The Cloud x Designer of the Year

เวลาที่เราพูดถึงสินค้าที่ได้รับการออกแบบ หลายคนมักนึกไปถึงข้าวของเครื่องใช้เลิศหรูอลังการที่อยู่ห่างไกลจากการหยิบใช้ในชีวิตประจำวันของเรากัน แต่บางทีมันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะมีนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ หลายคนที่เริ่มหยิบจับเอาของรอบตัวในชีวิตประจำวันมาออกแบบใหม่ให้มีการใช้งานและภาพลักษณ์สอดคล้องกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น

กฤษณ์ พุฒพิมพ์ คือหนึ่งในนักออกแบบกลุ่มนั้น ที่ทุกวันนี้ทำงานทั้งออกแบบผลิตภัณฑ์และเฟอร์นิเจอร์ โดยเนื้องานแล้วเขามีลูกค้ามากมายในหลายธุรกิจ ทำให้กฤษณ์ต้องทำงานออกแบบทั้งบรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอย่างเตารีด พัดลม โทรทัศน์ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์อย่างเก้าอี้โซฟา ชุดโต๊ะกินข้าว เก้าอี้สนาม ยังไม่นับวัสดุหลากหลาย ตั้งแต่ไม้ดัด ไม้จริง อะลูมิเนียม พลาสติก ไปจนถึงโลหะหลากหลายประเภท

คุยกับ กฤษณ์ พุฒพิมพ์ ผู้เปลี่ยนภาพจำยาดมตลอดกาลเป็น ARMA ยาดมรักษ์โลกดีไซน์ดี

บางงานแม้จะไม่มีลูกค้ามาจ้าง เมื่อเห็นของบางอย่างที่ยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานของคนปัจจุบัน กฤษณ์ก็จะลงมือออกแบบใหม่และผลิตออกมาด้วยตัวเอง แม้บางอย่างจะเป็นของเล็กน้อย อย่างยาดมอาม่าที่ถูกจับแต่งตัวใหม่เสียจนอาม่ามาเห็นก็คงจำไม่ได้ หรือจักรยานไม้ที่เจ้าตัวอยากได้แต่ไม่เคยเห็นในท้องตลาด เลยทำขึ้นมาเอง

ไม่ใช่แค่เราที่ว่าดี รางวัลต่างๆ มากมายที่เขาได้รับล้วนแล้วแต่การันตีฝีไม้ลายมือของกฤษณ์ ทั้ง Designer of the Year 2019 สาขา Furniture Design รางวัล DEmark Design ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ไปจนถึงรางวัล Good Design Awards (G-mark) ของประเทศญี่ปุ่น และรางวัลงานออกแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดรางวัลหนึ่งของยุโรปอย่าง Red Dot Design Award อีกด้วย

Dots Design Studio
Dots Design Studio
คุยกับ กฤษณ์ พุฒพิมพ์ ผู้เปลี่ยนภาพจำยาดมตลอดกาลเป็น ARMA ยาดมรักษ์โลกดีไซน์ดี

ถ้าจุดแต่ละจุดมาเรียงกันก่อให้เกิดเป็นเส้น และเส้นหลายเส้นประกอบเข้าด้วยกันทำให้เกิดรูปทรงต่างๆ มากมาย คงไม่เกินไปถ้าจะบอกว่าจุดที่ว่าคือจุดเริ่มต้นของงานออกแบบ

และ ‘จุด’ ยังเป็นชื่อของบริษัทที่เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของกฤษณ์ พุฒพิมพ์ นักออกแบบและผู้ก่อตั้ง Dots Design Studio

ถ้าพร้อมแล้ว เราขอเชิญให้ทุกคนมาร่วมกันลากเส้นต่อจุดเพื่อดูความคิดและวิธีทำงานของเขาไปโดยพร้อมเพรียงกัน

จุดเริ่มต้นในการเป็นนักออกแบบ

ความสนใจในการเป็นนักออกแบบของกฤษณ์เริ่มมาจากการทำของเล่นเล่นเองในวัยเด็ก เพราะตอนนั้นร้านของเล่นในจังหวัดร้อยเอ็ดแทบจะไม่มีของเล่นอะไรเลย ชีวิตวัยเด็กของกฤษณ์จึงมีแต่การวาดการ์ตูน แกะจักรยานมาพ่นสีแล้วแต่งใหม่ และเคยแม้แต่หยิบวัสดุใกล้มือมาต่อเป็นหุ่นยนต์กันดั้มกับพี่ชาย

เมื่อโตมา ทางบ้านก็สนับสนุนให้เป็นวิศวกร แต่กฤษณ์ในวัยเด็กกลับเห็นอาชีพอย่างสถาปนิกเป็นอาชีพที่เท่มาก และเกือบเลือกเรียนเป็นสถาปนิกแล้ว ถ้าไม่ใช่เพราะเพื่อนคนหนึ่งเลือกเรียนสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ จนทำให้กฤษณ์ได้รู้จักอาชีพนักออกแบบผลิตภัณฑ์ 

หลังจากสอบเอนทรานซ์ ปรากฏว่ากฤษณ์สอบติดภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

คุยกับ กฤษณ์ พุฒพิมพ์ ผู้เปลี่ยนภาพจำยาดมตลอดกาลเป็น ARMA ยาดมรักษ์โลกดีไซน์ดี

“พอได้เข้ามาเรียน ผมก็ชอบมาก มันสนุกเหมือนตอนที่ผมทำของเล่นเล่นเองสมัยเด็กๆ เวลาทำการบ้านคนอื่นๆ มักทำงานเสร็จกันตอนเช้า แต่ผมทำเสร็จก่อนหลายวันเสมอ เพราะสำหรับผม ทุกขั้นตอนมันสนุกไปหมดเลย ทั้งตอนสเกตช์ ทำโมเดล แม้แต่โปรแกรมออกแบบสามมิติ ผมกับเพื่อนก็เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เอามาใช้ในทำงานส่งอาจารย์ เพราะอยากทำอะไรใหม่ๆ กับการออกแบบอยู่เสมอ ถ้ามองย้อนกลับไป เวลาผมไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม รูปที่ถ่ายมาก็จะมีแต่รูปสถาปัตยกรรมกับงานออกแบบผลิตภัณฑ์ แค่นี้เลย สะท้อนว่าเราชอบสิ่งเหล่านี้มานานแล้วจริงๆ” กฤษณ์เล่าถึงสมัยที่เรียนเป็นนักออกแบบในช่วงแรกๆ

นอกจากความสนุกในการเรียนแล้ว กฤษณ์ยังสนุกจนเริ่มต้นส่งงานประกวดออกแบบในเวทีต่างๆ มากมาย ที่สำคัญคือกฤษณ์ได้รับรางวัลจากการประกวดเหล่านี้อยู่เสมอด้วย

“ตอนเรียนผมส่งงานประกวดบ่อยๆ เพราะได้ทำงานหลากหลายมากกว่าโจทย์ที่อาจารย์ตั้งให้ และอยากได้รางวัล ผมทำงานประกวดส่งไปตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ปีสอง เข้ารอบบ้าง บางอันที่ชนะก็ทำให้ผมได้ไปต่างประเทศครั้งแรกในชีวิตเลย เลยส่งประกวดมาตลอด” กฤษณ์เล่าถึงความสำเร็จที่ได้รับตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา

จุดหมายในการไปใช้ชีวิตแบบนักออกแบบ

หลังจากเรียนจบ กฤษณ์ทำงานประจำอยู่ 1 ปี ก็เริ่มรู้สึกว่าอยากไปเห็น อยากมีประสบการณ์การใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน การไปเรียนต่อจึงเป็นสิ่งที่กฤษณ์สนใจ คำถามถัดมาคือ จะไปเรียนที่ไหนดี

