เมื่อปีที่แล้ว อุทยานธรณีสตูลได้รับการรับรองเป็น ‘อุทยานธรณีโลก’ แห่งแรกของไทยโดย UNESCO (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization หรือองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ)

สิ่งนี้บอกอะไรกับเราบ้าง อย่างแรกคือจังหวัดชายฝั่งอันดามันแห่งนี้มีทรัพยากรธรรมชาติไม่ธรรมดา มีหน่วยงานและคนท้องถิ่นมากมายที่พร้อมใจกันช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ ให้คงอยู่ต่อไปสู่คนรุ่นหลัง เป็นพลังของคนตัวเล็กที่กำลังแผ่ขยายใหญ่ขึ้น

ช่วงที่ผ่านมา มีการค้นพบปูชนิดใหม่ของโลกที่จังหวัดสตูลถึง 3 ชนิด คือ ปูทหารยักษ์ปากบารา ปูเขาหินปูนทุ่งหว้า และปูเขาหินปูนสตูล เป็นหลักฐานยืนยันถึงความหลากหลายทางระบบนิเวศของอุทยานธรณีโลกแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

กั้ม-กฤตานนท์ ทศกูล คือนักทำสารคดีรุ่นใหม่ชาวสตูล ผู้ใช้เวลาถึง 6 ปี ในการไปค้นหา ติดตาม และเฝ้าถ่ายทำเรื่องราวของปูสายพันธุ์หายากกว่า 35 ชนิด รวมถึงปูชนิดใหม่ทั้ง 3 ชนิดที่ค้นพบที่จังหวัดสตูลแห่งเดียวในโลก เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายและวิดีโอสารคดีที่มีชื่อว่า ‘Crabs of Satun อัศจรรย์ชีวิตปูแห่งสตูล’ 

จากป่าเขาหินปูนในเทือกเขาบรรทัด ชายหาด และป่าชายเลนชายฝั่งตะวันตกสู่หมู่เกาะโพ้นทะเลและแนวปะการังของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราและตะรุเตา เป็นความอัศจรรย์ของปูตามแหล่งที่อยู่อาศัยธรรมชาติที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน 

จากความตั้งใจในการทำสารคดีเพื่อบอกเล่าความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติบ้านเกิด สู่การค้นพบภัยคุกคามร้ายแรงด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะรั่วไหลลงสู่มหาสมุทรที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น สัตว์น้ำมากมายล้มตายจากการกลืนกินพลาสติกและไมโครพลาสติกที่ผลิตขึ้นโดยมนุษย์ 

กั้มลงมือทำทันที เริ่มจากตัวเองและท้องถิ่น ณ บ้านเกิดจังหวัดสตูล เขาเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องความรุนแรง ทำไมเราต้องลดการใช้และเรียนรู้วิธีจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี รวมถึงผลกระทบที่ทุกคนจะได้รับกับเด็กในหลายชุมชนและโรงเรียนอันห่างไกล

นอกจากนี้ กั้มยังชวนคนรุ่นใหม่ไปร่วมกันเก็บขยะทะเลที่ถูกซัดขึ้นมาเกยตื้นบนฝั่ง เป็นกิจกรรม Beach Cleanup ที่แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเส้นทาง Trash Journey อันยาวไกล แต่เขาบอกเราว่า อย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย 

ส่วนการแก้ปัญหาต้นทาง กั้มเพิ่งเข้าร่วมประชุม Our Ocean Conference 2019 ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ร่วมกับคนรุ่นใหม่จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อร่วมหารือถึงหนทางในการแก้ปัญหานี้ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่นโยบายระดับประเทศจนถึงการปฏิบัติจริงในท้องถิ่น และนำกลับมาผลักดันต่ออย่างเป็นรูปธรรมที่ประเทศไทย

ท้องทะเลและระบบนิเวศนั้นเชื่อมต่อถักทอกันเป็นโครงข่ายสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่ล่มสลายไปในอนาคตได้ หากเรายังไม่เห็นความสำคัญและร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้ จากสิ่งเล็กๆ ที่กั้มทำ สู่การลงมือแก้ไขปัญหาที่ส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนตัวเล็กๆ อีกมากมาย เพื่อความยั่งยืนของชุมชนและสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต

01

World of Crabs

“ปูก็เหมือนกับสรรพชีวิตอื่นๆ เป็นผู้ล่าและผู้ถูกล่าที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหาร นั่นหมายความว่าถ้าขาดมันไป ก็ย่อมส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ สัตว์ที่กินปูอย่างปลา นกทะเล หรือแม้แต่ปูด้วยกัน ถ้าปูสูญพันธุ์หรือในท้องของปูเต็มไปด้วยไมโครพลาสติก สัตว์ในห่วงโซ่อาหารก็ย่อมได้รับผลกระทบต่อกันเป็นทอดๆ” กั้มเริ่มอธิบาย

“ปูบางชนิดอย่างปูทหารยักษ์ปากบาราหรือปูทหารก้ามโค้งจะคุ้ยเขี่ยดินตามผืนทรายเวลาน้ำลง ทำให้พื้นทรายที่อยู่ด้านใต้นั้นได้มีโอกาสขึ้นมาสัมผัสกับออกซิเจน ช่วยเติมออกซิเจนให้กับผืนทราย เวลานั้นมีสัตว์หน้าดินเยอะมากที่เราไม่เห็น มันซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนทราย พวกโคพีพอดทะเล ซึ่งเป็นสัตว์ตัวเล็กที่ซ่อนอยู่ตามผืนทราย 

“พอน้ำลงมันจะกระโดดดึ๋งๆ ตัวใสๆ คล้ายกุ้งเคย เหรียญทะเล และปลาดาว สัตว์พวกนี้ก็จะมีโอกาสได้รับออกซิเจนจากการคุ้ยเขี่ยของปู นอกจากนี้พวกมันยังทำหน้าที่กินซากพืชซากสัตว์ที่ตายแล้ว ทำให้ทะเลสะอาดขึ้น ลดการแพร่พันธุ์โรค

“นอกจากนี้ ปูบางชนิดอย่างปูใบ้ก้ามช้อนยังมีประโยชน์ต่อปะการังมาก เพราะพวกมันช่วยขูดขีด กินสาหร่ายที่จะฆ่าปะการังหากมีปริมาณมากเกินไป ยังมีปูแป้นใบไม้ที่รู้จัการใช้เครื่องมือ เอาปะการัง เศษฟองน้ำหรือใบไม้มาตกแต่งตัว ถ้าไปดูตามป่าชายเลน เราจะเห็นใบไม้ลอยทวนน้ำ จริงๆ คือปูแป้นมันถือใบไม้อยู่ น่าทึ่งนะที่มันรู้จักใช้เครื่องมือป้องกันตัว 

“ปูจึงเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ถ้าหาดไหนไม่มีปู ก็พอจะอนุมานได้ว่าหาดนั้นล่มสลายทางชีววิทยาไปแล้ว อย่างหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต คนมาเช็คอินกันปีละเป็นแสนๆ เต็มไปด้วยร้านรวง ลองคิดดูว่าเคยเจอปูบนหาดแบบนั้นไหม แม้แต่ที่สตูลเองก็มีหลายหาดที่ปูเกือบจะหมดไปแล้วเช่นกัน”

02

Crabs of Satun

ที่มาของสารคดี Crabs of Satun อัศจรรย์ปูแห่งสตูล คือเมื่อหลายปีก่อน กั้มได้รับมอบหมายจาก อาจารย์มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขาศึกษาอยู่ ให้ไปทำสารคดีเรื่อง Hanzhen Yap เด็กชายผู้มีภาวะออทิสติกกับทักษะด้านการสเกตช์ภาพ ที่เมืองยะโฮร์บาห์ รู ประเทศมาเลเซีย 

“น้องฮานเช่นมีความสามารถในการสเกตช์ภาพที่ลงรายละเอียดได้ดีมาก เคยทำหนังสือภาพสเกตช์มาสี่ถึงห้าเล่ม แสดงผลงานไปแล้วในหลายประเทศ ช่วงที่ถ่ายทำสารคดีอยู่ที่มาเลเซียมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนผลงานกัน น้องฮานเช่นชอบหนังสารคดีสั้นที่เราถ่ายไว้นานแล้วชื่อ ‘Crab Army กองทัพปู’ มาก เลยเกิดเป็นไอเดียว่า เราอยากทำโครงการที่ได้ใช้ทักษะในแบบของตัวเองด้วยกัน

ภาพ : Digitalay

“ประกอบกับตอนนั้นที่จังหวัดสตูลมีการค้นพบปูสายพันธุ์ใหม่โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย เราเองมีความผูกพันกับท้องทะเลบ้านเกิด สนใจเรื่องทะเล สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะเรื่องของปูอยู่แล้ว จึงคุยกับน้องฮานเช่นว่า งั้นเรามาทำโครงการเรื่องปูในจังหวัดสตูลกันดีกว่า

“เดิมทีตั้งใจว่าจะทำเรื่องราวของปูแค่ไม่กี่ชนิด แต่พอเริ่มทำไป กลับพบว่ายังมีปูอีกหลากหลายสายพันธุ์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน และพวกเราเองแทบไม่เคยรู้เรื่องของพวกมันมาก่อน เช่น คุณเคยรู้ไหมว่าปูบางชนิดเปลี่ยนสีสันบนกระดองได้” กั้มถามขึ้นยิ้มๆ

“มีครั้งหนึ่งเราไปบันทึกภาพปูก้ามดาบที่หาดปากบารา ตอนแรกปูมันมีแต้มสีแดงอยู่บนหลัง พอถ่ายบันทึกเสร็จปุ๊บปูมันกลายเป็นสีขาวทั้งตัว เลยเพิ่งได้รู้ว่ามันเปลี่ยนสีได้ทันทีตามอุณหภูมิหรืออารมณ์ความรู้สึก”

03

Magic Hour

“เราเริ่มเก็บบันทึกวิดีโอของเจ้าปูหลายสายพันธุ์ตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา เวลากลับบ้านมาที่จังหวัดสตูล ก็จะตระเวนไปถ่ายทำตามป่าชายเลน น้ำตก ป่า ภูเขา หรือตามหมู่เกาะตะรุเตา หมู่เกาะเภตรา เกาะอาดัง เกาะตะเกียง เกาะบุโหลน และเกาะลิดี เพื่อไปหาปูชนิดต่างๆ 

“ชาวบ้านก็จะเห็นเลยว่าเราไปนั่งเปิดหิน ไปรอเป็นชั่วโมงๆ เพื่อถ่ายภาพช็อตเดียว ใช้เวลาทั้งหมด 6 ปี ปูทั้งหมดที่ถ่ายทำเป็นปูตามสภาพธรรมชาติ เป็นเรื่องราวความจริงทั้งหมด

“ตอนถ่ายสารคดีเรื่อง Crab Army กองทัพปู เรามีที่ปรึกษาคือ อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ซึ่งต่อมาท่านแนะนำให้รู้จัก อาจารย์เรืองฤทธิ์ พรหมดำ นักวิทยาศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งช่วยมาเป็นที่ปรึกษาให้สารคดีเรื่อง Crabs of Satun อัศจรรย์ปูแห่งสตูล ที่บอกเล่าเรื่องราวของปูที่พบในจังหวัดสตูลมากกว่า 30 สายพันธุ์

กั้มเล่าต่ออย่างกระตือรือร้นว่า “สายพันธุ์ที่ถ่ายทำยากที่สุด ก็คงเป็นปูทหารยักษ์ปากบารา หนึ่งในสามปูสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่เพิ่งถูกค้นพบนั่นแหละครับ เพราะแทบไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพวกมันมาก่อน แม้แต่ ผศ.พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงษ์พันธ์ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ค้นพบปูชนิดนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลมากนัก” 

“กลายเป็นว่าข้อมูล ภาพถ่าย และวิดีโอ ที่เราลงพื้นที่ไปสำรวจ เป็นข้อมูลชิ้นสำคัญให้อาจารย์พันธุ์ทิพย์นำไปศึกษาต่อ เพราะตั้งแต่ท่านพบปูในครั้งนั้นก็ไม่ได้พบพวกมันอีกเลย เราใช้เวลาค้นหาปูชนิดนี้อยู่หกปี จนในที่สุดก็ได้ไปเจอ และได้ภาพที่ไม่เคยมีใครได้เห็นมาก่อน”

กั้มเล่าว่าเขาตามหาปูทหารยักษ์ปากบาราอยู่นานถึง 6 ปี จนวันหนึ่งไปเจอร่องรอยแปลกๆ คล้ายกับรังปลวกอยู่ทั่วหาดแหลมสน อำเภอละงู “เราคิดว่ามันน่าจะเป็นรังของปูทหารยักษ์ปากบาราแน่ๆ เลยรอจนวันที่น้ำลง ก็พบปูชนิดนี้เดินขบวนอยู่บนหาดเป็นแสนๆ ตัว

“มันเริ่มจากจุดกลมๆ จุดเดียวบนหาด ค่อยๆ ผุดขึ้นมา แผ่ขยายออกเหมือนดอกไม้ แล้วก็แพร่กระจายตัวออกไปทั่วทั้งหาด สุดท้ายอาจารย์พันธุ์ทิพย์ที่ค้นพบปูชนิดนี้ก็ขอเอาไปศึกษาต่อ เพราะนั่นเป็นวิดีโอแรกที่บันทึกการเดินขบวนขึ้นหาดของปูทหารยักษ์ปากบารา 

กั้มอธิบายถึงเทคนิคในการถ่ายทำวิดีโอว่า “ปูบางชนิด ต้องไปนอนรอ บางชนิดต้องดำน้ำลงไปหา แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากที่สุดคือต้องไม่ทำให้มันตกใจ เพื่อให้ได้ภาพตามสภาพธรรมชาติ เราต้องนิ่งที่สุด จนมันรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม พอมันคุ้นเคยกับเรา มันก็จะเดินไปเดินมาตามธรรมชาติเอง”

04

Plastic Ocean

กั้มเล่าต่อว่า ทุกวันนี้ตามแนวชายป่าที่ติดกับหาดทราย พอน้ำขึ้นสูงสุดช่วงมรสุม ขยะพื้นผิวน้ำโดยเฉพาะถุงพลาสติก จะไปติดอยู่ตามกิ่งไม้ เมื่อน้ำลงถุงพลาสติกก็จะยังห้อยอยู่กับกิ่งไม้อย่างนั้น ไม่ใช่แค่ใบเดียวแต่เป็นร้อยๆ ใบ

ขณะเดียวกัน บนพื้นทรายที่ต้นไม้ปกคลุมอยู่ นอกจากซากขยะที่กระจัดกระจายเกลื่อนบนพื้นทรายแล้ว ถ้าเราขุดลึกลงไป ไม่ต่ำกว่าหัวเข่า จะพบเศษโฟมและนาโนพลาสติกทั้งหลาย ฝังแน่นอยู่ในดินมาเป็นเวลาหลายสิบปี พลาสติกพวกนี้จะค่อยๆ แตกตัวเล็กลงๆ จนในที่สุดจะกลายเป็นไมโครพลาสติก ผสมไปกับเนื้อดินจนไม่สามารถแยกมันออกจากกันได้อีกต่อไป

“พวกขวด แก้ว หรือถ้วยพลาสติกต่างๆ ที่เกยอยู่บนชายหาด เมื่อฝนตกลงมา น้ำจะขังอยู่ในพลาสติกเหล่านี้ ส่งกลิ่นชื้นๆ เมื่อปูเสฉวนมาเจอเข้า มันก็จะลงไปหาน้ำสะอาดตามสัญชาตญาณ สุดท้ายก็ติดอยู่ในปากขวดพวกนั้นจนตายและเน่า กลิ่นเน่าจะล่อให้ปูอีกหลายชนิดที่อยู่บริเวณนั้นลงไปติดในขวดต่อ เป็นกับดักที่ฆ่าชีวิตสัตว์เหล่านี้ไปเรื่อยๆ คนที่เขาไปเก็บขยะตามหมู่เกาะจะเจอเป็นประจำ เป็นภาพน่าเศร้าที่สัตว์ต้องมาตายแบบนี้”

“หลายครั้งเวลาเราไปถ่าย เราพบชาวบ้านมากมายตลอดชายฝั่งทะเลตอนเย็นๆ เอาขยะไปกองไว้บนชายหาด พอน้ำขึ้นตอนมืดน้ำก็จะกวาดขยะเหล่านั้นลงไปในทะเลหมดเลย มีอยู่ครั้งนึงเราถามเขาว่า ทำไมถึงขยะทิ้งลงทะเล เขาบอกว่าสงสารคนเก็บขยะ มันเหม็นเขาก็ทิ้งลงทะเล 

“เป็นความจริงที่น่าตกใจ เพราะชาวบ้านเขาไม่มีความรู้ว่าจริงๆ แล้วขยะเหล่านั้นไม่ได้ไปไหน ก็ไหลวนอยู่ในท้องทะเล จมลงก้นมหาสมุทร โดนพัดไปเกยยังเกาะอื่น ถูกสัตว์น้ำกินเข้าไป แต่จะว่าชาวบ้านก็ไม่ได้ เพราะปัญหามันมาตั้งแต่ระบบจัดการขยะของบ้านเรา ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เลยทำให้ขยะรั่วไหลลงสู่ท้องทะเล

“นอกจากนี้ยังมีขยะที่ลอยมาจากที่อื่น ส่วนใหญ่ก็จะมาจากจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพราะน้ำมันจะผ่านมาทางช่องแคบมะละกา บางทีก็มาจากพม่า อินเดีย ชาวบ้านเขาจะเห็นเป็นเรื่องปกติ เพราะเห็นอย่างนี้มานานหลายสิบปีแล้ว คนเมืองปกติมาเที่ยวเฉพาะหน้า High Season ไม่ค่อยจะเคยมาเห็นสภาพหน้ามรสุม แล้วจะรู้ว่าทะเลขยะมันเป็นยังไง”

05

Change Maker

ปัญหาขยะทะเล ส่งผลกระทบต่อคนอย่างไร? พลาสติกที่ตกค้างอยู่ในธรรมชาติ ไม่ย่อยสลายแต่จะค่อยๆ แตกตัวเล็กลงจนกลายเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งหมายถึงพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรจนถึงขนาดที่สายตามองไม่เห็น และยังคงคุณสมบัติความเป็นพลาสติกอยู่ครบถ้วนทุกประการแม้ขนาดจะเล็กลงก็ตาม

เมื่อปลาหรือสิ่งมีชีวิตในทะเลกินไมโครพลาสติกเข้าไป มันจะไปฝังอยู่ในเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ และคนก็กินปลาที่เต็มไปด้วยไมโครพลาสติกเหล่านั้น ในอนาคตร่างกายมนุษย์จะเต็มไปด้วยพลาสติกและมลพิษที่ตกค้างอยู่ในอาหาร น้ำ อากาศ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา

ตอนนี้โครงการสารคดี Crabs of Satun อัศจรรย์ปูแห่งสตูล ถ่ายทำเสร็จสมบูรณ์และวางขายบนเกาะหลีเป๊ะ และอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดสตูล “จุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ คือเพื่อเผยแพร่ความหลายทางชีวภาพในจังหวัดสตูล

“ทำให้คนตระหนักว่าทุกวันนี้สิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกใบนีี้ และเราทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อส่งต่อระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้คนในรุ่นหลัง”

นอกจากภาพวาดประกอบในสารคดีที่วาดโดยน้องฮานเช่น ศิลปินออทิสติกชาวมาเลเซียแล้ว รายได้ทั้งหมดจากการขายสารคดีชุดนี้ กั้มมอบให้กับองค์กรที่ดูแลเด็กภาวะออทิสติกที่ขาดแคลนในพื้นที่ 

“หลายปีระหว่างการถ่ายทำ นอกจากลงพื้นที่ไปตามหาปูแล้ว เรายังได้เข้าไปให้ความรู้ชาวบ้านเรื่องวิธีจัดการขยะอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าชาวบ้านไม่มีความรู้ แม้จะมีอาสาสมัครมา แม้จะมีงบประมาณมา แต่มันก็ไม่มีวันหมด

“บางทีมันคือความหวังดีบนความไม่รู้ ตั้งแต่เอาขยะทิ้งทะเลเพราะสงสารคนเก็บขยะ ไปจนถึงสร้างเขื่อนริมทะเลกันคลื่น ซึ่งจริงๆ แล้วทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งพังย่อยยับ เพราะมันไปขวางกั้นวัฏจักรและเส้นทางธรรมชาติของพืชและสัตว์ ความรู้จึงสำคัญ

“ถ้าเราสอนเด็กๆ อธิบายให้เขาเข้าใจความรุนแรงและผลกระทบในวันข้างหน้า นอกจากเขาจะลดการสร้างขยะเพิ่ม ลดการใช้ Single Used Plastic แล้ว เขายังรู้วิธีจัดการไม่ให้รั่วไหลลงทะเล แถมยังพร้อมใจจะช่วยเก็บขยะที่เกลื่อนหาดอยู่ด้วย เพราะเขารู้แล้วไงว่าวัสดุรีไซเคิลมันใช้ได้หลายรอบ และเก็บขายได้เงินค่าขนมเพิ่มด้วย

“ช่วงที่มีพายุเข้า คลื่นลมจะซัดขยะขึ้นฝั่งมากกว่าปกติ เราก็ชวนน้องๆ หลายโรงเรียนตามชนบทไปช่วยกันเก็บขยะในจังหวัดสตูล เป็น Beach Cleanup ที่เราทำเป็นประจำ เราอาจจะเก็บกันได้ไม่มาก และก็รู้ว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง เพราะถ้าจะแก้กันอย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ มันต้องไปแก้ทั้งระบบจัดการขยะ แต่ก็ดีกว่าเราไม่ได้ลงมือทำอะไรไม่ใช่หรือ”

06

Our Future

ล่าสุดกั้มเพิ่งได้รับเชิญไปร่วมการประชุม Our Ocean Conference 2019 ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ งานที่รวมคนรุ่นใหม่นักสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมจากทั่วโลก มาแชร์ไอเดียในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่

“ในการประชุมมีหลายระดับ ทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น อย่างของเราเป็นโครงการที่จังหวัดสตูล ถือเป็นระดับท้องถิ่น ผู้เข้าร่วมประชุมบางคนก็ทำงานในบริษัทที่กำลังคิดค้นวิธีการใช้พลังงานสะอาด บางคนเป็น NGO ที่พยามต่อสู้เรื่องเหมืองใต้ทะเล หรือเรียกร้องการเดินเรือสมุทรที่เป็นมิตรมากขึ้น 

“เพราะเดี๋ยวนี้ถ้าเรือเดินสมุทรทั้งหลายต้องการทิ้งขยะบนฝั่ง ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม พวกเขาเลยทิ้งขยะลงในทะเลแทน จะได้ไม่่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามประเทศต่างๆ ที่เขาไปขึ้นฝั่ง ในโลกแห่งการผลิตปัจจุบันนี้ ยิ่งเราซื้อมาก เราก็ยิ่งสนับสนุนมลภาวะทุกรูปแบบ เพราะตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของกระบวนการผลิต ล้วนก่อมลพิษทั้งนั้น”

“มีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศแคนาดา เพิ่งได้ทุนการศึกษาวิจัยจาก Google เพราะเขาคิดค้นวิธีเก็บขยะนาโนพลาสติกในมหาสมุทรได้ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะกู้โลกเลยก็ว่าได้”

ข้อเสนอของกั้มในการประชุมครั้งนี้ ที่เขาจะกลับมาผลักดันต่อคือ การเพิ่ม ‘วิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ เข้าไปในการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับขั้นเรียน

“สิ่งแวดล้อมในไทยเข้าสู่สภาวะย่ำแย่ แต่เยาวชนรุ่นใหม่กลับไม่รับรู้เรื่องราวเหล่านี้เลย ตอนเราเด็กๆ อาทิตย์นึงเจอเต่าเป็นสิบตัว ไหนจะปูนา งู กิ่งก่า กระรอก เดี๋ยวนี้เรากินเนื้อสัตว์จากฟาร์มเพาะเลี้ยง และแทบไม่เห็นสัตว์ตามธรรมชาติอีกต่อไปแล้วเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต เราต้องให้การศึกษาเรื่องพวกนี้อย่างจริงจัง”

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการทำสารคดีเรื่องปูร่วมกับศิลปินเด็กออทิสติก สู่การเป็นผู้ให้การศึกษาแก่เด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล เรื่องความสำคัญของการรักษาทรัพยากรที่จะส่งผลกระทบต่อพวกเขาเองในอนาคต

เพราะมนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าธรรมชาติถูกทำลาย มนุษย์ก็ไม่อาจอยู่ได้ ดังนั้นสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องของทุกคน หากแรงกระเพื่อมในเรื่องนี้ถูกส่งต่อ ขยายกลายเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น อนาคตแห่งความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง 

“ไม่เฉพาะเด็กๆ ทั่วไปที่สามารถมีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่องนี้เท่านั้น เราเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์ทุกคน เด็กที่มีความต้องการพิเศษอย่างน้องฮานเช่น ก็สามารถเป็นร่วมเป็นหนึ่งในแรงกระเพื่อมเรื่องนี้ได้เหมือนกัน เพราะทุกคนมีความสามารถเฉพาะตัวเป็นของตัวเอง และนั่นคือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้สวยงามต่อไป” กั้มกล่าวอย่างมุ่งมั่น

Writers

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Avatar

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก