“ตึก ‘กิติพานิช’ เป็นสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นมาในยุครุ่งเรืองของเศรษฐกิจริมน้ำ ซึ่งมันมีความออริจินอลมากๆ เพราะว่าเป็นตึกเดียวในเขตพื้นที่เมืองเชียงใหม่ที่แทบจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย มันยืนแสดงตัวอยู่บนถนนท่าแพ ปิดร้างไว้เหมือนเป็นความทรงจำที่เป็นความลับของเมือง แล้วก็ไม่น่าเชื่อว่าจะรอดเงื้อมมือธุรกิจมาจนถึงปี พ.ศ.นี้ได้ ในมุมของสถาปนิคหรือคนที่สนใจด้านสถาปัตยกรรมเชียงใหม่ นี่เป็นเรื่องที่เราเฝ้ารอมานานและน่าตื่นเต้นมากที่มันถูกเปิดออกอีกครั้ง”

กิติพานิช ตึกอายุ 132 ปีริมถนนท่าแพที่ถูกปลุกชีพมานำเสนออาหารล้านนาเคล้าประวัติศาสตร์

ภายหลังครู่สนทนาอันกระตือรือร้นกับ ศุภชัย ชูศรี อาจารย์คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพเชียงใหม่ ผู้หลงใหลสถาปัตยกรรมเมือง ผมสัมผัสได้ถึงความรู้สึกตื่นเต้นมากแบบที่เขาทิ้งท้ายเมื่อทราบข่าวคราวของ ‘กิติพานิช’ ตึกโบราณอายุราว 132 ปี สีเหลืองเด่น ที่เขายกฉายาให้ว่า ‘Yellow Mansion’ เทียบเคียงมนตร์เสน่ห์สถาปัตยกรรมตรึงตรากับ ‘Blue Mansion’ หรือคฤหาสน์เฉิงฟัตเจ๋อ (Cheong Fatt Tze Mansion) ของเมืองมรดกโลกจอร์จทาวน์

เมื่อปลายปีที่ผ่านมาตึกหลังนี้ได้ถูกชุบชีวิตขึ้นอีกครั้งท่ามกลางยุคสมัยใหม่ในฐานะร้านอาหารสไตล์ล้านนา โดยทายาทรุ่นที่ 5 และหัวเรือใหญ่แห่ง Ledu ร้านอาหารระดับ 1 ดาวมิชลิน พร้อมเปิดประตูต้อนรับผู้อยากดื่มด่ำสุนทรียะผ่านรสสัมผัสและบรรยากาศภายในสิ่งปลูกสร้างประวัติศาสตร์ที่ซุ่มซ่อนส่วนเสี้ยวความทรงจำเปี่ยมคุณค่าของเมืองเชียงใหม่ไว้นานกว่าครึ่งศตวรรษ 

กิติพานิช ตึกอายุ 132 ปีริมถนนท่าแพที่ถูกปลุกชีพมานำเสนออาหารล้านนาเคล้าประวัติศาสตร์

1

ตึกเก่าในวันก่อน

เป็นเรื่องบังเอิญหรือโชคชะตาคงยากคาดเดา เมื่อ 10 ปีก่อนที่ รุ่งโรจน์ อิงคุทานนท์ หนุ่มกรุงเทพฯ แต่กำเนิด เดินทางมาเที่ยวเชียงใหม่แล้วเกิดสะดุดตากับตึกยุคเก่าหลังโตโอ่อ่าริมถนนท่าแพ ให้ย้อนนึกกลับไปเขายอมรับว่าชอบมันตั้งแต่แรกเห็น และอธิบายไม่ได้เช่นกันเมื่ออยู่มาวันหนึ่งพบตัวเองนั่งรื้อโฉนดที่ดิน ก่อนจะเจอเรื่องเหนือความคาดคิด ใช่ ตึกหลังนั้นคือมรดกตกทอดของครอบครัว 

