“เราอยากให้ภาพที่สังคมมองคนพิการเป็นตัวประหลาดเปลี่ยนไป เพราะเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เหมือนคนสูง คนเตี้ย คนอ้วน คนผอม เรามองว่าความพิการก็เป็นแค่ความแตกต่างหนึ่งเท่านั้นเอง”

ประโยคข้างต้นถูกเอ่ยโดย ต่อ-ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

หากคุณชอบลงรายการวิ่งต่างๆ คุณอาจได้ยินชื่อเขาผ่านหูอยู่บ้าง

แต่หากคุณเคยลงรายการวิ่งกับคนพิการ คุณน่าจะรู้จักเขาเป็นอย่างดี

ต่อคือเรี่ยวแรงสำคัญ ผู้ทำให้เกิดงาน ‘วิ่งด้วยกัน Run2Gether งานวิ่งร่วมกันระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการ เพื่อสร้างมิตรภาพอันดีงามท่ามกลางความแตกต่าง

กล่องดินสอ, ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

กล่องดินสอ, ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

ต่อเคยทำงานธนาคารหลังเรียนจบปริญญาตรี ก่อนหน้านั้นเขาคือนักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่สนใจงานจิตอาสา แม้จะไม่ถนัดการไปออกค่ายตามต่างจังหวัด แต่เขาก็ตั้งมั่นว่าอยากทำอะไรบางเพื่อช่วยให้ชีวิตคนดีขึ้น และเลือกที่จะสอนหนังสือเพราะเป็นสิ่งที่ตนทำได้ดี

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากความชอบที่ว่านี้ จนกลายมาเป็น บริษัท กล่องดินสอ จำกัด องค์กรที่มีเป้าหมายหลักในการทำให้คนพิการได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม มีสโลแกนว่า ‘Friendship Beyond Different’ หมายถึงความเป็นเพื่อนที่ก้าวข้ามความแตกต่างระหว่างบุคคล และนี่คือสิ่งที่กล่องดินสอทำงานอยู่

เราจะพาไปรู้จักให้มากขึ้นผ่านบทสนทนาที่เกิดใต้ต้นไม้ในสวนเล็กๆ กลางเมือง

กล่องดินสอ, ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

เริ่มจากมองเห็นคนตาบอด

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 6 – 7 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่ต่อกำลังศึกษาระดับปริญญาโท นอกเวลาเรียน เขาสนใจมาเป็นอาสาสมัครที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ สอนน้องๆ คนตาบอดที่กำลังเล่าเรียนชั้นมัธยมปลายทำการบ้านตอนเย็นๆ เขาพบว่าการสอนหนังสือให้กับเด็กตาบอดนั้นไม่ง่าย ต้องสอนโดยใช้การอธิบายปากเปล่าให้น้องๆ เข้าใจเนื้อหาในตำรา โรงเรียนก็แทบไม่มีสื่อการเรียนการสอนที่มากพอ ต่อคิดว่าเขาควรทำอะไรที่มากกว่านั้น

“เราเริ่มทดลองทำสื่อการเรียนให้เด็กตาบอดหลายอย่าง แล้ววันหนึ่งเราลองทำปากกาเล่นเส้นขึ้นมา เป็นปากกาที่ใช้ไหมพรมแทนหมึก แล้วทำบอร์ดตีนตุ๊กแกแทนสมุด ให้น้องๆ คนตาบอดวาดรูปได้เอง วาดไปสัมผัสเส้นไป

“ตอนนั้นเราทำแจกเรื่อยๆ จนคิดขึ้นมาว่าแล้วเราจะเอาเงินทุนที่ไหนมาผลิตต่อ ถ้าจะพัฒนาสิ่งนี้ให้ดีขึ้นได้ต้องมีทุน เราจึงตัดสินใจเปิดบริษัทเลย เราจะใช้โมเดลทางธุรกิจในระบบทุนนิยมนี่แหละในการขับเคลื่อน สร้างสื่อเพื่อการศึกษาของเด็กตาบอดให้มากขึ้น แล้วเราก็ตั้งชื่อบริษัทว่า กล่องดินสอ”

กล่องดินสอ, ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล กล่องดินสอ, ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

ต่อก่อตั้งบริษัทกล่องดินส่อขึ้นมาจากความเชื่อว่าการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิต ถ้าเด็กตาบอดมีการศึกษาที่ดี พวกเขาอาจมีโอกาสในอนาคตมากขึ้น

ปากกาเล่นเส้นถูกขายให้กับบริษัทที่ต้องการทำ CSR รวมถึงองค์กรและสมาคมทั้งในประเทศและนอกประเทศ เป็นเครื่องยืนยันว่าพวกเขาเดินได้ถูกทาง

และโปรดักต์ที่ชื่อว่า ‘ปากกาเล่นเส้น’ นี้กำลังพา ‘กล่องดินสอ’ ที่วางใส่ไปได้ไกลขึ้น

วันหนึ่งต่อและทีมเดินทางไปโรงเรียนสอนคนตาบอดที่พัทยา เพื่อนำปากกาเล่นเส้นไปให้นักเรียนตาบอดระดับชั้นมัธยมปลายได้ลองใช้ ระหว่างอยู่ในคลาสเรียนต่อลองถามบางอย่างกับน้องๆ ซึ่งมันกลายเป็นสิ่งที่จุดประกายความคิดครั้งสำคัญ

กล่องดินสอ, ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

“เราถามน้องๆ ว่า หลังเรียนจบแล้วอยากจะไปทำงานอะไรกัน พอถามแบบนี้ไปไม่มีใครตอบได้เลย ทั้งห้องเงียบหมด จนผ่านไปสักพักก็เริ่มตอบกันว่า อยากเป็นหมอนวด คนขายลอตเตอรี่ พนักงานคอลเซ็นเตอร์ คำตอบมีแค่นี้ มันคือ 3 อาชีพหลักในฝันของเขาแล้วล่ะ

“ตามสถิติคนตาบอดส่วนใหญ่ไม่มีอาชีพรองรับ เราเข้าใจเลยว่าปัญหาการศึกษาของคนตาบอดไม่ใช่เพราะว่าขาดแคลนสื่อนะ แต่เป็นเพราะเขาไม่มีเหตุผลในการเรียน ยิ่งเรียนสูง ยิ่งหางานยาก เพราะว่าบริษัทไม่ได้อยากจะจ้างคนพิการมาทำงานตำแหน่งสูงๆ เพราะงั้นควรปลดล็อกปัญหาเรื่องการสร้างอาชีพและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมให้ได้”

หลังจากนั้น กล่องดินสอก็ขยายขอบเขตงานไปได้กว้างและไกลกว่าเดิมมาก

สู่การผูกมิตรให้คนมาชิดใกล้

มองย้อนอดีตกลับไป การแก้ปัญหาคนพิการมักทำด้วยวิธีการสงเคราะห์ แต่การจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนต้องทำให้คนพิการอยากพัฒนาตัวเอง และรู้สึก Empower ตัวเองมากขึ้น เพราะพวกเขาก็เป็นบทบาทหนึ่งของสังคม เท่าเทียมกับคนที่ไม่พิการเช่นกัน

กล่องดินสอจึงวางหลักการทำงานใหม่ที่คลอบคลุม 3 ด้าน คือการศึกษา การสร้างอาชีพ การสร้างความตระหนักต่อคนพิการในสังคม พวกเขาเชื่อว่าหากทำ 3 ด้านนี้ได้มันจะทำให้เกิดสังคมที่คนพิการกับคนไม่พิการอยู่ร่วมกันได้มากขึ้น

กล่องดินสอ, ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล กล่องดินสอ, ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

ต่อและทีมจึงทำแนะแนวการศึกษาเพื่อเด็กพิการ จัดอีเวนต์เสริมสร้างทักษะการงาน และสร้างความตระหนักให้กับสังคมด้วยการสร้างกิจกรรม

“เราคิดว่าการสร้างความตระหนักที่ดีที่สุดเกี่ยวกับคนพิการ คือการที่คุณได้มีเพื่อนเป็นคนพิการ ถ้ามีเพื่อนเป็นคนพิการเมื่อไหร่ ทัศนคติและความเข้าใจมันเปลี่ยนหมด แต่เดิมเวลาเราเห็นข่าวคนพิการขึ้นลิฟต์ BTS ไม่ได้ ก็อาจไม่เคยสนใจเลยว่ามันเกี่ยวอะไรกับชีวิตเรา แต่ถ้าเรามีเพื่อนเป็นคนพิการเมื่อไหร่ อันนั้นแหละคือปัญหาของเพื่อนเรา” เขาอธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้น

ต่อเสริมไว้ว่า การสร้างความตระหนักมาจากกิจกรรมอะไรก็ได้ สำคัญคือ ให้คนพิการและคนไม่พิการได้มาทำร่วมกัน เพื่อให้รู้จักกัน เข้าใจกัน และเป็นเพื่อนกัน

เขาและทีมออกแบบและจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย เช่น กิจกรรมทำอาหาร ดูหนัง ทำงานศิลปะ และจัดงานวิ่ง ซึ่งเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่สุดที่กล่องดินสอมีในตอนนี้

กล่องดินสอ, ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล กล่องดินสอ, ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

       

มาวิ่งด้วยกัน ชีวิตเลยไปได้ไกล

‘งานวิ่งด้วยกัน’ คืองานวิ่งอายุ 4 ขวบปีที่ชักชวนคนพิการและคนไม่พิการมาวิ่งด้วยกันตามชื่อ มีพาร์ตเนอร์จากหลายประเทศในยุโรป รวมถึงสิงคโปร์และฮ่องกง จัดงานวิ่งที่สวนลุมฯ ทุกเสาร์แรกของเดือน และอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ส่วนจำนวนครั้งที่จัดก็ถึงจุดที่เรียกว่านับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ทั้งยังจัดเป็นอีเวนต์วิ่งขนาดใหญ่ปีละหนด้วย

นี่คืองานวิ่งที่มีคนตาบอด คนนั่งวีลแชร์ คนหูหนวก และคนพิการอื่นๆ หลากหลายวัย วิ่งประกบกับ Guide Runner ที่หลั่งไหลมาสมัครร่วมวิ่งมากขึ้นทุกปี โดยเก็บเงินค่าสมัครจากทั้งคนพิการและคนไม่พิการเพื่อสร้างความรู้สึกที่เท่าเทียมจริงๆ พิเศษหน่อยตรงที่คนพิการจะจ่ายเท่าไหร่ก็ได้ไม่เกินราคาที่ตั้งไว้

กล่องดินสอ, ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล กล่องดินสอ, ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

“ตอนจัดงานวิ่งแรกๆ นักวิ่งจะเข้าใจว่ามาทำบุญ แต่พอได้มาวิ่งสักสองสามครั้งมันคือการมาเจอเพื่อน แต่เพื่อนนั่งอยู่บนวีลแชร์นะ เพื่อนบางคนก็มองไม่เห็นนะ เหมือนมาเพื่อความสนุกสนานกันมากกว่า หลังงานวิ่งจบก็นัดกันไปกินข้าว เราเห็นภาพแบบนั้นเกิดขึ้นจริงๆ

“คนพิการบางคนที่มาวิ่งฟูลมาราธอนหรือ 100 กิโลเมตรได้แล้ว คนพิการหลายคนก็มีศักยภาพมากจนถูกชวนไปทำงานด้วยก็มี พอคนไม่พิการได้มาเจอคนพิการเหล่านี้เขาเลยเข้าใจว่าจริงๆ แล้วคนพิการไม่ได้เป็นแบบในละครไปทั้งหมด มันมีคนพิการที่พร้อมที่จะออกมาสู่สังคมเหมือนกัน

“ในวงการวิ่ง เราก็เห็นว่างานวิ่งอื่นๆ เริ่มเปิดรับคนพิการมากขึ้น ถ้าเราขยายจากวงการวิ่ง ไปวงการอื่นๆ ในสังคมได้ สุดท้ายมันจะกลายเป็นสังคมที่ Inclusive”

แนวคิดที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในสังคมเดียวกันนั้น มันทำได้จริงๆ

กล่องดินสอ, ต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

สำหรับชาวกล่องดินสอ นี่ไม่ได้เป็นแค่งานวิ่งที่เชื่อมมิตรภาพระหว่างผู้คนเท่านั้น ฟีดแบ็กจากการจัดงานก็ชวนให้ตื้นตันมาก มันเกิดเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตและทัศนคติของผู้คนที่มาร่วมงาน คนไม่พิการเข้าใจคนพิการมากขึ้น คนพิการก็กล้าลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเอง

“ผมว่างานวิ่งด้วยกันมันเปลี่ยนชีวิตหลายคนมากเลย บางคนเคยเป็นคนไม่พิการแล้วกลายมาเป็นคนพิการ เขาทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม ชีวิตมันเหมือนพังลงจนรู้สึกอยากจะฆ่าตัวตายเลย แล้วพอเขาได้มางานวิ่งด้วยกัน ได้เห็นว่าจริงๆ โลกเรามันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น ยังมีคนตรงนี้ที่พร้อมจะเปิดรับเขาอยู่

“ถึงชีวิตมันจะยากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ไง ถ้าเริ่มกล้ามากขึ้นชีวิตมันก็มีความหวังที่จะทำอะไรได้ต่อ แล้วอย่างการวิ่งมันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ตรงที่ว่าคุณมีขาหรือไม่มีขาคุณก็วิ่งได้ คุณไม่มีขาคุณก็ปั่นวีลแชร์ไปสิ

“มีพี่คนหนึ่งเป็นคนตาบอด เดิมใช้ชีวิตแค่ที่ทำงานกับที่บ้าน ไปไหนมาไหนกับแม่เท่านั้น ตอนมางานวิ่งด้วยกันครั้งแรกก็เหมือนกัน แต่ครั้งหลังมานี้เราก็เห็นว่าเขาเริ่มมาได้เองกับเพื่อน เมื่อก่อนไม่ค่อยกล้าทำอะไร แต่ตอนนี้ก็กล้าทำแล้ว เพราะเขารู้สึกว่าเขาก็ทำได้นี่หว่า วิ่งฟูลมาราธอนพี่เขาก็ทำได้แล้ว”

ความงดงามอีกอย่างหนึ่งคือ มันส่งผลกระทบไปได้ไกลกว่าแค่เป็นงานวิ่ง

หนึ่ง พื้นที่ในสวนลุมฯ มีการปรับให้เป็น Universal Design ทั้งหมด เพื่อรองรับคนพิการที่มาจำนวนเยอะขึ้นเรื่อยๆ  

สอง การที่คนพิการคนหนึ่งได้เห็นคนพิการอีกคนกล้าออกมาใช้ชีวิตในสังคม มันทำให้เกิดความกล้าที่จะออกมาสู่สังคมภายนอกด้วยเช่นกัน ยิ่งส่งผลให้คนในสังคมเห็นว่าพวกเขามีตัวตน

และสาม Guide Runner หลายคนที่แต่ก่อนไม่ได้เป็นนักวิ่งก็พยายามฝึกวิ่งจนเก่ง เพื่อที่จะพาเพื่อนวิ่งไปด้วยกันได้ เขาไม่ได้วิ่งแค่เพื่อตัวเองอีกต่อไป

พื้นที่ตรงนี้มีกลุ่มคนที่กำลังส่งเสียงบอกคนพิการให้รับทราบว่า พวกเขาพร้อมที่จะเป็นเพื่อน

       

อยู่กับสิ่งที่ฝัน และทำมันให้ดีที่สุด

“กล่องดินสอมีเป้าหมายใหญ่สุดคือการปิดบริษัท” ต่อพูดประโยคนี้ออกมา เมื่อเราถามว่าเป้าหมายสูงสุดของกล่องดินสอคืออะไร

“ที่เราตั้งบริษัทกล่องดินสอขึ้นมาเพราะมันมีปัญหาอยู่ แต่เมื่อไหร่ที่เราแก้ปัญหาได้แล้ว บริษัทกล่องดินสอก็ไม่จำเป็นต้องอยู่อีกต่อไป ถ้าใครเข้ามาแก้ปัญหาสังคมแล้วต้องการที่จะอยู่ตลอดไป มันไม่ใช่แล้วนะ แสดงว่าไม่ได้ตั้งใจมาแก้ปัญหาให้จบ เหมือนเป็นหมอรักษาคนไข้มา 10 ปีแล้วยังไม่หาย ก็คือล้มเหลวในการรักษา” เขาอธิบาย

เมื่อมีภาพปลายทางที่ชัดว่าต้องทำให้สำเร็จ กล่องดินสอจึงมีวิธีทำงานที่ชัดเจนเช่นทุกวันนี้

“เราจะไม่แก้ปัญหาไปวันๆ มันเลยต้องคิดเป็นระบบ เราคิดถึงทั้ง Ecosystem เลยว่าวันหนึ่งระบบนี้มันจะทำงานได้โดยที่ไม่ต้องมีเรา เราตั้งใจทำตรงนี้เพื่อแก้ปัญหาให้ได้จริงๆ

“เราไม่ยึดติดว่านี่เป็น Know-How ของเรา อย่างเรื่องวิ่ง เดี๋ยวนี้กลุ่มวิ่งอื่นๆ ก็เริ่มเปิดรับคนพิการแล้วนะ ในวันหนึ่ง ถ้างานวิ่งทุกงานเปิดรับคนพิการหมด มันก็ไม่จำเป็นต้องมีงานวิ่งด้วยกันแล้ว เพราะว่าทุกงานมันคือการวิ่งด้วยกันแล้วจริงๆ”

ความฝันของต่อและทีมกล่องดินสอ คือการได้เห็นคนพิการใช้ชีวิตในสังคมด้วยความปกติสุข เพราะพวกเขาก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในสังคมนี้เหมือนกัน

ภาพ : กล่องดินสอ

Writer

Avatar

นิภัทรา นาคสิงห์

ตื่นเช้า ดื่มอเมริกาโน เลี้ยงปลากัด นัดเจอเพื่อนบ่อย แถมยังชอบวง ADOY กับ Catfish and the bottlemen สนุกดี