ช่วงปีที่ผ่านมา กระแส ‘รักษ์โลก’ ผ่านเข้ามาหน้าฟีดโซเชียลมีเดียของเรานับครั้งไม่ถ้วน หนึ่งในนั้นคือคลิปสั้นๆ ที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลของ ‘ขยะ’ สิ่งที่ใครหลายคนอาจนึกถึงแต่ความสกปรก ไม่น่าอภิรมย์ แต่วันนี้ Konggreengreen จะทำให้ภาพจำเรื่องขยะของคุณกลายเป็นเรื่องที่สนุกมากขึ้น

วันนี้ เราตื่นเต้นที่จะได้พูดคุยกับอินฟลูเอนเซอร์สายเขียวและพิธีกรผู้รอบรู้ ไอดอลของเด็กๆ ยุคทีวีรุ่งเรือง ใครหลายคนคุ้นเคยเขาในชื่อ ‘กบก้อง’ หรือ ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ อดีตพิธีกรรายการสารคดีน้ำดีอย่าง กบนอกกะลา ที่จะพาทุกคนไปสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัว และนำเสนอชุดความรู้นอกเหนือจากห้องเรียน

ก้องเรียนจบปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังเรียนจบ เขาได้ทำงานในวงการสื่อหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นครีเอทีฟในสายงานบันเทิง พิธีกรและครีเอทีฟรายการเชิงสารคดี กบนอกกะลา และ หลงเทศกาลโลก พอได้เดินทางผ่านการทำงาน ไปสำรวจอะไรๆ มากขึ้น ก้องจึงได้รับรู้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน และในที่สุด เขาก็ได้ก้าวเข้าสู่วงการ ‘แยกขยะ’

Konggreengreen สื่อสนุกโดยอินฟลูเอนเซอร์สายเขียวที่ชวนทุกคนสนใจเรื่องขยะ

กว่าจะมาแยกขยะ

“เรารู้ว่าขยะมันขายได้ เพราะเราเอาขยะที่บ้านไปขายให้คุณป้ากับคุณพ่อ พอที่บ้านอ่านหนังสือพิมพ์กันเสร็จแล้ว ก็จะพากันขับรถไปขายที่วงษ์พาณิชย์ เราเริ่มสังเกตว่า ทำไมขยะพวกนี้มันมีคนซื้อ เราก็เริ่มไปดูต่อว่า ทำไมเราขายได้แค่ไม่กี่บาท แล้วไปดูว่าขยะอะไรขายได้แพง อ๋อ กระดาษขาวขายได้แพงเหรอ กระดาษลังเขาก็รับเหรอ เราเลยได้รู้ว่าขยะพวกนี้มันมีค่า ไม่ได้เป็นแค่ขยะ แต่ถูกเอากลับไปทำประโยชน์ เราก็เลยเริ่มรู้จักแยกขยะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

ถึงแม้ว่าในอดีต ก้องจะยังไม่ได้แยกขยะละเอียดอย่างทุกวันนี้ แต่เขายืนยันกับเราว่า ตัวเองเป็นคนที่มีใจอยากแยกขยะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และตั้งคำถามกับถังขยะในไทยมาโดยตลอด

หลายๆ ครั้งเวลาที่เรามีขวดน้ำพลาสติกอยู่ในมือ และมองหาจุดทิ้งขยะในที่สาธารณะ เรามักจะเห็นถังแบ่งแยกสีไว้ ทั้งเหลือง เขียว น้ำเงิน แดง แต่พอเปิดดูแต่ละถัง ไม่ว่าขยะถังนั้นจะเป็นสีอะไร ก็จะเจอกับขยะทุกรูปแบบอยู่ในถังเดียว จนสุดท้ายเราอาจต้องจำใจทิ้งขยะที่รีไซเคิลได้ใส่ลงในถังสีเหลืองที่มีขยะชนิดอื่นอยู่ด้วย ก้องจึงชวนเราตั้งข้อสังเกตถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าสังคมเรายังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้มากพอ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องการให้ความรู้ หรือการออกข้อบังคับเกี่ยวกับขยะอย่างเข้มงวด

หลังจากที่ทำงานสื่อทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาสักพักใหญ่ หลังออกจากรายการ กบนอกกะลา ก้องเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ เด็กหนุ่มชาวกรุงผู้หลงรักการเดินทาง ตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการทำหนังสารคดีและโฆษณาที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กว่า 2 ปี ระหว่างที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น เขาได้เห็นชีวิตและการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างออกไป

“ตอนไปอยู่อเมริกา เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งของความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่นั่นเขาบังคับให้ทุกคนแยกขยะตามบ้านและคอนโดฯ ถ้าไม่แยก คนที่ให้เช่าจะมาดุ มาปรับเรา เราเลยต้องแยกกล่องนม UHT ขวดน้ำ กระดาษลัง หลักๆ คือแยกขยะที่รีไซเคิลได้ออกมา หรือถ้าเรามีขยะชิ้นใหญ่อยู่ เขาจะมีวันนัดทิ้ง ทำให้เรารู้สึกว่า ระบบการจัดการขยะนี่มันดีเนาะ” ก้องเล่าให้ฟังถึงความประทับใจที่มีต่อการจัดการขยะที่เขาได้ไปพบเจอมาในต่างแดน และสิ่งเหล่านี้ทำให้เขาหมั่นแยกขยะโดยไม่รู้ตัว

Konggreengreen สื่อสนุกโดยอินฟลูเอนเซอร์สายเขียวที่ชวนทุกคนสนใจเรื่องขยะ
Konggreengreen สื่อสนุกโดยอินฟลูเอนเซอร์สายเขียวที่ชวนทุกคนสนใจเรื่องขยะ

Konggreengreen สื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม

หลังจากร่ำเรียนจนสำเร็จการศึกษา ก้องมีโอกาสได้รับงานจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำรายการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมขึ้น

“เราทำรายการชื่อว่า The Green Diary ขึ้นมา ตอนนั้นไม่รู้จะเอาใครเป็นพิธีกรก็เลยเป็นเอง ทำไปทำมา เราได้ไปสัมผัสกลุ่มที่เขาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ แล้วได้ไปเห็นว่า เฮ้ย สิ่งที่เขาทำมันก็ไม่ได้ยากหรือว่ารบกวนชีวิตอะไรเขามากมายเหมือนที่คิดไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดขยะ การแยกขยะ การผลิตของออกมา หรือแม้แต่การจัดอีเวนต์ต่างๆ มันก็ลดขยะหรือทำแบบไม่มีขยะได้ เราเลยซึมซับมาเรื่อยๆ ลองเอามาใช้กับทั้งในออฟฟิศเรา ทั้งในชีวิตประจำวันของเรา ใช้กับที่บ้านเรา ว่าจะแยกขยะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

หลังเสร็จสิ้นภารกิจการทำรายการ The Green Diary ก้องยังคงสนุกและอยากเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่อ Konggreengreen จึงเกิดขึ้นเพื่อเล่าเรื่องขยะ โดยมีจังหวะที่สนุก

Konggreengreen สื่อสนุกโดยอินฟลูเอนเซอร์สายเขียวที่ชวนทุกคนสนใจเรื่องขยะ

ลองไหม ลองมาแยกขยะกัน

“คอนเซ็ปต์ของ Konggreengreen มันคือรักษ์โลก แล้วต้องสนุกด้วย เรื่องขยะต้องเป็นจังหวะสนุก ไม่ใช่เรื่องสกปรกอีกต่อไปแล้ว ถ้าเราทำขยะให้สะอาด มันก็คือพลาสติก มันก็คือกระป๋อง มันก็คืออะลูมิเนียม แต่พอสกปรก มันก็คือขยะ ฉะนั้น เราเลยทำให้ขยะเป็นเรื่องใกล้ตัว เรื่องง่าย เรื่องสนุก หลักๆ ก็จะว่าด้วยเรื่องการจัดการขยะและการลดขยะ ทำยังไงให้เกิดขยะน้อยที่สุด ถ้าเกิดแล้วทำยังไง เอาสองเรื่องนี้ก่อน”

โดยปกติแล้วพอพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เรามักจะคิดถึงตามมาติดๆ คือปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน น้ำแข็งที่ขั้วโลกกำลังจะละลาย หมีขั้วโลกจะไม่มีบ้านอยู่ ทำให้บางครั้งเรามองเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่เกินตัว ไม่รู้จะเริ่มต้นช่วยเหลือโลกอย่างไร Konggreengreen จึงอยากชวนมองอะไรที่เล็กลงมา และอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น

“ถ้าเราอยากให้ประเทศเราดีขึ้น หรือเอาง่ายๆ ว่าถ้าอยากให้บ้านเราดีขึ้น เราก็ควรจะทำให้มันสะอาดใช่ไหม เราควรทำให้ถูกสุขอนามัยหรือเป็นระเบียบมากขึ้น ถ้าอยากให้บ้านเราจัดการขยะดีขึ้น แล้วนั่งรอแค่คนที่มีอำนาจ เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ถ้าสมมติภาคประชาชนทุกคนช่วยกันทำ มันก็เห็นแรงกระตุ้น ขยะก็จะถูกนำไปจัดการได้ถูกต้องกว่าเดิมเยอะ ตอนนี้ก็เริ่มมีคนช่วยกัน คนเขารู้ว่าจะต้องส่งขยะไปที่ไหน เริ่มมีสื่อออกมาพูดมากขึ้น มีเพจเกี่ยวกับเรื่องขยะ เรื่องสิ่งแวดล้อมออกมามากขึ้น เราลองมองเท่านี้ก่อน ไม่ต้องมองไปถึงปัญหาระดับโลกขนาดนั้น มันจะทำให้เรามีกำลังใจทำมากขึ้น”

Konggreengreen สื่อสนุกโดยอินฟลูเอนเซอร์สายเขียวที่ชวนทุกคนสนใจเรื่องขยะ

จาก YouTuber สู่ TikToker

จากการสังเกตของคนทำงานสื่อ ก้องเห็นว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยูทูบกลายเป็นช่องทางที่มีคนประสบความสำเร็จมากมายจากการสร้างคอนเทนต์ดีๆ เขาจึงทดลองถ่ายทอดเรื่องราวการจัดการขยะในช่องทางนี้ดูเช่นกัน แต่เมื่อเผยแพร่ออกไป คนไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับคลิปวิดีโอสั้นๆ ง่ายๆ อย่างใน TikTok โด่งดังขึ้นมาพอดี

“เราลองเอาคลิปสั้นๆ ในยูทูบมาตัดลง TikTok แล้วมันก็มีคลิปที่ดังแบบฟลุ๊กๆ คือคลิปที่เราไปนั่งสัมภาษณ์แม่ค้าร้านวัสดุก่อสร้าง เขารียูสเอาถุงน้ำยาล้างจาน มาตัดเป็นถุงใช้แทนถุงพลาสติกให้ลูกค้า คนดูคลิปนั้นเป็นล้าน จากนั้นก็ลองทำอีกแบบง่ายๆ เช่น การขึ้นตัวหนังสือว่า ฉันในเมื่อก่อน ทิ้งถุงแกงลงถังขยะทันที แล้วเราก็บอกต่อไปว่า แต่ฉันในตอนนี้ เปลี่ยนการกระทำคือ เอาถุงแกงมาล้าง ปรากฏคนมาดูเป็นแสน คนเริ่มมาตาม เราก็เลยรู้สึกว่า เอ๊ะ หรือมันมีคนสนใจจริงๆ บางคนบอกว่า เฮ้ย เราก็ล้างถุงแกงเหมือนกัน เกิดเป็นคอมมูนิตี้ล้างถุงแกงขึ้นใน TikTok ของเรา

@konggreengreen

ถุงพลาสติกในมือ อย่าพึ่งทิ้ง!!!!! ดูคลิปนี้ให้จบแล้วคุณจะเข้าใจ #plasticbag #tiktokuni #greenery #konggreengreen #recycle #ใช้ซ้ําปังสุด

♬ original sound – Kong GreenGreen – Kong GreenGreen
@konggreengreen

พอรู้ว่าถุงแกงส่งไปรีไซเคิลได้ ก็ล้างถุงใหญ่เลย #konggreengreen #ลดโลกร้อนเริ่มที่เรา #รักษ์โลก #greenery

♬ #เมื่อก่อนvsตอนนี้ – นะ มิ้นต์ ?

พอจับทางได้ว่าคนใน TikTok ชอบอะไร ชอบแบบไหน ก้องจึงเริ่มเดินตามเส้นทางนั้น การเล่าเรื่องยากๆ ให้กลายเป็นเรื่องง่าย เป็นสิ่งที่ก้องคำนึงถึงแทนการใช้โปรดักชันใหญ่ๆ แบบที่เคยทำมา

“เราว่า TikTok เป็นพื้นที่ที่น่ารักและง่ายดี เราเล่าอะไรง่ายๆ ผลิตอะไรง่ายๆ จากนั้นก็เริ่มเพิ่มความรู้เข้าไป เริ่มเพิ่มเทคนิคในการแยกขยะที่มากขึ้น แต่เราต้องจำกัดด้วยว่า อย่าให้ข้อมูลอะไรที่ยากมาก เอาที่รู้สึกว่า เฮ้ย เราก็ทำได้นี่หว่า อะไรที่มันใกล้ตัวเขา เช่น ถุงขนมที่เขาเรียกว่าซองวิบวับ อันนี้พี่บอกว่าส่งไปโครงการ Green Road ทำอิฐบล็อกปูถนนหรือทำเป็นม้านั่งสาธารณะได้ คนก็ชอบกัน เพราะว่าคนก็กินขนมกันทุกวัน”

วางความเนี้ยบ เติมความง่าย

ในช่วงแรกของการทำคลิปใน TikTok ก้องบอกกับเราว่ามีขลุกขลักอยู่บ้าง เพราะความเนี้ยบที่ติดมาจากการทำงานโปรดักชันที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา วิดีโอเพลง หรือภาพยนตร์ ที่มีความละเอียดของเนื้องานอยู่สูงมาก แต่พอลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ก็เริ่มปรับตัวได้

“อาชีพของเราคือการทำสื่อ ทำโปรดักชันเฮาส์ด้วยซ้ำไป เวลาทำงานโฆษณากับงานที่มันต้องคราฟต์มากๆ ต้องนั่งไล่ดูทุกวินาที ต้องมานั่งเลือกฟอนต์กับกราฟิกว่าเอาแบบไหนดี เลือกกันอยู่นั่นแหละ แต่พอมาเป็น TikTok ปุ๊บ ช่วงแรกก็อยากจะทำให้มันเนี้ยบ เพราะรู้สึกว่ามันไม่ได้เว้ย เรามีศักดิ์ศรี เราเป็นผู้กำกับโฆษณา ทำรายการทีวีมาก่อนนะเว้ย เลยทำคลิปจากข้างนอกแอปฯ ถ่ายสวยๆ ทำกราฟิกดีๆ พอโพสต์ไปใน TikTok คนกลับไม่ค่อยยอมรับมันสักเท่าไหร่

“แต่พอเราไม่ได้ทำอะไรกับมันมาก ใช้กราฟิกในตัวแอปฯ เลย เวลาตัดต่อ บางทีคำพูดยังค้างอยู่ เราก็ตัดทิ้งแล้ว ถ่ายมาแบบหน้ามันๆ หัวยุ่งๆ เสื้อย้วยๆ มืดๆ มีเงาแว่นพาดหน้า คนกลับชอบแบบนี้มากกว่า เรื่องของความเนี้ยบอาจจะไม่ต้องมีมากเท่ากับตอนที่ทำโปรดักชัน ซึ่งเป็นอาชีพหลักของเรา เราก็ต้องปล่อยวาง ละวางความเนี้ยบลงไป แล้วใส่ความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ปรากฏว่ามันได้รับการตอบรับ คนสนใจการเล่าเรื่องสไตล์นี้ ก็เลยเป็นที่รู้จักมากขึ้นครับ”

การทำคลิปในแต่ละครั้ง ก้องจึงกลายเป็น One Man Show โดยสมบูรณ์ ไม่ว่าจะทั้งเขียนบท พิธีกร ตัดต่อ หาเพลง ลงโพสต์ครบจบที่แอปฯ และคนเดียว

อินฟลูเอนเซอร์ที่ถูกปัดดูมาแล้วกว่า 20 ล้านวิว

ไม่นานมานี้ เราเห็นโพสต์จาก Konggreengreen เกี่ยวกับข่าวดีที่ #Konggreengreen ใน TikTok มียอดคนดูกว่า 20 ล้านวิว เป็นอีกก้าวสำคัญที่ยืนยันว่า มีคนในสังคมสนใจและอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นจริงๆ

“รู้สึกดีใจมาก ไม่ได้ดีใจกับตัวเองเลยนะ เราดีใจที่คนอยากฟังเรื่องขยะกันเยอะขนาดนี้ สมมติว่าทำรายการนี้ คลิปแบบนี้เมื่อสิบห้าปีก่อน จะมีคนฟังเยอะขนาดนี้หรอวะ ยุคที่มันเกิดยูทูเบอร์มาแรกๆ ของโลก ถ้าเขาพูดเรื่องขยะ คนไทยจะมีคนฟังเยอะขนาดนี้เลยไหม มันเกิดอะไรขึ้น หรือว่าคนรอไม่ได้แล้ว เรื่องขยะไมใช่เรื่องรองหรือเรื่องที่เอาไว้ก่อนสำหรับคนทั่วไปแล้ว

“ในอินสตาแกรมเรา เมื่อก่อนไม่มีใครสนใจติดตามหรอก เราเป็นแค่พิธีกรสารคดีท่องเที่ยวธรรมดาๆ คนหนึ่ง ตอนแรกเขินมากเลยนะที่จะเอาเรื่องขยะลงไอจี คิดภาพออกมั้ย ไอจีมันต้องคุมโทน ต้องเท่ ไอจีคือการโชว์ไลฟ์สไตล์ เราลังเลใจมากที่จะเอาเรื่องขยะลงไอจี แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจลง ปรากฏว่าเพื่อนกดไลก์มากกว่าไลฟ์สไตล์ปกติอีก จากนั้นเลยเริ่มเอาเรื่องขยะมาลง คนเริ่มมาคุยด้วย คนมากดติดตาม ไม่ได้บ้ายอดฟอลนะ แต่รู้สึกว่าพอเรามีเพื่อนมากขึ้น มีช่องทางในการบอกต่อมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่คนเขาใส่ใจเรื่องนี้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเขาอยากดูแต่เรื่องสวยๆ งามๆ เท่ๆ หล่อๆ อย่างเดียว”

20 ล้านวิวที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้บอกว่า ก้องมีไลฟ์สไตล์เกี่ยวกับขยะอย่างโดดเดี่ยว แต่ยอดวิวทั้งหมดนี้ กำลังบอกว่า มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่กำลังพาขยะให้เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ด้วยเช่นเดียวกันกับเขา

Konggreengreen กับการไปต่อเรื่องขยะ

หลังจากแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากว่าขวบปี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564 สื่อรักษ์โลกสื่อนี้ได้รับรางวัล Best Green Change Maker Influencer จากงานประกาศรางวัล Thailand Influencer Awards 2021 Presented by Tellscore เราจึงอยากรู้ว่า Konggreengreen จะเล่าอะไรให้ทุกคนฟังอีก

“ก้าวต่อไปของ Konggreengreen เราอยากไปเรียน ไปฝึกงานเรื่องขยะอย่างจริงจัง”

ก้องพูดถึงแผนที่วางไว้อย่างหนักแน่น ถึงแม้ว่าเขาจะทำสื่อเกี่ยวกับเรื่องขยะมาไม่น้อย แต่ก็ยอมรับว่า ยังมีอีกหลายคำถามที่คนถามมาแล้วเขาตอบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น

‘เครื่องสำอางทิ้งยังไง’

‘ซองกันชื้นทิ้งยังไง’

‘สิ่งที่เราแยกๆ กันอยู่ มันละเอียดเกินไปไหม’

‘ขยะอะไรที่ขายได้ราคา’

“เราอยากเอาคำตอบมาบอกเขา เพื่อให้เขามีแรงจูงใจในการแยกขยะให้ถูกมากขึ้น เราอยากจะไปฝึกงานร้านแยกขยะ แล้วก็อาจจะถ่ายเรียลลิตี้ที่เราไปเรียนรู้เรื่องขยะแต่ละอย่างไว้ด้วย ถ่านไฟฉายมาถึงเป็นยังไง โทรศัพท์มือถือที่เขาทิ้งแล้ว แงะอะไรออกมายังไง อยากให้คนดูเรียนรู้ไปพร้อมกับเรา อยากให้รู้จักขยะมากขึ้น”

ก้องย้ำกับเราว่า อยากไปเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจให้กระจ่างว่า ที่เราแยกกันอยู่มันถูกไหม ถึงปลายทางอย่างปลอดภัยหรือเปล่า พอถึงแล้วถูกจัดการอย่างไรต่อ เรียกได้ว่าการพาไปสำรวจการเดินทางของขยะ เป็นสิ่งที่ก้องอยากพาทุกคนร่วมเดินทางเป็นเพื่อนกันไปตลอดทาง

Facebook: Konggreengreen

YouTube: Konggreengreen

TikTok : Konggreengreen

Instagram : Konggreengreen

Writer

Avatar

ชลณิชา ทะภูมินทร์

นักเล่าเรื่องฝึกหัดกำลังตามหาความฝันที่หล่นหาย คนน่าน-เชียงใหม่ที่รักบ้านเกิดแต่ก็หลงรักการเดินทาง

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