“เรารู้ว่าแถบๆ สแกนดิเนเวียเป็นย่านที่มีการออกแบบที่ดี อย่าง Volvo IKEA Nokia Saab Ericson ผลิตภัณฑ์ที่เราชอบมักอยู่ในโซนนั้นหมดเลย จึงเลือกไปเรียนที่สวีเดน ส่วนหนึ่งคือเรียนฟรี และใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนได้” กฤษณ์เล่าถึงเหตุผลในการเลือกเรียนที่สวีเดน

หลังจากที่เรียนและใช้ชีวิตที่สวีเดน 2 ปี กฤษณ์ก็ได้ฝึกงานด้านการออกแบบทั้งที่บริษัทออกแบบในสวีเดนและในเบลเยียม

บริษัทแรกเป็นออฟฟิศออกแบบและพัฒนาสินค้าเกี่ยวกับกีฬากอล์ฟ ส่วนอีกบริษัทเป็นบริษัทออกแบบยานพาหนะขนส่งมวลชน ทั้งรถไฟ รถบัส รถราง ซึ่งภายหลังกฤษณ์ได้รับข้อเสนอให้ทำงานต่อ แต่กฤษณ์เลือกจะกลับไทยมาทำงานและเปิดสตูดิโอของตัวเองแทน

ผมสงสัยถึงสิ่งที่กฤษณ์ได้เรียนรู้จากการทำงานออกแบบในยุโรป ว่าเหมือนหรือต่างจากระบบการเรียนในไทยอย่างไรบ้าง

คุยกับ กฤษณ์ พุฒพิมพ์ ผู้เปลี่ยนภาพจำยาดมตลอดกาลเป็น ARMA ยาดมรักษ์โลกดีไซน์ดี

“รูปแบบการทำงาน การระดมความคิด การร่างไอเดีย และขั้นตอนการทำงานออกแบบ ไม่ได้ต่างจากสมัยที่เราเรียนอยู่ลาดกระบังเลย สิ่งที่ต่างกันคือเรื่องการวางแผนและบริหารจัดการเวลา เมื่อก่อนเราทำงานโดยไม่มีการวางแผนเท่าไหร่ ภาพในหัวของนักออกแบบคือแค่มีส่งงานลูกค้า เลยทำงานกันจนเลิกเที่ยงคืน ซึ่งมันไม่ใช่ การคิดเงินค่าออกแบบจากลูกค้า คิดมาจากชั่วโมงการทำงานของนักออกแบบในบริษัท ทุกคนต้องทำงานให้ได้ตามแพลนที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้ทุกคนเลิกงานตรงเวลา นี่เป็นสิ่งที่เราเอามาใช้กับสตูดิโอของเรา” กฤษณ์ตอบ

จุดเริ่มต้นของ Dots

หลังจากกฤษณ์กลับมา เขาชวนเพื่อนๆ ที่ทำงานด้วยกันตั้งแต่สมัยเรียนมาทำสตูดิโอออกแบบอีกครั้ง โดยใช้ชื่อ Dots ซึ่งเป็นชื่อเดิมของบริษัทที่กฤษณ์กับเพื่อนๆ เปิดไว้ตั้งแต่ตอนเรียน

ผมถามกฤษณ์ว่า ถ้าให้มองย้อนไป การเปิดสตูดิโอออกแบบผลิตภัณฑ์และเฟอร์นิเจอร์ในประเทศไทยที่ไม่ได้มีงานด้านนี้มารองรับมากมาย ถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงหรือเปล่า

“ไม่ได้คิดไง เลยเปิดได้ (หัวเราะ) ถ้ามีหุ้นส่วนที่เป็นนักธุรกิจหรือการตลาด ไม่ได้เปิดหรอก เรามีงานก็เลยชวนเพื่อนๆ มาทำ ไม่ได้คิดเรื่องการตลาดหรือแผนธุรกิจอะไรเลย ซึ่งก็ดีที่เราเปิดสตูดิโอขึ้นมา เพราะเราไม่ใช่คนที่จะไปทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ได้แน่ๆ” กฤษณ์อธิบายพร้อมเสียงหัวเราะ

ผมถามกฤษณ์ว่า สำหรับเขาแล้วงานออกแบบที่ดีเป็นยังไง

Dots Design Studio

“งานออกแบบที่ดีสำหรับเราคล้ายกฎการออกแบบของ Dieter Rams (นักออกแบบผลิตภัณฑ์รุ่นใหญ่ของเยอรมนี ผู้ริเริ่มผลักดันการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่แพร่หลาย และเป็นแรงบันดาลใจให้ Jonathan Ive ออกแบบผลิตภัณฑ์ของ Apple ในยุคถัดมา-ผู้เขียน) เช่น การคิดงานให้เป็นนวัตกรรม คิดเรื่องความง่ายของการใช้งาน ความสวยงาม อะไรพวกนี้ ซึ่งก็มีหลักการอยู่เยอะมาก แต่งานออกแบบที่ดีในอุดมคติของผมคือ ตัวผลิตภัณฑ์อยู่ได้ยาวนาน ไม่มีใครมาออกแบบใหม่ อย่างเช่นคลิปหนีบกระดาษ ไม่มีใครมาออกแบบรูปทรงใหม่นะ แค่เปลี่ยนสีใหม่ วัสดุใหม่ แต่หน้าตาเหมือนเดิมหรือแทบไม่เปลี่ยนเลย และงานออกแบบที่ดีสำหรับผมก็น่าจะสร้างแรงบันดาลใจส่งต่อให้คนอื่นได้ด้วย เหมือนเป็นครูหรือต้นแบบ” กฤษณ์เล่าถึงงานออกแบบที่ดี

แล้วงานออกแบบของกฤษณ์เป็นแบบไหน ผมถามต่อ

“การออกแบบอยู่ที่ประสบการณ์ของคนที่ออกแบบเป็นหลักเลย นักออกแบบใช้ชีวิตแบบไหน ไปเจออะไรมา ก็เอาสิ่งนั้นมาเป็นต้นทุนในการออกแบบ ซึ่งงานออกแบบของผมมักจะใส่ Styling เข้าไปในงานด้วยเสมอ เพราะส่วนตัวชอบใช้ของที่มีคาแรกเตอร์โดดเด่น หลายคนบอกว่าการออกแบบคือการแก้ปัญหา แต่ปัญหาที่เราแก้อาจจะไม่ได้มีแค่เรื่องการใช้งานอย่างเดียว ความรู้สึก ความชอบ ไลฟ์สไตล์ ก็ถือเป็นปัญหาเหมือนกัน แต่เราไม่ได้ทิ้งเรื่องการใช้งานนะ เราแค่พยายามบาลานซ์ทั้งสองฝั่ง” กฤษณ์อธิบาย

Dots Design Studio

งานหลายชิ้นของกฤษณ์เอาไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ใส่ลงไป ยกตัวอย่างเช่นยาดมอาม่า ซึ่งนอกจากจะเป็นการปรับลุคยาดมใหม่แล้ว อีกเรื่องที่ทำให้ผมตกใจไม่ต่างกันคือ หลายๆ งานที่กฤษณ์ออกแบบเป็นงานที่ไม่ได้มีลูกค้าว่าจ้างแต่อย่างใด อีกทั้งกฤษณ์ยังเป็นคนออกทุนการผลิตด้วยตัวเอง

มันคือเรื่องแพสชันน่ะ นักออกแบบทุกคนน่าจะอยากออกแบบของของตัวเองน่ะ ส่วนโอกาสและช่องทางในการตลาดเป็นเรื่องหลังจากที่ทำการบ้านหาข้อมูลแล้ว อย่างยาดม เราสงสัยว่ายาดมแบบที่เราจะใช้เป็นยังไง จักรยานก็ชอบปั่นอยู่แล้ว จึงอยากทำของตัวเอง นาฬิกาก็ชอบใส่อยู่แล้ว คิดว่าในชีวิตหนึ่งถ้าได้ทำนาฬิกายี่ห้อของตัวเองมันก็ดีนะ เลยลองทำเอง ลงทุนเองดู ซึ่งโปรเจกต์ทำนองนี้ที่ขาดทุนก็มีเยอะนะ ผมมองว่าเหมือนการไปเที่ยวแหละ เราไปเที่ยวเพราะอยากเปิดโลกใช่ไหม การทำจักรยานหรือกระโดดมาทำยาดมก็แบบเดียวกัน มันเปิดโลกให้ผมมาก เหมือนพาเราไปสู่อีกวงการหนึ่ง อย่างยาดมก็พาเราไปเจอคนในวงการสมุนไพรหรือวงการอื่นๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามี” กฤษณ์เล่าให้ฟังถึงที่มาของงานออกแบบที่ไม่มีลูกค้า

จุดเริ่มต้นของงานแต่ละงาน

หลังจากเราได้ฟังขั้นตอนการทำงานของนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์อย่างกฤษณ์ ทำให้รู้สึกว่าเขาไม่เหมือนนักออกแบบที่เราคิดไว้สักเท่าไหร่ เพราะเรามีความคิดว่านักออกแบบจะต้องสเกตซ์หรือเขียนแบบเป็นหลัก แต่การสเกตช์งานดูเป็นขั้นตอนท้ายๆ ที่สั้นมากๆ ในกระบวนการด้วยซ้ำ

“สำหรับผม เวลาจะออกแบบอะไรสักอย่าง เราควรจะรู้กระบวนการทั้งหมดก่อน ถ้ามีลูกค้าติดต่อให้ออกแบบเก้าอี้หนึ่งตัว อย่างแรกเลยคือ เราต้องรู้ก่อนว่าลูกค้าที่มาจ้างเรา โรงงานเขาทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ ผมจะเข้าไปศึกษาที่โรงงานเขาก่อน เพื่อเอาข้อจำกัดของโรงงานมาใช้ในการออกแบบ หลังจากที่ดูโรงงานเสร็จ ก็ถามหา Requirement จากลูกค้าต่อว่าเก้าอี้อะไร ให้ใครใช้ ใช้ที่ไหน วางตรงไหน ราคาเท่าไหร่ คือถ้าข้อมูลมีมากพอ ทั้งผู้ผลิต ราคา ตลาด ผู้ใช้ จะทำให้การออกแบบง่ายขึ้น แต่ถ้าเป็นดีไซเนอร์ที่ฉาบฉวยก็อาจจะหยิบจับเอาแรงบันดาลใจจากสิ่งนั้นสิ่งนี้มาวาดเป็นแบบในกระดาษ แล้วเสนอลูกค้า ซึ่งทำได้นะ แต่ผมมองว่ามันเป็นแค่กิมมิกในการเล่าเรื่องมากกว่า

Dots Design Studio

“จากนั้น เราจะศึกษาขั้นตอนการผลิตจากการเข้าไปดูในโรงงาน แล้ววางคอนเซปต์การออกแบบ เช่นลูกค้าอาจจะมีเครื่องจักรประเภทนี้อยู่คนเดียวในวงการ ถ้าเราเอามาปรับใช้ในการออกแบบก็จะทำให้เขามีสินค้าที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ในท้องตลาดและไม่มีใครทำได้เหมือนด้วย ดังนั้น คอนเซปต์อาจจะมาจากขั้นตอนการผลิตก็ได้ หรือมีเก้าอี้ตัวหนึ่งที่ได้รับโจทย์มาว่าจะเน้นขายให้ร้านขนม ร้านกาแฟ เราก็วางคอนเซปต์ให้เป็นขนม ออกแบบเป็นเก้าอี้มาการองที่ทำจากไม้ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมากในตลาด” กฤษณ์อธิบายขั้นตอนการทำงานออกแบบของตัวเขาเอง

“ผมมองว่าการออกแบบคือการบาลานซ์ความต้องการของคนสองคน คือคนที่มาจ้างเรา กับคนที่มาซื้องานที่เราออกแบบ ถ้าโชคดีที่ทั้งสองคนนี้เป็นคนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ดีไซเนอร์ก็ทำงานได้ง่าย ถ้าสองคนนี้มีความต้องการแตกต่างกันมาก อาจจะทำให้หลายๆ งานต้องล้มเลิก นักออกแบบจึงต้องเข้าใจบริบทของลูกค้าก่อน เช่นเรื่องการผลิตที่ผลิตสินค้าได้ง่ายมาก ไม่มีการเสียเศษวัสดุหรือโดนตีกลับ แล้วยังแพ็กลงกล่องแบนๆ ได้ด้วย จะยิ่งประหยัดค่าขนส่ง ซึ่งแนวความคิดที่ว่ามาทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยให้งานออกสู่ตลาดได้ และทั้งหมดนี้ผู้ใช้อาจไม่ต้องรู้เลยก็ได้” กฤษณ์เล่าเพิ่มถึงการทำงานอีกส่วนของนักออกแบบ

Dots Design Studio
Dots Design Studio

จากการสังเกตของเรา กฤษณ์เป็นดีไซเนอร์ที่ทำงานกับหลากวัสดุและหลายกระบวนการผลิต ทั้งไม้ดัด อะลูมิเนียมหล่อ งานเหล็ก ไปจนถึงพลาสติก ซึ่งวัสดุแต่ละอย่างก็มีกระบวนการและข้อจำกัดในการออกแบบที่แตกต่างกัน มองในแง่หนึ่งมันก็น่าจะสร้างความสนุกให้กับการทำงาน แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็สร้างภาระในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอด

“เราเลือกที่จะทำงานหลากหลายเอง บางคนเขาอาจเลือกทำงานจนเป็นผู้เชี่ยวชาญในวัสดุนั้นๆ ไปเลยก็ได้ แต่เราชอบที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นอยู่ตลอด ได้รู้จักคนมากขึ้น ได้เห็นโลกกว้างกว่า” กฤษณ์ตอบ

จุดหมายของการออกแบบ

ในวันที่ได้รับรางวัลการออกแบบมามากมายจากหลายสำนักจนเหมือนเป็นหมุดหมายสำคัญในชีวิต ผมถามกฤษณ์ถึงจุดหมายในการออกแบบหลังจากนี้ว่าคืออะไร

“จุดหมายของการออกแบบในตอนนี้คืออยากเห็นของที่ตัวเองออกแบบอยู่บนชั้นวาง อยู่ในร้านขาย อยากให้คนใช้ พอเราโตขึ้นเราก็อยากออกแบบและทำของที่ดีให้อยู่ต่อไปบนโลก ถึงวันที่เราไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว ก็จะยังมีคนเห็นของที่เราออกแบบว่ามันสวย ยังใช้งานได้ดีอยู่ อยากให้คนจำเราได้จากงานของเรา ซึ่งเรายังอยากออกแบบของอีกหลายอย่างมากเลย ในอนาคตถ้ามีโอกาสก็อยากกระโดดเข้าไปทำ” กฤษณ์ตอบพร้อมรอยยิ้ม

คุยกับ กฤษณ์ พุฒพิมพ์ ผู้เปลี่ยนภาพจำยาดมตลอดกาลเป็น ARMA ยาดมรักษ์โลกดีไซน์ดี

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan