บรรยากาศการพูดคุยกับทายาทวันนี้เป็นสีพาสเทล

ไม่ใช่แค่เพราะผลิตภัณฑ์ที่ นุช-วรีรัตน์ ว่องระวัง ทายาทรุ่นที่ 3 จากโรงงานธูปหอมวังทอง นำมาฝากพวกเราเป็นธูปสีพาสเทลบรรจุในกล่องกระดาษลวดลายน่ารักเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะบุคลิกที่นุ่มนวลของนุช ที่ทำให้บทสนทนาระหว่างเรามีโทนสีแสนอ่อนโยน

ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด

หลังจากวางตะกร้าสานที่เต็มไปด้วยกล่องธูปลงข้างกาย นุชจึงเริ่มเราให้เราฟังถึงอดีตที่เคยวิ่งเล่นในโรงงานธูปหอมวังทองของปู่ย่า ช่วงเวลาที่กลิ่นธูปจางไปจากชีวิตของเธอ มาจนถึงวันที่เธอตั้งใจนำกลิ่นนั้นกลับมาในชีวิต ด้วยการเริ่มต้นแบรนด์ธูปใหม่ของตัวเองในชื่อ ‘กลิ่นเกษม

เราก็นั่งฟังกันเพลินไป โดยมีกลิ่นธูปบางๆ เป็นฉากหลัง

โรงงานธูปในความทรงจำ

แรกเริ่มเดิมทีที่บ้านของนุชเป็นร้านขายของชำธรรมดาอยู่ในย่านบางขุนเทียน พระรามสอง คุณปู่มีอาชีพเป็นนายหน้าค้าที่ดิน แต่อยู่มาวันหนึ่งคุณย่าดำริอยากทำธุรกิจสักอย่าง บรรดาคนรอบตัวจึงส่งไอเดียกันเข้าประกวด

ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด
ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด

มีธุรกิจทำธูปนี่แหละที่เข้าตาคุณย่า เป็นที่มาของการเริ่มผลิตธูปในห้องแถว จนลามปามใหญ่โตเป็นโรงงานธูปหอมวังทอง แบรนด์ธูปที่มียอดขายติดอันดับ 1 ใน 4 ของประเทศมาโดยตลอดในวันที่ยังรุ่งเรือง

เคล็ดลับความสำเร็จของธูปหอมวังทองนั้นคงเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากความเป็นคน ‘เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้’ ของคุณย่า

ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด

“ตั้งแต่ไม้ทำก้านธูปที่ต้องเป็นไม้ไผ่จากอยุธยาเท่านั้น จึงจะเรียวพอดิบพอดีไม่เปราะง่าย จนถึงน้ำหอมที่เราใช้ซัดก้านธูป เป็นน้ำหอมอย่างดี ฉีดอัดเต็มที่ ทำให้มีกลิ่นหอมฟุ้งจนคนติดใจ เป็นผลจากความที่คุณย่าทำธุรกิจนี้เพราะอยากทำจริงๆ เลยจัดเต็ม ทำให้ดีทุกอย่าง ถึงขั้นเคยมีคนงานแอบเอาฉลากของเราไปสวมขายกับธูปที่ผลิตจากที่อื่นก็ยังขายได้ เรียกว่าขอแค่มีฉลากเป็นชื่อธูปหอมวังทองก็ขายได้แล้ว” นุชเล่าติดตลก

ในตอนนั้นคุณปู่คุณย่าเป็นผู้ดูแลการผลิต รุ่นคุณพ่อมีหน้าที่จัดจำหน่าย ส่วนนุชเองก็เกิดมาทันได้วิ่งเล่นในโรงงานกับเขาบ้างเหมือนกัน

“เราเคยเข้าไปขี่จักรยานเล่นในโรงงาน ดูผ่านๆ ว่าเขาซัดธูปกันอย่างนี้ มีข้าวของวางเรียงราย แล้วก็ติดรถคุณพ่อที่ขับออกต่างจังหวัดไปส่งธูปเท่านั้น ความทรงจำของเรากับโรงงานธูปเลยค่อนข้างเลือนราง”

แต่ใครจะเชื่อว่า ความทรงจำสีจางเหล่านี้จะได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหลังจากผ่านช่วงชีวิตไป

ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด
ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด

วันที่กลิ่นธูปจาง

จุดเปลี่ยนของโรงงานธูปวังทอง คือวันที่คุณปู่ของนุชกำลังจะจากลูกหลานไป

“ธูปหอมวังทองในตอนที่รุ่งเรืองที่สุดเราส่งขายไปทั่วประเทศ เหนือจรดใต้ ทุกคนในครอบครัวช่วยกันประคับประคองธุรกิจผลิตธูปนี้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งคุณปู่กำลังจะเสีย ท่านก็กังวลว่าถ้าปล่อยให้คุณย่าทำคนเดียวอาจไม่ไหว เลยเริ่มคิดแบ่งธุรกิจออกเป็นส่วนๆ ให้ลูกหลานที่สนใจรับไปดูแล

“บรรดาคุณป้าคุณอาผู้หญิงที่เห็นว่าทำธูปน่าจะหนักเกินไป เลยหันไปเรียนตัดเสื้อ ทำผมกันตามสมัยนิยมก็มี แต่มีคุณอาผู้ชายกับคุณอาผู้หญิงสองคนที่ได้รับสืบทอดโรงผลิตธูปและยังคงผลิตธูปกันอยู่ ส่วนพ่อของเราซึ่งเป็นลูกชายคนโตเป็นคนจัดจำหน่าย เรื่อยมาจนกระทั่งคุณพ่อของเราป่วย จึงได้หยุดทำธุรกิจตรงนั้นไป” นุชเล่าถึงการหักเหของธุรกิจธูปหอมวังทอง

ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด

แม้ว่านุชจะเป็นลูกสาวคนโตของลูกชายคนโตในตระกูลคนจีน แต่ครอบครัวของนุชไม่ได้เคร่งครัดในเรื่องการรับช่วงต่อธุรกิจมากนัก กลิ่นของโรงงานธูปจึงเลือนรางไปจากชีวิตของเธอในวันที่คุณพ่อจากไป เธอได้ใช้ชีวิตตามครรลองของคนรุ่นใหม่อยู่ราว 20 ปี มีอาชีพเป็นนักออกแบบกราฟิก ทำงานให้กับบริษัทต่างๆ เรื่อยมา ไม่มีใครสักคน ทั้งเพื่อน ครอบครัว หรือแม้แต่ตัวเธอเอง ที่จะคิดว่าเธอจะหันกลับมาจับธุรกิจทำธูป

นั่นทำให้เราติดอกติดใจ ต้องถามให้ได้ว่าอะไรทำให้เธอกลับมา

“เราทำอาชีพกราฟิกดีไซเนอร์มาตั้งแต่เรียนจบ ไม่เคยเบี่ยงไปทำอาชีพอื่นเลย เพราะรู้สึกว่าเราเป็นคนชอบคิด ทำแล้วจบงานด้วยตัวเอง ไม่ถนัดการสื่อสารกับคนอื่น แต่อยู่มาวันหนึ่ง เราได้เห็นทายาทของบริษัทที่เราทำงานอยู่ เขาได้เริ่มต้นต่อยอดธุรกิจอะไรบ้าง เราก็เลยคิดขึ้นมาได้ว่า ที่บ้านเราก็มีอะไรแบบนี้อยู่นี่นา คิดวันนั้นแล้วก็ลาออกเลย

“นึกย้อนไปถึงตอนที่เราโดนทวงงานตอนตีสาม เราเหนื่อยมาก เราเคยร้องไห้ แต่พอมาทำธูป เหนื่อยแค่ไหนก็ยังอยากจะตื่นมาทำต่อตอนเช้าจังเลย” เธอยิ้ม

ดูเหมือนว่าช่วงเวลา 20 ปี จะไม่ได้ทำให้กลิ่นของธูปจากโรงงานของปู่ย่านั้นจางไปเสียทีเดียว

ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด

ต่อธูป

สิ่งที่น่าสนุกในการกลับมาทำธูปอีกครั้งของทายาทรุ่นที่ 3 คนนี้ คือเธอกล้าที่จะกรุยทางเดินใหม่ๆ ให้ธูปกลิ่นเกษมของตัวเอง

“แรกสุดเราคิดแค่ออกแบบแพ็กเกจใหม่ เพราะรู้สึกว่าซองธูปมันเหมือนกันไปหมด แต่พอบอกเพื่อนๆ ว่าจะออกมาทำธูปขาย ก็ได้รับฟีดแบ็กว่ามีความกังวลเรื่องสารเคมี เราเลยเริ่มศึกษาเรื่องวัตถุดิบ 

ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด
ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด

“ปรากฏว่าเคมีมาจากการใช้ขี้เลื่อยจากโรงไม้มาทำธูป ซึ่งขี้เลื่อยมีส่วนผสมของสารเคมีอย่างแลกเกอร์อยู่ เราเลยเปลี่ยนมาใช้ผงจากซังข้าวโพด ซึ่งได้จากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศเป็นวัตถุดิบหลัก พอใช้ตัวนี้แทนขี้เลื่อยก็จะตัดเคมีตัวนั้นออกไป

“แล้วเราก็ใช้สีผสมอาหารผสมกับซังข้าวโพดเพื่อให้เกิดสีก่อนนำไปซัดกับก้านธูป แทนที่จะใช้วิธีการจุ่มแท่งธูปที่ขึ้นรูปแล้วลงไปในสีเคมีอีกทาง ดังนั้นสารเคมีเดียวที่อยู่ในกระบวนการผลิตก็คือสีผสมอาหารเท่านั้น นี่เป็นการลดเคมีเท่าที่เราทำได้” นุชเล่าให้ฟังถึงส่วนผสมของธูปกลิ่นเกษม ที่มาจากความช่างคิดและใส่ใจ

ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด
ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด

“เรื่องสีที่เลือกมาทำ ตอนแรกเราคิดทำเป็นสีไทยโทน แต่ดูแล้วซ้ำกับที่มีอยู่ในตลาด เราเลยฉีกมาเป็นแนวพาสเทล ซึ่งอันที่จริงผสมค่อนข้างยาก แต่เราก็ทดลองผสมเองไปเรื่อย ตอนนี้ก็ยังทำสีฟ้าไม่ได้ (ยิ้ม) เรามีสตอรี่เป็นเจ็ดวัน เจ็ดสี แค่เป็นโทนพาสเทล ส่วนกลิ่นก็มีที่มาจากกลิ่นดอกไม้มงคลของคนที่เกิดในแต่ละวัน” 

ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด
ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด

สำหรับเราแล้ว แม้นุชจะบอกว่าตัวเองไม่ได้เก่งเรื่องการตลาดมาจากไหน อยากทำอะไรก็ทำ จนเรารู้สึกว่าเหมือนสวมวิญญาณคุณย่ามาเอง แต่การคิดเรื่องผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดลออขนาดนี้ นี่แหละคือการตลาดที่จริงใจสุดๆ

เราไถ่ถามต่อไปว่าทำไมถึงต้องเป็น ‘ธูปทำมือ’ ซึ่งคำตอบที่ได้กลับมาจากนุชนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการตลาด แต่เป็นการเก็บรักษาวิถีชีวิตของผู้คน

“ตอนที่เราไปตามหาโรงงานทำธูป เราถามเขาว่า ธูปที่เราใช้กันทุกวันนี้มาจากไหน เขาบอกว่า นำเข้ามาจากจีนเกือบหมด ทำในไทยกันน้อยมาก เพราะแรงงานไทยรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานฝีมือแล้ว อยากเข้าไปทำงานในโรงงานกันมากกว่า 

ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด

“คุณอาเลยพาไปหาพี่ที่เคยทำงานกับโรงงานเรา เขายังทำโรงงานธูปเล็กๆ ของตัวเองอยู่คนเดียวอยู่ที่สุพรรณฯ เราก็ชวนเขาให้ทำสูตรของเรา แต่พอเราจะเปลี่ยนวัตถุดิบ เขาก็บอกว่ามันยาก แต่เราก็ง้อเขา คุยกันอยู่นาน เราเข้าไปยืนดูเขาทำ พัฒนากระบวนการผลิตไปพร้อมกับเขา จนวันหนึ่งคุณตาคนหนึ่งที่ช่วยเราผลิต พูดออกมาว่า เดี๋ยวเขาจะสอนให้หลานเขาทำธูปบ้าง หลานเขาก็บอกว่าอยากทำ 

“เราไม่ได้คาดหวังอะไรเยอะจากการทำกลิ่นเกษม การทำธุรกิจต้องคุยกับลูกค้า กับผู้ผลิต มันยากสำหรับคนที่พูดไม่เก่งอย่างเราด้วยซ้ำไป แต่เราอยากทำให้ปู่ ย่า พ่อภูมิใจ แม้ว่าเขาจะไม่อยู่แล้ว ชื่อแบรนด์กลิ่นเกษม ก็มาจากชื่อคุณปู่ที่ชื่อเกษม

“ถึงเราจะไม่มีครอบครัว แต่เราก็อยากทำอะไรบางอย่างทิ้งเอาไว้ แม้ว่าอาจจะไม่มีใครสานต่อ” นุชทิ้งท้ายถึงเจตนารมณ์ในการออกมาทำธุรกิจต่อธูปของเธอด้วยดวงตาที่รื้นน้ำตา

ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด

กลิ่นของความสุข

นี่คือเรื่องราวจากบทสนทนา เคล้ากลิ่นของสรรพพืชพันธุ์ที่ถูกซัดสาดอยู่บนก้านธูป จากนุช ทายาทรุ่นที่ 3 จากธูปหอมวังทอง สู่ชื่อกลิ่นเกษม จากธูปไหว้พระธรรมดา วันนี้ธูปสีพาสเทลของเธอเป็นที่สนใจจากผู้คนหลากหลาย ตั้งแต่ชาวฝรั่งเศสที่เพื่อนของนุชส่งธูปไปให้ลองใช้ ไปจนถึงเจ้าอาวาสจากวัดในอินเดียที่เจ้านายเก่าของนุชเป็นคนซื้อไปถวาย

ธูปอาจเป็นวัตถุชิ้นเล็กที่หลายคนมองข้ามไป แม้แต่เพื่อนของนุชก็ยังตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเล่นใหญ่กับการทำธูปขนาดนี้ แต่เธอก็ยังคงยืนยันว่า ธูปจะไม่มีวันหายไป ตราบใดที่เรายังคงมีวัฒนธรรมการจุดธูปไหว้พระ แถมธูปของเธออาจจะเป็นการเอื้อมมือไปหากลุ่มผู้ใช้ใหม่ ที่อยากได้ความรื่นรมย์จากธูปสวยงามมากกว่าแค่ประโยชน์ใช้สอย

สำหรับผู้ใช้คนอื่น เราก็ไม่อาจพูดแทนได้ แต่สำหรับเราที่ได้รับรู้เรื่องราวเบื้องหลังก้านธูปนี้ กลิ่นเกษมกลายเป็นกลิ่นที่เตือนใจให้เรานึกถึงความสุขไปเรียบร้อยแล้ว

ทายาทธูปหอมวังทองกับการต่อยอดจากปู่ย่าเป็น กลิ่นเกษม ธูปแบบใหม่สีพาสเทลจากข้าวโพด

ภาพ : ธูปกลิ่นเกษม

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)