยออกไปอีกเยอะแยะ”

เงินทั้งหมดที่ได้จากการขายหนังสือแต่ละเล่ม จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการตั้งโรงเรียนวิชาหนังสือและพิพิธภัณฑ์การพิมพ์ พื้นที่ใหม่ในที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันที่จะเปิดโอกาสให้เยาวชนแห่งอนาคตได้เรียนรู้การทำหนังสือ

หากเด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องหนังสือ ได้เข้าใจคุณค่าของการบันทึกความรู้ ความทรงจำ ความคิดเห็น และได้หัดตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ รอบตัว พวกเขาย่อมเติบโตอย่างงดงาม

ทุกคนที่ร่วมทำงานปักผ้าครั้งนี้จะพูดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยก่อตั้งโรงเรียนขึ้นมา

ครูไหวใจร้าย

 

กล้าขายก็กล้าซื้อ

หากทำขายแล้วไม่มีใครซื้อ งานนี้ก็หมดหวัง

ด้วยความที่เห็นว่าเป็นงานศิลปะ สำนักพิมพ์จึงตั้งราคาหนังสือเล่มนี้ไว้ค่อนข้างแพง นั่นคือเปิดให้จองตอนเริ่มโปรเจกต์ที่ราคา 2,991 บาท ก่อนราคาจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบันยังคงเปิดจองอยู่ที่ราคา 4,991 บาท จนกว่าจะจองครบ 500 เล่ม

สาเหตุที่ราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นการให้รางวัลแก่ผู้ที่ไว้ใจ

ครูไหวใจร้าย

ผู้จองไม่มีทางรู้ว่าเล่มที่ตนเองได้จะหน้าตาเป็นอย่างไร เนื่องจากทางสำนักพิมพ์ไม่อนุญาตให้เลือกจอง มิฉะนั้นผู้คนก็จะแห่ไปจองงานของนักปักที่มีชื่อเสียงเสียหมด ทั้งๆ ที่งานชิ้นอื่นก็สวยงามไม่แพ้กัน

แปลว่าการสั่งจองจะเกิดขึ้นได้ ต้องใช้ความเชื่อใจล้วนๆ ว่าทางสำนักพิมพ์จะดูแลรักษามาตรฐานให้ทุกเล่มออกมาสวยแตกต่างกันไป

สิ่งที่น่าประทับใจคือ มีคนจองเข้ามาจำนวนไม่น้อย ทำให้เรียกโปรเจกต์นี้ว่าประสบความสำเร็จได้อย่างเต็มปาก

ครูไหวใจร้าย

งานนี้เริ่มต้นจากการร่วมมือของครูมกุฏและครูอ๋าย แต่สำเร็จได้ด้วยการร่วมมือของคนแปลกหน้าจำนวนกว่า 250 คน และผู้จับจองหนังสืออีกมาก

เส้นด้ายที่ปักลงไปบนผืนผ้าสร้างสายสัมพันธ์ใหม่ขึ้น

“ถ้าไม่มีใครเลยงานนี้ก็ไม่เกิด ถ้ามีครูและครูอ๋าย แต่ไม่มีคนสองร้อยกว่าคนที่อยากมาปักผ้าด้วยกัน งานนี้ก็ไม่เกิด ถ้ามีคนสองร้อยกว่าคน แต่ไม่มีใครสักคนหนึ่งเลยที่อยากจองหนังสือ งานนี้ก็ไม่เกิด” ครูมกุฏพูดด้วยรอยยิ้ม

นิทรรศการครูไหวใจร้ายที่สุดในโลก มีถึงวันที่ 15 มกราคม 2561 ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

ส่วนถ้าใครอยากได้หนังสือครูไหวใจร้ายฉบับปกปักสุดสวยไปครอบครองชื่นชม ตอนนี้หนังสือยังมีเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง สั่งจองได้ในราคา 4,991 บาทที่ เพจสำนักพิมพ์ผีเสื้อ โดยส่งเอกสารการโอนเงิน พร้อมชื่อ-ที่อยู่สำหรับจัดส่ง ไปที่กล่องข้อความของเพจเลย

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล