“การคาดหวังให้โลกได้เรียนรู้สัจธรรมใหม่ ๆ หรือแม้แต่ที่เก่าแล้วก็ตาม โดยไม่ต้องท้าทายใด ๆ เลย ก็คือการมองหาหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่มีวันเกิดขึ้น”
อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ (ปี 1823 – 1913)
ถามคนทั่วโลกว่าสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในประเทศอินโดนีเซียที่รู้จักดีคืออะไร
คำตอบคือ เกาะบาหลี
เช่นเดียวกัน นักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่บาหลีมากกว่าสถานที่อื่นใดในประเทศที่มีเกาะ 14,000 เกาะมากที่สุดในโลก
ปี 2019 ก่อนโรคโควิดระบาด อินโดนีเซียมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 16.1 ล้านคน โดยเกือบ 40% เป็นผู้มาเยือนเกาะบาหลี จนเรียกได้ว่าสถานที่น่าสนใจอื่น ๆ ในประเทศนี้ไม่ได้อยู่ในหมุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ต้นเดือนมีนาคม ปี 2023 หลังโควิดระบาดลดลง ผู้เขียนกลับไปบาหลีเป็นครั้งที่ 4 แต่คราวนี้เกาะแห่งนี้ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แค่แวะมาเปลี่ยนเครื่องบินข้ามทะเลไกลไปทางตะวันออก
จุดมุ่งหมายคืออุทยานแห่งชาติเกาะโคโมโด สถานที่ลึกลับที่มีมังกรในตำนานอาศัยอยู่หลายพันตัว ที่เดียวในโลก
ระหว่างทางจากเกาะบาหลี เราบินข้ามเกาะลอมบอกด้วยความตื่นเต้น เพราะเรากำลังผ่านเส้น ‘วอลเลซไลน์’ (Wallace’s Line) เส้นชีวภูมิศาสตร์สำคัญระดับโลก กั้นช่องแคบเล็ก ๆ ระหว่างเกาะบาหลีกับเกาะลอมบอก ซึ่งแบ่งการกระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับออสเตรเลียให้แตกต่างกันอย่างลิบลับ

‘Wallace’s Line’ ตั้งชื่อตาม อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ (Alfred Russel Wallace) นักธรรมชาติวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ชาวอังกฤษ ร่วมสมัยเดียวกับ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ผู้ค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
ในระหว่าง พ.ศ. 2397 – 2405 วอลเลซได้เดินทางไปสำรวจและเก็บตัวอย่างพืชและสัตว์ในป่าทางแถบแหลมมลายู เกาะชวา บอร์เนียว สุมาตรา และตั้งข้อสังเกตว่าช่องแคบเล็ก ๆ กว้างเพียง 35 กิโลเมตรกั้นระหว่างสองเกาะนี้แบ่งชนิดพืชและสัตว์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง สิ่งมีชีวิตบนเกาะบาหลีส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับในเกาะชวา สุมาตรา ไปจนถึงคาบสมุทรมลายู มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เสือ ช้าง กวาง สัตว์กีบชนิดต่าง ๆ ฯลฯ ส่วนบนเกาะลอมบอกนั้นแทบไม่พบสิ่งมีชีวิตพวกเดียวกับที่พบบนเกาะบาหลี ไม่มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้เลย แต่จะไปคล้ายคลึงกับที่พบบนหมู่เกาะโมลุกกะ ไปจนถึงเกาะนิวกินีและประเทศออสเตรเลียมากกว่า

อะไรทำให้ระหว่างเส้นพรมแดนนี้มีความแตกต่างกันมากนัก วอลเลซตั้งคำถามอยู่นานและสันนิษฐานว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ซึ่งในสมัยนั้นมนุษย์ยังไม่มีความรู้เรื่องแผ่นดินไหวและการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ในเวลาต่อมา ข้อสันนิษฐานของเขาถูกต้อง เมื่อมีการค้นพบการเคลื่อนตัวของแผ่นทวีปและ Wallace’s Line ที่มีระดับน้ำทะเลลึกมาก คือบริเวณที่แบ่งไหล่ทวีป 2 แผ่นออกจากกัน และเป็นเส้นการแบ่งเขตการกระจายพันธุ์ของสัตว์ฝั่งเอเชียกับออสเตรเลีย
ในเวลาต่อมา เขาได้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการว่าเกิดจากการคัดสรรโดยธรรมชาติอย่างเดียวกับทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน เพียงแต่ว่าไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก

เราข้ามทะเลเป็นเวลากว่าชั่วโมง ผ่านเกาะหลายสิบแห่ง เห็นแนวปะการังน้ำตื้นอยู่ริมหาดหลายแห่ง ก่อนที่เครื่องบินจะร่อนลงสู่สนามบินโคโมโด ในเมืองลาบวน บาโจ เมืองท่าสำคัญของหมู่เกาะฟลอเรส
ภายในสนามบิน เราพบทหารและหน่วยรักษาความปลอดภัยจำนวนมากเดินกันขวักไขว่ สอบถามจึงทราบว่าประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วีโดโด (Joko Widodo) ในฐานะประธานอาเซียน กำลังจะเดินทางมาตรวจความเรียบร้อยของสถานที่ประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนที่จังหวัดลาบวน บาโจ
ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ได้โพสต์ทวิตเตอร์ ระบุว่า “รัฐบาลจะใช้โอกาสในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพปีนี้ ในการส่งเสริม ‘ลาบวน บาโจ’ เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ”
ทุกวันนี้ ประเทศขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนมีรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคิดเป็นเพียง 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้วทำเงินได้ถึง 20% ของ GDP
‘ลาบวน บาโจ’ เมืองท่าที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก แต่สำหรับนักดำน้ำทั่วโลกแล้ว ที่นี่คือหมุดหมายสำคัญของพวกเขา ใต้ท้องทะเลที่มีสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก ทะเลสวย หาดทรายงดงาม
สำหรับเราแล้ว หลายวันแห่งการท่องทะเลฟลอเรส สำรวจเกาะและชายหาดแถวนี้ ดูไม่ต่างจากเกาะสิมิลันหรือเกาะสุรินทร์เมื่อ 20 กว่าปีก่อน งดงาม เงียบ สงบ และไม่ค่อยมีผู้คนมาก

เราออกเรือพร้อมไกด์ท้องถิ่นอัธยาศัยดีไปตามหมู่เกาะ มีหาดทรายสวยงาม หลายแห่งเป็นหาดทรายสีชมพู (Pink Beach) ซึ่งเกิดจากปะการังสีชมพูบริเวณนั้นถูกคลื่นซัดจนละเอียดเป็นทรายสีชมพู งดงามตระการตามาก น้ำทะเลใสแจ๋ว พอก้าวเดินลงไปดำน้ำตื้นแบบสน็อกเกิล ทะเลใต้น้ำแถวนี้วิเศษมาก ๆ ระดับน้ำตื้นไม่กี่เมตร แต่เต็มไปด้วยฝูงปลาหลากหลายสีสัน อาทิ ปลาการ์ตูน ปลานกแก้ว ฉลามครีบดำ ปลาสลิดหิน ปลากะรังจิ๋ว ฯลฯ เราดำน้ำลงไปไม่ไกล แต่เห็นปะการังมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นปะการังสมอง ปะการังดอกไม้ ปะการังเขากวาง ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังผักกาด ปะการังเห็ด ฯลฯ โลกใต้น้ำบริเวณนั้นอุดมสมบูรณ์มาก
พอขึ้นมาพักผ่อนนอนเล่นริมหาด มันเงียบสงบจริง ๆ มีนักท่องเที่ยวไม่กี่คน ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป
“ทะเลแถวนี้มีแต่นักท่องเที่ยวยุโรป ไม่ค่อยมีคนเอเชีย น่าจะเป็นเพราะคนเอเชียว่ายน้ำไม่ค่อยเก่ง” ไกด์ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมทัวร์จีน ญี่ปุ่น ไทย ไม่ค่อยมาเที่ยวหมู่เกาะแถวนี้
เย็นวันนั้นไกด์พาเรามาลอยเรือบริเวณเกาะ Rinca เพื่อรอดูค้างคาวแม่ไก่บินออกจากป่าชายเลน พอดวงอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้าตัดกับทะเลสีคราม ค้างคาวตัวใหญ่บินออกจากป่าเป็นแนวยาวไม่หมดสิ้น เพื่อไปหากินในยามค่ำคืน ประมาณว่ามีค้างคาวร่วม 5,000 ตัวที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนแถวนั้น
เรือมุ่งหน้าฝ่าความมืดไปสู่เกาะอีกแห่ง ค่ำคืนนั้นเรานอนกลางทะเล เห็นดาวนับแสนดวงเปล่งประกายระยิบระยับ เห็นทางช้างเผือกพาดผ่านท้องฟ้ากระจ่างตาเป็นครั้งแรกทางซีกโลกใต้
เป็นจริงที่บอกว่า ฟ้ายิ่งมืด ดาวยิ่งกระจ่าง
ไกด์ปลุกเราตอนตี 4 เพื่อเดินขึ้นบนยอดเขาเกาะ Padar ให้ทันดวงอาทิตย์ขึ้น บริเวณนี้เป็นจุดชมวิวอันงดงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย บนยอดเขามองลงไปเห็นแนวภูเขาบนเกาะตรงกลาง สองข้างเป็นอ่าวเว้ามาบรรจบกัน ไกลออกไปเป็นเกาะน้อยใหญ่สุดลูกหูลูกตา ทั้งหมดถูกจัดวางอย่างลงตัว
ธรรมชาติบรรจงสร้างสถาปัตยกรรมได้ลงตัวและงดงามเกินกว่าจินตนาการของมนุษย์จริง ๆ
สายของวันนั้น เรามุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติเกาะโคโมโด ขุนเขาและภูมิประเทศบริเวณนี้ดูลึกลับน่าเกรงขาม เจ้าหน้าที่พิทักษ์ที่เป็นคนนำทางเข้าไปหามังกรแจกไม้ง่ามขนาดใหญ่ให้เรา เป็นไม้ไว้ป้องกันตัวหากโคโมโดโจมตี

เมื่อไม่นานมานี้ เคยมีนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์แอบเข้าไปเที่ยวตามลำพังและถูกโคโมโดโจมตี กัดเป็นแผล โชคดีที่หนีออกมาได้และถูกนำส่งโรงพยาบาลทันท่วงที
น้ำลายของโคโมโดเป็นพิษอย่างรุนแรง โคโมโดจึงมีวิธีล่าเหยื่อด้วยการแอบไปกัดควายป่า กวาง หรือแพะของชาวบ้านเป็นแผล สัตว์เหล่านี้จะอ่อนเพลียจากการติดเชื้อพิษน้ำลาย ขณะที่โคโมโดจะอดทนติดตามเหยื่อไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดเมื่อสัตว์อ่อนแอลงมาก พวกมันจะเข้าโจมตีจนกลายเป็นเหยื่ออันโอชะ

เล่ากันว่าเคยมีคนไทยมาเที่ยวบนเกาะและถูกโคโมโดกัด แต่ไม่ได้รักษาตัวที่โรงพยาบาลในอินโดนีเซียที่รู้เรื่องแนวทางการรักษาเป็นอย่างดี แต่กลับเมืองไทยเลย ปรากฏว่าบาดแผลติดเชื้อลุกลาม และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

เจ้า ‘มังกรโคโมโด’ (Varanus komodoensis) อาศัยอยู่บนเกาะเหล่านี้มานาน ในปี 1912 ชาวดัตช์เป็นคนนำเจ้ามังกรยักษ์นี้ออกไปเผยแพร่ให้โลกรับรู้ ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ตระกูลตะกวดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาดความยาวกว่า 3 เมตร ออกลูกเป็นไข่ ใช้เวลาวางไข่ 7 – 8 เดือน
เราเดินเข้าไปในป่าโปร่งตามหาโคโมโดที่มีอยู่บนเกาะนี้ประมาณ 1,500 ตัว และกระจายอยู่ตามเกาะใกล้เคียงอีก 1,500 ตัว เราพบรังโคโมโดเป็นเนินดินขนาดใหญ่ พบรอยเท้าที่เดินจากไปไม่นาน แต่โอกาสเจอตัวไม่ง่ายนัก เพราะป่ารกทึบ แต่เราต้องเดินบนทางเดินเท่านั้น เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ชนิดนี้ซึ่งมีสัญชาตญาณสัตว์ป่าชัดเจน

บนเกาะแห่งนี้มีชาวบ้านอาศัยอยู่มานานแล้ว ก่อนที่ทางการจะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ พวกเขามีวิธีป้องกันตัวจากโคโมโดเป็นอย่างดี แต่ล่าไม่ได้ เพราะเป็นสัตว์ป่าสงวน แม้ว่าจะมากินแพะของชาวบ้าน
จนกระทั่งเมื่อเราเดินมาใกล้ริมหาด เจ้าหน้าที่ชี้ให้ดูโคโมโดขนาดใหญ่ 3 เมตร หนักร่วม 100 กิโลกรัม กำลังนอนอยู่บนหาด
“ตัวนี้อายุประมาณ 25 ปี เป็นหนุ่มวัยฉกรรจ์ น่าจะเพิ่งจับเหยื่อได้ไม่นาน”
เจ้าหน้าที่เล่าว่าโคโมโดเป็นสัตว์อายุยืนใกล้เคียงกับมนุษย์คือเฉลี่ย 60 ปี และโบกมือให้เราเข้าไปใกล้ ๆ ได้ แต่หากมันเริ่มเดินออกล่าเหยื่อ เห็นลำตัวตัน ๆ แบบนี้ วิ่งได้เร็วถึง 20 กม. / ชม.
เราเข้าไปสังเกตดูใกล้ ๆ มันคือเหี้ยยักษ์ดี ๆ นี่เอง จากขนาดลำตัว ผิวหนัง และกรงเล็บอันคมกริบ โชคดีที่มันเป็นสัตว์เลือดเย็น กินอาหารเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น และที่เหลือเป็นเวลานอนอาบแดดผึ่งพุงย่อยอาหารและเพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกาย
น่าคิดที่ว่าสัตว์เลือดเย็นอย่างจระเข้ เต่า มีชีวิตยืนยาวไม่สูญพันธุ์มาหลายร้อยล้านปี นานกว่าสัตว์เลือดอุ่นชนิดอื่น เพราะมันกินอาหารไม่มาก เปรียบเทียบกับสัตว์เลือดอุ่นที่ต้องกินอาหารตลอดเวลา เพื่อเผาผลาญเป็นเชื้อเพลิงรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่
ประมาณว่าสัตว์เลือดเย็นบริโภคทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่าสัตว์เลือดอุ่นถึง 10 เท่า ไม่ต้องดิ้นรนหาอาหารมาก จึงปรับตัวอยู่รอดได้ดีกว่า
โคโมโดสัตว์เลือดเย็นกินครั้งเดียว อิ่มเป็นเดือน
แต่สัตว์เลือดอุ่นอย่างเรา กินทุกวันไม่เคยอิ่มจริง ๆ