ทรุดโทรมเกินไป เสียหายเกินไปมาก ก้าวแรกของเขาจึงเลือกพับเก็บโครงการรีโนเวตตึก แล้วหันมาร่วมมือกับเพื่อนเชฟ (เชฟต้น-ธิติฎฐ์ ทัศนาขจร) ปลูกปั้น Ledu ธุรกิจร้านอาหารที่ตั้งใจยกระดับเมนูคาวหวานแบบไทยๆ สู่สากล จนประสบความสำเร็จเป็นเช็กลิสต์ของเหล่านักชิมที่พิถีพิถันในการกิน กระทั่งกิจการเริ่มอยู่ตัวเขาจึงปรึกษาครอบครัวถึงแผนการฟื้นชีวิตตึกกิติพานิช โดยได้รับแรงสนับสนุนจากเครือญาติในเชียงใหม่มากมาย

“วันแรกที่ผมเข้ามาสำรวจเพื่อเตรียมปรับปรุงตึก ผมได้รับความช่วยเหลือจากคนในตระกูลและญาติพี่น้องที่อยู่เชียงใหม่หลายคน บางคนผมไม่เคยเจอมาก่อน แต่ทุกคนก็พร้อมใจกันมาช่วยและให้คำแนะนำเราด้วยความยินดี อย่าง อาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ท่านก็มาช่วยดูรายละเอียดด้านโครงสร้างตึก หรือ คุณยายนิสา คุณารักษ์ ท่านก็เอื้อเฟื้อเวลามาบอกเล่าประวัติความเป็นมาของตึกให้ฟัง”

กิติพานิช ตึกอายุ 132 ปีริมถนนท่าแพที่ถูกปลุกชีพมานำเสนออาหารล้านนาเคล้าประวัติศาสตร์

คุณยายนิสาคือบุตรสาวคนสุดท้องของ นายเทพ กิติบุตร หรือเถ้าแก่เจี๊ยว คหบดีชาวเชียงใหม่ผู้เป็นเจ้าของตึกกิติพานิชรุ่นที่ 2 (เจ้าของตึกรุ่นแรกคือ นางสุ่น กิติบุตร แม่ของนายเทพ) แม้ปีนี้ท่านกำลังย่างเข้าสู่วัย 94 แต่รุ่งโรจน์บอกว่า คุณยายยังสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีและความจำยอดเยี่ยม เรื่องเล่าประวัติศาสตร์ที่เกือบเลือนหายจึงถูกถ่ายทอดออกมาโดยสมาชิกครอบครัวกิติบุตรคนสุดท้ายที่เคยได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านตึกหลังนี้

เดิมทีตึกหลังนี้มีบทบาทเป็นห้างสรรพสินค้าซึ่งเริ่มเปิดดำเนินการประมาณปี 2431 ในชื่อ ‘ย่งไท้เฮง’ ก่อนจะเปลี่ยนภายหลังเป็น ‘กิติพานิช’ ว่ากันว่ายุคนั้นบรรดาชนชั้นนำ เจ้านายฝ่ายเหนือ และข้าราชการชั้นสูง นิยมมาอุดหนุนสินค้ากันที่นี่ เนื่องจากเป็นสินค้าโก้เก๋ ทันสมัย นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งจำพวกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องแก้วเจียระไน น้ำหอม หรือของประดับตกแต่งบ้าน ต่อมาเมื่อกิจการเลิกล้มจึงปรับเป็น สถานที่ส่งเสริมความงามเฉพาะสตรี ‘Maison Dara’ ซึ่งถือเป็นร้านแรกๆ ในเชียงใหม่ที่มีบริการตัดผมและนวดหน้าด้วยเครื่องไฟฟ้า 

กิติพานิช ตึกอายุ 132 ปีริมถนนท่าแพที่ถูกปลุกชีพมานำเสนออาหารล้านนาเคล้าประวัติศาสตร์
กิติพานิช ตึกอายุ 132 ปีริมถนนท่าแพที่ถูกปลุกชีพมานำเสนออาหารล้านนาเคล้าประวัติศาสตร์

ธุรกิจปิดตัวลงอีกหนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมกับบรรดาพี่น้องที่ขยับขยายถิ่นฐาน หนึ่งในนั้นคือ อุทัย กิติบุตร พี่ชายคนโตของครอบครัวที่ย้ายไปตั้งรกรากอยู่กรุงเทพฯ และชายผู้นี้เองคือคุณตาของรุ่งโรจน์

‘คลินิกดารา’ คลินิกที่ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยนายแพทย์ผู้เป็นสามีของคุณยายนิสา คือบทบาทสุดท้ายของตึก ซึ่งได้ดำเนินกิจการมาจนถึงปี 2509 ก่อนประตูจะปิดตายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เหลือเพียงพื้นที่บริเวณด้านหน้าที่ปล่อยให้เช่าใช้ประโยชน์และกลายสภาพเป็นร้านหนังสือ ‘ซินกีง้วน’ ที่ชาวเชียงใหม่คงเคยคุ้นตาเพราะเปิดทำการมากว่า 50 ปี 

 “คุณรู้มั้ยว่าตอนที่ผมเริ่มปรับปรุงซ่อมแซมตึกมีคนเคาะประตูขอเข้ามาดูข้างในทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นทั้งนั้น จนทำให้ผมรับรู้ว่ามีคนเชียงใหม่ที่รู้สึกผูกพันกับตึกนี้จำนวนมากเลยทีเดียว” 

ไม่ใช่แค่เพียงความรู้สึกผูกพันที่เชื่อมโยงส่งต่อสู่ชาวเชียงใหม่ แต่ตึกหลังนี้ยังเปรียบเสมือนหลักไมล์ความทรงจำที่สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ย่านเศรษฐกิจบนถนนท่าแพและพัฒนาการของเมืองเชียงใหม่ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง 

2

มองเมืองผ่านตึก

“ถ้าเราลองสังเกตจากลักษณะการใช้หลังคาซ้อนชั้น มีจั่วประธาน จั่วบริวาร และโก่งคิ้วที่ทำลวดลายต่างๆ รวมถึงการหันหน้าจั่วออกมาหาถนน ก็พอระบุได้ว่าตึกกิติพานิชนั้นเป็นสถาปัตยกรรมลูกผสมที่รับอิทธิพลมาจากพม่า เพราะในอดีตถนนท่าแพเคยมีชาวพม่า ไทใหญ่ และต่องสู้ ซึ่งเป็นคนในบังคับของอังกฤษที่เดินทางเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้จำนวนมาก ดังนั้น คหบดีชาวเชียงใหม่ที่มีฐานะก็จะจ้างช่างพม่ามาทำอาคารบ้านเรือนให้ ประกอบกับช่างพื้นเมืองล้านนาฝีมือดียุคก่อนมีจำนวนน้อยและมักถูกเรียกตัวไปใช้งานในคุ้มเจ้า จนเราติดเรียกนายช่างว่า ‘สล่า’ คำนี้ก็หยิบยืมมาจากภาษาพม่าเช่นกัน”

กิติพานิช ตึกอายุ 132 ปีริมถนนท่าแพที่ถูกปลุกชีพมานำเสนออาหารล้านนาเคล้าประวัติศาสตร์

รศ. ดร.ณวิทย์ อ่องแสวงชัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชวนแลกเปลี่ยนเรื่องราวของตึกกิติพานิช ผ่านมุมมองการ ‘อ่านเมือง’ ที่อาจารย์เปรียบเทียบเห็นภาพง่ายๆ ว่าคล้ายกับการอ่านหนังสือ ที่เราจะเข้าใจความหมายได้นั้นต้องรู้ภาษาและหลักไวยากรณ์ หากเมืองเปรียบเป็นหนังสือสักเล่ม องค์ประกอบของเมืองอย่างตึกก็เป็นหนึ่งในศัพท์ที่เราต้องศึกษา เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงพัฒนาการและคุณค่ามากกว่าผลลัพธ์ทางกายภาพเพียงความสวย ไม่สวย แย่ หรือดีงาม

อาจารย์ณวิทย์พลิกมุมสมุดเล่มเล็กแล้ววางปากกาต่อด้านขวาง จำลองอาณาเขตคูเมืองเชียงใหม่และถนนท่าแพบนโต๊ะทำงานเพื่อประกอบการอ่านเมืองและย่านท่าแพให้ฟัง 

กิติพานิช ตึกอายุ 132 ปีริมถนนท่าแพที่ถูกปลุกชีพมานำเสนออาหารล้านนาเคล้าประวัติศาสตร์

โดยย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคที่ถนนสายนี้ยังเป็นถนนสายเอกเชื่อมการคมนาคมจากแม่น้ำปิงสู่ประตูเมือง และชาวล้านนาก็เริ่มเฟื่องฟูจากการติดต่อค้าขายกับชาวอังกฤษที่เข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ พร้อมทั้งพาคนในบังคับจากพม่าตามมาทำงานและลงทุนค้าขาย ถนนท่าแพรราวปี 2427 จึงกลายเป็นชุมชนหน้าประตูเมืองที่เรียงรายด้วยบรรดาบ้านเรือนของชาวพม่า ไทใหญ่ และต่องสู้

สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในยุคนี้จึงพลอยมีกลิ่นอายแบบพม่า อันเป็นที่มาของสถาปัตยกรรมโดดเด่นแปลกตาของตึกกิติพานิชในปัจจุบัน เพราะไม่ว่าชุมชนหน้าประตูเมืองจะผลัดกายภาพตามการเปลี่ยนมือของผู้กุมเศรษฐกิจหลักจากชาวอังกฤษและพม่าสู่กลุ่มนายทุนจีนในช่วงต่อมา จนทำให้สถาปัตยกรรมตึกแถวแพร่หลาย หรือกระทั่งถึงยุคทองของเศรษฐกิจทุนนิยมที่ถนนสายนี้ผุดธนาคารแบบสแตนด์อโลนและอาคารสไตล์โมเดิร์นขึ้นมามากมาย ทว่ากิติพานิชยังคงยืนเด่นอวดความงามข้ามกาลเวลาไม่เปลี่ยนผัน

กิติพานิช ตึกอายุ 132 ปีริมถนนท่าแพที่ถูกปลุกชีพมานำเสนออาหารล้านนาเคล้าประวัติศาสตร์

“อย่างตึกกิติพานิชเนี่ยคุณจะเห็นได้ว่าทำเลที่ตั้งมันดีนะครับ ถ้าเราขับรถผ่านแล้วลองสังเกตซ้ายมือเป็นกิติพานิช ส่วนที่เกือบจะอยู่ตรงกันข้ามพอดีเป็น ‘รัตนผล’ (ตึกสีขาวสองชั้น สร้างเมื่อประมาณปี 2475 ยุคที่พ่อค้าชาวจีนในเชียงใหม่รุ่งเรือง ปัจจุบันเปิดเป็นร้านจำหน่ายหนังสือและอุปกรณ์การเรียน) มันคืออาคารสองยุคบนถนนท่าแพซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมืองของเราพัฒนามาอย่างไร ที่สำคัญคือสามารถบอกหลักไมล์ของสถาปัตยกรรมได้ดีมาก

“ท่าแพก่อนที่โลกอินเทอร์เน็ตจะทำงานสักช่วง 20 ปีที่แล้วมันเคยซบเซาอยู่ช่วงหนึ่งนะ แต่ตอนนี้มันฟื้นกลับมาใหม่ด้วยสิ่งเดียวกับที่กิติพานิชกำลังทำอยู่ คือการใช้สถาปัตยกรรมที่เคยมีในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ร่วมสมัย ซึ่งผมเองมองว่าเป็นเรื่องดีที่อาคารเก่าได้ถูกใช้ประโยชน์ ทำให้มันยังมีชีวิต ยังถูกอธิบาย และทำให้ทุกคนได้เห็นว่าอาคารหลังนี้ยังมีคุณค่าอยู่”

3

รูปรสสุนทรีย์

บนชั้นสองของตึกเป็นโถงกว้าง มีบันไดแยกขึ้นทั้งด้านซ้ายขวา และโคมไฟสีแดงห้อยระย้าลงมาจากเพดานสูง

กิติพานิช ตึกอายุ 132 ปีริมถนนท่าแพที่ถูกปลุกชีพมานำเสนออาหารล้านนาเคล้าประวัติศาสตร์

รุ่งโรจน์ชวนให้ผมเดินสำรวจได้ตามสบายและอธิบายด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่าที่เห็นอยู่โดยรอบคือโครงสร้างแบบออริจินอลที่ยังสมบูรณ์มากอย่างแทบไม่ต้องซ่อมแซม เว้นเพียงโคมไฟแดงเหนือศีรษะที่เป็นไอเดียของหุ้นส่วนธุรกิจ Frederic Meyer 

กิติพานิช ตึกอายุ 132 ปีริมถนนท่าแพที่ถูกปลุกชีพมานำเสนออาหารล้านนาเคล้าประวัติศาสตร์

ต้นปี 2561 เมื่อแผนการที่วางไว้ชัดเจนเป็นรูปร่างและได้หุ้นส่วนมากประสบการณ์อย่าง Frederic Meyer ผู้อยู่เบื้องหลังร้านอาหารชื่อดังที่นำเสน่ห์ของบ้านโบราณมาต่อยอดสร้างสรรค์ธุรกิจ อย่าง Issaya Siamese Club และ Naamsaah Bottling Trust มาร่วมสานต่อความตั้งใจ รุ่งโรจน์ก็ตีตั๋วบินมาเชียงใหม่แทบทุกสัปดาห์เพื่อหมดเวลาราว 4 เดือนไปกับการคัดแยกและทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้เครอะฝุ่น ก่อนทั้งหมดจะถูกนำมาประยุกต์เป็นของใช้ภายในร้านอาหารและประดับตกแต่งบรรยากาศซึ่งช่วยฉายภาพประวัติศาสตร์ของตึกได้อย่างน่าสนใจ อาทิ แผ่นป้ายโฆษณาร้าน Maison Dara เครื่องแก้วเจียระไน เหล้านอก หรือสินค้าเบ็ดเตล็ดที่วางโชว์อยู่ในตู้ไม้โบราณ รวมถึงด้านหนึ่งของผนังที่จัดแสดงรูปภาพในอดีตหาชมยาก บางภาพเป็นฝีไม้ลายมือของช่างภาพชาวญี่ปุ่นคนสำคัญ เอ็ม ทานาคา (M.Tanaka / Morinosuke Tanaka)

กิติพานิช ตึกอายุ 132 ปีริมถนนท่าแพที่ถูกปลุกชีพมานำเสนออาหารล้านนาเคล้าประวัติศาสตร์
กิติพานิช ตึกอายุ 132 ปีริมถนนท่าแพที่ถูกปลุกชีพมานำเสนออาหารล้านนาเคล้าประวัติศาสตร์
กิติพานิช ตึกอายุ 132 ปีริมถนนท่าแพที่ถูกปลุกชีพมานำเสนออาหารล้านนาเคล้าประวัติศาสตร์

“ด้วยคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและเสน่ห์ของอาคาร การรีโนเวตของผมจึงเป็นการพยายามรักษามันไว้ให้มากที่สุดและใช้ของที่มีอยู่เดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้” 

รุ่งโรจน์สรุปแนวคิดในการปรับปรุงร้าน พร้อมเสริมเรื่องบริการอาหารสไตล์ล้านนาเมนูหลักของร้านที่พลิกโฉมหน้าตาให้สวยงามร่วมสมัย ออกแบบโดย เชฟอ้อม-สุจิรา พงษ์มอญ เสิร์ฟคู่ของหวานแนวผสมผสานที่คิดค้นโดย เชฟเปเปอร์-อริสรา จงพาณิชกุล สองเชฟมือทองจากร้าน Saawaan 

“เดี๋ยวนี้เรื่องอาหารการกินมันไม่ใช่แค่กินอิ่มอย่างเดียว แต่ยังเป็นเหมือนสุนทรียภาพ ดังนั้น นอกจากรสชาติต้องดี การนำเสนอก็ต้องสร้างสรรค์ควบคู่กันไปด้วย สองสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญ ตลอดจนเรื่องคุณภาพและการบริการที่ได้นำประสบการณ์จากการทำร้าน Ledu มาพัฒนาเพื่อให้คนที่มาได้รับความประทับใจ”

เหนือเรื่องอาหาร รุ่งโรจน์บอกว่าความตั้งใจแรกเริ่มคืออยากคืนชีวิตให้ตึกของครอบครัวหลังนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แม้การลงทุนปรับปรุงตึกจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เขาพึงพอใจในราคาอาหารที่เป็นมิตรและเข้าถึงง่าย เพราะอยากให้ที่นี่กลายเป็นหมุดหมายของเมืองเชียงใหม่และเชื่อมโยงคุณค่าสถาปัตยกรรมกับผู้คนยุคปัจจุบันให้มากที่สุด


กิติพานิช

ร้านอาหารสไตล์ล้านนาในตึกประวัติศาสตร์ริมถนนท่าแพ ตั้งอยู่บนถนนท่าแพ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.30 – 23.00 น. ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 08 8949 7996

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