ถ้าชายังไม่เข้าปาก พูดยากนะคะ ขอชงชาก่อน”

หลังทักทายกันไม่กี่ประโยคในร้าน ‘Koto Tea Space’ ย่านเจริญกรุง หญิงสาวเจ้าของร้านสเต็ปเข้าที่ประจำของเธอหลังเคาน์เตอร์บาร์ จนกระทั่ง ป๊อบ-ดนิษฐา ลิ้มอัครอังกูร ได้ลงมือชงโฮจิฉะแล้วเลื่อนมาให้เราจิบแล้วนั่นแหละ เรื่องราวของสเปซใหม่สำหรับคนรักชาจึงไหลลื่นออกมาเหมือนสายน้ำ

“ป๊อบชอบชาตรงที่มันเป็นสื่อที่ดี เป็นเครื่องดื่มเปิดใจ ป๊อบเป็นคนขี้อายนะ แต่ว่าหลายครั้งที่เจอคนใหม่ ๆ หรือนั่งคุยงาน การชงชาทำให้เราได้ปรับจูนเข้าหากัน บางคนเหนื่อย ร้อน มาจากข้างนอก พอได้ชงชา เราผ่อนคลาย แขกผ่อนคลาย มันก็เกิดบทสนทนาได้ง่ายมากขึ้น”

ท่ามกลางจังหวะชงชา เจ้าของร้านเล่าว่า Koto Tea Space เป็นพื้นที่สำหรับคนรักชาญี่ปุ่น ที่จริงจังเรื่องชามาก ๆ ลูกค้ามีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่บอกกันปากต่อปาก โคโตะก่อตั้งโดยป๊อบและแฟนหนุ่ม ยูสึเกะ นากานิชิ (Yusuke Nakanishi) ซึ่งหลังจากตระเวนหาสถานที่หลายย่านทั้งสีลมและสุขุมวิท ยูสึเกะก็เจอพื้นที่ร้านค้าย่านเจริญกรุงว่างให้เช่า ทั้งคู่ตัดสินใจแปลงโฉมอดีตร้านอาหารไทยที่ปิดตัวเพราะสถานการณ์โควิดเป็นร้านแห่งความสร้างสรรค์ในย่าน Creative District นี้ 

Koto Tea Space ร้านชาญี่ปุ่นย่านเจริญกรุง โดยคู่รักไทย-ญี่ปุ่นที่เสิร์ฟชาคู่วัฒนธรรม

เพื่อนรักชา

“เราเริ่มต้นจากทำเพจรีวิวชา (Chajin เพื่อนรักชา ー茶人) ซื้อสะสมจนมีชาเยอะมาก จนอยากทำเวิร์กชอปให้คนมาดื่มชาญี่ปุ่นหลายรูปแบบกับเรา เพราะส่วนใหญ่คนรู้จักชาญี่ปุ่นแค่โฮจิฉะ เกนไม แต่จริง ๆ ยังมีเซนฉะอื่น ๆ ด้วย พอจัดเวิร์กชอปเราก็ต้องแพ็กของเยอะมาก ๆ ไปใช้สถานที่คนอื่น จัดของทีหนึ่งเหมือนจัดกระเป๋าไปญี่ปุ่น บางทีของก็พังเสียหายค่ะ พอช่วงโควิดก็ตัดสินใจว่าเปิดพื้นที่ของตัวเอง เนื่องจากเป็นสายอุปกรณ์ เจออะไรก็เอฟไว้ก่อน มีที่แล้วเราก็จัดวางของเหล่านี้ได้สวยงาม เผื่อไปต่อยอดอย่างอื่นได้”

แม้จะเรียนด้านบริหารธุรกิจมา แต่ป๊อบบอกตรง ๆ ว่าไม่ได้คิดเรื่องธุรกิจเป็นที่ตั้ง เธอเริ่มต้นจากการบริหารจัดการคอมมูนิตี้คนรักชาเขียว เพราะอยากพักผ่อนจากความวุ่นวายของการเรียนเรื่องธุรกิจ การทำงานด้านอีคอมเมิร์ซที่รวดเร็ว ต้องวิ่งตามเทคโนโลยีตลอดเวลา ความหลงใหลชาทำให้อยากต่อยอดกิจกรรมให้กลุ่มคนชอบชาญี่ปุ่น อยากเปิดคอร์สสอนบ้าง ทำกิจกรรมบ้าง ทำคอร์สเมนู Tea Pairing บ้าง โดยตั้งใจให้กิจกรรมทุกอย่างต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น ไม่ได้อยากทำให้ดูเข้าถึงยาก แต่กำลังคนยังมีน้อย และเธออยากให้แขกที่เข้ามาในร้านได้ประสบการณ์ที่ดีที่สุด สัมผัสวัฒนธรรมชาญี่ปุ่นได้ใกล้เคียงต้นฉบับ และได้เรียนรู้เรื่องชาจริง ๆ 

Koto Tea Space ร้านชาญี่ปุ่นย่านเจริญกรุง โดยคู่รักไทย-ญี่ปุ่นที่เสิร์ฟชาคู่วัฒนธรรม
เยือนร้านชาญี่ปุ่นที่จริงจังเรื่องรสชาติและสายพันธุ์ชาแบบสุด ๆ พร้อมชิมคอร์สขนมญี่ปุ่นจากวัตถุดิบไทย

“กลุ่มเป้าหมายเดิมคือคอมมูนิตี้ แต่จริง ๆ เราอยากให้คนหันมาดื่มชามากขึ้น เห็นว่าชาเป็นตัวเลือกหนึ่ง ไม่ใช่แค่กาแฟ โกโก้ ชานมไข่มุก หลายคนอาจจะติดภาพว่าชาร้อนเป็นของคู่กับคนสูงอายุ แต่เราอยากให้คนรู้สึกว่าใคร ๆ ก็ดื่มได้นะ เราเน้นชาสเปเชียลตี้ญี่ปุ่น ซึ่งมีสายพันธ์ุให้เลือกเยอะมาก และมีสับเปลี่ยนให้เลือกเรื่อย ๆ ตามฤดูกาล คนเข้ามานั่งในร้านแล้วเราชงให้คนต่อคนเลย”

จุดแข็งของที่นี่คือไม่ได้มีแค่ชา แต่มีอาหารและขนมญี่ปุ่นจากวัตถุดิบไทยด้วย ยูสึเกะ แฟนหนุ่มของป๊อบเคยทำงานด้านการตลาด แต่สนใจอาหารมาแต่ไหนแต่ไร เมื่อตัดสินใจย้ายมาอยู่เมืองไทยกับแฟนสาว เขาจึงเริ่มฝึกฝนฝีมือการทำอาหารอย่างหนักหน่วงเพื่อส่งเสริมธุรกิจร้านชาให้แข็งแรงเข้ากัน โดยเขาลงมือทำวัตถุดิบเองสารพัด ไม่ว่าซอสถั่วเหลือง มิโสะ เหล้าบ๊วย ฯลฯ ความจริงจังของทั้งชาและอาหาร ทำให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งรวมตัวคนรักชาและวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น พลิกแพลงจัดกิจกรรมได้หลากหลาย

Koto Tea Space ร้านชาญี่ปุ่นย่านเจริญกรุง โดยคู่รักไทย-ญี่ปุ่นที่เสิร์ฟชาคู่วัฒนธรรม

ส่วนที่มาของชื่อร้าน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความหลงใหลชาของหญิงสาว หรือความชอบทำอาหารของชายหนุ่มแต่อย่างใด ป๊อบชี้ไปที่พิณหน้าร้านซึ่งลูกค้าญี่ปุ่นให้ยืมมาวาง เพราะบอกว่าชื่อร้าน Koto ก็ต้องมีโคโตะในร้านสิ

“โคโตะเป็นพิณญี่ปุ่น ป๊อบชอบเสียงทั้งโคโตะและกู่ฉิน เครื่องดนตรีโบราณของจีน คุยกับแฟนแล้วรู้สึกว่ามันเป็นคำที่จำง่าย ให้ความรู้สึกนุ่มนวล ไม่ต้องใช้ชื่อที่ตรงไปตรงมามาก ๆ ว่าเราเป็นร้านชา อยากทิ้งจินตนาการให้คนคิดถึงความนุ่มนวลสงบสุขเพลิดเพลิน ตามมุมมองของแต่ละคนค่ะ”

Countryside in the City

ตึกแถวหนึ่งคูหา ขนาดราว 50 ตารางเมตร ออกแบบให้เป็นพื้นที่ญี่ปุ่นร่วมสมัยโดย อาจารย์ Takanao Todo อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ (International Program in Design and Architecture – INDA) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 ‘Sichu no Sankyo’ คือแรงบันดาลใจในการออกแบบ Koto Tea Space

อาจารย์ทาคานาโอะอธิบายว่าแนวคิดนี้มาจากญี่ปุ่นสมัยศตวรรษที่ 16 วัฒนธรรมชาได้เริ่มตกผลึกที่เมืองซาไกในเขตโอซากา คอนเซ็ปต์การหลีกหนีไปสู่ธรรมชาติหรือสร้างชนบทในเมืองเกิดขึ้น เพราะผู้คนอยากหลีกหนีความแออัดวุ่นวายของเมือง แต่ออกไปไหนไม่ได้ จึงต้องหาทางหลีกหนีในบ้านหลังเล็ก ๆ ความคิดนี้กลายเป็นหลักของวัฒนธรรมชาในเวลาต่อมา

ในแง่สถาปัตยกรรม คอนเซ็ปต์นี้นำไปสู่การสร้างประตูหลายชั้น แบ่งพื้นที่เป็นส่วน ๆ เพื่อสร้างความรู้สึกว่าได้ตัดขาดจากโลกภายนอก ร้านชานี้จึงแบ่งออกเป็นส่วนทางเข้า พื้นที่หลักเป็นบาร์สำหรับดื่มด่ำชา และมีห้องน้ำแยกด้านหลัง โดยแต่ละส่วนสื่อถึงธรรมชาติต่าง ๆ ทางเข้าเน้นพื้นผิวไม้ บาร์ให้ความรู้สึกถึงผืนดิน ห้องน้ำโรยหินกรวดและใช้แสงธรรมชาติ แสงไฟในร้านก็นุ่มนวลอบอุ่น เน้นให้ความรู้สึกสงบสบาย หัวใจของร้านคือพื้นที่บาร์ ซึ่งมีชั้นวางของแสนสวยเก๋แบบไม่สมมาตรอยู่ด้านหลัง สถาปนิกญี่ปุ่นได้แรงบันดาลใจจากชั้นวางแบบโบราณในศตวรรษที่ 17 ในพระตำหนักชุงะคุอินในเกียวโต ใช้วางของตกแต่งและอุปกรณ์ชาที่งดงาม

“Koto Tea Space เป็นพื้นที่ใหม่ที่ทำให้คนได้รู้จักความสุขของวัฒนธรรมชาญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ  ประสบการณ์ชาญี่ปุ่นแบบแท้ ๆ ยังคงหาได้ยากในเมืองไทย แต่ที่นี่มีกิจกรรมเกี่ยวกับชาหลากหลายให้คนไทยได้รู้จักวัฒนธรรมใหม่ คนญี่ปุ่นเองหลายคนก็บอกผมว่าที่นี่มีกลิ่นอายญี่ปุ่นจริง ๆ นะ ทำให้พวกเขาคิดถึงบ้านและได้ดื่มด่ำกับชาอย่างแท้จริงในกรุงเทพฯ

“ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่พิเศษผ่านชาครับ ญี่ปุ่นรับเครื่องปั้นดินเผาจากสวรรคโลกมาใช้และได้แรงบันดาลใจจากภาชนะเหล่านี้ และในแง่ศาสนา วัฒนธรรมมัทฉะก็เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธนิกายเซน ซึ่งเชื่อมโยงกับพุทธแบบไทย ส่วนเซนฉะก็เกี่ยวข้องกับลัทธิเต๋า ซึ่งเชื่อมโยงกับความเชื่อแบบไทย-จีน เราแบ่งปันความเชื่อระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่สอดคล้องกันผ่านวัฒนธรรมชา ซึ่งช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ”

Koto Tea Space ร้านชาญี่ปุ่นย่านเจริญกรุง โดยคู่รักไทย-ญี่ปุ่นที่เสิร์ฟชาคู่วัฒนธรรม
Koto Tea Space ร้านชาญี่ปุ่นย่านเจริญกรุง โดยคู่รักไทย-ญี่ปุ่นที่เสิร์ฟชาคู่วัฒนธรรม

Tea Space

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ Hospitality ตอนออกแบบร้านนี้เราอยากให้คนสบาย ๆ เข้ามานั่งได้นาน คุยได้เรื่อย ๆ คนชอบทานชาก็มาได้บ่อย ๆ เพราะมาแล้วไม่ผิดหวัง คนชอบจริตแบบนี้ก็มาผ่อนคลายได้” 

สำหรับป๊อบ เสน่ห์ของชาญี่ปุ่นที่ต่างจากชาอื่น ๆ คือความสงบ ชั่วขณะชงชาคือเวลาของความเงียบ มีพลังบางอย่างที่ทำให้ทั้งคนชงและคนดื่มมีสมาธิจดจ่อกับปัจจุบัน รสชาติของชาก็แตกต่างจากชาเอเชียอื่น ๆ  ชาจีนเน้นกลิ่นและสัมผัสในลำคอ ขณะที่ชาญี่ปุ่นให้สัมผัสหนักแน่นตั้งแต่ที่ลิ้น ซึ่งไม่ใช่แค่รสหวานหรือรสขม แต่ไปถึงรสเค็ม รสอูมามิ สัมพันธ์กับรสชาติอาหารญี่ปุ่น 

เมนูชาของที่นี่เป็นแค่กระดาษแผ่นเดียว แต่แท้จริงแล้วมีชาในคลังนับร้อยชนิดที่รอให้คนมาสัมผัส

“โฮจิฉะ เซนฉะ มัทฉะ เกนไม เรากำหนดประเภทชาไว้ในแต่ละเมนู แต่จริง ๆ เปลี่ยนชนิดชาไปตามฤดูกาลหรือวัตถุดิบที่มีตามความเหมาะสม และเราจะเสิร์ฟแต่อะไรที่เราดื่มเองเท่านั้น อย่างมัทฉะก็มีประมาณ 60 กว่าตัว แต่หลัก ๆ ที่ใช้มีประมาณ 20 ตัว มีโทนที่บีกินเนอร์ดื่มง่าย กลาง แปลก กลิ่นพิเศษ ไปจนถึงฮาร์ดคอร์ชอบค่ะ”

เนื่องจากเจ้าของร้านดื่มนมเยอะ ๆ ไม่ค่อยได้ จึงต้องขอย้ำว่าที่นี่ไม่มีมัทฉะลาเต้หรือเครื่องดื่มผสมนมใด ๆ แต่ถ้ากลัวขม ลูกค้าแจ้งความชอบก่อนสั่งได้ ทางร้านจะเลือกชาที่เหมาะสมให้ 

“การดื่มชามีวิธีเอ็นจอยได้หลายแบบ บางคนชอบดื่มแบบใส่นม แต่เราดื่มแบบนี้ ซึ่งก็เคารพกัน เราไม่ว่าเขาที่กินหวาน เขาก็ไม่ต้องว่าเราว่ากินขม เราแค่ไม่มีลาเต้จริง ๆ ถ้ามาลองมัทฉะเข้ม ๆ ก็อาจจะตกใจกับรสชาติได้ค่ะ ดังนั้นถ้าบอกก่อน เราก็จะอัปเกรดชาให้ ยิ่งชาเกรดสูง จะยิ่งไม่ขม นุ่มนวล บางตัวครีมมี่เหมือนนม ดื่มได้เรื่อย ๆ หรือถ้าใครอยากดื่มเย็น ก็จะชงให้จางลงให้ดื่มได้สบาย เราพยายามปรับตัวกับลูกค้าค่ะ บางคนเขาก็เข้าใจ สั่งโฮจิฉะแทน ซึ่งเข้าถึงคนได้มากที่สุด เพราะคนไทยก็คุ้นเคยกับรสและกลิ่นนี้”

Koto Tea Space ร้านชาญี่ปุ่นย่านเจริญกรุง โดยคู่รักไทย-ญี่ปุ่นที่เสิร์ฟชาคู่วัฒนธรรม

ถ้าลูกค้ามาซ้ำแล้วอยากลองชาตัวใหม่ในประเภทเดียวกัน ก็พูดคุยสอบถามถึงเมนูลับได้ตลอด บางชนิดอาจทำเป็นแบบเย็นได้ ตามสายพันธุ์และความต้องการของลูกค้า

ในวันศุกร์และเสาร์ ร้านชาจะเปิดบาร์รับลูกค้ารอบละ 6 คน แต่ละคนใช้เวลาดื่มด่ำได้นับชั่วโมง ให้คนได้ผ่อนคลายและดื่มด่ำรสชาติความสงบได้เต็มที่ ซึ่งต่อไปป๊อบตั้งใจว่าอาจจะเปิดวันพุธหรือวันพฤหัสด้วย เพื่อต้อนรับแขกให้มากขึ้น

“ตอนนี้ไม่ได้ตั้งใจเปิดเป็นร้านชาที่ต้องขายทีละมาก ๆ  ถ้าคิดแบบนั้นคงต้องโปรโมตกันหนักมากทุกวันว่าเรามีเมนูอะไร ราคาเท่าไหร่ แต่คนชอบดื่มชาเขาไม่ชอบการเร่งรีบ อยากให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ลูกค้าน้อยคนจะเข้ามา แต่ก็เข้ามาซ้ำอยู่เรื่อย ๆ เราค่อยๆ โตทีละนิดค่ะ ในแง่ธุรกิจอาจไม่น่าลงทุนอย่างรุนแรง” ป๊อบหัวเราะ “เราเลยพยายามหารายได้หลายทาง สิ่งสำคัญคืออยากให้คนมีความสุขกับชา บางคนเครียด เหนื่อย รีบทุกวัน ถ้าคนได้มารีแลกซ์กับชา ลูกค้าแฮปปี้ เราพออยู่ได้ เราก็โอเคนะ” 

การชงชาทุกอย่างที่นี่ไม่ได้ใช้เครื่องตวงวัดตายตัว แต่ใช้การฝึกฝนและกะเกณฑ์ให้แม่นยำ ป๊อบบอกว่าถ้าใช้ตาชั่งดิจิทัลหรืออุปกรณ์เสียงดัง ๆ หรือกระบวนการทำติดขัด ลูกค้าจะรู้สึกยุ่งเหยิงตามไปด้วย ดังนั้นจึงต้องฝึกให้ทุกอย่างดูเป็นธรรมชาติราบรื่น และเป็นงานศิลปะระหว่างชงที่เปี่ยมสมาธิ

ในวันอาทิตย์ เธอเปิดสอนชงมัทฉะและเซนฉะ นอกจากนี้ที่นี่ยังขายชาทั้งปลีกและส่ง บางครั้งยังมีกิจกรรมสนุก ๆ อย่างเวิร์กชอปปั้นถ้วยกับอาจารย์ทาคานาโอะ พิธีชงชาญี่ปุ่น (ไม่รับสอน แต่เข้าร่วมและดื่มชาได้)  มื้ออาหารไคเซกิ และชั้นบนซึ่งเป็นห้องอเนกประสงค์ยังเปิดให้เช่าจัดกิจกรรม เช่น เขียนพู่กัน นั่งสมาธิ วาดสีน้ำ ฯลฯ หรือตามแต่ผู้สนใจเช่า

เยือนร้านชาญี่ปุ่นที่จริงจังเรื่องรสชาติและสายพันธุ์ชาแบบสุด ๆ พร้อมชิมคอร์สขนมญี่ปุ่นจากวัตถุดิบไทย

เมนูญี่ปุ่น-ไทย

ยูสึเกะเตรียมสำรับขนมเรียบร้อยแล้ว ต่อไปนี้เป็นเวลาอร่อยของ Tea Pairing 

เริ่มคอร์สที่กรานิต้ามะม่วงเขียวเสวยกับเยลลี่บ๊วย (Plum Yokan) มีเจ้าเยลลี่ทรงกลมตรงกลางเหมือนดอกทานตะวัน ยูสึเกะเอาวัตถุดิบทุกอย่างมาตั้งต้นทำเองหมด ตั้งแต่กวนบ๊วยให้เป็นเยลลี่เอง และซื้อมะม่วงดิบจากตลาดมาทำไซรัปน้ำแข็งไส รสชาติทุกอย่างจึงจริงแท้ ไม่มีกลิ่นสังเคราะห์

เยือนร้านชาญี่ปุ่นที่จริงจังเรื่องรสชาติและสายพันธุ์ชาแบบสุด ๆ พร้อมชิมคอร์สขนมญี่ปุ่นจากวัตถุดิบไทย
เยือนร้านชาญี่ปุ่นที่จริงจังเรื่องรสชาติและสายพันธุ์ชาแบบสุด ๆ พร้อมชิมคอร์สขนมญี่ปุ่นจากวัตถุดิบไทย

“เมนูเราจะเปลี่ยนทุกเดือน ล้อไปกับเทศกาลของญี่ปุ่นและฤดูกาลไทย คือเป็นของหวานแบบดั้งเดิมญี่ปุ่น แต่ใช้วัตถุดิบไทยเป็นหลัก อย่างตอนนี้ญี่ปุ่นเป็นฤดูใบไม้ผลิแล้ว อากาศอุ่นแต่กลางคืนยังหนาวอยู่ คนก็อยากกินอาหารอุ่น ๆ แต่เมืองไทยเป็นหน้าร้อน คนอยากกินไอศกรีมหรือของเย็น ๆ และเป็นหน้ามะม่วงด้วย ผมเลยทำกรานิต้าที่ดูเหมือนขนมญี่ปุ่น แต่เหมาะกับสภาพอากาศร้อนของเมืองไทย” ชายหนุ่มอธิบาย

เมนูนี้จับคู่กับชาขาวมะลิจากฟูเจี้ยนเย็นชื่นใจ หญิงสาวเสริมว่าชาฟูเจี้ยนเป็นชาที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากจีน และไทยนำเข้ามาจากญี่ปุ่นอีกที ชาพรีเมียมนี้มีจุดเด่นที่กลิ่นมะลิหอมเข้มข้น ไม่ต้องชงเข้มนัก เพราะจะเมากลิ่นแบบพวงมาลัยถวายพระได้ง่าย ๆ 

พอหยิบแก้วบางเฉียบขึ้นจิบ รสมะลิหอมอวลแตะจมูกตั้งแต่ยกแก้ว ดื่มแล้วได้ความรื่นเย็นในปาก สดชื่นคลายร้อนดีมาก ยิ่งตักของหวานตาม อุณหภูมิในร่างกายก็เย็นลงทันที เหมาะกับวันที่อากาศร้อนเป็นที่สุด

เยือนร้านชาญี่ปุ่นที่จริงจังเรื่องรสชาติและสายพันธุ์ชาแบบสุด ๆ พร้อมชิมคอร์สขนมญี่ปุ่นจากวัตถุดิบไทย
เยือนร้านชาญี่ปุ่นที่จริงจังเรื่องรสชาติและสายพันธุ์ชาแบบสุด ๆ พร้อมชิมคอร์สขนมญี่ปุ่นจากวัตถุดิบไทย

มาต่อกันที่ชิราทามะในนมวอลนัท ใส่ดอกซากุระและไซรัปลำไย เล่าให้เห็นภาพง่าย ๆ คือเหมือนการพลิกแพลงซากุระโมจิกับบัวลอยเข้าด้วยกัน ชิราทามะคือก้อนแป้งกลมเหนียวหนุบที่ปกติราดถั่วแดง แต่คราวนี้เอามาลอยในนมวอลนัท ใส่ถั่วแดงกวนเองไว้ก้นถ้วยแทน ด้านบนเหยาะลำไยไทยสกัดเย็นและเคี่ยวจนข้นเป็นไซรัปและดอกซากุระ เสิร์ฟพร้อมใบซากุระแห้ง เป็นการสรรสร้างซากุระโมจิแบบใหม่แสนสนุก 

ของหวานถ้วยนี้ต้องคู่กับเครื่องดื่มที่เข้ากับซากุระโมจิ ป๊อปเลือกโคชุน เซนฉะสายพันธุ์จากชิสึโอกะที่มีกลิ่นซากุระ ดื่มแล้วกลิ่นความหวานของดอกไม้จะลอยขึ้นมาตอนท้ายสุด รับกันดีกับตัวขนม จิบแล้วรสชาติไม่เขียวเกิน หรือฟุ้งดอกไม้เกินไป

 “โคชุนไม่ได้มีทั้งปี ซากุระก็ไม่ได้มีทั้งปี เป็นเมนูพิเศษตามฤดูกาลค่ะ เราเชื่อว่าสิ่งที่เราเสิร์ฟคล้าย ๆ งานศิลปะ ปรับเปลี่ยนไปตามเวลา เมนูนี้เกิดขึ้นเพราะเราคิดถึงซากุระ เพราะ 4 ปีที่แล้วก็นั่งดูดอกซากุระกับเขาเนี่ยแหละ” เจ้าของร้านยิ้มขวยเขิน

เยือนร้านชาญี่ปุ่นที่จริงจังเรื่องรสชาติและสายพันธุ์ชาแบบสุด ๆ พร้อมชิมคอร์สขนมญี่ปุ่นจากวัตถุดิบไทย
Koto Tea Space ร้านชาญี่ปุ่นย่านเจริญกรุง โดยคู่รักไทย-ญี่ปุ่นที่เสิร์ฟชาคู่วัฒนธรรม

ถัดมาได้เวลาของมัทฉะ ป๊อบบอกให้เราหันหลังให้บาร์ พิจารณาชั้นวางถ้วยเซรามิกด้านหลัง แล้วเลือกหยิบถ้วยที่ชอบมาได้เลย เธอจะชงมัทฉะให้ใส่ถ้วยนั้น ๆ และอธิบายที่มาของถ้วยที่เลือกให้ฟัง ไอเดียนี้นักชงชาได้มาจาก Wad Omotenashi Cafe ที่โอาซาก้า มีชั้นวางถ้วยแบบนี้ให้แขกได้เลือกภาชนะใส่มัทฉะเอง และจะเล่าให้ฟังว่าศิลปินที่ปั้นถ้วยชาใบนี้คือใคร มาจากเมืองไหน 

ปัจจุบัน ชั้นวางของ Koto มีทั้งถ้วยหลายทรง สี ขนาด ที่อาจารย์ทาคานาโอะปั้น ถ้วยจากคอลเลกชันสะสมของป๊อบเองและนักสะสมท่านอื่นให้มา แต่ในอนาคตอาจปรับเปลี่ยนตามฤดูกาล มีงานปั้นงาม ๆ ของศิลปินเซรามิกไทยมาผลัดเปลี่ยนให้เกิดความเคลื่อนไหวสนุก ๆ

มัทฉะที่ร้านมีให้เลือกมากมาย ป๊อบจะสังเกตความชอบลูกค้าว่าชอบดื่มแบบไหน แล้วชงให้ถูกจริตคนดื่ม หากไม่คุ้นกับรสขมหรืออูมามิจัด ๆ  เธอจะเลือกชงให้บางลง แม้ไม่ใช่มัทฉะลาเต้หวาน ๆ แต่รสชาติครีมมี่ก็ทำให้แขกถูกใจ เมนูนี้กินคู่กับวุ้นกรอบโคฮะคุโตใส่อุเมะชู ยูสึเกะทำเองหมดทุกขั้นตอนเช่นเคย จุดเด่นของเขาคือขนมทุกอย่างปรับลดความหวานให้กำลังดี เหมาะกับลิ้นคนไทย ไม่หวานเจี๊ยบแบบฉบับดั้งเดิม จึงกินง่ายได้เรื่อย ๆ 

Koto Tea Space ร้านชาญี่ปุ่นย่านเจริญกรุง โดยคู่รักไทย-ญี่ปุ่นที่เสิร์ฟชาคู่วัฒนธรรม
Koto Tea Space ร้านชาญี่ปุ่นย่านเจริญกรุง โดยคู่รักไทย-ญี่ปุ่นที่เสิร์ฟชาคู่วัฒนธรรม

ปิดท้ายคอร์สนี้ด้วยเก็นไมบาง ๆ ไร้คาเฟอีน คู่กับช็อกโกแลตโคอิฉะคิวบ์ ที่ประกอบจากมัทฉะ 1 กรัม โดยแบรนด์ช็อกโกแลตไทย Ceremony Chocolate ออกแบบให้ ดึงรสเข้มข้นของชาเขียวมาทำขนม แต่ไม่ขมปี๋จนน่ากลัว แมตช์ลงตัวกับความบางเบาของเครื่องดื่ม

The Protagonist

ป้ายด้านหน้าร้านเขียนอักษรญี่ปุ่นตัวโตว่า ‘ชูจินโค’ ที่แปลว่า The Protagonist สื่อถึงความตั้งใจเป็นตัวเอกที่มุ่งมั่น แต่บนชั้นติดคำว่า ‘โชชิน’ หมายถึง Beginner’s Mind เพื่อเตือนใจให้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา 

เยือนร้านชาญี่ปุ่นที่จริงจังเรื่องรสชาติและสายพันธุ์ชาแบบสุด ๆ พร้อมชิมคอร์สขนมญี่ปุ่นจากวัตถุดิบไทย

“สมัยเรียนบริหารธุรกิจ ป๊อบเป็นคนพูดเก่งเฉพาะเรื่องที่ชอบ แต่ปกติเงียบ ตั้งแต่ทำเรื่องชาก็ทำให้ขี้อายน้อยลง ตอนจัดสอนครั้งแรก เตรียมของไปเยอะมาก ปากสั่น คอแห้งไปหมด ยิ่งทำงานนี้ ก็ทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น ต้องไปศึกษาตามบาร์ ดูบาร์เทนเดอร์ทำงานและคุยกับคนอย่างมืออาชีพ 

“ที่บ้านทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไป  ป๊อบโตมาแล้วอยากเปลี่ยน อยากทำงานที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากขึ้น อาจจะฟังดูน้ำเน่านะ แต่อยากทำงานที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น แฮปปี้มากที่คนมาที่นี่แล้วรู้สึกผ่อนคลาย มีพลังมากขึ้น รู้สึกอิ่มเอมดีต่อใจมาก ที่ได้แชร์ ได้ส่งต่อ”

ปกติลูกค้าของร้านเป็นคนวัยทำงานที่อยากพักผ่อน ตามหา Peace of Mind เจ้าของร้านจึงขอยกตัวอย่างลูกค้าที่เธอประทับใจ นักศึกษาคนหนึ่งเดินเข้ามาที่ร้านช่วงหัวค่ำ ซึ่งร้านปิดไปนานแล้ว และบอกว่าไม่เคยดื่มชาเพียว ๆ มาก่อนเลยในชีวิต 

“ป๊อบเสิร์ฟโฮจิฉะสบาย ๆ แล้วถามเขาว่ามันต่างจากโฮจิฉะที่เคยกินยังไง เขาว่ามันแปลกดีนะครับ แต่ว่าก็ไม่แย่ จิบไปเงียบ ๆ พอเสิร์ฟขนมคู่กัน คุยสบาย ๆ เขาก็ผ่อนคลายขึ้น แล้วเขาก็ค่อย ๆ ระบายความเครียดเรื่องการเรียนออกมา รู้สึกเหมือนร้านข้าวเที่ยงคืนญี่ปุ่นเลยค่ะ หลังจากนั้นเขาก็กลับมาอีก 3 รอบ”

ประสบการณ์แบบนี้แหละ ที่ทำให้รู้ว่าความตั้งใจที่อยากชะล้างความขุ่นข้องหมองใจของแขกที่มาเยือนนั้นมาถูกทาง

Koto Tea Space ยังเติบโตไปได้อีกมาก น่าติดตามว่าร้านชาแห่งนี้จะสร้างสีสันให้เจริญกรุงมีชีวิตชีวามากขึ้นไปอีกอย่างไร

Koto Tea Space – 琴

ที่ตั้ง : 492 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : วันศุกร์-เสาร์ 12.00 – 17.00 น. 

โทรศัพท์ : 08 9927 1805

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Faceboook : Koto Tea Space – 琴

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