สวัสดีอีกครั้งจากแคตตาล็อกเกอร์ (ยัง) สาวจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์แนล รัฐนิวยอร์ก อเมริกา นะคะ หลายคนอาจยังจำกันได้ว่าแคตตาล็อกเกอร์คืออะไรจากบทความเกี่ยวกับห้องสมุด ที่เคยเขียนให้กับ The Cloud เมื่อหลายเดือนก่อน พูดง่ายๆ คือ เป็นผู้จัดทำรายการหนังสือลงในแคตตาล็อกของทางห้องสมุด เพื่อให้ผู้ใช้ห้องสมุดตรวจค้นรายการหนังสือได้ โดยไม่ต้องเดินดูทีละเล่มตามชั้นเก็บหนังสือค่ะ

จากบทความแรกที่ได้เล่าเกี่ยวกับห้องสมุดและงานที่ทำโดยกว้างๆ ทำให้มีหลายคนสนใจและอยากให้เล่าเพิ่มเติม ก็เลยอยากเจาะลึกห้องสมุดเฉพาะทางที่น่าสนใจของทางมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยคอร์แนลมีห้องสมุดถึง 20 ห้องสมุด แต่ที่ตั้งอยู่ในแคมปัสหลักที่เมืองอิตาก้านี้ มีราว 17 ห้องสมุด แยกไปตามคณะ เช่น ห้องสมุดวิศวกร ห้องสมุดสัตวแพทย์ ห้องสมุดเกษตร ห้องสมุดนกและสัตวปีก (ตั้งอยู่ในป่า สามารถเดินดูนกได้ด้วย) ห้องสมุดกฎหมาย (เก่าแก่ สวยงาม ขลัง อลังการมาก) ห้องสมุดกลาง และห้องสมุดเอกสารหายาก ซึ่งคราวนี้จะขอเล่าถึงห้องสมุดเอกสารหายากนี้นะคะ เพราะมีเอกสารเก่าๆ ที่น่าสนใจจากทุกมุมโลกมากมายเลยค่ะ 

ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4
ห้องสมุดเอกสารหายาก (Kroch Library, Division of Rare & Manuscript Collections)

จริงๆ แล้วไม่ใช่ห้องสมุดแยกต่างหาก แต่เป็นแผนกหนึ่งของห้องสมุดครอค (Kroch) ซึ่งเป็นห้องสมุดเน้นด้านเอเชีย มีความสำคัญและเป็นแผนกที่ได้รับความสนใจจากผู้คนจากทั่วไป เพราะเป็นที่เก็บรวบรวมเอกสารเก่าแก่ และมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรม สังคม ของมวลมนุษยชาติจากทุกมุมโลก ภายในพื้นที่ 97,000 ตารางฟุต Kroch Library มีห้องสำหรับเก็บหนังสือประมาณ 1 ล้านกว่าเล่ม และเอกสารต้นฉบับ สมุดข่อยโบราณ ที่เก็บรักษาในลังขนาด 1 ลูกบาศก์ฟุตอีกถึง 20,000 ลูกบาศก์ฟุต (ว้าวดังๆ ค่ะ) มีทั้งรูปภาพ ภาพเขียน ภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหว ไมโครฟิล์ม แถบบันทึกเสียง อีกเป็นล้านชิ้น 

อ่านมาถึงตอนนี้ผู้อ่านคงคิดภาพโกดังมืดๆ วังเวง มีชั้นเก็บของสูงจากพื้นจรดเพดาน บนชั้นเต็มไปด้วยลังเล็กใหญ่ ฝุ่นเกาะหนา ใช่ไหมคะ หยุดค่ะ หยุดความคิดไว้ตรงนั้น และลบภาพออกให้หมด แล้วมโนถึงห้องโถงกว้างขวางทันสมัย ถึงแม้ตามโครงสร้างแล้วเป็นห้องใต้ดินอยู่ลึกลงไปถึง 3 ชั้น แต่ด้วยการออกแบบที่ทันสมัย ทำให้ไม่รู้สึกเลยว่าอยู่ใต้ดิน แผนกนี้มีส่วนเก็บเอกสารซึ่งเป็นห้องควบคุมอุณหภูมิ เพราะเอกสารเก่าต้องเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อป้องกันความชื้นและเชื้อรา ส่วนนี้ไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปค้นเอกสารได้ แต่ทำคำร้องขอให้บรรณารักษ์นำออกมาให้ศึกษาได้นะคะ 

ทางแผนกมีโต๊ะและห้องให้ผู้ใช้นั่งอ่านและศึกษาเอกสารได้ แต่นำออกนอกสถานที่ไม่ได้ เอกสารบางอย่างที่เก่าแก่และเปราะบาง ผู้หยิบจับต้องใส่ถุงมือ และเวลาจดบันทึกต้องใช้ดินสอ (หรือคอมพิวเตอร์) เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้ปากกา นอกจากนี้ ทางแผนกยังมีพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการ ห้องเรียน และห้องประชุมด้วย โดยมีนิทรรศการน่าสนใจเป็นประจำตลอดปี เปิดให้สาธารณะเข้าชมได้ฟรีโดยไม่ต้องขออนุญาต และยังมีนิทรรศการที่ผู้สนใจเข้าชมได้ทางอินเทอร์เน็ตตลอดปีด้วย 

เขียนมาถึงตอนนี้ต้องขอเล่าเรื่องฉาวที่เกิดขึ้นในแผนกนี้เมื่อสัก 10 กว่าปีที่แล้ว คือมีเจ้าหน้าที่ของแผนกคนหนึ่งทยอยขโมยเอกสารหายากออกไปขายทางทางอีเบย์ ทำมานานพอสมควรโดยที่ไม่มีใครรู้ จนกระทั่งบังเอิญมีเจ้าหน้าที่อีกคนไปเจอรายการหนังสือที่ขายบนอีเบย์และรู้ว่าเป็นหนังสือหายาก ความเลยแตก เจ้าหน้าที่คนนั้นก็ถูกเชิญออกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเป็นตำนานเล่าขานมาจนทุกวันนี้ค่ะ (ความลับนะคะอย่าพูดดังไป)

เอาล่ะคะ เกริ่นบรรยายคร่าวๆ เกี่ยวกับแผนกแล้ว คงอยากจะลงไปชมกันแล้วใช่ไหมคะ จะพาไปชมพร้อมๆ กัน ตามปกติแล้วห้องสมุดของเราเปิดให้นักศึกษาและนักวิชาการและบุคคลทั่วไปเข้าออกได้ค่อนข้างเสรี แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการระบาดของโรค COVID-19 ทุกตึกทุกแผนกของทางมหาวิทยาลัยก็ต้องปิดตัวลง ห้องสมุดเองก็ปิดร้างไปหลายเดือน แม้แต่พนักงานก็เข้าไม่ได้ จนกระทั่งประมาณต้น พ.ศ. 2564 ก็ได้เปิดให้พนักงานบางส่วนเข้าไปทำงานได้เท่าที่จำเป็น และเข้าได้แค่วันละไม่กี่คน เพื่อลดความหนาแน่นของคนในอาคาร ส่วนนักศึกษากับนักวิชาการที่ต้องการใช้บริการห้องสมุดจะต้องจองล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ต ทุกคนที่จะเข้าในอาคารต้องได้รับการตรวจเชื้อ COVID-19 เพื่อรับรองว่าไม่มีเชื้อ และต้องใส่มาส์กตลอดเวลาที่อยู่ในห้องสมุด 

ผู้เขียนเองได้รับอนุญาตให้เข้าออฟฟิศได้อาทิตย์ละ 1 วัน เพื่อเข้าไปขนหนังสือมาแคตตาล็อกที่บ้าน ตอนเช้าของวันที่จะเข้าไป ก็ต้องกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ว่าไม่มีอาการหนึ่งอาการใดของโรค COVID-19 และไม่ได้ไปสุงสิงพบปะกับผู้ติดเชื้อ เมื่อส่งฟอร์มแล้วถึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าออฟฟิศได้ นอกจากนี้ยังต้องไปตรวจเชื้อก่อนเข้าออฟฟิศด้วย (ทั้งหมดเป็นบริการของมหาวิทยาลัยที่สะดวกรวดเร็วมาก)

ส่วนแผนกหนังสือหายากนั้น เป็นที่น่าเสียดายว่าตอนนี้คนทั่วลงไปชมนิทรรศการไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน และไม่มีนิทรรศการจัดให้ชม ตอนนี้มีเพียงบริการให้นักวิชาการ นักศึกษาตรวจดูรายการจากแคตตาล็อกออนไลน์ได้ว่าต้องการดูอะไร แล้วกรอกฟอร์มทำคำร้องขอชม ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำแผนกจะนำออกมาให้ค้นคว้าข้อมูล ยุ่งยากนิดหนึ่งแต่ไม่เป็นไรค่ะ จัดการทำเรื่องขอชมเอกสารเก่าของไทยเราไว้แล้ว นัดวันลงไปชมเรียบร้อย ใครอยากชมรีบตีตั๋วเกาะหลังแคตตาล็อกเกอร์สาวคนนี้มาได้เลยค่ะ 

ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4
คุณเกรก กรีน ผู้รับผิดชอบดูแลแผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แผนกนี้อาจจะหายากนิดหนึ่งเพราะอยู่ในห้องสมุดครอค แล้วห้องสมุดครอคก็แฝงตัวอยู่ด้านหลังของห้องสมุดโอลิน แถมแผนกนี้ยังอยู่ลึกลงไปใต้ดินอีกถึง 3 ชั้น สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับแผนกเอกสารหายากทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องการข้อมูลเพื่อการค้นคว้าทางวิชาการหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม แนะนำให้ติดต่อภัณฑรักษ์ (Curator) หนุ่มใหญ่ใจดีผู้ดูแลแผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา คุณเกรก กรีน (Greg Green) ก่อนใครเลยนะคะ เพราะคุณเกรกให้ข้อมูลเกี่ยวกับคอลเลกชัน และชี้แนะแนวทางในการค้นหาข้อมูลให้เราได้ คุณเกรกพูดภาษาไทยและลาวได้คล่องแคล่วอีกด้วยค่ะ 

ห้องสมุดครอคเป็นห้องสมุดพิเศษ สะสมสารนิเทศของทางทวีปเอเชีย ชื่อเต็มๆ ของห้องสมุดครอค คือ Karl A.Kroch Library หรือเป็นที่รู้จักกันว่า Kroch-Asia Library หรือ Kroch Library พอผ่านประตูเข้ามาก็เป็นโถงทางเดินยาว ซึ่งทางด้านซ้ายมือเป็นห้องอ่านหนังสือขนาดใหญ่ ตกแต่งทันสมัย ส่วนบริเวณโถงทางเดินเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการเกี่ยวกับทวีปเอเชีย ช่วงนี้จัดแสดงเกี่ยวกับหนังสือการ์ตูนค่ะ โอ้ย ตื่นเต้น น่าสนใจมาก แค่ยืนอ่าน ดูรูปบนฝา กับดูตัวอย่างหนังสือในตู้โชว์นี้ก็ใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมงได้ล่ะค่ะ ตอนที่นำออกมาตั้งวันแรกๆ รู้สึกปลื้มปริ่มที่ได้เห็นตัวการ์ตูนต่างๆ ที่เคยหลงใหลสมัยเป็นนักเรียน ออกมาโลดแล่นอยู่บนข้างฝาและในตู้โชว์ ความรู้สึกเหมือนได้พบเพื่อนสนิทที่พลัดหลงกันไปนานยังไงยังงั้น ดูเอาเองนะคะ ใครจำตัวการ์ตูนตัวไหนได้บ้างเอ่ย 

ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4
ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4
ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4

ในห้องอ่านหนังสือของครอค ในช่วงเวลาปกติจะมีนักศึกษามานั่งทำงานและอ่านหนังสือกันอย่างคึกคัก แต่เพราสถานการณ์โรคระบาดก็เลยว่างเปล่าเงียบเหงา บริเวณกลางโถงเจาะโล่ง จากหลังคาห้องสมุดลงไปถึงชั้นใต้ดิน มองเห็นบริเวณโถงห้องจัดนิทรรศการของแผนกเอกสารหายาก ซึ่งอยู่ต่ำลงไปถึง 3 ชั้นได้จากจุดนี้ การออกแบบอย่างชาญฉลาดแบบนี้ทำให้ห้องสมุดได้รับแสงสว่างธรรมชาติจากหลังคาทั่วถึงทุกชั้น และทำให้ดูโปร่งโล่งกว้างขวางอีกด้วยค่ะ

ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4

พอผ่านด่านทั้งหมดมาได้แล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะอธิบายวิธีการใช้บริการให้เรา เริ่มจากให้เราเอากระเป๋าและของส่วนตัวฝากในล็อกเกอร์ หลังจากนั้นก็จะให้เราไปเข้าห้องน้ำเพื่อให้ไปล้างมือค่ะ ด้วยเหตุผล 2 ประการ หนึ่งนั้นเพราะ COVID-19 นั่นเอง และอีกหนึ่งก็เนื่องจากเอกสารที่เรากำลังจะเข้าไปจับต้องนั้นบางชิ้นเก่าและเปราะบาง ถ้ามือเรามีเศษขนม เลอะช็อกโกแลต เหงื่อ หรืออะไรก็ตามแต่ อาจทำให้เอกสารเสียหายได้ ล้างมือเสร็จเจ้าหน้าที่ก็จะพาเราเข้าไปในห้องที่เขาเตรียมเอกสารที่เราต้องการไว้ให้ ในห้องก็จะมีโต๊ะยาวๆ 10 โต๊ะ แต่เนื่องจาก COVID-19 (อีกแล้ว) เขาอนุญาตให้มีคนเข้าใช้ได้ครั้งละแค่ 2 โต๊ะเท่านั้น จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะแจกถุงมือ ดินสอ และกระดาษสำหรับจดบันทึกให้ เอาแลปท็อปหรือดินสอของตัวเองเข้าไปได้ แต่ไม่อนุญาตให้เอาปากกาหรือสมุดบันทึกเข้าไปนะคะ 

ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4

ที่โต๊ะของเราจะมีกล่องเอกสารที่เราขอวางรอไว้ จริงๆ แล้ววันนี้มีหลายอย่างที่อยากดู เช่น เอกสาร รูปภาพ โปสเตอร์เก่าเกี่ยวกับการเมืองไทยหรือการเลือกตั้ง แต่เนื่องจากเวลามีจำกัดแค่ 2 ชั่วโมง เลยขอดูแค่สมุดข่อยเก่าที่เป็นหนังสือแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก และภาพโบราณสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2408) ที่ถ่ายโดย จอห์น ทอมสัน (John Thomson) ผู้เป็นช่างภาพส่วนพระองค์

กล่องแรกที่เปิดเป็นสมุดข่อยแบบเรียนภาษาไทย ต้นปถม ก กา จารบนใบลาน ขึ้นต้นว่า “มโนข้าจะไหว้ วรไตรรัดตะนา…” มีใครเกิดทันได้เรียนกลอนบทนี้ไหมคะ ตัวคนเขียนเคยเรียน เคยท่องได้คล่อง (แต่ไม่ใช่จากสมุดข่อยนะคะ ไม่แก่ขนาดนั้น ฮ่าฮ่า) ไม่น่าเชื่อว่ายังจำกลอนได้หลายบาทเลย 

ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4
ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4

ส่วนอีกกล่องเป็นสมุดข่อยเก่าแก่เล่าเรื่องราวอะไรสักอย่าง ลองพยายามอ่านกันดูเอาเองนะคะ จริงๆ ทางแผนกมีสมุดข่อยและใบลานเยอะมาก ส่วนใหญ่เกี่ยวกับพุทธศาสนา และยังมีแผ่นพิมพ์ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงอีกด้วย

ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4

และภาพเก่าทั้งภาพผู้คน บ้านเรือน วัดวาต่างๆ ซี่งเป็นภาพโบราณสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ถ่ายโดย John Thomson มีเยอะมาก ดูเพลินเลยค่ะ ได้เห็นความเป็นอยู่ ผู้คน เหมือนได้หลุดเข้าไปอยู่ในห้วงเวลาพ.ศ. 2408 เลยล่ะค่ะ น่าเสียดายที่ไม่สามารถนำรูปมาให้ชมได้ทั้งหมด เอาแค่ตัวอย่างนะคะ

ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4
รูปภาพถูกจัดเก็บอย่างดี ด้วยกรอบกระดาษพิเศษกันการสึกกร่อนหรือสีจืดจาง
ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4
รูปนี้ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีสมัยใหม่อาจจะคันหัวใจนิดๆ นะคะ 

ดูเพลิน 2 ชั่วโมงผ่านไปเร็วมาก เลยจำต้องจากลา แต่บังเอิญว่าบรรณารักษ์เวรที่คอยให้บริการเป็นสาวสวยเพื่อนของผู้เขียนเอง เลยได้บริการพิเศษ ทัวร์ห้องเก็บเอกสารเลยค่ะ ตื่นเต้นจัง นับว่าเป็นบุญตาของผู้เขียนมาก เพราห้องนี้เป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่เก็บสมบัติมูลค่ามหาศาล

ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4
ตามคุณ Eisha ไปเลยค่ะ
ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4
ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4
ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4
นอกจากเอกสาร แล้วก็ยังมีวัตถุโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ด้วย
หนังสือขลิบทองแท้
ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4
Eisha โชว์สมุดพับโบราณ
ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4
แบบจำลอง Globe Theartre โรงละครของเชกสเปียร์ สร้างโดย John Cranford Adams ใน ค.ศ. 1935

จอห์น แครนฟอร์ด อดัมส์ (John Cranford Adams) เป็นนักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาวรรณคดีอังกฤษของมหาวิทยาลัยคอร์แนล และได้เป็นอาจารย์ประจำภาควิชา ต่อมามีการถกเถียงรายละเอียดและปรับปรุงหลายครั้ง จนได้ใช้ในการเรียนการสอนวรรณคดีเชกสเปียร์ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล แบบจำลองของ Adams ชิ้นนี้แม้ว่าจะไม่ใช่ชิ้นแรกต้นฉบับที่สร้างใน ค.ศ. 1935 และมีรายละเอียดที่ได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากชิ้นดั้งเดิมหลายจุด แต่ก็เป็นฝีมือของ Adams เอง และต่อมาได้กลายเป็นพื้นฐานการศึกษาค้นคว้าด้านการละครมาจนถึงปัจจุบัน 

ต้องขอขอบคุณ คุณ Eisha Neely บรรณารักษ์แสนสวยและใจดีที่สุดของแผนกนี้ที่กรุณาพาเราเข้าไปชม ขอกราบงามๆ เลยค่ะ แต่ตอนนี้ขอหยุดทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของมหาวิทยาลัยคอร์แนลไว้แค่นี้ก่อน หวังว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้และความเพลิดเพลินไม่มากก็น้อยนะคะ สวัสดีค่ะ

ทัวร์แผนกเอกสารเก่าและหายากของของ ม.คอร์แนล ชมสมุดข่อยและภาพเมืองไทยสมัย ร.4

Writer & Photographer

Avatar

อภิกัญญา แมคคาร์ที่

แคตตาล็อกเกอร์ (ยัง) สาวแห่งห้องสมุดโอลิน มหาวิทยาลัยคอร์เนล ที่รับผิดชอบหนังสือหมวดภาษาไทย ลาวและเขมร ทำงานในตำแหน่งนี้มา 21 ปีเต็ม โดยไม่คิดจะขยับขึ้นหรือลงเพราะอยู่แบบนี้ก็สบายดี เป็นแม่ของลูกสาว 2 คน ชีวิตทุกวันนี้มีความสุขกับคนรัก แมว 2 ตัว การทำสวน และการโพสต์รูปอาหารบนเฟซบุ๊กทุกวันให้เพื่อนๆ น้ำลายสอเล่นๆ