กฤษณ์ คุนผลิน คือผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ (U.S. Space & Rocket Center) ในประเทศไทย

ผลงานที่ผ่านมาของเขาคือ หัวเรือใหญ่ของงาน NASA – A HUMAN ADVENTURE เมื่อปี 2014 และเป็นผู้ริเริ่มโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้ว

โครงการนี้จะส่งเยาวชนไทยไปเรียนรู้การทำงานในส่วนต่างๆ ของนาซาที่ฮันต์สวิลล์ (Huntsville) ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานวิทยาศาสตร์จ๋า ก็สมัครเข้าร่วมได้

ถ้าอยากรู้ว่าศูนย์ฮันต์สวิลล์มีอะไรดี อ่านที่นี่ได้เลย

ได้ยินอย่างนี้หลายคนคงเข้าใจว่า เขาน่าจะเรียนด้านวิศวกรรมหรือวิทยาศาสตร์สักแขนง

กฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนนาซาเบื้องหลังการขนจรวดจากนาซามาโชว์ที่ไทยและส่งเด็กไทยไปเรียนนาซา

“เปล่าครับ ตอน ม.ปลาย ผมจบสายศิลป์ ส่วนปริญญาตรีเรียนนิติศาสตร์ ต่อโทรัฐศาสตร์ สาขาระบบการเมืองและเศรษฐกิจเปรียบเทียบครับ” กฤษณ์อธิบายประวัติการศึกษาของตนเองพร้อมรอยยิ้ม

แล้วเด็กสายศิลป์กลายมาเป็นผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ ได้ยังไง

“ผมได้แรงบันดาลใจจากการไปเดิน National Air and Space Museum บ่อยๆ ในช่วงที่เรียนปริญญาโทและทำงานที่ Voice of America หรือ VOA ที่วอชิงตัน ดี.ซี. เพราะสมิธโซเนียนอยู่แถวที่ทำงานเลย ออกจากรถไฟใต้ดิน ข้างหน้าเป็นรัฐสภา ขวามือเป็นที่ทำงาน ซ้ายมือเป็นสมิธโซเนียน ถ้าวันไหนมีเวลาหน่อยผมจะเข้าไปเดินเล่นในนั้น เดินไปก็วาดฝันไปด้วย” เขาเล่าย้อนไปถึงแหล่งรวมพิพิธภัณฑ์และศูนย์วิจัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง สถานที่แห่งนี้คือจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต และยังเป็นแรงผลักดันของเขาจนถึงทุกวันนี้

เขาฝันว่า

“สักวันผมจะเอาจรวดพวกนี้มาที่ประเทศไทย เพราะเวลาเห็นจรวดหรือเครื่องบินพวกนี้ ผมคิดว่านี่คืออนาคต มันต้องกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต ผมจึงกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าผมสร้างจรวดไม่ได้ เพราะผมสร้างไม่เป็น สิ่งหนึ่งที่ผมทำได้คือเอาจรวดที่โชว์ในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ไปโชว์ที่เมืองไทย ให้คนไทยได้เห็น ได้จินตนาการเห็นภาพของอนาคต แล้วรวมคนที่เก่งและทำเรื่องนี้เป็นมาอยู่ด้วยกัน”

จากนักศึกษาฝึกงานที่ทำงานอยู่ข้างสมิธโซเนียน ใช้เวลาเดินดูจรวดจนเกิดแรงบันดาลใจ เขาจึงทำทุกวิถีทางเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจนี้ให้กับทุกคน

NASA

01

จดหมายทักทายจากเด็กชายกฤษณ์

“ตอนเด็กๆ ผมชอบเล่น Atari เกม Star Wars มันคือเกมยิงยานอวกาศ ส่วนเวลาที่อยู่ในห้องเรียน ชอบเล่นยิงจรวดกับเพื่อน

“แล้วผมก็ชอบนาซามาตั้งแต่เด็กด้วย พอเราเริ่มมาศึกษาแล้วจึงรู้ว่ามันคือโครงการที่เขาขึ้นไปสำรวจอวกาศ ผมรู้จัก นีล อาร์มสตรอง จากหนังสือเรียนสมัยประถม แล้วผมก็เริ่มเขียนจดหมายด้วยภาษาอังกฤษส่งไปที่นาซา แล้วก็ส่งไปเรื่อยๆ” กฤษณ์เล่าว่า เขาเขียนไปทักทายนาซา องค์กรที่เขารู้สึกชื่นชม เพื่อบอกเล่าความสนใจของตัวเขาในตอนนั้น

“แต่ไม่ได้คำตอบอะไรกลับมานะ เขาคงได้รับจดหมายจากคนทั่วโลกแหละ” เขาพูดยิ้มๆ

หากเมื่อเขาโตขึ้นจนถึงวันที่ต้องเลือกเส้นทางการศึกษาต่อ แรงบันดาลใจสำคัญของกฤษณ์กลับเป็นครอบครัวของเขามากกว่า

“ผมเลือกเรียนปริญญาตรีทางด้านนิติศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับอวกาศเลย

“เลือกเรียนเพราะที่บ้าน ผมได้รับการปลูกฝังจากคุณพ่อมาตั้งแต่จำความได้ เลยคิดอยู่อย่างเดียวคือจะเรียนนิติศาสตร์ เพื่อที่จะกลับมาช่วยพ่อทำงานที่บ้าน” เขาเล่าย้อนไปถึงกรอบความคิดของตนเองในขณะนั้น ซึ่งในเวลาต่อมาสิ่งนี้ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการริเริ่มโครงการต่างๆ มากมาย

กฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนนาซาเบื้องหลังการขนจรวดจากนาซามาโชว์ที่ไทยและส่งเด็กไทยไปเรียนนาซา

02

อีเมลของกฤษณ์ถึงนาซา

4 ปีผ่านไป กฤษณ์เรียนจบมาในยุคที่ใครต่อใครในซีกโลกตะวันออกต่างพูดถึงสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่พัดมาจากตะวันตก เขาจึงตัดสินใจเดินเข้าไปบอกพ่อว่า เขาจะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา

“ผมเลือกไปเรียนต่อด้านรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองและเศรษฐกิจเปรียบเทียบ ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ช่วงก่อนเรียนจบจะมีช่วง Optional Practical Training หรือ OPT บังเอิญผมไปได้งานที่ Voice of America ทำงานเป็น Rewriter แปลบทความจากภาษาอังกฤษเป็นไทยเพื่อให้คนไทยอ่านและฟัง ช่วงนั้นเป็นสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ดังนั้น บทความส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องสงครามต่อต้านการก่อการร้ายและนโยบายต่ออิรัก” กฤษณ์อธิบายหน้าที่ของตนเมื่อแรกเริ่มเข้าไปทำงาน ซึ่งในเวลาต่อมาเขาได้ขยับหน้าที่จากการเป็น Rewriter สู่บทบาทการเป็นผู้ประกาศข่าว อีกทั้งยังได้โอกาสในการทำข่าวที่สนใจอีกด้วย

“พอผู้ใหญ่เริ่มให้โอกาส มาบอกผมว่าถ้าผมสนใจอะไรให้ไปทำมาเสนอ ผมจึงเริ่มลงพื้นที่แล้วเขียนข่าวไปส่ง ถ้าเขาอนุมัติก็จะให้ผมอ่านข่าวเอง ซึ่งข่าวที่ผมสนใจทำในตอนนั้นคือเรื่องแวดวงวิทยาศาสตร์ การวิจัยไบโอเทคโนโลยี สเต็มเซลล์ และเรื่องจรวด”

ความสนใจของกฤษณ์วกกลับมาสู่เรื่องราวของจรวดและอวกาศอีกครั้ง เพราะที่ทำงานของเขาในขณะนั้นอยู่ตรงข้ามสมิธโซเนียน กฤษณ์จึงได้เข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับจรวดและอวกาศอยู่บ่อยครั้ง และเขาในตอนนั้นก็ยังคงรักษาความมุ่งมั่นในวัยเยาว์ด้วยการเขียนอีเมลส่งถึงนาซาอยู่เป็นประจำ

แต่เนื้อหาของจดหมายเปลี่ยนไปจากเดิม

“หลังจากที่เราได้เดินดูจรวดในสมิธโซเนียน ผมก็เขียนไปบอกเขาว่า ผมอยากจะเอาจรวดไปเมืองไทย ผมต้องทำยังไง ผมจะติดต่อใครได้บ้าง ซึ่งยังไม่มีคำตอบกลับมาเหมือนเดิม แต่ก็ไม่เป็นไร” กฤษณ์เล่าพร้อมหัวเราะเบาๆ เมื่อนึกถึงการกระทำของตนเองในอดีต

แม้ว่าตลอด 1 ปีครึ่งที่เขาทำงานอยู่ที่ Voice of America กฤษณ์จะไม่เคยได้รับอีเมลตอบกลับจากนาซา แต่เขาไม่เคยละทิ้งความมุ่งมั่นของตนเอง และพกพามันกลับมายังประเทศไทยอีกด้วย

กฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนนาซาเบื้องหลังการขนจรวดจากนาซามาโชว์ที่ไทยและส่งเด็กไทยไปเรียนนาซา

03

คำตอบจากนาซา

“ผมมีสิ่งที่คิดอยากจะทำที่เมืองไทยเยอะมาก ตอนนั้นอายุประมาณยี่สิบหกยี่สิบเจ็ด ผมตัดสินใจกลับมาและบอกกับพ่อว่า ก่อนหน้านี้ผมทำงานอยู่ Voice of America ถ้ากลับมาเมืองไทยก็อยากจะเป็นนักข่าว คงไม่ได้ช่วยงานที่บ้านแล้ว พ่อโอเค ผมเลยเดินไปสมัครงานตามสำนักข่าว” กฤษณ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำงานในประเทศไทยครั้งแรก ในฐานะผู้สื่อข่าวพื้นที่ สำนักข่าวต่างประเทศ ประจำสำนักข่าวไทย ช่อง 9 อสมท แต่ในขณะเดียวกัน เขายังคงครุ่นคิดถึงความฝันของตนเองที่แบกกลับมาจากอเมริกาอยู่เสมอ

“ผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่าตรงนี้คือสิ่งที่ผมต้องการใช่ไหม ความฝันของผมคือการเป็นนักข่าวใช่หรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ใช่” กฤษณ์พูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

แล้วความฝันของเขาคืออะไร

“ผมต้องการนำนวัตกรรมบางอย่างจากอเมริกามาสู่ประเทศไทยเท่าที่ผมจะทำได้ จึงตัดสินใจไปเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดสเต็มเซลล์แบงก์ THAI StemLife ซึ่งเป็นธนาคารสเต็มเซลล์เอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยในขณะนั้น ตอนนั้นเขาเพิ่งเปิด ผมก็ไปสมัคร” กฤษณ์อธิบายถึงตำแหน่งงานถัดมาของเขา ซึ่งยังคงเชื่อมโยงกับความสนใจด้านไบโอเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เขายังเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

กฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนนาซาเบื้องหลังการขนจรวดจากนาซามาโชว์ที่ไทยและส่งเด็กไทยไปเรียนนาซา

เมื่อกฤษณ์ทำงานที่นั่นได้ปีกว่า ก็เกิดคำถามแบบเดิมขึ้นในใจของเขาอีกครั้ง พอดีกับที่บริษัทเซนทรัลพัฒนาเรียกตัวให้เขาเข้าไปทำงานในแผนกการพัฒนาพันธมิตรธุรกิจ ซึ่งที่นั่น นอกเหนือจากการบริหารจัดการเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางธุรกิจแล้ว กฤษณ์ยังได้รับมอบหมายให้ดูแลเมกะโปรเจกต์อีกด้วย

“บริษัทให้ผมไปคิดมาว่าอยากทำเมกะโปรเจกต์อะไร พอดีกับสิ่งที่ผมฝัน ผมจึงเสนอว่า อยากเอาจรวดจากนาซามาแสดง”

เสียงตอบรับเกือบทั้งหมดในที่ประชุมล้วนไม่เชื่อว่ากฤษณ์จะทำมันได้จริงๆ ยกเว้นเพียงซีอีโอใหญ่อย่าง คุณกอบชัย จิราธิวัฒน์ ซึ่งไฟเขียวให้โปรเจกต์นี้ และ ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา หัวหน้าใหญ่ฝ่ายการตลาดผู้ให้ความสนับสนุน เพราะเล็งเห็นว่าถ้าหากกฤษณ์ทำได้จริง จะนำความสำเร็จมากมายมาสู่บริษัท

“คราวนี้ผมไม่ได้เขียนจดหมายไปนาซาด้วยตัวเองแล้วครับ ผมตัดสินใจเข้าไปหาอดีตเอกอัครราชสหรัฐฯ ท่านทูตคริสตี้ เคนนี่ย์ (Kristie Kenney) ตอบกลับมาว่า ท่านสนใจ เลยส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีมาหาผม 6 คน เพื่อถามว่าผมต้องการอะไร จะทำอะไร” กฤษณ์เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น เมื่อเอ่ยถึงขั้นตอนการลิสต์รายชื่อยานอวกาศที่เขาต้องการนำมาจัดแสดง ซึ่งใช้วิธีการเข้าไปเลือกจากเว็บไซต์ของนาซาโดยตรงเลยทีเดียว

“แล้วคุณลิสต์ไปเยอะไหม” เราสงสัย

“เพียบเลยครับ” เขาตอบพร้อมเสียงหัวเราะ

“อะไรที่ผมเคยไปเห็นมาจากสมิธโซเนียนยังอยู่ในหัวผม ผมก็พยายามถ่ายทอดออกไปว่าผมต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้”

กระทั่ง 1 เดือนให้หลัง เมื่อเขาได้รับคำตอบผ่านมาทางสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

นาซาระบุว่า สิ่งที่กฤษณ์ขอไปนั้นทำได้ เพียงเท่านั้นเขาก็แทบกระโดดตัวลอย

กฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนนาซาเบื้องหลังการขนจรวดจากนาซามาโชว์ที่ไทยและส่งเด็กไทยไปเรียนนาซา

04

คำเชิญจาก ดร.เดบอราห์

“หลังจากที่สถานทูตส่งข่าวมาว่ามีคำตอบให้เรื่องนี้ เขาก็ส่งคนจากนาซามาตรวจสอบดูว่าปลอดภัยไหม มีเจ้าหน้าที่ดูแลเพียงพอไหม ผ่านมาตรฐานหรือเปล่า” เมื่อการตรวจสอบทั้งหมดผ่านพ้นไปได้ด้วยดี กฤษณ์ก็โล่งใจไปได้เปราะหนึ่ง ด่านถัดมาที่เขาต้องเผชิญจึงเป็นเรื่องของงบประมาณ

100 ล้านบาท คือต้นทุนทั้งหมดที่เขาต้องรับผิดชอบ

“เงินร้อยล้าน เราวิ่งสู้ฟัด วิ่งหาสปอนเซอร์จนรองเท้าสึกเรียบเลย คู่นั้นผมไม่ทิ้งนะ เก็บไว้ เพราะภูมิใจกับรองเท้าคู่นั้นมาก” กฤษณ์เล่าพร้อมรอยยิ้มกว้าง แม้ว่าในตอนนั้นเขาจะต้องทำงานอย่างหนัก ถึงขั้นไปพบสปอนเซอร์วันละ 3 – 4 เจ้าก็ตาม

“ตอนนั้นเราก็สู้หาสปอนเซอร์ สู้ทั้งในบอร์ด สู้ทั้งในแผนก เพราะหลายคนบอกว่า อย่าเลย แค่ทำงานปัจจุบันก็จะตายอยู่แล้ว จะไปเอางานมาแบกเพิ่มทำไม

“บางคนบอกว่า คุณอย่าทำเลย ถ้ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาคุณรับผิดชอบไหวไหม คุณลาออกยังไม่พอเลย ซึ่งก็จริง เงินร้อยล้าน ถ้าผมทำงบบริษัทเจ๊งขึ้นมา ผมลาออกก็ยังไม่พอเลย” เขายอมรับ แต่ถึงอย่างนั้น กฤษณ์ก็สู้ทำจนสำเร็จออกมาเป็นงาน NASA – A HUMAN ADVENTURE ได้ในที่สุด ซึ่งตลอดทั้ง 62 วัน ของการจัดงานมีผู้เข้าชมมากถึง 270,000 คน จากที่ตอนแรกคาดการณ์ไว้เพียงแค่ 80,000 คนเท่านั้น

“เวลาที่ผมไปพูดให้คณะผู้เข้าชม บางทีก็มีนักเรียนวิ่งเข้ามาขอบคุณ เขาดึงแขนเสื้อผมแล้วบอกว่า งานนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าผมไม่เป็นคนบ้าอีกต่อไป ปกติอยู่โรงเรียนผมรู้สึกโดดเดี่ยวมากเลย จนมางานนี้ผมถึงได้รู้ว่ามีคนที่เหมือนกัน ได้มาเจอเพื่อนที่พูดภาษาเดียวกัน เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นแทบทุกครั้งที่ผมเดินบรรยายนิทรรศการด้วยตัวเอง

“ผมเลยกลับมาตั้งคำถามว่า เด็กไทยไม่สนใจวิทยาศาสตร์จริงหรือ เด็กไทยไม่โหยหาวิทยาการจริงหรือ”

คำตอบที่เขาได้คือ

“ไม่จริง!”

เมื่อได้คำตอบที่ชัดเจนแล้ว กฤษณ์ไม่รีรอที่จะตามหาเป้าหมายลำดับถัดไป เขาต้องการที่จะต่อยอดโอกาสนี้ให้ไปไกลยิ่งกว่าเดิม โชคดีที่ทางศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ รวมถึงนาซา และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ยินดีให้ความช่วยเหลือต่อ

ดร.เดบอราห์ บาร์นฮาร์ต (Dr. Deborah Barnhart) ผู้อำนวยการใหญ่ของศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ ได้มาร่วมทานข้าวแล้วบอกผมว่า คุณจะต้องมาที่ฮันต์สวิลล์ แอละแบมา (Alabama) มาที่ทำงานของดิฉัน” กฤษณ์เล่าด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น เมื่อ ดร.เดบอราห์ บอกว่า มีเรื่องจะคุยกับเขา แน่นอนว่าเขาตอบรับทันที เพราะเขาเองก็มีเรื่องอยากพูดกับท่านมากมายเช่นกัน

กฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนนาซาเบื้องหลังการขนจรวดจากนาซามาโชว์ที่ไทยและส่งเด็กไทยไปเรียนนาซา

05

ก้าวแรกในฐานะตัวแทน

“ถัดจากนี้ผมต้องการร่วมมือกับท่านต่อ” คือคำพูดที่กฤษณ์เอ่ยกับ ดร.เดบอราห์ ด้วยความมุ่งมั่น หลังจากที่เขาได้เข้าพบเธอและบุคลากรคนอื่นเมื่อไปถึงฮันต์สวิลล์

“แล้วท่านว่ายังไงบ้าง” เราถามต่อ

“ท่านก็ยื่นมือมาจับมือผม และบอกว่า งั้นเรามานั่งดูกันดีกว่าว่าเราทำอะไรได้บ้าง แต่ก่อนอื่น การที่คุณจะทำอะไรต่อไปได้ คุณจะต้องเป็นผู้แทนเราที่ประเทศไทย” กฤษณ์เล่าด้วยความตื่นเต้น

“ตอนนั้นฟังแล้วเข้าใจไหมว่าเขาหมายถึงอะไร” เราสงสัย

“ตกใจมากกว่าครับ ยังไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร ตอนนั้นผมมองออกไปนอกหน้าต่าง สายตามองไกลออกไป พร้อมพยายามหายใจให้เต็มอิ่ม เห็นโมเดลยานอวกาศ Pathfinder ตัวเบ้อเริ่มตั้งอยู่ คิดในใจว่า เอาวะ มาถึงตรงนี้แล้ว ไม่ถอยแล้ว เป็นไงเป็นกัน” กฤษณ์เล่าถึงขั้นตอนการตกลงรับตำแหน่งของเขา ซึ่งแทบไม่ต้องใช้เวลาอ่านหนังสือสัญญาให้มากความ เพราะลึกๆ ในใจเขาเองก็ต้องการทำสิ่งนี้มาตั้งนานแล้ว

“จากนั้นผมถามกลับไปว่า ตำแหน่งนี้ผมต้องทำอะไรยังไงบ้าง ทางนั้นตอบกลับมาว่า ไม่ใช่ว่าคุณต้องทำอะไร แต่คุณอยากจะทำอะไรกับเราต่างหาก ให้บอกมาเลย”

กฤษณ์ตอบเขาไปว่า

“ผมต้องการยกแคมปัสศูนย์อวกาศของท่านตรงนี้ไปไว้ที่เมืองไทย” กฤษณ์เอ่ยด้วยน้ำเสียงจริงจัง ก่อนเล่าต่อ

“เขาก็โอเค แต่บอกว่ามันต้องมีก้าวแรกก่อนนะ เพราะสิ่งที่คุณพูดอาจเป็นก้าวที่ร้อย เรามาดูกันว่าก้าวแรกเราจะทำอะไร” ดร.เดบอราห์ อธิบายกระบวนการทำงานให้กฤษณ์ฟังช้าๆ

“ผมเลยบอกว่า ผมต้องการทำทุนการศึกษา เหมือนกับที่ผมได้มาฝึกที่นี่ห้าวัน ผมต้องการให้คนไทยมีโอกาสมาฝึกที่นี่ด้วย” จากประโยคนี้ของกฤษณ์ เขาใช้เวลา 5 วัน ที่นั่นในการเข้าคลาส เรียนรู้กระบวนการต่างๆ สลับกับเขียนโมเดลของทุนการศึกษาที่เขาวาดฝันเอาไว้ และนำเสนอมันในวันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ จึงเป็นที่มาของทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย หรือ Discover Thailand’s Astronauts Scholarship Program (DTAS) ในเวลาต่อมา

NASA

06

ภารกิจแห่งการส่งต่อ

จากวันที่กฤษณ์เดินดูจรวดในสมิธโซเนียนที่วอชิงตัน ดี.ซี. จนถึงวันที่เขาได้มาเยือนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก ความฝันของเขาก็ยังไม่หายไปไหน

“ผมกลับมานั่งคิดเหมือนเดิมว่า ถ้าผมได้มาเห็นอะไรเหล่านี้ก่อนผมเข้ามหาวิทยาลัย มันอาจจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของผมไปเลยก็ได้ เพราะตอนนั้นผมอยู่แต่ในบ้าน แรงบันดาลใจของเราก็มาจากที่บ้าน แต่ถ้าผมได้ออกจากกรอบเดิม ออกจากบ้าน ออกจากประเทศ เราก็จะได้รู้ว่าโลกมันกว้าง” กฤษณ์เล่าถึงความตั้งใจ ซึ่งกลั่นออกมาจากประสบการณ์ชีวิตของเขาเอง

“ถ้าอย่างนั้นทำไมถึงอยากให้มีแคมปัสศูนย์อวกาศในไทย” เรานึกสงสัยว่า แค่ทุนการศึกษาที่ช่วยส่งเด็กไทยไปเรียนที่อเมริกานั้นยังไม่เพียงพออีกหรือ

“ก็เหมือนกับที่เรามี Le Cordon Bleu สำหรับคนทำอาหาร ในเมื่อเรามีสถาบันสำหรับคนทำอาหารเก่งได้ แล้วเหตุใดเราจึงไม่มีที่รวมตัวของคนที่ชอบจรวดหรือชอบประดิษฐกรรมต่างๆ ให้เขาได้รวมตัวกัน ยิ่งถ้าเราได้องค์กรที่เขาเชี่ยวชาญตรงนี้มาช่วยซัพพอร์ต มันน่าจะทำให้เราไปได้เร็ว และไปได้ไกลมากๆ” กฤษณ์เล่าถึงความหวังในใจของเขาด้วยแววตาเป็นประกาย

หลายคนคงสงสัยว่า เด็กที่เรียนสายศิลป์คนหนึ่งซึ่งไม่มีพื้นฐานวิทย์มากนัก มาหลงใหลและทำงานทุ่มเทให้วิทยาศาสตร์แบบนี้จนเป็นตัวแทนของนาซาได้ยังไง

“ผมไม่ได้มองว่าการที่ผมไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์คืออุปสรรค แต่ผมมองว่าเราอยู่ตรงนี้แล้ว ผมจะทำสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ให้ดีที่สุดได้อย่างไร

“ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องจับผมเข้าโรงเรียนไงครับ เขาให้ผมไปเรียนอยู่ห้าวัน เพื่อให้ผมเข้าใจเขา” กฤษณ์เล่าถึงเบื้องหลังสาเหตุที่ ดร.เดบอราห์ จำเป็นต้องเชิญเขามาพูดคุยไกลถึงสหรัฐอเมริกา ก่อนจะอธิบายต่อ

“ความจริงโลกของวิทยาศาสตร์กับศิลปะต้องไปด้วยกัน แยกออกจากกันไม่ได้ โรงเรียนที่ผมไปเห็นที่สหรัฐฯ ส่วนมากเป็น School of Arts and Sciences แทบทั้งนั้น”

เมื่อบทสนทนาดำเนินมาจนถึงคำถามสุดท้าย เราได้รับฟังเรื่องราวความตั้งใจของกฤษณ์หลายอย่าง ทั้งหมดเพียงเพื่อส่งต่อสิ่งดีๆ ที่เขาได้พบเจอให้กับสังคม และนั่นทำให้เราตัดสินใจถามออกไปว่า

“ทำไมคุณถึงใช้ชีวิตมาอย่างยาวนานเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจ เรื่องนี้สำคัญอย่างไร”

“สำคัญมาก เพราะคนเราทุกคนมีข้อจำกัด ถ้าเราไม่จำกัดด้วยอายุก็คงด้วยชะตากรรม เราไม่รู้เลยว่าชีวิตจะจบลงที่ตรงไหน เราจึงจำเป็นต้องมีคนรุ่นหลังที่เข้ามารับช่วงต่อ อย่างที่ฝรั่งเขาบอกว่า Passing the Torch ส่งคบเพลิงต่อไป คุณไม่จำเป็นต้องมารับในวันที่ผมเกษียณหรือตาย คุณมารับเอาไปวันนี้ ตอนนี้เลย

“ถ้าเราสร้างคนรุ่นหลังขึ้นมาได้ สิ่งดีๆ เหล่านี้จะถูกสืบทอดต่อไป อย่าเพิ่งให้ชะตากรรมจบลงตรงนั้นเลย”

กฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนนาซาเบื้องหลังการขนจรวดจากนาซามาโชว์ที่ไทยและส่งเด็กไทยไปเรียนนาซา

NASA Visitor Center

การแข่งขันชิงทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย ก่อตั้งโดยศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ และศูนย์ข้อมูล NASA เพื่อรณรงค์ให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสร้างประดิษฐกรรมในไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน ปีนี้มีทุนการศึกษาสำรวจอวกาศเบื้องต้น 4 ทุน ผู้ได้รับทุนจะเป็นตัวแทนเยาวชนไทยไปศึกษาด้านการสำรวจอวกาศเบื้องต้นที่ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ และศูนย์ข้อมูล NASA เป็นเวลา 10 วัน ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.spacecampthailand.com หรือเพจเฟซบุ๊ก Spacecamp Thailand

Writer

Avatar

สาริศา เลิศวัฒนากิจกุล

เด็กนิเทศ เอกวารสารฯ กำลังอยู่ในช่วงหัดเขียนอย่างจริงจัง แต่บางครั้งก็ชอบหนีไปวาดรูปเล่น มีไอศครีมเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในยามอ่อนล้า

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล