‘Korakrit Arunanondchai’

เราเห็นชื่อศิลปินคลื่นลูกใหม่รายนี้เฉี่ยวไปโฉบมาอยู่ตลอดเวลา ในฐานะผู้ทำงานศิลปะในระดับนานาชาติหลากหลายประเภท ตั้งแต่จิตรกรรม ศิลปะจัดวาง ไปจนถึงวิดีโอเล่าเรื่อง ได้อย่างโดดเด่นจนน่าจับตามอง บ่อยเข้าถึงขั้นคุ้นเคยกว่าชื่อ กรกฤต อรุณานนท์ชัย ภาษาไทยเสียด้วยซ้ำ

เขาคือศิลปินหนุ่มผมยาว ผู้มักเอาเรือนร่างไปเปื้อนสีสันทำงานศิลปะเสมอ เจ้าของผลงานเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตและ Video Essay สุดล้ำ ทั้งในเชิงเทคนิค เนื้อหาที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองและตกผลึกทางความคิดมาอย่างดี และกลวิธีการเชื่อมโยงนานาประเด็นที่เขาสนใจเข้าไว้ด้วยกัน เป็นสื่อพาไปสำรวจเรื่องราวที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกันว่าเกี่ยวกันได้อย่างไร สมกับที่นิยามตัวเองเป็น ‘Storyteller’

ผลงานที่เปิดโอกาสให้กรกฤตได้ตระเวนอวดโฉมผลงานตามเทศกาลศิลปะ Biennial ต่าง ๆ เช่น Venice Biennial และ Whitney Biennial ไปจนถึงตามหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ประจำหัวเมืองดัง ๆ ทั่วโลก คือเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตที่ MoMA P.S.1 พิพิธภัณฑ์โมเดิร์นอาร์ตชื่อดังในนิวยอร์ก และคาแรกเตอร์ศิลปินผ้ายีนส์ที่เขาจำลองขึ้นมาใช้ในการแสดงหลายครั้งจนเป็นลายเซ็น แต่สำหรับเราคนไทย ซีรีส์ In a Room With People with Funny Names’ ที่มีมาแล้วถึง 5 ครั้ง และโชว์ซีรีส์ ‘Ghost:2561’ อาจเป็นสะพานเชื่อมโยงให้เราคุ้นหูคุ้นตาเขาขึ้นมาหน่อย

ไม่ขอขี่ม้าเลียบค่ายขโมยเวลาอันมีค่าของคุณผู้อ่านไปมากกว่านี้ ขอชวนไปทำความรู้จักเส้นทางชีวิตและตัวตนของกรกฤต ก่อน ‘Song for Living’ ผลงานชิ้นล่าสุดของเขาจะจัดแสดงที่ Bangkok CityCity Gallery ในเดือนมีนาคมนี้ 

บางกอกสู่นิวยอร์ก กรกฤต อรุณานนท์ชัย ศิลปินนักเล่าเรื่องผู้มี Video Essay เป็นอาวุธ

01 Storyteller Artist

กรกฤตนิยามตัวเองว่าเป็นนักเล่าเรื่อง (Storyteller)

เพราะหลังจากเดินทางบนนถนนสายศิลปะในระดับนานาชาติมาเกือบทศวรรษ วิถีทางของเขาเดินทางจากงานศิลปะแขนงแล้ว สู่แขนงเล่า ก่อนมาจบที่การทำงานผ่านเรื่องเล่าในฐานะศิลปินนักเล่าเรื่อง

“ผมเคยอ่านหนังสือ Sapien Yuval Noah Harari เขียนว่ามันมีจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ๆ ของมนุษยชาติทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกคือแต่ก่อนมนุษย์เป็น Loser Species เวลามีสัตว์ใหญ่ตายตัวหนึ่ง มนุษย​จะเป็นสัตว์เลเวลต่ำที่สุดที่ได้เข้ามากินต่อหลังจากสัตว์อื่น มันเลยเหลือแต่กระดูก ซึ่งในกระดูกมีไขสันหลังที่มีคุณค่าทางสารอาหารมาก สมองเราเลยพัฒนาการใหญ่ขึ้นมาเรื่อย ๆ อย่างที่สองคือควบคุมไฟได้ แล้วท้ายที่สุด จากการอยู่รอบ ๆ กองไฟด้วยกัน คนก็พัฒนาภาษาให้ซับซ้อนขึ้นถึงขั้นพูดถึงสิ่งไม่ได้อยู่ตรงนั้นหรือเรื่องที่ไม่มีจริงได้

“ผมเลยชอบการเล่าเรื่องตรงที่มันทำให้ผมเชื่อมต่อหลาย ๆ เลเยอร์ของความเป็นจริงที่ไม่เกี่ยวข้องกันได้ ในงานผม ผมพยายามเชื่อมต่อเรื่องส่วนตัวในชีวิตกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนรวม บางทีก็มีความคิดทางปรัชญามาด้วย เพราะผมรู้สึกว่ามนุษย์เราสร้างห้องหลาย ๆ ห้องในการใช้ชีวิต ผมเลยพยายามมองทุกอย่างเป็นเรื่องที่มีคนเล่า เรื่องที่เปลี่ยนแปลงและถูกดึงผ่านเวลา เสร็จแล้วค่อยมาดูว่าแต่ละเรื่องเชื่อมในฟอร์มเดียวกันได้ยังไง”

เขาอธิบายพร้อมยกตัวอย่างผลงานชิ้นแรกที่แนะนำให้โลกได้รู้จักในฐานะศิลปินผ้ายีนส์ เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยชื่อดังแห่งนิวยอร์ก MoMA P.S. 1

กรกฤตจำลองคาแรกเตอร์หนึ่งขึ้นมา เพื่อใช้เป็นบันไดพาผู้ชมย้อนกลับไปดูวาทกรรมศิลปะร่วมสมัยในไทย ซึ่งติดอยู่กับนิยามคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ตามที่รัฐกำหนด และได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธอย่างเข้มข้น ทว่าในรายการประกวดความสามารถชื่อดังกลับมีนักเต้นอะโกโก้มาแก้ผ้าทำ Body Paint เมื่อพุทธศาสนาคือ Conscious หลักในสังคม เขาจึงพยายามตีประเด็นให้แตกแล้วรีไซเคิลข้อมูลเพื่อหา Unconscious ของสังคมและนิยามดีเอ็นเอความเป็นไทย ก่อนแปรสภาพเป็นงานศิลปะ

บางกอกสู่นิวยอร์ก กรกฤต อรุณานนท์ชัย ศิลปินนักเล่าเรื่องผู้มี Video Essay เป็นอาวุธ
บางกอกสู่นิวยอร์ก กรกฤต อรุณานนท์ชัย ศิลปินนักเล่าเรื่องผู้มี Video Essay เป็นอาวุธ

02 Video Essay

คอนเทนต์เป็นของสาธารณะ ลอยฟุ้งเสรีอยู่กลางอากาศ แต่ทักษะการหยิบมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราว และเล่าอย่างมีศิลปะการนำเสนอผ่านรูปแบบต่าง ๆ ล้วนเป็นของแต่ละปัจเจกโดยแท้

ส่วนกรกฤต เขาไม่เพียงหลงใหลในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างบรรดาเรื่องเล่าประดามี พร้อมวิพากษ์อย่างถึงแก่น แต่ยังเลือก Video Essay เป็นอาวุธในการเล่าเรื่องอย่างคมคาย

“Video Essay คือการเอาฟุตเทจของสิ่งต่าง ๆ ทั้งข่าว สารคดี Performance Art หรือเป็นสิ่งที่ขโมยมาจากอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดที่เป็น Archive มาสร้างความเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เวลาเขียนเรียงความ นักเขียนจะเอาไอเดียหนึ่งมาลิงก์กับไอเดียหนึ่งด้วยความสัมพันธ์ที่คนอาจยังมองไม่เห็น หรือไม่ได้มีอยู่ตรงนั้น และคุณต้องไฮไลต์ความสัมพันธ์นั้น เช่นเดียวกัน การทำ Video Essay ผมก็ไฮไลต์ความสัมพันธ์ที่เห็นหรือสร้างขึ้นมาผ่านงานนี้ แล้วลากยาวให้มันพํฒนาผ่านการเปลี่ยนแปลงของเวลา 

“ผมหันมาทำวิดีโอเพราะรู้สึกว่าเป็นวิธีที่เอื้อให้เกิดไอเดียได้เร็วขึ้น กระบวนการการทำงานเปิดกว้างให้เราทำงานกับองค์ความคิดหลากหลาย ตั้งแต่เวลา ภาพ และเสียง ได้อย่างอิสระ ผมนั่งจัดการวัตถุดิบและตัดต่อทั้งหมดได้ผ่านคอมพิวเตอร์ จึงรู้สึกว่ามันตอบสนองสิ่งที่ต้องการจะสื่อได้มากกว่าการทำจิตรกรรม แถมการบริหารจัดการยังเอื้อต่อการ Collaboration มากกว่า แต่ก็ไม่ใช่ว่าทิ้งอย่างอื่นไปหมดนะ”

Collaboration ที่เขาว่าอาจไม่ใช่ภาพของการตัดสินใจจับมือกันสร้างโปรเจกต์ใหม่ระหว่างศิลปินข้ามแขนง ไม่ใช่ภาพการร่วมทุนระหว่างสองบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่เป็นการทำงานกับองค์ความรู้และความคิดอย่างไม่หยุดยั้ง เป็น Endless Collaboration โดยแท้ ยิ่งได้ ‘เรื่องเล่า’ และ ‘เวลา’ เป็นวัตถุดิบหลักในการทำวิดีโอเล่าเรื่อง กรกฤตก็ยิ่งเชื่อมโยงเหตุการณ์ส่วนตัวที่เกิดขึ้นกับเขา เข้ากับเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้อย่างไร้รอยต่อ และสร้างความต่อเนื่องผ่านลายเซ็นตัวเองจากการทำวิดีโอซีรีส์ขนาดยาวครั้งต่าง ๆ

บางกอกสู่นิวยอร์ก กรกฤต อรุณานนท์ชัย ศิลปินนักเล่าเรื่องผู้มี Video Essay เป็นอาวุธ

03 No History

จากผลงานชิ้นแจ้งเกิดที่ MoMa P.S. 1 กรกฤตตั้งใจทำงานเป็นซีรีส์ขนาดยาวต่อเนื่องมา ด้วยชื่อ ‘In a Room Filled with People with Funny Names’ พร้อมศิลปะจัดตั้งที่มาอวดโฉมให้คนไทยได้เห็นบ่อย ๆ

“ซีรีส์นี้เกี่ยวกับการเล่าเรื่อง ผมมองว่าในยุคที่พวกเราเกิดมา สังคมไทยถูกกรอบผ่านเรื่องเล่า การสร้างความเป็นไทยแบบชาตินิยม ที่เรียก ‘No History’ เพราะมันคล้ายกับประวัติศาสตร์ที่ไม่มีอยู่จริง พอเราเรียนไปเรื่อย ๆ โตขึ้นแล้วอยู่กับโลกความเป็นจริง ย้อนมองกลับไปถึงเห็นว่า ประวัติศาสตร์พวกนั้นมันคืออะไร เรามองมันเป็นเรื่องเล่าและเห็นวาระ หรือความเป็นวัตถุ (Materiality) ของเรื่องเหล่านี้อยู่”

วิดีโอชุดนี้เดินทางมาถึงตอนที่ 5 ‘No History in a Room Filled with People with Funny Names ’ ซึ่งแคปเจอร์เอาเหตุการณ์ครั้งสำคัญในช่วงปี 2019 เอาไว้อย่างครบถ้วน กรกฤตพาไปทำสำรวจค่ายทหารอเมริกาในยุคสงครามเย็นที่ถูกทิ้งร้างไปหลังจากถอนทัพกลับประเทศ บรรยากาศป่าเขาอันคลุมเครือ ที่เกิดเหตุทีมฟุตบอลเยาวชน ‘หมูป่า’ ติดถ้ำหลวง และความเชื่อเรื่องพญานาคของคนลุ่มน้ำโขง ผ่านตัวละครสมมติและเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตที่เขาจำลองขึ้น

“ในเหตุการณ์ถ้ำหลวงมีคนมาช่วยมากมาย ทั้งทหารไทย ทหารอเมริกา ทั้งมิชชันนารี ศาสนาคริสต์ พระ หมอผี หรือ Shaman ผมจึงมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนที่พูดแทนผู้มีอำนาจสูง (Higher Power) กับคนไร้อำนาจ หรือระหว่างผู้ดูแลกับผู้ได้รับการดูแล ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ผ้มีอำนาจต่าง ๆ พยายามเข้ามาเกี่ยวข้อง โอเค สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการช่วยทีมหมูป่า แต่สิ่งที่ผมสนใจคือการมองโครงสร้างของความสัมพันธ์ในอำนาจ และเปิดเผยตัวตนออกมา ในขณะที่ข่าวนี้กำลังอยู่ในสายตาของทุกคน กลุ่มคนต่าง ๆ ก็พยายามเป็นส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่องอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับอำนาจ ทั้งในระบบของมนุษย์และเหนือธรรมชาติ 

“มนุษย์มีแนวโน้มที่จะรวมตัวกันแล้วสร้างอำนาจขึ้น เพื่อความพยายามเป็นส่วนหนึ่งกับอะไรที่ใหญ่กว่าอยู่แล้ว แต่ท้ายที่สุด ก็คือมนุษย์กันเองนี่แหละที่สร้าง Higher Power ขึ้นมา หรือทำให้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งกับ Higher Power ด้วยการซัพพอร์ตเรื่องเล่านี้

“ส่วนถ้ำก็เหมือนกับความมืด เป็นพื้นที่คล้าย ๆ กับป่าในขอบชายแดนไทยยุคสงครามเวียดนาม สถานที่ที่คลุมเครือ ไม่มีความชัดแจ้ง ไม่มีการส่องสว่าง เหมือนกับหลายอย่างที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามเย็น เช่น คอมมิวนิสต์หนีเข้าป่า มันมีไอเดียหนึ่งในหนังสือ The Art of Not Being Governed ของ James C. Scott ที่เรียกพื้นที่ตั้งแต่ตอนใต้ของจีนลงมาถึงตอนเหนือของไทยว่า “Zomia” เป็นพื้นที่ที่การรังวัดและแบ่งเขตแดนแบบตะวันตกเข้าถึงช้า 

“มันอุปมาอุปไมยว่าในป่ามืด ในถ้ำอาจมีคนไร้สัญชาติเดินเข้าไปแล้วออกมาเป็นคนไทย หรือคอมมิวนิสต์เดินเข้าไปแล้วออกมาเป็นคนธรรมดา แต่ไม่ใช่ว่าป่าปรับแปลงคนหรือสิ่งที่ให้ความเป็นตัวตนของเขาได้ แต่สิ่งที่มันเปลี่ยนคือเรื่องราวที่ถูกเอามาบัญญัติตัวคนเอาเองต่างหาก เรื่องราวที่ถูกผูกเข้ากับผู้คนพวกนั้นด้วยระบบของชนกลุ่มใหญ่ที่เขาเป็นส่วนหนึ่ง รวมไปถึง Higher Power ของกลุ่มชนนั้น ๆ

“เหมือนกับความเชื่อเรื่องพญานาค ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์กลาง มีความมืด มีป่า พื้นที่ที่มีแสงน้อย มีความมืด มีความขุ่นของแม่นำ้โขง เป็นพื้นที่ที่สร้างเรื่องเล่าให้มีอำนาจและหลากหลาย โดยได้พลังงานมากจากความกลัว งานชิ้นนี้พยายามแสดงระบบ กระบวนการ และแรงผลักดันในการเล่าเรื่องทั้งหมดนี้”

เขาเผยเศษเสี้ยวของความสนุก

บางกอกสู่นิวยอร์ก กรกฤต อรุณานนท์ชัย ศิลปินนักเล่าเรื่องผู้มี Video Essay เป็นอาวุธ
บางกอกสู่นิวยอร์ก กรกฤต อรุณานนท์ชัย ศิลปินนักเล่าเรื่องผู้มี Video Essay เป็นอาวุธ

04 Song for Dying

‘Song for Living’

คือชื่อวิดีโอเล่าเรื่องชิ้นล่าสุดของกรกฤตที่สาธารณชนจะได้ยลในเดือนมีนาคมนี้ที่ Bangkok CityCity

แต่เพราะเป็นงานวิดีโอชิ้นต่อจาก Song for Dying ซึ่งมีใจความการเล่าเรื่องต่อเนื่องกันอย่างมีนัยยะ ก่อนไปชิมลางความอร่อยของงานชิ้นล่าสุดนี้ เราจึงต้องพาขมวดดูงานชิ้นก่อนหน้าเสียก่อน

“Song for Dying คือการเปรียบเวลาร่างกายกับวิญญาณแยกออกจากกันตอนตาย เพราะตอนนั้นคุณตาผมเสียชีวิต การประท้วงทางการเมืองเริ่มขยายตัวขึ้นในประเทศไทย ผมเอาทุกสิ่งที่มันเกิดขึ้นเกิดและให้ความหมายและความสำคัญกับช่วงชีวิตช่วงนี้ของผม เหตุการณ์ตีแผ่ขยายให้เห็นเวลาที่ผมอยู่ตรงนั้นมาสร้างความสัมพันธ์กัน

“ตอนตาย ร่ายกายก็โดนเผาและกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติในวัฏจักรคาร์บอน เช่นเดียวกับเวลา ผมเอาอัฐิคุณตาไปลอยอังคาร กระดูกที่เหลือจากการเผาก็กลับไปหาปะการังซึ่งเป็นแคลเซียมเหมือนกัน ผมเลยมองว่าพอร่างกายกับวิญญาณแยกออกจากกัน ท้ายที่สุดแล้ว ตัวแก่นที่เหลือสุดท้ายของคุณอย่างอัฐิ ก็กลับไปเป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของวัฏจักรของธรรมชาติและจักรวาล

บุกสตูดิโอ ‘กรกฤต อรุณานนท์ชัย’ สนทนาถึงวีธีการสร้างงาน Video Essay ให้แสบสันแยบคายได้อย่างไร้รอยต่อ
บุกสตูดิโอ ‘กรกฤต อรุณานนท์ชัย’ สนทนาถึงวีธีการสร้างงาน Video Essay ให้แสบสันแยบคายได้อย่างไร้รอยต่อ

“ความเชื่อทางศาสนา มีไอเดียคล้าย ๆ กัน ว่า ‘You enter the flow.’ วิญญาณจะกลับไปรวมกับส่วนใหญ่ ๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นพระเจ้า หรือ Greater Spirit หรือ ซึ่งไม่รู้ว่าจริงไหม เพราะมันเป็นอัตวิสัย แต่ที่เป็นภาวะวิสัยคือการที่เราจะไปรวมอยู่กับ Greater Flow หรือ Greater Spirit สิ่งที่เรากลับไปเติมเต็ม เช่น วัฏจักรคาร์บอน และระบบนิเวศของรากไม้ เห็ด และพื้นดิน อาจไม่ได้เป็นจิตวิญญาณขนาดนั้น แต่ความเชื่อจริง ๆ ก็คือว่า มนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในลำดับชั้นไหน ท้ายที่สุดเราก็กลายเป็นผงธุลีและกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรคาร์บอนอยู่ดี

บุกสตูดิโอ ‘กรกฤต อรุณานนท์ชัย’ สนทนาถึงวีธีการสร้างงาน Video Essay ให้แสบสันแยบคายได้อย่างไร้รอยต่อ

“แต่ถ้ามองในเชิงการประท้วง ผมมองว่าอุดมการณ์ที่กำลังคุมและสั่งให้เราทำอะไร ก็เป็นเหมือนจิตใจ ส่วนการรวมตัวกันของผู้คนเพื่อประท้วงเป็นร่างกายหรือ เนื้อหนัง การประท้วงจึงเป็นการแยกความเชื่อหรือเรื่องเล่าออกจากเนื้อหนังของมนุษย์ นี่ก็เป็น Mind and Body Split แบบหนึ่ง”

บุกสตูดิโอ ‘กรกฤต อรุณานนท์ชัย’ สนทนาถึงวีธีการสร้างงาน Video Essay ให้แสบสันแยบคายได้อย่างไร้รอยต่อ

05 Song for Living

เมื่อ Song for Dying คือการแยกกันของร่างกายและจิตหรือร่างกายกับวิญญาณในหลากหลายอุปลักษณ์การเปรียบเทียบ Song for Living จึงเป็นเสมือนสมภพอีกครั้งของเรือนร่างกับจิตใจในสังคมยุคหลังโควิด หรือที่เขาใช้คำว่า ‘Coming back to flesh’

บุกสตูดิโอ ‘กรกฤต อรุณานนท์ชัย’ สนทนาถึงวีธีการสร้างงาน Video Essay ให้แสบสันแยบคายได้อย่างไร้รอยต่อ
บุกสตูดิโอ ‘กรกฤต อรุณานนท์ชัย’ สนทนาถึงวีธีการสร้างงาน Video Essay ให้แสบสันแยบคายได้อย่างไร้รอยต่อ

“ผมมองว่าถ้าโควิด-19 เป็นความตายอย่างหนึ่งทางสังคมและตัวตนที่เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มคน นิวยอร์ก ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผมใช้ถ่ายทำทั้งหมด เริ่มมีการเกิดใหม่ของอะไรบางอย่างขึ้น เริ่มมีการออกจากการกักตัว มีการสลับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ Reshuffling of the Known สิ่งที่พยายามจะตั้งคำถามที่อาจไม่มีคำตอบที่ตายตัวในงานชิ้นนี้คือชุด How to renegotiate the relationship to higher powers

“มีไอเดียหนึ่งที่ผมสนใจคือเรื่อง Oceanic Feeling หรือความรู้สึกตอนที่เราไปอยู่ที่ในทะเล ความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของทุกอย่าง ๆ ที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) อธิบายว่า จริง ๆ แล้ว เวลาเราเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา มันเป็นการทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับอำนาจอันยิ่งใหญ่บางอย่าง ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกับตอนเราอยู่ในครรภ์แม่ ที่ทุกอย่างมันเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมของเรา แต่พอคลอดออกมาก็สูญเสียความรู้สึกนั้นไป เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงพยายามดึงให้เรากลับไปสู่ครรภ์แม่ ซึ่งให้ความรู้สึก Oceanic Feeling ที่ว่านี้

บุกสตูดิโอ ‘กรกฤต อรุณานนท์ชัย’ สนทนาถึงวีธีการสร้างงาน Video Essay ให้แสบสันแยบคายได้อย่างไร้รอยต่อ
บุกสตูดิโอ ‘กรกฤต อรุณานนท์ชัย’ สนทนาถึงวีธีการสร้างงาน Video Essay ให้แสบสันแยบคายได้อย่างไร้รอยต่อ

“ในวิดีโอเลยมีส่วนที่พยายามทำให้เหมือนกับถ่ายใต้น้ำ เพราะน้ำคือพื้นที่ที่คนจะกลับไปสู่หลังความตาย แล้วเกิดใหม่ออกมาจากน้ำ ผมทำสีคล้ายเนื้อหนังของคนเมื่อมีแสงผ่านเข้ามา เมื่อคนท้อง เขาเรียกกันว่า Fire in the belly มีไฟในครรภ์ มันคือขั้นตอนการดึงอะไรที่ไร้รูปร่างมาสู่รูปฟอร์ม เป็นการตีแผ่ความหมายของคำว่า Oceanic Feeling ของ Julia Krusteva นักเขียนที่พูดถึงประเด็นเหมือนกัน

บุกสตูดิโอ ‘กรกฤต อรุณานนท์ชัย’ สนทนาถึงวีธีการสร้างงาน Video Essay ให้แสบสันแยบคายได้อย่างไร้รอยต่อ

“ถ้า Song for Dying คือการแยกจากกันระหว่างจิตและร่างกาย Song for Living ก็เป็นขั้นตอนการเกิดใหม่ คือเวลาที่จิตและร่างกาย หรือตามคำเปรียบเปรยที่พูดถึงใน Songs for Dying ว่า อุดมกาณ์ หรือจิตวิญณาณของผู้คน และผู้คนเหล่านั้นจะกลับเข้ามาและหาวิธีอยู่ด้วยกัน เมื่อมนุษย์เข้ามารวมตัวกันในฝูงชน เหมือนกับที่บรรพบุรุษของพวกเราเคยทำรอบ ๆ กองไฟมันย่อมเกิด Higher Power ขึ้นมาเสมอ ไม่ว่าจะพูดในด้านของทางศาสนา พระเจ้า หรือในด้านระบบความคิด ไม่ว่าจะเป็น Marxism หรือ Socialism และความสัมพันธ์กับอำนาจที่เราว่านี้จะต้องถูกเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา”

กรกฤตฉายภาพแนวคิดอันซับซ้อนคมคายเบื้องหลังวิดีโอจัดวางความยาว 20 นาที ก่อนปรามตัวเองไม่ให้เผยรายละเอียดในงานไปมากกว่านี้ เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างที่เข้าพูดมามันอยู่ในตัวงาน เพื่อให้คุณผู้อ่านที่รักตามไปชมได้ด้วยตาเนื้อตัวเอง

บุกสตูดิโอ ‘กรกฤต อรุณานนท์ชัย’ สนทนาถึงวีธีการสร้างงาน Video Essay ให้แสบสันแยบคายได้อย่างไร้รอยต่อ

06 “ผมอยากทำหนังซูเปอร์ฮีโร่”

สิบปีในแวดวงศิลปะ กรกฤตสั่งสมประสบการณ์ผ่านงานมาหลากหลายรูปแบบเกินนิ้วมือจะนับพอ เราอยากรู้ว่า ประสบการณ์ทั้งปวงที่หล่อหลอมเขาขึ้นมา แผ้วทางไปสู่ความเป็นไปได้อะไรที่เขาอยากทำอีกบ้างในอนาคต

“ผมอยากสร้างหนังยาว ทำหนังซูเปอร์ฮีโร่เหมือนพวก Marvel” คำตอบที่ได้ทำเราตะลึงงันไปชั่วขณะ

“เพราะหนังแบบนี้น่าสนใจ ตอนนี้หนังฮอลลีวูดครึ่งหนึ่งเป็นหนังมาร์เวลแล้ว จริง ๆ ในพื้นที่อเมริกา มันคือการรวมตัวระหว่าง Neo-liberal Capitalism บวกกับ American Democracy ที่ให้คำตอบสุดท้ายกับทุกอย่างว่า ความเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจเพื่อคนหมู่มากเกิดขึ้นที่ตัวบุคคล Priveledging Individualism วัตถุดิบหรือประเพณีการเล่าเรื่องในโลกนี้มันคือป๊อปคัลเจอร์หรือการสร้างหนังแบบมาร์เวล ซึ่งมันก็คล้าย ๆ the New God Story 

“ผมมองว่าพวกซูเปอร์ฮีโร่จริง ๆ ก็คือพระเจ้า เหมือนเวลาเราเล่าเรื่องพญานาค พญาครุฑ หรืออาจเป็นเทพเจ้ากรีก มันมีองค์ประกอบในการเล่าเรื่องเหมือนกัน มีส่วนที่เป็นความบันเทิง มีส่วนที่เป็นจินตนาการ และมีพื้นที่ที่คนหลายคนจะแชร์เรื่องราวด้วยกันได้ แต่เปลี่ยนจากกองไฟสมัยก่อน เป็นจอคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โรงหนัง ในโลกของหนังที่ผมต้องการจะสร้างขึ้น พระหรือร่างทรงก็เหมือนกับซูเปอร์ฮีโร่อย่างหนึ่งในประเทศไทย เพราะมันเชื่อมมนุษย์เข้ากับ Higher Power สร้างรูปร่างให้แก่สิ่งที่ไร้รูปร่าง

“อีกความน่าสนใจตรงที่ระบบความคิดของมัน เพราะในหนังมาร์เวลทุกเรื่อง แม้เนื้อหาส่วนใหญ่จะต่อต้านอำนาจนิยมหรือระบบ Socialist แต่ท้ายที่สุดมันกลับเป็นการสนับสนุนความคิดของปัจเจก เหมือนฮีโร่แค่ไม่กี่คนเอา ความสัมพันระหว่างบุคคลมาตัดสินใจ”

เรานั่งหูผึ่งฟังเขาอย่างตั้งใจ พร้อมเอาใจช่วยให้คู่สนทนาทำหนังซูเปอร์ฮีโร่ ‘แบบนี้’ ขึ้นมาจริงสักครั้ง

บุกสตูดิโอ ‘กรกฤต อรุณานนท์ชัย’ สนทนาถึงวีธีการสร้างงาน Video Essay ให้แสบสันแยบคายได้อย่างไร้รอยต่อ

07 “อย่าให้อดีตบล็อกความเป็นไปได้ในอนาคต”

“อย่างหนึ่งที่คิดมานานแล้วคือ รัฐไทยนิยามคำว่าวัฒนธรรมไว้ว่าอย่างไร”

กรกฤตเริ่มตอบคำถามสุดท้าย เมื่อเราอยากรู้ว่า จากประสบการณ์เทียวไปเทียวมาระหว่างบางกอก-นิวยอร์ก ถ้าให้แก้ปัญหาในแวดวงศิลปะไทยได้สักข้อหนึ่ง เขาจะหยิบปัญหาไหนมาจัดการ 

“ผมรู้สึกว่าประเทศไทยสนับสนุนวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่หรือวัฒนธรรมร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรี อะไรก็ตาม น้อยมาก ทั้งทางนโยบายหรือเม็ดเงิน เพราะรัฐมองกลับไปหาแต่อดีต อย่างนิยามความเป็นไทยที่สอนในระบบการศึกษา เขาพยายามอนุรักษ์ส่วนที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ แต่ส่วนที่ไปข้างหน้าถ้าเขาคิดว่ามันมาหักล้างหรือไม่ตรงกับวัฒนธรรมที่กำหนดเอาไว้ในอดีต เขาก็ไม่อนุญาต เอกลักษณ์ความเป็นไทยไม่ได้มีแค่หนึ่งเดียว แต่สิ่งที่เขาต้องการมันไม่ใช่แบบนั้น แล้วอย่างนี้เราจะมี Soft Power เหมือนที่ชอบพูดกันในแบบเกาหลีได้อย่างไร

“ผมไม่ได้เชื่อในระบบทุนนิยมนะ แต่สิ่งที่เม็ดเงินและทุนนิยมรองรับคือความหลากหลาย ความคิดใหม่ และนวัตกรรม เราชอบคุยถึงเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ เอาเกาหลีเป็นตัวอย่าง แต่สิ่งที่เกาหลียอมคือการเข้าใจว่า การเล่าเรื่องมันมีหลากหลาย มนุษย์ใช้ชีวิตในความเป็นจริงหลากหลายได้ สิ่งที่เรียกว่าความร่วมสมัยน่ะ แม้บางทีอาจไม่ได้สนับสนุนอดีต อาจดูหักล้างนิดหน่อย แต่เขาก็อนุญาตให้มันเดินต่อไปข้างหน้า และสนับสนุนตรงนั้น ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมคือการอนุรักษ์ แต่อีกส่วนหนึ่งคือนวัตกรรมด้วย และคุณไม่มีทางคิดค้นได้ ถ้าไม่ปล่อยให้มีพื้นที่ที่จะเอื้อให้เกิดความหลากหลายทางความคิดขึ้น ให้ลองผิดลองถูก ลองดูว่าอะไรมันจะเกิดและคงอยู่ และอะไรมันจะหายไปตามสภาพของมันเอง

“อย่าให้อดีตหรือสิ่งที่คุณพยายามเก็บไว้ตลอดมา มันบล็อกความเป็นไปได้ในอนาคต เหมือนกับในงานชิ้น ‘No History in a Room Filled with People with Funny Names’ มีข้อความหนึ่งบอกว่า เพื่อให้เรื่องเล่าอยู่ได้ยาวนานที่สุด เราก็ต้องยอมให้มันกลายสภาพไปกับตัวคน เพราะสุดท้ายสิ่งเร้นลับหรือ Higher Power ก็ต้องการร่างกายของมนุษย์กลุ่มใหญ่ ๆ เพื่อที่จะเชื่อในเรื่องนั้น ๆ ไม่อย่างนั้นเรื่องเล่าจะสูญพันธุ์ไป ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครอยากเล่าต่อ เพราะว่ามันไม่ได้สะท้อนความจริงหรือช่วนชีวิตคนอีกต่อไปแล้ว”

บุกสตูดิโอ ‘กรกฤต อรุณานนท์ชัย’ สนทนาถึงวีธีการสร้างงาน Video Essay ให้แสบสันแยบคายได้อย่างไร้รอยต่อ

ภาพ : Joyce Chen

นิทรรศการ Pray (Song for Living in a Room Filled with People with Funny Names) โดย กรกฤต อรุณานนท์ชัย และ อเล็กซ์ กวอจิค จะจัดขึ้นที่ Bangkok CityCity Gallery ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม ถึงวันที่ 24 เมษายน 2565 เปิดให้เข้าชมทุกวันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์ เวลา 13.00 – 18.00 น. ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : BANGKOK CITYCITY GALLERY

บุกสตูดิโอ ‘กรกฤต อรุณานนท์ชัย’ สนทนาถึงวีธีการสร้างงาน Video Essay ให้แสบสันแยบคายได้อย่างไร้รอยต่อ

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey