เท้าของผมกำลังก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของหน้าผา ด้านล่างคือท้องทะเลสีเขียวมรกตและชายฝั่งอันดามันทอดยาว เบื้องหน้าของผมคือเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา ที่เป็นจุดหมายการเดินทางของผมในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่นี่เป็นที่ตั้งของโรงแรมหรูระดับ 5 – 6 ดาวมากมาย มีบ้านพักและรีสอร์ตหลากหลายรูปแบบให้นักท่องเที่ยวเลือกตามใจชอบ ทิวทัศน์ด้านหน้าคือภาพที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของธรรมชาติที่งดงามมากที่สุดที่ผมเคยเห็นมาในชีวิตนักเดินทาง

การเดินทางของผมในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อใกล้ชิดกับชาวมุสลิมบนเกาะแห่งนี้โดยเฉพาะ

เดินทาง-ใช้ชีวิตบนเกาะยาวน้อย จ.พังงา พื้นที่เล็ก ๆ ที่ความหลากหลายและมิตรภาพเบ่งบาน

ก้าวแรกบนยาวน้อย

ผมนั่งเรือสปีดโบ๊ตข้ามจากฝั่งจังหวัดภูเก็ตไปถึงท่าเรือมาเนาะ ท่าเรือสำหรับนักท่องเที่ยวและคนท้องที่อย่างผู้มาเยือนทั่วไป คนที่นี่ต้อนรับผมด้วยรอยยิ้ม ไม่มีการเอารถรับจ้างมายัดเยียดโก่งราคาเพื่อรับนักท่องเที่ยว ผมนัดคนบนเกาะแห่งนี้ให้เอารถมารับผมไว้แล้ว คือ คุณอับดุลฮาดีย์ โรมินทร์ ผมเรียกคุณพี่ท่านนี้ว่า บังดีย์ ครอบครัวบังดีย์ถือเป็นตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่งของเกาะยาวน้อย การมาเยือนครั้งนี้ผมได้รับความกรุณาด้านการประสานงานและการดูแลความเป็นอยู่ทั้งหลายจากบังดีย์ตลอดทริป

เดินทาง-ใช้ชีวิตบนเกาะยาวน้อย จ.พังงา พื้นที่เล็ก ๆ ที่ความหลากหลายและมิตรภาพเบ่งบาน
ผู้เขียนและบังดีย์

การเดินทางมายังเกาะยาวน้อยนับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมต้องอัศจรรย์ใจ เนื่องจากทัศนียภาพทางทะเลที่ผมเห็นมาแล้วหลายที่ในบ้านเมืองเรา และอาจรวมถึงทะเลบางแห่งในหลายมุมโลก จะหาที่งามละมุนละไมเสมอเกาะยาวน้อยนั้นยากเหลือเกิน แม้ว่าหาดทรายไม่ใช่สีนวลขาวชวนฝัน แต่โขดหินเรียงรายบนหาดทรายที่นำสายตาไปสู่ป่าเกาะของท้องทะเลอันดามันนั้นงามมหัศจรรย์อย่างมาก แสงแดดทอประกายระยิบระยับกับเกลียวคลื่นเป็นรัศมีของดวงอาทิตย์ดวงเดียวกับที่ทอแสงลงมาล้อเล่นกับเม็ดทรายหลายโทนสีบนชายหาดนั้นเพลินตา และน้ำใจของชาวบ้านที่นี่ก็ทำให้ผมเพลินใจอย่างมากเช่นกัน

เดินทาง-ใช้ชีวิตบนเกาะยาวน้อย จ.พังงา พื้นที่เล็ก ๆ ที่ความหลากหลายและมิตรภาพเบ่งบาน

มีอยู่วันหนึ่งผมนั่งคุยกับบังดีย์ที่บ้าน ผมสังเกตว่าชาวบ้านมีวิถีชีวิตเรียบง่ายแม้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก แต่กลับไม่มีใครมองเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนเป็น ‘ขุมทรัพย์’ แต่อย่างใด สิ่งที่คนบนเกาะนี้มีให้คือความเป็นมิตรและความเป็นธรรม จนผมอดถามบังไม่ได้

“บังครับ​ นักท่องเที่ยวมาเยอะขนาดนี้ ทำไมคนบนเกาะถึงไม่คิดจะหากินจากนักท่องเที่ยวครับ” 

“ต้นคูนอยากให้คนบนเกาะหากินอะไรจากนักท่องเที่ยวล่ะ เราทำสวน ทำไร่ ทำนา หาปลา​ แล้วก็ค้าขาย” บังดีย์ตอบยิ้ม ๆ “นักท่องเที่ยวก็อยู่ของเขา มีอะไรก็ดูแลกัน เราอยู่กันอย่างนี้แหละ”

“ก็ที่ทำไร่ ทำนา หาปลานั่นไงครับบัง” ผมแหย่ต่อ “บางทีของธรรมดาที่เราเห็นอยู่อาจจะเป็นของแปลกสำหรับนักท่องเที่ยวก็ได้ ผมเคยไปมัลดีฟส์​ บังรู้มั้ย เขาออกเรือประมง แล้วหนีบนักท่องเที่ยวไปด้วย เก็บนักท่องเที่ยววันหนึ่งได้ตั้งหลายพัน​ เขาไม่ได้ลงทุนอะไรเพิ่มเลย เขาก็ต้องออกเรือหาปลาอยู่แล้ว”

“แต่นั่นก็ต้องนำมาซึ่งการบริหารจัดการเพิ่มเติมอีกนะ” บังดีย์ตอบพร้อมทำสีหน้าครุ่นคิด “ถามว่ามันเป็นไปได้ไหม มันก็เป็นไปได้ แต่ว่าเราจำเป็นจะต้องทำแบบนั้นจริง​ ๆ​ หรือ​ ในเมื่อเรามีพอ”

เดินทาง-ใช้ชีวิตบนเกาะยาวน้อย จ.พังงา พื้นที่เล็ก ๆ ที่ความหลากหลายและมิตรภาพเบ่งบาน

เกาะยาวน้อยเป็นเกาะที่มีอัตราการท่องเที่ยวเจริญเติบโตขึ้นทุกปี นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเกาะยาวน้อยส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง แต่วิถีของคนยาวน้อยกับวิถีของนักท่องเที่ยวดูเหมือนจะแยกส่วนออกจากกัน​ นักท่องเที่ยวใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรม ชาวบ้านก็ใช้ชีวิตส่วนตัว​ ไม่ได้มีส่วนเข้ามาปฏิสัมพันธ์​กันเท่าไหร่นัก ผมรู้สึกว่าถ้าชาวบ้านจะหันมาจับตลาดหากินกับนักท่องเที่ยวก็คงจะไม่ผิดอะไรนัก เพราะนักท่องเที่ยวเองก็มาท่องเที่ยวที่เกาะยาวน้อยอย่างไม่ขาดสาย​ แต่เมื่อเหตุการณ์พลิกผันเพราะวิกฤตโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปเกือบทั้งหมด ผมก็ต้องยอมรับว่าบังดีย์พูดถูก

“ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย คนบนเกาะอยู่ได้ไหมครับ” ผมถามต่อด้วยความอยากรู้

“อยู่ได้นะ เพราะว่าจริง ๆ พวกเราก็ทำสวน ทำไร่ หาปลา​” บังดีย์ตอบพลางมองออกไปที่ทุ่งนาหลังบ้าน “พอนักท่องเที่ยวหายไป​ เรากลับจับปลาได้มากขึ้น​ เอาปลาที่หาได้มาวางในตลาดแป๊บเดียวก็หมดแล้ว ช่วยซื้อกันเอง​ อยู่กันเอง เราก็รอดนะ ถามว่าผลกระทบมีอยู่ไหม​ มีเหมือนกัน​ เพราะมีคนที่ขายของให้นักท่องเที่ยว มีคนที่ขับรถรับจ้าง​ แต่เขาไม่ได้พึ่งพาตรงนั้นแค่จุดเดียว เมื่อนักท่องเที่ยวหายไป​ รายได้ก็ต้องลด​ แต่เขาก็ยังมีรายได้ในทางอื่นอยู่​ มันคือการกระจายความเสี่ยง”

บนเกาะยาวน้อยมีพื้นที่เกษตรกรรมมากมาย มีทะเลที่อุดมสมบูรณ์ล้อมรอบ สิ่งที่ทำให้เกาะยาวน้อยโดดเด่นกว่าข้ออื่น ๆ คือการมีทุ่งนากว้างใหญ่เมื่อเทียบกับสัดส่วนของพื้นที่เกาะ นานั้นชื่อว่า นาโต๊ะแหนะแหนะ อันมีความหมายว่า เป็นนาที่บรรพบุรุษสร้างสมเอาไว้ให้ ปัจจุบันนานี้มีทั้งพันธุ์ข้าวท้องถิ่น และพันธุ์ข้าวที่เอามาปรับปรุงสายพันธุ์​ ชาวบ้านหลายคนมีส่วนทำนาในนาผืนนี้​ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว หลายบ้านจึงมีข้าวเอาไว้กินเป็นของตัวเอง และยังเหลือข้าวมากพอเอาไว้ค้าขายด้วย

เดินทาง-ใช้ชีวิตบนเกาะยาวน้อย จ.พังงา พื้นที่เล็ก ๆ ที่ความหลากหลายและมิตรภาพเบ่งบาน

“ป๊ะกับมะ​ (พ่อกับแม่)​ ผมสอนเอาไว้เลย​ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น​ ห้ามเลิกทำนา​ ห้ามหยุดจับปลา​ และห้ามถมบ่อ เขาสอนแบบนี้มาตลอด​ และพวกเราก็ยึดถือมาจนถึงวันนี้” บังดีย์เล่าให้ผมฟัง

“แล้วถ้าเกิดนักท่องเที่ยวไม่กลับมาที่เกาะยาวน้อยมากเท่ากับแต่ก่อนล่ะครับ สิ่งที่เกาะยาวน้อยมีจะเพียงพอต่อการเลี้ยงคนบนเกาะไหม” ผมถามด้วยความอยากรู้ (อีกครั้ง) เพราะในฐานะที่ขาข้างหนึ่งของผมข้องเกี่ยวอยู่กับงานด้านการท่องเที่ยว รายงานข่าวทั่วโลกระบุตรงกันอย่างน่าใจหายว่า กว่าการท่องเที่ยวทั่วโลกจะฟื้นตัวกลับไปอยู่ในมูลค่าและปริมาณเท่าเดิมได้ก็คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี

“มีนักท่องเที่ยวมันก็ดี แต่ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวเราก็ต้องอยู่ได้บนวิถีชีวิตแบบที่เราเป็น นักท่องเที่ยวเป็นแค่ส่วนเสริม โรคระบาดครั้งนี้เห็นแล้วว่าเราหวังพึ่งพาอะไรเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้​ ถึงแม้ว่านักท่องเที่ยวหายไป​แต่เรายังทำนา​ เรายังทำสวน​ เรายังจับปลา​ และเราไม่ได้ถมบ่อ เราจึงอยู่ได้” บังดีย์พูดอย่างหนักแน่น “ที่เกาะยาวน้อยเราเป็นสังคมเครือญาติ ​เราพึ่งพาอาศัยกัน​ ใคร​ขาดเหลืออะไรบอกกันได้​ บ้านของเราแต่ละคนไม่มีรั้ว​ เพราะเราไม่ขโมยของกัน​ เราไม่ทำร้ายกัน​ เรามีแต่ช่วยกัน”

รู้ใจ – ประทับใจ – ชื่นใจ

ผมมีโอกาสคุยกับคนรุ่นใหม่บนเกาะยาวน้อย ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับการเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คนที่อายุไม่ถึง 30 ปีบนเกาะนี้เห็นคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในเกาะยาวน้อยมากมาย มีโอกาสเห็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปจากคนรุ่นพ่อแม่หรือ​ปู่ย่าตายายของเขา ผมจึงอยากรู้ว่าเขามีมุมมองที่แตกต่างออกไปจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่หรือไม่ และนี่คือคำตอบที่ผมได้รับจากการคุยกับน้อง ๆ กลุ่มหนึ่งในโรงเรียนปอเนาะสันติสุข ซึ่งเป็นโรงเรียนปอเนาะบนเกาะยาวน้อย 

หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนปอเนาะที่นี่ถือว่ามีมาตรฐาน เพราะครอบครัวมุสลิมในจังหวัดต่าง ๆ แม้จะอยู่ไกลแต่ก็ยินดีส่งลูกให้มาเรียนโรงเรียนปอเนาะที่นี่ ข้อนี้ผมพิสูจน์ได้จากการที่คืนวันหนึ่งผมมีโอกาสเข้าร่วมพิธีตัมมัตอัลกุรอาน เป็นพิธีสำเร็จการศึกษาพระคัมภีร์ของชาวมุสลิม ในคืนนั้นหลายครอบครัวเดินทางมาจากจังหวัดสตูลบ้าง จังหวัดยะลาบ้าง จังหวัดสงขลาบ้าง และจังหวัดปัตตานีบ้าง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งความสำเร็จของลูกหลาน บรรยากาศอบอุ่นไม่ต่างจากงานรับปริญญาในมหาวิทยาลัย เพียงแต่เต็มไปด้วยความสงบและศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากเป็นโรงเรียนสอนศาสนา

เดินทาง-ใช้ชีวิตบนเกาะยาวน้อย จ.พังงา พื้นที่เล็ก ๆ ที่ความหลากหลายและมิตรภาพเบ่งบาน
ผู้เขียนในพิธีตัมมัตอัลกุรอ่าน

“เราต้องไม่ทิ้งสิ่งที่เราเคยมีครับบัง​ พ่อแม่ทำอะไร เราก็ทำตรงนั้นต่อ แต่สิ่งที่เราต้องมี​ คือต้องมีศาสนา​ มีคุณธรรม​ นี่เป็นสิ่งที่พระเจ้าสอนเรา​ อิสลามสอนเรา ทิ้งตรงนี้ไม่ได้” น้องคนหนึ่งบอกผม

“น้องไม่อยากร่ำรวย​แบบนักท่องเที่ยว​หรือใช้ชีวิตให้คุ้ม ให้สนุกแบบคนอื่นเหรอครับ” ผมถาม

“ถ้าถามว่าอยากรวยไหม​ ทุกคนอยากรวยนะบัง ผมก็เหมือนกัน” น้องตอบด้วยความน้ำเสียงจริงใจ​ “แต่สิ่งสำคัญ เราต้องรู้ว่าเราทำอะไรได้ แล้วเราทำตรงไหนต่อได้ เราอาจจะไปหาประสบการณ์ทำงานในเมืองใหญ่​ แต่สุดท้ายเราต้องไม่ทิ้งตรงนี้ เราต้องมีศาสนา​ ต้องมีคุณธรรม ไม่ทิ้งในสิ่งที่เรามี” 

ท่ามกลางความเงียบสงัดของเมืองท่องเที่ยวทั้งหลาย ร้านรวงปิด​ โรงแรมต้องปลดพนักงานออกหรือปิดกิจการ​ ธุรกิจต่าง​ ๆ​ ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวล้วนแต่ซบเซา แต่เกาะยาวน้อยซึ่งเป็นเกาะที่ดูเผิน​ ๆ​ เหมือนจะต้องอาศัยนักท่องเที่ยวมาก กลับรอดพ้นวิกฤตการณ์ทั้งปวงมาได้อย่างสง่าผ่าเผย

ของกินบนเกาะมีพอ​ และคนบนเกาะมีกิน แม้ว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เป็นศูนย์จะทำให้รายได้ของคนบนเกาะลดลง​ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนบนเกาะต้องพึ่งพาอาศัยนโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐทั้งหมด คนบนเกาะยาวน้อยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่​ มีน้ำใจ มีพอสำหรับตัวเอง มีพอสำหรับคนรอบข้างและมีพอสำหรับการแบ่งปัน ข้อนี้ผมยืนยันได้ เพราะคนบนเกาะยาวน้อยมีของมาแบ่งปันให้ผมเสมอ

เดินทาง-ใช้ชีวิตบนเกาะยาวน้อย จ.พังงา พื้นที่เล็ก ๆ ที่ความหลากหลายและมิตรภาพเบ่งบาน
บังดีย์เล่าเรื่องที่ราชการเอาถุงยังชีพ ‘สำเร็จรูป’ มาแจกชาวเกาะยาวน้อยแล้วหัวเราะร่วน

“ผมเห็นถุงยังชีพที่ราชการเขามาแจก ผมหัวเราะเลย​ เขาเอาปลากระป๋องมาให้ เอาข้าวมาให้​ จะเอาปลากระป๋อง​มาทำไม​ เราออกเรือไปหาก็มีปลาแล้ว​ ข้าวเราก็มี​ ผักเราก็มี​ แค่ช่วยกันรักษาไว้ เราก็จะมีอย่างนี้ต่อไป นี่คือความพอเพียงเลยนะต้นคูน​ ความพอเพียงแท้​ ๆ​ ที่ทำให้เราอยู่ได้​ ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องไปทำไร่ไถนาแบบนั้น​อย่างเดียว​ แต่มันคือการที่เราไม่ทิ้งตัวตนที่เราเป็น​ เรารู้ว่าเราทำอะไรได้​ เรามีอะไร​ และที่สำคัญคือเราแบ่งปัน เราไม่โลภ​ ตรงนี้สำคัญมาก” บังดีย์พูดกับผม

“ถ้าสมมติว่า เรามีเหตุให้ต้องปิดบ้านปิดเมืองกันอีก​ คนบนเกาะยาวน้อยจะอยู่ได้ไหมครับ”

“อยู่ได้น่ะอยู่ได้แน่นอน​ ถ้าไม่มีโรคระบาดระลอกสองก็ดีกว่า​” บังดีย์ตอบแบบง่าย ๆ ตรง ๆ “แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราไม่ทิ้งเรื่องการพึ่งพาตัวเอง​และความพอเพียง​ เพราะมันคือทางรอดจริง​ ๆ”

“สุดยอดเลยครับ​ ผมเห็นด้วย” ผมยิ้มตาม เพราะความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมยืนยันให้ผมเห็นอยู่เบื้องหน้าแล้ว ผมจะปฏิเสธสิ่งที่มีหลักฐานชัดเจนปรากฏตรงหน้าของผมได้อย่างไร

ผมเชื่อเรื่องของการพึ่งพาตัวเอง ผมเชื่อมั่นในการแบ่งปัน และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่ผมก็ยังอยากให้ทุก​ ๆ​ คนไขว่คว้าโอกาสตรงหน้ามาให้ได้ หลังจากโรคระบาด​ ผมเห็นแล้วว่าบางครั้งสิ่งที่เราคิดอาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับคนในพื้นที่นั้น​ ๆ​ เสมอไป และที่สำคัญ ถ้าเราผลักให้คนในแต่ละพื้นที่ไปพึ่งพาอาศัยคนนอกมากเข้า​ ๆ ในที่สุด​ ถ้าคนนอกหายไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะรุนแรงตามมาด้วยเช่นกัน

ในทางกลับกัน การรู้จักกระจายความเสี่ยง​ ไม่ทิ้งในสิ่งที่เป็น และยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่ถาโถมเข้ามานั้นต่างหากที่น่าทึ่ง เกาะยาวน้อยให้มุมมองอีกแง่มุมหนึ่งสำหรับผม เราไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปหมุนตามกระแสทุนหรือกระแสโลกเสมอไป ความยั่งยืนที่แท้นั้นคือการที่เรามีรากฐานที่มั่นคงมากพอที่จะรองรับเราในวันที่เราล้ม ไม่ใช่การมุ่งหน้าเติบโตอย่างบ้าระห่ำจนลืมรากเหง้าทั้งหมดที่เคยมี เพราะนอกจากจะทำให้เราโตแต่ตัวส่วนฐานง่อนแง่นแล้ว ในวันที่เราล้มขึ้นมา เราจะไม่มีเบาะนุ่ม ๆ เอาไว้รองรับเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบาเลย เราจะพบความเจ็บปวดเพียงอย่างเดียว

เดินทาง-ใช้ชีวิตบนเกาะยาวน้อย จ.พังงา พื้นที่เล็ก ๆ ที่ความหลากหลายและมิตรภาพเบ่งบาน
ผู้เขียนและครูสุวรรณ

ในฐานะคนที่สนใจเรื่องสังคม เมื่อเห็นวิถีชีวิตของผู้คน สัมผัสวิธีคิด และสังเกตถึงความผูกพันระหว่างคนท้องถิ่นกับศาสนาอิสลาม ผมจึงเชื่อมั่นว่า คำสอนในศาสนาย่อมมีส่วนกล่อมเกลาผู้คนบนเกาะแห่งนี้ให้มีวิถีชีวิตที่งดงาม ผมถามบังดีย์ว่ามีใครที่พอจะให้ข้อมูลแก่ผมในเรื่องนี้ได้ 

วันรุ่งขึ้น บังดีย์พาผมไปพบกับ ครูสุวรรณ มังคะลา ครูสอนศาสนาอิสลามแห่งมัสยิดดารุลกาเบตร คนเกาะยาวน้อยเรียกว่า มัสยิดบ้านใหญ่ ครูสุวรรณมีเรื่องเล่าให้ผมฟังมากมายเช่นกัน นอกจากเล่าเรื่องแล้ว ครูสุวรรณยังพาผมไปทัวร์รอบเกาะ เลี้ยงข้าวปลาอาหาร และมอบคัมภีร์อัลกุรอานฉบับภาษาไทยให้ผมกลับบ้านด้วย

ธรรมนูญแห่งชีวิต

ครูสุวรรณเล่าให้ผมฟังว่า ศาสนาอิสลามมีผลต่อการดำเนินชีวิตของชาวเกาะยาวน้อยมาก เพราะกฎศีลธรรมและระเบียบปฏิบัติประจำวันของชาวมุสลิมนั้นไม่แยกจากกัน ส่งผลให้ชาวเกาะยาวน้อยซึ่งนับถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดได้รับคำสอนในศาสนาอิสลามมาเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตอย่างกลมกลืน

“ปัจจัยที่ทำให้เกาะยาวน้อยมีความเงียบสงบ คือความปลอดภัย ถามว่าปลอดภัยจากอะไร ก็ปลอดภัยจากการที่คนยึดมั่นในศาสนา ศาสนาอิสลามจึงสำคัญมาก เพราะอัลลอฮ์ทรงสอนให้คนประพฤติปฏิบัติดี อีกอย่างที่สำคัญคือสังคมเครือญาติ เพราะทุกคนรู้จักกันหมด ใครนินทาอะไรผม ผมรู้ภายในสองนาที เพราะตรงหมู่บ้านนั้นก็มีญาติผม ตรงหมู่บ้านนี้ก็มีญาติผม ทุกคนเป็นญาติกัน ใครมีอะไรก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ช่วยเหลือกัน พึ่งพาตัวเองได้ไม่มีอดตายแน่นอน” ครูสุวรรณบอก

หนึ่งกลไกที่สำคัญในการเรียนการสอนศาสนาอิสลามบนเกาะยาวน้อยคือโรงเรียนสอนศาสนา ที่เสริมหลักสูตรด้านศาสนาจากสมาคมคุรุสัมพันธ์อิสลามแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ การเรียนการสอนในโรงเรียนศาสนา จะเปิดรับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้น ป.1 เป็นต้นไป มีหลักสูตรทั้งหมด 7 ปี สำหรับชาวมุสลิมในตำบลเกาะยาวน้อยจะเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาที่มัสยิดดารุลกาเบตร (มัสยิดบ้านใหญ่) ซึ่งเป็นมัสยิดเก่าแก่ของเกาะ และเป็นมัสยิดประจำหมู่ 2 ของตำบลเกาะยาวน้อย 

เดินทาง-ใช้ชีวิตบนเกาะยาวน้อย จ.พังงา พื้นที่เล็ก ๆ ที่ความหลากหลายและมิตรภาพเบ่งบาน

ครูสุวรรณเล่าว่า ผู้ปกครองส่วนมากส่งลูกเข้ามาศึกษาในโรงเรียนศาสนาทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เพราะต้องการให้ลูกมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนา ไม่หลงผิดตามกระแสต่าง ๆ ที่เกิดจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง และการเข้ามาศึกษา ยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ อย่างน้อยที่สุดคือการเข้ามาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และนักเรียนส่วนมากก็สมัครใจมาเรียนด้วยตนเอง โรงเรียนสอนศาสนาจึงมีส่วนสำคัญในการดำรงรักษาแบบแผนและวิถีปฏิบัติที่ดีงามของสังคมมุสลิมบนเกาะยาวน้อยเอาไว้ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยว

ครูผู้สอนในโรงเรียนศาสนาได้รับค่าตอบแทนในการทำงาน 300 บาทต่อวัน ซึ่งนับว่าน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้ นัยหนึ่งของการเป็นครูในโรงเรียนสอนศาสนาคือการเป็นครูด้วยใจอาสา เนื่องจากครูส่วนมากเป็นผู้ที่มีภาระงานประจำอื่นอยู่แล้ว เช่น เป็นข้าราชการครูในโรงเรียนสังกัดสำนักงานพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือประกอบอาชีพอื่น ๆ การเรียนการสอนด้านศาสนาจะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องและมีระเบียบแบบแผน เนื่องจากนักเรียนที่เริ่มต้นเข้ามาเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาเป็นนักเรียนอายุประมาณ 7 ปี ผู้ที่เป็นครูจำเป็นต้องใช้จิตวิทยาในการสอนอย่างสูง โดยการทำให้นักเรียนรู้สึกว่าการเรียนศาสนาเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ประกอบด้วยการท่องจำหลักปฏิบัติอย่างถูกต้อง และการออกเสียงคำต่าง ๆ ในภาษาอารบิกซึ่งใช้ในการประกอบพิธีกรรมให้ถูกต้องตามอักขรวิธีด้วย

ครูสุวรรณแนะนำผมให้รู้จักกับ ครูเซาะ หรือ ครูวรรณา ผลผดุง แห่งโรงเรียนบ้านน้ำจืด 

เธอผู้ซึ่งอุทิศเวลาในช่วงวันหยุดเพื่อมาเป็นจิตอาสาสอนศาสนาให้แก่เด็ก ๆ

“เราต้องมีกุศโลบายให้เด็กอยากท่อง ให้เขารู้สึกสนุกและอยากเรียน อะไรที่เขาทำแล้วเบื่อ ก็ไม่อยากทำ แต่เราจะเอาเฉพาะความสนุกอย่างเดียวไม่ได้ เขาต้องได้วิชาจริง ๆ ด้วย 

“ครูจะเรียกเขามาท่อง ถ้าท่องไม่ได้ก็ต้องท่องจนกว่าจะได้ ไม่อย่างนั้นเขาจะได้กินข้าวช้า เด็ก ๆ ก็จะพยายามท่องกันให้ได้ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกัน” ครูเซาะเล่าให้ผมฟังด้วยน้ำเสียงปลื้มใจ 

“เวลาได้ยินเสียงเด็กท่องตามพร้อมกันทั้งห้องรู้สึกอย่างไรบ้างครับ” ผมถามครูเซาะ 

ในใจก็รู้คำตอบอยู่แล้วในฐานะที่ผมเป็นครูเหมือนกัน

“ปลื้มใจนะคะ ปลื้มใจมาก นักเรียนเป็นกำลังใจที่สำคัญที่สุด ยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองและค่าตอบแทน เวลาครูเห็นเด็กได้วิชา ก็สุขใจและอิ่มใจจริง ๆ” ครูเซาะตอบผมด้วยรอยยิ้ม

เดินทาง-ใช้ชีวิตบนเกาะยาวน้อย จ.พังงา พื้นที่เล็ก ๆ ที่ความหลากหลายและมิตรภาพเบ่งบาน
ผู้เขียนและครูเซาะ

แต่กระนั้นการเรียนการสอนในโรงเรียนศาสนาก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ผู้ปกครองบางคนก็บังคับหรือโน้มน้าวให้บุตรหลานมาเข้าโรงเรียนศาสนาไม่ได้ ข้ออ้างที่พบเป็นประจำคือ นักเรียนมีการบ้านประจำวันของโรงเรียนที่ต้องทำ ส่งผลให้ในชั้นปีที่สูงขึ้น นักเรียนค่อย ๆ ลดจำนวนลง จนเหลือเพียงครึ่งหนึ่งในชั้นปีท้าย ๆ และการที่หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนสอนศาสนากำหนดการศึกษาเอาไว้ที่ 7 ปี ทำให้ปีสุดท้ายของหลักสูตรคาบเกี่ยวอยู่กับชั้น ม.1 ในระบบสามัญ เป็นธรรมดาที่โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบกับเนื้อหาด้านวิชาการในโรงเรียนเริ่มเข้มข้นขึ้น นักเรียนต้องมีความรับผิดชอบในระบบสามัญมากขึ้นตามลำดับ ทำให้นักเรียนส่วนมากไม่ได้เรียนในโรงเรียนศาสนาต่อไปจนถึงชั้นปีที่ 7 เนื่องจากรูปแบบการเรียนการสอนในระบบสามัญไม่เอื้ออำนวยดังที่กล่าวไปแล้ว

เพราะหลากหลายจึงงดงาม

บ่ายวันหนึ่งบังดีย์ช่วยนัดหมายให้ผมพูดคุยกับครูใหญ่ของโรงเรียนปอเนาะสันติสุขบนชานบ้านของครูใหญ่ ผมแซวบังดีย์ว่า ถ้านัดพูดคุยกับครูใหญ่ถึงบนชานบ้าน ก็ไม่ต่างอะไรจากการเอาผมไปเข้าห้องปกครองดี ๆ นี่เอง ผมไม่ได้เข้าห้องปกครองมานานแล้วตั้งแต่จบชั้นมัธยมศึกษา บังดีย์หัวเราะแล้วบอกกับผมว่า ถ้าผมคุยกับ โต๊ะครูอับดุลกุดดุส เปกะมล แล้วล่ะก็ ผมต้องรักโต๊ะครูอย่างแน่นอน

คำว่า ‘ปอเนาะ’ หมายถึง กระท่อม โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแบบโรงเรียนประจำ โดยนักเรียนอาศัยอยู่ในกระท่อมที่เรียกว่าปอเนาะ ภายในปอเนาะ 1 หลัง ประกอบไปด้วยพื้นที่ส่วนหน้า เป็นชานพัก มีประตูกั้นระหว่างบริเวณชานพักกับห้องด้านใน ภายในห้องด้านในแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่นอนและส่วนที่ทำครัว 

ดังนั้น นักเรียนที่อาศัยอยู่ในปอเนาะต้องประกอบอาหารหรือจัดเตรียมอาหารด้วยตัวเอง ไม่มีอาหารจากโรงอาหารส่วนกลาง สำหรับห้องน้ำเป็นห้องน้ำรวมด้านหลังโรงเรียนเยื้องไปทางทุ่งนา มีบ่อน้ำเก่าแก่ใช้กันมาหลายสิบปี และมีห้องส้วมเรียงรายกันอยู่ในบริเวณเดียวกัน

บันทึกบทเรียนจากการใช้ชีวิตสิบกว่าที่เกาะยาวน้อย จ.พังงา สัมผัสเสน่ห์และวิถีชีวิตชาวมุสลิมบนเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา
บันทึกบทเรียนจากการใช้ชีวิตสิบกว่าที่เกาะยาวน้อย จ.พังงา สัมผัสเสน่ห์และวิถีชีวิตชาวมุสลิมบนเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา

ที่นี่รับนักเรียนโดยขอให้มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป การศึกษาเน้นเนื้อความในพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน และคัมภีร์อื่น ๆ ที่จำเป็น โดยนักเรียนต้องเริ่มเรียนภาษาอารบิกให้อ่านออกเสียงได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้สวดมนต์ตามอักขรวิธีที่ชัดเจนได้ หลังจากนั้นจึงทำความเข้าใจกับความหมายและไวยากรณ์ที่ซับซ้อนขึ้น 

การเรียนภาษาอารบิก นัยหนึ่งเป็นการรักษาคำสอนในพระศาสนาเอาไว้ให้บริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม ภาษาอารบิกที่สอนในโรงเรียนปอเนาะสันติสุข ไม่ใช่ภาษาอารบิกในรูปแบบที่นักเรียนจะนำไปใช้สื่อสารกับกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอารบิกเป็นภาษาราชการได้ เนื่องจากเป็นภาษาอารบิกแบบโบราณ มีลักษณะการออกเสียงและรูปแบบไวยากรณ์ร่วมสมัยกับนบีมูฮัมหมัด เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 – 7 

โต๊ะครูต้อนรับผมด้วยการชวนให้ผมกินเบือทอด เมนูของทอดที่พื้นถิ่นภาคใต้ 

“ที่นี่เราดูแลนักเรียนทั้งหมดเรื่องระเบียบวินัยและคำสอน ส่วนเรื่องวิถีชีวิตหรือความเคร่งครัดในศาสนาที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับ ทำความเข้าใจ และห้ามไม่ได้ แต่สิ่งที่เราอยากให้เด็ก ๆ ได้รับ คือความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอิสลาม เขาจะแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้” โต๊ะครูเล่าให้ผมฟัง

บันทึกบทเรียนจากการใช้ชีวิตสิบกว่าที่เกาะยาวน้อย จ.พังงา สัมผัสเสน่ห์และวิถีชีวิตชาวมุสลิมบนเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา
เบือทอด

นักเรียนที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนปอเนาะ ส่วนมากผู้ปกครองส่งเข้ามาเรียน มีบ้างที่เข้ามาเรียนด้วยความสมัครใจ เหตุผลหลักที่ผู้ปกครองส่งลูกเข้ามาเรียนในโรงเรียนปอเนาะ เพราะต้องการให้บุตรหลานมีศาสนาเป็นเครื่องชี้ทางชีวิต ดังปรากฏจากการสัมภาษณ์นักเรียนในโรงเรียนปอเนาะว่า ถ้าตนยังอาศัยอยู่ในสังคมเดิม ๆ ก็เสี่ยงต่อการใช้ยาเสพติดและอบายมุข เพราะเพื่อนติดอยู่ในบ่วงอบายมุขเกือบหมด การมาอยู่ในโรงเรียนปอเนาะจึงเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย เป็นหลักประกันว่าตนเองจะเติบโตขึ้นเป็นศาสนิกชนที่ดี ประพฤติตนอยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมจรรยาของศาสนาอิสลามได้ในภายภาคหน้า

“เพื่อนในชุมชนของผมติดยากันเกือบหมด พ่อแม่กลัวว่าถ้าผมอยู่ที่นั่น ผมจะติดเหล้าติดยา ก็เลยส่งมาอยู่ที่นี่ ดีนะครับ ถ้าอยู่ในชุมชนเดิม สังคมเดิม ๆ ก็อาจจะเป็นไปกับเขาด้วยเหมือนกัน อย่างน้อยมาอยู่ที่นี่ก็รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี” นักเรียนในโรงเรียนปอเนาะคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวสตูลบอกผม

วันนั้นผมใช้เวลาอยู่บนชานบ้านของโต๊ะครูเกือบ 4 ชั่วโมงโดยไม่เบื่อเลย ผมมีโอกาสถามคำถามที่ผมสงสัยหรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลามหลายคำถาม โต๊ะครูตอบคำถามผมด้วยน้ำเสียงที่เมตตา ท่านยิ้มแย้มตลอดเวลาที่สนทนาด้วยกัน โต๊ะครูไม่ได้คิดว่าคำถามที่ผมถามนั้นเป็นการดูหมิ่นศาสนาอิสลาม โต๊ะครูบอกว่าดีแล้วที่ผมถามในสิ่งที่ผมสงสัย ดีกว่าตัดสินไปเองด้วยความเข้าใจผิด ๆ

ที่สำคัญคือโต๊ะครูไม่ได้ตอบคำถามด้วยปากเปล่าเพียงอย่างเดียว โต๊ะครูลุกไปหยิบหนังสืออ้างอิงมากมายออกมาเปิดให้ผมดู ส่วนใดที่เป็นภาษาอารบิกที่ผมอ่านไม่ออก โต๊ะครูก็ช่วยแปลให้ฟัง

หนึ่งในคำถามที่ผมถามโต๊ะครู คือ โต๊ะครูรู้สึกว่าชาวมุสลิมถูกเลือกปฏิบัติจากสังคมหรือไม่ เพราะประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนับถือพระพุทธศาสนา โต๊ะครูยิ้มและหัวเราะน้อย ๆ ก่อนบอกผมว่า ถ้าชาวมุสลิมถูกเลือกปฏิบัติจริง ตัวผมซึ่งไม่ใช่ชาวมุสลิมก็คงไม่มานั่งพูดคุยกับโต๊ะครูเป็นชั่วโมง ๆ ศรัทธาต่อพระเจ้าของเราแตกต่างกัน แต่เราศรัทธาในความดีงามเหมือนกัน นี่คือความงดงามของมนุษยชาติ

โต๊ะครูเล่าให้ผมฟังตามความเห็นของโต๊ะครูว่า มีชาวมุสลิมในหลายประเทศรู้สึกว่าตนเองเป็นพลเมืองชั้นสอง ถูกกีดกันจากรัฐหรือแม้แต่ประชาชนด้วยกันเอง แต่ที่ประเทศไทยโต๊ะครูไม่เคยรู้สึกอย่างนั้น เพราะสังคมไทยเป็นสังคมเปิดกว้าง ประนีประนอมสูง และโต๊ะครูเน้นว่าถ้าตราบใดที่เรายังให้เกียรติกันอยู่ เมื่อนั้นสังคมไทยก็จะดำรงไว้ซึ่งความงดงามท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายนี้ได้ 

ผมฟังแล้วก็เห็นจริงตามนั้น เพราะถ้าตราบใดในวินาทีที่เรานั่งพูดคุยกันอยู่นี้ ยังมีผู้คนบนโลกลุกขึ้นมาจับอาวุธเข่นฆ่ากันเพียงเพราะนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน ความสมัครสมานสามัคคีระหว่างศาสนาที่หลากหลายก็นับว่าเป็นเพชรเม็ดงามที่สังคมได้ช่วยกันเจียระไนเอาไว้จากรุ่นสู่รุ่น และเราก็ควรจะช่วยกันบำรุงรักษาเพชรเม็ดนี้ให้เปล่งประกายงดงามต่อไป อย่าให้เสื่อมสลายไปได้

บันทึกบทเรียนจากการใช้ชีวิตสิบกว่าที่เกาะยาวน้อย จ.พังงา สัมผัสเสน่ห์และวิถีชีวิตชาวมุสลิมบนเกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรเกาะยาวน้อยและมีพระราชปฏิสันถารกับโต๊ะครูแอ (ฮัจญีอิสมาอิล โรมินทร์) เมื่อ พ.ศ. 2514

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น มีบางช่วงเวลาเหมือนกันที่รัฐบาลมีนโยบายกีดกันศาสนาอื่น ๆ ที่มีผู้นับถือเป็นส่วนน้อย แต่โต๊ะครูบอกกับผมว่าวัฒนธรรมไทยมีส่วนสำคัญมากในการทำให้ทุก ๆ ศาสนาในประเทศไทยอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่โต๊ะครูภูมิใจ ผมเองก็ภูมิใจเช่นกัน

“ตอนผมไปทำพิธีฮัจญ์ที่เมืองเมกกะ​ คนมุสลิมที่นั่นเขาก็ถามว่าผมมาจากประเทศอะไร​ ผมตอบว่าผมมาจากประเทศไทย คนที่นั่นถามว่ามุสลิมในประเทศไทยเป็นอยู่กันอย่างไร ทำไมจึงมาพิธีฮัจญ์กันมากมายขนาดนี้​ คนไทยส่วนใหญ่เป็นมุสลิมหรือ​ ผมก็บอกไปว่าเปล่า​ มุสลิมเป็นส่วนน้อยมาก แต่ประเทศของเราสนับสนุนทุกศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหากษัตริย์ของเราทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนาโดยเสมอภาคกัน เสมอภาคจริง​ ๆ เราไม่เคยรู้สึกว่า เราคนมุสลิมด้อยกว่าศาสนาไหนเลย…

“คนทางนั้นก็ยิ่งสงสัยใหญ่​ ถามว่าพระมหากษัตริย์คุณเป็นมุสลิม​เหรอ​ ผมบอกว่าไม่ใช่​ เขาก็ถามว่าพระมหากษัตริย์คุณเป็นกาเฟร​ (คนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม)​ แล้วท่านทรงดูแลชาวมุสลิมอย่างดีจริง​ ๆ​ ได้อย่างไร คนที่นั่นไม่เชื่อเล​ย​ ผมก็ยืนยันว่าจริง​ เขาตื่นเต้นและแปลกใจมากเพราะไม่เคยเห็นที่ไหน​ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ​ (ขอบคุณพระเจ้า)​ คนมุสลิมโชคดีจริง ๆ ที่ได้เกิดเป็นคนไทย”

ความขอบคุณ

ระหว่างที่ผมกำลังนั่งเขียนบทความนี้ และอีกหลายครั้งหลายหนที่ผมมีคำถามกับหลายสิ่งหลายอย่างที่พบเจอในชีวิต ผมคิดถึงเกาะยาวน้อยมาก เพราะผมเรียนรู้อะไรหลายอย่างมากมายในช่วงเวลาสิบกว่าวันที่ผมอยู่บนเกาะแห่งนั้น และผมถือว่าเกาะยาวน้อยเป็นสถานที่พักใจแห่งหนึ่งของผม 

เกาะยาวน้อยยังเป็นสถานที่ที่ผมมีมิตรภาพที่ดีให้ระลึกถึงอยู่เสมอ

ที่สำคัญที่สุด ผมระลึกเอาไว้ในใจเสมอว่า โลกของเรามีพื้นที่อันแสนงดงามให้กับความหลากหลายเสมอ รวมถึงการยืนหยัดเติบโตอย่างมั่นคงบนรากเหง้าของตนเอง ทำให้เรามีศักดิ์ศรีและเอาตัวรอดบนโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวันและพร้อมจะพาเราซัดส่ายไปพบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา

ผมรักเกาะยาวน้อยเสมอครับ

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ณัฐพงศ์​ ลาภบุญทรัพย์

วิทยากรและครูสอนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาฯ ผู้รักการเดินทางเพื่อรู้จักตนเองและรู้จักโลกเป็นชีวิตจิตใจ เดินทางไปแล้วครบทุกจังหวัดในประเทศไทย และกว่า 50 ประเทศทั่วโลก