7 กุมภาพันธ์ 2019
16 K

ซอฟแวร์-กรกมล ลีลาวัชรกุล คือ นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาเอกวารสารสนเทศและสื่อใหม่ วัย 23 ปี แอดมินและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ KORSERIES (คอซีรีส์) เว็บไซต์อัพเดตข่าวสารวงการบันเทิงเกาหลีที่มีผู้อ่านเดือนละกว่า 2 ล้านครั้ง

มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ 1.52 ล้านคน และในเพจเฟซบุ๊ก 6 แสนคน

KORSERIES, คอซีรีส์

แม้จะมีทีมงานไม่ประจำแวะเวียนมาช่วยอยู่เรื่อยๆ ตลอดช่วงที่ซอฟมีเรียน แต่โดยหลักแล้วซอฟบริหารและจัดการเว็บไซต์ทั้งเว็บนี้ด้วยตัวคนเดียว

เรารู้จักซอฟและ Korseries ครั้งแรกที่งานแถลงข่าวละครชุดของ Netflix เรื่อง Kingdom เพราะเป็นสื่อมวลชนไทยเพียงเจ้าเดียวที่ทีมงานเกาหลีซึ่งขึ้นชื่อว่าเข้มงวดสุดๆ เลือกให้ Korseries สัมภาษณ์นักแสดงนำพิเศษกว่าใคร และรู้จักซอฟเพิ่มขึ้น เมื่อครั้งยืนส่งเสียงเชียร์ปนบอกรักลีแจฮุน (พระเอก Architecture 101 (2012) และ Signal (2016)) ด้วยกันในงานพรมแดงเปิดตัวละครซึ่งเขามาเป็นแขกรับเชิญ

KORSERIES, คอซีรีส์

จากที่เคยคิดว่าตัวเองแม่นซีรีส์เกาหลีเพราะติดตามดูตั้งแต่เหล่าอปป้ายังฮิตทำผมทรงตั้งๆ หรือเรนเล่นละครเรื่องแรก และกงยูยังไม่เฉิดฉายอยู่เป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของภาคพื้นเอเชียอย่างวันนี้ เรารู้สึกตัวเล็กลงทุกทีที่ได้ยินชื่อคนเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่เกี่ยวข้องกับละครสักเรื่องหนึ่ง ถึงกระนั้นซอฟก็ไม่เคยแสดงทีท่าเบื่อหน่ายเมื่อต้องอธิบายปูพื้นฐานให้เพื่อนใหม่คนนี้แต่อย่างไร ไม่ต่างจากสิ่งที่ซอฟทำกับเว็บไซต์และผู้อ่านของเธอ ที่แม้จะเป็นเว็บที่เน้นข้อมูลข่าวสารแต่เธอไม่ยอมปล่อยให้ผู้อ่านโดดเดี่ยว

นับกันจริงๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของความชอบเล่าเรื่องซีรีส์ของซอฟมาจาก การเขียนแนะนำซีรีส์ที่มุมเล็กๆ บนกระดานหน้าชั้นเรียนห้องมัธยมศึกษาปีที่ 4 จนเพื่อนในชั้นเรียนดูตามกัน ก่อนจะย้ายไปเขียนแนะนำในทวิตเตอร์ และขยับขยายพื้นที่ไปเพจเฟซบุ๊ก ไปจนถึงจริงจังเป็นเว็บไซต์ในเวลาต่อมา

ซอฟทำได้อย่างไร และเธอคิดอะไรอยู่ มาฟังกัน

KORSERIES, คอซีรีส์

Episode 1

อยากเป็นหมอ

ก่อนจะเป็นแอดมินเพจคอซีรีส์อย่างทุกวันนี้ ซอฟผู้รู้ตัวว่าอยากเรียนนิเทศศาสตร์มาโดยตลอด แต่ไม่อยากทิ้งความรู้สายวิทย์ฯ ที่เรียนมา บวกกับมีความคิดฝันอยากจะเป็นหมออย่างซีรีส์เกาหลีที่ชอบดู

ซอฟใช้เวลาเพียง 1 ภาคเรียนที่คณะสหเวชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นพบตัวเองว่างานในห้องแล็บอาจจะไม่ใช่ตัวตน จึงตัดสินใจสอบเข้าคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จนกระทั้งวันที่เพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ‘คอซีรีส์’ ของเธอเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีรายการโทรทัศน์เข้ามาติดต่อถามความเห็นที่มีต่อละครเกาหลี เริ่มมีโอกาสใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเรียนในชั้นปีต่อๆ มา

“แต่ละวันจะมีคำถามเข้ามาในกล่องข้อความซ้ำๆ ถึงพล็อตเรื่อง ดารา การทำงานเบื้องหลัง เราก็เริ่มอยากทำเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลเหล่านี้ให้คนเข้ามาอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ ยังจำได้ดีถึงวันที่ผ่าตัดหมาในชั้นเรียน อาจารย์ที่ติดตามเราอยู่ก็เดินเข้ามาใกล้ๆ แล้วบอกว่า ปีหน้าเราอาจจะใช้เวลาว่างที่มีทำเพจแบบนี้ไม่ได้แล้วนะ” จากที่คิดว่าทำสิ่งที่ชอบได้ดีทั้งสองทาง ซอฟแน่ใจแล้วอะไรคือสิ่งที่เธอต้องการในชีวิต

Episode 2

การเดิมพันอีกครั้ง และอีกครั้ง

เมื่อตัดสินใจไม่เรียนต่อชั้นปีที่ 3 เพื่อเตรียมสอบเข้านิเทศศาสตร์อย่างตั้งใจ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เว็บไซต์  KORSERIES ถือกำเนิดขึ้น

มาถึงตรงนี้คุณคงกำลังตัดสินซอฟอยู่ในใจแน่ๆ ว่าเด็กรุ่นใหม่อย่างพวกเราอดทนไม่มากพอ หรือให้ค่ากับการค้นหาตัวเองจนลืมว่าโลกหมุนไปถึงไหนต่อถึงไหนแล้ว

ใช่ พวกเราให้ค่ากับการค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบทำ และทำมันได้ดี จนรู้ว่าเราจะได้ดีจากมัน

เราถามซอฟว่า อะไรทำให้เธอกล้าเดิมพันกับการตัดสินใจครั้งนี้ แม้จะรู้ดีว่าจะต้องเจอสายตาไม่เข้าใจของคนรอบตัว

“ในวันที่บอกพ่อว่าจะขอย้ายไปเรียนนิเทศศาสตร์ ไม่เพียงอนุญาต พ่อยังบอกว่ารู้มาตั้งนานแล้วว่าเราทำอะไรได้ดี เพียงรอให้เรายอมพูดออกมาเท่านั้น เมื่อคนที่รักมากที่สุดยอมรับและเคารพการตัดสินใจ สิ่งที่ทำได้ก็มีแค่ทำอย่างเต็มที่และไปให้สุดทาง เราเองก็อยากเรียนรู้งานในสายงานนี้ เท่าๆ กับที่อยากมีเวลาทุ่มเทให้กับสิ่งที่สร้างมากับมือ” ซอฟเล่า

Episode 3

ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนมีเหตุและผลของมัน

เดิมที เราตั้งใจจะไม่พูดถึงคำว่าแพสชันมากเกินไปจนคุณรู้สึกหมั่นไส้ แต่เรื่องของซอฟบอกเราว่าแพสชันพาเราไปต่อจุดจนเจอสิ่งที่เกินขีดความสามารถของตัวเองแค่ไหน

“สำหรับคนอื่นๆ ชีวิตเขาอาจจะเรียงลำดับ A B C ขณะที่ของเราเป็น A C B ถ้าเราเข้านิเทศฯ ตั้งแต่แรก เราอาจจะไม่ได้มีแรงจูงใจหรือแบ่งเวลามาทำจนเป็นเว็บขนาดนี้ก็ได้ เราอาจจะลุยกิจกรรมจริงจังไปเลยก็ได้ เราแค่รู้สึกว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุและผลของมัน”

KORSERIES, คอซีรีส์ KORSERIES, คอซีรีส์

Episode 4

ที่มาของชื่อ ‘ซอฟแวร์’

“ซอฟแวร์เป็นชื่อที่พ่อตั้งให้ตั้งแต่เกิด เพราะคุณพ่อเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่เราไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับการทำเว็บไซต์ใดๆ เลย เราใช้เวลาช่วงที่หยุดพักจากการเรียนต่อเพื่อเตรียมตัวสอบเข้านิเทศ ทุกอย่างเป็นการเริ่มเรียนรู้ใหม่หมด ลองผิดลองถูก ตั้งแต่ซื้อพื้นที่เซอร์เวอร์ ปัญหาเว็บล่มเพราะคนจำนวนมากเข้าเว็บพร้อมกัน มีอะไรหลายอย่างที่ได้เรียนรู้”

นอกไปจากความรู้เชิงเทคนิค ซอฟบอกว่า KORSERIES ทำให้เธอค้นพบแพสชันการถ่ายทอดเรื่องราว

Episode 5

ผู้อ่านที่รัก

ท่ามกลางเว็บไซต์ที่รายข่าวสารวงการเกาหลีที่มีอยู่มากมาย

ความตั้งใจของซอฟ เธอไม่ได้ต้องการเป็นแค่คนแปลข่าวจากสำนักข่าวเกาหลี แต่อยากเล่าเรื่องราวชวนรู้ที่อยู่เหนือไปจากข่าวนั้นๆ “เราคิดถึงหน้าคนที่เข้ามาอ่านเสมอ อยากให้ผู้อ่านเข้าใจและตามเนื้อหาทันแม้พวกเราจะไม่เคยรู้เรื่องราวมาก่อน เช่น ใต้บทความที่เล่าข่าวนักแสดงคนนั้นจะมีรายละเอียดเบื้องหลังหรือเส้นทางความเป็นมาเพื่อให้คนอ่านตามทัน”

Episode 6

ยืดหยุ่น

ซอฟเล่าว่า กระบวนการทำงานสร้างสรรค์ซีรีส์เกาหลีมียุคใหม่นี้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

จากเดิมที่นิยมถ่ายทำไปพร้อมๆ กับออกอากาศ แต่กระแสจากเรื่อง Descendants of the Sun ทำให้ผู้ผลิตเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการถ่ายทำให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อการถ่ายทำที่ไม่เร่งรัดแข่งกับเวลามากเกิน ยังทำให้ทีมงานมีเวลาพิถีพิถันกับการตัดต่อเรื่องราว แต่มีข้อเสียก็คือ หากกระแสตอบรับเกี่ยวกับละครไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจ ทีมงานก็อาจจะกลับไปถ่ายทำใหม่ไม่ทัน

ขณะที่รูปแบบการทำงานแบบเดิม หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างถ่ายทำก็จะส่งผลต่อเรื่องราวทั้งหมด แต่ข้อดีคือปรับบทให้ทันกับกระแสตอบรับของผู้ชมได้

KORSERIES, คอซีรีส์ KORSERIES, คอซีรีส์

Episode 7

วิธีเติมอรรถรส

“การติดตามเรื่องราวของซีรีส์ไปพร้อมๆ กับรู้เรื่องราวเบื้องหลังการสร้างละคร เพิ่มอรรสรสในการรับชมซีรีส์เกาหลีมากแค่ไหน” เราถาม

“แน่นอนว่าทั้งอินตามและคาดหวัง เราติดตามตั้งแต่สถานีโทรทัศน์ประกาศพล็อตเรื่องออกมา ลองเดาว่าใครน่าจะเหมาะสมกับบทบาทนั้น แต่ก็คงเดาไม่ถูกหรอกเพราะวงการเขาใหญ่มากๆ จนกระทั้งวันที่ประกาศนักแสดง เราก็จะพอจับทางได้ว่าเรื่องจะปังแค่ไหน ผู้กำกับและคนเขียนบทเคยทำหนังหรือละครแนวไหนหรือเรื่องอะไรมาก่อน จนถึงวันที่ออกอากาศก็รู้สึกว่านี่แหละลายเซ็นของเขา” ซอฟรีบตอบ

แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเสมอไป ซอฟบอกว่าปีที่ผ่านมามีซีรีส์จำนวนไม่น้อยที่ไม่สนุกอย่างที่คิด แต่นั่นก็ทำให้เธอรู้สึกมีปฏิสัมพันธ์กับซีรีส์เรื่องนั้น ไม่ใช่แค่ดูแล้วจบไป

Episode 8

คำแนะนำสำหรับผู้มีเวลาจำกัด

“เราไม่อยากแนะนำให้ใครเลือกดูจากหน้าปกหนัง” ซอฟรีบบอก

รายชื่อนักแสดงและพล็อตเรื่องอาจจะสำคัญ แต่หากอยากลองเปิดใจดูละครน้ำดีเราและซอฟขอแนะนำให้คุณเลือกเสียเวลาจากสถานีโทรทัศน์ที่อำนวยการสร้าง โดยเฉพาะ TvN ที่มาแรงแซงทุกโค้ง วัดจากเรตติ้งและกระแสสังคมที่พูดถึงในทางที่ดี

“ขณะที่ช่องสถานียักษ์ใหญ่อย่าง SBS MBC KBS มีการดูแลเข้มงวด มีกรอบมากไป ช่องเคเบิลอย่าง TvN นั้นเปิดกว้างและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ จากการตั้งโจทย์ว่าทำเรื่องอย่างไรให้น่าสนใจ ก่อนจะติดต่อนักแสดงที่เหมาะกับบทบาทนั้นจริงๆ ไม่ใช่นักแสดงที่กำลังโด่งดังเป็นกระแส เราจึงจะเห็นการกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งของนักแสดงชื่อดังในปัจจุบัน ตัวอย่างซีรีส์ตระกูล Reply มันเต็มไปด้วยความละมุนแม้จะไม่ได้อยู่วัยเดียวกันหรือเกิดทันเรื่องราวในยุคนั้น แต่เราก็ผูกพันกับตัวทุกละครไม่ใช่แค่พระเอกนางเอก ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในซีรีส์เกาหลีเรื่องอื่นๆ” ซอฟเล่าด้วยตาเป็นประกาย

Episode 9

เวลาเปิดทำการ 00:00 – 03:00

ซอฟใช้เวลาช่วงเที่ยงคืนถึงตี 3 ของทุกวันดูซีรีส์เกาหลี

KORSERIES, คอซีรีส์ KORSERIES, คอซีรีส์

Episode 10

Soft Power

หลังจากแดจังกึมทำให้คนทั้งโลกอยากกินกิมจิ มาสู่การที่วง BTS ขึ้นปก TIME เดินสายร่วมรายการวาไรตี้ดังๆ ทั่วอเมริกา และการที่ Blackpink และ Hyukoh ได้รับเชิญให้แสดงในงานเทศกาลดนตรี Coachella ช่างสวนทางกระแสที่ใครต่อใครบอกว่าวงการบันเทิงเกาหลีเข้าสู่ขาลง

เราคงไปห้ามความคิดใครไม่ได้ เช่นเดียวกับซอฟที่มองว่าวัฒนธรรมเกาหลีไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป “เกาหลีไม่ได้มีแค่อปป้าบ้าผู้ชาย แต่มีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม หรือแม้แต่กระบวนการทำงานอย่างมืออาชีพ กว่าจะเป็นละครสักเรื่องหนึ่งผ่านขั้นตอนและการทำงานอย่างหนักมากมาย”

Episode 11

ไอดอลนักแสดงและการได้รับการยอมรับ

“อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในวงการซีรีส์ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา” เราถาม

“คนหันไปสนใจไอดอลกันมากขึ้น ดังนั้น เพื่อดึงให้คนกลับมาดูละคร และดึงดูดผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ เราจะเห็นนักร้องไอดอลมาแสดงละครกันมาขึ้น ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแผนงานของผู้จัดและสถานีโทรทัศน์” ซอฟเล่าข้อสังเกต ซึ่งมองเผินๆ เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเพิ่มโอกาสและชื่อเสียงให้ไอดอลคนนั้น แต่เธอกลับบอกว่า น้อยคนจะรู้ว่าการมารับงานแสดงของเหล่าไอดอลทำให้เขาและเธอต้องเจอความท้าทายและแรงกดดันจากเพื่อนร่วมวงการและชาวเน็ตมากแค่ไหน

“เมื่อไอดอลผู้มีฐานแฟนคลับที่รักและคอยสนับสนุนผลงาน อยู่ๆ ก็ได้รับบทบาทสำคัญ ในเกาหลีเขามองว่าเป็นการข้ามหน้าข้ามตานักแสดงทั่วไปที่ใช้ความสามารถค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมา แต่นั่นก็คุ้มหากไอดอลคนนั้นได้รับการยอมรับในฐานะ ‘ไอดอลนักแสดง’ เช่น อิมชีวาน วง ZE:A และโดคยองซู วง EXO” ซอฟยิ้ม และทันทีที่เอ่ยชื่อนักแสดงหนุ่มทั้งสอง เราทั้งคู่ก็เผลอนอกเรื่องออกทะเลไปไกล

Episode 12

การปรับตัวของซีรีส์เกาหลีในช่วงหลัง

นอกจากเรื่องนักแสดงแล้ว การปรับตัวของซีรีส์เกาหลีในช่วงหลัง เห็นชัดเจนจากแนวของละครที่รวมเรื่องหลายๆ แนวเข้าด้วยกัน ต่างจากเมื่อก่อนที่ละครสืบสวนก็จะตื่นเต้นลุ้นระทึกอย่างเดียว ไม่มีเรื่องความรักหรือใส่ความดราม่าลงไป ส่วนหนึ่งเพื่อดึงกลุ่มคนดูที่กว้างขึ้น

ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร เกาหลีก็ยังคงเป็นชาติที่ดูซีรีส์อย่างขมักเขม้น

“ทุกวันนี้เรายังต้องรายงานข่าวประกาศนักแสดงหรือเปิดกล้องละครอยู่เลย จะเห็นได้จาก Time Slot ที่เยอะมากจากการแบ่งย่อยวันและเวลา โดยละครที่คนไทยรู้จักเป็นเพียงละครที่อยู่ในช่วง Prime Time ยังมีละครแม่บ้านที่ฉายอีกมากมายไปตลอดทั้งวัน ซึ่งถ้าเป็นละครแม่บ้านอาจจะไม่ค่อยถูกใจคอละครบ้านเราเท่าไหร่ เพราะยืดเยื้อหรือน้ำเน่าเกินไป” ซอฟเล่า ก่อนที่เราทั้งคู่จะพากันนอกเรื่อง ชวนเม้าถึงซีรีส์เรื่อง SKY Castle ที่เพิ่งออกอากาศตอนจบไป

KORSERIES, คอซีรีส์

Episode 13

ซีรีส์เกาหลีและชาวเน็ต

วิธีการได้มาซึ่งเรื่องเล่าที่พิเศษกว่าเว็บข่าวสารซีรีส์และบันเทิงเกาหลีเจ้าอื่นของซอฟ ไม่ได้มาจากการอ่านข่าวให้มากเข้าไว้เท่านั้น แต่เธอดูไปถึงกระแสสังคมจากการแสดงความคิดเห็น เพื่อพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมของคนในสังคมที่มีต่อเรื่องนั้นๆ

“อย่างที่เรารู้กันว่าชาวเน็ตเกาหลีขึ้นชื่อเรื่องความโหด ทั้งจากภาษาที่ใช้ ทัศนคติที่ออกมาผ่านคำที่ใช้ บางทีเราก็สงสัยว่าเขาทำงานเครียดขนาดนั้นเลยหรอ ต่อให้นักแสดงคนนั้นแสดงดีแค่ไหน ชาวเน็ตก็จะไปขุดเรื่องเก่าเขามาพูดเสียๆ หายๆ ซึ่งเราไม่ชอบเลย” ซอฟเล่า

โชคดีที่ชาวเน็ตบ้านเราน่ารัก

Episode 14

รุนแรงหรือไม่ ทำเกินไปหรือเปล่า

ซอฟบอกว่าเธอเป็นคนคิดเยอะ กว่าจะเป็นบทความสัก 1 บทความ เธอจะอ่านทบทวนข้อเขียนของตัวเองอีกหลายรอบ ทั้งคิดภาพตามว่าหากผู้อ่านเป็นคนที่ไม่เคยรู้เรื่องราวมาก่อน อ่านบทความนี้แล้วจะเข้าใจเรื่องราวมากน้อยแค่ไหน ไปจนถึงคำที่ใช้รุนแรงเกินไปหรือกระทบถึงใครโดยไม่ตั้งใจหรือไม่

“ถึงจะเป็นการรายงานข่าว เราก็อยากให้เขาเข้ามาอ่านเพราะบทความนั้นดี การที่คนตามเราเยอะ ก็เพราะเราจริงใจกับผู้ที่ติดตามเว็บไซต์เราจริงๆ รายงานข่าวสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้อ่านคิดแยกแยะกันเองโดยไม่ใส่ความคิดส่วนตัวลงไปในข่าว โดยเฉพาะการไม่หยิบเรื่องดราม่ามาขายเพื่อหวังยอดผู้ชม” ซอฟเล่าเหตุผลที่ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงความจริงใจเมื่อเข้ามาในเว็บไซต์ KORSERIES

Episode 15

พัฒนาการ

ซอฟเล่าว่า สิ่งที่ได้จากการเรียนนิเทศศาสตร์ช่วยให้บทความของเธอดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ “ก่อนหน้านี้เราเขียนข่าวด้วยภาษาปานกลางไม่ได้สละสวยงาม พอได้เรียนวิชาที่ทำให้ฝึกเขียนเยอะก็ทำให้เราคิดก่อนเขียนมากขึ้น เมื่อก่อนเราแค่เกริ่นเรื่องนิดๆ แล้วเข้าเรื่องเลย แต่ตอนนี้มาอ่านจะเห็นว่ามีการเท้าความ มีพัฒนาการมากขึ้น”

Episode 16

ตอนจบที่ยังไม่จบ

จากเด็กที่ติดตามซีรีส์ขนาดที่ไม่ยอมพลาดการดูคลิปงานแถลงข่าวละครเกาหลี

วันหนึ่งเธอได้อยู่ ณ ตรงนั้น ทำหน้าที่สื่อมวลชนคนหนึ่ง มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้กำกับ คนเขียนบท และทีมนักแสดง “ครั้งหนึ่งได้พบคังดงวอนซึ่งเราชอบเขามากๆ แม้จะไม่ได้โด่งดังในไทย เลยได้มีโอกาสบอกเขาว่าชอบและติดตามเขามานานแค่ไหน”

ซอฟบอกว่าเธอก็เหมือนทุกคนที่มี Dream Lists ของตัวเอง ความรู้สึกของการได้ขีดฆ่ารายการที่เกิดขึ้นจริงซึ่งเป็นผลมาจากการทำ Korseries ยิ่งทำให้เธออยากทำงานให้ดียิ่งขึ้น โดยอนาคตตั้งใจจะทำคอนเทนต์รูปแบบวิดีโอให้มากขึ้น รวมถึงอยากได้รับความไว้วางใจ เพื่อที่ติดต่อขอสัมภาษณ์นักแสดงและทีมงานคนไหนก็ทำได้เลย

“เท่าที่ได้รับโอกาสเข้าร่วมงานต่างๆ ก็เกินความคิดฝันมากแล้ว แต่เราก็ยังอยากจะพัฒนาต่อ แม้ Korseries จะเริ่มต้นจากความชอบซีรีส์เกาหลี แต่ต่อไปจะมีเนื้อหาที่หลากหลายขึ้น นั่นคือ มี KorIdol KorEvent KorMovie KorBeauty KorTravelซอฟเล่า ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยการเล่าความฝันต่อไปของเธอ อย่างการทำเว็บไซต์ Korseries เวอร์ชันภาษาอังกฤษด้วย “จริงๆ ก็มีเว็บข่าวเกาหลีที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว แต่การถ่ายทอดเรื่องราวที่ไม่เหมือนกันเราก็อยากท้าทายตัวเองดู ตอนนี้เรียนภาษาเกาหลีจริงจังขึ้น”

และโปรติดตามรอซีซันที่ 2 เร็วๆ นี้

KORSERIES, คอซีรีส์ KORSERIES, คอซีรีส์

ขอบคุณสถานที่

Studio Stinky
33 Space อาคาร B ประดิพัทธิ์ 17
www.facebook.com/stinkybkk
Tel: 094-998-6644

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล