“เหมือนเดินอยู่ต่างจังหวัด”

คือความรู้สึกที่ผมมีเมื่อเดินอยู่ริมทางรถไฟที่มีวิวสองข้างทางเป็นชุมชนริมทางรถไฟ มีทั้งบ้านไม้ชั้นเดียวแบบยกพื้นใต้ถุนสูง และเพิงเล็กๆ ทอดตัวเรียงขนานกับทางรถไฟ อีกฝั่งหนึ่งของทางรถไฟมีหนองน้ำเล็กๆ ซึ่งมีคนเลี้ยงเป็ดอาศัยอยู่ มีค่ายมวยเล็กๆ วางตัวอยู่ถัดไปไกลหน่อย

ใครมันจะไปรู้ว่าย่านใจกลางเมืองอย่างถนนเพชรบุรีนั้นยังมีบรรยากาศเหมือนต่างจังหวัดซ่อนอยู่อย่างไม่น่าเชื่อแบบนี้กัน หลังจากที่เดินเท้าเข้าย่านใจกลางเมืองอย่างซอยเพชรบุรี 5 ผ่านย่านตลาดและชุมชนที่แสนคึกคักจนมาเจอทางรถไฟเท่านั้นแหละ บรรยากาศแบบบ้านๆ ราวกับอยู่ต่างจังหวัดที่ว่ามาก็มาห่อหุ้มรอบตัวผมในทันที

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

สิ่งที่ทำให้ผมต้องมาเดินเล่นย่านนี้ก็เพราะว่ามีโรงแรมเปิดใหม่แห่งหนึ่งชื่อว่า ‘เคลิ้ม โฮสเทล’ ที่รีโนเวตจากบ้านไม้ชั้นเดียวแบบยกใต้ถุนสูง ผนังไม้ตีซ้อนเกล็ด ซึ่งสร้างในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือประมาณ 60 ปีที่แล้ว

ความน่าสนใจอยู่ที่บ้านลักษณะนี้ช่างเป็นบ้านแบบบ้านๆ ที่เราคุ้นตากัน ไม่ได้มีมูลค่าหรือคุณค่าทางประวัติศาสตร์แบบบ้านเก่าอายุร้อยปีของเจ้านายอะไรแบบนั้น รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่ตั้งของโรงแรมที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเหมาะกับนักท่องเที่ยวเท่าไหร่ด้วย นั่นจึงทำให้เราอยากรู้วิธีคิดของโรงแรมแห่งนี้จริงๆ

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

หลังจากเดินเข้าซอยมาประมาณ 10 นาที โรงแรมที่ผมตั้งใจจะมาเยือนก็แสดงตัวโดดเด่นด้วยสีดำเงางามอยู่ด้านซ้ายมือ บ้านไม้เก่าใต้ถุนสูง 2 หลังถูกซ่อมแซมจนอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ และมีโครงสร้างหลังคาหน้าตาทันสมัยมาครอบเชื่อมต่อบ้านทั้งสองหลังให้กลายเป็นอาคารเดียวกัน ด้านหน้าสุดเป็นส่วนของรีเซปชัน หลังเดินผ่านเข้าไปด้านในจะเห็นว่าพื้นที่ระหว่างบ้านสองหลังถูกทำให้เป็นชานพักแสนร่มรื่นมีเปลญวนขนาดเล็กวางอยู่หลายจุด และเปลญวนอันใหญ่ยักษ์ซึ่งรองรับคนได้มากมายทอดตัวอยู่เหนือหัวเรา บรรยากาศของโรงแรมช่างขัดแย้งกับภาพบรรยากาศข้างนอกริมทางรถไฟเหลือเกิน

ผมมีนัดกับ คุณแก้ม-วรรณกานต์ กิจคุณาเสถียร เจ้าของโครงการ ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนบ้านไม้ให้กลายเป็นโรงแรมที่สุดแสนจะน่ารักแบบบ้านๆไทยๆแบบนี้กัน

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

จากบ้านสู่โรงแรม

แก้มเล่าให้ผมฟังว่า ตัวเองเกิดและอยู่ในย่านตลาดกิ่งเพชร ญาติพี่น้องทุกคนก็อาศัยอยู่ในละแวกนี้กันหมดทุกคน พอหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เธอก็กลับมาช่วยงานที่บ้าน หลายคนอาจจะบ่นว่าการมาช่วยงานที่บ้านเป็นเรื่องไม่สนุก แต่แก้มเห็นต่างออกไป

“การช่วยงานที่บ้านนั้นจริงๆ แล้วดีมากเลยนะ เพราะแก้มสามารถขอลางานและขอวีซ่าไปเที่ยวได้ง่ายขึ้น” เธอหัวเราะหลังจากที่บอกข้อดีของการทำงานช่วยที่บ้าน และเพราะเหตุนั้นทำให้แก้มได้ไปเที่ยวแบบแบ็กแพกเกอร์หรือสะพายเป้เที่ยวมาหลายประเทศ ทั้งแถบประเทศเพื่อนบ้านและที่ไกลออกไป จนเริ่มมองเห็นพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนยุคสมัยนี้ที่เปลี่ยนไป

ทั้งในเรื่องของการเลือกที่พักอย่างโฮสเทลซึ่งมีการบริการแบบเป็นกันเอง พื้นที่ส่วนกลางของโฮสเทลที่มีไว้ให้คนมานั่งเล่นพูดคุยกัน ไปจนถึงการที่นักท่องเที่ยวชอบพักและเที่ยวในสถานที่ที่คนท้องถิ่นนิยมไปกันมากขึ้นด้วย

“นอกจากนั้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่แก้มไม่ชอบเลยเมื่อไปเที่ยวก็คือ เวลาลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วไม่รู้ตัวเองอยู่ประเทศไหน ยิ่งถ้าเป็นโรงแรมเชนที่หน้าตาเหมือนกันไปหมด ตื่นมาเราไม่รู้เลยว่าอยู่ที่ไหน แต่อย่างโรงแรมที่ไปพักตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น แม้จะเป็นโรงแรมแบบโมเดิร์น แต่แก้มก็ยังเห็นความเป็นญี่ปุ่นซ่อนอยู่ในการตกแต่งอยู่ดี เราก็เหมือนเจอตัวเองว่าชอบที่พักแบบที่มีกลิ่นอายท้องถิ่นผสมด้วย”

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTELเคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

“ซึ่งในตอนนั้นแก้มก็เป็นวัยรุ่นทั่วไปที่เริ่มอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง เพราะธุรกิจอื่นๆ ของที่บ้านก็มีมืออาชีพมาดูแลกันหมดอยู่แล้ว เลยเกิดความคิดอยากทำโรงแรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยนึกถึงบ้านไม้เก่า 2 หลังในซอยเพชรบุรี 5 ที่ทางบ้านได้ซื้อไว้นานแล้วแต่ยังไม่ได้ปรับปรุงทำอะไรเลย เราเลยคิดว่าน่าจะมาทำอะไรที่นี่”

หลายคนคงจะคิดเหมือนกับผมว่าอยู่ดีๆ คนธรรมดาหนึ่งคนที่ไม่เคยทำโรงแรมจะสามารถเริ่มต้นทำโรงแรมได้อย่างไร และจะรู้ได้ยังไงว่าจะมีคนมาพักไหม

แก้มก็คิดถึงเรื่องนี้ เลยทดลองหาความเป็นไปได้ในการทำโรงแรมบริเวณนี้ ด้วยการนำห้องว่างๆในบ้าน มาตกแต่งใหม่ และเปิดให้นักท่องเที่ยวเช่าผ่านเว็บไซต์ Airbnb ส่วนหนึ่งก็เพื่อสำรวจตลาดและอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อเรียกความเชื่อใจจากที่บ้าน ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างจะดี ครอบครัวของแก้มจึงเริ่มเชื่อใจและมั่นใจมากขึ้น วันหนึ่งแก้มเลยขอครอบครัวว่าอยากเปลี่ยนบ้านเก่า 2 หลังนี้ให้เป็นโรงแรม

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

ทำอะไรตามใจคือไทยแท้

หลังจากคิดจะเปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงแรม สิ่งแรกที่แก้มทำคือการมาพูดคุยกับเพื่อนบ้านและชุมชนรอบๆ ว่าเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนี้มั้ย ซึ่งแทบทุกคนที่ไปถามก็ตอบมาว่า ‘ทำเลย ซอยนี้จะได้คึกคักขึ้นสักที’ แก้มก็เลยมั่นใจมากขึ้น เพราะชุมชนต้อนรับโรงแรมและนักท่องเที่ยวแล้ว

“พอเรามาดูอย่างละเอียด ประกอบกับคุณพ่อพูดไว้ว่าอยากเก็บบ้านไม้นี้ไว้ ก็เลยถอยกลับมาคิดเรื่องคอนเซปต์ของโรงแรม ว่าเราอยากจะขายอะไรให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถ้าคนญี่ปุ่นทำโรงแรมแบบเรียวกังที่ขายการใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่น งั้นถ้าเราขายวิถีชีวิตแบบคนไทยทั่วๆ ไปที่อาศัยอยู่ให้เห็นกันล่ะจะเป็นยังไง เลยออกมาเป็นคอนเซปต์ หน้าตา และรูปแบบการบริการของโรงแรมที่มีที่มาจาก ‘ทำอะไรตามใจคือไทยแท้’ นี่แหละ เพราะจริงๆ แล้วคนไทยเป็นคนชอบตามใจ สบายๆ ผ่อนคลาย เวลาเราไปบ้านญาติหรือบ้านเพื่อน ทุกคนก็จะพูดว่าตามสบายนะ อยากกินอะไรล่ะ ตามใจกันเต็มที่เลย”

“เราอยากให้เขามาพักผ่อนในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนกับที่อื่นๆ ภาพจำของคนต่างชาติที่มีต่อกรุงเทพฯ คือมันวุ่นวาย เราจึงอยากให้เขาเห็นอีกมุมหนึ่งของความเป็นไทยแบบชาวบ้านๆ ของกรุงเทพฯด้วย เหมือนมาพักบ้านเพื่อนคนไทย ตามใจคนมาพักทุกอย่าง อาหารก็กินเหมือนกับที่คนไทยกิน”

หลังจากที่ได้คอนเซปต์และแบรนดิ้งของโรงแรมมา ก็ถึงเวลาหาสถาปนิกที่จะสร้างแนวคิดนี้ให้ออกมาเป็นภาพที่จับต้องได้ ซึ่งแก้มมีวิธีหาสถาปนิกโดยดูจากผลงานที่ผ่านๆ มาว่าดูแล้วเข้าใจรึเปล่า

“แก้มต้องการให้งานออกมาแล้วคนทั่วไปเข้าใจมันได้ง่าย ไม่ซับซ้อนเกินไป เพราะสุดท้ายเราทำให้คนทุกแบบมาอยู่ในพื้นที่นี้ แก้มจึงเลือกกลุ่ม IF (Integrated Field) มาเป็นสถาปนิก โดยมีข้อบังคับ 2 ข้อ คือตัวบ้านไม้นั้นจะแต่งหรือกั้นห้องแบบไหนก็ได้ ขอแค่ต้องเก็บภาพความเป็นบ้านไม้ด้านนอกไว้ และต้นชมพู่มะเหมี่ยวที่เห็นในวันแรกต้องยังอยู่ แต่สามารถย้ายที่ได้

“นอกเหนือจากนั้นก็ให้อิสระเต็มที่ แก้มเป็นคนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงจนสถานที่มันไม่เหลือเอกลักษณ์เดิมเลย แต่ก็ไม่ใช่คนอนุรักษนิยม อันไหนที่เก็บได้ก็เก็บไว้ แต่บางอย่างที่มันต้องเปลี่ยนก็ควรเปลี่ยน เพราะของเดิมมันอาจจะหมดอายุ”

สถาปนิกทำแบบมาให้เลือกอยู่ 2 แบบ คุณแก้มก็เลือกโดยการเอาแบบไปให้คนรอบตัวดูว่าอันไหนที่เข้าถึงคอนเซปต์สบายๆ ชิลล์ๆ

“เพราะเราไมไ่ด้ทำเพื่ออยู่เอง เลยต้องให้คนอื่นเลือก ซึ่งคนอื่นก็เลือกแบบที่แก้มไม่เลือก เห็นมั้ย แม้แต่การเลือกแบบก็ตามใจคนอื่นเหมือนกัน (หัวเราะ)”

เรื่องการตามใจของโรงแรมแห่งนี้มันสะท้อนออกมาทั้งด้านการออกแบบและบริการทั้งหมดเลยจริงๆ

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

ตามใจเรื่องกิน-เมื่อแขกมาพักจะมีใบสั่งข้าวเช้าให้กรอก ทางโรงแรมจะมีอาหารหลากหลายให้เลือก อยากกินอะไร อยากกินกี่โมง ก็เลือกเองได้ คล้ายเวลาเราไปนอนบ้านเพื่อนแล้วพื่อนถามว่าอยากกินอะไร ซึ่งอาหารพวกนี้ก็มาจากแม่ค้าในชุมชนแถวนี้ทั้งหมด อาจจะไม่ได้อร่อยที่สุด แต่ก็เป็นอาหารที่คนไทยกินกันเป็นข้าวเช้าจริงๆ

นอนเล่นได้ตามใจ-หลายๆ มุมของโรงแรมจะมีเบาะน่านั่งและเปลญวนวางให้แขกได้นอนพัก นอนเล่น ตามใจชอบ โดยเฉพาะเปลญวนอันใหญ่ยักษ์สะดุดตาที่สามารถรองรับคนได้มาก ซึ่งแขวนลอยอยู่เหนือลานส่วนกลางระหว่างที่พักทั้งสองหลัง โดยเอาตาข่ายสำหรับขนของของเฮลิคอปเตอร์มาใช้ขึงแทนตาข่ายธรรมดา เพื่อความปลอดภัยในการรับน้ำหนัก ความดีงามของมุมนี้ไม่ใช่แค่ขนาดของเปลญวน แต่บริเวณนี้ยังเย็นสบายมาก ไม่ว่าแดดข้างนอกจะร้อนแค่ไหนก็ตาม

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

ตามใจเรื่องห้อง-ห้องของเคลิ้ม โฮสเทล มีอยู่หลากหลาย ทั้งห้องแบบเดี่ยว ห้องส่วนตัว ห้องแบบ 6 คน มีแม้กระทั่งห้องแบบ 3 คน เอาใจการมาพักของนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบ

ตามใจเรื่องเตียง-บนเตียงนอนของห้องทุกๆ แบบจะมีที่ว่างเว้นไว้ เพื่อให้แขกสามารถหยิบของแต่งห้อง ต้นไม้ กระจก หรือของที่ชอบ ไปแต่งหัวเตียงตัวเอง จะได้ตื่นมาในสภาพแวดล้อมที่ชอบ

ตามใจเรื่องเที่ยว-ถ้าอยากไปเที่ยวคุณแก้มก็มีรถสามล้อของที่บ้าน ซึ่งดัดแปลงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้กลายเป็นรถสามล้อไฟฟ้าเพื่อการท่องเที่ยวไว้บริการ สามารถขับพาคนที่อยากชมเมืองไปนั่งรถเล่นได้ หรือถ้าอยากไปเดินเที่ยวละแวกใกล้ๆ ซึ่งเป็นชุมชนคนอยู่อาศัยริมทางรถไฟ ก็มีทีมงานของโรงแรมพาไปเดินดู ทั้งฟาร์มไก่ชน คนเลี้ยงเป็ด และค่ายมวยเด็ก

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

ไม้กลายเป็นหิน

ด้วยความที่เป็นบ้านไม้อายุหลายสิบปี ผมเลยถามแก้มถึงสภาพตอนแรกก่อนจะเริ่มเข้ามาปรับปรุง และความยากในการรีโนเวตบ้านแห่งนี้ ว่าหนักหนาสาหัสยังไงบ้าง

แก้มบอกว่า ความรู้สึกตอนนั้นรู้เลยว่างานไม้เป็นงานที่หินมาก เพราะสภาพบ้านที่เข้ามาดูตอนที่จะเริ่มปรับปรุงนั้นรั่วหมดทุกจุดของบ้าน ผนังบ้านที่เป็นไม้เรียงซ้อนกันก็ทั้งผุและหดจนเกิดเป็นช่องขนาดใหญ่ ซึ่งคงเป็นสาเหตุที่เจ้าของบ้านคนก่อนเอากระดาษหนังสือพิมพ์มาพับแล้วยัดตามแนวเอาไว้

“เราเถียงกับที่บ้านเยอะนะเรื่องที่ตัดสินใจจะเก็บบ้านไม้ไว้ หลายๆ คนที่บ้านคิดว่าถ้าอยากให้ได้เงินคืนเร็วๆ ทุบทิ้งสร้างตึกใหม่ใหญ่ๆ แป๊บเดียวก็คืนทุน เพราะบ้านไม้มันปัญหาเยอะ แต่ในความคิดเราบ้านแบบนี้มันหาไม่ได้อีกแล้ว มันเป็นเอกลักษณ์ของสถานที่แถวนี้ แล้วถ้าเราทำตึกเหมือนคนอื่นใครมันจะเดินเข้าซอยมาหาเรา ซึ่งเรามีสิ่งนี้อยู่ในมือแล้ว จริงๆ คุณพ่อเขาเข้าใจเราด้วยว่าต่อไปโรงแรมมันจะต้องเปลี่ยนรูปแบบไป เพราะรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวมันเปลี่ยนไปแล้ว” แก้มอธิบาย ก่อนจะเล่าเรื่องไม้กลายเป็นหินให้ผมฟังอย่างละเอียดต่อ”

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

หินแรก: ตามหาช่างไม้ พอเป็นงานบ้านไม้ทำให้หาผู้รับเหมายากมาก ผู้รับเหมาส่วนมากพอรู้ว่าเป็นงานซ่อมบ้านไม้ แทบทุกคนก็ปฎิเสธเลย เพราะทำได้แต่งานปูน ซึ่งพอเรายิ่งหาข้อมูลไปมากๆ ก็พบว่าบ้านไม้มันต้องหาช่างไม้จริงๆ มาซ่อม แม้แต่ช่างเฟอร์นิเจอร์ไม้ก็ทำได้ไม่เท่ากับช่างไม้จริงๆ มันหายากมากจนถึงขนาดต้องโทรไปหาช่างไม้เก่งๆ ที่อยุธยาหลายคน พอโทรไปก็พบว่าช่างไม้พวกนั้นเสียชีวิตไปหมดแล้ว ตอนนั้นเครียดมาก แต่สุดท้ายก็ไสถาปนิกที่ช่วยหาทีมช่างไม้มาทำโปรเจกต์นี้ ซึ่งระหว่างทำก็มีการเปลี่ยนทีมช่างไม้ไปหลายทีมด้วย

หินสอง: ตามหาไม้เก่า ด้วยสภาพบ้านไม้ที่ผุพังไปตามกาลเวลา จึงต้องใช้ไม้เก่าในการซ่อมแซม แทนที่จะเป็นไม้ใหม่ที่อาจจะเกิดปัญหาการหดตัว จึงต้องหาไม้เก่าที่มีความหนาใกล้เคียงเดิมมาใช้ซ่อมแซม แล้วพอผนังเป็นไม้ตีเกล็ดซ้อนกัน ถ้ามีไม้ผุหรือเสียก็ต้องถอดทั้งผนังออกมาซ่อมและเรียงใหม่ แม้แต่ตอนจะเอาเฟอร์นิเจอร์ใหญ่ๆ อย่างเตียงเข้ามาในห้องก็ต้องรื้อผนังออกเสมอ โดยต้องเขียนสัญลักษณ์ไว้ตลอดเพื่อให้ประกอบกลับมาแล้วไม่เกิดปัญหาการบิดโก่งหรืองอในภายหลัง

หินสาม: เก็บรักษาชิ้นส่วนที่ยังใช้ได้ เวลาที่เจอผนังไม้ผุก็จะต้องรื้อผนังออกมา ซึ่งวงกบบานประตูหน้าต่างที่ยังใช้งานได้ดีอยู่นั้นก็จะต้องถูกแกะออกมาด้วย และถ้านำมาวางอยู่ในบริเวณก่อสร้างอาจจะทำให้เสียหายได้ แก้มเลยต้องเช่าโกดังและขนย้ายชิ้นส่วนเหล่านั้นไปเก็บ เพื่อป้องกันไม่ให้เสียหายทั้งจากขั้นตอนการซ่อมแซมและสภาพอากาศ

หินสี่: ดีดบ้าน บ้านทั้งสองหลังนี้เจอปัญหาที่เมื่อรัฐมาทำถนนใหม่ก็ถมถนนให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนบ้านนั้นเตี้ยกว่าถนน พอจะปรับปรุงก็เลยต้องดีดบ้านให้ขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงใกล้เคียงถนนมากขึ้น ซึ่งการดีดบ้านนั้นคือการตัดเสาแล้วเอาเครื่องมือมารองรับน้ำหนักไว้ ก่อนจะค่อยๆ ยกตัวบ้านให้ลอยสูงขึ้น แล้วทำฐานรากมารองรับไว้ให้ได้ความสูงตามที่ต้องการ

คุณแก้มเลือกดีดบ้านให้สูงขึ้นเพียง 90 เซนติเมตร เพราะไม่ต้องการให้สัดส่วนของบ้านหลังนี้ผิดแผกไปจากบ้านไทย และไม่ต้องการให้บ้าน 2 หลังนี้สูงกว่าหลังอื่นๆในละแวกเดียวกันด้วย ซึ่งในขั้นตอนการดีดบ้านที่ต้องตัดเสาก่อนก็เจอเรื่องตลก คือใต้เสาบ้านนั้นไม่มีฐานรากอะไรอยู่เลย เหมือนบ้านไม้นี้วางอยู่บนดินไว้เฉยๆ เลยต้องทำฐานรากของพื้นที่ทั้งหมดนี้เพิ่มไปอีกด้วย แก้มบอกว่า เหมือนสร้างใหม่ทุกอย่างเลย แต่ลำบากขึ้นอีกตรงที่มีบ้านไม้ให้ต้องพะวงไปด้วย

หินห้า: ถอดบันไดทำสะพาน คุณแก้มและทีมสถาปนิกเห็นพ้องกันว่า ควรให้บ้านทั้งสองหลังนี้ใช้บันไดอันเดียวกัน เพื่อให้มีพื้นที่ภายในบ้านเยอะขึ้น และสามารถกั้นเป็นสัดส่วนได้ง่าย แล้วจึงทำสะพานเชื่อมชั้นสองของบ้านทั้งสองหลังเข้าด้วยกันแทน โดยบันไดที่ถอดออกมาก็กลายมาเป็นโต๊ะกินข้าวเช้าในพื้นที่ส่วนกลาง

หินหก: หน้าต่างสองชั้น แม้แต่เรื่องของหน้าต่างที่ทำหน้าที่เป็นทั้งช่องแสงและช่องอากาศให้แก่ห้องพักก็ยังตามใจคุณ หน้าต่างไม้ที่นำมาประกอบกลับไปกับตัวบ้านนั้นทำให้ห้องมืด ถ้าเปิดรับแสงแอร์ก็ไหลออก แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นบานกระจกไปก็ทำให้บ้านดูไม่เหมือนเดิม แก้มเลยทำหน้าต่างบานกระจกซ้อนไว้หลังหน้าต่างไม้อีกที ให้สามารถเลือกเปิด-ปิดเองได้ตามใจคนมาพัก

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

ไม้กลายเป็นครู

ผมได้แต่ฟังตาปริบๆ เมื่อนึกถึงแต่ละขั้นตอนความวุ่นวายในการรีโนเวตบ้านสองหลังนี้ ก่อนจะถามแก้มว่า แล้วได้อะไรบ้างจากการทำงานที่แสนเหนื่อยขนาดนี้

“เยอะมากกกกกก พอได้เจอคนที่ไม่ได้เจอกันสักพัก ทุกคนบอกว่าแก้มโตขึ้นเยอะนะ (หัวเราะ)” เธอรีบตอบ ก่อนจะอธิบายต่อ “บ้านไม้สอนให้เราเป็นคนละเอียดและทำความเข้าใจทั้งตัววัสดุและธรรมชาติของบ้านไม้ แก้มต้องตรวจงานอย่างละเอียดจริงๆ เพราะมันมีรายละเอียดที่ต่างกับบ้านปูนอย่างมาก ไม้ ถ้าตอกตะปูไปแล้วตอกผิดมันก็จะเป็นรูไปตลอด ถ้าไม้มันไม่ชนกันพอดีน้ำมันก็รั่วได้ หรืออย่างเรื่องเสียงลอดแผ่นไม้ ถ้าเราอยากให้เสียงมันลอดน้อยลงก็ต้องอุดปิดทุกรู ซึ่งจะทำให้อากาศไม่ถ่ายเทและไม่ดีกับเนื้อไม้ หรือไม้แผ่นเดียวกันที่ตอนเช้ากับตอนเย็นมันยืดหดไม่เท่ากัน บางทีเดินผ่านมันก็จะลั่นเอี๊ยดขึ้นมา พอมาตอนบ่ายมันก็ไม่ดังแล้ว”

“สิ่งที่ทำให้การรีโนเวตนี้ช้าและวุ่นวายเกิดจากสิ่งที่เราไปเห็นเข้าแล้วอยากทำให้มันออกมาสมบูรณ์ ไม่ปล่อยมันผ่านไป คือเราตั้งใจและใส่ใจ ถึงมันจะเป็นแค่โฮสเทลก็ตาม แต่พอวัสดุมันเป็นวัสดุธรรมชาติ เราก็เลยได้เรียนรู้ว่าควรต้องปล่อยวางบ้าง” แก้มอธิบายถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้มาให้ฟัง

ผมอยากรู้คำแนะนำของแก้มในฐานะคนที่ซ่อมแซมบ้านไม้เป็นครั้งแรกและผ่านมันมาได้ ถึงคนที่คิดจะซ่อมแซมบ้านไม้แบบนี้

“ถ้ามีใจรักเราจะเก็บมันไว้ได้” คือคำตอบที่แก้มพูดออกมาแทบจะทันทีที่ได้ยินคำถาม

“เพราะมันต้องใช้ทั้งเวลาในการเข้ามาดูช่างทำงาน และใช้เงินค่อนข้างเยอะ โดยส่วนตัวแก้มอยากเก็บบ้านไม้ไว้ เพราะแก้มว่ามันมีเสน่ห์และเอกลักษณ์มากเลย ถึงแม้บ้านสองหลังนี้จะไม่ใช่บ้านฝรั่งแบบโบราณที่มีงานแกะสลักเยอะๆ หรืออะไรแบบนั้น แต่ก็มีคุณค่าในตัวของมันอย่างลายไม้แต่ละแผ่นมันไม่เคยเหมือนกันเลย”

“แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเก็บบ้านไว้แบบเดิมทั้งหมดนะ เราเก็บส่วนที่ยังใช้ได้และนำไปใช้งานได้อย่างเต็มความสามารถดีกว่า อันไหนที่มันหมดอายุแล้วหรือใช้งานต่อไม่ได้ก็ต้องปล่อยมันไป” เจ้าของเคลิ้ม โฮสเทล ทิ้งท้าย

หลังจากที่พูดคุยกันเสร็จก็มีนักท่องเที่ยวเดินเข้ามาในโรงแรม แก้มและทีมงานจึงขอตัวไปต้อนรับ ผมมองไปยังสายตาของนักท่องเที่ยวเหล่านั้นก็เห็นได้ถึงความตื่นเต้นและประทับใจเมื่อพวกเขาเดินเข้ามาจนเห็นด้านในของโรงแรมแห่งนี้

ด้วยความที่ยังต้องถ่ายรูปด้านในต่ออีกสักพัก เลยเห็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเมื่อกี้ที่พอเช็กอินเสร็จก็แยกย้ายกันไปนอนเล่นถ่ายรูปกันตามเปลญวน ก่อนจะออกไปเดินเล่นด้านนอกกันต่อ ผมรู้สึกว่ามันน่าดีใจที่บ้านไม้แบบบ้านๆ นี้ได้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง และมันก็แปลกผสมน่ารักดีที่เรายังสามารถเดินดูวิถีชีวิตแบบนี้กันได้ แม้จะอยู่ใจกลางเมืองก็ตาม

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

เคลิ้ม โฮสเทล, KLOEM HOSTEL

เคลิ้ม โฮสเทล KLOEM HOSTEL

ระยะเวลาการรีโนเวต 10 เดือน

เจ้าของ : วรรณกานต์ กิจคุณาเสถียร

สถาปนิกโครงการ : IF (Integrated Field)

107/31 ถนนเพชรบุรี ซอย 5 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

โทร : 0955255522

https://www.facebook.com/kloemhostel/

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan