ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา คลื่นนักเดินทางจำนวนมากมุ่งหน้าสู่เมืองเก่าสงขลา เพื่อใช้เวลาเช้าจรดสายพบปะพูดคุยในร้านน้ำชาและลิ้มรสอาหารเช้า เพลิดเพลินช่วงระหว่างวันไปกับร้านรวงและเรื่องราวอัดแน่นบนถนน 3 สาย ดื่มด่ำบรรยากาศพระอาทิตย์ตกดินริมทะเลสาบในยามเย็น ทอดน่องเสพงานศิลป์และอีเวนต์สร้างสรรค์ยามค่ำ
สงขลามีชีวิตชีวาด้วยการมีสิ่งใหม่แต่งแต้มตลอดเวลา รวมถึงการ ‘ก่อตัว’ ของที่พักเปิดใหม่บนถนนนครใน เป็นทางเลือกให้ผู้มาเยือนมีโอกาสใช้เวลายามราตรี เอนกายในบ้านอันอบอวลด้วยกลิ่นอายความเป็นสงขลา เติมเต็มประสบการณ์ในเมืองท่าเก่าแก่แห่งนี้แบบครบทุกช่วงเวลา

‘Kluenngam Cafe & Stay’ สง่างามอยู่ใจกลางเมืองเก่า ด้วยอาคารทรงสูงโปร่งที่ยังคงไว้ซึ่งโครงสร้างดั้งเดิมของตึกแถวอายุราว 100 ปี บานกระจกและโทนสีดำในชั้นล่างขับเน้นบานหน้าต่างครึ่งวงกลม และลายฉลุด้านบนให้โดดเด่น จากภายนอกเราสัมผัสได้ถึงความน้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ ตามแบบฉบับหญิงสาวย้อนยุคผู้มีหัวคิดทันสมัย และยิ่งเด่นชัดเมื่อก้าวผ่านบานประตูสู่พื้นที่ด้านใน สิ่งดึงดูดความสนใจเรา คือภาพถ่ายนางสาวสงขลาในทรงผมดัดลอนสลวย พร้อมระบุร้านทำผมตรงกับชื่อบนป้ายไม้เก่าประดับอยู่ใกล้เคียงกัน เป็นตัวอักษรเดียวกับข้อความติดไว้เหนือประตูทางเข้าว่า ‘คลื่นงาม’
ไม่ปล่อยให้สงสัยนาน ทันทีที่สายตาเลื่อนผ่านป้ายไม้เก่า เราได้พบกับ แดงต้อย ไทยทัน หรือที่คนหนุ่มสาวชาวสงขลาพากันเรียกขานว่า ป้าต้อย (ผู้ก่อตั้ง) เธอให้การต้อนรับด้วยไมตรี และรอที่จะไขข้อข้องใจให้เราฟังถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างร้านทำผมกับที่พักเปิดใหม่แห่งนี้


เกลียว ‘คลื่นงาม’ 3 ระลอก
“คลื่นงาม มาจากทรงผมที่มีกิ๊บจับลอนเหมือนคลื่น”
ป้าต้อยอธิบายด้วยใบหน้าแย้มยิ้มตามบุคลิกของผู้ใหญ่ใจดี พร้อมคลี่ภาพให้เห็นการเดินทางแบ่งได้เป็น 3 ระลอก แรกเริ่มคนสงขลารุ่นเก่าจะจดจำ ‘คลื่นงาม’ ในภาพร้านทำผมแห่งแรกของตำบลบ่อยาง ดำเนินการโดยผู้เป็นแม่ ยุกต์ แสงจันทร์ หรือรู้จักกันในย่านนี้ว่า ฉียุกต์ ในสมัยนั้นนับเป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้า ผู้บุกเบิกธุรกิจหลายอย่างด้วยกัน
เมื่อกาลเวลาล่วงผ่านได้ก่อเกิดเกลียวคลื่นระลอกใหม่ในบทบาทร้านอาหาร เปิดให้บริการบริเวณถนนเตาหลวงเป็นเวลานานกือบ 10 ปี ด้วยการนำชื่อเดียวกันมาใช้เพื่อระลึกถึงวันวานแสนสนุกและอิ่มเอมด้วยอาหารรสมือแม่ที่ตกทอดมาถึงบุตรหลาน

“คลื่นงามในภาพจำของร้านทำผม เปิดให้บริการอย่างยาวนาน ณ บ้านเลขที่ 99 ถนนนครใน ป้าก็เติบโตมาในบ้านหลังนั้น เมื่อเราตัดสินใจจะทำร้านอาหาร จึงเลือกใช้ชื่อนี้ เพราะมีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี ด้วยความต้องการให้คนทั่วไปได้สัมผัสอาหารรสชาติดั้งเดิมจากครอบครัวที่หาได้ยากมากในปัจจุบัน ลูกค้าส่วนใหญ่ขณะนั้นเป็นคนรุ่นเก่า ซึ่งรู้จักเราจากร้านทำผมดั้งเดิม” ส่วนการปรากฏตัวอย่างโดดเด่นในรูปแบบ Cafe & Stay ป้าต้อยเปิดเผยต่อว่าเป็นแนวความคิดเริ่ม ‘ก่อตัว’ ในระหว่างทุกอย่างหยุดนิ่งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการสลายตัวของเกลียวคลื่นระลอกที่ 2 จากเสียงเรียกร้องของลูก ๆ มองว่าย่านเมืองเก่าสงขลากำลังเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และมองเห็นช่องว่างในการเติมเต็มความหลากหลาย จึงนำมาสู่การตัดสินใจแปลงโฉมตึกอาคารเก่าซื้อไว้เมื่อราว 40 – 50 ปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นที่พักอาศัย ให้กลายเป็น ‘คลื่นงาม’ ระลอกที่ 3

ก่อมวลคลื่นที่พักในเมืองเก่าสงขลา
Kluenngam Cafe & Stay เปิดให้บริการในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ก็เรียกกระแสตอบรับอย่างท่วมท้นทันทีที่มีภาพบรรยากาศร้านเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ป้าต้อยบอกกล่าวถึงความตั้งใจในทำให้การกลับมาครั้งนี้ “เคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา” เป็นทั้งร้านอาหารที่นำเสนอเมนูอาหารรสชาติที่แม่เคยทำ และมอบประสบการณ์การพักผ่อนด้วยความสะดวกสบายในบ้านคนสงขลา
“ในช่วงที่ร้านอาหารปิดตัวลง ทำให้เรากลับมาคิดทบทวนว่ามีอะไรที่ควรปรับปรุงแก้ไข ลูก ๆ ก็มีส่วนสำคัญในการออกความคิดเห็นว่า แทนที่จะเป็นแค่ร้านอาหาร ก็น่าจะทำห้องพักด้วย เนื่องจากยังเปิดให้บริการน้อย แต่การได้พักในเมืองเก่ากลับช่วยให้เข้าถึงความเป็นสงขลามากกว่าเคย”
คลื่นงามในรูปโฉมใหม่จัดสรรพื้นที่ของ Cafe และ Stay แยกออกจากกันอย่างเป็นสัดส่วน ตกแต่งบริเวณชั้นล่าง เสิร์ฟความอร่อยของเมนูคาวหวาน ด้านหลังเป็นบันไดนำขึ้นสู่ชั้น 2 เพื่อพบกับล็อบบี้รับรองผู้เข้าพัก ซึ่งตราตรึงสายตาเราด้วยทิวทัศน์ตึกแถวเก่าแก่ในกรอบบานหน้าต่างครึ่งวงกลม ห้องพักอยู่ลึกเข้าไปในบริเวณส่วนต่อเติมด้านหลังชั้น 2 และ 3 และมีบันไดก้าวขึ้นชั้นลอยนำไปสู่ห้องนอนใต้หลังคา
“เราตั้งใจสงวนพื้นที่รับรองชั้น 2 ให้ผู้เข้าพักพักผ่อนหย่อนใจ อ่านหนังสือ หรือทำงานได้อย่างอิสระ จุดมุ่งหมายของเราไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าทำให้เขารู้สึกเหมือนได้ใช้เวลาในบ้านของตัวเองไปพร้อมกับการซึมซับความคลาสสิกของสถาปัตยกรรม”


