1998 ปีที่ กิ-กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร มีอัลบั้มชุดแรกในนามวง Niece กับค่าย Dojo City ที่มี บีบมือ เป็นเพลงที่หลายคนขาดไม่ได้ในทุกนัดคาราโอเกะ

2003 เธอมีอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกที่ทำให้รู้ว่าตัวเองไม่อยากอยู่เบื้องหน้าอีกต่อไป

2012 กิรตรากลับมาในแวดวงดนตรีอีกครั้งพร้อมเพื่อนอีก 2 คน ในฐานะผู้จัดคอนเสิร์ตชื่อ ‘HAVE YOU HEARD?’ โดยมี The Pains of Being Pure at Heart ประเดิมเป็นวงแรก

2017 ซีนคอนเสิร์ตในกรุงเทพฯ บูมอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งจำนวนผู้จัดที่เพิ่มขึ้น วงที่มาเล่นเพิ่มขึ้น ไปจนถึงคนดูที่มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ HAVE YOU HEARD? ของเธอ

2018 เธอจัดเทศกาลดนตรีที่ถูกพูดถึงมากที่สุด โดยจับมือกับ Fungjai และ Seen Scene Space รวบรวมวงจากประเทศแถบตะวันตกและเอเชีย ไปจนถึงวงไทยมากมาย

2019 เราสัมภาษณ์กิรตราเกี่ยวกับชีวิตของเธอ

กิ กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร อดีตศิลปิน Dojo City กับชีวิตนอกสปอตไลต์ที่ลุกขึ้นจุดกระแสคอนเสิร์ตในกรุงเทพฯ

ข้างต้นคือบทสรุปฉบับสั้นของชีวิตที่ผ่านมาของกิรตรา เด็กสาวที่หลายคนรู้จักผ่านเพลงป๊อปค่าย Dojo City ที่เราผ่านตาตามรายการเพลงในโทรทัศน์ มาวันนี้ เราจะเจอเธอตามงานคอนเสิร์ตต่างๆ ส่วนใหญ่มักอยู่ข้างเวที เดินอยู่ตลอด คอยตรวจตราความเรียบร้อยในงานให้เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ บทบาทของเธอเปลี่ยนจากเบื้องหน้ามาเป็นเบื้องหลังอย่างเต็มตัวแล้ว

เราเคยนั่งคุยกับเธออย่างจริงจังเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน กิรตราในวันนี้นอกจากสีผมที่สดใสขึ้น ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เธอยังเขินอายเวลาพูดถึง Dojo City และยังตาเป็นประกายเมื่อเล่าเกี่ยวกับ HAVE YOU HEARD? ที่เติบโตขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

และบทสัมภาษณ์ด้านล่างคือสิ่งที่เธอเล่าให้เราฟัง

ช่วยบีบมือของฉัน แล้วบอกว่าวันนี้ไม่ได้ฝันไป 

ถ้าคุณไม่คุ้นเนื้อเพลงท่อนนี้ แปลว่าไม่ได้ผ่านยุค 90

สมัยนั้นใครๆ ก็กรี๊ดกร๊าดศิลปินจากค่าย Dojo City ในเครือ Bakery Music ที่รวมนักร้องวัยรุ่นตอนต้นพร้อมดนตรีแนวป๊อปที่โยกตามและฟังได้เรื่อยๆ

ศิลปินมี 6 วงด้วยกัน และหนึ่งในนั้นคือวง Niece เจ้าของเพลง บีบมือ ข้างต้น

“ให้เธอไปพัก พัก พักกันเสียก่อน ให้รู้แน่นอน ตกลงกันก่อนว่าจะไม่รัก รัก…”

กิรตราคือหนึ่งในสองเจ้าของเสียงสดใสของวงนีซ เธอเข้าวงการด้วยคำชวนของ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ มาเป็นศิลปินคู่แรกของค่าย

“ตอนเป็นวงนีซน่าจะอายุประมาณสิบสี่สิบห้า การเข้ามาก็ฟลุคๆ นิดหนึ่ง พี่สมเกียรติมาเล่าให้ฟังว่าจะทำค่ายใหม่ ซึ่งเราชอบค่าย Bakery อยู่แล้ว และเห็นคุณพ่อ (กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร หรือ เขียว คาราบาว) ร้องเพลง เล่นคอนเสิร์ตมาตั้งแต่เด็ก เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นอะไรที่ใกล้ตัว พอมีคนชวนทำ เราจึงตัดสินใจลองดู น่าสนุกดี เลยได้ทำ”

“มีหลายคนเปรียบเทียบว่า Dojo City ในยุคนั้นก็คงเหมือน BNK48 ในยุคนี้” 

“อันนี้ไม่รู้จริงๆ เพราะว่าเราอยู่ตรงนั้น ก็เลยไม่ค่อยรู้ว่าวงดังแค่ไหน ตอนนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย มันวัดจากคอมเมนต์หรือยอดไลก์ไม่ได้ ที่จะวัดได้ก็จากแบบ เอ…ทำไมเราเดินไปไหนคนเริ่มจำได้ หรือว่าเริ่มมีจดหมาย แต่ก่อนช่องทางที่แฟนเพลงจะคุยกับศิลปิน ถ้าไม่ไปเจอตามงานต่างๆ ก็ต้องเขียนจดหมาย มีคนเขียนมาหา จำนวนจดหมายก็เยอะขึ้น

“มีช่วงหนึ่งไปไหนคนก็จำได้ จะมีอะไรตลกๆ เช่นมีคนส่งของมาให้ บางทีโทรมา ไม่รู้ไปเอาเบอร์มาจากไหน มันไม่เหมือนในยุคนี้ที่ดูได้เลยว่าเรามี Follower กี่คนแล้ว มียอดคนเข้ามาฟังเพลงเราเท่าไหร่ แต่พอเลิกทำมานานแล้วมีคนพูดถึงว่าสมัยนั้น Dojo City เป็นอย่างนั้นอย่างโน้น เราก็เพิ่งรู้ว่า อ๋อ ตอนนั้นดังขนาดนั้นเลยเชียว (หัวเราะ)”

กิ กิรตรา อดีตศิลปิน Dojo City กับชีวิตนอกสปอตไลต์ที่ลุกขึ้นจุดกระแสคอนเสิร์ตในกรุงเทพฯ

คนเบื้องหลัง

หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย กิรตรามีโอกาสได้ทำอัลบั้มกับค่าย Smallroom ชื่อ White เพื่อจะพบว่าตัวเองในวัย 20 ต้นๆ ไม่ได้ชอบอยู่หน้ากล้องอีกต่อไป อาชีพนักร้องจึงไม่ใช่อาชีพที่เธออยากทำหลังจากนี้

“เราเริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเราไม่ชอบอยู่เบื้องหน้า อย่างเวลาที่ต้องไปทัวร์ ต้องให้สัมภาษณ์กับสื่อ เราจะรู้สึกไม่ค่อยถนัดกับการทำอะไรแบบนั้น แต่จริงๆ ก็ยังมีแพสชันเกี่ยวกับดนตรี เกี่ยวกับคอนเสิร์ต อยู่นะ”

กิรตราหายไปจากสปอตไลต์พักใหญ่ เธอเล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้นไปทำงานหลายอย่าง ทำกองถ่ายโฆษณา ทำกองถ่ายภาพยนตร์ ทำงานเกี่ยวกับโปรดักชันมากมาย จนกระทั่งได้เจอ แป๋ง​-พิมพ์พร เมธชนัน นักร้องนำจากวง Yellow Fang และ ทราย-กรมิษฐ์ วัชรเสถียร นางเอกภาพยนตร์เรื่อง 36 และก็เหมือนคนอื่นๆ เมื่อเจอเพื่อนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กัน เลยเกิดไอเดียในการทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งในตอนนั้นคอนเสิร์ตวงอินดี้ในประเทศไทยแทบจะไม่เคยเกิดขึ้น

“สมัยนั้นคนจัดคอนเสิร์ตมีแต่เจ้าใหญ่ๆ เจ้าเล็กๆ ก็อาจจะมี Dudesweet, Lullaby และ Mind the Gap อย่าง Dudesweet เขาจะเน้นเป็นปาร์ตี้ อาจจะมีวงอินดี้มาบ้าง Mind the Gap จะเป็นวงร็อกๆ ส่วน Lullaby จะจัดสเกลใหญ่ขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังไม่เท่าเจ้าใหญ่อย่าง BEC-Tero ตอนนั้นสเกลประมาณพันนิดๆ หรือน้อยกว่านั้นยังไม่มีเลย”

“แล้วอะไรที่ทำให้กลุ่มเพื่อนสามคนลุกขึ้นมาจัดคอนเสิร์ต จริงๆ ถ้าอยากดูคอนเสิร์ตวงอินดี้ บินไปดูที่ต่างประเทศใกล้ๆ ไม่ง่ายกว่าเหรอ” เราถามแบบนั้น

เธอหัวเราะ “ก็จริงแหละ แต่ด้วยนิสัยส่วนตัว เราจะมีความสุดโต่งกับอะไรบางอย่างอยู่แล้ว อย่างตอนเรียน วิชาไหนที่ชอบก็จะเรียนดีไปเลย วิชาไหนที่ไม่เอาก็ไม่ทำเลย จะมีความดื้ออยู่นิดหนึ่ง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่รู้สึกอยากดูวงนั้นวงนี้ แล้วมันก็ไม่มีใครเอาเข้ามา เป็นช่วงที่เรากำลังอยากทำอะไรของตัวเองด้วย เป็นวัยยี่สิบปลายๆ ที่อยากจะมี อยากจะเจออะไรที่เรามีแพสชันกับมันจริงๆ มีสิ่งที่เราอยากทำให้เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งเรารู้สึกว่าตรงนี้มันใช่สำหรับเรา

“เรายังชอบทำงานโปรดักชัน ชอบความท้าทายในงานแบบนี้อยู่ แล้วก็ยังชอบดนตรี ชอบอยู่เบื้องหลังมากกว่าเบื้องหน้า ถ้าอยู่ในคอนเสิร์ตก็อยากเป็นคนดู ซึ่งตอนนั้นรู้สึกว่า เฮ้ย มันมีช่องโหว่ของตลาดนะ ตอนนั้นโซเชียลมีเดียก็ยังไม่ได้มีผลต่อชีวิตเราขนาดนี้ ยังไม่ค่อยมีแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Spotify ที่จะมาวัดความนิยมของวงต่างๆ พวกเพจในเฟซบุ๊กที่แนะนำเพลงก็ไม่ค่อยมี เราเองพอมีความรู้เรื่องการจัดงานอยู่ เพื่อนๆ ในแก๊งเราเองก็รู้สึกเหมือนกันว่าอยากให้มีวงเข้ามาเล่น คุยกันไปคุยกันมาจนรู้สึกอยากลอง มันต้องเวิร์กดิ บิลด์กันไปบิลด์กันมาแล้วก็เริ่มทำ”

กิ กิรตรา อดีตศิลปิน Dojo City กับชีวิตนอกสปอตไลต์ที่ลุกขึ้นจุดกระแสคอนเสิร์ตในกรุงเทพฯ

HAVE YOU HEARD?

ชื่อของ HAVE YOU HEARD? มาจากบทสนทนาในกลุ่มเพื่อน ที่มักจะมีวงใหม่ๆ มาแนะนำกันแล้วถามว่า ‘เคยฟังหรือยัง’ แน่นอนว่าเมื่อตั้งใจจะเป็นผู้จัดสายอินดี้แล้ว ก็ต้องรับมือกับคอนเสิร์ตของวงที่อาจจะมีคนรู้จักแค่หยิบมือ

“เราเริ่มจากการลิสต์วงที่เราอยากพามาเป็นวงแรก ลิสต์ยาวเฟื้อยเลยนะ แล้วก็เริ่มส่งอีเมลหว่านไป ซึ่งตั้งแต่วันที่แบบ โอเค ลุย จนงานวันแรก ก็ผ่านมาเกือบปีแล้ว มันต้องหว่าน เพราะไม่ใช่แค่ในเมืองไทย ตอนนั้นซีนคอนเสิร์ตในเอเชียเองก็ยังไม่บูม ประเทศไทยเหมือนไม่อยู่ในเรดาร์ของทัวร์เขาด้วยซ้ำ เพราะสมัยนั้นไม่มีโซเชียลมีเดียให้เช็ก เขาก็ไม่รู้ว่ามีแฟนๆ ที่นี่หรือเปล่า บางทีเราเมลไปแล้วเขาถามกลับมาว่า ยูเคยทำคอนเสิร์ตไหนมาบ้าง มีผลงานอะไร พอเราบอกว่าเราไม่เคยจัดเลย เขาก็เงียบหายไป”

ในฐานะโปรโมเตอร์เจ้าใหม่ กิรตราต้องทำการสื่อสารเชิงการตลาดหลายอย่างเพื่อให้คนรู้จัก ตั้งแต่เริ่มทำเพจบนเฟซบุ๊ก ใน YouTube ก็มีการถ่าย Live Session ของศิลปินไทยอย่าง เป้ อารักษ์ และ จีน มหาสมุทร เธอพยายามทำให้ HAVE YOU HEARD? เป็นมากกว่าผู้จัดคอนเสิร์ต แต่เป็น Community ให้คนรักดนตรีมาเจอกัน

“เราติดโปสเตอร์ริมถนน ยืนแจกใบปลิวตามงานต่างๆ เวลามีอีเวนต์ก็ไปเลย ทำเองหมด บอกปากต่อปาก เพจก็ค่อยๆ โตขึ้น เราเองก็เริ่มเห็นภาพมากขึ้น พอไปถึงจุดหนึ่งก็จะเห็นว่าคนในเพจเราชอบเพลงแนวอื่นๆ ด้วย พอทำไปสองสามปีอยู่ดีๆ มันก็โตขึ้นเร็วมากๆ”

ถ้าสังเกตดีๆ HAVE YOU HEARD? มีทั้งวงที่กำลังฮิตมากๆ วงที่แทบไม่มีใครรู้จักเลย ไปจนถึงศิลปินรุ่นเก๋าที่เด็กวัยรุ่นอาจจะไม่คุ้นเคย วิธีการเลือกวงดนตรีของ HAVE YOU HEARD? สรุปได้ 2 ข้อคือ หนึ่ง ผู้จัดชอบเป็นการส่วนตัว และสอง จากการซาวเสียงคนในเพจด้วยการโพสต์เพลงเมื่อมีวงไหนปล่อยเพลงใหม่ เพื่อดูเสียงตอบรับ

“บางทีเราโพสต์อันหนึ่ง แป๊บเดียวคนมาไลก์และแชร์เต็มเลย พอเริ่มทำมาสักพักก็เริ่มมองออก เริ่มเอาวงที่คนอยากดูมากๆ ณ ตอนนั้น หรืออย่างตอนที่เราพา Honne มารอบแรก ฉันว่าวงนี้มา ก็รีบไปเอามาก่อน ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ใช่แนวเพลงที่เราชอบมากๆ หรือวงที่อาจจะรุ่นใหญ่หน่อยอย่าง Yo La Tengo หรือ Cornelius เราก็เอามาให้นักดนตรีในบ้านเราได้ดู ให้คนที่เป็นสายลึกหน่อยมาดูแล้วได้อะไรกลับไป คือเอาใจทั้งเด็ก เอาใจทั้งสายลึก เอาใจตัวเองและเพื่อนๆ ด้วย สลับๆ กันไป (หัวเราะ)”

กิ กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร อดีตศิลปิน Dojo City กับชีวิตนอกสปอตไลต์ที่ลุกขึ้นจุดกระแสคอนเสิร์ตในกรุงเทพฯ

กรุงเทพเมืองคอนเสิร์ต

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดตามคอนเสิร์ตเป็นประจำ น่าจะคุ้นๆ กับแฮชแท็ก #กรุงเทพเมืองคอนเสิร์ต ที่มีอยู่เต็มโลกออนไลน์ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา กิรตราและ HAVE YOU HEARD? น่าจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เมืองหลวงเล็กๆ อย่างกรุงเทพฯ มีคอนเสิร์ตวงต่างประเทศให้ดูทุกเดือน และบางเดือนก็มีทุกสัปดาห์

ปี 2017 น่าจะเป็นปีแรกที่ซีนคอนเสิร์ตในบ้านเราคึกคักอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นปีที่กิรตราและ HAVE YOU HEARD? พาวงที่ไวรัลอย่าง Honne, Cigarettes After Sex และที่ลืมไม่ได้เลยคือ Phoenix วงจากฝรั่งเศสที่กลายเป็นคอนเสิร์ตที่ใหญ่ที่สุดที่เธอเคยจัด ตั้งแต่ตอนนั้นก็ทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในวงการผู้จัดคอนเสิร์ตมากขึ้น

“สมัยนั้นต่างจากสมัยนี้ เดี๋ยวนี้ใครจะเริ่มทำก็ง่ายขึ้น อาจเป็นเพราะเขาเห็นด้วยแหละว่าเมืองไทยมีคอนเสิร์ตบ่อย เริ่มชินกับบ้านเรา สมัยโน้นอาจดูเป็นอะไรที่ห่างไกลเขามาก ต้องคุยอยู่นานถึงจะมีโชว์แรก

“แต่ก่อนผู้จัดคอนเสิร์ตเกื้อหนุนกัน พยายามไม่ให้วันคอนเสิร์ตชนกัน หรือถ้าใครยื่นขอวงไหนไป เราก็จะไม่ขอ ไม่เหมือนตอนนี้ที่กลายเป็นธุรกิจมากๆ พอตัวแทนของวงรู้ว่าบ้านเรามีอุปสงค์เยอะ เขาก็ให้ประมูล ยิ่งวงที่จะมาเป็นวงกำลังดังเหมือน Honne เขามีตัวเลขในมือว่าประเทศเราฟังเพลงเขาเท่าไหร่ พอเปิดประมูลผู้จัดต้องสู้ราคากัน (หัวเราะ) ใครที่ให้ราคาสูงสุดก็ได้ไป เราว่ามันน่าเป็นห่วง ถ้าสังเกตจะเห็นว่าค่าบัตรคอนเสิร์ตมันสูงขึ้น เป็นเพราะแบบนี้แหละ จริงๆ วงนี้ควรจะค่าตัวเท่านี้ แต่ด้วยความดุเดือดของวงการมันเลยสูงขึ้นไปด้วย พอต้นทุนสูง ทุกอย่างก็เฟ้อ บัตรก็ต้องแพง พอรอบนี้เขาได้ราคาเท่านี้ รอบต่อไปก็ต้องอยากได้มากขึ้น กลายเป็นว่าความคาดหวังในการมาทัวร์เอเชียของเขามันไม่เป็นไปตามความจริงแล้ว

“ตอนนี้เราก็ยังดูอยู่ว่าจะเป็นยังไงต่อ เราคุยกันเองว่าฟองสบู่กำลังจะแตกหรือเปล่า ในฐานะคนจัดก็รู้สึกว่าเราอาจจะต้องจัดงานน้อยลงไหม แต่ยังไม่กล้าเหมือนกัน เพราะอาจจะสูญเสียคอนเนกชัน เราเครียด คนดูก็คงเครียดด้วยว่าฉันต้องขายไตแล้วขายไตอีกมาซื้อบัตรคอนเสิร์ตที่ราคาสูงขึ้น”

13 คือจำนวนคอนเสิร์ตที่ HAVE YOU HEARD? ของเธอจัดในปีนี้ ซึ่งแทบจะไม่ทำเงินเลยด้วยซ้ำ

กิ กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร อดีตศิลปิน Dojo City กับชีวิตนอกสปอตไลต์ที่ลุกขึ้นจุดกระแสคอนเสิร์ตในกรุงเทพฯ

7 ปีที่หายไปของกิรตรา

จากกลุ่มคนที่อยากพาวงดนตรีซึ่งไม่เคยเล่นในเมืองไทยมาจัดคอนเสิร์ต มาเป็นหนึ่งในผู้จัดเทศกาลดนตรีที่คนพูดถึงเยอะที่สุดในปี 2018 อย่าง Maho Rasop Festival ที่ทำร่วมกับ Fungjai และ Seen Scene Space เช่นเดียวกับ HAVE YOU HEARD? ที่กลายมาเป็นส่วนใหญ่ในชีวิตของคนคนนี้

“พอทำคอนเสิร์ตเดี่ยวๆ มาสักพัก เราก็คิดอยากทำเฟสติวัล แต่เราไม่มีทีม ไม่น่าทำเองได้ แล้วพอดีฟังใจมาชวน พอมานั่งนึกๆ ดูก็รู้สึกว่าโชคดีที่เรามีความเชื่อเหมือนๆ กัน เพราะว่าตั้งแต่ทำกันมาไม่เคยทะเลาะกันเลย”

การจัดเทศกาลดนตรีไม่เหมือนการจัดคอนเสิร์ตทีละวง เพราะแน่นอนว่าการรับมือกับ 30 วง ในคราวเดียว ย่อมมีรายละเอียดมากกว่าอยู่แล้ว และนี่คือช่วงที่เครียดที่สุดตั้งแต่กิรตราทำงานนี้มา

“สิ่งที่ยากมากๆ คือเรากำหนดวันเทศกาลดนตรีไปแล้ว ถ้าจัดวงเดียว ฉันอยากให้เธอมาช่วงนี้ เดือนนี้ เธอจิ้มวันเอาเลย วันไหนก็ได้ มันก็ง่าย แต่พอเป็นเฟสติวัล สมมติว่าเราคอนเฟิร์มสามวงกลางได้ วันที่สอง พอไปคุยกับวงใหญ่ที่ต้องเป็นไฮไลต์ของงานเรา เขาบอกว่าไม่ได้ ฉันได้แค่วันที่หก ก็ต้องไปคุยว่าย้ายเป็นวันที่สองได้ไหม เราคุยล่วงหน้านานเกือบปี ซึ่งจริงๆ ความเฟ้อของวงการดนตรีตอนนี้มันไม่ใช่แค่ในเอเชีย เทศกาลดนตรีเมืองนอกก็เยอะมาก มีหลายวงที่ตอนแรกจะมากับเราแปดสิบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วก็โดนเทศกาลดนตรีแถวบ้านมาจีบไปทีหลัง ทำให้เรามีช่องโหว่ใน Line-up ก็ต้องเริ่มใหม่หมด”

ตั้งแต่ฟังกิรตราเล่าเกี่ยวกับชีวิตของเธอในช่วง 7 ปี ที่หายไปจากเบื้องหน้า HAVE YOU HEARD? ดูเหมือนจะเป็นส่วนหลักๆ ที่เธอรักและทุ่มเทมาตลอด ชีวิตเธอในพาร์ตนี้ไม่ได้ราบรื่นเสมอ แต่อะไรล่ะที่ทำให้คนคนหนึ่งยังทำสิ่งเดิม แม้จะขาดทุนบ้างหลายครั้ง และเครียดหนักกับการจัดการหลายๆ อย่าง

“ปีหลังๆ ยอมรับว่าเครียดหลายอย่าง แต่พอถึงวันงานก็ยังมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่า เออ เดี๋ยวฉันทำต่อแล้วกัน เลยยังไม่ถึงจุดที่ไม่เอาแล้วสักที

“บางทีมันก็แค่การที่เราได้เจอศิลปินที่อินกับสิ่งที่เขาทำ แล้วเหมือนเราได้พลังจากเขา ได้รับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ บางทีการได้เจอคนแบบนั้นก็เหมือนเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เติมไฟให้เรา หรือบางทีเป็นวงที่ตอนแรกไม่ได้ตื่นเต้นที่จะได้ดู แต่พอได้ดูจริงๆ ก็เกินคาด หรือบางโชว์ที่เราเห็นฟีดแบ็กคนดูที่แฮปปี้มาก มันก็เติมเต็มเราด้วย

“คนที่มาดูเราก็เปลี่ยนไปนะ ตอนแรกเป็นแค่เพื่อน คนใกล้ตัว จะค่อนข้างเฉพาะกลุ่มมากๆ พอเราทำไปเรื่อยๆ ก็มีน้องๆ เด็กๆ ที่เพิ่งเริ่มดูคอนเสิร์ต หรือพอเราเริ่มจัดวงที่อาจจะไม่ได้อินดี้ ไม่ได้นอกกระแสมาก เราก็จะได้คนดูที่กว้างขึ้น ทั้งเราทั้งแป๋งชอบที่จะอยู่ตรงนี้ด้วยแหละ ทั้งที่ยิ่งทำก็ควรจะยิ่งง่าย แต่ความจริงคือยิ่งทำก็ดูเหมือนจะยิ่งยาก ซึ่งเราก็ยังอยากลุยกับมันอยู่”

“แล้วมีอย่างอื่นที่อยากทำอีกไหม”

“บางทีก็คิดว่าหรือเราควรไปทำอย่างอื่นได้แล้ว แต่นอกจากตรงนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรที่จะรู้สึกว่าใช่เหมือนสิ่งนี้เลย”

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan