The Cloud x ไทยประกันชีวิต

แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

กว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เรารับมือสถานการณ์แพร่ระบาดโรค COVID-19 ด้วยการกักตัวอยู่บ้าน เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อจากข้างนอก บางช่วงของการกักตัว อาจจะเบื่อบ้าง แต่เราก็มีกิจกรรมมากมายใต้หลังคาบ้านให้ทำคลายเหงา 

แล้วคนที่ต้องอยู่ในพื้นที่สาธารณะล่ะ เขาเสี่ยงกว่าเราแค่ไหน ในวันที่นอกบ้านนั้นแสนอันตราย คนที่ไม่มีแม้แต่บ้านให้อยู่อย่าง ‘คนไร้บ้าน’ กลุ่มคนที่ในภาวะปกติก็ประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิตที่สุดในเมืองอยู่แล้ว เขาใช้ชีวิตกันอย่างไรเมื่อไม่มีบ้านให้กลับไปพักพิง

ไม่ใช่แค่คนไร้บ้าน แต่การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ที่แรงงานจำนวนมากถูกทิ้งไว้กลางทาง งานหาเช้ากินค่ำแทบทั้งหมดหยุดชะงัก เมื่อไม่มีงานทำ ก็ไม่มีรายได้ และทุกคนก็กลายเป็นคนไร้บ้านได้ หากสภาวะเช่นนี้ดำเนินไปอีกเพียงไม่กี่เดือน 

ปฏิบัติการสร้าง ‘ครัวกลาง’ ศูนย์ให้ข้อมูล ตรวจคัดกรอง และแจกจ่ายอาหารแก่คนไร้บ้าน รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบในเมืองจึงเกิดขึ้นและดำเนินการอย่างต่อเนื่องมานับเดือนแล้ว ครัวกลางแห่งนี้ดำเนินงานส่วนใหญ่โดยพี่น้องคนไร้บ้าน ผู้เคยประสบอุบัติชีวิตและเลือกเส้นทางคนไร้บ้านมาก่อน

ที่สำคัญไปกว่านั้น ครัวกลางไม่ได้ทำเพียงแบ่งปันอาหารในช่วงวิกฤต COVID-19 แต่มองไปถึงการแก้ปัญหาเรื่องปากท้องอย่างยั่งยืน โดยมีหัวใจอยู่ที่การปลูกความมั่นคงทางอาหาร และการสร้างความมั่นคงทางอาชีพ เพราะทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีศักยภาพที่ถ้ามีโอกาสดึงออกมาใช้ ก็เปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคมได้

เราจะไปคุยกับ อาจารย์ปู-อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้และประสานยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้าน

และ โด่ง-สมพร หารพรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันปฏิบัติการเยียวยาชีวิตผู้คน ภายใต้ภาวะแพร่ระบาดขนาดใหญ่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยครั้งในชั่วชีวิตคนหนึ่งคน แม้จะน้อยครั้งแต่ผลกระทบแผ่ขยายเป็นวงกว้างและรุนแรงไปทั่วโลก นี่จึงไม่ใช่ปัญหาของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนในสังคมต้องตระหนักถึง เพราะผู้ได้รับผลกระทบทุกคนสามารถกลายเป็นคนไร้บ้านโดยไม่คาดฝันได้

01

เมื่อคนไร้บ้านเพิ่มจำนวน

ผลการศึกษาในหลายประเทศชี้ให้เห็นว่า คนไร้บ้านมีสาเหตุมาจากความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจหรือความยากจนอย่างเดียว แต่มีปัจจัยเรื่องสังคมด้วย 

บางคนประสบความไม่มั่นคงภายในครอบครัว บางคนมีปัจจัยทางสุขภาพ ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง บางคนมีปัญหาด้านจิตใจ เจอมรสุมชีวิตหนักหน่วง ทำให้ข้างในอ่อนแอและไม่พร้อมที่จะอยู่ในสังคมเพื่อแบกรับปัญหา เขาจึงเลือกที่จะเดินออกมาเป็นคนไร้บ้าน ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องคนไร้บ้านจึงไม่ใช่แค่สร้างบ้านให้เขาอยู่เป็นอันเสร็จ แต่มันมีปัญหาทางสังคมที่ลึกกว่านั้นซ่อนอยู่ข้างใต้มากมาย

ประเทศญี่ปุ่นเคยมีคนไร้บ้านอยู่เกือบ 30,000 คน ช่วงฟองสบู่แตกใน พ.ศ. 2546 และลดลงเหลือเพียง 5,000 คนใน พ.ศ. 2561 จากการเคลื่อนไหวขององค์กรต่างๆ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักถึงความรับผิดชอบในประเด็นคนไร้บ้าน รวมถึงทัศนคติของคนญี่ปุ่นต่อคนไร้บ้านก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเข้าใจและให้การยอมรับในฐานะคนทำงานคนหนึ่ง 

'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

“ในภาวะแพร่ระบาดขนาดใหญ่ (Pandemic) อย่างกรณีนี้คือไวรัสโควิด 19 ทุกคนในสังคมได้รับผลกระทบอยู่แล้ว แต่กลุ่มคนเปราะบางในเมือง อย่างคนยากจนไปจนถึงคนไร้บ้าน นับเป็นประชากรกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด” อาจารย์ปูอธิบายถึงเหตุและผล

“เขาได้รับผลกระทบเยอะกว่าเพราะอะไร หนึ่งความเสี่ยงทางสุขภาพ เขามีความเสี่ยงที่จะรับการแพร่เชื้อ เพราะต้องใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะที่มีคนสัญจรมากมาย และสองคือเรื่องความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทุกวันนี้แม้แต่คนชั้นกลางยังตกงานกันถ้วนหน้า คนไร้บ้านซึ่งเป็นคนที่เปราะบางที่สุดของเมือง มีงานและรายได้ที่แม้ในสภาวะปกติก็ยังไม่มั่นคง แน่นอนว่าปัจจัยผลกระทบของเขาย่อมเพิ่มขึ้นไปด้วย”

'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

สังคมตีตราคนไร้บ้านว่าขี้เกียจ ไม่ทำงาน ทั้งที่จริงแล้วก่อนการระบาดของ COVID-19 ร้อยละ 90 ของจำนวนคนไร้บ้านมีงานทำ แต่งานทั้งหมดเป็นงานนอกระบบแบบรายวันที่ไม่มีความมั่นคงและความแน่นอนทางรายได้ เช่นเดียวกับคนยากจนในชุมชนแออัดจำนวนมาก

“จำนวนคนไร้บ้าน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 30 เพราะเมื่อผู้ได้รับผลกระทบไม่มีรายได้ ก็ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัยได้ เขาอาจต้องออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนไร้บ้าน ถ้าไม่มีกลไกหรือมาตรการรองรับ” อาจารย์ปูเล่าถึงผลวิจัยที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์พีระ ตั้งธรรมรักษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

02

ผู้เปราะบางท่ามกลางการระบาด

'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

แม้จะเป็นคนไร้บ้าน แต่เขาก็มีสิทธิ์ที่พึงได้รับเหมือนคนทั่วไปทุกอย่าง จากการสำรวจหลายครั้ง พบว่าคนไร้บ้านร้อยละสามสิบมีปัญหาในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ ทำให้เขาไม่ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อมีอาการเจ็บป่วย หรือการเข้าถึงการมีสุขภาวะที่ดี”

นอกจากนี้ยังมีคนไร้บ้านอีกร้อยละ 25 ที่ไม่มีบัตรประชาชนหรือเอกสารยืนยันสิทธิ์ เพราะเขาประสบภาวะอะไรบางอย่างในชีวิต ทำให้ต้องออกมาเป็นคนไร้บ้าน ดังนั้นเขาอาจจะไม่เคยทำบัตร ไม่มีคนมายืนยันตัวตนหรือทำบัตรหาย ทำให้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพของรัฐไม่ได้ 

อาจารย์ปูบอกว่า จำนวนคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในหลายประเทศ ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของสภาพความเป็นอยู่ที่ดีในแง่สังคมและสุขภาพ

“เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่าเข้าใจผิดว่าคนยากคนจนหรือคนไร้บ้านไม่กลัวติดไวรัส จากการลงพื้นที่พูดคุย เขาน่าจะกังวลกว่าคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีด้วยซ้ำ เพราะเขารู้ว่าถ้าติดขึ้นมา เขาจะทำงานไม่ได้ ด้วยต้นทุนทางชีวิต อย่างที่เล่าไปว่างานของเขาเป็นการรับจ้างรายวัน 

“ทันทีที่เขาเข้าสู่ระบบการรักษา รายได้เขาหายไปทันที ยิ่งถ้าเขามีครอบครัวที่ต้องดูแล เขาไม่รู้เลยว่าชีวิตจะเป็นยังไง กลุ่มผู้เปราะบางตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี และพร้อมจะปฏิบัติตัวให้ตัวเองไม่เสี่ยงที่จะติดเชื้อ เท่าที่สภาพการดำรงชีวิตของเขาจะเอื้ออำนวย” 

'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน
'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

อาจารย์ปูเล่าต่อว่า เมื่อการแพร่ระบาดเริ่มลุกลามและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคมจึงล้อมวงหารือกัน เพื่อพัฒนาระบบป้องกันทางสุขภาพและลดผลกระทบจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจแก่พี่น้องคนไร้บ้านและกลุ่มผู้เปราะบางในเมือง โดยยึดหลัก 2 ข้อด้วยกัน

ข้อแรก การช่วยเหลือพี่น้องคนไร้บ้าน ต้องตั้งอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิการมีชีวิตที่ดี จึงมีการจัดเตรียมศูนย์พักรองรับผู้ที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์และทรัพยากรในการป้องกันตนเองจากสถานการณ์โรคระบาด ถ้าพี่น้องคนไร้บ้านสมัครใจ ก็ไปอยู่ที่ศูนย์พักได้

ข้อที่สอง นอกจากเรื่องสิทธิ คือการเคารพและให้เขาได้รับความเสี่ยงทางสุขภาพน้อยที่สุด ถ้าพี่น้องคนไร้บ้านสมัครใจเข้าพักที่ศูนย์ ศูนย์นั้นต้องตั้งอยู่อย่างถูกหลัก เพื่อลดความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ อย่างน้อยต้องมีห้องแยกให้อยู่ โดยคำนึงถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) 

'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

ในขณะเดียวกันพี่น้องคนไร้บ้านที่ยังอยู่ในพื้นที่สาธารณะ พวกเขาต้องได้รับชุดข้อมูลที่ถูกต้อง เช่น ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ผลกระทบจากการติดเชื้อคืออะไร และลักษณะอาการเบื้องต้นถ้าติดเชื้อเป็นแบบไหน รวมถึงต้องมีเครื่องป้องกันพื้นฐาน อย่างหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ

นอกจากปฏิบัติการเชิงรับด้วยการป้องกันแล้วทางแผนงานฯ ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ปฏิบัติการเชิงรุกด้วยการตรวจคัดกรองทางสุขภาพ (Active Case Finding) ดูว่าพี่น้องคนไหนเริ่มมีความเสี่ยงทางสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพของพี่น้องคนไร้บ้าน และทำให้พวกเขามีความอุ่นใจในชีวิตมากขึ้น”

03

ครัวกลางและความมั่นคงทางอาหาร

โด่งเล่าต่อจากอาจารย์ปูถึงการลงพื้นที่ทำงานว่า “ตอนที่เกิดการระบาดใหม่ๆ ทีมมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยมีการลงพื้นที่กันอยู่แล้ว เพื่อไปบอกข้อมูลเรื่องเชื้อไวรัสกับพี่น้องคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ ในขณะเดียวกันที่ศูนย์คนไร้บ้านทั้งห้าแห่งทั่วประเทศไทย รวมถึงศูนย์ใหญ่ที่บางกอกน้อย ปทุมธานี และเชียงใหม่ ก็มีการเตรียมพร้อมสำหรับการทำครัวกลาง”

ศูนย์คนไร้บ้าน คือศูนย์ตั้งหลัก ทำความเข้าใจ และอนุบาลคนไร้บ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปกติจะมีพี่น้องคนไร้บ้านอาศัยอยู่แล้ว โดยนอกจากเป็นสถานที่ตั้งหลักหลบภัยแล้ว ศูนย์คนไร้บ้านยังเป็นพื้นที่ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพ รวมถึงทักษะอาชีพทั้งงานช่าง เบเกอรี่ งานฝีมือ และเกษตรกรรม ให้พี่น้องคนไร้บ้านทำงานหล่อเลี้ยงตัวเองได้

'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

โด่งอธิบายว่า “ที่ศูนย์คนไร้บ้าน เราพยายามไม่ให้สมาชิกของเราออกนอกศูนย์ พี่น้องคนไร้บ้านทั้งเจ็ดสิบแปดคนในศูนย์บางกอกน้อย ตลอดเดือนที่ผ่านมาก็ให้อยู่แค่ในศูนย์ เพื่อป้องกันการไปรับเชื้อเข้ามา ในขณะเดียวกันศูนย์ปทุมธานี ก่อนหน้านี้เรามีสมาชิกอยู่สิบเจ็ดคน เนื่องจากอาคารยังก่อสร้างไม่เสร็จ แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่เราต้องรับพี่น้องคนไร้บ้านที่สมัครใจเข้ามาเพิ่ม เราจึงสร้างทำเต็นท์ที่พักชั่วคราว สำหรับรองรับพี่น้องช่วงนี้โดยเฉพาะ ทั้งหมดสี่สิบหลัง 

“พี่น้องคนไร้บ้านที่ศูนย์ไม่ได้อยู่กันเฉยๆ แต่เขาทำงานให้เราไปด้วย ทั้งงานก่อสร้างอาคารที่ยังไม่เสร็จ ดูแลผลผลิตในแปลงเกษตรและทำอาหารหล่อเลี้ยงผู้ได้รับผลกระทบในสังคม”

'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน
'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

‘ครัวกลาง’ จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องคนไร้บ้านโดยพี่น้องคนไร้บ้าน

“กระบวนการทำงานในแต่ละวัน เรามีทีมแม่ครัวที่เป็นพี่น้องคนไร้บ้าน รับผิดชอบเรื่องทำอาหาร ช่วงเช้าจะทำอาหารเลี้ยงที่ศูนย์ ให้พี่น้องคนไร้บ้านรวมถึงคนเดือดร้อนทั่วไปแวะเข้ามารับอาหารได้ ส่วนมื้อเย็น ทีมแม่ครัวทั้งทำอาหารเลี้ยงในศูนย์ และนำออกไปแบ่งปันคนในพื้นที่สาธารณะข้างนอกสี่จุด ทีมขับรถลงพื้นที่และแจกจ่ายอาหารก็เป็นพี่น้องคนไร้บ้านในศูนย์ที่มาร่วมไม้ร่วมมือกัน”

โด่งบอกว่าสัปดาห์แรกๆ ของการแบ่งปันอาหาร ต้นเดือนเมษายน ผู้มารับอาหารเป็นพี่น้องคนวันละ 50 – 60 คน ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา นอกจากพี่น้องคนไร้บ้านแล้ว มีกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมารับอาหารจำนวนมาก คาดว่าน่าจะประมาณ 300 คนต่อวันเฉพาะพื้นที่เดียว

'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน
'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

ทีมครัวกลางของพี่น้องคนไร้บ้านจะตระเวนไปแบ่งปันอาหารทั้งหมด 4 จุดในแต่ละวัน คือบริเวณท่าน้ำนนท์และย่านรังสิต โดยมีทีมครัวกลางของมูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอิสระชน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมลงพื้นที่ไปแบ่งปันอาหารในพื้นที่ต่างๆ ด้วย

มูลนิธิกระจกเงา ดูแลพื้นที่หัวลำโพง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มูลนิธิอิสระชน ดูแลพื้นที่ริมคลองหลอด ถนนราชดำเนิน และทางพม. ดูแลพื้นที่ทางฝั่งธนบุรี เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบมีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีการแบ่งพื้นที่กันดูแลอย่างชัดเจนเพื่อความครอบคลุมในการแบ่งปันอาหาร เพราะปากท้องของผู้คนเป็นเรื่องด่วนที่รอไม่ได้

“หลังจากทุลักทุเลกันอยู่ระยะหนึ่ง ตอนนี้เราตั้งรับได้แล้ว นอกจากการแบ่งปันอาหารที่ทำกันอยู่ทุกวัน คำถามต่อไปคือเราจะสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารขึ้นได้อย่างไร” โด่งเอ่ยขึ้น

“ที่ผ่านมาเราพยายามอธิบายให้พี่น้องคนไร้บ้านซึมซับและเข้าใจถึงความสำคัญของการออมทรัพย์อยู่แล้ว อย่างที่ศูนย์คนไร้บ้านทั้งห้าแห่ง มีกฎระเบียบและความรับผิดชอบที่พี่น้องคนไร้บ้านต้องรับผิดชอบร่วมกัน เช่น ค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่ต้องบริหารและแชร์ร่วมกัน ไปจนถึงการออมทรัพย์เพื่อไว้ใช้ยามเจ็บไข้

'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

‘ครัวกลาง’ ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

“รวมถึงมีแปลงเกษตรปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลาดุก ที่นอกจากพี่น้องคนไร้บ้านจะได้ทดลองปลูกเพื่อนำไปปรุงอาหารสำหรับตัวเอง แจกจ่ายให้คนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะแล้ว ยังเหลือขายส่งตลาด สร้างรายได้อีกช่องทาง และนี่คือความมั่นคงระยะยาวที่เราพยายามสร้างให้พี่น้องคนไร้บ้านและกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม”

'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

04

เส้นทางของคนไร้บ้านหน้าใหม่ 

The Cloud เคยนำเสนอเรื่องราวของ บริษัท Thai Hopeful จำกัด แพลตฟอร์มจัดหางานที่แมตช์งานจากนายจ้างให้เหมาะสมกับทักษะลูกจ้างอย่างคนไร้บ้านและกลุ่มเสี่ยงที่จะมาเป็นคนไร้บ้านอย่างกลุ่มพี่น้องคนในสลัม รวมถึงในสถานการณ์ปัจจุบันที่กลุ่มคนเปราะบางซึ่งได้รับผลกระทบจากโรค COVID-19 อาจกลายเป็นคนไร้บ้านได้

โด่งเล่าต่อว่าตอนนี้เราพยายามเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส พี่น้องชุมชนที่เราลงไปทำงานด้วยหลายคนมีฝีมือการทำกับข้าว น้ำพริก งานฝีมือหลากหลาย ขั้นต่อไปเราจะสนับสนุนให้เขาใช้ทักษะที่มีสร้างสินค้าชุมชน โดยใช้แพลตฟอร์ม Thai Hopeful เป็นตัวกลางในการประชาสัมพันธ์สินค้าเหล่านั้น

“นอกจากสินค้า ตอนนี้งานบริการในส่วนอื่นๆ หยุดชะงัก นายจ้างก็ไม่มีงานมาจ้าง แพลตฟอร์ม Thai Hopeful ที่ปกติเราแจกจ่ายงานให้พี่น้องคนไร้บ้าน ตอนนี้ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน อย่างที่พักชั่วคราวที่ต้องจัดตั้งในศูนย์คนไร้บ้าน เราก็คุยกับผู้รับเหมาก่อสร้างว่าขอจ้างพี่น้องคนไร้บ้านบางส่วนช่วยจัดทำ ทุกคนก็ทำกันอย่างเต็มที่ เพราะเขารู้ว่าถ้าทำงานดี ต่อไปผู้รับเหมาก่อสร้างก็จะนึกถึงเขา เวลาจะต้องหาคนไปทำงาน”

'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

อาจารย์ปูอธิบายเสริมในเชิงการดำเนินนโยบาย (Policy Implementation ) “ปัจจัยที่จะทำให้ใครสักคนละทิ้งสังคมมาเป็นคนไร้บ้านนั้นมีมากมาย โดยเฉพาะปัญหาในจิตใจ ดังนั้นผู้ที่เป็นคนไร้บ้านมานาน ซึ่งมักมีกำแพงในใจและปิดกั้นตัวเองจากสังคมที่คนส่วนใหญ่ตัดสินเขาจากภายนอก

“ต่างกับคนไร้บ้านหน้าใหม่ ซึ่งในกรณีนี้คือคนตกงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 การช้อนคนไร้บ้านหน้าใหม่กลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจของสังคมเป็นอะไรที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะเขายังอยากมีแหล่งงาน ยังอยากมีชายคาให้อาศัย 

'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

“ดังนั้นเราจึงต้องสนับสนุนเรื่องอาชีพให้เขากลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง ความยากคือในภาวะปัจจุบัน ตลาดแรงงานและบริบททางเศรษฐกิจมันเปลี่ยนไปหมด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องมาล้อมวงคุยกันว่าในระยะต่อไป ต่อจากการเยียวยาด้วยข้าวปลาที่แบ่งปันแล้ว เราจะดึงพวกเขาเหล่านี้กลับเข้ามาในระบบแรงงาน สู่การมีงานและรายได้ได้อย่างไร”

05

สู่ความเสมอภาคที่มีอยู่จริง 

โด่งอธิบายว่า “เรื่องสิทธิ์ เราก็ยังทำควบคู่ไปด้วย เพราะมันเป็นเรื่องจำเป็น แม้จะไร้บ้าน แต่เขาก็เป็นคน อย่าลืมว่าถ้าไม่มีปัญหา พวกเขาคงไม่ตัดสินใจละทิ้งสังคมออกจากบ้านมา ดังนั้นในฐานะคนคนหนึ่งเขาก็สมควรได้รับสิทธิ์ขั้นพื้นฐานเหมือนคนทั่วไป ไม่ว่าจะสิทธิ์อะไรก็ตาม โดยเฉพาะสิทธิ์ช่วงเดือดร้อน เงินชดเชยที่ควรจะได้รับจากผลกระทบ แค่มองด้วยตาก็ประจักต์แล้วว่าเขาเดือดร้อนจริง”

'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

อาจารย์ปูกล่าวทิ้งท้ายว่า “ในระยะยาว เราควรพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Database System) ของกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม ระบบฐานข้อมูลสำคัญยังไง ทุกวันนี้ระบบการช่วยเหลือของประเทศไทย ยังเป็นแบบ Walk In นั่นคือคนเดือดร้อนจะต้องเข้าไปลงทะเบียน ถ้าเรามีระบบฐานข้อมูลที่แม่นยำ การเยียวยาและแก้ปัญหาจะทำได้ตรงจุด และตรวจสอบได้ว่าการแก้ปัญหานั้นเวิร์กหรือเปล่า

“หลายๆ ประเทศที่มีการจัดการข้อมูลประชากรอย่างละเอียด เขาสามารถระบุได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์วิกฤติว่าคนกลุ่มไหนมีความเสี่ยงต่ำ กลุ่มไหนมีความเสี่ยงสูง ทำให้สามารถวางแผนการช่วยเหลือได้ทันท่วงทีและเหมาะสมกับความหลากหลายของผู้คน”

'ครัวกลาง' ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพให้คนจนที่อาจกลายเป็น คนไร้บ้าน

ภาพ : มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและบ้านเตื่อมฝัน กลุ่มคนไร้บ้านเชียงใหม่

ทำความเข้าใจเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับคนไร้บ้าน และสนับสนุนการสร้างความเสมอภาคในการใช้ชีวิตให้คนทุกกลุ่มในสังคม ได้ที่ Facebook : Penguin Homeless: The Homeless Story โดยแผนงานสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน