เชฟก้อง-ก้องวุฒิ ชัยวงศ์ขจร เป็นทั้งเชฟและนักดนตรี นอกจากมุมของเชฟที่ทำอาหารแบบล้านนาในรูปแบบไฟน์ไดนิ่ง จนมีคนยอมบินไปชิมรสมือและฟังเรื่องเล่าของเขาถึงเชียงรายแล้ว 

อีกมุมหนึ่งที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้ คือเขาเป็นคนที่คลั่งไคล้ดนตรีและเครื่องดนตรี โดยเฉพาะเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ อย่างเช่นกีตาร์ หรือเครื่องดนตรีไทยอย่างขลุ่ยไม้

เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง

ความพิเศษคือเชฟก้องเป็นคนรักไม้ เข้าใจไม้ เลยอยากเก็บไม้หายากต่างๆ ไว้ในรูปแบบขลุ่ย เรื่องราวการได้ไม้หายากแต่ละชนิดมา บางชิ้นไม่ต้องตามหา แต่ได้มาด้วยความน่าประหลาดใจ บางชิ้นเป็นไม้ที่มีคุณสมบัติพิเศษจนอยากให้มันกลายเป็นขลุ่ย เพราะมีคุณสมบัติของไม้ที่ดี ประกอบกับฝีมือของช่างขลุ่ยระดับครู ที่เป็นคนแปลงไม้หายากให้เป็นขลุ่ยชนิดพิเศษ ทำให้ขลุ่ยแต่ละเลาฝังแน่นไปด้วยเรื่องราวในเนื้อไม้และมีความงดงามเฉพาะตัว 

คนรักไม้

เชฟก้องเล่าว่า เขาชอบไม้ตั้งแต่เด็กอย่างไม่มีเหตุผล ตอนเด็กเขานั่งอ่านหนังสือไม้ประเภทต่างๆ เล่น พอมาเล่นดนตรีสากลเชฟก้องเลือกเล่นเบสและกีตาร์ อุปกรณ์ที่มีส่วนประกอบของไม้ 

“ผมเป็นคนที่เข้าใจว่าถ้าเสียงไม้แบบนี้ บวกไม้แบบนี้ เสียงน่าจะออกมาประมาณนี้นะ ผมซื้อเบส ซื้อกีตาร์จากไม้ 

“เคยมีคนโพสต์ขายกีตาร์ตัวหนึ่ง ผมเห็นลายไม้แล้วผมโทรไปจองเลย ลายไม้ที่ว่าไม่ใช่สวยหรือไม่สวยนะ แต่ผมเห็นแนวของการตัดไม้ของกีตาร์ตัวนั้นว่าเขาตัดทางไหน พอเห็นว่าเขาตัดตามขวางของลายไม้ผมรีบโทรไปเลย มีเงินหรือเปล่ายังไม่รู้ แต่ทำทุกอย่างให้มันมาเป็นของผมให้ได้ (หัวเราะ)”

เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง

เขาอธิบายให้ฟังง่ายๆ ว่า วัตถุที่มีมวลหนาแน่นจะนำเสียงให้กังวานกว่าชัดเจน เช่นเหล็กย่อมดีกว่าไม้ แต่การตัดไม้ ไม้แข็งย่อมดีกว่าไม้อ่อน แล้วถ้าตัดตามลายไม้ เนื้อไม้จะอ่อนมากและหักง่าย ถ้าตัดตามแนวขวาง ไม้ชิ้นนั้นจะแกร่งและให้ความกังวานได้มากกว่า

“แต่การตัดไม้ตามลายขวาง แปลว่าไม้ชิ้นนั้นต้องชิ้นใหญ่มาก ผมเห็นคอกีตาร์ตัวนั้นแล้วชอบเลย ที่ดูคอเพราะว่าเราเล่นกีตาร์ที่คอ ไม้เนื้อแน่นดีเฉยๆ ก็ดังกว่าแน่ๆ” เชฟก้องเล่าให้เห็นภาพราวกับหั่นเนื้อสัตว์

รักดนตรี

น้อยคนรู้ว่าเชฟก้องเป็นนักดนตรี และน้อยคนที่จะรู้ว่านอกจากดนตรีสากล เชฟก้องยังหลงใหลดนตรีไทยมาตั้งแต่เด็ก

 “ก่อนเล่นดนตรีทั้งหมด ผมเล่นดนตรีไทยมาก่อน ผมตีกลองแขก ฆ้องวงกับซอ ตอนหลังก็เริ่มเล่นขลุ่ย รู้สึกผูกพันกับเครื่องดนตรีไทยมาก ตอนแรกเราก็เริ่มต้นด้วยขลุ่ยพีวีซี พอโตขึ้น ทำงาน มีเงินเราก็ซื้อขลุ่ยให้ตัวเอง” เชฟก้องเล่าว่าเขาชอบสะสมขลุ่ยพอๆ กับกีตาร์ 

เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง

ที่บ้านของเขามีห้องเก็บกีตาร์โดยเฉพาะและมีหิ้งสำหรับเก็บขลุ่ย

ใช่แล้ว ขลุ่ยเป็นของขึ้นหิ้งสำหรับเขา 

หากใครเคยมีโอกาสไปที่ร้าน Locus ของเขาที่เชียงราย น่าจะเคยสังเกตเห็นหิ้งวางขลุ่ยตั้งอยู่ในร้าน

ขลุ่ย 6 เลาถูกวางเรียงอย่างมีลำดับ 3 ใน 6 เลาเป็นขลุ่ยสีดำขลับ แปะทอง และมีที่มาที่ไม่ธรรมดา

พญาไม้

เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง

“คนสมัยก่อนเวลาปลูกบ้าน เขาต้องปลูกต้นไม้ที่เรียกว่าพญาไม้ไว้หน้าบ้านด้วย พญาไม้หรือขุนไม้เป็นนายของไม้ทั้งหมด เวลาสร้างบ้านไม่รู้ว่าที่มาของไม้มาจากไหนบ้าง ความเชื่อว่าในไม้มีผู้ดูแลยังมีอยู่ เขาเลยเชื่อกันว่าให้ปลูกพญาไม้เพื่อข่มกันไว้

“พญาไม้เป็นไม้ยืนต้น แปลกตรงที่ไม่มีใจไม้ ใบก็แปลก ไม่มีเส้นใบ ในแสนต้นจะมีสักต้นหนึ่งที่มีใจไม้ แล้วถ้าต้นไหนมีใจไม้ก็ขนาดไม่ใหญ่มาก

“ผมมีขลุ่ยอยู่สามเลาที่ทำมาจากใจไม้ของพญาไม้ และเป็นใจไม้ของต้นเดียวกันด้วย

ใจไม้ทั้ง 3 ชิ้นที่มาจากต้นเดียวกันนี้แยกกันอยู่ 3 ที่ 3 จังหวัด กับพระ 3 รูป แต่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบขลุ่ย ไม้ทั้ง 3 ชิ้นใช้เป็นไม้สำหรับเคาะให้พรของพระที่อยู่ทางภาคใต้ทั้ง 3 วัด

“ที่รู้เพราะครูของผมเป็นคนนำไม้ไปถวายเอง เมื่อเวลาผ่านไปพระท่านก็ให้กลับคืนมา บอกให้เอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เลยกลายเป็นขลุ่ยทั้งสามเลานี้”

ครูขลุ่ย

“ผมเจอครูรุ่งด้วยเหตุการณ์ค่อนข้างประหลาด” เชฟก้องเกริ่นขึ้นมาอย่างน่าสนใจ

“ผมไปเจอขลุ่ยเลาหนึ่งที่คนตาบอดขาย ได้ยินเสียงแล้วเสียงดี เนื้อไม้ก็สวย เลยขอเบอร์เขาไว้ บอกว่าเดี๋ยววันหนึ่งจะขอไปดูขลุ่ยที่บ้าน แล้วผมก็ตามไปที่บ้านเขา ผมก็ถามเขาว่า ใครเป็นคนทำขลุ่ย เลยได้รู้มาว่าชื่อครูรุ่ง

“ผมซื้อมาแล้ววันหนึ่งมันเกิดแตกร้าว แล้วขลุ่ยแตกขลุ่ยร้าวเขาถือกัน ต้องซ่อม ผมโทรถามคนขายว่าอยากติดต่อครูรุ่งเพื่อจะให้ซ่อมขลุ่ยให้ เลยได้รู้จักกับครู แกเป็นคนใต้ แต่มามีครอบครัวอยู่ที่เชียงราย เป็นคนสันโดษ 

“ผมชอบไปที่บ้านครู ไปหา ไปนั่งดูไม้ ดูของ บ้านแกมีขลุ่ยเป็นพันๆ เลาเรียงกันเต็มไปหมด แต่มีอยู่หนึ่งเลาที่ผมหยิบขึ้นมา ถามครูว่าเลานี้คือของใคร

เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง

“ครูถามผมว่า ทำไมถึงเลือกขลุ่ยเลานี้ขึ้นมา ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน แล้วครูก็บอกว่าให้เอาขลุ่ยนี้ไปเลย เพราะครูเป็นคนที่ไม่เก็บ ไม่ถือว่าอะไรเป็นของแก” เชฟก้องเล่าที่มาของขลุ่ยพญาไม้เลาแรกที่ได้มา 

หลังจากนั้นครูรุ่งก็บอกให้เชฟก้องมารับขลุ่ยอีก 2 เลากลับไปด้วยให้อยู่ด้วยกันทั้ง 3 เลา พร้อมกับยังให้ขลุ่ยอีก 3 เลาที่ทำขึ้นจากไม้ต่างชนิดกันมาด้วย

คือไม้พะยูง ไม้ตาเสือ และไม้งิ้วดำตัวเมีย แล้วบอกให้เชิญขึ้นหิ้ง พร้อมเคล็ดการวางบนหิ้งโดยให้ขลุ่ยพญาไม้ 3 เลาวางด้านบน ไม้พะยูงวางลำดับถัดมาเพื่อพยุง ค้ำจุน ตามชื่อ ตาเสือให้ป้องกันเภทภัย ส่วนงิ้วดำตัวเมียเขาจะแบ่งไม้เป็นเพศ ไม้นี้เป็นเพศเมีย เลยจะให้ความงดงาม ความอ่อนช้อย เป็นศิลปะ ครูบอกว่าขลุ่ยเหล่านี้เหมาะเอาไว้บูชา

ไม้เป็นขลุ่ย

เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง

“ผมเป็นคนชอบไม้ แต่ถ้าเก็บไว้เฉยๆ ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร พอมาเก็บไม้เก่าในรูปแบบขลุ่ย เราก็เป็นคนดนตรี ชอบเครื่องดนตรีอยู่แล้ว มันก็เลยเหมือนได้ประโยชน์ทั้งสองอย่าง” เชฟก้องเล่าเหตุผลที่ทำให้เขาเก็บของสะสมที่ได้มาแต่ละชิ้น

ไม้แต่ละชนิดที่เชฟก้องสะสมและเอาไปให้ครูรุ่งทำเป็นขลุ่ยให้ล้วนแต่เป็นไม้เก่า บางท่อนเป็นไม้ที่มันถูกฝังอยู่ในดิน บางท่อนก็เคยเป็นขาเก้าอี้ก็มี ไม้บางชนิดไม่มีอีกแล้ว เชฟก้องสะสมขลุ่ยที่ทำจากไม้หลายชนิดนับไม่ถ้วน 

เขาเลือกบางเลาที่เขามีเรื่องราวผูกพันมาเล่าให้ฟัง

01

ขลุ่ยไม้พะยูงแดง

เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง
เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง

ขลุ่ย 3 เลาแรกเป็นขลุ่ยที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงแล้ว เป็นขลุ่ยที่ครูรุ่งทำถวาย ท่านพระองค์ท่านทรงขลุ่ยแล้วก็ประทานกลับคืนมาให้ครูรุ่ง ครูรุ่งก็เป็นคนไม่เก็บของ เลยส่งต่อมาถึงผม 

ผมไม่เคยได้ยินเสียงของเลานี้เลย เพราะกรมสมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงแล้ว ผมเก็บเอาไว้จะไม่เป่า เก็บไว้บูชา 

ผมถือว่าขลุ่ยทุกเลามีครู แล้วเป็นขลุ่ยที่เป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินทรงผมก็เก็บเอาไว้เพื่อความเป็นมงคล

ลวดลายของขลุ่ยเลานี้ถือว่าสุดยอดมาก มีหลายสีมาก เหลือง ม่วง แดง ดำ มันอยู่ในท่อนเดียวกันหมด 

เป็นขลุ่ยเพียงออไทยแท้ เลาใหญ่มาก เมื่อก่อนคนเขาพกขลุ่ยไปนาไปไร่กัน เขาใช้เป็นอาวุธกันได้ด้วยนะ หัวขลุ่ยมันหนักมาก ใช้ตี ใช้ฟาดกันได้เลย

02

ขลุ่ยไม้พญางิ้วดำรัดเขาควาย

เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง
เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง

“เลานี้เป็นเลาแรกที่ผมเก็บเงินซื้อเอง เขาเรียกว่าพญางิ้วดำรัดเขาควาย พญางิ้วดำคือชื่อของไม้ สีดำสนิท ส่วนขาวๆ ที่รัดอยู่เขาเรียกเขาควาย จริงๆ แล้วมันเป็นกระดูก แต่เมื่อก่อนเขาอาจจะใช้เขาควาย หรือไม่ถ้าคนเก็บแบบหรูหราหน่อยก็จะใช้งาช้าง แต่ผมไม่สนับสนุนการใช้งาช้าง”

“เลานี้ทำโดยช่างทำขลุ่ยจากชุมชนบ้านลาว แถวเชิงสะพานพุทธ ต้องขอเล่าด้วยว่า เมื่อก่อนชุมชนบ้านลาวถือว่าเป็นศูนย์กลางของการทำขลุ่ย มีช่างทำขลุ่ยฝีมือดีอยู่ที่นี่ ขลุ่ยเทลายปรอทถือเป็นขลุ่ยที่มีชื่อเสียงของบ้านลาว เขาเอาไม้รวกมาเทปรอทร้อนเป็นลาย อันตรายต่อสุขภาพคนทำมาก ต้องดมปรอทอยู่ตลอด

“ใครที่มีถือขลุ่ยแบบนี้ต้องถือว่าสุดยอดมากแล้ว เพราะตอนนี้น่าจะไม่มีใครทำแล้ว”

03

ขลุ่ยเพียงออ ไม้มะขามโปร่งฟ้า

เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง
เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง

“ไม้ที่ทำขลุ่ยนี้คือแก่นของต้นมะขามโปร่งฟ้า เป็นมะขามที่ยืนต้นตายพราย ขลุ่ยเลานี้หนักมืออย่างเห็นได้ชัด เสี้ยนไม้คล้ายๆ กับเสี้ยนต้นปาล์ม ถ้าดูลายจะเห็นว่าเป็นการตัดขวางลาย เนื้อแน่น เสียงกังวาน หัวท้ายก็เลี่ยมด้วยเงินแกะลาย”

04

ขลุ่ยไม้ Vite Licknum

เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง
เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง

“ขลุ่ยเลานี้ทำขึ้นจากไม้ที่ชื่อว่า Vite Licknum จากอาร์เจนตินา เป็นไม้ที่มีมวลเนื้อไม้แข็งเป็นอันดับสองของโลกรองจาก Ironwood 

“ผมเอามาให้ครูรุ่งลองทำเป็นขลุ่ย สิ่งที่ครูรุ่งบอกมาคือ ไม้นี้กระดาษทรายยังขัดไม่เข้า และไม้มันจะเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ ตอนที่ผมเพิ่งได้ไม้มาใหม่ๆ มันยังเป็นสีเขียว ตอนนี้มันเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

“เสียงมันหนักแน่นและพุ่ง ขลุ่ยเลานี้เป่าเพลงเร็วจะสนุก สู้กับวงได้ แต่ถ้าเล่นเพลงช้าหรือเพลงที่มีอารมณ์เศร้าๆ ก็ต้องเลือกเลาอื่นแทน”

05

ขลุ่ยไม้คชสารประดู่

เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง
เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง

“เลานี้ผมเลือกใช้สำหรับเป่าเพลงช้า เสียงมันเบา ลอย เรียกว่าคชสารประดูหรือประดู่ตอช้าง ขลุ่ยเลานี้มาจากตอประดู่ ไม่ใช่ต้นประดู่นะครับ เป็นตอไม้ เวลาเขาผูกช้าง เขาจะผูกไว้กับตอไม้ แล้วเวลาเขาจะทำที่ใหม่เขาก็จะเอารถขุดขุดเอาตอขึ้นมา

“ลักษณะไม้ชิ้นนี้มันจะมีปุ่มไม้ เขามีความเชื่อว่ามันเกิดจากโซ่ช้างที่รั้งไปรั้งมาทำให้เกิดลายไม้เบี้ยวๆ แต่นั่นคือความเชื่อ 

“ที่จริงแล้วไม้ที่เกิดปุ่มคือไม้ที่ติดเชื้อ แทนที่จะโตออกข้างนอก มันดันโตเข้าข้างใน มันก็เลยก็เป็นความขดม้วน สิ่งนี้เป็นความผิดปกติของไม้ แต่คนเห็นว่าเป็นความสวยงาม

“ไม้แบบนี้เขาจะเรียกว่า Burl Wood ผมเป็นคนที่ชอบไม้ลักษณะนี้เป็นพิเศษ แอฟริกาก็มีไม้ลักษณะใกล้เคียงกันชื่อ Curly Bubinga Wood”

06

ขลุ่ยไม้พญางิ้วดำเสี้ยนทอง

เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง
เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง

“ไม้ชิ้นนี้เป็นไม้ชิ้นเดียวกันกับขลุ่ยของกรมสมเด็จพระเทพฯ ครูรุ่งเคยถวายขลุ่ยพญางิ้วดำเสี้ยนทองถวายให้กับพระองค์ท่าน ไม้ท่อนที่ทำขลุ่ยชิ้นนี้ก็เป็นไม้จากท่อนเดียวกันที่ครูรุ่งทำขึ้นอีกเลาหนึ่งให้ผมเก็บไว้

“ขลุ่ยเพียงออเลานี้ในทางการเล่นเพลง ผมเรียกว่ามันมีพิษสงเยอะ แต่มันมีบางอย่างในสุ้มเสียงที่ผมอธิบายไม่ได้ ถ้าเป็นคนที่เป่าขลุ่ยถึงจะเข้าใจ ต้องเล่นแล้วถึงจะรู้สึก เสียงมีเสน่ห์ และคนฟังฟังสนุกกว่าคนเป่า

“ผมมีพญางิ้วดำอยู่หลายเลา เลาหนึ่งอยู่บนหิ้งที่ร้าน เป็นพญางิ้วดำตัวเมีย ส่วนที่บ้านก็จะมีพญางิ้วดำเสี้ยนทองเลานี้ แล้วก็พญางิ้วดำตัวเมียอีกเลา ที่ผมให้ลูก เพราะลูกสาวผมเลือกเลานี้เอง แล้วถือไม่ยอมปล่อย อีกเลาเป็นพญางิ้วดำธรรมดา”

07

ขลุ่ยไม้มะริดและพะยูงแดง

เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง
เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง

“ขลุ่ยเลานี้เป็นขลุ่ยคีย์สากล ทำจากไม้มะริดที่ผมไม่เคยมีมาก่อน หามานานมาก จนสุดท้ายก็ได้มา เสียงโปร่งมาก ขลุ่ยแบบนี้ต้องเป่าหน้าหนาว นั่งข้างทุ่งนาจะสบายสุดๆ เลยครับ 

เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง
เชฟก้อง นักสะสมขลุ่ยไม้ที่มีตั้งแต่ขลุ่ยจากไม้ประจำตัวพระ ไปจนถึงตอไม้ล่ามโซ่ช้าง

“ส่วนอีกเลาคือไม้พะยูงแดง เหมือนพะยูงที่ไว้บนหิ้งที่ร้าน ผมเจอมาพร้อมกับเลาที่เป็นไม้มะริด เลยขอซื้อมาไว้ให้ลูก ผมมีขลุ่ยที่เก็บไว้ให้ลูก มีทุกแบบ ขลุ่ยคีย์สากล ขลุ่ยไทยแท้มีครบ เผื่อสักวันหนึ่งเขาอยากจะลองเริ่มหัดเล่น”

Writer & Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2