ผ้าเนื้อกระด้าง สีสันแสบทรวง เขียนลวดลายท้องทะเลด้วยเทียนไข 

ขอบอกว่าคุณสมบัติข้างต้นไม่ใช่ผ้าบาติกที่แขวนโชว์อยู่ในร้านของ อารีย์ และ ฉัตรชนก ขุนทน เป็นแน่

แม่ลูกคู่นี้เป็นเจ้าของแบรนด์ Kiree ผ้าบาติกสีพาสเทลหนึ่งเดียวที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาหมู่บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยการยืนยันที่จะไม่เล่าเรื่องทะเล ไม่มีแพตเทิร์นในการเขียนลาย ใช้สีธรรมชาติจากพืชผลทางการเกษตร และถ่ายทอดวิถีคีรีวงลงบนผืนผ้า จนเสื้อผ้าไม่มีซ้ำกันสักตัวจากการเขียนมือครั้งละหนึ่งชิ้น

Kiree ผ้าบาติกสีพาสเทลจากพืชผลคีรีวง งานคราฟต์ทีละชิ้นจากหมู่บ้านที่อากาศดีสุดในไทย

ผ้ามัดย้อมของยาย

ย้อนเวลาไปหลายสิบปีก่อน ตอนที่แบรนด์ Kiree ยังไม่เกิดขึ้นแม้ในความฝัน ป้าอารีย์เริ่มสนใจเรื่องผ้าจากความอยาก

อยากที่จะสร้างอาชีพเสริมให้กับคนในหมู่บ้านคีรีวงรวมถึงตัวเธอเอง

พูดถึง ‘คีรีวง’ ก็เป็นอันรู้กันว่าหมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ในอ้อมกอดของหุบเขา ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่นานา ขึ้นชื่อเรื่องอากาศบริสุทธิ์จนสูดดมได้เต็มปอด แต่ก่อนจะเป็นชุมชนแห่งการท่องเที่ยวอย่างทุกวันนี้ ป้าอารีย์เล่าว่าตลอด 30 ปี หมู่บ้านของเธอเผชิญกับภัยพิบัติมาบ่อยครั้ง ชุมชนที่มีอาชีพหลักคือการทำสวนบนภูเขา และตั้งรกรากอยู่บนที่ราบเพียงเท่านั้น ก็เกือบถึงคราวล่มสลายใน พ.ศ. 2531 

เหตุการณ์นี้ทำให้ป้าหวั่นใจว่า อาชีพหลักจะมีส่วนสร้างความไม่สมดุลทางธรรมชาติ จึงคิดหาอาชีพเสริมใหม่ ๆ ในยามที่วิกฤตถามหา ป้าอารีย์ตั้งกฎกับตัวเองเอาไว้ 3 ข้อว่า หนึ่ง อาชีพเสริมนี้จะต้องสอดคล้องกับวิถีเกษตรกรในชุมชน สอง อาชีพเสริมนี้จะต้องใช้องค์ความรู้และภูมิปัญญาของหมู่บ้านให้ได้ และสาม กระบวนการผลิตของอาชีพเสริมนี้จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันขาด

บวกกับการเป็นหลานของช่างทอผ้าประจำหมู่บ้าน พืชที่ยายใช้ย้อมสีธรรมชาติตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ทำไมตัวเธอจะสานต่ออาชีพนี้ไม่ได้ คำตอบอาจเป็นเพราะทั้งป้าอารีย์และแม่ต่างไม่มีใครทอผ้าเป็น และอาชีพนี้ก็ห่างหายจากหมู่บ้านมานานปีเห็นจะได้ เธอจึงเบนเข็มมาสนใจเรื่องไม่ใกล้ไม่ไกลอย่างผ้ามัดย้อมเป็นการทดแทน

Kiree ผ้าบาติกสีพาสเทลจากพืชผลคีรีวง งานคราฟต์ทีละชิ้นจากหมู่บ้านที่อากาศดีสุดในไทย
Kiree ผ้าบาติกสีพาสเทลจากพืชผลคีรีวง งานคราฟต์ทีละชิ้นจากหมู่บ้านที่อากาศดีสุดในไทย

“ป้าลองเอาพืชที่คุณยายเคยใช้มาทำผ้ามัดย้อม แต่พอย้อมเสร็จก็ยังไม่พอใจเรื่องลวดลาย เพราะใคร ๆ ก็ทำได้ ป้าต้องการสร้างลวดลายที่แตกต่างจากที่อื่น ตอนนั้นภาคใต้ยังไม่มีใครทำเรื่องสีธรรมชาติเลย เราก็พยายามศึกษา เรียนรู้ ว่าวัสดุที่กำหนดลวดลายได้มีอะไรอีกนอกจากยางหรือเชือกฟาง 

“จนไปเจออาจารย์คนหนึ่ง เขาแนะนำว่าให้ใช้ไม้ไผ่ในการกำหนดลาย เพราะถ้าใช้ไม้ จะต่อลาย แตกลาย ได้อีกเป็นร้อยเป็นพัน”

กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติบ้านคีรีวงจึงเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2539 เพื่อสร้างอาชีพให้กับเหล่าแม่บ้านในชุมชน และก่อกำเนิดแบรนด์ Kiree ในอีก 3 ปีต่อมา จากความสงสัยว่าวิถีชีวิตของคนใต้นั้นเป็นอย่างไร

Kiree ผ้าบาติกสีพาสเทลจากพืชผลคีรีวง งานคราฟต์ทีละชิ้นจากหมู่บ้านที่อากาศดีสุดในไทย

ผ้าบาติกของแม่

สุราษฎร์ธานีมีผ้าไหมพุมเรียง นครศรีฯ มีผ้ายก สงขลามีผ้าเกาะยอ ยะลาชอบผ้าปาเต๊ะ ฝั่งอันดามันก็ทำผ้าบาติก จำแนกได้เป็นผ้าทอ ผ้าปาเต๊ะ และผ้าบาติก 

ป้าอารีย์กลับมาถามใจตัวเองว่า ใน 3 เรื่องนี้มีอะไรที่เราพอจะไปได้ – ผ้าบาติกคือสิ่งนั้น 

ด้วยความคิดแน่วแน่ว่าจะยึดถือสีธรรมชาติจากรุ่นยายเป็นสำคัญ ในยุคสมัยที่ผ้าบาติกมีสีสันจัดจ้าน เต็มไปด้วยลวดลายกุ้งหอยปูปลาและดอกไม้ใต้ทะเล

“หลายคนบอกป้าว่าสีธรรมชาติเอามาทำผ้าบาติกไม่ได้ มันจะเพนต์ไม่ติด นี่คือโจทย์ที่เราต้องแก้ให้ได้ ศึกษาทดลองอยู่ 3 – 4 ปี ว่าเพนต์แล้วสีติดไหม ล้างน้ำแล้วหลุดลอกเท่าไหร่ จนทำได้จริง”

ความทนทานของสีคล้ายจะขึ้นอยู่กับความอดทนของผู้ผลิตด้วยเช่นกัน โดยพืชที่จะนำผลผลิตมาสกัดสีต้องมีอายุ 2 ทศวรรษขึ้นไป เนื่องจากความสมบูรณ์ของต้นจะส่งผลให้มีเม็ดสีที่เข้มข้น มียาง ติดแน่นไม่หลุดง่าย การเคี่ยวผ้าบาติกก็ต้องใช้เวลาหมักแช่ผ้าไว้นานมาก บางครั้งก็ยาวนานถึง 1 เดือน ที่สำคัญ ต้องเลือกผ้าจากเส้นใยธรรมชาติเพื่อให้สีมีความสม่ำเสมอ 

Kiree ผ้าบาติกสีพาสเทลจากพืชผลคีรีวง งานคราฟต์ทีละชิ้นจากหมู่บ้านที่อากาศดีสุดในไทย
Kiree ผ้าบาติกสีพาสเทลจากพืชผลคีรีวง งานคราฟต์ทีละชิ้นจากหมู่บ้านที่อากาศดีสุดในไทย

กรรมวิธีที่พิถีพิถันเหล่านี้ ส่งผลให้ Kiree ย้อมผ้าได้ไม่เกิน 10 ผืนในหนึ่งวัน ใครได้ไปครองก็คงรับรู้ถึงความใส่ใจเป็นแน่ เราขออนุญาตชวนป้าอารีย์พูดคุยต่อถึงเอกลักษณ์ของแบรนด์ Kiree ที่พิเศษกว่าใครเกือบทุกกระบวนการ 

“ผ้าบาติกเราไม่มีแพตเทิร์น ที่บ้านไม่มีดินสอ ไม่มีแบบร่าง เขียนสดเลย คุณต้องมีสมาธิ ต้องวางแผนมา ไม่งั้นผ้าผืนนี้เละแน่

“ผ้าเรามีลายแตก สีไม่เรียบ เป็นผลจากยางไม้ที่แตกกระจายไปทั้งผืน คนอื่นทำลวดลายเกี่ยวกับทะเล แต่เราใช้ลายเส้นเพื่อสื่อสารเรื่องหมู่บ้านคีรีวง อย่างดอกไม้ก็ใช้ใบสิงโตพัดเหลือง ลายเฟิร์นยักษ์ ลายบัวแฉก เป็นลายเฉพาะที่มีแค่หมู่บ้านเราเท่านั้น” 

Kiree ผ้าบาติกสีพาสเทลจากพืชผลคีรีวง งานคราฟต์ทีละชิ้นจากหมู่บ้านที่อากาศดีสุดในไทย

“เราใช้สีจากพืชทางใต้ในหมู่บ้าน เช่น ใบมังคุด ฝักสะตอ เปลือกผลเงาะ เปลือกลูกเนียง สีของป้าเลยซีดที่สุด เป็นผ้าสีพาสเทล เพราะสีจากพืชดิบ ๆ จะเป็นแบบนี้ เช่น มังคุดปลูกที่ไหนก็ได้ แต่ทำไมสีมังคุดที่คีรีวงถึงเป็นสีชมพูหรือสีส้มหมากสุก เพราะธาตุในดินไม่เหมือนกัน น้ำ อากาศ ก็แตกต่างกัน ผ้าทุกผืนจึงมีสีไม่เหมือนกัน จะเหมือนแค่เพราะต้มจากหม้อเดียวกัน รอบแรกเหมือน รอบสองไม่เหมือนแล้ว

“ดังนั้น ใครซื้อไปก็จะได้ของแบบผืนเดียวในโลก มีตัวเดียว ลายเดียว สีเดียว ไซส์เดียว บางตัวก็มีไม่ครบทุกไซส์ เพราะเราเขียนเสื้อผ้าได้ทีละชิ้น เด็กบ้านเราก็ไม่ชอบเขียนลายซ้ำ เขาชอบสร้างลายใหม่ตลอดเวลา”

ร่วม 20 ปีที่ Kiree ยังคงยืนหยัดทำผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติจากผลิตผลของชาวสวนคีรีวง มีผู้ช่วยเป็นเยาวชนและคนมีฝีมือในหมู่บ้าน ช่วยกันแปรรูปเป็นสินค้าหลากหลายให้คนได้เข้ามาจับจ่ายในร้านค้าของพวกเขา แต่แน่นอนว่ากาลเวลาย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลง และอาจถึงคราวต้องเปลี่ยนมือให้รุ่นลูก

เพราะความลับสุดยอดที่ป้าอารีย์แง้มบอกในประโยคต่อไป จะทำให้คุณประหลาดใจมาก

“ป้าเขียนผ้าไม่เป็น” 

Kiree ผ้าบาติกสีพาสเทลจากพืชผลคีรีวง งานคราฟต์ทีละชิ้นจากหมู่บ้านที่อากาศดีสุดในไทย
ผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติเจ้าแรกในภาคใต้ เขียนด้วยมือแบบฟรีแฮนด์ และมีวิถีชีวิตคนคีรีวงเป็นเอกลักษณ์

ผ้าบาติกของลูก

ป้าอารีย์ศึกษาแก้โจทย์ผ้าบาติก ตั้งแต่ฉัตรชนก ขุนทน หรือ พิงค์ อายุได้ 3 เดือน พิงค์จึงเป็นเด็กที่โตมากับกองผ้าและสีสันธรรมชาติของแม่ 

การลงมือเขียนผ้าครั้งแรกตอนอายุ 7 ขวบ ก็มีน้ำตาหยดลงบนผ้าบ้างเป็นธรรมดาของคนไม่เคยเขียน จนผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าที่สุดในชีวิตของเธอ แนะนำให้พิงค์เขียนเลข ๑ ไทยกลับหัวกลับหางไปมา เป็นเหมือนการต่อลาย เธอจึงเริ่มมีกำลังใจในการเขียนต่อ

ตลอด 20 ปี แม้แม่จะเขียนผ้าไม่เป็น แต่ก็พิสูจน์ได้ว่าป้าอารีย์เป็นครูผู้สอนได้ยอดเยี่ยมขนาดไหน ผ่านการจุดไฟให้เยาวชนได้ปลดปล่อยจินตนาการลงบนผืนผ้า และการที่ลูกสาวเติบโตมารับช่วงต่อกิจการ Kiree ได้อย่างสร้างสรรค์

“ครูเคยถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราตอบว่าอยากเป็นนักประดิษฐ์น้อย คุณแม่หลอกล่อเรามาตั้งแต่เด็กโดยที่เราไม่รู้ตัว ซื้อหนังสืองานประดิษฐ์ เย็บผ้า ออกแบบผ้า เห็นป้า ๆ แม่ ๆ ทำอยู่ทุกวัน คิดว่ามันน่าลอง น่าสนุก มีแอบไปทำเองบ้าง แม่ก็อยู่ตัวคนเดียว รู้สึกว่าที่เขาทำมาทั้งหมด ไม่ช้าก็เร็วเราก็ต้องกลับมาสานต่อ”

หลังได้ทักษะศิลปะมาเต็มเปี่ยมจากการเรียน ปวช. ช่างศิลป์ พิงค์ก็เลือกเข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ในสาขาวิชาศิลปประยุกต์และออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อนำความรู้มาพัฒนากิจการของครอบครัว แม้จะมีจักรส่วนตัวและเฟรมสำหรับเขียนผ้าให้แม่อยู่ในห้อง ถึงกระนั้น เธอก็แวะเวียนกลับไปหาความสงบที่บ้านเกิดเป็นประจำทุกเดือน

ผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติเจ้าแรกในภาคใต้ เขียนด้วยมือแบบฟรีแฮนด์ และมีวิถีชีวิตคนคีรีวงเป็นเอกลักษณ์

เมื่อถามเธอว่าปัจจุบันถือว่ารับช่วงต่อจากแม่เต็มตัวแล้วหรือยัง พิงค์ตอบว่ายังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะแม่ยังคงรับบทเป็นพี่เลี้ยง คอยช่วยเรื่องการติดต่อสื่อสารแทนเธอที่พูดไม่ค่อยเก่งนัก แต่พิงค์เข้ามาดูแลควบคุมการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่ตระเตรียมสี เขียนลวดลาย ออกแบบเสื้อผ้า จนถึงการตรวจเช็กก่อนส่งให้ถึงมือลูกค้า เรียกได้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังยุคใหม่ของ Kiree โดยแท้

หากนับจากรุ่นทวดของเธอ ก็อาจเรียกว่าเป็นทายาทรุ่น 4 เข้าไปแล้ว อะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของ Kiree เธอยังคงไว้เดิม แต่กรรมวิธีบางอย่างก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยและความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น 

“เรื่องดีไซน์ ลวดลาย ปกติเป็นลายใบไม้ ดอกไม้ก็จะวนอยู่แบบนั้นตลอดไป แต่เราตั้งโจทย์ ตั้งคอนเซ็ปต์ ดึงจุดเด่นของหมู่บ้านมาใช้ เช่น เรามีมังคุด ก็ออกแบบลายจากขั้วมังคุด สร้างเป็นแพตเทิร์นขึ้นมา

“เรื่องโทนสี เราเอาของเดิมที่มีอยู่มามิกซ์ให้เกิดเฉดสีใหม่ พัฒนาโปรดักต์ให้หลากหลาย นอกจากเสื้อผ้า ก็มีเรื่องเฟอร์นิเจอร์เข้ามาด้วย

“ส่วนเรื่องที่อยากทำคือการเพนต์ ไม่ได้จะเปลี่ยนแปลงขั้นตอนนะ แต่เราอยากลงสีไปเลยไม่ต้องเขียนเทียน จะได้ผ้าอีกเวอร์ชันที่ดูอาร์ต ๆ ขึ้นมาหน่อย”

ผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติเจ้าแรกในภาคใต้ เขียนด้วยมือแบบฟรีแฮนด์ และมีวิถีชีวิตคนคีรีวงเป็นเอกลักษณ์
ภาพ : เพจ KKP Quartz

พิงค์กำลังพูดถึง KKP Quartz (เธอเล่าความหมายของชื่อให้เราฟังสั้น ๆ ว่าคือ ‘Kiree-คุณพิงค์-ที่ตกผลึกมาจากคุณแม่’) อีกหนึ่งแบรนด์ที่เธอสร้างขึ้นมาเพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น จากผ้าบาติกที่ต้องใช้เวลาเขียนกันเป็นเดือน ๆ พิงค์หันมาพึ่งพาเทคโนโลยีการพิมพ์ลายจากต้นแบบที่เขียนด้วยมือเช่นเคย เพื่อให้ผลิตสินค้าได้จำนวนมาก 

โดย ‘เถาพริก’ คือคอลเลกชันแรกที่ทำขาย ทั้งลวดลาย เส้นสาย และสีสัน เธอได้ไอเดียมาจากเครื่องแกงข้าวยำที่รสจัดจ้านมากของคนคีรีวง 

ถ้า Kiree ของคุณแม่เน้นขายลูกค้าที่รักในธรรมชาติ คนที่อุดหนุน KKP Quartz ของพิงค์ก็จะเป็นคนอีกกลุ่มที่กล้าแต่งตัวและมีความมั่นใจสูง

ผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติเจ้าแรกในภาคใต้ เขียนด้วยมือแบบฟรีแฮนด์ และมีวิถีชีวิตคนคีรีวงเป็นเอกลักษณ์
ผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติเจ้าแรกในภาคใต้ เขียนด้วยมือแบบฟรีแฮนด์ และมีวิถีชีวิตคนคีรีวงเป็นเอกลักษณ์

ส่วนเรื่องเฟอร์นิเจอร์กับงานเพนต์ก็ไม่ได้เป็นเพียงนิมิตในความคิด พิงค์เลือกคอลแลบกับแบรนด์ Napa Design Studio ของเพื่อนในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ร่วมกันรังสรรค์เก้าอี้สุดพิเศษในคอลเลกชัน SeedKiree ที่ลูกค้าออกแบบเฉดสีได้เองตั้งแต่พนักพิง โครงเก้าอี้ เบาะรองนั่ง ด้วยสีธรรมชาติจากคีรีวง เช่น สีน้ำตาลส้มจากใบมังคุดแห้ง สีเขียวอ่อนจากใบเพกา หรือสีเหลืองนวลจากแก่นไม้ขนุน

ความสามารถของลูกสาว นำพาให้ Kiree ยุคใหม่ ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ไทยระดับแถวหน้าอย่าง Theatre ในคอลเลกชันล่าสุดของปีนี้ที่ว่าด้วยความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย

ผ้าบาติกของคีรีวง

จากจุดเริ่มต้นที่แค่อยากสร้างอาชีพเสริมให้กับคนในหมู่บ้าน การมาถึงจุดนี้นับว่าไกลกว่าที่พวกเธอคาดหวังเอาไว้มากพอดู แต่เป้าหมายของป้าอารีย์กลับยังคงเหมือนวันแรกที่ได้ลงมือทำ

“เรายังมองว่าอาชีพนี้จะต้องเป็นมรดกให้กับลูกหลานในชุมชนของเรา เราทำเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและดูแลทรัพยากรอย่างมีคุณค่าสูงสุด หากสิ่งแวดล้อมยั่งยืน อาชีพของคนในหมู่บ้านก็จะยั่งยืน

“Kiree คือชีวิตของป้า ที่ต้องดูแล รักษา บำรุง สรรหาสิ่งดี ๆ เติมเต็มมันตลอด องค์ความรู้ที่ได้ ทั้งจากประสบการณ์ตรงและจากข้างนอก เราต้องแบ่งปันให้กับทุกคน เราสองคนก็รับเป็นวิทยากรให้กับกลุ่มผู้ที่สนใจอยากสร้างอาชีพ”

พิงค์เองก็บอกกับเราในฐานะคนทำงานว่า Kiree ทำให้เธอไม่รู้สึกถึงวันจันทร์ที่เคร่งเครียดหรือวันศุกร์ที่ต้องตั้งตารอเพื่อได้หยุด ต่อให้กินนอนอยู่กับงานทั้งเช้าเย็น สำหรับเธอ ที่คีรีวงไม่มีอะไรเหมือนเดิมสักวัน และพิงค์ไม่เคยเบื่อที่จะมองเห็นภูเขา

“ถ้าจะนอนกลางวัน นอนบ้านนี่ไม่หลับ ต้องนอนที่ออฟฟิศตามซอกโต๊ะ เพราะถ้าไม่ได้ยินเสียงดังของลูกค้า คนงานคุยกัน ทะเลาะกัน มันนอนไม่หลับ

“เราอยากให้ผู้คนรู้จักคีรีวงหลากหลายเวอร์ชัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นชุมชนที่ผู้คนน่ารัก อัธยาศัยดี และมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวของเราอยู่ด้วย” ป้าอารีย์ปิดท้าย

ผ้าบาติกย้อมสีธรรมชาติเจ้าแรกในภาคใต้ เขียนด้วยมือแบบฟรีแฮนด์ และมีวิถีชีวิตคนคีรีวงเป็นเอกลักษณ์

Kiree

โทรศัพท์ : 09 8073 0566

Facebook : KiRee

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

พิชญ์ แสงพลสิทธิ์

ช่างภาพอิสระ บาริสต้าคุณพ่อลูกหนึ่ง ชื่นชอบการไปคาเฟ่และบทเพลงของ Zentrady