“กินไก่เยอะเดี๋ยวจะเป็นเกาต์นะ”

คำเตือนอันคุ้นเคยที่มักได้ยินจากคนรอบตัวเมื่อเห็นว่าเรากำลังกินไก่เยอะกว่าปกติ อาจเกิดจากภาพจำของคนเป็นเกาต์ที่ต้องร้องโอดโอยทุกครั้งแม้จะกินไก่ไปเพียงไม่กี่ชิ้น

สรุปแล้วกินไก่ในจำนวนมากแล้วเป็นเกาต์จริงหรือ

วันนี้เราพามาหาคำตอบกับ รศ.ดร.วุฒิไกร บุญคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (NCAB) มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์ผู้คลุกคลีกับการศึกษาวิจัยไก่มาหลายสิบปี

ไก่ KKU1 ไก่ไร้เก๊าท์ ไก่บ้านพันธุ์ใหม่ แบรนด์ 'ไก่ย่างขามแก่น' ที่คนเป็นเกาต์กินได้

“ในคน 1,000 คน จะมีคนเป็นโรคเกาต์ 2 – 4 คน ซึ่งถือว่าสูง เพราะมักไปแฝงอยู่ที่โรคอื่น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เกาต์ไปแฝงอยู่ในโรคเหล่านี้แล้วค่อยแสดงอาการออกมาภายหลัง โดยเฉพาะคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป การขับหรือการระบายกรดยูริกจากไตไปสู่ภายนอกร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง ฉะนั้นยิ่งมีอายุเยอะ นอกจากโรคต่าง ๆ แล้วก็ยังมีโรคเกาต์ที่จะตามมาด้วย”

ดังนั้น การกินไก่เยอะไม่ได้ทำให้เป็นเกาต์ แต่การกินไก่ในปริมาณมากจะไปกระตุ้นการสะสมกรดยูริกตามข้อต่าง ๆ ในร่างกาย ผู้ป่วยจึงเกิดอาการปวดจนรู้สึกไม่อยากกินไก่ไปอีกนาน

“คนเป็นเกาต์เองเคยบอกว่า เขาเคยกินไก่เป็นตัว ๆ แต่พอเป็นเกาต์ก็กินไก่ไม่ได้เลย น่าเสียดายไก่หอม ๆ ที่เขาเคยชอบกิน มันแสดงให้เห็นว่าเขายังอยากกินอยู่ จุดนี้กลายเป็นหัวใจสำคัญที่เรามองว่า จะทำยังไงให้เขาได้กลับไปดำเนินชีวิตให้เหมือนปกติได้มากที่สุด”

การเกิดขึ้นของโครงการ ‘ไก่ไร้เก๊าท์’ ภายใต้ความดูแลของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ เราอยากพาไปทำความรู้จักและเปิดใจกับไก่ไร้เก๊าท์ ของ มข. ที่จะเข้ามาลบภาพจำเดิม ๆ ของคนไทยให้หมดไป

ไก่ KKU1 ไก่ไร้เก๊าท์ ไก่บ้านพันธุ์ใหม่ แบรนด์ 'ไก่ย่างขามแก่น' ที่คนเป็นเกาต์กินได้

มอขอไข่ กับ ไก่ไม่กลัวเกาต์

อาจารย์วุฒิไกรเล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จับมือร่วมกับกรมปศุสัตว์ จากข้อกังวลว่าสัตว์พื้นเมืองของประเทศไทยกำลังจะสูญหายไป เพราะประเทศไทยมีการนำเข้าและใช้ทรัพยากรจากต่างประเทศมากกว่าที่ผ่านมาเยอะขึ้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและกรมปศุสัตว์จึงมองหาพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้านการเก็บรักษาพันธุกรรม เพื่อจะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นป็นหนึ่งในหน่วงยงานคู่คิดคู่วิจัยที่ได้รับการคัดเลือก

 “มหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วมการวิจัยตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ขณะนั้น เราเป็นหนึ่งไม่กี่มหาวิทยาลัยที่ศึกษาวิจัยและอนุรักษ์สัตว์พื้นเมือง เรามีความรู้และมีบุคลากรด้านปรับปรุงพันธุ์อยู่ การวิจัยนี้เราจึงเริ่มต้นศึกษาที่ไก่พื้นเมืองไทยแท้เป็นอันดับแรก”

แม้เป้าหมายแรกจะเป็นการวิจัยเพื่ออนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมือง ซึ่งทีมวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ มข. เห็นถึงปัญหาของคนในสังคมไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์พันธุ์ไก่พื้นเมืองได้ด้วย

ไก่ KKU1 ไก่ไร้เก๊าท์ ไก่บ้านพันธุ์ใหม่ แบรนด์ 'ไก่ย่างขามแก่น' ที่คนเป็นเกาต์กินได้

“การแก้ปัญหาของเราคงไม่ได้ช่วยให้คนเป็นโรคเกาต์หาย แต่ช่วยให้พวกเขาใช้ชีวิตได้ปกติมากขึ้น คนเป็นเกาต์ก็อยากรับประทานไก่เหมือนกัน แต่เพียงแค่เขารับประทานไม่ได้ ไก่คืออาหารทั่วไปที่คนเรากินประจำ ฉะนั้น ไก่ KKU1 จึงพัฒนามาเพื่อวัตถุประสงค์นี้ ไม่ใช่เพื่อลดโรค หรือทำให้โรคเกาต์หายไปจากโลก”

ใช้เวลากว่าสิบปีในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ กระทั่งได้ไก่ KKU1 (เคเคยูวัน) แบบแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2560 และได้ขึ้นทะเบียนพาณิชย์ใน พ.ศ. 2563 

“ผมเข้ามาในทีมวิจัยตั้งแต่แรกใน พ.ศ. 2546 ตอนนั้นยังเป็นโครงการเล็ก ๆ เราเริ่มพัฒนาตั้งแต่พันธุ์ไก่ประดู่หางดำ ไก่พื้นเมืองชี กระทั่งมาเป็นไก่ KKU1 ซึ่งทีมเราร่วมกันขึ้นทะเบียนพาณิชย์แล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าหลังจากที่ปรับปรุงพันธุ์มา เรามีงานวิจัยรองรับและกล้าจะบอกสังคมได้ว่า ไก่ตัวนี้ช่วยให้คนที่เป็นโรคเกาต์กลับมาชีวิตแบบปกติได้”

อาจารย์ยังบอกกับเราต่อว่า เป็นความโชคดีที่โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากทีมนักวิจัยหลากหลายคณะ ตั้งแต่คณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ที่ช่วยเรื่องการตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง ตรวจสารสำคัญแล้วทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มีคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะเศรษฐศาสตร์ที่เข้ามาดูในเรื่องของเครื่องมือและต้นทุน-กำไร เพราะโปรเจกต์นี้ยังมีโครงการไปส่งเสริมอาชีพและกระจายรายได้สู่ชาวบ้านด้วย 

“แนวคิดพันธุ์ไก่เพื่อสุขภาพท้าทายมากในวงการปรับปรุงพันธุ์ เพราะที่ผ่านมามักมองแค่การปรับปรุงลักษณะทั่วไปให้ดียิ่งขึ้น แต่ยังไม่ได้มองไปถึงปลายน้ำหรือผู้บริโภคว่าเขาต้องการแค่ให้ไก่โตเร็ว ไข่ดก เท่านั้นหรือเปล่า เพราะแท้จริงแล้วคนเราต้องการกินอาหารดีและมีคุณภาพที่ดี” 

สำหรับอาจารย์วุฒิไกรแล้ว ภายใต้ความท้าทายของโปรเจกต์นี้ ยังแฝงไปด้วยความสนุกจากการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงอีกด้วย

“ตัวผมเองก็ต้องกินไก่เหมือนกัน เราต้องนึกถึงตัวเราเองด้วยว่า ถ้าจะพัฒนาอะไรขึ้นมา เราก็ต้องพัฒนาอาหารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ คนมองว่ากินไก่แล้วเป็นเกาต์ นี่คือภาพจำทั่วไปที่คนมอง เราเลยอยากเปลี่ยนแนวคิดนั้น ให้เป็นกินไก่แล้วก็มีสุขภาพดีได้เช่นกัน”

ไก่ KKU1 ไก่ไร้เก๊าท์ ไก่บ้านพันธุ์ใหม่ แบรนด์ 'ไก่ย่างขามแก่น' ที่คนเป็นเกาต์กินได้
ไก่ KKU1 ไก่ไร้เก๊าท์ ไก่บ้านพันธุ์ใหม่ แบรนด์ 'ไก่ย่างขามแก่น' ที่คนเป็นเกาต์กินได้

ไก่ 3 LOW

ไก่พื้นเมืองไทยที่ทีมวิจัยเริ่มต้นปรับปรุงมีอยู่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ไก่ประดู่หางดำและไก่ชี ตัวหลักที่นำมาใช้พัฒนาเป็น KKU1 คือไก่ชี

“ไก่ชีเป็นต้นพันธุ์ที่นำมาสร้างไก่ KKU1 เหตุผลเพราะไก่พื้นเมืองเขาจะมีคุณสมบัติในด้านสารอาหารและโภชนาการที่ดี งานวิจัยตีพิมพ์ของพวกเรายืนยันว่า ในไก่พื้นเมืองไทยมีสารสำคัญหลายตัวที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค จากไก่ชีตรงนี้เราอยากนำมันมาปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งข้อด้อยของไก่ชีคือโตช้า ต้องใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 70 วัน เราเลยสร้างเป็นลูกผสมกับไก่เนื้อ เพื่อให้เกษตรกรมีรอบการผลิตเร็วขึ้น แต่คงคุณสมบัติโตเร็วแบบไก่เนื้อ รวมถึงคงโภชนาการที่ดีแบบไก่พื้นเมืองด้วย”

อาจารย์วุฒิไกรเสริมว่าคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับไก่พื้นเมืองไทยน้อยมาก และส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าไก่พื้นเมืองมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย

“สัตว์พื้นเมืองของเรามีความโดดเด่นเยอะ หลายประเทศเวลาพูดถึงสัตว์พื้นเมืองเขาจะหวงแหนมาก แต่สำหรับบ้านเราอาจจะไม่ เพราะเราชื่นชอบสิ่งใหม่ ๆ อย่างความชื่นชอบในเนื้อวัววากิวหรือหมูดำคุโรบูตะ จากงานวิจัยเราพบว่าสัตว์พื้นเมืองให้ประโยชน์หลายอย่าง และให้มากกว่าของแปลกใหม่จากแหล่งอื่นที่เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีประโยชน์จริงไหม แต่เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป เราเลยไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์จากของดีที่เรามีอยู่แล้ว

“อีกด้านที่คนรู้น้อยคือ การที่ไก่พื้นเมืองโตช้า ทำให้เกิดการสะสมสารอาหารดีหลายอย่างไปแบบช้า ๆ ไม่เหมือนกับไก่เนื้อ ฉะนั้น กรดยูริกที่ไปกระตุ้นอาการของโรคโรคเกาต์ จึงพบในไก่พันธุ์พื้นเมืองน้อยกว่าในไก่เนื้อตามท้องตลาด”

ด้วยเหตุนี้ไก่ KKU1 จึงเป็นไก่คุณภาพ 3 LOW ที่ย่อมากจาก Low Uric, Low Fat และ Low Cholesterol

ไก่ KKU1 ไก่ไร้เก๊าท์ ไก่บ้านพันธุ์ใหม่ แบรนด์ 'ไก่ย่างขามแก่น' ที่คนเป็นเกาต์กินได้

“กรดยูริกเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเกาต์ ซึ่งพบในไก่พื้นเมืองน้อยกว่าในไก่เนื้อถึงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นถ้าคนที่เป็นโรคเกาต์มารับประทานไก่ KKU1 เขาก็ยังรับประทานได้เมื่อเทียบกับการรับประทานไก่เนื้อปกติที่หากเขาทานคำสองคำ กรดยูริกก็จะสะสมในข้อกระดูกแล้วไปกระตุ้นอาการปวดข้อ เราเคยลองให้คนเป็นโรคเกาต์ชิมไก่ KKU1 ปรากฏว่าเขาทานได้ถึงครึ่งตัวแบบไม่ได้มีปัญหาอะไร”

เราคุยกับอาจารย์วุฒิไกรด้วยคำว่าไก่พันธุ์พื้นเมืองมาตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ หลายคนอาจจะรู้สึกไม่คุ้นชิน ต่อจากนี้เราขอใช้คำว่า ‘ไก่บ้าน’ ตามความเคยชินของหลาย ๆ คนดีกว่า

เมื่อพูดถึงคำว่า ไก่บ้าน สรรพคุณเนื้อน้อย เนื้อเหนียว มักเป็นที่รู้กันในชาวไก่เลิฟเวอร์

“มีโอกาสก็อยากให้ลองชิมไก่ที่ มข. ดูนะครับ เพราะเราคำนึกถึงประเด็นคุณภาพเนื้อเช่นกัน เราไม่ได้มองแค่ว่าอยากให้ KKU1 โตเร็วขึ้นเท่านั้น แต่มองคุณภาพเนื้อและสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค เรามองครอบคลุมในหลายลักษณะไปพร้อมกัน ข้อกังวลเรื่องเนื้อน้อยหรือเนื้อเหนียว ผมอยากให้มาลองเองเลยครับ เพราะผมเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนภาพจำเรื่องคุณภาพเนื้อไก่บ้านแบบเดิม ๆ ของผู้บริโภคได้แน่นอน”

ไก่ KKU1 ไก่ไร้เก๊าท์ ไก่บ้านพันธุ์ใหม่ แบรนด์ 'ไก่ย่างขามแก่น' ที่คนเป็นเกาต์กินได้

ชุมชนไก่ไร้เก๊าท์

การเดินทางสิบกว่าปีของทีมวิจัยไก่ไร้เก๊าท์ มาถึงจุดที่ส่งไก่ KKU1 ออกสู่ตลาดและฟาร์มต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งไก่ KKU1 กำลังเดินทางเข้าไปสู่ตลาด Modern Trade ภายใต้ชื่อ ‘ไก่ย่างขามแก่น’ จำหน่ายทั้งใน Lemon Farm, Foodland, Villa Market, TOPS market และ Agro Outlet KKU อีกทั้งยังกระจายไปในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อย่างจุดจำหน่ายสินค้าคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น, โรงแรมโฆษะ และเข้าสู่ตลาดชุมชนในจังหวัดด้วย โดยไก่ KKU1 มีผลตอบรับที่ดีและได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน

“ทางจังหวัดก็พยายามผลักดันให้ KKU1 เป็นหนึ่งในอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดขอนแก่นเทียบเคียงกับไก่ย่างเขาสวนกวาง เพียงแต่ว่าตลาดแตกต่างกัน ในขณะเดียวกันก็มีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร อย่างมูลนิธิปิดทองหลังพระ นำเอาไก่ KKU1 ไปส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรมีอาชีพหลากหลาย แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ยังอยู่ในฐานะยากจน ซึ่งไก่ KKU1 ทำให้รอบการผลิตเร็วขึ้น ต้นทุนเมื่อหักกำไรแล้วยังมากกว่าการลงทุนทำเกษตรกรรมชนิดอื่นเสียอีก”

คุณสมบัติและข้อดีทั้งหลายที่อาจารย์วุฒิไกรเล่าให้ฟัง ทำเอาเราแอบสงสัยว่า แบบนี้ราคาไก่ KKU1 ต้องแพงหรือเปล่า

“เป็นราคาที่จับต้องได้เมื่อเทียบกับไก่เนื้อทางการค้าที่ขายกันในปัจจุบัน ราคาอาจจะสูงกว่าไก่เนื้อพันธุ์การค้านิดหน่อย แต่ไม่ได้แพงระดับไก่บ้าน เช่น ตอนนี้กิโลกรัมละ 65 บาท เป็นราคากลาง ๆ เมื่อเทียบกับคุณสมบัติของ KKU1 แถมรสชาติยังมีความเป็นไก่บ้าน เนื้อนุ่มฉ่ำไม่เหนียว เป็นราคาที่เกษตรกรเองเขาก็อยู่ได้ เพราะส่วนใหญ่คนชอบตั้งราคาเพื่อให้ผู้บริโภคซื้อเยอะ ๆ แต่มักลืมไปว่าต้นน้ำก็ต้องอยู่ให้ได้ ดังนั้นเราเลยมองให้ครบทั้ง Supply Chain ต้นน้ำอยู่ได้ ปลายน้ำก็พอใจในอาหาร” 

แม้ว่าตอนนี้ไก่ KKU1 ออกสู่ตลาดกว่า 2 ล้านตัวแล้ว หนึ่งในนั้นคือตลาดชุมชนที่ทีมวิจัยร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ ส่งออกไก่ KKU1 กระจายไปยัง 2 ชุมชนหลักของจังหวัดของแก่น เรียกได้ว่าเป็นชุมชนไก่ KKU1 และชุมชนไก่ประดู่หางดำแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ไก่ KKU1 ไก่ไร้เก๊าท์ ไก่บ้านพันธุ์ใหม่ แบรนด์ 'ไก่ย่างขามแก่น' ที่คนเป็นเกาต์กินได้

ตอนนี้เราเริ่มเปิดให้กับเกษตรกรที่สนใจได้เลี้ยงและจำหน่ายแล้ว เรามีชุมชนไก่ KKU1 และไก่ประดู่หางดำในจังหวัดขอนแก่น คือทั้งชุมชนเลี้ยงไก่ของเราทั้งหมดเลย มันเกิดจากการเป็นการบอกต่อกันไปในชุมชนว่า เลี้ยงแล้วดี เลี้ยงได้ในระยะสั้นแต่ขายแล้วได้กำไร ไก่ KKU1 เลี้ยงที่ชุมชนน้ำพอง และไก่ประดู่หางดำเลี้ยงที่ชุมชนอุบลรัตน์”

ทั้งอำเภอน้ำพองและอำเภออุบลรัตน์ ต่างเป็นพื้นที่ใกล้เขื่อนอุบลรัตน์ของจังหวัดขอนแก่น หลายคนอาจมองว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงเหมาะกับการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ แต่อาจารย์วุฒิไกรให้เหตุผลกับเราอีกแบบ

2 พื้นที่นี้ดูเหมือนจะมีปริมาณน้ำดี แต่ 2 ชุมชนนี้เป็นชุมชนที่มีปัญหาด้านน้ำมาไม่ถึงที่สุด โดยปกติถ้าน้ำดีเกษตรกรจะเลือกปลูกพืช ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพดก่อนทำปศุสัตว์ เพราะปศุสัตว์ใช้น้ำน้อยกว่า แต่ 2 พื้นที่นี้มีปัญหาในเรื่องการไม่มีน้ำใช้ การเลี้ยงปศุสัตว์จึงน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด

“อีกความท้าทายที่สำคัญก็คือ 2 พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่มีรายได้ต่อครัวเรือนต่ำที่สุดในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งถ้าเราเอาไก่ไปให้เขาเลี้ยง แล้วเขายึดเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ที่มากกว่ารายได้ขั้นต่ำของเขาได้ นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่ก็ทำได้ตามเป้าหมายของเราเรียบร้อยแล้ว”

ชุมชนน้ำพองและชุมชนอุบลรัตน์มีรายได้ต่อครัวเรือนมากขึ้นจากการเลี้ยงไก่ KKU1 มากว่า 5 ปีแล้ว และมีแนวโน้มการเลี้ยงเพิ่มขึ้นมากเรื่อย ๆ หลายร้อยครัวเรือน ซึ่งแต่ละครัวเรือนไม่ได้เลี้ยงแค่ตัวเดียว แต่เรียกได้ว่าเลี้ยงบ้านละ 100 – 200 ตัวเลยก็ว่าได้ เพราะแบบนั้นไก่ KKU1 จึงเริ่มพบเห็นได้มากขึ้นในหลาย ๆ ตลาดแล้ว

“ตลาดเบื้องต้นของชาวบ้านเลยคือตลาดชุมชน เพราะไก่ KKU1 ก็เป็นความต้องการของคนในชุมชน ขายแค่ในชุมชนก็หมดแล้ว เพราะไก่บ้านหาซื้อยาก อีกตลาดคือมีคนมารับซื้อ มีพ่อค้าคนกลางที่รับไก่ชำแหละแล้วส่งไปยังตลาดกลางต่าง ๆ ของจังหวัด อย่างบริษัทประชารัฐรักสามัคคีที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างขอนแก่นกับกรุงเทพฯ”

ระหว่างที่คุยกัน อาจารย์วุฒิไกรย้ำอยู่เสมอว่าไก่บ้านมีหลายสายพันธุ์และมีประโยชน์โดดเด่นมากมาย ด้วยความหลากหลายนั้น ทำให้อาจารย์แอบกระซิบกับเราว่า ทีมวิจัย ม.ขอนแก่น ยังคงไม่หยุดพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ไก่บ้าน และจะมีอาหารดี ๆ มาให้สังคมได้รู้จักกันอีกแน่ ๆ

เรามีไก่กระดูกดำซึ่งเราวิจัยมาเป็นสิบปีเช่นกัน ปกติคนไทยเชื้อสายจีนจะรู้ว่าไก่ดำมีคุณสมบัติเป็นยาสมุนไพร แต่เราพบข้อจำกัดคือไก่ดำเนื้อไม่อร่อย คนจีนจึงมักรับประทานกับน้ำซุป เราเลยปรับปรุงให้เนื้อมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่อผู้บริโภคน้อยลง แล้วเพิ่มอัตราการเติบโตของไก่มากขึ้น ซึ่งปีหน้าเราอาจจะได้เห็นตัวนี้กัน

“อีกตัวเป็นไฮไลต์ที่เราดำเนินการอยู่คือไก่ประดู่หางดำ เราจับมือกับบริษัทเอกชนเพื่อผลิตไข่ขาวอัดเม็ด จากคนเสียงร่ำลือของคนโบร่ำโบราณมักบอกว่า ‘กินไข่ขาวสิจะได้เพิ่มปริมาณเกล็ดเลือดได้’ จากคำธรรมดา ๆ เราก็เอามาวิจัยว่าไข่ขาวของไก่พื้นเมืองมันมีอะไรดี และลองทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า เกษตรกรจะได้ยิ่งมีกำไรมากขึ้นด้วย”

ขณะที่ไก่บ้านสายพันธุ์อื่นกำลังพัฒนาตามมาแล้ว ไก่ KKU1 ก็ไม่ได้หยุดพัฒนาไว้เพียงเท่านี้เช่นกัน

“เราอยากพัฒนาไก่ KKU1 ให้มีคุณภาพสู่การเป็นอาหารฮาลาล แบรนด์ฮาลาลจะมีหลายมาตรฐาน มีมาตรฐานฮาลาลไทย ฮาลาลซาอุดีอาระเบีย ฮาลาลมาเลเซีย แต่เราอยากเป็นแบรนด์ฮาลาลของโลกและส่งออกไปไก่ KKU1 สู่ทุกประเทศ ตอนนี้เราทำทุกอย่างได้อย่างมีมาตรฐานระดับโลกเอาไว้หมดแล้ว เหลือแค่ทำอย่างไรให้เราขยับมาตรฐานตรงนี้สูงขึ้นถึงขนาดส่งออกสู่สากลได้ นี่คืออีกเป้าหมายที่เรามองไว้”

ไก่ KKU1 ไก่ไร้เก๊าท์ ไก่บ้านพันธุ์ใหม่ แบรนด์ 'ไก่ย่างขามแก่น' ที่คนเป็นเกาต์กินได้

Writer

Avatar

กชกร ด่านกระโทก

มนุษย์แมนนวล ผู้หลงใหลในกลิ่นและสัมผัสของหนังสือ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านนิยาย/มังงะ สนุกไปกับการเดินทาง และชื่นชอบในการเรียนรู้โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์

Photographer

Avatar

ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

นักเรียนวารสารศาสตร์จากมอน้ำชี ที่เชื่อว่าชีวิตต้องผ่านน้ำ เบื่อการเรียนออนไลน์ อยากเรียนจบแล้ว รักใครรักจริง