3 มุมมองความงามผ่านกาลเวลา
“รักษาเอกลักษณ์ตามแบบฉบับเมืองสงขลา”
ป้าต้อยเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ภายหลังเราพูดคุยถึงแนวคิดในการออกแบบ ห้องพักมีเพียง 3 ห้อง ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดของพื้นที่ ผนวกกับไม่ต้องการให้เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ จึงเน้นจำนวนน้อยแต่มีคุณภาพสูง ขณะที่การตกแต่งเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดและความต้องการกับสถาปนิก ปกรณ์ เนมิตรมานสุข จากสำนักงานสถาปนิก Pakorn Architect ผู้ชนะการประกวดแบบ TCDC สงขลา
ซึ่งหลักใหญ่ใจความของคลื่นงาม คือความตั้งใจให้ผู้คนสัมผัสคุณค่าความจริงแท้ และมุมมองความงามผ่านกาลเวลา อันเป็นที่มาของการกะเทาะผนังปูนที่เคยผ่านการทาทับด้วยสีสมัยใหม่ เพื่อเผยให้เห็นการเรียงตัวของชั้นอิฐสงขลาและปูนทรายภายใน


“ป้าต้องการคงไว้ซึ่งรูปแบบของบ้านเก่าให้มากที่สุด พยายามเก็บโครงไว้ทั้งหมดเพื่อรักษาเอกลักษณ์ไว้ เพราะฉะนั้น จึงพยายามไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลยนอกจากการตกแต่ง ยกเว้นส่วนหลังต่อเติมมาเป็นห้องพัก ป้าให้โจทย์กับทางสถาปนิกว่าอยากได้บ้านของคนสงขลาที่ให้ความอบอุ่น ต้องอยู่แล้วสะดวกสบาย สวยงาม แต่ก็ต้องดูแลทำความสะอาดง่าย”
ไม่เพียงการบอกเล่าปากเปล่า ป้าต้อยยังพาเราเยี่ยมห้องพักเพื่อให้เห็นบรรยากาศจริง โดยทั้ง 3 ห้องมีลักษณะร่วมกัน คือเน้นความโปร่งโล่ง ตกแต่งด้วยความเรียบง่าย เพื่อขับเน้นสิ่งที่โดดเด่นยิ่งกว่า นั่นคือเสน่ห์แห่งกาลเวลาของสถาปัตยกรรมอันสร้างขึ้นใหม่ไม่ได้
ด้วยการมีพื้นที่ใช้สอยไม่เหมือนกัน สถาปนิกจึงออกแบบให้ทั้ง 3 ห้องเป็น 3 บริบทแตกต่างออกไป ได้แก่ ห้องนอนแรกบริเวณชั้น 2 มีลักษณะเป็น Family Room ด้วยขนาดห้องยาวและกว้างพิเศษ รองรับผู้เข้าพักได้มากถึง 3 เตียง เหมาะสำหรับการเข้าพักแบบครอบครัว จากนั้นมีบันไดพาเราขึ้นสู่ชั้น 3 นำไปพบกับห้องพักโดดเด่นด้วยบานกระจกขนาดใหญ่ เผยให้เห็นมุมมองใหม่ของเมืองสงขลาที่ไม่ใช่ทะเลสาบหรือชายทะเล หากแต่เป็นสีเขียวจากกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ใหญ่ และหลังคาตึกแถวเก่าแก่เรียงรายสะท้อนกลิ่นอายความเป็นเมืองท่าโบราณ ส่วนห้องที่ 3 มีลักษณะเฉพาะตัวด้วยการปรับแต่งห้องเก็บของชั้นลอย หรือ ‘เหล่าเต๊ง’ เนรมิตเป็นห้องพัก โดยความพิเศษคือเผยให้เห็นโครงสร้างหลังคาจีนอย่างใกล้ชิด


เสน่ห์ของความสงบเรียบง่าย
คิดว่าเสน่ห์ของเมืองเก่าสงขลาคืออะไร – เราตั้งคำถามเมื่อได้ฟังเรื่องราวและแนวคิดน่าสนใจของคลื่นงาม
“คือความสงบเรียบง่าย”
ป้าต้อยให้คำตอบในทันที และเสนอมุมมองความเห็นเพิ่มเติมว่า เมืองเก่าสงขลาน่ารักด้วยการเป็นเมืองขนาดเล็ก ทุกคนเดินสำรวจและเชื่อมถึงกันได้ทุกตรอกซอกซอย โดยความเงียบสงบถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คลื่นงามจึงไม่ได้มุ่งเน้นรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากจนละเลยไม่ใส่ใจต่อคุณภาพ ประกอบกับเมืองเก่าสงขลาค่อนข้างเงียบในตอนกลางคืน เหมาะแก่การพักผ่อนเพื่อตื่นมาสัมผัสบรรยากาศบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ เป็นเหตุผลให้ป้าต้อยให้ความสำคัญกับห้องพักที่ตกแต่งเรียบง่าย มอบประสบการณ์ความเงียบสงบและครบครันด้วยความสะดวกสบาย

“เมื่อเรามาทดลองนอนด้วยตัวเองก็รู้สึกชอบมาก เพราะเราเดินรอบเมืองได้อย่างสะดวก อาหารเช้าเราเสิร์ฟเป็นอาหารท้องถิ่น โดยให้เลือกว่าจะเป็นข้าวมันแกงไก่ ข้าวหมูสตู หรือโจ๊ก ซึ่งเสียงตอบรับจากลูกค้ามักไปในทางเดียวกัน คือรู้สึกอบอุ่นและอยากกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากพักกับคลื่นงามทำให้เขาได้นอนในบ้านที่สบายและได้กินอาหารพื้นเมืองที่อร่อย”
กลุ่มเป้าหมายของคลื่นงาม แรกเริ่มตั้งใจให้เป็นกลุ่มวัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตามพบว่าในปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้การตอบรับค่อนข้างดี ด้วยสไตล์ห้องพักไม่มากไม่น้อย เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่มวัย
“ผู้เข้าพักค่อนข้างหลากหลาย หากเทียบเปอร์เซ็นต์จำนวนพบว่ามีทั้งวัยผู้ใหญ่และวัยหนุ่มสาวคละกันไป ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ มีความเห็นตรงกันว่าค่อนข้างสะดวกต่อการตระเวนร้านรวงต่าง ๆ และนอนหลับสบาย ในขณะที่ลูกค้าบางคนมาจากอำเภอหาดใหญ่ มาทดลองใช้บริการเพื่อจะได้เป็นข้อมูลแนะนำเพื่อนต่อไป”

ผู้ใหญ่ใจดีที่ตั้งใจเล่าเรื่องเมืองสงขลา
พูดคุยกันมาถึงตอนสุดท้าย เรามีความรู้สึกว่าคลื่นงามมีบุคลิกเปรียบเหมือนผู้ใหญ่วัยกลางคนที่พยายามสื่อสารเรื่องราวของตัวเอง ผ่านการนำเมนูอาหารดั้งเดิมกลับมาเล่าใหม่ให้น่าสนใจ หรือการเอนกายสัมผัสคุณค่าความจริงแท้ของสถาปัตยกรรมโบราณ โดยมุมมองของป้าต้อยในฐานะผู้ก่อตั้ง เห็นว่าการมีอยู่ของคลื่นงามจะเข้ามาช่วยยกระดับการท่องเที่ยวให้แก่เมืองเก่าสงขลา
“ทุกอย่างที่ป้าทำ อันดับแรกคืออยากทำให้คนสงขลา ทำให้เมืองสงขลา ส่วนนักท่องเที่ยวมาเป็นลำดับที่ 2 เราอยากให้คนได้ลิ้มลองรสชาติอาหารท้องถิ่นและพักในบ้านคนสงขลาอย่างแท้จริง”
ท้ายที่สุด คลื่นงามก็คือตัวตนของ แดงต้อย ไทยทัน ผู้ใหญ่ใจดีที่คอยเล่าเรื่องเมืองสงขลาให้หมู่เพื่อนฝูง ญาติมิตร ลูกหลาน และนักเดินทางผู้ผ่านไปผ่านมาได้ฟัง – เราเชื่ออย่างนั้น


3 Things you should do
at Kluenngam Cafe & Stay

01
เยือนโรงสีเก่า หับ โห้ หิ้น เรียนรู้ประวัติศาสตร์สงขลา

02
สำรวจเมืองเก่าสงขลาแบบครบทุกช่วงเวลาและมุมมอง

03
ตระเวนลิ้มลองอาหารท้องถิ่นร้านเด็ดเจ้าดัง