เกตุวดี Marumura หรือ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ เป็นคนคุ้นเคยของ The Cloud

เธอเป็นเจ้าของคอลัมน์ Makoto Marketing และเจ้าของหลักสูตร The Cloud School : Rinen และเป็นที่เพื่อนคู่คิดของงานทายาทรุ่นสอง

และตอนนี้เธอกำลังจะเป็นเจ้าของพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มแรกในนามสำนักพิมพ์ The Cloud

หนังสือเรื่อง Makoto Marketing ว่าด้วย 20 บทเรียนหลักสูตรการตลาดแบบจริงใจสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งเธอนำเคสที่เคยเล่าในคอลัมน์มาปรุงใหม่ให้ได้รสชาติเหมือนกำลังนั่งเรียนในวิชาการตลาดกับเธอ

ญี่ปุ่น จุดเปลี่ยน และความสุขในชีวิตของ เกตุวดี Marumura อาจารย์ที่สอนการตลาดด้วยหัวใจ

ราว 5 ปีก่อน นักอ่านน่าจะรู้จัก ‘เกตุวดี Marumura’ ในฐานะของนักเขียนเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่นผู้มีสำบัดสำนวนสนุกสนานและมีเนื้อหาที่เข้มข้น สมกับที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรีถึงปริญญาเอก

ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ถ้าพูดถึงชื่อเธอ คนจะนึกถึงภาพของอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ผู้ตั้งใจสื่อสารเรื่องการทำธุรกิจดีๆ ที่มีประโยชน์ โดยบอกเล่าผ่านเคสของธุรกิจญี่ปุุ่นและธุรกิจไทย

เธอเรียนจบเศรษฐศาสตร์ แต่มาสอนการตลาด

เธอเรียนจบด้านนวัตกรรม แต่หลงใหลธุรกิจเก่าแก่อายุเกินร้อยปี

เธอเคยอยากเป็นนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จ ไปจนถึงผู้นำประเทศ

แต่ตอนนี้เธอนิยามตัวเองว่าเป็น นักสื่อสารเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับญี่ปุ่น และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างธุรกิจดีๆ ให้เกิดขึ้น ผ่านตัวหนังสือ บทความ เสียง และการสอน

เธอเคยเป็นอาจารย์สอนการตลาดที่สอนหนังสือตามตำรา จนกระทั่งได้รับข้อความจากผู้อ่าน เลยหันมามุ่งมั่นกับการสอนเรื่องการทำธุรกิจดีๆ และการตลาดที่มีหัวใจ

ญี่ปุ่น จุดเปลี่ยน และความสุขในชีวิตของ เกตุวดี Marumura อาจารย์ที่สอนการตลาดด้วยหัวใจ

คุณรักญี่ปุ่นถึงขนาดตอนมัธยมปลายยอมปฏิเสธทุนคิง (ทุนเล่าเรียนหลวง)

ค่ะ (หัวเราะ) เราเข้าใจผิดว่า ทุนคิงต้องไปอเมริกา เรานึกภาพตัวเองไปบาร์ ไปดริงก์ ไม่ออก แต่พอเป็นญี่ปุ่นประเทศที่คนยังใส่ชุดกิโมโนเดินตามท้องถนน เป็นประเทศเอเชียที่พัฒนาแล้ว มีเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่มากของโลก ก็มีเรื่องอยากรู้เต็มไปหมด เลยไม่ลังเลที่จะเลือกญี่ปุ่น เกดสอบข้อเขียนทุนคิงผ่านแล้ว เหลือสัมภาษณ์ แต่กลัวว่าถ้าได้แล้วเขาจะกดดันให้ไปเรียนอเมริกา ก็เลยไม่ไปสัมภาษณ์ แล้วเลือกทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแทน

สิบกว่าปีผ่านไป ตอนนี้ให้ไปเรียนอเมริกาเอาไหม

ยังไม่เป็นไรดีกว่า (หัวเราะ) แต่เราอยากไปสแกนดิเนเวียนะ ตอนป.โท ป.เอก ทำวิจัยเรื่องเดนมาร์ก ระบบโครงสร้างของประเทศทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน มีความสุขเหมือนกัน ใกล้ชิดธรรมชาติ แบบนี้ก็ดีนะ ญี่ปุ่นก็ดี สแกนดิเนเวียก็ดี ทุุกอย่างดีหมดแหละ ขึ้นกับว่าเราจะเลือกมองตรงไหน

คุณชอบงานล่ามหรือ พอกลับเมืองไทยมาถึงเป็นล่ามอยู่ตั้งนาน

เกดทำงานล่ามสองปีก่อนเป็นอาจารย์ประจำ เวลาทำงานล่ามมีความสุขมาก เพราะคนญี่ปุ่นบอกว่า เวลายูมาเป็นล่ามแล้วไอประสบความสำเร็จ ยูเป็นเทพนำโชคของไอ เราก็ดีใจมาก เห็นคุณค่าของตัวเองในการทำงานล่าม

อะไรทำให้คุณเป็นเทพนำโชค

เกดไม่ได้ทำแค่แปลภาษา แต่จะทำให้นายญี่ปุ่นหายเกร็งก่อนไปเจอคนไทย เกดพยายามบอกเขา บางทีก็เอาช็อกโกแล็ตคิทแคทให้ เพราะภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า คิตโตะคัตโตะ แปลว่า ชนะแน่ เป็นเครื่องรางของญี่ปุุ่น เราดูแลเขาทุกอย่างด้วยมั้ง เขาเลยสบายใจ เวลาไปเจอฝั่งคนไทย เราก็ไม่ได้มองว่า เราอยู่ฝ่ายญี่ปุ่นนะ เราจะยิ้มให้เขา พยายามคุยกับเขา เกดชอบเห็นคนรักกัน ไม่ชอบเห็นภาพทะเลาะกัน

คุณเคยเล่าว่า เมื่อก่อนบ้านคุณไม่สนับสนุนให้เป็นอาจารย์

เราสอบภาษาญี่ปุ่นระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดผ่าน หมายความว่าใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ในระดับที่ดีมาก ถ้าทำงานประจำในบริษัทจะได้เงินเดือนเยอะมาก พ่อแม่เขาห่วงว่าเป็นอาจารย์จะได้เงินเดือนน้อย สวัสดิการก็ไม่ค่อยเยอะ กลัวลูกลำบาก

เงินเดือนอาจารย์น้อยกว่าเอกชนแค่ไหน

สามสี่เท่า

แล้วคุณบอกที่บ้านว่า

อยากสอน

ญี่ปุ่น จุดเปลี่ยน และความสุขในชีวิตของ เกตุวดี Marumura อาจารย์ที่สอนการตลาดด้วยหัวใจ

ทำไมถึงชอบสอนหนังสือ

ตอนอยู่ญี่ปุ่น เกดลองทุกอย่าง แล้วพบว่างานเดียวที่ทำตลอดแปดปีคืองานสอน เกดเริ่มตั้งแต่สอนภาษาอังกฤษให้เด็กตั้งแต่ไปอยู่ปีแรกเลย อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจ้างให้เราไปสอน เหมือนไปเล่นกับลูกเขา เรารู้สึกว่าเอาเด็กอยู่ สอนภาษาไทยเราก็ไม่เบื่อ หาวิธีสอนไปได้เรื่อยๆ เราอ่านคนเป็น ก็แค่อยากทำต่อ ตอนที่กลับมาคิดจะไปสมัครงานโรงเรียนทางเลือกด้วยซ้ำ แต่ได้งานที่จุฬาฯ ก่อน

เราบอกพ่อแม่ว่าเราชอบ เขาก็บอกว่า ความชอบมันกินไม่ได้นะลูก ประโยคคลาสสิก สิ่งที่เราทำคือ ที่จุฬาฯ มีประเมินอาจารย์ เด็กประเมินให้เราดีมาก เราก็เอาจดหมายที่เด็กเขียนถึงไปให้เขาดู นี่ไง เด็กแฮปปี้กับเรามากนะ เขาก็เริ่มโอเค พอมีงานต่างๆ เข้ามา เห็นว่าเราอยู่ได้ ตอนนี้เขาก็แฮปปี้มาก เพราะปีใหม่จะมีคนเอาขนมมาให้ลูก เขาได้กินด้วย แล้วเขาก็ไม่ว่าอะไรอีกเลย

เทคนิคการสอนของคุณคือ

ถ้าเป็นเด็กเล็ก พอเขาสมาธิหลุดก็เล่นเกม แล้วกลับมาเรียนต่อ เกมทั้งหลายไม่รู้ว่าผุดขึ้นมาจากไหน เราไม่เคยศึกษาวิธีสอนเด็กเลย ถ้าเป็นเด็กมหาวิทยาลัย เคสต้องสนุกก่อน เรารู้ตั้งแต่ตอนทำสไลด์แล้วว่าจะออกมาดี เคสนี้โคตรเจ๋ง เด็กต้องชอบแน่ๆ เรายังชอบเลย

เกดอยากสอนให้เด็กคิดเป็น เลยสอนทั้งเคส กระตุ้นให้คิด ทำให้เขาตกหลุมพรางเรา แล้วดึงขึ้นจากหลุม เขาจะจำบทเรียนนี้ได้ไปตลอดชีวิต ซึ่งก็มีทั้งเด็กที่ชอบและไม่ชอบ เพราะเราไม่ได้สอนสนุกอย่างเดียว แต่สอนให้คิด ถ้าคิดได้คุณจะได้ไปตลอดชีวิตแน่นอน

ทุกวันนี้เตรียมการสอนเยอะไหม

เกดสอนมาเจ็ดแปดปีแล้ว เมื่อก่อนเตรียมตัวเยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้เตรียมตัวน้อย เน้นการอ่านคนเรียนแทน ถ้าสอนตามที่เราเตรียมไป บางคนไม่เก็ต ไม่ชอบ นั่งเล่นมือถือ หรือสองสามคนไม่สนใจ เราก็อยากจะทำให้ดีที่สุด เพื่ออุ้มทุกคนขึ้นมา แต่ละเรื่องเกดมีสไลด์เตรียมไว้สามสี่เซ็ต มีไฟล์รวมเคสร้อยเคส ดูหน้า ดูอารมณ์คนเรียนว่าชอบแบบไหน ไม่ชอบแบบไหน แล้วเลือกขึ้นมา ถ้าเขาเบื่อก็เปลี่ยนสไลด์ เปลี่ยนเคสทันที เป็นความโรคจิตเบาๆ จะเรียกว่าเตรียมตัวไหมก็ไม่รู้

คุณสอนเรื่องการตลาดดีๆ แบบญี่ปุ่นมาตั้งแต่แรกเลยไหม

ช่วงแรกสอนธรรมดาเลย ตำรา ฟิลิป คอตเลอร์ (Philip Kotler) ค่ะ อันที่จริงเรื่องนี้ไม่ควรจะเขียนนะ (หัวเราะ) เกดมาเรียนการตลาดใหม่ตอนเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ นี่แหละ ไม่รู้เลยว่าแบรนดิ้งทำยังไง เอาตรงๆ นะ ไม่รู้จักทฤษฎีแบรนด์เลย (หัวเราะ) เพราะปริญญาเอกเกดเรียนเรื่องนวัตกรรม คือการตลาดญี่ปุ่นเรียนด้านไหนก็เน้นไปด้านนั้นเลย

ดูจากความคลั่งไคล้ธุรกิจร้อยปีของญี่ปุ่นแล้ว คุณไม่น่าเลือกเรียนด้านนวัตกรรมนะ

ตอนเรียนต่อปริญญาโท เกดเรียนแบบงงๆ ยังหาตัวเองไม่เจอ ได้ทุนเรียนฟรีก็เรียนไป ตอนเลือกอาจารย์ที่ปรึกษา เกดเลือกจากอาจารย์ที่เคยไปเรียนเมืองนอก เพราะเขาจะได้เข้าใจนักเรียนต่างชาติ เกดอยากเรียนการตลาดมาตั้งแต่เด็ก เลยเลือกอาจารย์การตลาดที่จบ MIT จากอเมริกา เกดเคยเรียนเรื่อง Supply Chain กับเขา โดยไม่รู้เลยว่าเขาทำวิจัยเรื่องนวัตกรรม ก็เลยต้องมาทางนี้

แปลว่าตอนเรียนที่ญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้สนใจเรื่องการตลาดดีๆ แบบญี่ปุ่น

ใช่ จุดเปลี่ยนคือตอนเกดเขียนหนังสือเล่มที่สองเรื่อง สุโก้ย! Marketing ทำไมใครๆ ก็ติดใจญี่ปุ่น ก็เขียนแบบขำๆ นะ ปรากฏว่ามีลูกเพจมาที่งานหนังสือแล้วบอกว่า หนูตัดสินใจไปสร้างห้องสมุดที่บ้านเกิดเพราะอ่านหนังสือเล่มนี้ เราก็งง เพราะไม่ได้เขียนเรื่องห้องสมุด ไม่เข้าใจว่าเขาได้ไอเดียมาจากไหน แต่สุดท้ายก็เห็นพลังของตัวหนังสือว่าทำให้เกิดธุรกิจดีๆ ขึ้นได้จริงๆ

คุณก็เลยเริ่มศึกษาเรื่องการตลาดญี่ปุ่น

ค่ะ พอยิ่งสอนก็ยิ่งอินกับธุรกิจญี่ปุ่นมากขึ้น ตอนที่พานักเรียนไปดูงานที่ญี่ปุุ่น เราก็ชอบอะไรที่อินดี้เนอะ บริษัทพานาโซนิค โซนี่ ใครๆ ก็พาไป เราเอาบริษัทที่เราชอบละกัน ก็เลยนึกถึงหนังสือเรื่อง เร่ิมต้นด้วยหัวใจบริษัทก็ไปได้ไกลกว่า เป็นหนังสือที่อาจารย์ญี่ปุ่นเขียน เป็นหนังสือธุรกิจเล่มแรกที่อ่านแล้วร้องไห้ โลกนี้มีธุรกิจที่ดีขนาดนี้ด้วยเหรอ เราเลยเลือกไปดูงานสองบริษัท คือ อินะฟู้ด ทำผงวุ้น กับชูโอแท็กซี่ ให้บริการแท็กซี่ ทุกคนพูดดีมาก สีหน้าแววตาพนักงานก็มีความสุข เรารู้สึกว่า ทำไมไม่มีคนถ่ายทอดเรื่องแบบนี้ในไทยนะ ยุคนั้นคนพูดเรื่องการประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อยเยอะ เราเลยอยากนำความสวยงามของการทำธุรกิจมานำเสนอ มีการทำธุรกิจอีกแบบหนึ่งที่ทำให้ทุกคนมีความสุขได้นะ

ญี่ปุ่น จุดเปลี่ยน และความสุขในชีวิตของ เกตุวดี Marumura อาจารย์ที่สอนการตลาดด้วยหัวใจ

จุดร่วมของทุกบริษัทที่คุณพานักเรียนไปดูงานคือ

อยู่ได้นาน ยั่งยืน และมีปรัชญาชัดเจน รู้ว่าตัวเองทำธุรกิจไปเพื่ออะไร บริษัทที่ประสบความสำเร็จทั่วไปอาจจะมองตรรกะเยอะมาก เช่น ทำแบบนี้ถึงจะคุ้มที่สุด แต่บริษัทที่เกดเลือกคือ ทำไมพี่ต้องเล่นใหญ่ขนาดนี้ เช่น ร้านเค้กบามคูเฮน (Juchheim) มาจากเยอรมนีแล้วคนญี่ปุ่นอินเลยทำต่อ เขาคิดตั้งแต่ห้าสิบปีก่อนว่าจะลดสารกันบูด สารแต่งสีกลิ่นรส เขาก็พยายามลดมาตลอด แต่ยังต้องใส่บ้างเพราะผลิตแบบอุตสาหกรรม จนเขาประกาศว่าลดลงได้แปดสิบเปอร์เซ็นต์แล้วนะ บริษัทเขามี Purpose ที่ชัดมาก ทำกำไรมากกว่านี้ก็ได้ แต่เลือกที่จะทำเพื่อผู้อื่นแทน แล้วเขาก็ไม่ได้ทำฟรี เกดไม่ได้สอนเรื่ององค์กรไม่แสวงหากำไร สุดท้ายคนรักสุขภาพก็กลับมาซื้อของเขาไปเรื่อยๆ มันก็ดีกับบริษัทเขาเอง

คุณสอนเคสการตลาดที่มองยาวห้าสิบปี แต่การตลาดยุคนี้สนใจหวังผลสัปดาห์หน้า เจอปัญหาจากผู้เรียนบ้างไหม

เจอทุกคลาสเลย วิธีแก้ก็ทำได้แต่ยกกราฟผลประกอบการให้ดูว่า นี่ไงคะ มันขึ้นนะ ในระยะยาวเกดอยากทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า บริษัทที่โตแบบนี้ มันโตกว่าจริงๆ แต่ระยะสั้นก็หวังว่าสิ่งที่เราพูดจะอยู่ในตัวเขาบ้าง เกดรู้สึกว่า ยุคของการตลาดแบบนี้กำลังมา คนกำลังอินอะไรที่เป็น Purpose มากขึ้น ถ้ายุคสมัยเปลี่ยน มุมมองของคนก็คงจะเปลี่ยนเองแหละ

ทำไมคนยุคนี้ถึงอินกับ Purpose มากขึ้น

หนึ่ง สิ่งแวดล้อมแย่ลง โลกลำบากขึ้น คนรู้สึกว่าบริษัทที่ตักตวงแสวงหากำไรไม่เท่แล้ว สอง ทุกคนทำสินค้าได้เหมือนกันหมด เทคโนโลยีเหมือนกัน สิ่งที่ทำให้แต่ละธุรกิจต่างคือ จิตวิญญาณของเรา ตรงนี้แหละที่ทำให้คนหันมาเริ่มสนใจ เราไม่รูู้ว่าสินค้าของคุณเป็นอุปกรณ์ปีนเขาแบบไหน แต่เราสนใจว่า ผู้ก่อตั้งของคุณห่วงสิ่งแวดล้อมมากเลย คนจะอินกับเรื่องนี้มากขึ้น

วัยรุ่นยุคนี้อยากประสบความสำเร็จเร็วขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่คุณพยายามสอน คุณทำยังไงเมื่อสิ่งที่สอนตรงข้ามกับสิ่งที่คนอยากเรียน

เกดให้สิ่งนี้เป็นทางเลือก ไม่ใช่เด็กปริญญาตรีทุกคนที่อยากประสบความสำเร็จเร็วๆ มีเด็กที่ยังเป็นผ้าขาว ไม่รู้อะไรเลย เราก็เอาแนวคิดนี้ไปปลูกให้เขา ถ้าเป็นปริญญาโท พอพาไปดูงาน สัปดาห์แรกที่กลับมาทุกคนจะมีไฟ ธุรกิจร้อยปีญี่ปุ่นยั่งยืนสุดยอด แค่นั้นเราก็มีความสุขแล้ว ถึงแม้ว่าพอกลับมาทำงานแล้วจะพบว่า บริษัทที่ทำอยู่ไม่ใช่แบบนั้น แต่เราหวังว่าอีกยี่สิบสามสิบปีข้างหน้า เขาอาจจะเป็นคนหนึ่งที่สร้างธุรกิจแบบนี้ก็ได้

ธุรกิจแบบไหน

ทุ่มเททำเพื่อคนอื่น เพื่อลูกค้า เพื่อสังคม ไม่ได้นึกถึงแค่ประโยชน์ของตัวเองฝ่ายเดียว

แต่เขาเป็นธุรกิจนะ ไม่ใช่องค์กรไม่แสวงหากำไร ทำไมต้องคิดถึงประโยชน์ของคนอื่นมากกว่าตัวเอง

เพราะว่าผลดีทางธุรกิจคือ คุณจะได้ Core Fan ที่รักคุณมากๆ คุณไม่ต้องทำแบรนดิ้งเยอะ เพราะมันคือตัวคุณ สุดท้ายสิ่งที่คุณพยายามทำด้วยเครื่องมือต่างๆ ส่งอีเมล ทำ CRM มันเป็นแค่เครื่องมือ ถ้าคุณทำทุกอย่างจากใจ จะได้โมเดลที่ยืนยาว

มองกลับมาที่ธุรกิจไทย คุณมีความหวังไหม

มีความหวังมากๆ พอออกหนังสือ ริเน็น มันเปลี่ยนชีวิตเกดมากเลย เกดไม่เคยรู้มาก่อนว่า หนังสือเราสร้างกำลังใจให้ผู้ประกอบการ หลายคนบอกว่า เราทำอยู่นะ แต่ไม่เคยมีใครบอกว่า การทำแบบเรามันดี ทุกคนพูดแต่ทำธุรกิจยังไงให้รวย แต่ไม่เคยบอกว่า การที่เราทำขนมที่ไม่ใส่สารกันบูดมันดีนะ พอมาเจอหนังสือเรื่อง ริเน็น เขาก็มีกำลังใจ แล้วก็ทำให้เกดได้เจอธุรกิจดีๆ อีกเยอะมาก ซึ่งไม่เคยมีใครฉายสปอตไลต์ไปส่อง เพราะเขาไม่ได้ทำเงินร้อยล้าน พันล้าน เขาแค่ทำดี

คุณเห็นอะไรในตัวคนที่มาเรียนหลักสูตรริเน็นบ้าง

เกดละอายใจมาก เราไม่ค่อยได้สอนอะไรเขาเลย เหมือนเขามารับพลังใจจากทุกคน คนที่มาเรียนมักจะพูดว่า เรามาถูกทางแล้ว ที่ผ่านมาเหมือนเขาเป็นนักสู้คนเดียว พอเขาได้เห็นว่า สิ่งที่เขาทำมันถูกต้อง เขาก็ดีใจ แล้วมีแรงกลับไปสู้ต่อ

คนเรียนบอกว่า ชอบหลักสูตรนี้มาก ทั้งๆ ที่คุณบอกว่า แทบไม่ได้สอนอะไร แสดงว่าเขาไม่ได้ต้องการความรู้ แล้วเขาต้องการอะไร

พลังใจค่ะ การทำธุรกิจแบบนี้มันท้าทายมากเลยนะ เกดมีลูกเพจคนหนึ่ง พี่ชายเขาเปิดคลินิกแล้วค่อยๆ นั่งคุยกับคนไข้ แม่เดินมาบอกว่า ทำไมไม่รีบๆ รักษา จะได้รับคนไข้ได้เยอะๆ แต่เขาก็ยังเชื่อในทางนี้ นี่ขนาดหมอกับคนไข้นะ แม่ยังต่อต้านเลย เกดมั่นใจว่าผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจดีๆ ต้องโดนคนรอบข้าง คนในวงการ หรือคนในครอบครัวต่อต้าน ทำไมไม่รีบขยาย ไม่ทำให้เร็วกว่านี้ เราต้องสู้กับตัวเอง หลายคนรู้สึกว่า ทำไมฉันต้องเหนื่อยขนาดนี้ เพื่อใคร คลาสนี้ก็เลยเป็นคลาสเติมพลังใจ

ญี่ปุ่น จุดเปลี่ยน และความสุขในชีวิตของ เกตุวดี Marumura อาจารย์ที่สอนการตลาดด้วยหัวใจ

ริเน็นของคุณคือ

นักสื่อสารเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับญี่ปุ่น และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างธุรกิจดีๆ ให้เกิดขึ้น ผ่านตัวหนังสือ บทความ เสียง และการสอน

เคยอยากทำธุรกิจของตัวเองไหม

เคย แต่ไม่ได้ทำเพื่อกำไร เราทำเพื่อที่จะได้เอาไปสอนอย่างเต็มปากว่า ฉันทำกับธุรกิจของฉันแล้ว มันประสบความสำเร็จแบบนี้นะ

คุณอยากทำธุรกิจอะไร

ร้านอาหาร (หัวเราะ) ธรรมดามาเลย เกดอินเรื่องบริการญี่ปุ่นด้วย อยากให้ลูกค้าเข้าร้านมาแล้ว ไม่ต้องยกมือขอช้อน แต่พนักงานเอามาให้เองก่อนลูกค้าขอ เกดรู้สึกว่า อาหารไทยมักจะเสิร์ฟเป็นจานใหญ่ ถ้ากินคนเดียวหรือสองคน จะเลือกสั่งได้น้อย เกดอยากขายอาหารแบบศาลพระภูมิ มีกับข้าวนิดๆ หน่อยๆ ให้เราได้สนุกกับการเลือก จะได้กินอะไรหลายๆ อย่าง แต่ยังไม่เห็นมีคนทำ

คุณถูกเชิญไปสอนเรื่องอะไรบ่อยที่สุด

จิตวิญญาณการบริการแบบญี่ปุ่น หรือ Omotenashi หลังๆ มานี้สินค้าและบริการสร้างความแตกต่างได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนจะดิจิทัลหมด หาซื้อทางออนไลน์ได้หมด แต่สิ่งที่จะสร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้จริงๆ คือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน การบริการก็เลยเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างความแตกต่างของธุรกิจบริการ

เราถอดรหัสการบริการแบบไทยออกมาสอนได้ไหม

เรามีความเป็นกันเอง ไม่เกร็ง ญี่ปุ่นทำอะไรต้องมีรููปแบบ เช่น เวลาเสิร์ฟน้ำต้องถือแก้วสองมือ การบริการของเขาต้องเพอร์เฟกต์ ลููกค้าต้องการเท่านี้ แต่เขาต้องให้มากกว่า ฉันจะคิดเผื่อๆๆ วางแผนให้ทุกอย่าง ถ้าเราไปออนเซ็น เขาจะเตรียมตระกร้าให้ มีชุดให้ มีสบู่ให้ แล้วก็เตรียมถุงพลาสติกสำหรับใส่เสื้อผ้าใช้แล้วให้ด้วย แต่ของไทยเราเป็นตัวของตัวเองมาก บวกกับใจดี สนุกสนานเฮฮา คุยกันแบบเป็นเพื่อน เลยเป็นการดูแลการบริการที่แขกไม่เกร็ง รู้สึกว่าอบอุ่น ก็ไม่เหมือนกัน

ทุกวันนี้คุณติดตามความเคลื่อนไหวในวงการธุรกิจญี่ปุ่นจากไหน

ทีวี เกดดูทีวีญี่ปุ่นเป็นหลัก ช่อง Tokyo Television หนังสือพิมพ์ Nikkei เป็นคนทำ เป็นแนวข่าวเศรษฐกิจ ดู NHK บ้าง รายการวาไรตี้ทั่วไปบ้าง เกดชอบรายการที่เล่าเรื่องธุรกิจดีๆ กับคนดีๆ เป็นความฝันของเกดว่า อยากทำรายการแบบนี้ที่ไทย มันไม่ใช่แค่การนั่งสัมภาษณ์ แต่เขาไปตามติดชีวิตประธานสามเดือน หกเดือน

ตอนนั้นจะมีบริษัทธุรกิจอาหารขนาดใหญ่มาซื้อหุ้นร้านโอโตยะเพื่อเทกโอเวอร์ โอโตยะมีความเชื่อว่า ต้องทำอาหารสดที่ร้านเท่านั้น แต่บริษัทนี้มองว่าไม่คุ้มหรอก ให้ทำจากครัวกลางไปส่ง รายการนี้ก็ตามติดชีวิตประธานโอโตยะเข้าไปในการประชุมผู้ถือหุ้น พวกผู้ถือหุ้นรายย่อยเชื่อเหมือนโอโตยะว่า ต้องทำอาหารสด เลยรวมตัวกันไม่ขายหุ้นให้บริษัทใหญ่ แล้วก็กันได้จริงๆ มีการสัมภาษณ์ผู้ถือหุ้นว่า ทำไมคุณป้าถึงไม่ยอมขายหุ้น มันทั้งสนุก ทั้งสร้างแรงบันดาลใจ แล้วก็เห็นวิธีทำธุรกิจของเขาจริงๆ

เป็นพล็อตแบบญี่ปุ่นมาก

ใช่ๆ แล้วก็ได้เห็นโมเดลธุรกิจแปลกๆ อย่างบริษัทขายเฟอร์นิเจอร์ที่เติบโตติดต่อกันสามสิบปี หรือบริษัทขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สู้กับรายออนไลน์ด้วยการบริการ เราได้เห็นโมเดลธุรกิจที่ไม่มีในไทย เห็นความฉีกแนวของเขา ซึ่งสนุก

วัยรุ่นญี่ปุ่นยุคนี้ยังทำธุรกิจด้วยวิธีคิดเหมือนคนรุ่นพ่อไหม

ยังคล้าย วัยรุ่นยุคนี้ก็ยังชอบผู้ประกอบการอย่าง มาซาโยชิ ซน (SoftBank) คาซุโอะ อินาโมริ (Kyocera) โคะโนะซุเกะ มัทสุชิตะ (Panasonic) อะกิโอะ โมะริตะ (Sony) ซึ่งเป็นคนยุคเก่า อย่างโซนี่ก็อยากให้วิศวกรได้สนุก หรือทำให้เทคโนโลยีไปเปลี่ยนชีวิตผู้คน ประธานซอฟต์แบงก์ก็พูดแบบเดียวกันว่า อยากทำงานเพื่อนำเทคโนโลยีไปเปลี่ยนชีวิตผู้คน

ญี่ปุ่น จุดเปลี่ยน และความสุขในชีวิตของ เกตุวดี Marumura อาจารย์ที่สอนการตลาดด้วยหัวใจ

สตาร์ทอัพญี่ปุ่นเขาไม่อยากรีบเป็นยูนิคอร์นกันเหรอ

ที่อยากก็มี เป็นเรื่องปกติ แต่เขาไม่ได้ทำธุรกิจด้วยความคิดว่า จะเติบโตแล้วขายธุรกิจเมื่อไหร่ดี แต่คิดว่า จะเอาเทคโนโลยีนี้ไปช่วยคนอื่นยังไง มีคนที่ลาออกจากบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังอย่าง McKinsey เพราะอยากให้เกษตรกรมีงานทำ ก็เลยไปทำแพลตฟอร์มขายผักออร์แกนิก ทำเป็นสตาร์ทอัพ ทำจนช่วยเกษตรกรได้จริงๆ แล้วก็ไม่กระโดดไปทำอย่างอื่น เพราะเขาอยากช่วยเกษตรกร

คนญี่ปุ่นเขาสอนกันยังไงถึงนึกถึงคนอื่นก่อนตัวเอง

การ์ตูน หนัง การ์ตูนญี่ปุ่นจะมีเป้าหมายในชีวิต เราจะไปโคชิเอน เราจะสู้เพื่อเพื่อนของเรา เพื่อใครบางคน จะทำเพื่อใครบางคนเสมอ แล้วก็ไม่ได้เก่งตั้งแต่แรก สูตรสำเร็จของฮีโร่อเมริกาคือ อยู่ๆ เก่งเลย แต่ฮีโร่ญี่ปุ่นจะมีช่วงล้มลุกคลุกคลาน ผิดพลาดบ้าง เซเลอร์มูนก็ร้องไห้บ้าง แต่เพราะมีคนอื่น เราเลยมีวันนี้ได้ พอโตมาเราจะเห็นว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียว ต้องคิดถึงคนอื่น คนอื่นในที่นี้รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ถนนหนทาง เราจะไม่ทิ้งขยะไว้ที่โต๊ะ เพราะรู้ว่าจะมีคนอื่นมาใช้โต๊ะนี้ต่อ สิ่งเหล่านี้สื่อก็สอน พ่อแม่ก็สอน เวลาเด็กวิ่งในรถไฟ พ่อแม่ไม่ได้บอกให้เงียบนะ แต่บอกว่าอย่ากวนคนอื่น ทำให้เด็กเห็นว่าเขากำลังรบกวนคนอื่น

แล้วพอหันกลับมามองบ้านเรา

ถ้าเป็นช่วงที่เกดอายุยี่สิบจะรู้สึกว่า ทำไมไม่เอาแบบนี้ ญี่ปุ่นมันสุดยอดมากเลยนะคุณ แต่ตอนนี้พบว่า ไทยก็มีดีในแบบของไทย อย่าไปตามญี่ปุ่นหมด ไม่เอา ต้องหาจุดเด่นของเรา แล้วอะไรของญี่ปุ่นที่เสริมได้ ก็แทรกเข้าไป ถ้าเอามาใช้แล้วไม่เข้า อย่า ไปเอาอย่างอื่น หรือทำโมเดลของตัวเองขึ้นมาดีกว่า

เวลาคุณเล่าเคสธุรกิจดีๆ ของไทย คนฟังมีแววตาเป็นประกายเหมือนเคสญี่ปุุ่นไหม

ไม่ถึงขั้นเป็นประกาย แต่เป็นอารมณ์ ทำได้ด้วยเหรอ เราเล่าเพื่อให้เขาเห็นว่า คุณก็ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเคสใหญ่ๆ อย่าง Food Passion ร้าน Root สวนสามพราน หรือเคสเล็กๆ อย่าง ปลูกปั่น เกดมีความเจ็บใจอยู่อย่างหนึ่งว่า เวลา สตีฟ จ๊อบส์ พูด ทุกคนบอกว่าเป็นศาสดา อีลอน มัสก์ พูด ทุกคนบอกว่าสุดยอด แต่เกดพูดเรื่องญี่ปุ่น ทุุกคนบอกว่าจะทำได้เหรอ ทำไมเป็นประโยคนี้ล่ะ (หัวเราะ) ไม่เข้าใจ เราก็พยายามทำทุกทางเพื่อโน้มน้าวเขาให้เห็นว่าทำได้จริงนะ

แต่การโตเร็ว เราก็ไม่ได้แอนตี้นะ ถ้าคุณอยากโตเร็วแล้วช่วยคนได้เยอะก็ดี เกดว่าเราต้องเจอวิธีการทำธุรกิจแบบที่ตัวเองมีความสุข เป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ตามสูตรสำเร็จเป๊ะๆ อยากให้สร้างตำราของตัวเองขึ้นมา

เวลาคุยกับผู้ประกอบการ อะไรคือสิ่งที่คุณอยากรู้ที่สุด

ทำไมถึงทำธุรกิจนี้ สิ่งที่ภูมิใจที่สุดคืออะไร สนุกที่สุดตอนไหน

ส่วนใหญ่ได้คำตอบที่น่าพอใจไหม

ไม่มีคำว่าพอใจหรือไม่พอใจ เพราะไม่ได้คาดหวัง ถ้าเขาเล่าเรื่องที่ทำให้เราขนลุกหรือน้ำตาไหล เราก็ตื่นเต้นไปกับมัน เกดสนใจความเป็นคนด้วย เขาคิดแบบนี้ได้ยังไง อะไรทำให้เขาเป็นเขาแบบนี้ ครอบครัวเหรอ การศึกษาเหรอ บางครั้งสนใจมากกว่าการทำธุรกิจอีก

อะไรทำให้คุณเป็นคุณในวันนี้

(คิดนาน) การไปเรียนต่างประเทศ เมื่อก่อนเกดเป็นคนที่ (ถอนหายใจ) ฉันต้องได้ที่หนึ่ง แข่งขันอะไรต้องชนะ ต้องประสบความสำเร็จ ตอนมอปลายเห็นภาพตัวเองในอนาคตว่า เป็นผู้บริหารหญิงใส่รองเท้าส้นสูง นั่งพิมพ์งานสวยๆ อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ มีคนขับรถมารับ แต่พอไปญี่ปุ่น เป็นช่วงที่เราพังทลายมาก เราดูโง่มาก สั่งแฮมเบอร์เกอร์ยังไม่ได้เลย พอภาษาไม่ได้ ก็แสดงความเห็นไม่ได้ ดูโง่เลย ทำให้เห็นว่า เราไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด

พอไปอยู่กับสิ่งแวดล้อมของคนที่แตกต่างหลากหลายวัฒนธรรม จากที่เคยเชื่อว่าของไทยดีที่สุด พอโดนถามว่า ทำไมกินข้าวด้วยช้อนส้อม เราก็อ้าว ทำไมถึงแปลกล่ะ เรากินมาทั้งชีวิต เราก็เริ่มยอมรับความหลากหลายทั้งเรื่องวัฒนธรรม ความหลากหลายทางเพศ ทำให้เราเห็นความแตกต่างอย่างสวยงามในทุกเรื่อง ทัศนคตินี้ยังติดตัวมาถึงทุกวันนี้

ญี่ปุ่น จุดเปลี่ยน และความสุขในชีวิตของ เกตุวดี Marumura อาจารย์ที่สอนการตลาดด้วยหัวใจ

คุณเป็นคนเปิดกว้าง

ค่อนข้างมาก ถ้ามีเด็กในห้องนั่งแปลกๆ หรือคนพูดจาแปลกๆ คนอื่นอาจจะหงุดหงิด แต่เราพยายามเข้าใจว่า ทำไมเขาเป็นแบบนี้ มันจะ Cool Down การตัดสินของเราได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นดวงตาที่สำคัญมากเวลาเราสอน ถ้าเราตัดสินไปแล้วว่า บริษัทนี้คนเนือยๆ เราจะเห็นว่าเขาเนือยจริง แต่ถ้าไม่ตัดสิน เราอาจจะประหลาดใจที่คนอื่นว่าคุณเนือย แต่เราเห็นคุณแอคทีฟมาก

คุณเขียนหนังสือ Makoto Marketing เพื่อจะบอกอะไรคนอ่าน

ไม่ต้องทำการตลาดแบบกระแสหลักก็ได้ การตลาดไม่มีสูตรตายตัว กลับมาคุยกับตัวเองไหมว่า ตัวเองเป็นใคร ต้องการอะไร ถ้าเราถามเด็กที่อยากประสบความสำเร็จเร็วๆ ว่า อยากประสบความสำเร็จเร็วๆ จริงไหม ทำไมคิดแบบนั้น หลายคนก็จะงง เพราะแค่เห็นคนอื่นเขาประสบความสำเร็จเร็ว หนังสือเล่มนี้จะทำให้เรากลับมาหาจุดเริ่มต้นของการตลาด ดูความสุขของตัวเองก่อน ก่อนจะไปดูของลูกค้า ถ้าเราไม่มีความสุข ไม่เป็นตัวเรา คุณทำการตลาดไปมันก็จะแกนๆ เพราะคุณพยายามจะสวมวิกเป็นคนอื่น

เกดก็เคยเป็นแบบนั้น เกดเกิดเดือนสิงหาคม เกดเลยกล่อมตัวเองว่า ราศีสิงห์ต้องแข่งแกร่งมีความเป็นผู้นำ ก็เลยทำกิจกรรม พยายามเป็นผู้นำ พอสวมหมวกไป สวมหมวกมาเริ่มคับ มันไม่ใช่ สุดท้ายเรามายอมรับตัวเองดีกว่าว่า ฉันก็เป็นฉันแบบนี้ จะมีความสุขกว่า

ตอนนี้ปฏิเสธงานเยอะไหม

ปฏิเสธง่ายขึ้น เมื่อก่อนเกดสอน Design Thinking กับการตลาดทั่วไปด้วย แต่หลังๆ รับน้อยลง เพราะอยากเอาพลังมาโฟกัสกับธุรกิจดีๆ การตลาดดีๆ มากกว่า

ยังไม่เคยเห็นคุณรับงานโฆษณานะ เป็นความตั้งใจหรือเปล่า

ไม่รับค่ะ ไม่รับงาน Advertorial เลย

เพราะ

ถ้าเราไม่ได้ใช้สินค้านั้นจนอิน เราก็พูดไม่ได้ กว่าจะใช้จนอิน เขาก็ไม่รอแล้ว (หัวเราะ) ถ้าเราใช้แล้วอินจริงๆ เราก็จะพูดให้ แต่ไม่รับเงินนะ

เสียดายตัวเลขที่หายไปไหน

มีบ้าง แต่เกดมองระยะยาว เวลาเกดพูดถึงสินค้าอะไร ลูกเพจเกดเขาเชื่อจริง ซื้อตามจริง รักษาฟันที่ไหนเขายังตามไปรักษาเลย พลังความเชื่อมั่นนั้นสร้างยากมาก ฉะนั้น อย่าเอาเงินเล็กๆ น้อยๆ มาทำลาย ก็ปฏิเสธไปปาดน้ำตาไปค่ะ (หัวเราะ)

คุณติดนิยายจีนมาก ได้เอามาใช้งานบ้างไหม

ไม่ค่อย (หัวเราะ) เกดชอบนิยายกำลังภายใน สืบสวนด้วย แต่ต้องมีความเป็นจีนโบราณหน่อย จะเป็นแนวกำลังภายในหรือแนววางกลยุทธ์สงครามก็ได้หมด มันทำให้เราลืมโลกปัจจุบัน เกดไม่ได้อยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ตลอด มีมุมที่เซ็งคน เครียดบ้าง พอได้หลุดเข้าไปอยู่ในดินแดนแฟนตาซี ได้ตื่นเต้น ได้ยิ้ม มันก็ได้พลังกลับมาในโลกปัจจุบัน

ทำไมไม่อ่านนิยายญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น จุดเปลี่ยน และความสุขในชีวิตของ เกตุวดี Marumura อาจารย์ที่สอนการตลาดด้วยหัวใจ

เป็นคำถามที่ไม่เคยคิดมาก่อนเลยนะ อาจจะรูู้สึกว่าเสียเวลามั้ง (หัวเราะ) ย้อนแย้งไหม คงจะเป็นเพราะญี่ปุ่นที่เกดอยากเห็นคือของจริง แต่นิยายเป็นโลกที่แต่งขึ้น เลยรู้สึกว่าไม่เป็นประโยชน์กับงาน ทำให้เราฟุ้งซ่าน ถ้าอยากเพิ่มความฟุ้งซ่านก็มาอ่านนิยายจีนแทน (หัวเราะ)

มุมไหนในชีวิตคุณที่น่าอิจฉาที่สุด

ที่ผ่านมามีคนช่วยเกดเยอะมาก เกดไม่เคยสมัครงานเอง ไม่เคยหาอะไรเอง จริงๆ แล้วเกดไม่ใช่คนแอคทีฟนะ เกดเขียนที่ Marumura เป็นที่แรก เพราะมีพี่คนหนึ่งแนะนำให้รู้จัก เขียนไปเรื่อยๆ มติชนก็ติดต่อมาขอรวมเล่ม พอหนังสือออก ประธานบริษัทบางคนได้อ่าน ก็เชิญไปเป็นวิทยากร รู้สึกว่าชีวิตเราชิลล์ไปหรือเปล่า ไม่ได้ไฟต์อะไรเลย มีคนหยิบยื่นโอกาสมาให้เยอะมากๆ เกดรู้สึกขอบคุณทุกโอกาสและทุกคนที่ช่วยให้เราเป็นเราในวันนี้

อะไรทำให้โอกาสไหลมาเทมาแบบนี้

ตอนแรกไม่รู้นะ ตอนหลังพอเรามีความเชื่อที่จะทำประโยชน์ให้คนอื่น อาจจะทำให้เขาอยากช่วยเรา เราไม่ได้อยากเป็น Influencer ดังแบบล้าน Followers เราแค่อยากช่วยให้ธุรกิจดีขึ้น ทำให้มีคนอยากช่วยเราได้ง่ายขึ้นมั้ง

ทำไมถึงใช้นามปากกาว่า เกตุวดี Marumura

เกดไม่ค่อยชอบชื่อจริงของตัวเองเท่าไหร่ เลยอยากใช้นามปากกา เราชอบอะไรที่เป็นไทยมากๆ ชื่อเล่นจริงๆ คือ ลูกเกด ก็คิดว่ามีคำว่าอะไรบ้าง การะเกดก็ไทยไป เกตุวดีก็แล้วกัน ใกล้กับคำว่า ‘เกดว่าดี’ เกดคิดว่าอะไรดีก็เอามาเล่าให้ฟัง

มีคนเข้าใจว่า Marumura เป็นนามสกุลสามีชาวญี่ปุ่นของคุณ

ไม่ใช่ค่ะ (หัวเราะ) Marumura เป็นเว็บไซต์แรกที่เราเขียน ทำให้มีเราในวันนี้ เลยอยากเอามาอยู่ในชื่อด้วย ไปไหนคนจะได้จำชื่อ Marumura ได้ด้วย หรือคนรู้จัก Marumura แล้วรู้จักเราด้วย

ญี่ปุ่น จุดเปลี่ยน และความสุขในชีวิตของ เกตุวดี Marumura อาจารย์ที่สอนการตลาดด้วยหัวใจ

ขอบคุณสถานที่ : Patom Organic Living

เตรียมพบกับหนังสือ Makoto Marketing โดย ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ (เกตุวดี Marumura) หนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์ The Cloud ที่ได้ ทรงกลด บางยี่ขัน รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่การนำคอลัมน์ Makoto Marketing ใน The Cloud มารวมเล่ม แต่เป็นการหยิบเอาเนื้อหาที่เคยเขียนมาเล่าใหม่ในรูปแบบของหนังสือประกอบหลักสูตรการตลาดแบบจริงใจสไตล์ญี่ปุุ่น

หนังสือ Makoto Marketing ราคา 325 บาท

สั่งแบบ Pre-Order ลด 20% เหลือ 260 บาท (รวมค่าจัดส่งแล้ว) กดซื้อได้ที่นี่

ช่วงเวลาโปรโมชัน : ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม ถึง 8 เมษายน 2564

วันเริ่มจัดส่ง : 20 เมษายน 2564

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน