กชกร วรอาคม เป็นภูมิสถาปนิกไทยซึ่งติด 1 ใน 15 Women Leading the Fight Against Climate Change ของนิตยสาร TIME เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

หลายเดือนก่อน เธอขึ้นพูดเปิดบนเวที Movin’On งานว่าด้วยการสัญจรที่ยั่งยืนซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เธอเรียกเสียงปรบมือได้สนั่นฮอลล์ ลงจากเวทีมาก็มีคนเข้ามาคุยกับเธอทั้งวัน และทุกวัน

กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกนักสร้างสวนที่ติดอันดับนิตยสาร TIME และพูด TED Talk ที่สหรัฐฯ

เธอเคยขึ้นเวที TED Talk ที่สหรัฐอเมริกา 2 ครั้ง ขึ้นเวทีของ NAP (National Adaptation Plan) UN Climate Change ขององค์กรสหประชาชาติที่เกาหลีใต้ เวทีของแบรนด์ Cartier ที่สหรัฐอเมริกา เวทีของเครือโรงแรม Marriott ที่คอสตาริกา เวที Resilient Cities ที่เยอรมนี เวทีของนิตยสาร The Economist ที่สิงคโปร์ และปลายปีนี้จะได้พูดปิดในงานแจกรางวัลของ American Society of Landscape Architects ที่สหรัฐอเมริกา

สื่อระดับโลกอย่าง World Economic Forum, The Guardian, CNN, NHK และ Business Insider ก็เคยสัมภาษณ์ภูมิสถาปนิกหญิงไทยคนนี้

ผลงานที่ทำให้คนมากมายสนใจนักออกแบบเจ้าของบริษัท Landprocess คนนี้ก็คือ การออกแบบ ‘อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ’ เพื่อช่วยกักเก็บน้ำให้เมือง ป้องกันน้ำท่วมที่จะเกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต

ผลงานที่ทำให้คนมากมายสนใจนักออกแบบเจ้าของบริษัท Landprocess คนนี้ก็คือ การออกแบบ 'อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ' เพื่อช่วยกักเก็บน้ำให้เมือง ป้องกันน้ำท่วมที่จะเกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต

เธอทำ ‘อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี‘ งานที่ทำสวนจนพูนขึ้นมาคลุมอาคารเรียนทั้งหลัง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

ทำ ‘สวนบำบัดลอยฟ้า‘ บนดาดฟ้าของโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ช่วยเยียวยาทั้งคนไข้ บุคลากรทางการแพทย์ และเมือง

ทำ ‘พระปกเกล้าฯ สกายปาร์ค‘ เปลี่ยนโครงสร้างทิ้งร้างอย่างสะพานด้วนให้กลายเป็นสวนสาธารณะ

ก่อนหน้าจะมาทำงานที่แปลกใหม่เหล่านี้ เธอเคยออกจากวงการภูมิสถาปัตย์ไปใช้ชีวิตอยู่เฉยๆ ที่เชียงราย

ก่อนหน้านั้น เธอเรียนจบปริญญาโทด้านภูมิสถาปัตย์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ในสาขานี้

ก่อนหน้านั้น ตอนเรียนปริญญาตรีที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เธอเคยพักการเรียน 1 ปี เพื่อไปฝึกงานกับบริษัทภูมิสถาปัตย์ระดับ 1 ใน 5 ของสหรัฐฯ ถึง 2 บริษัท

และก่อนหน้านั้น สมัยเรียนมัธยมปลาย เธอเรียนสายศิลป์-คำนวณ

เธอว่า ทุกอย่างที่เธอทำ ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าไม่ลอง ก็ไม่มีทางเป็นไปได้

กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกนักสร้างสวนที่ติดอันดับนิตยสาร TIME และพูด TED Talk ที่สหรัฐฯ

คุณโตมาในบ้านแบบไหน

เมื่อก่อนอยู่ในตึกแถวตรงถนนเพชรบุรีตัดใหม่ หน้าบ้านติดถนนใหญ่ หลังบ้านเป็นทุ่งนา มีทางรถไฟ คุณพ่อคุณแม่เป็นคนไทยจีนที่ไม่ได้เรียนสูง แต่ก็ขยันจนเป็นเจ้าของธุรกิจโรงงานสีทาบ้านกับกระเบื้องยาง ตื่นเช้ามาก็เห็นพ่อแม่ทำงานตลอดเวลา รู้สึกว่าเขาเก่ง ทำให้เราพยายามตั้งใจทำงานแบบนั้นบ้าง

การโตมากับธุรกิจสีทาบ้านกับกระเบื้องยางทำให้คุณอยากเป็นสถาปนิกหรือ

(หัวเราะ) พอโตมาถึงวัยหนึ่งก็เริ่มต่อต้านพ่อแม่ ทำไมต้องทำทุกอย่างเพื่อหาเงิน ทำไมต้องทำงานหนักขนาดนั้น แต่ลึกๆ ก็รู้นะว่ามันก็ทำให้เรามีอย่างที่เรามี แม่คิดว่าลูกชายต้องเรียนวิศวะ ลูกสาวต้องเรียนบัญชี ลูกคนเล็กเรียนนิติ จะได้ดูแลกิจการ พี่ชายก็เรียนวิศวะ จุฬาฯ เพื่อมาดูแลโรงงาน ส่วนเราถูกคาดหวังให้เป็นนักบัญชี ตอนอยู่เตรียมอุดมก็เรียนศิลป์-คำนวณ ขยันเรียนมาก แต่เรียนเดบิต-เครดิตไม่รู้เรื่อง ก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่ ฉันต้องใช้ชีวิตแบบนี้เหรอ ตอนนั้นชอบวาดรูปนะ เพื่อนสนิทอยากเข้าคณะสถาปัตย์ เขาไปเรียนวาดรูป เราก็ไปด้วย ได้ไปดูละครถาปัด จุฬาฯ ขำมาก ขำจนอยากเรียนคณะนี้

แต่คุณเรียนศิลป์-คำนวณ

ใช่ มันจะไปเข้าสถาปัตย์ได้ไง บอกใครไปก็อายแย่ เลยแอบไปซุ่มเรียนฟิสิกส์ที่โรงเรียนกวดวิชา นั่งฟังอาจารย์พูดจนเข้าใจ ไม่ได้เข้าใจลึกนะ แต่ทำข้อสอบได้ ส่วนวิชาอื่นเราเรียนเหมือนกัน ที่โรงเรียนมีแค่เพื่อนสนิทคนเดียวที่รู้ แม่เขาคาดหวังให้เราเรียนบัญชี แต่ลึกๆ แล้วเขาก็เปิดกว้าง อยากทำอะไรก็ทำ เราก็เลยเลือกสถาปัตย์ เข้ามาด้วยคะแนนปริ่มๆ มาก (หัวเราะ)

ทำไมถึงเลือกภูมิสถาปัตย์

คะแนนเราไม่มีทางถึงสถาปัตย์-สถาปัตย์อยู่แล้ว เข้ามาแล้วรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมาก ที่ได้ทำอาชีพปลูกต้นไม้ ได้ทำให้เกิดอะไรดีๆ ในเชิงพื้นที่ แล้วก็ไม่ต้องคิดเรื่องหินเรื่องปูน เพราะเราไม่ชอบ ไม่อยากคิดว่าต้องใช้คานขนาดเท่าไหร่ อยากคิดเรื่องปลูกต้นไม้มากกว่า สถาปัตย์เป็นวิชาที่เราคิดว่ามีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง บ้านต้องมีจำนวนห้องเท่านี้ คนในบ้านจะมองเห็นอะไร แต่ภูมิสถาปัตย์ไม่ได้คิดแบบนั้น เป็นวิชาที่มองภาพรวมโดยมีมนุษย์เป็นแค่ส่วนหนึ่ง

มีวิชาเปลี่ยนชีวิตไหม

หลายวิชาเลย ถ้าทางการออกแบบให้ชัด ตั้งคำถามให้ถูกจุด ต้องกราบอาจารย์ฟู (ดร.พรพรรณ ฟูตระกูล) อีกวิชาที่น่าจะเปลี่ยนมากคือ วิชานิเวศ ของ อาจารย์ดนัย ทายตะคุ แกไปเรียนปริญญาเอกที่ Berkeley 10 ปี เพิ่งจบกลับมา คลาสแรกแกเขียนบนกระดานดำว่า What is landscape? มันไม่ใช่แค่การออกแบบสวยๆ แต่มันคืองานที่นำไปสู่คำตอบว่า ทำไมความสัมพันธ์ของคนและเมืองถึงเป็นแบบนี้ ทำไมสัตว์ถึงเป็นแบบนี้ วิชานั้นทำให้เรามองภูมิสถาปัตย์เปลี่ยนไป เราไม่ได้ทำงานเพื่อรับใช้คนรวย หรือทำให้สวยอย่างเดียว แต่ทุกอย่างในงานภูมิสถาปัตย์ที่เราออกแบบมีหน้าที่ของมัน แม่น้ำมีหน้าที่ของมัน นกก็มีหน้าที่ของมัน คนนี่แหละที่ไปรบกวนหน้าที่เหล่านี้

เรียนแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งมันสำคัญมาก ลึกๆ แล้วเราไม่ใช่คนที่ชอบออกแบบอะไรสวยๆ นะ ให้ทำสวนสวยๆ ในบ้านหรือในรีสอร์ตก็ทำได้ แต่เราชอบออกแบบพื้นที่สาธารณะ สวนสาธารณะ หรืองานที่เป็นชุมชนมากกว่า ยิ่งเรียนก็ยิ่งเจอประตูที่จะไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ

การทำทีสิสเรื่องการบูรณะอาคารเก่าให้เป็นสวนสาธารณะ เมื่อ 20 ปีก่อน ถือเป็นหัวข้อที่แปลกไหม

เรื่องการปรับเปลี่ยนการใช้สอย (Adaptive Reuse) ก็ถือว่าแปลกประมาณหนึ่งนะ เพราะไม่ได้ทำในที่เปล่า แต่เป็นที่ที่มีการใช้งานแบบหนึ่ง เราเปลี่ยนโรงกรองน้ำสามเสนซึ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำประปาแห่งแรกของไทย (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ประปาไทย) ให้เป็น Park Museum งานวิศวกรรมเมื่อก่อนสวยมากเลย มีการตั้งชื่อให้เครื่องจักร ให้อาคาร เราเก็บโครงสร้างอาคารสมัยรัชกาลที่ห้าไว้ แล้วปรับให้เป็นพิพิธภัณฑ์และสวนสาธารณะ สนุกมาก ชอบมาก

กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกนักสร้างสวนที่ติดอันดับนิตยสาร TIME และพูด TED Talk ที่สหรัฐฯ

การไปฝึกงานที่อเมริกาในยุคนั้นถือเป็นเรื่องปกติไหม

ไม่ปกติ ตอนนั้นเราเป็นคนแรกเลย ปกติเด็กสถาปัตย์จะฝึกงานเมืองไทยกัน มีไปฝึกงานที่สิงคโปร์คนหนึ่ง ปักกิ่งบ้าง ตอนนั้นเรามีแพสชันอยากเป็น Great Landscape Architect บอกตัวเองว่า ฉันต้องฝึกงานกับบริษัทภูมิสถาปัตย์ชั้นนำของโลกให้ได้ ถ้าเป็นบริษัทสถาปัตย์ก็ประมาณ Norman Foster เลยตั้งใจทำพอร์ตฟอลิโอแล้วยื่นไปหลายที่เลย

อาจารย์ที่คณะให้คำแนะนำว่ายังไง

ตอนนั้น Senior Associate ของบริษัท Sasaki ซึ่งเป็นบริษัทภูมิสถาปัตย์ระดับหนึ่งในห้าของอเมริกา มาเลกเชอร์ที่เมืองไทย เขาให้เราลองไปขอคุย เราก็บอกเขาว่า เราตั้งใจไปฝึกงานจริงๆ นะ แต่มันต้องแข่งกับเด็กฮาร์วาร์ด เด็กจากทั่วอเมริกา ใจหนึ่งเราก็กลัวว่าจะได้เหรอ เหมือนตอนเรียนสายศิลป์แล้วสอบเข้าสถาปัตย์ เหมือนเรากำลังทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พอมองย้อนกลับไป การเห็นพ่อแม่แก้ปัญหาธุรกิจทำให้เวลาที่เราเจอปัญหา หรืออยากได้อะไร เราจะไม่คิดว่าคงไม่ได้หรอก แล้วก็ไม่ทำ แต่เราจะคิดว่าไม่ลองไม่รู้ ถ้าไม่สมัครมันก็ไม่มีทางได้แน่ๆ ตอนนั้นเราเป็นคนเดียวในคณะที่ยื่นขอฝึกงานที่อเมริกา แล้วเราก็ได้ฝึกที่ Sasaki ตอนปิดเทอมใหญ่ปีสี่

ทำไมเขาถึงรับเด็กจากประเทศไทยไปฝึกงาน

ไม่รู้ เดาว่าเพราะพอร์ตฟอลิโอ ซึ่งเราตั้งใจทำมาก เขาไม่รู้จักเรา ไม่เคยมีเด็กจุฬาฯ ไปฝึกงาน เด็กจุฬาฯ ที่เคยไปทำงานที่นั่นก็น้อยมาก มีแค่อาจารย์ฟู (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พรพรรณ ฟูตระกูล) บรมครูซึ่งเป็นเด็กจุฬาฯ ที่จบฮาวาร์ด เมื่อสามสิบปีที่แล้ว กับอาจารย์เดชา (ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ) ตอนนั้นเราเป็นเด็กฝึกงานคนเดียวในบริษัท เพราะเมืองไทยกับเมืองนอกปิดเทอมไม่พร้อมกัน เราฝึกงานที่นั่นอยู่สามเดือน

บรรยากาศใน Sasaki เป็นยังไงบ้าง

ในออฟฟิศมีร้อยกว่าคน แต่ทีมภูมิสถาปนิกมีสักสี่สิบถึงห้าสิบคน เราเป็นเด็กฝึกงานคนเดียว ทุกคนในทีมเลยรู้จักเรา ตอนนี้กลับไปเขาก็ยังจำเราได้นะ คนที่นั่นดูแลเด็กฝึกงานดีมาก เราก็ตั้งใจมาก ไปทำงานก่อนเวลา เรานั่งตรงส่วนกลาง ข้างๆ ห้องของ Stuart O. Dawson มือรองจาก Sasaki (Hideo Sasaki) ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว เขาเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์วิชาชีพภูมิสถาปัตย์ของอเมริกา ออกแบบงานสำคัญๆ เยอะมาก ทำเนียบขาวก็ใช่ เราก็ตื่นเต้น เขาน่ารักมาก ไม่ได้มองเราเป็นเด็กฝึกงาน เขาให้ความรู้เราตลอด อาทิตย์แรกเขาให้เราลองทำโน่นทำนี่ พอเห็นว่าเราระบายสีได้ดี คือก็ไม่ได้เก่งมากนะ แต่ลายเส้นสวยกว่าฝรั่ง เขาก็เลยเอาแปลนทุกชิ้นของบริษัทมาให้เราลงสี

คุณได้อะไรจากการฝึกงานที่นั่นบ้าง

ได้อยู่ท่ามกลางคนเก่งๆ คนดีๆ ได้เห็นว่าพวกเขาถ่อมตัว เขาให้เกียรติเรา ไม่ได้ดูแลเราแบบลูกจ้าง เราได้เงินชั่วโมงละเจ็ดเหรียญ เท่าทำงานแมคโดนัลด์ เขาตั้งใจสอนเรา ให้โอกาสเรา เปิดมุมมองในวงการภูมิสถาปัตย์ของเรามากๆ โชคดีอย่างหนึ่งคือคุณอาของเราทำงานสายการบิน United Airlines เขามีตั๋วเครื่องบินเตรียมไว้ให้เราบินไปไหนก็ได้ วันหนึ่งเจ้านายเราต้องไปพรีเซนต์งานที่ University of Chicago เราก็อยากตามไปดู ไม่ต้องเข้าไปดูในห้องประชุมก็ได้ เลยบอกเขาว่า ช่วงนั้นเราไปที่นั่นพอดี มีอะไรให้เราช่วยไหม คือขอเขาไปด้วย เขาก็บอกว่า ดีเหมือนกัน จะได้ไปช่วยประกอบโมเดล ปรากฏว่าโมเดลที่ส่งไปมีความผิดพลาด แทนที่จะไปถึงก่อนคืนหนึ่ง กลายเป็นถึงก่อนประชุมแค่ชั่วโมงเดียว เราก็เลยได้ช่วยเขายก ประกอบ ติดต้นไม้ มันเป็นเรื่องเล็กๆ นะ แต่เขาบอกว่า ถ้าไม่ได้เรา ต้องแย่แน่ๆ เขาเลยรู้สึกดีกับเรา ไม่ใช่แค่เรื่องฝีมือ แต่มีเรื่องอื่นๆ ด้วย เราเป็นคนที่ให้ทำอะไรก็ทำ คนในออฟฟิศเลยรักเรามาก

พอฝึกงานจบ คุณควรจะกลับมาเรียนปีห้าต่อ

มีอีกบริษัทรับเราฝึกงานต่อ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เด็กอเมริกาเริ่มฝึกงาน บริษัท SWA (Sasaki, Walker and Associates) ซึ่งดังมาก มีโปรแกรมรับเด็กจากทั่วโลกหกคนไปฝึกงาน เราก็ลองยื่นไปเพราะอยากรู้ว่าจะได้ไหม ใช้พอร์ตฟอลิโออันเดิม ปรากฏว่าได้ เด็กฝึกงานคนอื่นๆ มาจาก Berkeley, Harvard, Cornell, Sylvania เป็นมหาลัยระดับท็อปหมดเลย แล้วก็เป็นเด็กระดับปริญญาโท เราคิดว่าจะกลับมาเรียนต่อหรือฝึกงานต่อดี ก็ว้าวุ่นแบบเด็กๆ กลัวจะจบไม่พร้อมเพื่อน สุดท้ายก็เลือกฝึกงานต่อ

คุ้มไหมที่ไม่ได้จบพร้อมเพื่อน

คุ้มมาก รอบนี้เราฝึกงานสามเดือน แต่มีการแข่งขันกันระหว่างเด็กฝึกงาน เด็กบางคนอาจจะเกี่ยงงาน แต่เราไม่เลย ให้ทำอะไรเราทำหมด เขามีเป็นโปรแกรม สัปดาห์ที่หนึ่งทำโครงการนี้ สัปดาห์ที่สองทำอีกโครงการ สัปดาห์ที่สามพรีเซนต์ เราได้ฝึกพูดฝึกอธิบายแข่งกับอีกห้าคน เลยรู้ว่าภาษาอังกฤษเราไม่ค่อยดี พูดสู้เขาไม่ได้

เราดร็อปที่จุฬาฯ ไปแล้ว พอฝึกงานจบ เราก็กลับไปฝึกงานที่ Sasaki ต่ออีกเจ็ดเดือน มันเป็นโอกาสที่ดีมาก เราได้ทำโครงการดีๆ ที่เหมือนว่าจะไม่มีทางได้ทำสำหรับเด็กไทยที่ยังเรียนไม่จบ ได้รู้จักอาจารย์ที่ฮาวาร์ด เจอภูมิสถาปนิกระดับโลก ได้ตั๋วบินฟรีจากคุณลุงทุกอาทิตย์ บินไปดูนู่นดูนี่ สนุกมาก เป็นปีหนึ่งที่เราโตขึ้นเยอะมาก แล้วเราก็พบว่าการรีบเรียนจบมันไม่มีประเด็นอะไรเลย ออกไปใช้ชีวิตแบบนี้ดีกว่า

กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกนักสร้างสวนที่ติดอันดับนิตยสาร TIME และพูด TED Talk ที่สหรัฐฯ
กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกนักสร้างสวนที่ติดอันดับนิตยสาร TIME และพูด TED Talk ที่สหรัฐฯ

หลังจากจบสถาปัตย์ จุฬาฯ ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง คุณมีทางเลือกอะไรบ้าง

อยากเรียนต่อที่ฮาวาร์ด เพราะเป็นมหาวิทยาลัยด้านภูมิสถาปัตย์อันดับหนึ่งของโลก แต่ยังไม่ได้สมัคร เพราะคิดว่ายังไงก็ได้ เริ่มมั่นใจแล้ว เลยไปฝึกงานกับบริษัท Design Workshop ที่รัฐเดนเวอร์ ตอนนั้นเริ่มรู้งานแล้วเพราะฝึกงานมาเยอะ ก่อนจะฝึกจบเจ้านายซึ่งเป็นครูที่เรารักมากบอกว่า อย่าเพิ่งเข้าฮาวาร์ดนะ เพราะความคิดเราพร้อมแล้ว แต่ปากเรายังไม่พร้อม เรายังพูดสิ่งที่คิดไม่ได้

ถ้าเป็นคนทั่วไปคงใช้วิธีลงเรียนภาษาอังกฤษ

แต่เราเลือกทำงานต่ออีกสองปี ที่ Design Workshop ซึ่งอยู่ในเมืองที่ไม่ได้เจริญมาก แต่มีคนขาว ก็ดีนะ เหมือนได้ไปสำรวจวัฒนธรรมอเมริกันแท้ๆ ทำให้เราบอกเด็กทุกคนที่สอนว่า ให้ทำงานก่อน ค้นพบตัวเองก่อน ฝึกพูดเพื่อพรีเซนต์ให้ได้ แล้วค่อยไปเรียนต่อ เป็นการลงทุนเมื่อคุณพร้อม

การทำงานต่างจากฝึกงานยังไง

ตอนฝึกงานได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง ช่วยคนโน้นทีคนนี้ที แต่ตอนทำงานต้องอยู่กับงานหนึ่งนานๆ เด็กทุกคนใช้ชีวิตแบบเทอมมาตลอดสิบสองปี เรียนมหาวิทยาลัยอีกห้าปี เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนคิดว่าสิ้นเทอมเราจะได้เกรดแล้วจบ แต่ชีวิตจริงไม่ใช่แบบนั้น งานหนึ่งทำไปสองปี อ้าว ลูกค้าไม่ทำต่อแล้ว หรือทำไปปีครึ่งแล้วเปลี่ยน เราเริ่มเห็นสเกลของเวลาในชีวิตจริง นี่อาจจะเป็นปัญหาการศึกษาและเด็กจบใหม่บางคนที่อาจไม่มีความอดทนมากพอเมื่อต้องอยู่กับเวลาจริงของการทำงาน เป็นช่วงเวลาสองปีที่ดีนะ ถ้าเราเรียนโดยไม่ได้ฝึกทำจริงเลย เราก็จะทำอะไรเดิมๆ แต่นี่เหมือนเรามีเวลาได้ตกตะกอนความคิดออกมาเป็นงาน

มีช่วงเวลาที่ไม่ดีไหม

เราได้เห็นโครงการต่างๆ เช่น ออกแบบวังให้เจ้าชายซาอุฯ ออกแบบบ้านที่ไม่บอกว่าเจ้าของเป็นใคร แต่มีห้องนอนเพื่อนลูกสาวสิบสองห้อง ออกแบบคาสิโนที่ลาสเวกัส เขาห้ามคนรู้วันรู้คืน ห้ามเห็นแสงอาทิตย์ ต้องออกแบบสิ่งที่ไม่โดนแดด เป็นงานที่ไม่ต้องการภูมิสถาปัตย์ คิดแค่ลานจอดรถกับทำข้างหน้าให้สวย ดูเป็นงานที่หลายๆ คนอยากทำ แต่เราไม่อยากทำเลย เราไม่รู้หรอกว่าเราชอบอะไรเพราะเรายังเด็กมาก แต่เราใช้วิธีดึงสิ่งที่ไม่ชอบออก เราไม่อยากทำให้คนที่รวยอยู่แล้วรวยขึ้นไปอีก ไม่อยากทำบ้านให้คนที่ปีหนึ่งมาใช้แค่สองสัปดาห์ เราไม่อยากทำงานที่ไม่ได้เพิ่มคุณค่าอะไรให้สถานที่ เราคิดว่าถ้าเข้าไปเรียนแล้ว เราจะไม่ออกมาทำอะไรแบบนี้อีก

ฮาวาร์ดสอนอะไรคุณ

สอนให้คิดเป็นระบบ สอนให้เข้าใจผลกระทบจากงานภูมิสถาปัตย์ในระดับที่ส่งผลต่อเมือง ต่อระบบนิเวศวิทยา และต่อโลก หลักสูตรของเขาเข้มข้นมากเพราะผ่านการเคี่ยวมาหลายสิบปีจนรู้แล้วว่าต้องสอนอะไร คนสอนก็เป็น Great Architect ที่บินมาจากทั่วโลก เวลาที่พวกเขาชมงานเราว่า This is brilliant. แค่ประโยคเดียว แต่มันคุ้มแล้วที่ไม่ได้นอนมาเจ็ดวัน ประโยคเดียวเท่านั้น เราดีใจมากที่ไม่เรียนต่อทันที ไม่งั้นเราคงเด็กไป พอเรียนตอนอายุยี่สิบเจ็ดก็เริ่มมั่นใจ คุยกับเขารู้เรื่อง อะไรที่ไม่ชอบก็พอจะเถียงได้

เราจับกลุ่มกับเพื่อนฮาวาร์ดที่คิดคล้ายๆ กัน เราบอกพวกเขาว่า ไม่อยากกลับไปทำงานที่ไม่อยากทำแล้ว พวกเราเลยตั้งกิจการเพื่อสังคมเมื่อสิบปีก่อน ชื่อ KOUNKUEY Design Initiative (KDI) (คุ้น-เคย) ตอนนี้ที่อเมริกาก็ยังมีอยู่นะ

พวกคุณไปทำโปรเจกต์ที่ไหน

เคนยา ทีมเรามีอเมริกันสี่คน คนไทย แล้วก็เคนยา ตอนนั้นมีกลุ่ม Doctor without borders, Engineer without borders เป็นกลุ่มหมอ กลุ่มวิศวกร ที่เข้าไปทำงานในประเทศกำลังพัฒนา เราก็สงสัยว่าอาชีพฉันทำอะไรไม่ได้เหรอ เลยบินไปคิเบร่า สลัมที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองในแอฟริกาในเมืองไนโรบี ที่เคนยา มีคนอยู่ตรงนั้นหลายแสนคน ทุกบ้านไม่มีส้วม ถ่ายใส่ถุงแล้วโยนทิ้งตอนเช้า ฮาวาร์ดให้เงินมาก้อนหนึ่ง เราใช้เงินตัวเองด้วย ไปทำงานกับชุมชน ดึงคนในชุมชนให้ออกมาช่วยกันสร้างศูนย์ชุมชน ส้วม สนามเด็กเล่น โดยมีเราเป็นพี่เลี้ยง ทำอยู่สองปีเราก็กลับเมืองไทย ส่วนเพื่อนๆ ยังทำกันต่อ

กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกนักสร้างสวนที่ติดอันดับนิตยสาร TIME และพูด TED Talk ที่สหรัฐฯ

ทำไมถึงเลือกกลับเมืองไทย

อย่างแรก เราไม่เรียนต่อ ไม่ชอบเรียนแล้ว อยากทำงาน เรายังรักงานภูมิสถาปัตย์อยู่นะ แต่ก็ไม่อยากทำงานภูมิสถาปัตย์แล้ว เพราะเบื่อ คิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่างแล้ว ซึ่งมันไม่จริง พอเรารู้ว่าต้องเข้าออฟฟิศก็เห็นภาพว่าชีวิตต่อไปจะเป็นยังไง ถ้าอยู่อเมริกาก็จะไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ เป็น Senior Associate เป็น Principle แล้วก็แก่ เราคงเป็นวัยรุ่นที่กลัวเมื่อเห็นอนาคตที่ชัดแต่ไม่ใช่ กลัวว่าจะต้องแก่มาเป็นแบบนี้

ชีวิตในอเมริกาก็ไม่ได้สวยหรูนะ ถึงแม้ว่าที่นั่นจะให้เกียรติเราที่สุดแล้ว แต่เราก็ยังเป็นเหมือนพลเมืองชั้นสอง ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรในออฟฟิศ ไม่มีทางได้ไปหาลูกค้า เรามีโอกาสทำงานออกแบบได้ดีขึ้น แต่เราไม่มีโอกาสที่จะรู้งานด้านธุรกิจเลย

สุดท้ายก็ไม่ได้คิดอะไรมาก พอดีช่วงนั้นมีปัญหาเรื่องความรักเลยเลือกความรักและกลับเมืองไทยเพื่อแต่งงาน แล้วย้ายไปอยู่เชียงราย ใช้ชีวิต Slow Life อยู่พักหนึ่ง พอไปอยู่อย่างนั้นจริงๆ มันก็ไม่ค่อยเวิร์กนะ คิดว่าเป็นชีวิตที่ตามหา แต่ไม่ใช่ เป็นชีวิตที่ว่างเปล่ามาก แต่งงานได้ไม่นานก็แยกทางขณะกำลังมีลูกสาว แล้วก็กลับกรุงเทพฯ มาบำบัดจิตใจตัวเอง เลยเลือกทำงานเกี่ยวกับศิลปะบำบัด

บำบัดคนอื่นหรือบำบัดตัวเอง

บำบัดคนอื่น แต่ผลพลอยได้ทำให้เราได้บำบัดตัวเองด้วย

ไปเอาทักษะทางด้านนี้มาจากไหน

เราชอบศิลปะอยู่แล้ว ตอนอยู่อเมริกาก็สนใจเรื่องนี้ ถ้าไม่เรียนสถาปัตย์ ก็คงไปเรียนศิลปะบำบัดที่ Naropa University เป็นแนวพุทธธิเบต ตอนเรียนที่ฮาวาร์ดเราไปเข้าคลาสศิลปะ คลาสพุทธธิเบต ทำงานศิลปะตลอด เห็นเขาทำ Sand Mandala ซึ่งก็เป็นศิลปะบำบัดรูปแบบหนึ่ง

พอดีเพื่อนสนิท (พริม พิศลยบุตร) เรียน Fine Arts กลับมาจากอังกฤษพอดี เขามองว่าศิลปะช่วยคนได้เหมือนหมอ ในอเมริกางานศิลปะบำบัดไม่ใช่จิตอาสา แต่เป็นอาชีพที่ใช้ศิลปะ ดนตรี หรือ Creative Art มาช่วยคน เราเลยรวมกลุ่มกันชื่อ Artfield ไปขอทำศิลปะบำบัดให้โรงพยาบาลฟรีๆ ส่งไปทุกโรงพยาบาล ตอนแรกไม่ที่ไหนตอบรับเลย ยกเว้นสถาบันมะเร็งที่มีคนทำวิจัยเรื่องนี้อยู่ กับโรงพยาบาลศิริราช เพราะเพื่อนคุณแม่สงสารเลยช่วยคุยกับคณบดีให้ พอไปทำจริงๆ เขาก็มีค่าตอบแทนให้เล็กๆ น้อยๆ นะ ทำเดือนละครั้ง

ทำกับคนไข้กลุ่มไหน

เราไม่ได้สนใจกลุ่มออทิสติกเพราะมีคนทำเยอะแล้ว เราเลือกคนที่เป็นมะเร็ง เพราะเป็นโรคที่ทำให้คนไทยตายอันดับหนึ่งสิบปีรวด ผู้ป่วยกลุ่มนี้น่าจะต้องการเหมือนกัน เราทำกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แล้วก็เริ่มลงลึกทำกับกลุ่มคนใกล้ตาย ช่วยให้เขาทุกข์น้อยลง ให้เขาได้ปลดปล่อย บางทีเขากับคนดูแลอาจจะตึงๆ ใส่กัน เราอยากให้พวกเขาหยุดดูแลกัน แล้วหันมาทำความเข้าใจกัน ไหนลองจ้องหน้าแล้ววาดหน้ากันและกันโดยไม่พูดสิ เวลาคุณจะวาดอะไร มันต้องเป็นสิ่งที่คุณรัก ไม่งั้นคุณจะวาดไม่ได้ ความสัมพันธ์ก็จะเปลี่ยน จากคนที่ต้องคอยมาเช็ดน้ำลายก็กลายเป็นความสัมพันธ์ที่เท่ากัน คนป่วยก็วาดคนที่นั่งเฝ้า ศิลปะจะช่วยทำลายความรู้สึกเดิมๆ ที่มีต่อกันได้

หรืออย่างแม่กับลูก แม่ทำงานตลอดเวลา มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับลูก เขาบอกว่า ไม่ได้มองหน้าลูกนานแล้ว พอได้มานั่งวาดรูปกันแบบนี้เขาก็รู้สึกว่ามันดีจังเลย

ผลออกมาแบบนี้แล้วหมอยอมรับมากขึ้นไหม

เราใช้ทั้งดนตรีและ Creative Art ไปบำบัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลเดือนละครั้ง ทำเสร็จก็เก็บข้อมูลให้หมอ หมอเห็นว่าคนไข้ดีขึ้นเลยไปหาทุนมาช่วยกันวิจัย ผลออกมาว่าช่วยลดความเศร้าหมองของคนที่เป็นเส้นเลือดในสมองตีบ อัมพาต อัมพฤกษ์ได้ คนไข้ที่อายห้าสิบปีขึ้นไปก็ช่วยลดความกังวลได้ ถ้าไม่ทำวิจัยหมอจะไม่เชื่อเลย ตอนนี้เราก็ยังทำอยู่นะ เป็นงานที่ทำมานานกว่าบริษัท Landprocess อีก

แล้วคุณกลับคืนสู่วงการภูมิสถาปัตย์ได้ยังไง

ตอนนั้นพี่ปุ๋ย (สมิตร โอบายะวาทย์) ชนะประกวดแบบ Siam Square One แกรู้ว่าเราจบกลับมาจากฮาวาร์ด เลยชวนมาช่วยทำสวน Siam Green Sky บน Siam Square One พอได้ออกแบบพื้นที่สาธารณะกลางสยามสแควร์ก็สนุกดีนะ ตอนนั้นยังทำในชื่อตัวเอง ยังไม่มีบริษัท เราตั้งบริษัท Landprocess เพื่อส่งประกวดแบบของอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ

กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกนักสร้างสวนที่ติดอันดับนิตยสาร TIME และพูด TED Talk ที่สหรัฐฯ

คุณตีโจทย์อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ยังไงถึงชนะใจกรรมการ

พอเรามีประสบการณ์มากขึ้น เราเริ่มต้นคิดจากจุฬาฯ อยากได้อะไร แล้วตอบสิ่งนั้นก่อน สิ่งที่จุฬาฯ ต้องการคือ สวนสาธารณะที่เรียบ ดูดี ไม่เยอะ สร้างได้จริง ทำโจทย์นั้นให้ได้ก่อนแล้วค่อยใส่สิ่งที่เราอยากใส่ลงไป สิ่งที่ทำให้เราชนะน่าจะเป็นการทำพื้นที่กลางสวนให้โล่ง เพราะมันยืดหยุ่นที่สุด แล้วมาแอคทีฟที่ขอบรอบๆ เน้นโล่งๆ เรียบง่ายที่สุด งานของทีมอื่นเน้นใส่ตรงกลาง บางทีมเป็นโครงสร้างตรงกลาง บางทีมทำถนนผ่ากลางแล้วแบ่งสวนเป็นสองก้อน

พอตอบโจทย์จุฬาฯ แล้ว อะไรคือสิ่งที่คุณตอบโจทย์ตัวเอง

สวนควรตอบโจทย์มากกว่าเรื่องส่วนตัว เราไม่ควรมาเฉลิมฉลองด้วยการทำสวนสีชมพู แต่เราอยากพูดถึงจุฬาฯ ในอีก 100 ปีข้างหน้า เราว่าจุฬาฯ ต้องมองไปข้างหน้า เราอยากพูดเรื่องปัญหา Climate Change ให้คนเมืองเห็น แล้วก็อยากให้คนเห็นว่าภูมิสถาปัตย์เป็นสิ่งที่จำเป็นกับเมือง เมืองไม่มีพื้นที่สีเขียวไม่ได้ นี่คือการสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่กลางเมืองครั้งแรกในรอบเกือบสามสิบปี ซึ่งมันก็ดีนะ มันคือการทำให้คนเห็นความเป็นไปได้ การชนะแบบเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะไม่รู้ว่าแบบนี้จะถูกนำไปสร้างหรือเปล่า ความท้าทายคือ ทำยังไงให้กระดาษที่ออกแบบถูกนำไปสร้างจริง โดยไม่ถูกเปลี่ยนแบบ

คุณก็เลยพยายามพูดคอนเซปต์ของสวนนี้ในพื้นที่สื่อ

สื่อไทยสนใจสวนนี้ในมุมหนึ่งอย่างที่เราเห็นกัน เราเลยวิ่งไปหาสื่อเมืองนอก ที่ลง The Guardian, CNN, TED นี่เราวิ่งไปหาเองนะ เราค่อยๆ ทำทีละขั้น ไปสมัครเป็น Fellow ของ Asean Foundation, Echoing Green Fellews ค่อยๆ ไต่ไปเรื่อยๆ พอมั่นใจก็สมัคร Ted Fellows เป็นการเอาคนทำงานด้านสังคมของแต่ละประเทศมาพบกัน ไปดูงานกันแต่ละประเทศ ข้อดีคือ เขามีทุนให้ขอมาทำโครงการได้ เราก็ขอมาทำ Porous City Network หรือ ปฏิบัติการเมืองพรุน ตอนนี้เงินหมดแล้ว เรากำลังขอจาก Climate Fellows ซึ่งยากมาก ต้องแข่งกับคนเยอะมาก ก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ

กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกนักสร้างสวนที่ติดอันดับนิตยสาร TIME และพูด TED Talk ที่สหรัฐฯ

ได้ขึ้นเวที TED Talk ได้ยังไง

ถ้าอยากพูด TED ต้องสมัครก่อนอายุสี่สิบปี เราเหลือสองปีสุดท้ายแล้ว ก็ลองดู ไม่คิดว่าจะได้เหมือนกันนะ งานแรกคือ TED Conference พูดสี่นาที อัตราการได้พูดนี่ยากกว่าเข้าฮาวาร์ดอีก ต้องผ่านสัมภาษณ์ ผ่านอะไรเยอะแยะ จนเหลือยี่สิบคน ทุกคนทำเรื่องที่น่าสนใจหมดเลย เราตั้งใจสุดๆ เลย พูดเรื่องน้ำท่วม เรื่องอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ นี่แหละ พอพูดเสร็จเขาก็บอกว่า ช่วงที่เราพูดจะไม่ได้ออนไลน์นะ ทั้งที่เราว่าเราทำดีแล้วนะ ก็โอเค

สามเดือนต่อมา TED ติดต่อมาบอกว่าจะมีเวที TEDWomen ที่ Palm Springs คราวนี้สิบสองนาที ก็เครียดนะ สี่นาทียังไม่รอดเลย เราทำการบ้านเยอะมาก จนเขามาบอกว่า คราวที่แล้วหัวข้อเราดีมากเลย แต่เวลาแค่สี่นาทีเราพูดไม่รู้เรื่อง เขาอยากให้เราได้พูดนานขึ้น และถ้าปล่อยวิดีโอออกมาแล้วจะเอากลับมาทำใหม่ไม่ได้ คลิป TED ที่ได้ออนไลน์ก็คือจากเวทีนี้ สื่อมวลชนต่างประเทศสนใจเรื่องนี้มากเลย เรายังงงเลยว่ามันเป็นเรื่องใหม่เหรอ รู้สึกเขินด้วยซ้ำที่จะพูดถึงสวนนี้ แต่ก็ต้องพูด เพราะถ้าเราไม่พูด สื่อไม่พูดให้สังคมรับรู้ แล้ววันหนึ่งสวนเราถูกเปลี่ยน วิสัยทัศน์เรื่อง Climate Change หายไป จะทำยังไง

คุณหยิบจับอะไรก็ดูจะสำเร็จไปหมด คิดว่าตัวเองโชคดีเรื่องงานไหม

ไม่ได้โชคดีนะ เพราะเราไม่ได้นั่งเฉยๆ แต่เราลงมือทำ เราเอาเรื่องที่สำเร็จมาเล่าให้ฟังไง กว่าแต่ละอย่างจะสำเร็จเบื้องหลังมีเรื่องล้มแล้วล้มอีกหลายสิบครั้งนะ ตอนฝึกงานเราทำพอร์ตฟอลิโอเป็นปีนะ ในชีวิตที่ผ่านมาเราไม่เคยชนะประกวดแบบอะไรเลย อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เป็นงานแรกที่ชนะ ทำศิลปะบำบัด ก็โดนปฏิเสธกว่าห้าสิบโรงพยาบาล ตอบกลับมาสอง และสิ่งนั้นเป็นเพียงการเปิดโอกาส เราจะทำสำเร็จไหม อยู่ที่เราทำ เราไม่เลิกทำไปเสียก่อน

พอคนเข้าใจคอนเซปต์ของสวนมากขึ้น บางคนก็มองว่าแค่สวนเดียวมันแก้ปัญหาได้ขนาดนั้นเลยเหรอ คุณมีคำอธิบายไหม

ก่อนอื่นต้องบอกว่า ขอบคุณมากค่ะที่ให้ความสนใจในประเด็นเหล่านี้ เรื่องการเก็บน้ำมันมีหลักการอยู่แล้ว แต่บางทีอ่านแค่หัวข้อข่าวแบบ This park helps sinking city หรือ Tackle climate change throughs one architecture แล้วสงสัยว่ามันจะเป็นไปได้เหรอ สื่อเขียนแบบนั้นเพราะเขาอยากให้คนเข้าไปอ่านเนื้อหาข้างใน พอเข้าไปอ่านก็จะเห็นข้อมูลว่าเราไม่ได้อ้างเกินจริงว่ากำลังช่วย Climate Change แต่สวนก็มีข้อจำกัดของมัน ทุกบทความเขียนไว้หมดนะว่าสวนนี้รับน้ำได้แค่ล้านแกลลอน แต่ถ้าเราไม่ออกแบบแบบนี้ มันก็เป็นแค่สวนที่เก็บน้ำได้ตามพื้นที่ แต่เราออกแบบให้เอียงเพื่อเก็บน้ำทุกหยด เราเอาถังเก็บน้ำฝนซ้อนไว้ใต้ตึก เอาการไหลของการเอียงมาทำ wetland กรองน้ำได้ด้วย แล้วโครงการนี้เราก็ปลูกต้นไม้พื้นถิ่นห้าพันต้นกลางกรุงเทพฯ พบนกกว่าสามสิบชนิดในสวน ก็ถือว่าเยอะนะ

ในงาน Movin’On ที่แคนาดา มีคนเดินเข้ามาชมสิ่งที่คุณทำเยอะมาก พวกเขาบอกอะไรคุณ

เขามาชื่นชม ให้กำลังใจ เรื่องการออกแบบสวนก็ส่วนหนึ่ง การเป็นผู้หญิงเอเชียก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่คือเขาชอบตรง สวนนี้ไม่ได้รอผู้กำหนดนโยบายหรือผู้ว่าฯ สั่งการลงมา คนตัวเล็กๆ ลงมือทำได้เอง ถึงอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาก็ลงมือแก้ปัญหา Climante Changeได้ สิ่งนี้น่าจะโดนใจคนมากที่สุด ก็ดีใจค่ะ

คำพูดเหล่านี้มีความหมายกับคุณยังไง

ในมุมของคนทำ เราผลักดันเต็มที่จนมันเกิด พอเกิดแล้วไม่มีใครพูดถึง เราก็ผลักดันไปเรื่อยๆ แต่คนไทยก็แทบไม่รู้จักเลย ทำไมสวนเอียง สวนอะไรช่วยน้ำท่วมเมือง เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า มันดีจริงหรือเปล่า หรือมันก็เป็นแค่สวนสาธารณะอีกแห่งหนึ่ง แต่พอได้ยินฟีดแบ็กจากชาวต่างชาติก็รู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว ได้กำลังใจ มั่นใจขึ้น จากที่เคยรู้สึกว่าโดดเดี่ยว งานนี้ทำให้เห็นว่ามีคนพร้อมให้โอกาสอีกตั้งเยอะ แค่เรายังไม่ได้เจอกันเท่านั้นเอง อย่างงานนี้เรารู้ว่ามิชลินมียางรถยนต์เก่าเหลือเยอะ เราถามเขาว่า ขอมาทำพื้นได้ไหม เขาบอกเอาไปเลย ปัญหาทุกอย่างมันมีทางออกนะ พอได้มาอยู่ในมวลแบบนี้แล้วก็คงดีถ้าอีกสามสี่ปีข้างหน้าเราจะได้กลับมาเล่างานที่เราทำเรื่องพื้นที่สีเขียวในเมืองอีก

กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกนักสร้างสวนที่ติดอันดับนิตยสาร TIME และพูด TED Talk ที่สหรัฐฯ

วันนี้คุณยังอยากเป็น Great Architect อยู่ไหม

ไม่แล้วค่ะ ความรู้สึกนั้นมันหายไปตอนทำศิลปะบำบัด รู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต เห็น Great ใช้ชีวิตแล้วก็สงสัยทำไมทำงานหนักจัง ไม่มีชีวิตด้านอื่นเลยเหรอ เรายังอยากทำงานให้ดีเหมือนเดิม อยากใช้ชีวิต อยากทำงานศิลปะบำบัด แต่แค่รู้สึกว่าไม่ต้องเป็น Great ก็ได้ ความอยากเป็น Great นี่มันทุกข์มากเลย เพราะจะเหนื่อยกับทุกอย่างเพื่ออย่างเดียว ใช้ชีวิตแบบเราดีกว่า เราอยากมีความสุขกับตัวเองแบบที่เราเป็น

คุณไม่แสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ แล้วหรือ

ส่วนนั้นก็ยังมีอยู่ มันเป็นแพสชัน แต่การทำงานของเราไม่ได้มีแรงขับจากความอยากเป็น Great แรงขับของเราคือ อยากทำงานที่ดี อยากให้คนเห็นว่าเมืองไทยก็ทำได้ มีเงินดูแลทีมงาน ฝึกคนรุ่นใหม่ให้เก่ง สนุกกับการคิดว่ามันเป็นไปได้มากกว่านี้ไหม สวนสาธารณะเป็นโอ่งเก็บน้ำให้เมืองได้ไหม ตึกที่ตั้งอยู่กลางสวน ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของสวนได้ไหม เป็นการนิยามพื้นที่สีเขียวที่กว้างกว่าที่คนเข้าใจ

ทุกวันนี้คุณทำงานประเภทไหน

เราชอบทำพื้นที่สาธารณะ งานที่ไม่ได้ใช้คนเดียว แต่มีคนหลากหลายมาใช้ แล้วก็ไม่ได้ตอบโจทย์แค่ตัวพื้นที่นั้น แต่ยังช่วยเมือง หรือช่วยอะไรให้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่ทำพื้นที่สีเขียวไว้ดู วิ่ง หรือตีแบด แต่ยังช่วยแก้ปัญหาของเมือง ช่วยแก้ฝุ่น PM2.5 เป็นความคุ้มค่าในแง่นิเวศบริการ (Landscape Ecological service) ใช้ธรรมชาติให้คุ้มค่ากว่าเป็นแค่วัตถุของมนุษย์ เราอยากทำสวนสาธารณะที่เข้ากับบริบทของเมือง หรือเอาโครงสร้างที่ทิ้งร้างกลับมาใช้ประโยชน์ มันท้าทายกว่าทำบนพื้นที่เปล่าๆ

ทำไมเราถึงไม่มีพื้นที่สีเขียวในเมืองมากเท่าประเทศอื่นๆ

หนึ่ง เราไม่ได้คิดว่ามันจำเป็น แต่จริงๆ แล้วมันจำเป็น เรามาจากภาคเกษตรเลยให้ค่ากับพื้นที่สีเขียวในเมืองน้อย แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว พื้นที่สีเขียวในเมืองตอบโจทย์มิติของสุขภาพ อาหาร และเมือง แต่เราไม่ได้มองมิติเหล่านี้เลย สอง มีแค่เสียงของคนที่ต้องการก็ยังไม่พอ เราต้องการผู้นำที่ให้คุณค่ากับสิ่งนี้ ต้องการกฎหมายช่วย

จากงานแรกถึงงานปัจจุบัน มุมมองที่มีต่อพื้นที่สีเขียวของคุณเปลี่ยนไปไหม

ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่เรียกว่ารสจัดขึ้นดีกว่า เราคิดว่าทำยังไงให้มันทำงานได้มากกว่าเดิม เช่น มีน้ำไหลตรงผนังที่จอดรถ เราใช้ผนังนั้นกรองน้ำได้ไหม หรือเราเอาพื้นที่วางคอยล์ร้อนมาทำสวนได้ไหม สวนดาดฟ้าก็เอามาทำเป็นนาขั้นบันได หรือใช้สวนเป็นที่เก็บน้ำ

กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกนักสร้างสวนที่ติดอันดับนิตยสาร TIME และพูด TED Talk ที่สหรัฐฯ

คุณค่าของอาชีพภูมิสถาปนิกคืออะไร

ทำให้สถานที่ดีขึ้น แต่ถ้าดีขึ้นสำหรับคนอย่างเดียวถือว่าไม่พอนะ อาชีพนี้สร้างสมดุลย์ให้เมือง สร้าง Second Nature ให้มนุษย์ที่ต้องการธรรมชาติ ถึงจะเป็น Fake Nature แต่เราก็ต้องสร้างให้ถูกนะ ไม่งั้นจะเป็น Fake over fake ที่เน้นสวยอย่างเดียว แต่ใช้วิธีไปล้อมต้นไม้เส้นผ่านศูนย์กลางสิบนิ้วมาจากป่า ถึงเราจะมีหน้าที่สร้างธรรมชาติขึ้นมาใหม่ แต่เราก็ไม่ควรไปทำลายธรรมชาติที่มีอยู่ เราไม่ต้องล้อมต้นไม้ขนาดใหญ่มาก็ได้ เราพูดให้เจ้าของโครงการเข้าใจได้ไหมว่า ไม่ต้องสวยตั้งแต่วันแรกก็ได้ วันแรกแค่สวยกำลังดี เรามีหน้าที่ทำให้มันดี และเรามีบทบาทที่มากกว่าหน้าที่ ที่จะสร้างธรรมชาติให้เมืองให้ดีขึ้นอีก

บอกเจ้าของโครงการว่ายังไง ให้เขายอมรออีก 2 ปี ถึงจะเห็นมันสวย

ภูมิสถาปัตย์ไม่เหมือนงานสถาปัตย์ที่สวยตั้งแต่วันแรก งานภูมิสถาปัตย์เป็นเรื่องของศิลปะที่มากับเวลา ยิ่งแก่ยิ่งสวย ต้นไม้ยิ่งโตยิ่งสวย ถ้าคุณเร่งให้สวยตั้งแต่วันแรก คุณจะได้คนแก่มา เขาจะสวยได้เท่านั้นแหละ ไม่สวยไปกว่านั้นอีกแล้ว เพราะเขาปรับตัวเองให้โตกว่านั้นไม่ได้แล้ว แถมยังไปลดพื้นที่สีเขียวที่อื่นอีก

ดีซะอีกถ้าคุณไปบอกลูกบ้านคุณหรือคนที่มาซื้อโครงการคุณว่า ต้นไม้ที่นี่แข็งแรงมากนะ มีระบบรากสมบูรณ์ เพราะไม่ได้ไปตัดรากเขามา คนเขาก็เข้าใจนะ คนยุคนี้ให้ค่ากับตรงนี้มากขึ้น ถ้าเลือกได้เราพยายามใช้ไม้ที่มาจากแปลงเพาะชำ เส้นผ่านศูนย์กลางสองถึงสามนิ้ว อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ก็ถูกบ่นว่าทำไมถึงร้อน เราก็บอกให้ใจเย็นๆ เราต้องการอะไรที่ยั่งยืน เราไม่ต้องการอะไรที่แบบ อีกสิบปีข้างหน้าต้องมาเปลี่ยนต้นไม้ใหม่เพราะต้นไม้ตาย ถ้าเราล้อมมามันไม่ได้แข็งแรงนะ บางต้นตายปีที่ห้า บางต้นปีที่หกก็ไม่โตแล้ว แต่อุทยานจะสวยไปเรื่อยๆ จนอีกร้อยปีข้างหน้า เราไม่ได้ทำให้มันสวยอย่างเดียว แต่มีหน้าที่สร้างคุณค่าให้มันด้วย เป็นอาชีพที่ดีมากเลย

สำหรับคุณ งานที่ดีคืออะไร

งานที่ตอบโจทย์มากกว่าการตอบเดิมเดิม สวนสาธาณะฉลองจุฬาฯ 100 ปี เฮ้ย มันจะทำแค่นั้นได้ไง ภูมิสถาปัตย์ต้องตอบโจทย์มากกว่านั้น มากกว่าที่คนต้องการสิ ฟังก์ชันของภูมิสถาปัตย์ต้องไม่ต้องโจทย์คนอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นก็จะได้แค่สวนที่สวยแบบเดิมๆ เท่านั้นเอง

กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกนักสร้างสวนที่ติดอันดับนิตยสาร TIME และพูด TED Talk ที่สหรัฐฯ

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล