คุณเคยได้กลิ่นบางกลิ่นแล้วทำให้ความทรงจำหวนกลับคืนมาไหม

กลิ่นอาหาร กลิ่นดอกไม้ กลิ่นน้ำหอม กลิ่นเสื้อผ้า กลิ่นลมฝน หลายกลิ่น…

คุณเคยไปยังสถานที่หนึ่งแล้วทำให้รู้สึกว่าเคยมาที่นี่ครั้งหนึ่ง หรือเคยมากับใครบางคนหรือไม่

พยายามคิด พยายามรำลึก พยายามเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก 

แต่ความรู้สึกนั้นกลับท่วมท้น บางครั้งเรายิ้มออกมาโดยไม่รู้สาเหตุ เกิดความอบอุ่นขึ้นอย่างประหลาด

หรือเกิดความรู้สึกเศร้า อยากจะร้องไห้ออกมาโดยไม่รู้ตัว เพียงแค่ไปอยู่ในบรรยากาศบางอย่าง

อะไรคือสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางความรู้สึกของเราได้ขนาดนั้น ทั้งที่หาคำอธิบายไม่ได้

ราวกับว่าสิ่งเหล่านี้อยู่เหนือเหตุผล อยู่เหนือภาษา 

เป็นทั้งความลี้ลับน่าหวาดหวั่น แต่ขณะเดียวกันก็มีเสน่ห์น่าโหยหา…

กลิ่นกาสะลอง เนียรปาตี

ผมยืนอยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ริมแม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ 

สายน้ำสีน้ำตาลขุ่นไหลเอื่อยไปตามกระแสของสายลม 

ไกลออกไปเป็นขัวเหล็ก สะพานเหล็กข้ามแม่น้ำปิงที่เชื่อมระหว่างฝั่งเมืองเก่ากับเมืองใหม่

บนท้องฟ้า หมู่เมฆกำลังตั้งเค้าเทาครึ้ม มีช่องแสงแดดลอดผ่านลงมาเมื่อลมพัดผ่าน 

เมฆฝนและแดดบ่ายกำลังเล่นล้อระหว่างกัน 

ราวกับอดีตและปัจจุบันขับเคี่ยวอยู่บนเส้นขนาน

ราวกับเหตุผลกำลังยั่วล้ออารมณ์ 

และราวกับรูปธรรมผสานกับนามธรรมจนยากจะคาดเดา…

จู่ๆ ผมก็เกิดความรู้สึกว่าผมเคยมาที่นี่ครั้งหนึ่ง หรือหลายครั้ง… จำไม่ได้แน่ชัดนัก

บรรยากาศเช่นนี้เคยกระตุ้นให้ผมเล่าเรื่องบางเรื่อง

ผมเคยบอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับที่นี่… รอบๆ บริเวณนี้… มาแล้ว

“ผมเป็นคนที่ผูกพันกับต้นไม้ ดอกไม้ เวลาถ่ายรูปก็ชอบถ่ายแต่ดอกไม้ ถ่ายทิวทัศน์ ถ่ายสถาปัตยกรรม ผมรู้สึกว่าดอกไม้แต่ละดอกมีเสน่ห์ มีความสวยของมัน เราสามารถมองดอกไม้ดอกหนึ่งได้นานโดยไม่รู้จักเบื่อ”

เสียงหนึ่งดังแว่วมา ว่าแต่มาจากที่ใด หรือว่าจะแว่วมาตามสายลม…

“นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ ถ้าเราให้เวลากับต้นไม้ อารมณ์ของเราจะค่อยๆ ละเอียดอ่อนลง มันจะเกิดความสงบขึ้นในตัวเองโดยไม่รู้ตัว บ้านผมต้นไม้เยอะมาก ทั้งไม้ใหญ่ ไม้เล็ก ไม้กอ ทุกเช้าผมตื่นขึ้นมา ผมจะมีเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ถือแก้วกาแฟเดินรอบบ้าน ดูต้นไม้แต่ละต้น แล้วในงานเขียนของตัวเองจึงมีต้นไม้ที่ไปเป็นจุดเชื่อมโยง ไปเป็นสัญลักษณ์ เกือบทุกเรื่อง”

ผมน่ะหรือเล่าเรื่อง ผมน่ะหรือเขียนหนังสือ… 

“อย่างนวนิยายเรื่องแรกคือ แป้งร่ำสารภี ก็มีต้นสารภีที่ให้พระเอกนางเอกมาหยอดแป้งร่ำกัน เพราะต้องใช้เกสรของดอกสารภี อย่างในเรื่อง หมอกพรางดาว ก็มีต้นเหลืองอินเดีย เวลาออกดอกก็จะบานเหลืองทั้งต้น พอนางเอกไปเกาหลีก็มีต้นแปะก๊วยที่ออกดอกสีเหลือง ทำให้นึกหวนกลับมาที่บ้าน ในเรื่อง เรือนไม้หอม นางเอกทำดอกไม้หอมขาย และมีความผูกพันกับต้นไม้ที่พ่อปลูกในบ้าน พอมาถึงเรื่อง กลิ่นกาสะลอง ก็ชัดที่สุด เพราะเกี่ยวข้องกับต้นปีบอยู่แล้ว เราใช้ต้นไม้ไม่ใช่ว่าเราแค่ชอบต้นไม้ แต่มันมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเล่าเรื่องของเรา”

อีกเสียงหนึ่งก็แว่วมาว่า…

“ตอนที่เริ่มต้นเขียนนวนิยาย ไม่ได้เขียนเพราะอยากเป็นนักเขียน แต่เหมือนอ่านนวนิยายหลายเล่ม จนถึงจุดหนึ่งแล้วก็เริ่มมองเห็นแบบแผนบางอย่างในการเล่าเรื่องแบบนวนิยาย เราก็อยากจะเขียนแบบของเราบ้าง 

“ตอนเรียนจบใหม่ๆ ไปทำงานอยู่นิตยสารท่องเที่ยวรายเดือนในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นแบบแจกฟรี เนื้อหาหลักจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม ในเชียงใหม่ ทำอยู่ 1 ปี ก็ได้เก็บความรู้ ได้สัมภาษณ์คนหลายๆ คนที่มีความรู้เกี่ยวกับเมืองเชียงใหม่หรือวัฒนธรรมล้านนา เราก็สะสมความรู้เขียนออกมาเป็นคอลัมน์ 

“ทำไปจนถึงช่วงหนึ่งเราก็ออก แม้ว่าจะยังสนุกกับงานนิตยสาร แต่เราคิดว่าคงไม่ใช่งานที่ทำยาวต่อเนื่องตลอดชีวิต ก็เลยวางแผนเรียนต่อ ป.โท เพราะคิดว่าอยากเป็นอาจารย์ เราเป็นคนอยากเล่า อยากถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่น จากที่เคยอยู่กอง บ.ก. เราได้เล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ เราก็สนุกกับการเขียน มากกว่าจะไปอยู่ด้านโปรดักชันโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ เพราะตอนฝึกงานเราได้ไปอยู่กองถ่าย ได้เห็นชีวิตกองถ่าย รู้สึกว่าชอบก็ส่วนชอบ แต่วิถีชีวิตไม่ใช่แบบนี้ เราจึงกลับมาปักหลักที่เชียงใหม่ เลือกงานด้านการเขียน ด้านการถ่ายภาพ

กลิ่นกาสะลอง เนียรปาตี

“เมื่อตัดสินใจจะเรียนต่อ ป.โท ระหว่างรอสมัครก็มีช่วงว่างประมาณ 6 เดือน ว่างงานเลย พอเข้าอินเทอร์เน็ตเห็นว่ามีการประกวดรางวัลทมยันตี อะวอร์ด ครั้งที่ 1 แต่ที่จริงเขาโปรโมตมาระยะหนึ่งแล้วนะ เราดูกำหนดส่ง เหลือเวลาอยู่ 3 เดือน ก็ตัดสินใจว่าจะส่งหรือไม่ส่งดี สุดท้ายตัดสินใจส่งเพราะว่าว่าง แล้วสมัครเรียน ป.โท เราก็ไม่รู้ว่าจะสอบติดมั้ย ก็เลยคิดว่าช่วงนี้เขียนนวนิยายแล้วกัน 

“พอตั้งเป้าว่าเราจะเขียนให้ได้ ก็มาคิดว่าแล้วจะเริ่มต้นยังไงดีล่ะ อ่านกฎเกณฑ์การตัดสินเห็นว่าจะมีคุณทมยันตีเป็นกรรมการตัดสินในรอบสุดท้าย ช่วงนั้นก็อ่านนวนิยายของคุณทมยันตีเป็นพิเศษ เพื่อดูว่าแนวทางหรือสไตล์ของคุณทมยันตีเป็นยังไง ซึ่งที่จริงแล้วงานเขียนในนามปากกาทมยันตีและนามปากกาอื่นๆ ที่ใช้เราก็ชอบอยู่แล้ว เราอ่านเพลิน อ่านสนุกทุกเล่ม แต่พอมาถึงจุดที่เราต้องส่งนวนิยายเข้าประกวดรางวัลนี้เราก็มาศึกษากรรมการสักหน่อย อ่านเป็นพิเศษ อ่านหนังสือเขียนนวนิยายสไตล์ทมยันตี ตัดสินใจว่าจะเขียนแนวนี้ ก็ออกมาเป็นเรื่อง แป้งร่ำสารภี

“มีอีกอย่างหนึ่งผมคิดตอนเริ่มเขียนคือ นักเขียนต้องเขียนเล่าจากประสบการณ์ของตนเองก่อน เพราะเรารู้ดีที่สุด เราจะไม่เหนื่อยในการหาข้อมูล เวลาเขียนเราก็จะอิน เรื่องแรกนี้จึงเป็นเรื่องราวของความรักโรแมนติกปนดราม่าของวัยรุ่นในวงดนตรีไทย ตัวเราเองเป็นนักดนตรีไทย เราก็บรรยายเรื่องนี้ได้ หรือถ้าอยากหาข้อมูลเพลง เราก็เอาเพลง ลาวดวงเดือน เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ มีประวัติของเพลงแทรกอยู่ ซึ่งพอเรากลับมาย้อนดูก็เห็นว่ามันยังทำได้ไม่ดีหรอก เรายังไม่รู้วิธีการแทรกข้อมูลความรู้ให้แนบเนียนไปกับเนื้อเรื่อง”

ระหว่างนี้ผมได้กลิ่นหอม…

หอมกลิ่นฝนเหลือเกิน ลอยมาในสายลมนั้นมีกลิ่นดอกไม้เจืออยู่อ่อนๆ 

กลิ่นดอกอะไรนะ ถึงได้เรียกความทรงจำเมื่อครั้งเขียนนวนิยายเรื่องแรกกลับมา…

“ตอนเขียนเรื่องแรกคือ แป้งร่ำสารภี เป็นจุดที่เราไม่รู้เลยว่าต้องเริ่มต้นยังไง เป็นเล่มแรกที่เขียนจบ เพราะมีความคิดอยู่แค่ 2 อย่าง คือเขียนให้จบ และส่งให้ทันประกวดรางวัล

“นวนิยายเรื่องแรกเราเขียนแบบถูกใจผู้เขียน แต่ไม่ถูกใจผู้อ่าน เพราะจบแบบไม่แฮปปี้เอ็นดิ้ง เพราะตอนนั้นเราแค่อยากได้รางวัล หรือไปให้ถึง 5 เล่มสุดท้ายที่คุณทมยันตีจะได้อ่าน เราไม่ได้คิดหรอกว่าจะได้ชนะเลิศ เราหวังแค่คอมเมนต์จากคุณทมยันตี 

“พอมาถึงนวนิยายเรื่องที่ 2 คือ หมอกพรางดาว มีแบบแผนของเรื่องแบบซีรีส์เกาหลีเลย เรื่องนี้ตั้งใจเขียนเพื่อให้ถูกใจตลาด และสำนักพิมพ์ขอร้องให้เขียนตอนจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง แต่ก็รู้ตัวเองนะว่าเราไม่ใช่สายที่จะเขียนให้จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง เพราะเรายอมรับได้ที่ตัวละครมีจุดจบที่เหมาะสม แต่มันอาจจะไม่ถูกใจผู้อ่าน ในเรื่องที่ 2 พยายามให้ถูกใจผู้อ่านบ้าง แต่ก็ยังมีจุดที่คาใจว่าใครเป็นพระเอก นางเอก เพราะมีตัวละครเอก 2 คู่ ไขว้กันไปมา พระรองอาจดูมีความเป็นพระเอกมากกว่าพระเอกจริงๆ ของเรื่อง เพราะพระรองแสนดี เสียสละทุกอย่าง แต่ไม่ได้อะไรเลย ส่วนพระเอกมีบทบาทน้อยกว่าแต่ได้สมหวังกับนางเอก 

“เราฟังผลตอบรับจากผู้อ่านหลังจากพิมพ์เรื่อง แป้งร่ำสารภี ไปแล้วในงานสัปดาห์หนังสือ ซึ่งตอนนั้นพิมพ์เล่มที่ 2 แล้วด้วย ก็มีนักอ่านมาหาที่บูทแล้วตบโต๊ะ ปัง! ทำไมให้จบแบบนี้ อ่านมาทั้งเรื่อง รักตัวละครมาก อินแล้ว แต่พอมาจบแบบนี้ โกรธนักเขียน เราก็ตอบไปว่า ขอบคุณครับ เพราะส่วนตัวเราถือว่าประสบความสำเร็จที่ทำให้คนอ่านรักตัวละครของเราได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้รู้ว่าคนอ่านไม่ชอบให้จบแบบนี้ 

“พอได้ยินผลตอบรับจากผู้อ่าน ทำให้เรามองเห็นโจทย์ที่จะต้องแก้ไขในเรื่องต่อไปว่า เราอาจต้องมีตัวละครที่คนอ่านก็ยังรัก หรือถ้าจะต้องเสียใครไปสักคนหนึ่ง คนอ่านต้องไม่รู้สึกว่าโหดร้ายกับเขามากนัก แต่ผมก็ไม่เข็ดนะ เพราะว่าเรื่องที่ 3 คือ กลิ่นกาสะลอง จุดจบของกาสะลองก็ไม่ใช่ย่อย”

กาสะลอง หรือดอกปีบ ที่ปลูกตลอดเส้นทางบนถนนหลายสายในจังหวัดเชียงใหม่ 

ผมเห็นมันจนชินตา แต่คราวนี้กลับรู้สึกชินใจ… ลึกซึ้ง 

ผมเคยเขียนเรื่องนี้หรือ ใช่ ผมเขียน…

กลิ่นกาสะลอง จำได้ว่าเรียนอยู่ปี 3 ปี 4 ราวๆ พ.ศ. 2544 – 2545 ตอนนั้นเราเขียนแล้วล่ะ มันมีอารมณ์สุนทรีย์ ก็เขียนๆ บรรยายไป แล้วก็ถึงจุดที่เราตัน ไม่รู้จะไปต่อยังไง ทำให้รู้ว่ามันไม่ง่าย คือเราอาจจะนึกได้ เล่าได้เป็นฉากๆ ตั้งแต่ต้นจนจบว่าใครมาเจอกัน ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเรียบเรียงเขียนออกมาแล้วให้มันน่าสนใจ ไม่ใช่เรียงความ ไม่ใช่บทความ มันเริ่มยาก แม้ว่าจุดที่เราสะดุดและรู้ว่าต่อไปจะเป็นอะไร มันก็ยังเขียนไม่ออก เขียนไม่ได้ เราก็หยุด หยุดแค่นั้น แล้วลืมไปเลยว่าอยากจะเขียนนวนิยาย 

กลิ่นกาสะลอง เนียรปาตี

“เรื่อง กลิ่นกาสะลอง เป็นนวนิยายที่ผมรวบรวมความโลภของตัวเองไว้ในฐานะนักเขียนใหม่ เพราะตอนที่เริ่มต้นว่าจะเขียนเรามีลิสต์เยอะมากว่า อันนี้ก็อยากเล่า อันนั้นก็อยากพูด อันนี้ก็อยากจะทำ แล้วเกิดอาการรักพี่เสียดายน้อง ไม่อยากตัด อยากเอามาทั้งหมด ก็มาหาทางว่าจะทำยังไงเพื่อเกลี่ยให้มันอยู่ในเรื่องเดียวกันทั้งหมด 

“เป็นเรื่องที่เริ่มจากเราอยากเขียนแนวพีเรียดผสมแฟนตาซี คือเรื่องข้ามภพชาติ ตัวนางเอกชื่อเป็นดอกไม้ ดังนั้น เราจะต้องหาสื่อหรือสัญลักษณ์บางอย่างที่เป็นตัวเชื่อมโยงไปถึงการระลึกชาติ จึงใช้กลิ่นเป็นสื่อในการดึงความทรงจำ อีกอย่างหนึ่งคือ กลิ่นเป็นผัสสะที่ได้จากการดม กลิ่นหอมจะอบอวลเฉพาะตอนดม แต่กลิ่นของความรักที่ข้ามภพชาติจะฝังอยู่ในหัวใจ กลิ่นในเรื่องจึงโดดเด่น เพราะมันประทับอยู่ในความทรงจำของหมอทรัพย์ในภพอดีตมาจนถึงหมอทินกฤตในภพปัจจุบัน”

ผมเขียนออกมาได้อย่างไรกัน 

ผมเล่าเรื่องเหล่านั้นจริงหรือ… กลิ่นดอกปีบ… กลิ่นที่ซ่านอยู่ในใจ

“ผมบอกได้หมดนะว่าเรื่อง กลิ่นกาสะลอง ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องอะไรบ้าง ถ้าเป็นนักอ่าน จะมองออกเลยว่าโครงเรื่องเป็นแบบ 3 ภพชาติแล้วมาเจอกันในภพที่ 3 มาจากจากเรื่อง แต่ปางก่อน ของแก้วเก้า

ถ้าไม่นับเรื่อง ข้างหลังภาพ ที่ได้อ่านเป็นหนังสือนอกเวลา นวนิยายเรื่องแรกในชีวิตที่เราอ่านคือ แต่ปางก่อน แล้วก็ชอบเลย มันเป็นเรื่องพีเรียดที่อ่านสนุกมาก อีกเรื่องคือ ทวิภพ ซึ่งนักเขียนที่อยากให้เรื่องทะลุมิติทะลุเวลาต้องนึกถึงเรื่องนี้ นวนิยาย 2 เรื่องนี้จึงเป็น 2 เรื่องหลักที่เราได้แรงบันดาลใจเรื่องข้ามภพชาติ

“ส่วนเรื่องของความหลอน เวลาที่ผีกาสะลองปรากฏตัว ทำให้คนระลึกชาติได้ เราชอบวิธีการเล่าของคุณทมยันตีในชุดงานเขียนแนวธรรมะ เช่น เรื่อง ฌาน มายา จิตา ไวษณวี พิษสวาท เงา และ กฤตยา เรื่องพวกนี้เป็นแนวแฟนตาซีมีจิตวิญญาณ ทำให้เราเห็นวิธีการทำให้หลอน 

“ในเรื่องของฝาแฝด วรรณคดีไทย ปลาบู่ทอง วรรณคดีพื้นบ้านที่ทุกคนรู้จัก มีแฝดดี แฝดร้าย มีการสลับตัว ซึ่งใน กลิ่นกาสะลอง ก็มีแบบนี้

“แต่เวลาเราเขียนเราก็ต้องหาเอกลักษณ์ของตัวเองให้เจอ อีกเรื่องคือการตัดสินใจใช้คำเมือง ด้วยความที่ท้องเรื่องเป็นเรื่องในอดีตและเกิดขึ้นในท้องถิ่น เราจึงอยากใช้ภาษาถิ่นทั้งหมด แต่มันก็ไม่สามารถเข้าถึงคนอ่านส่วนใหญ่ได้ คนที่อ่านคำเมืองไม่ออกอาจจะไม่เข้าใจ ต้องอธิบายว่าคำนี้หมายความว่ายังไง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับเราว่าจะใช้คำเมืองและอธิบายยังไงให้แนบเนียนเมื่ออยู่ในเนื้อหา ไม่ใช่การใส่เชิงอรรถข้างล่าง หรือมีคู่มือสำหรับการอ่านคำเมือง

“เทคนิคอธิบายคำเราได้มาจากผลงานของคุณทมยันตี เรื่อง เวียงกุมกาม ใช้ภาษาคำเมือง และ สุริยวรมัน ใช้ภาษาขอม รวมทั้งผลงานของแก้วเก้าเรื่อง ดอกแก้วการะบุหนิง ที่ใช้ภาษาชวา 

“จะเห็นว่า กลิ่นกาสะลอง มีที่มาจากหลายเรื่อง แต่สุดท้ายแล้วตัวละครในเรื่องเป็นจินตนาการทั้งหมด ไม่มีตัวจริงเลย อย่างเรื่องอื่นยังมีเค้าโครงจากเรื่องจริงหรือมีระบุว่าตัวละครสร้างมาจากใคร คนเดียวที่มีเค้าโครงมาจากคนรู้จักคือ นายแพทย์ภาคภูมิ ที่เป็นเพื่อนพระเอก มาจากรุ่นน้องคนหนึ่งที่เป็นหมอ ทุกวันนี้เขาก็เป็นหมอ เราอาจจะมีภาพของหมอว่า เป็นเด็กเรียน เด็กเก่ง แต่พอเราได้มาเจอน้องๆ แพทย์กลุ่มหนึ่ง เราได้เห็นคาแรกเตอร์ของเด็กแพทย์อีกหลายแบบ ทำให้เห็นว่าเด็กแพทย์ก็มีแบบนี้ด้วยเหรอ 

“ถ้ามองเรื่อง กลิ่นกาสะลอง เชิงสังคมศาสตร์วิเคราะห์ในแง่มุมวรรณกรรม มันพูดได้เยอะมาก เช่นถ้าเรามองเรื่องสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติจะเห็นว่ามันอยู่คู่กับสังคมไทย เพียงแต่เราอยู่ในยุควิทยาศาสตร์เท่านั้นเอง จึงเป็นที่มาของตัวละครเอกที่เป็นหมอให้เป็นตัวแทนของความเป็นวิทยาศาสตร์ ในขณะที่วิญญาณของกาสะลองเป็นตัวแทนของเวรกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเป็นวิธีคิดของคนไทยและชาวพุทธ ถ้าคนเป็นหมอ 3 คนมาเจอผีหลอก คนที่อยู่ในระบบคิดแบบวิทยาศาสตร์แรกๆ จะไม่เชื่อ แต่สุดท้ายเมื่อเจอเข้ากับตัวเอง ก็เริ่มตั้งคำถามว่าเมื่อเราไม่เห็น ก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอยู่จริง”

กลิ่นกาสะลอง เนียรปาตี

ผมทอดสายตามองสายน้ำ มองเห็นเรือ… เรืออะไรน่ะ เรือที่ขึ้นล่องบนแม่น้ำปิงนี้ 

ผมได้ยินเสียง… เสียงเหล็กกระทบราง… รถไฟ…

เสียงได้นำพาให้ผมนึกถึงผู้คน สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม ของล้านนาในอดีตหวนกลับมา…

“ผมชอบอะไรที่เป็นศิลปวัฒนธรรมแบบโบราณ พอมาเขียนเรื่อง กลิ่นกาสะลอง ก็อยากจะเล่าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนาที่มีประวัติศาสตร์หลายช่วงเวลา ตอนนั้นเรารู้แล้วว่าการเขียนนวนิยายไม่ใช่การสร้างเรื่องไปตามอำเภอใจของนักเขียน แต่ว่าต้องมีข้อมูล ให้รายละเอียด และให้ความรู้ด้วย ซึ่งมาในรูปแบบนวนิยาย ใช้ความบันเทิงพาเขาไปถึงความรู้ที่เราอยากจะบอก อยากจะเล่า”

ทำไมผมจึงผูกพันกับล้านนาในยุคสมัยไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา

ทั้งที่ล้านนามีประวัติศาสตร์ช่วงยาวเหลือเกิน… ทำไม…

“เวลาหาข้อมูล ผมต้องรู้ตัวเองว่าเราจะหาได้แค่ไหน ประวัติศาสตร์ล้านนามีช่วงเวลาที่ยาวนาน ต้องเลือกมาช่วงหนึ่ง เรามองว่าถ้าย้อนไปไกลมากอาจจะหาข้อมูลยาก เพราะมีบันทึกไว้น้อย เราก็เลยเลือกช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นต้นไป เป็นช่วงที่มีข้อมูลให้เขียนเยอะมาก เพราะมีการบันทึกหลักฐานและภาพถ่ายมากมายที่เรามั่นใจได้ว่าจะนำมาสร้างเป็นฉากและเหตุการณ์ของเรื่อง

กลิ่นกาสะลอง เนียรปาตี

“อีกหนึ่งความตั้งใจคือ พ.ศ. 2467 ตามเวลาในนวนิยาย ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่เชียงใหม่มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ด้านหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากเดิมปกครองด้วยเจ้าผู้ครองนคร ต่อมาเมื่อบางกอกรวมหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว ก็จะส่งข้าหลวงมาปกครองที่หัวเมือง เป็นรูปแบบการปกครองแบบเทศาภิบาล สังคมเชียงใหม่ตอนนั้นก็ต้องปรับตัวยอมรับการปกครองที่เข้าสู่ศูนย์กลาง 

“เรากำลังบอกเล่าเรื่องราวของอำนาจ นายแคว้น คืออำนาจเดิมของคนเมืองหรือคนพื้นถิ่น ถ้าเทียบก็เป็นเหมือนกำนัน จะมีความขัดแย้งกับการปกครองจากส่วนกลาง ซึ่งเขามองว่าข้าหลวงจะมายึดอำนาจ ทำให้เขาสูญเสียอำนาจไป จึงมีมิติของอำนาจเดิมกับอำนาจใหม่อยู่ในเรื่องด้วย

“ในช่วงนั้นสังคมเชียงใหม่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมาก มีกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา มารวมกลุ่มกัน มีคนเมือง คนจากกรุงเทพฯ ซึ่งเรียกกันว่าคนเมืองใต้ มีคนจีนที่มาเป็นแรงงาน เป็นพ่อค้า และเป็นเจ้าภาษีนายอากร มีฝรั่งมิชชันนารีมาเผยแผ่ศาสนา สอนหนังสือ และเปิดโรงพยาบาลซึ่งเป็นการแพทย์สมัยใหม่ มีแขกฮินดู มีแขกซิกข์ มีชุมชนมุสลิม มีชาวญี่ปุ่นที่มาเปิดร้านถ่ายรูปที่นี่ ดูเป็นสังคมสหประชาชาติมาก กลุ่มคนแต่ละเชื้อชาติจะมีสังคมและความเชื่อของตัวเอง แต่เมื่อมาอยู่รวมกันมันก็เกิดความขัดแย้งหลายจุดแน่นอน 

“อีกการเปลี่ยนแปลงหนึ่งคือ การคมนาคม จะเห็นว่าจุดเด่นในเรื่องคือการใช้เกวียน ซึ่งเป็นการขนส่งปกติของเชียงใหม่ในยุคนั้น มีจักรยานเข้ามาแล้ว การขนส่งทางเรือก็ยังมีอยู่ เพราะแม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำสายหลักของเชียงใหม่ มีเรือหางแมงป่องเป็นเรือขนส่งสินค้ามาจอดอยู่ที่ท่าวัดเกต ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งและจุดพักสินค้าที่สำคัญ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีรถไฟ รถไฟมาถึงแค่ลำปาง 

“ในเรื่อง กลิ่นกาสะลอง นำเสนอให้เห็นช่วงปลายของการขนส่งทางเรือ เรือสินค้าของอากงที่มาส่งพระเอกที่ท่าวัดเกตเป็นเรือขนส่งเที่ยวสุดท้าย ก่อนรถไฟจะมาถึงเชียงใหม่แล้ว ทำให้สถานีรถไฟย่านสันป่าข่อยคึกคักและเจริญขึ้น จนกลายเป็นย่านเศรษฐกิจแห่งใหม่ในเวลานั้น”

สายลมยังโชยกลิ่นหอม ลมยังพัดผ่านผิวกายให้เกิดเย็นวาบเข้าไปในใจ… ในห้วงความคิด

หรือผมจะเป็นคนเหนือ หรือผมจะเป็นคนล้านนา ผมคงเป็นใครสักคนในยุคนั้น

แม่นแล้ว สูเป๋น สูเต้าอั้นตี้จะเล่าเรื่องของเฮา (ใช่ นายเป็นคนเมือง นายเท่านั้นที่จะเล่าเรื่องของเราได้)

นั่นคือเสียงที่ผมพูด… คำเมือง…

กลิ่นกาสะลอง เนียรปาตี

“เราอยากเล่าศิลปวัฒนธรรมล้านนา แต่เราใช้รูปแบบแฟนตาซี อาจจะช่วยดึงดูดคนอ่านได้ง่ายขึ้น

“ส่วนหนึ่งที่ กลิ่นกาสะลอง เขียนเป็นเรื่องชาวบ้านก็เพราะเราอาจจะไม่มีความรู้ในเรื่องของเจ้าทางเหนือ ก็เลยให้ตัวละครเป็นชาวบ้าน แต่ในเมื่อต้องการให้มีตัวละครที่มีอำนาจบ้าง เลยหาตำแหน่งว่านางเอกจะเป็นลูกสาวของคนระดับไหนได้บ้างที่ยังพอมีอำนาจอยู่ ก็มาลงตัวที่เป็นลูกสาวนายแคว้น คือมีอำนาจประมาณหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ภายใต้อำนาจนายข้าหลวงจากกรุงเทพฯ

“ทำให้เชื่อมโยงมาถึงเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ตัวละครซ้องปีบเป็นลูกรักของพ่อ จึงกลายเป็นตัวแทนของสาวแฟชั่น สาวสมัยใหม่ เป็นความตั้งใจของผมว่าซ้องปีบจะเป็นตัวแทนของการบอกเล่าเรื่องแฟชั่นของคนทางเหนือเป็นพิเศษ เธอจึงเป็นขวัญใจของสาวเหนือในยุคนั้น เพราะว่าพ่อของเธอมีอันจะกิน จึงมีเงินซื้อข้าวของสวยงามราคาแพงได้

“มีฉากหนึ่งที่ซ้องปีบอยากลองดัดผมลอนเหมือนสาวกรุงเทพฯ จึงให้คนมาดัดผมให้ แล้วก็ไปเช็กเรตติ้งที่ตลาด หนุ่มๆ ชอบ เพราะเธอแต่งอะไรก็สวยอยู่แล้ว แต่พวกแม่ค้าเยาะเย้ยถากกางว่าเป็นผีบ้า เพราะเขาไม่รู้ว่ามันเป็นแฟชั่นที่สวยงาม ความทันสมัยที่กรุงเทพฯ กลายเป็นเรื่องล้ำสมัยที่เชียงใหม่ จึงเกิดอาการรับไม่ได้ 

“ถ้าดูภาพเก่าจริงๆ เชียงใหม่ในยุคนั้นผู้หญิงยังนุ่งซิ่นแค่ผืนเดียวนะ ท่อนบนเปลือยเลย แต่อาจจะมีผ้าตุ๊มหรือผ้าคลุมไหล่ หรือเป็นแบบสไบ ถ้าไปดูภาพถ่ายเชียงใหม่ในอดีต ในพื้นที่สาธารณะอย่างตลาด แม่ค้าหอบสาแหรก หอบตะกร้า ก็นุ่งซิ่นผืนเดียวทั้งนั้น แต่ในละครคงทำไม่ได้ 

“ส่วนในวันสงกรานต์ ตัวละครอย่างกาสะลองและซ้องปีบจะแต่งตัวตามพระราชนิยม คือแต่งแบบเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ 5 ส่วนยุคสมัยตามท้องเรื่องเกิดขึ้นเมื่อผลัดแผ่นดินมารัชกาลที่ 6 ซึ่งเจ้าดารารัศมีกลับมาประทับที่เมืองเชียงใหม่แล้ว แต่การกลับมาก็นำอิทธิพลของฝรั่งจากกรุงเทพฯ มาเผยแพร่ด้วย 

“ศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะทางฝั่งผู้หญิงเกิดจากการดัดแปลงของเจ้าดารารัศมีค่อนข้างเยอะ อย่างเช่นฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาก็เป็นการผสมผสานการฟ้อนทางเหนือบวกกับบัลเลต์ มีการยกขา ตั้งวง ต่อตัว ซึ่งศิลปะการฟ้อนรำของล้านนาตามแบบขนบจะไม่มีแบบนี้ หรือการแต่งตัวโดยใส่เสื้อลูกไม้แบบฝรั่ง แต่นุ่งกับซิ่นซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายของทางเหนือ เป็นการมิกซ์แอนด์แมตช์ได้ลงตัว”

กลิ่นอายของล้านนาในอดีตยังอยู่อีกหรือ

ผมจะต้องจ้องมองสายน้ำปิงนานเพียงใด

จะต้องเงี่ยหูฟังเสียงแว่วของรถไฟ หรือสูดลมหายใจรับกลิ่นหอมชื่นอีกมากแค่ไหน 

เพื่อจะให้รับรู้เชียงใหม่ในอดีต ที่ในปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไป…

“ถ้ามาเที่ยวไนท์บาซาร์เมื่อ 15 – 20 ปีก่อนจะเต็มไปด้วยสตูดิโอถ่ายรูป ผู้คนประโคมเครื่องแต่งตัวกันเต็มที่ เชียงใหม่มียุคหนึ่งที่ทุกบ้านต้องพากันไปถ่ายรูปครอบครัว แต่งเป็นเจ้าหลวง เจ้านาง จุดถ่ายรูปตรงนั้นแหละที่เราอยากให้วิญญาณกาสะลองเริ่มแสดงบทบาททีละน้อย ให้ตัวละครยุคปัจจุบันเอะใจคิด และเรากำหนดว่าเมื่อย่าบัวเกี๋ยง (เด็กในอุปการะของหมอทรัพย์ที่อายุยืนมาจนถึงปัจจุบัน) เห็นภาพนั้นแล้วจะต้องสะเทือนใจ เพราะเห็นภาพการแต่งงานของหมอทรัพย์กับอี่นายกาสะลองก่อนพากันหนีไปกรุงเทพฯ มันเป็นเหมือนช่วงเวลาความสุขครั้งสุดท้ายของ 2 คนที่บัวเกี๋ยงได้รับรู้ 

“ในเรื่องมีภพอนาคตเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2580 ซึ่งยังมาไม่ถึง เราก็มาจินตนาการเอาว่าเทคโนโลยีจะไปได้ถึงไหน แต่เราจะบอกว่าเชียงใหม่เองก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากนัก 

“การใช้วัฒนธรรมล้านนามาเป็นสินค้า ถ้ามองในเชิงเศรษฐกิจมันอาจจำเป็น เพราะทุกวันนี้คนเราท่องเที่ยวเพื่อต้องการพักผ่อน บางคนอาจต้องการเรียนรู้หรือมองหาประสบการณ์ใหม่ๆ ถ้าเราออกมาท่องเที่ยวแล้วเจอแต่เมือง มันก็อาจไม่ได้อะไร การได้ไปรู้จักวิถีชีวิต วัฒนธรรม ของคนอื่นอาจเป็นการเปิดประสบการณ์ เปิดโลกทัศน์ ของเราให้เห็นว่ามีสังคมแบบนี้ มีวิถีชีวิตแบบนี้อยู่

กลิ่นกาสะลอง เนียรปาตี

“แต่จะท่องเที่ยวแบบตามประเพณีล้วนอาจไม่เหมาะกับปัจจุบัน ก็ต้องเอารูปแบบของความทันสมัยมาดึงดูดใจกันหน่อย เช่น เรื่องผ้าซิ่น ในเรื่องมีผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ถ้าเป็นคนเชียงใหม่จะรู้ดีว่าเป็นผ้าซิ่นที่สวยงามมีคุณค่า แต่คนอื่นอาจไม่รู้ถ้าเราไม่ประชาสัมพันธ์ หรือหากเราไม่ใช้ความทันสมัยในการประชาสัมพันธ์ ก็อาจทำให้สิ่งของที่มีคุณค่านั้นถูกเก็บไว้โดยไม่มีใครได้รู้จัก 

“การนำเสนอผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มในนวนิยายทำให้มีคนรู้จักเยอะขึ้นมาก มีอาจารย์ท่านหนึ่งอยู่ที่แม่แจ่มส่งข้อความมาในเฟซบุ๊กว่า ขอบคุณอาจารย์มากที่เขียนเรื่องนี้ และละครก็ทำได้ดีมาก เก็บรายละเอียดได้ดี ทำให้คนรู้จักแม่แจ๋มซึ่งก็คือแม่แจ่มเยอะขึ้น หลายคนอยากไปเที่ยว อยากไปเห็น รวมไปถึงผ้าซิ่นก็ขายดีขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีรายได้

“มันคล้ายกับช่วงที่เกาหลีฟีเวอร์ ทุกคนก็ไปตามรอย เวลาเราไปถึงเราอยากไปสถานที่ที่พระเอกนางเอกมาคุยกัน มานั่งกินกาแฟด้วยกัน จุดนี้เขาทะเลาะกัน ขณะที่เวลาคนมาเที่ยววัดต้นเกว๋น คนอ่านก็จะนึกถึงฉากที่หมอทรัพย์กับกาสะลองมาเจอกัน ไปวัดโลกโมฬีก็นึกถึงซุ้มประตูที่กาสะลองพาหมอทินกฤตย้อนไปในอดีต ดังนั้น เวลาคนไปเที่ยวก็จะมีเรื่องเล่าติดตามไปด้วย

“วันก่อนเราไปอบรมให้คณะการเกษตรฯ เขาก็รู้แหละว่าเราเป็นคนเขียนเรื่อง กลิ่นกาสะลอง มีอาจารย์ท่านหนึ่งอายุมากแล้วมาบอกว่า ขอบคุณมากเลยที่เขียน เพราะลูกชายลูกสาวเป็นคนเมือง แต่ไม่ยอมพูดคำเมือง เขาอาย บอกว่ามันเชย แต่พอมีกระแสชื่นชมเรื่องการใช้ภาษาถิ่นใน กลิ่นกาสะลอง เขาก็มาขอให้สอนพูดคำเมือง เราก็ เออ อย่างน้อยละครก็มาช่วยฟื้นฟูเรื่องภาษา ทำให้คนมองเห็นวัฒนธรรมพื้นเมืองในเชิงบวกมากขึ้น ไม่ได้มองแค่เป็นของโบราณล้าสมัย หรือน่าอาย”

นอกจากเป็นนักเขียน ผมยังเป็นอาจารย์ด้วยหรือ…

ใช่แน่… ผมเป็นอาจารย์สอนการสื่อสารมวลชน… เสียงกระซิบจากข้างในบอก

 “ผมสอนวิชาเรื่องการเขียนและการเล่าเรื่อง แล้วผมก็มีงานเขียนของตัวเองและนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ เราจะเข้าใจที่มาที่ไป แรงจูงใจของตัวละครหรือของผู้เขียน เพราะเราเป็นคนเขียนเอง เรารู้ ขณะที่ดูละคร ก็จะยกตัวอย่างเปรียบเทียบได้ว่า วิธีการเล่าแบบการเขียนอาจารย์ใช้เทคนิคแบบนี้ ขณะที่ละครจะต้องนำเสนอสารเดียวกันในเวลาที่จำกัด คุณจะเล่ายังไงให้คนดูที่ไม่เคยจินตนาการจากการอ่านที่มองเห็นภาพหมดแล้วเข้าใจตัวละครได้ในทันที นี่เป็นการสอนเรื่องการสื่อสารข้ามแพลตฟอร์ม

“ผมมองว่าสิ่งพิมพ์ก็เป็นแค่สิ่งพิมพ์ มันเป็นสื่อตัวหนึ่งเท่านั้น เป็นสื่อกระดาษ แต่ว่าในความเป็นเนื้อหาสาระสำคัญของวารสารศาสตร์ คือการสร้างเนื้อหา สร้างคอนเทนต์ ผมเขียนนวนิยายมา 1 เรื่อง ผมเอาไปพิมพ์เป็นเล่มก็ได้ในรูปเล่มกระดาษ ผมเอาไปขึ้นอีบุ๊กก็เป็นไฟล์ดิจิทัล แต่เนื้อหาเหมือนกัน ดังนั้น สิ่งที่ผมสอนนักศึกษาในปัจจุบัน คือการสร้างเนื้อหา เมื่อคุณสร้างเนื้อหาเป็น คุณจะเอาไปออกแพลตฟอร์มไหนก็ได้ และเราก็ต้องรู้ว่า แต่ละแพลตฟอร์มมันมีจุดเด่นจุดด้อยยังไง”

กลิ่นกาสะลอง เนียรปาตี

แต่ผมเป็นอาจารย์นักเขียน หรือนักเขียนที่เป็นอาจารย์กันแน่

อะไรข้างในบอกผม และอะไรข้างนอกก็กระตุ้นเตือน…

ผมพยายามนึก…

“ตอนที่ผมส่งรางวัลทมยันตี อะวอร์ด แล้วเข้ารอบ 20 คนสุดท้าย เราเรียกกันเองว่าเป็นนักเขียนหน้าใหม่ ซึ่งเวลานั้นเราไม่รู้หรอกว่านักเขียน 20 คนต่อไปจะยึดเป็นอาชีพได้มั้ย ต้องอยู่ที่ว่าเรามองคำว่านักเขียนอาชีพหรืออาชีพนักเขียน ถ้าอาชีพนักเขียน คือคนที่เขียนหนังสือหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ ส่วนนักเขียนอาชีพคือกลุ่มนักเขียนมืออาชีพ ซึ่งอาจจะไม่ได้มีผลงานมาก แต่สร้างสรรค์ผลงานเขียนออกมา

“ผมมองว่าตัวเองอยู่ก้ำกึ่งทั้งสองอย่าง แต่คิดว่าจะพยายามนำพาตัวเองไปในทิศทางนักเขียนมืออาชีพมากกว่า เพราะเราไม่ได้เขียนหนังสือหรือนวนิยายเพียงอย่างเดียว เรามีงานประจำ มีภาระงานอื่นๆ ที่ทำเป็นหลัก แต่ด้วยใจรักในงานเขียน ความฝันจากจุดเริ่มที่เราเป็นนักเขียนหน้าใหม่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วซึ่งยังว่างงาน เลยอยากประกอบอาชีพนักเขียน แต่พอเวลาผ่านจนถึงวันนี้ รูปแบบชีวิตเปลี่ยนไปแล้ว เราก็ขอเป็นนักเขียนมืออาชีพที่สร้างสรรค์ผลงานที่ดีก็แล้วกัน 

“การจะเป็นนักเขียนมืออาชีพได้ ต้องเขียนหนังสือให้มีแนวเรื่องแตกต่างกันอย่างน้อย 5 เรื่อง เพราะเราจะได้รู้ว่าการเขียนแต่ละแนวเป็นอย่างไร และเราสามารถจัดการกับในแต่ละแนวทางหรือแต่ละสไตล์ได้มั้ย ถ้าผ่านจุดนี้ได้ คุณจะเป็นนักเขียนอาชีพ ที่จริงเกณฑ์ตรงนี้มันคือการทดลองหาตัวเองให้เจอ หาเอกลักษณ์ของตัวเองให้เจอ ว่าเราถนัดทางไหนกันแน่ พอเราเจอแล้วเราก็พัฒนาต่อยอดไปในแนวทางนั้นที่เราเชี่ยวชาญ 

“ผมมี 6 เล่ม 6 แนวแล้ว อาจจะเรียกว่าเป็นนักเขียนมืออาชีพได้ และในผลงานทั้งหมดผมเห็นแล้วว่า กลิ่นกาสะลอง เป็นเล่มที่เรารู้สึกว่าได้ปล่อยของ ได้แสดงความสามารถอะไรหลายอย่าง แล้วเราก็ชอบการทำงานของเล่มนี้ พอหาจุดคลิกของตัวเองเจอ ก็เลยมาแนวนี้”

เสียงแว่วที่ผมได้ยิน คือเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวผมเอง

มันเกิดขึ้นมาจากความทรงจำข้างในลึกๆ ที่ไม่ได้จัดเก็บอยู่ในสมอง

ทว่ากลับซ่อนตัวอยู่ภายในส่วนลึกที่เรียกว่าหัวใจ

หัวใจที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความรู้สึกอันไหลเวียนอยู่ภายใน… เรื่องเล่า

มีพลังราวกระแสน้ำ การพัดพาของสายลม แม้กระทั่งมวลหมู่ก้อนเมฆที่ลอยล่องอยู่บนผืนฟ้า…

 “นวนิยายที่เราเขียนในปัจจุบันวันนี้ อีก 20 ปีข้างหน้าก็จะกลายนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในวันนั้น เพราะสังคมและวิถีชีวิตเปลี่ยนไป การที่ผมชอบเขียนแนวพีเรียด เพราะคิดว่าไม่ใช่ทุกคนจะรู้ว่าในอดีตมีอะไรเกิดขึ้นมาแล้วบ้าง แต่คงไม่มีใครอยากไปอ่านจากพงศาวดารหรือจดหมายเหตุกันทุกคน 

“เราใช้นวนิยายที่มีความบันเทิงปูพื้นข้อมูลให้ เพราะนวนิยายมันไม่ใช่เป็นแค่เรื่องประโลมโลกที่อ่านเพื่อความบันเทิง แต่ว่ามันให้ความรู้ด้วย นี่อาจเป็นเพราะเราอ่านมาแต่นวนิยายดีๆ ทำให้เราได้ความรู้ใหม่ๆ จากนวนิยายเยอะมาก แต่นวนิยายก็คือนวนิยาย เขาก็ให้ความรู้มาแค่บางส่วน ถ้าใครสนใจก็ไปต่อยอดเอาเอง”

กลิ่น เสียง สัมผัส และบรรยากาศที่ริมแม่น้ำปิง กระตุ้นเตือนเรื่องเล่า

ขณะที่เรื่องเล่าก็กระตุ้นเตือนความทรงจำ ทำให้ผมเกิดความรู้สึกว่า…

ผมเคยมาที่นี่ครั้งหนึ่ง หรือหลายครั้ง…

ผมจำได้ เพราะบรรยากาศเช่นนี้ได้เร่งเร้าให้ผมเล่าเรื่องบางเรื่อง

ผมเคยบอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับที่นี่… รอบๆ บริเวณนี้… มาแล้ว

คุณลองดมดอกไม้ คุณลองนิ่งนึกถึงอากาศ คุณลองฟัง… แล้วจะได้ยินเรื่องเล่าเช่นผม

กลิ่นกาสะลอง เนียรปาตี

Writer

Avatar

จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร

หลงใหลโลกวรรณกรรมในหลากหลายมิติ ศึกษามาทางด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ มีผลงานเขียนทั้งเรื่องสั้น (นามปากกา สมุด ทีทรรศน์) ความเรียง บทวิจารณ์วรรณกรรม บทความวิชาการ และบทสัมภาษณ์ นอกจากงานเขียนยังเป็นบรรณาธิการแปลอิสระและนักเดินทาง (ไม่อิสระ) ด้วย

Photographers

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย

Avatar

เดโช เกิดเดโช

หนุ่มเชียงใหม่ที่พูดคำเมืองไม่ได้เลย เรียนถ่ายภาพ ชอบศิลปะ แต่ที่ชอบมากกว่าศิลปะคือชอบหาของกินอร่อยๆ