“ทานตะวันหรือกุหลาบขาวดี”

“อะไรก็ได้ครับ ได้หมดเลย สบายมาก”

อาจเป็นความสุภาพ ความช่างเกรงใจ ความเป็นมืออาชีพที่ทำงานหน้ากล้องนับสิบปี หรือทั้งหมดทั้งมวลผสมกัน เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ จึงรับดอกไม้สีเหลืองที่เราเลือกให้ไปถือพร้อมรอยยิ้มบางๆ เมื่อหันหลัง รอยสักกุหลาบแดงกลางหลังของเขาจึงโผล่พ้นชุดกระโปรงลายดอกไม้สีหวาน มวลบุปผาสารพัดสีโอบล้อมอดีตสมาชิกวงบอยแบนด์อย่างนุ่มนวล

เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ สมาชิกวง K-Otic ที่ผันตัวเป็นนักจิตบำบัดฝึกหัดและนักศึกษาป.เอก
เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ สมาชิกวง K-Otic ที่ผันตัวเป็นนักจิตบำบัดฝึกหัดและนักศึกษาป.เอก

“ลายนี้สำหรับพี่สาว พี่สาวเขื่อนชอบกุหลาบแดง”

เขื่อนเล่าถึงสมาชิกครอบครัวด้วยความรัก ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดการพูดคุยและถ่ายภาพ เขาตอบคำขอของเราด้วยคำว่า “ได้ครับ ยินดีครับ” อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ดูเหมือนว่านิสัยทุ่มเทเพื่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไม่ว่าครอบครัวหรือการงาน จะเป็นอุปนิสัยติดตัวนักศึกษาปริญญาเอกจิตบำบัดในสหราชอาณาจักรคนนี้

จากเด็กอายุ 13 ที่ก้าวเข้าสู่แสงไฟวงการบันเทิง จังหวะเติบโตของนักร้องรุ่นเยาว์ผิดแปลกจากเด็กวัยเดียวกัน ขณะที่ชื่อเสียงเงินทองแตกกิ่งก้านงอกงาม ดอกไม้ในใจภัทรดนัยซุกตัวเงียบเชียบในกระถางที่คนอื่นเตรียมไว้ให้ จนเมื่อข้ามฝั่งไปใช้ชีวิตและสัมผัสสภาพแวดล้อมอีกฟากหนึ่งของโลก ตัวตนของเขื่อนผลิบานสะพรั่งอย่างไม่เคยเป็น 

ภัทรดนัยคนที่อยู่ตรงหน้าเราแตกต่างจากเขื่อน K-Otic วัยเด็กลิบลับ เด็กวัยรุ่นสนุกสนานที่พร้อมมอบความสุขให้ผู้ชมคนนั้นไม่ได้หายตัวไป เพียงแต่เขื่อนคนนี้ยอมรับว่าชีวิตเขามีทั้งสุขและทุกข์ ได้รับทั้งความรักและความเกลียดชัง สิ่งที่เขื่อนในวัย 28 ปีอยากแบ่งปันให้สังคมไม่ใช่เสียงเพลงและรอยยิ้ม 

เขาอยากให้ความรู้สึกยอมรับตัวเองเกิดขึ้นในใจคน ไม่ว่ารสนิยมทางเพศหรือสภาวะอึดอัดที่อยู่ในจิตใจ นักจิตบำบัดฝึกหัดจึงเล่าเรื่องราวเบื้องหลังแสงไฟให้เราฟัง  

เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ สมาชิกวง K-Otic ที่ผันตัวเป็นนักจิตบำบัดฝึกหัดและนักศึกษาป.เอก

ตอนนี้เขื่อนทำอะไรอยู่บ้าง

ตั้งแต่กลับมาเมืองไทย ตอนนี้หนึ่งเขื่อนช่วยธุรกิจที่บ้าน สองยังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสาขา Existential psychotherapy อยู่ สามยังคงทำงานนักจิตบำบัดฝึกหัดกับคลินิกที่อังกฤษ และกำลังมองหาคลินิกที่เมืองไทยที่จะร่วมงานด้วยอยู่ครับ อยากเข้าร่วมกับองค์กรที่ดูแลเรื่อง Addiction จะเป็นการเสพติดอะไรก็ได้ครับ เสพติดเซ็กส์ เสพติดยา หรือติดแอลกอฮอล์ ได้หมดเลย

พอพูดถึงเรื่องการเสพติด คนจะนึกถึงแต่เหล้าหรือยาเสพติดใช่ไหมครับ แต่จริงๆ แล้วการเสพติดมันมาได้หลายแบบ หรือว่าเป็น Disorder ก็ได้ เช่น การเสพติดการเก็บของไว้ในบ้าน ที่เขื่อนสนใจเรื่องนี้เพราะในสังคม LGBTQ+ มีอาการเสพติดเยอะ เพราะว่าเป็นหนทางหลบหนีจากความกดดันของสังคม จิตบำบัดเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ช่วยให้ค้นพบตัวเองและหลุดออกมาจากตรงนั้นได้ 

คือใช้กระบวนการทางจิตวิทยาในการคลี่คลายปัญหา

อาจไม่ใช่คำว่าคลี่คลาย เราสามารถทำให้เขาเรียนรู้ความสัมพันธ์ของตัวเองกับปัญหา และอยู่ร่วมกับปัญหาที่มีได้ ถ้า Client บอกว่าอยากให้ช่วยรักษาเขาให้หาย หรืออยากให้กำจัดความคิด เขื่อนจะบอกเขาเลยว่าเขื่อนทำให้ไม่ได้นะ แต่เขื่อนสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้ ให้เราค้นพบว่าความกลัวของคุณคืออะไร เรียนรู้ที่จะอยู่กับความกลัวพวกนี้ และรู้จักความกลัวพวกนี้มากขึ้น

Søren Kierkegaard (นักปรัชญาชาวเดนมาร์ก) บอกว่าความวิตกกังวลเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เรากังวลเมื่อเราเลือกเผชิญอุปสรรคที่เกิดกับเรา เพราะเรารู้ว่าชีวิตเปราะบางมีที่สิ้นสุด ถ้าเราไม่กังวลอะไรเลย แปลว่าเราไม่ได้ใช้ชีวิต 

A person who learned to be anxious the right way have learned to live. จิตบำบัดที่เขื่อนเรียนไม่ได้พยายามจะรักษาความกังวลให้หายไป แต่อยู่ร่วมและทำความเข้าใจกับมัน 

สภาวะสุขภาพจิตที่อังกฤษเป็นยังไงบ้าง 

จากประสบการณ์ของเขื่อนที่ทำกับหน่วยงานที่ชื่อว่า Headstrong ก็ค่อนข้างหลากหลาย ทั้ง Panic Attack (โรคตื่นตระหนก) Anxiety (โรควิตกกังวล) แล้วก็เรื่องตัวตนทางเพศของสังคม LGBTQ+ มีทั้งเรื่องความกดดันไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ เรื่องยาเสพติด 

Client ของเขื่อนมีหลากหลาย ปกติทางองค์กรเขาก็จะประเมินมาเรียบร้อยแล้วว่าเคสเป็นอย่างนี้ เขาต้องการอย่างนี้ คุณโคเอ็นจัดการได้ไหม ฝรั่งออกเสียงชื่อเขื่อนไม่ถูก เขื่อนเลยให้เขาเรียกว่าโคเอ็น (Koen) 

ตอนนี้เขื่อนมี Client ที่อังกฤษสามคน ใช้เวลาปรึกษาสี่ทุ่มถึงตีสองเวลาไทย เสร็จปุ๊บต้องเขียนรายงานต่อทันที จำนวนนี้สำหรับนักบำบัดฝึกหัดถือว่าค่อนข้างเยอะ แต่เขื่อนเคยถืออยู่ในมือสูงสุดหกคน กลับบ้านแล้วร้องไห้เลย เราไม่ได้เครียดเพราะเรื่องของเขานะครับ แต่เราเห็นใจเขา แล้วเรื่องของเขามันไปสะกิดเรื่องของเราเองขึ้นมา แผลที่ปิดมานานแล้วมันเปิดขึ้นมาอีกทีนึง 

เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ สมาชิกวง K-Otic ที่ผันตัวเป็นนักจิตบำบัดฝึกหัดและนักศึกษาป.เอก

นักจิตบำบัดมีสภาวะทางจิตได้ไหม

แน่นอน เขื่อนเชื่อว่าทุกคนมี Baggage ของตัวเอง แต่ในวันที่เราจะเลือกทางนี้เป็นอาชีพ เราต้องเคลียร์ตัวเองให้ได้ก่อน และคนที่ Vulnerable จะเข้าใจความเจ็บปวดของผู้อื่น และเป็นนักจิตบำบัดที่ดี เข้าไปในโลกของเขาได้ 

การเป็นนักบำบัดฝึกหัดต่างชาติ อายุน้อย ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของคุณไหม

เขื่อนรู้สึกและมีความคิดแบบนั้นเข้ามาในหัวตลอดเวลาครับ แต่พูดแบบนั้นเท่ากับว่าเขื่อนเอาความไม่มั่นใจของตัวเองออกมาตัดสินคนอื่น เพราะมันคือความรู้สึกของเขื่อนเอง ไม่ใช่ของใคร Client บางคนเขื่อนก็รู้สึกว่ายากสำหรับเรา เช่น กลุ่มผู้ชายแท้ ผิวขาว วัยกลางคน เขื่อนโตมาด้วยความคิดว่าเขามีสิทธิพิเศษมากเลย น่าเกรงขามมาก เขื่อนรู้ตัวว่าตัวเองไม่มั่นใจ รู้สึกว่าเราอาจไม่ดีพอ ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นคนผิวสี เป็นเกย์ อายุน้อย

แต่หลายคนก็บอกว่าเพราะเขื่อนมาจากวัฒนธรรมไทย ภาษากายของเราช่วยให้เขารู้สึกสบายใจ เปิดใจได้มากขึ้น พอขาดตรงนี้เพราะต้องคุยกันออนไลน์ เราก็ต้องพยายามมากขึ้นที่จะเชื่อมต่อกับคนไข้และทำให้เขารู้สึกปลอดภัยพอที่จะดิ่งไปกับเรา 

ในแง่รูปธรรม วิธีการบำบัดจิตด้วยปรัชญาทำอย่างไร

นั่งคุยกันตรงๆ ถึง Trauma ที่เคยเกิดขึ้น ถึงสิ่งที่ติดอยู่ข้างในตลอดชีวิต และค้นหาตัวเอง ถ้า Client มาบอกว่าเขารู้สึกวิตกกังวล คำถามแรกที่เขื่อนจะถามคือ คุณช่วยอธิบายได้ไหมว่าความวิตกกังวลของคุณเป็นยังไง ถ้าเราสรุปว่าเขาเป็นโรควิตกกังวล แปลว่าเราไปตัดสินเขาแล้ว เราจะช่วยกันค้นหาว่าเขารู้สึกตรงไหน หน้าตาความกังวลมันเป็นยังไง 

แปลว่าก่อนไปบำบัดคนอื่น คุณต้องเข้าใจตัวเองและปัญหาตัวเองอย่างถ่องแท้ก่อน

แน่นอนครับ ตามคอร์สเรียน เขากำหนดมาเลยว่าต้องไปเจอนักจิตวิทยาของตัวเองทุกอาทิตย์ ค่าใช้จ่ายอยู่นอกค่าเทอม ที่เขื่อนเจอคือห้าสิบนาทีตกอยู่ที่สี่พันบาท แต่พอเราเริ่มเจอคนไข้ เรารู้เลยว่าทำไมต้องไปเจอ ที่อังกฤษมีข้อกำหนดทางจริยธรรมมาก เราต้องมีจุดยืนว่าไม่มีอคติ ไม่ตัดสินล่วงหน้า 

อาชีพนักจิตบำบัดไม่สร้างความร่ำรวยใช่ไหม แล้วทำไมถึงตัดสินใจเลือกเดินเส้นทางนี้

เขื่อนไม่ได้คิดเรื่องนี้มานานแล้ว ถ้าไม่ทำเป็นธุรกิจจ๋าจริงๆ อาชีพนี้ที่อังกฤษทำให้พออยู่พอกิน ไม่ได้ร่ำรวย แต่วันที่เลือกทางเดินนี้ เขื่อนยอมรับเรื่องนี้ได้เรียบร้อยแล้ว เป้าหมายของเขื่อนแต่แรกตั้งแต่ตอนไปเรียนปริญญาโท คือไปเอาประสบการณ์ แล้วกลับมาเปิดคลินิกสุขภาพจิตที่เมืองไทย 

ทำไมตั้งเป้าไว้ที่ปริญญาเอก 

เพราะเขื่อนรู้ว่าถ้าจบปริญญาโท แล้วเขื่อนบอกว่าจะมาเป็นนักจิตบำบัด เขื่อนยังไม่เชื่อตัวเองเลย แล้วคนไข้จะเชื่อเขื่อนได้ยังไง แล้วเราจะสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยได้ยังไง  เขื่อนรู้สึกว่ายังมีอาวุธในมือไม่พร้อม ประสบการณ์ในการเจอคนยังไม่พร้อม ถ้าเรียนจบเอกแล้วยังไม่พร้อมก็ไปหาที่เก็บประสบการณ์เพิ่ม เขื่อนเก่งไม่เก่งไม่รู้ แต่รู้สึกว่าเขื่อนต้องทำให้คนรู้สึกปลอดภัยให้ได้

เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ สมาชิกวง K-Otic ที่ผันตัวเป็นนักจิตบำบัดฝึกหัดและนักศึกษาป.เอก

คุณทำงานในวงการบันเทิง เรียนจบด้านท่องเที่ยว แต่ทำไมถึงไปเบนเข็มไปสาขาจิตวิทยา

เพราะเขื่อนโตมากับครอบครัวที่มีประเด็นเรื่องสุขภาพจิต It was there. ไม่ว่าจะรู้จักในรูปแบบอะไรก็ตาม มันอยู่ตรงนั้น พี่สาวเขื่อนเป็นออทิสติกระดับรุนแรง ตั้งแต่จำความได้คุณพ่อคุณแม่บอกว่าเขื่อนเป็น Care Taker ของพี่สาวนะ เกิดมาเขื่อนรู้เลยว่าต้องดูแลพี่สาวในวันที่คุณพ่อคุณแม่คุณตาคุณยายไม่อยู่ 

เขื่อนโตมากับการเห็นพี่ทรมานเยอะ เพราะเครื่องไม้เครื่องมือและระบบที่รองรับพี่สาวมีน้อยมาก ส่วนคุณแม่เขื่อนเป็นไบโพลาร์ เขื่อนโตมาในบ้านที่หลายอย่างเปลี่ยนเร็วมาก เพราะคุณแม่มีช่วงที่ซึมเศร้า และช่วงที่ Mania ชีวิตเหวี่ยงมาก จะย้ายบ้าน จะลงทุน 

โค้งสุดท้ายคือหลายปีก่อน ตอนที่เขื่อนมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวมากขึ้น เราตัดสินใจให้พี่กับคุณแม่เข้ารับการบำบัด กินยา และพบความช่วยเหลือ จำได้เลยว่าอาการของพี่ดีขึ้น คนออทิสติกมีปัญหาเกี่ยวกับการแสดงออกอารมณ์ตัวเอง ซึ่งกดทับมานาน เราเห็นเขาสบายขึ้น ใช้ชีวิตได้ดีขึ้น นอนได้ดีขึ้น ส่วนคุณแม่ก็ดีขึ้น ถึงขั้นที่เขามาบอกเขื่อนว่าเขาเสียดาย ทำไมไม่มีใครเคยพาเขาไปบำบัดตั้งแต่ตอนเด็ก ทำไมคนไม่เข้าใจเขา ชีวิตเขาควรดีกว่านี้  

สองเหตุการณ์นี้กับการเห็นว่าพี่สาวกับแม่ทุกข์ทรมานอย่างไรบ้าง คือจุดที่ดันให้เขื่อนออกจากวงการบันเทิง ไม่เอาแล้วครับ หนึ่งเขื่อนรู้สึกเติมเต็มแล้ว สองมันไม่ใช่ความหมายของชีวิตของเขื่อนอีกต่อไปแล้ว เป็นจุดเปลี่ยนให้ไปเรียนต่ออังกฤษเลยครับ 

ตอนนั้นคุณอายุเท่าไหร่

น่าจะประมาณยี่สิบสามยี่สิบสี่

ถ้าเทียบกับคนวัยเดียวกัน คือช่วงเริ่มออกจากมหาวิทยาลัยและทำงาน แต่ตอนนั้นคุณอิ่มตัวแล้ว

ใช่ พอแล้ว ย้อนกลับไป เขื่อนเป็นเด็กกรุงเทพฯ ที่ไปโตระยอง เป็นเด็กระยองอายุสิบสามที่อยู่ดีๆ ก็โดนโยนจับเข้าวงการบันเทิงแล้วดันโชคดี สิบปีในวงการ เขื่อนได้ทำสิ่งที่เขื่อนคิดว่าอยากทำ แล้วมันดีมาก เขื่อนซาบซึ้งกับทุกประสบการณ์และทุกแรงสนับสนุน แล้วก็มาถึงวันที่เรารู้สึกว่าไม่อยากทำแล้ว เรื่องที่เข้ามาทำให้เราตระหนักรู้ เหมือนกินอะไรไม่อร่อย แปรงฟันแล้วรสคาวไม่อร่อยมันยังอยู่ในฟัน นี่มันไม่ใช่ตัวเราแล้ว เขื่อนก็เลยออกมา 

เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ สมาชิกวง K-Otic ที่ผันตัวเป็นนักจิตบำบัดฝึกหัดและนักศึกษาป.เอก

ทำไมถึงเลือกไปเรียนต่อที่อังกฤษ

เพราะถ้าเขื่อนเลือกอยู่ที่นี่ต่อ เขื่อนทำอะไรไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหนจริงๆ ถึงเมืองไทยจะมีที่เรียน แต่เขื่อนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราคือใคร การไปอังกฤษได้อะไรหลายอย่าง หนึ่งคือการเอาความรู้กลับมา สองคือเป็นเส้นทางค้นพบตัวเองของเขื่อนด้วย

ชีวิตที่เมืองนอกเป็นยังไงบ้าง

ต่างจากเมืองไทยมากครับ เขื่อนใช้ชีวิตเป็นเขื่อนได้ คนมาเจอเขื่อน เขาไม่ได้คิดภาพว่าเขื่อนเป็นยังไง เขามารู้จักเขื่อนที่เป็นเขื่อนจริงๆ เขื่อนจะใส่กระโปรง ทาปาก พูดรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็ได้ ตอนอยู่เมืองไทย คนติดภาพในสื่อว่าเขื่อนเป็นคนขี้เล่น เล่นใหญ่ เสียงดัง พอมาเจอตัวจริงแล้วไม่เข้าใจว่าทำไมไม่เหมือนที่เขาคิดไว้ ทำไมเป็นคนจริงจัง 

อะไรคือสิ่งที่รู้สึกว่าแตกต่างที่สุดระหว่างเมืองไทยกับอังกฤษ

เขื่อนไม่เหมารวมคนอังกฤษ และเขื่อนไม่เหมารวมคนไทยนะครับ ทุกคนคือปัจเจกชน แต่กลุ่มสังคมที่เขื่อนได้เข้าไปอยู่เป็นกลุ่มที่ไม่ตัดสินกันจริงๆ ไม่ว่าจะมาจากสังคมไหน เราและเขาได้โอกาสรู้จักกันโดยไม่ได้มีสมมติฐานอะไรมาเลย อยู่ด้วยกันแล้วได้ค้นพบตัวเองเร็วมาก รู้สึกว่าได้เติบโต 

วันแรกที่เขื่อนไปเรียนปริญญาเอก เขื่อนทาปากแดงไปนั่งเรียน ครูถามว่าเธอชื่ออะไร เราก็ตอบชื่อ Elizabeth เชื่อไหมว่าไม่มีใครตัดสิน ไม่มีใครหัวเราะแล้วคิดว่าเป็นมุกตลกเลยสักคน ทุกคนแค่หันมาแล้วบอกว่า Can you please tell me more about Elizabeth? เขื่อนมองว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่เจ๋งมาก

ที่อังกฤษ พื้นที่เป็นตัวของตัวเองมีเยอะมาก อย่างไปงานปาร์ตี้ ผู้ชายแท้จะแต่งหน้าหรือแต่งชุดว่ายน้ำผู้หญิงก็ได้ ไม่มีใครว่า เขื่อนชอบที่เขามีพื้นที่ปลอดภัยให้เราได้ค้นพบตัวเอง

เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ สมาชิกวง K-Otic ที่ผันตัวเป็นนักจิตบำบัดฝึกหัดและนักศึกษาป.เอก
เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ สมาชิกวง K-Otic ที่ผันตัวเป็นนักจิตบำบัดฝึกหัดและนักศึกษาป.เอก

เท่าที่เข้าใจ คุณ Come Out ตอนอยู่อังกฤษใช่ไหม

ถูกบังคับให้ Come Out เพราะว่ารูปคู่กับคุณ Damian หลุดออกมา เขาเล่นเฟซบุ๊กเหมือนเขื่อนคือเล่นไม่เป็น อัปรูปทีสี่ร้อยรูป แล้วบังเอิญในสี่ร้อยรูปนั้นมีรูปคู่หรือรูปที่ครอบครัวของพวกเราอยู่ด้วยกัน ซึ่งดูชัดเจนมากกว่าเป็นคู่รัก พอหลุดออกมาเราก็ถูกบีบให้ Come Out ตอนนั้นยังไม่พร้อม แต่ถึงวันนั้นแทนที่จะโทษตัวเอง เราเลือกยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและ Come Out ว่าเราเป็น Queer 

สังคมที่นี่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยรึเปล่าที่จะเปิดเผยตัวตน 

เขื่อนไม่โทษใครเลยครับ เขื่อนโทษตัวเอง เขื่อนต้องยอมรับกับตัวเองก่อนว่าการที่อยู่เมืองไทยแล้วไม่รู้สึกปลอดภัยที่จะเปิดเผยตัวตน ก็เพราะว่าเขื่อนมีกลไกป้องกันตัวเอง ตอนเด็กๆ ช่วงเริ่มเข้าวงการ มีคนมาบอกเราว่าการเป็นเกย์ไม่ถูกต้อง พอคนเริ่มสงสัยก็มีการจับผิด มีการกลั่นแกล้งล้อเลียนกัน เพราะฉะนั้นเขื่อนจึง Stay in the closet.

เขื่อนว่าคนรอบข้างที่ได้ใช้เวลากับเขื่อนรู้แหละว่าเขื่อนแตกต่าง เขื่อนหลอกตัวเองมาตลอดว่า ถ้าเขาไม่สามารถยอมรับเพศของเราได้เนี่ย เขาต้องยอมรับความสำเร็จของเราให้ได้ ฉะนั้นโตมาเขื่อนเป็นเด็กที่บอกว่าเราทำได้ และเราให้ความสำคัญกับงานก่อนตัวเองเสมอ แน่นอนว่าการทำอย่างนั้นในระยะยาวตั้งแต่อายุสิบสามสิบสี่ ก็ต้องมีวันที่เราทนไม่ไหว 

ก่อนไปอยู่อังกฤษ คุณเคยไปพบนักบำบัดด้วยตัวเองไหม

เคยครับ ตอน K-Otic มี Mental Breakdown เรารู้สึกกดดันตลอดเวลา รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ ทุกวันนี้ก็ยังมีบ้าง แต่ตอนนี้เขื่อนอยู่ร่วมกับความรู้สึกนี้ได้ ตอนนั้นไม่ได้ อายุสิบหกสิบเจ็ดต้องกินยานอนหลับ กินยาต้านเศร้าเพื่อให้ตื่นมาทำงานได้  

หนักหนาเกินไปรึเปล่าสำหรับเด็กคนหนึ่ง

(เงียบไปพักหนึ่ง) เขื่อนเคยคิดว่าวัยเด็กของเขื่อนแม่งโคตรเจ๋งเลย เขื่อนมีเงิน มีชื่อเสียง มีโอกาสมากมาย เพิ่งมารู้ตอนอายุยี่สิบกว่าๆ ว่าตอนเด็กเราไม่มีความสุขเลย สังคมบอกเราว่าชื่อเสียงกับเงินคือความสุข เราก็เลยพูดตามคนอื่นว่าความดังนั้นมันคือความสุข 

ตอนอยู่ที่นู่น เขื่อนสามารถค่อยๆ แกะสิ่งที่เขื่อนบอกตัวเองมาตลอด ค่อยๆ ทำความเข้าใจว่า โห เขื่อนแบกสิ่งที่สังคมบอกว่าเขื่อนต้องเป็น เขื่อนแบกแผลในใจตัวเอง แบกความรับผิดชอบ และความคาดหวังของคนที่รักเรา จนมาวันนี้ก็เข้าใจตัวเองได้มากขึ้น 

อย่างไรก็ดี เขื่อนได้มีชีวิตที่ดีมากนะครับ ต้นทุนจากวัยเด็กทำให้เขื่อนไปเรียนต่อได้โดยไม่ต้องทำงาน ถึงเราจะไปทำงานเสริมเสิร์ฟอาหาร ไปขัดส้วม แต่เขื่อนมีชีวิตที่อู้ฟู่มาก (ยิ้ม) 

เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ สมาชิกวง K-Otic ที่ผันตัวเป็นนักจิตบำบัดฝึกหัดและนักศึกษาป.เอก

ต้นทุนชีวิตของคุณสามารถไปอยู่เมืองนอกได้ ทำไมถึงตัดสินใจว่าไม่ว่ายังไงก็จะกลับมาเมืองไทย

ข้อแรก เพราะเมืองไทยคือบ้าน ทุกครั้งที่ขึ้นเครื่องบินกลับไทยแล้วหายใจ รู้สึกเหมือนอกมันสบาย รู้สึกว่าได้หายใจอากาศเมืองไทย 

ข้อที่สองคือคุณแม่และพี่สาวอยู่ที่เมืองไทย สองคนนี้เขื่อนกล้าพูดว่าเขื่อนยอมตายเพื่อเขา ถ้าเกิดเขาบอกว่าขอตับ ขอไตเขื่อน ไม่ต้องถามเลย เอาไปเลย เพราะฉะนั้นเขื่อนต้องอยู่ไทย ช่วงนี้ยิ่งต้องกลับมาดูแลครอบครัวและธุรกิจที่บ้าน เพราะคุณยายไม่สบาย 

ข้อสุดท้าย เขื่อนอยากให้สังคมไทยเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต และอยากช่วยให้ LGBTQ+ Community ในเมืองไทยเติบโต พร้อมลุยเรื่องพวกนี้มาก การไปอยู่ที่ที่ชีวิตมีอภิสิทธิ์ดีเราทำไม่ได้ มันไม่ทำให้เกิดการตระหนักรู้ตรงนี้ขึ้น เขื่อนไม่ต้องการปฏิรูปอะไรยิ่งใหญ่นะ แค่อย่างน้อยได้คุยกับคน แล้วบอกให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาเผชิญอยู่หรือสิ่งที่เป็นไม่ได้แตกต่าง หรือแตกต่างก็ไม่เป็นไร หรือ It’s okay to suffer or to be not okay. แค่นั้นเอง 

คุณปรากฏตัวใน Instagram และช่อง YouTube สม่ำเสมอ ปฏิกิริยาของคนไทยต่อเขื่อนคนปัจจุบันเป็นอย่างไร

มีทั้งบวกและลบครับ คนยอมรับมีเยอะนะ แต่คอมเมนต์แย่ๆ ก็มี คนมาเหยียด ใช้คำหยาบ มาเขียนว่ากูอยากฆ่ามึงว่ะ ก็เยอะเหมือนกัน แต่ถ้ามีอีกห้าข้อความบอกว่า ขอบคุณพี่เขื่อนที่ทำให้หนูรู้ว่าหนูไม่ผิดปกติ เขื่อนก็พอใจแล้วครับ 

เขื่อนโตมาในโลกที่ต้องเปิดเผย เหมือนอยู่ในทุ่งกว้างแล้วทุกคนเขม่นได้ตลอด เพราะฉะนั้นเวลาโดนขู่ฆ่า หรือทำให้อับอายเพราะรสนิยมทางเพศของเรา เขื่อนมีเกราะป้องกันตัวเองระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้แปลว่าคนที่เด็กกว่าเขื่อนหรือคนที่อยากเปิดเผยตัวเองคนอื่นเขาจะรับได้ บางทีต้องระวังเรื่องนี้มาก การที่ไปโจมตีใครมันเปลี่ยนชีวิตเขาได้ ทำร้ายชีวิตเขาได้

ปัญหาอะไรในวงการ LGBTQ+ เมืองไทยที่คุณอยากช่วยแก้ไข 

ปัญหาเยอะมากเลย เช่น Body Shaming เยอะมาก ถ้าเป็นคนอ้วน คาแรกเตอร์ต้องไม่สวย เป็นคนตลก พอผอมปุ๊บเป็นนางเอกเลย รู้สึกว่าไม่โอเค ต้องหยุดได้แล้ว เข้าเรื่องเลยว่าทำยังไง การที่เราพูดอย่างงี้ง่ายมาก พวกเรานี่แหละครับ เขื่อนนี่แหละ คุณ หรือคนอ่าน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องออกมาจัดการเวลามีเหตุการณ์ Sexist หรือ Racist

เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ สมาชิกวง K-Otic ที่ผันตัวเป็นนักจิตบำบัดฝึกหัดและนักศึกษาป.เอก

กลับมาเมืองไทย รู้สึกว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรในแง่ที่ดีขึ้นบ้างไหม

เขื่อนเห็นว่ามีคนกล้าแสดงออกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ชอบความสู้ตายของ Gen Z โคตรเจ๋งเลย คนเจเนอเรชันนี้รู้ว่าโลกมีปัญหา ชีวิตมีปัญหา เขาเลยมี Awareness สูงมาก เปิดกว้างกว่าเจเนอเรชันอื่น ซึ้งใจมาก รู้สึกผิดเลยนะว่าตอนเราอายุเท่าเขาฉันทำอะไรอยู่ ฉันมัวแต่รักสวยรักงาม

การแต่งตัวของคุณเป็นการบำบัดอย่างหนึ่งรึเปล่า

ถ้าเราอยากทำให้เป็นการบำบัด เป็นได้ สำหรับเขื่อนการแต่งตัวคือการค้นหาตัวเอง และเป็น Political Statement เขื่อนไม่ได้เพิ่งมาใส่ชุดผู้หญิง ถ้าคุยกับเพื่อนเขื่อน คุยกับแม่ที่บ้าน จะรู้ว่าเขื่อนใส่มาตั้งนานแล้ว แต่เขื่อนเลือกที่จะออกโซเชียลมีเดียตอนนี้ เพราะเขื่อนรู้สึกปลอดภัย 

เขื่อนไม่รู้สึกสบายใจถ้าต้องใส่แค่ชุดแบบผู้ชาย บางวันเขื่อนรู้สึก Masculine ก็ใส่เชิ้ตแบบหล่อๆ ใส่นาฬิกา ใส่เชิ้ต ใส่กางเกง แต่บางวันตื่นมารู้สึก Feminine อยากทาครีม แต่งหน้าสวยๆ ใส่อะไรหวานขึ้นมาหน่อย หรือว่าทำให้เรารู้สึกตัวเล็ก เราก็ควรจะใส่ได้สิ ถ้าเกิดสังคมหรือคนอื่นบอกว่าไม่เห็นด้วย มันก็เป็นปัญหาของเขา ถูกไหมครับ ทำไมผู้ชายจะใส่เสื้อผ้าแบบอื่นไม่ได้ 

เขื่อนอยากพูดถึงการเป็นตัวเอง อยากบอกว่ามันโอเคที่จะเป็นตัวเอง ถ้าสังคมบอกว่ามันไม่ปกติ ก็บอกไปเลยว่าความปกติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เขื่อนคิดจริง แล้วเขื่อนทำจริง ตอนนี้ยังไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นใส่กระโปรง แต่เตรียมเสื้อผ้าพร้อม เดี๋ยวเราจะได้เห็นกันแน่นอน (หัวเราะ) 

ถ้ากลับไปบอกเด็กชายเขื่อนตอนเด็กได้ จะบอกอะไรเขาหนึ่งอย่าง 

อยากกลับไปบอกเขาว่า ยูไม่ได้ผิดปกตินะ แล้วยูเตรียมพร้อมเลยนะ เพราะว่ายูจะโดนหนักมาก ฉะนั้นยูรักตัวเองให้มากๆ นะ และยูเต็มที่เลย เพราะว่าวันวันหนึ่งยูจะได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักมาก

ถ้าให้แนะนำเรื่องสุขภาพจิตกับคนได้หนึ่งอย่าง คุณจะบอกว่าอะไร

Mental Health เป็นเรื่องจริง ถ้าคิดว่าเป็นซึมเศร้าแล้วไม่ต้องฟังคนที่ไม่เชื่อเรา ขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพเลย เพราะมันควรเป็นสิ่งที่ปกติ เขื่อนจะพยายามที่สุดให้คนรู้สึกว่าการไปพบนักจิตวิทยา กับการไปร้านสะดวกซื้อเป็นเรื่องง่ายเท่ากันเลยครับ

เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ สมาชิกวง K-Otic ที่ผันตัวเป็นนักจิตบำบัดฝึกหัดและนักศึกษาป.เอก

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล