For English Version,  Click Here

ในฐานะผู้สอนคนหนึ่ง ที่มีโอกาสได้พาผู้เรียนผ่านประสบการณ์การเรียนรู้มาบ้าง เราเชื่อเหลือเกินว่าหลักฐานความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของการจัดการการศึกษา ต้องตรวจวัดจากการสะท้อนของผู้เรียน

หากแต่การศึกษาไทยในปัจจุบันนี้กลับมีการรับฟังเสียงของผู้เรียนน้อยเหลือเกิน และหลายครั้งที่แม้จะมีเสียงสะท้อนกลับมา เราที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘ผู้ใหญ่’ กลับไม่ใส่ใจกับความคิดเห็นของพวกเขาเท่าที่ควร ทั้งที่เราทุกคนต้องเคยได้ยินวลีติดหูที่ว่า เด็กคืออนาคตของชาติ

นั่นคือสาเหตุที่วงสนทนาวันนี้กับ King’s College International School Bangkok (King’s Bangkok) ถึงการจัดงาน King’s Bangkok Education Forum 2022  เวทีที่เชิญผู้นำทางความคิดจากหลากหลายวงการ มาส่งต่อประสบการณ์ของพวกเขาให้กับผู้ฟังที่เป็นนักเรียน ภายใต้ธีม Career. Life. Social Values. (อาชีพ ชีวิต และคุณค่าสู่สังคม) มีทั้ง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติแห่งนี้ ร่วมด้วย คุณเบน-วิทวัส พันธ์พานิช ตัวแทนทีมงานของโรงเรียน รวมถึงนักเรียน Year 11 อย่าง น้องมาร์ตี้-ยศพัทธ์ ศรีธนสกุลชัย และ น้องแจ๊ปเปอร์-ชนุดม อิ้มพัฒน์ ที่นั่งล้อมวงลงข้างกันเพื่อบอกเล่าสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้

ถอดบทเรียน King’s Bangkok Education Forum ที่จัดโดยนักเรียน เพื่อตั้งใจส่งต่อโอกาสการศึกษาให้กับนักเรียนอีกกลุ่มในสังคม
King’s Bangkok Education Forum เวทีเสวนาเรื่องอาชีพและอนาคต จัดโดยนักเรียนเพื่อนักเรียน

นักเรียนทั้งสองที่มาร่วมวงกับเรานั้นไม่ได้มาในฐานะผู้ฟัง แต่เป็นหนึ่งในผู้จัดงานที่มีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นตั้งแต่ต้นจนจบ ฟอรัมการศึกษานี้จึงเป็นงานที่จัดโดยนักเรียน เพื่อผู้ฟังที่เป็นนักเรียน และตั้งใจส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นทัศนะที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย เพราะตั้งแต่แนวคิด กระบวนการจัดงาน ไปจนถึงการคัดเลือกคนมาสื่อสารเกี่ยวกับงานนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการรับฟังเสียงของเด็กมาโดยตลอดทาง

ขอชวนมาฟังไปพร้อมกันกับเรา ว่าผู้บริหารและสตาฟของ King’s Bangkok หว่านเมล็ดพันธุ์แบบใดให้เติบโตในใจผู้เรียนของพวกเขาไปแล้วบ้างในการจัดงานครั้งนี้

King’s Bangkok Education Forum เวทีเสวนาเรื่องอาชีพและอนาคต จัดโดยนักเรียนเพื่อนักเรียน

Career

King’s Bangkok Education Forum เวทีเสวนาเรื่องอาชีพและอนาคต จัดโดยนักเรียนเพื่อนักเรียน

นิยามความสำเร็จแรก ๆ ในชีวิตของหลายคน คงหนีไม่พ้นความสำเร็จในหน้าที่การงาน

หากพิจารณาผลงานตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 30 ปีในวงการการศึกษาของ ศ.(พิเศษ) ดร.สาคร ก็น่าจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จไปแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในใจของคนเป็นครู มีช่องว่างหนึ่งที่เขาอยากจะถมให้เต็ม

“ประเทศไทยเรามีบุคลากร หรือผู้นำทางความคิดที่มีศักยภาพอยู่มากมาย ทั้งในแง่วิชาการ การศึกษา หรือสายอาชีพ บางท่านทำงานอยู่ในองค์กรข้ามชาติ หลายท่านเป็นนักพูดที่สื่อสารกับสังคมอยู่แล้ว แต่กลับมีแค่คนที่เรียนจบมหาวิทยาลัย หรือทำงานแล้วเท่านั้นจึงจะมีโอกาสได้ฟังคนที่ประสบความสำเร็จพูด กลุ่มผู้ฟังที่เป็นนักเรียนกลับเข้าไม่ถึงโอกาสที่จะได้ฟัง นี่จึงเป็นเรื่องที่ผมอยากผลักดันตลอดมา” ศ.(พิเศษ) ดร.สาครรับหน้าที่เปิดบทสนทนาให้เราได้มองเห็นภาพรวม และที่มาของฟอรั่มการศึกษาในครั้งนี้

“การที่ผมได้สอนหนังสืออยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมได้มีโอกาสทำ Mentoring Program เชื่อมคนที่ประสบความสำเร็จมาแบ่งปันความคิดกับผู้เรียนระดับอุดมศึกษาเป็นครั้งแรก จนได้รับรางวัล Innovation of the Year จาก Association to Advance Collegiate Schools of Business (AASCB) ประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นทำให้ผมเริ่มคิดว่า ทำไมนักเรียนจะมีโอกาสแบบนั้นบ้างไม่ได้”

และเมื่อจังหวะเวลาลงตัว อาจารย์กับทีมงานของ King’s Bangkok จึงไม่รอช้า ได้ชักชวนตัวแทนนักเรียนอย่างมาร์ตี้และกลุ่มเพื่อนมาจัดตั้งคณะกรรมการนักเรียนชุดเฉพาะกิจ เพื่อจัดฟอรั่มการศึกษาร่วมกัน และรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายตั๋ว โดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะมอบให้กับนักเรียนมัธยมปลายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นทุนการศึกษา โดยมีข้อแม้ว่าเด็กๆ ของ King’s Bangkok จะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดงานอย่างเต็มที่ตั้งแต่ต้นจนจบ

“งานอีเวนต์แบบนี้ไม่ได้ยากเกินความสามารถของสตาฟโรงเรียนที่จะจัดเองหรอกครับ” ผู้บริหารของโรงเรียนเล่า พลางยิ้มอย่างสบาย ๆ “แต่โรงเรียนของเราให้ความสำคัญกับปรัชญา 3 ข้อ ซึ่งยึดเป็นคุณค่าของโรงเรียนเลย นั่นก็คือ มารยาทที่งดงาม ความเมตตา และความใฝ่รู้สู่ปัญญา อีเวนต์นี้มีวัตถุประสงค์หลักคือเตรียมพร้อมนักเรียนมัธยมปลายที่สนใจเป็นการแนะแนวเส้นทางอาชีพ การทำงาน และการใช้ชีวิตในอนาคต และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำงานเรียนรู้การจัดงานไปพร้อมๆ กัน

“แต่ที่มากไปกว่านั้นคือโอกาสในการเรียนรู้คุณค่าเรื่องการมีเมตตา เราอยากสอนให้เด็ก ๆ ของเรามีเมตตาต่อตนเอง และต่อผู้อื่นในสังคมด้วย”

“แต่เรื่องแบบนี้เราสอนกันด้วยปาก ให้ท่องจำกันอย่างเดียวไม่ได้ใช่ไหมครับ” อาจารย์ถามกลับ “เด็ก ๆ ต้องซึมซับความรู้สึกนั้นด้วยใจ และสะท้อนความคิดให้ได้ด้วยตัวเองนั่นคือเหตุผลที่ฟอรั่มการศึกษาในครั้งนี้ถูกสร้างให้เป็นเหมือนสนามทดลอง ให้พวกเขาได้สัมผัสความเมตตาด้วยใจของตัวเอง”

“และที่สำคัญ เนื้อหาที่วิทยากรได้ถ่ายทอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอิคิไก หรือการใช้ชีวิตให้มีคุณค่าตามปรัชญาแบบญี่ปุ่น เรื่องการสร้างคุณค่าให้ชีวิตผ่านวัฒนธรรม เรื่องวิถีผู้นำในองค์กรระดับโลก ตลอดจนการเสวนาเคล็ดลับการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ได้ช่วยปูทางให้เด็กๆ ได้มีรากฐานที่สำคัญก่อนออกก้าวเดินในชีวิตการทำงานต่อไป”

มาร์ตี้นั้นถูกชวนเข้ามาเป็นคนแรก ก่อนที่เขาจะรับหน้าที่ออกตามหาเพื่อน ๆ ผู้ร่วมอุดมการณ์ จนได้ทีมงานทั้งหมด 21 คน หนึ่งในนั้นคือแจ๊ปเปอร์ ผู้ร่วมวงสนทนาอีกคนในวันนี้ ที่รับบทเป็นพิธีกรร่วมบทเวที ที่มีสปีกเกอร์มากประสบการณ์ให้รับมือพร้อมถึง 4 คน

โลกของเด็กนักเรียนYear 11 กำลังจะเปลี่ยนไป ผ่านกระบวนการทำงานแบบผู้ใหญ่ครั้งแรกในชีวิต

King’s Bangkok Education Forum เวทีเสวนาเรื่องอาชีพและอนาคต จัดโดยนักเรียนเพื่อนักเรียน
King’s Bangkok Education Forum เวทีเสวนาเรื่องอาชีพและอนาคต จัดโดยนักเรียนเพื่อนักเรียน

Life

“ตอนแรกผมแค่คิดว่าโอกาสที่จะได้ฟังบุคคลที่ผ่านการศึกษาระดับโลก อาทิ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สแตนฟอร์ด ชิคาโก้ เยลล์ แล้วก็บุคคลที่ประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลกจริง ๆ เป็นเรื่องยากมากสำหรับผมและเพื่อน ๆ ผมเลยคิดว่าอยากจะลองมามีส่วนร่วมดู จึงชวนเพื่อน ๆ มาด้วยกัน แต่ไม่เคยคิดว่าจะได้รับผิดชอบและเรียนรู้มากขนาดนี้ครับ” มาร์ตี้กล่าวย้อนความรู้สึกแรกที่ได้ทราบว่าทางโรงเรียนจะมีโครงการนี้ 

“ในการประชุมครั้งแรก พวกเขานั่งกันตาแป๋วมากครับ” คุณเบน มหาบัณฑิตจากเคมบริดจ์และเป็น หนึ่งในทีมการตลาดของ King’s Bangkok ผู้รับหน้าที่ประสานงานกับคณะกรรมการนักเรียน เล่าติดตลก “สตาฟก็พยายามอธิบายให้เด็ก ๆ ฟังว่า การจัดอีเวนต์ในครั้งนี้มีประโยชน์อย่างไรกับตัวพวกเขาเองบ้าง แต่สิ่งที่จุดประกายไฟในตาของเด็ก ๆ มากที่สุดกลับเป็นตอนที่ผมอธิบายว่า สิ่งนี้จะมีประโยชน์กับคนอื่นอย่างไรบ้าง”

“เราพยายามจะวางแผนกันอย่างดี แล้วก็มีดร.สาครกับทีมการตลาดคอยสนับสนุนด้วย ผมก็เลยรู้สึกมั่นใจ” มาร์ตี้เล่าถึงความรู้สึกหลังจากเขาและเพื่อน ๆ เห็นประโยชน์ของการจัดงานครั้งนี้เมื่อได้รู้ว่าจะได้จัดงานอีเวนต์ใหญ่ “แต่แจ๊ปเปอร์นี่ตื่นเต้นมาก”

“แน่นอนสิ” แจ๊ปเปอร์โต้กลับอย่างออกรสชาติ “ผมจะได้เป็นพิธีกรบนเวทีเลยนะ ใครจะไม่ตื่นเต้นไหว แต่นี่เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับผมเลย แล้วนักเรียนทุกคนที่ได้เข้ามาเป็นทีมงานก็กลายเป็นต้นแบบให้กับรุ่นน้อง ๆ ไปด้วยเลยครับ อีเวนต์นี้มันมีพลังมาก”

การเข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดงาน นั่นหมายถึงการตั้งเป้าหมายในการระดมทุน สร้างกลยุทธ์ในการขายบัตร การโปรโมทงาน ไปจนถึงการรันคิวงานในวันจริงด้วยตัวเอง

สำหรับผู้ใหญ่อย่างเราแล้ว อาจฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ลองนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปในครั้งแรกที่เราต้องจัดการงานที่มีคนจำนวนมากเข้ามาเกี่ยว อย่างงานกีฬาสี งานเลี้ยงรุ่น แล้วจินตนาการดูสิว่า นี่คือประสบการณ์ที่ใหญ่ขนาดไหนสำหรับเด็กมัธยมปลาย

“มันยากตั้งแต่เริ่มหาทีมงานแล้วครับ” มาร์ตี้เกริ่น “เราเริ่มกันที่การออกแบบโลโก้ งานอาร์ตต่าง ๆ ร่วมกับทีมการตลาดของโรงเรียน แต่การจะหาเวลามาทำงานด้วยกันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพวกผมมีเวลาว่างเฉพาะช่วงพักเที่ยงและหลังเลิกเรียน เราก็เลยมักประชุมกันระหว่างช่วงพักและทานข้าวเที่ยงกันไปด้วย”

“ผมชอบการประชุมช่วงพักเที่ยงนะ เวลาที่เราได้มานั่งล้อมวง ทานอาหารอร่อย ๆ และคุยงานไปด้วย สำหรับผมมันดีกว่าประชุมออนไลน์เยอะครับ เพราะมีอาหารอร่อยไง” แจ๊ปเปอร์เล่าต่อจากเพื่อนอย่างร่าเริง

“การขายบัตรก็ท้าทาย เราโพสต์คอนเทนต์ออนไลน์ด้วยเหมือนกันครับ วิทยากรที่เชิญมาก็ช่วยโปรโมตด้วย แต่ส่วนใหญ่ก็คุณพ่อคุณแม่เรานี่แหละครับที่ช่วยกันโปรโมต ทั้งที่เราตั้งเป้าหมายในการระดมทุนกันเอง ว่าเราอยากสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักเรียนได้ถึง 7 คน ตอนแรกเราก็เลือกกันเพราะเลขสวยดี แต่เราทุกคนก็ดีใจมากที่เราทำได้เกินเป้าหมาย” 

แน่นอนว่าความยากไม่ได้จบแต่ช่วงวางแผน เมื่อถึงวันงานเอง ทั้งคนหน้าฉากอย่างแจ๊ปเปอร์ และคนหลังฉากอย่างมาร์ตี้ต่างก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันจนหัวหมุน

 “ภารกิจหลักของวันนี้คือการดูแลวิทยากรครับ” มาร์ตี้อธิบาย “แต่ในขณะที่ดูแลวิทยากรที่ให้เกียรติมาแชร์เรื่องราวกับเรา ผมก็ต้องดูแลทีมงานไปด้วยพร้อมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าแต่ละคนทำหน้าที่ของตัวเอง และให้งานดำเนินไปอย่างราบรื่น”

แม้ว่างานนี้ไม่ใช่งานง่าย ใช้พลังตั้งแต่ต้นจนปลาย แต่พวกเขากลับพูดตรงกันว่า นี่แหละคือรสชาติของชีวิต

เพราะนอกเหนือจากเนื้อหาวิชาชีวิตที่วิทยากรทุกท่านมาแชร์ให้นักเรียนได้ฟังกันเป็นเรื่องที่เหมาะกับผู้ฟังที่เป็นนักเรียนโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการค้นหาความหมายของชีวิตด้วยหลักการอิคิไก การทำความเข้าใจชีวิตผ่านการเข้าใจความหลากหลายของวัฒนธรรม ไปจนถึงประสบการณ์จริงจากรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ ว่าแล้วเขาเหล่านั้นผ่านช่วงเวลาการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยมาอย่างไร ค้นหาตัวเองเจอได้อย่างไร ไปจนถึงหางานที่ใช่ได้อย่างไร นักเรียนอย่างพวกเขาก็ได้ฝึกออกแรงเปิดประตูบานแรกสู่ชีวิตผู้ใหญ่ ด้วยกระบวนการเบื้องหลังการจัดงานนั่นเอง

“การจัดอีเวนต์ครั้งนี้ทำให้เราได้ลิ้มรสชาติชีวิตผู้ใหญ่ครับ” แจ๊ปเปอร์ให้ความเห็นหลังจากนิ่งและตกผลึกความคิดได้ “เหมือนที่วิทยากรท่านหนึ่งของเราพูดบนเวทีว่า กำแพงที่กั้นระหว่างเขากับชีวิตจริงได้พังทลายลงในช่วงจังหวะที่เขาเพิ่งได้ไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรก นั่นเป็นครั้งแรกที่เขารู้สึกว่าต้องเผชิญหน้ากับความจริง อารมณ์ประมาณนั้นเลย แต่เวทีนี้ก็ช่วยให้เรากลัวชีวิตจริงน้อยลงด้วยเหมือนกัน”

“เมื่อมองเผิน ๆ เราอาจเห็นว่าเป็ดลอยน้ำได้อย่างสบาย ๆ แต่ใต้น้ำเป็ดต้องออกแรง เตะเท้าอย่างหนักเพื่อให้ลอยบนน้ำได้” มาร์ตี้พูดถึงสิ่งที่วิทยากรท่านหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ “สำหรับผม มันเหมือนกับว่าวิทยากรที่มาบรรยายทุกคนในวันนี้เป็นเป็ดตามนิยามนี้เลย เพราะภายใต้ความสำเร็จของทุกคนล้วนเป็นเรื่องราวของความมุ่งมั่น การทำงานหนัก และความไม่ยอมแพ้”

“ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ เราได้เห็นทีมการตลาดของเราทำงานจริงอย่างใกล้ชิดด้วยครับ” แจ๊ปเปอร์เสริม “ตอนแรกผมก็สงสัยนะว่าพวกผู้ใหญ่ทำงานกันเยอะขนาดนี้ได้ยังไง แต่ตอนนี้เข้าใจแล้ว”

“เราจะหาโอกาสได้ทำงานจริงแบบนี้ได้จากที่ไหนอีก ถ้าไม่ใช่โรงเรียนมอบให้ละครับ” มาร์ตี้พยักหน้าเห็นด้วย “ผมว่าทีมงานหลายคนเติบโตขึ้นจากกระบวนการทำงานนี้ ตอนแรกพวกเขาก็เก่งอยู่แล้ว แต่ก็พัฒนาขึ้นไปอีกได้”

“ถึงนายจะบ่นอยู่ตลอดว่าวิ่งทั้งงานจนขาพังไปหมดแล้วน่ะหรอ” แจ๊ปเปอร์แซวขึ้นมาได้จังหวะ เล่นเอาทั้งวงหัวเราะกันท้องแข็ง

Social Values

แม้ช่วงเวลาในการฟังมาร์ตี้และแจ๊ปเปอร์เล่าประสบการณ์เปลี่ยนชีวิตของพวกเขานั้นจะแสนสั้น แต่เราก็ได้เห็นภาพสะท้อนการเติบโตทางความคิดของนักเรียนทั้ง 2 คนที่ขยับเข้าใกล้ความเป็นคนของสังคมมากขึ้นอีกนิด

การเติบโตที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ และห้อมล้อมไปด้วยการสนับสนุนของบุคลากรทางการศึกษาที่เฝ้ารอดูพวกเขาผลิดอกออกผล

และ ดร.สาครยังสะท้อนให้เรามองเห็นภาพใหญ่ต่อไป การจัดงานสำหรับคนกลุ่มเล็ก ๆ ในครั้งนี้มีบทบาทอย่างไรต่อระบบการศึกษาและภาพรวมของประเทศว่า

“หากเราถอยออกมามองภาพกว้าง เด็กกลุ่มนี้ของเราเป็นเด็กที่เรียกได้ว่าโชคดี เขามีศักยภาพที่จะทำอะไรมากมาย เราจึงต้องหว่านเมล็ดพันธุ์ทางความคิดในการสร้างคุณค่าให้กับสังคมให้เขามีโอกาสได้คิดเรื่องนี้ และวิทยากรที่มาพูดให้กับฟอรั่มนี้ต่างเป็นข้อพิสูจน์ที่มีชีวิตว่า เมื่อเรามอบอะไรให้ผู้อื่น เราก็จะได้สิ่งนั้นกลับมา”

เพราะการศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องการเสริมพลังทางปัญญาเท่านั้น การเติมเต็มความเป็นมนุษย์ ให้ตระหนักถึงบทบาทของตนเองต่อสังคมคือเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน

“เราพยายามที่จะสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ด้วยกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสร้างคนที่มองเห็นเป้าหมายที่ถูกต้อง ยึดถือคุณค่าที่เหมาะสม และนั่นคือสิ่งที่การศึกษาไทยควรจะมอบให้กับผู้เรียน ไม่ใช่แค่ความเป็นเลิศทางวิชาการ

“ปรัชญาการศึกษาของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงเรียน King’s Bangkok บอกกับเราว่านอกจากความเป็นเลิศทางวิชาการแล้วยังมีส่วนผสมอีก 2 อย่างที่สำคัญในการปั้นทรัพยากรมนุษย์ที่สร้างความเป็นคนอย่างสมบูรณ์ นั่นคือ ความใส่ใจอย่างครบถ้วนรอบด้านและหลักสูตรร่วมผสมอย่างดนตรี ศิลปะ กีฬา และอื่น ๆ ในขณะที่กิจกรรมเสริมจะช่วยสร้างสังคมและความชื่นชอบเฉพาะบุคคลให้ชัดเจน การการใส่ใจอย่างครบถ้วนรอบด้านจะประคองให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างมีความสุข และเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามอุปสรรค” อาจารย์นักบริหารกล่าวสรุปปิดท้าย

แต่แจ๊ปเปอร์ผู้พลังงานล้นก็อดไม่ได้ที่จะเติมต่อว่า

“ผมว่าเด็กหลายคนไม่รู้หรอกว่าคุณค่าทางสังคมสำคัญยังไง แต่หลังจากที่ได้ฟังประสบการณ์ของวิทยากรทุกท่านบนเวที ผมเข้าใจแล้วว่า ความสำเร็จไม่ใช่แค่เรื่องของการมีคนนับหน้าถือตา แต่เป็นเรื่องของการมอบบางอย่างคืนสู่ผู้อื่นด้วยเหมือนกัน”

บทสรุปจากปากของแจ๊ปเปอร์ทำให้เรารู้สึกว่า การเรียนแบบไม่เน้นจำ แต่ให้ลงมือทำ ได้ไปสะกิดใจใครบางคนให้เติบโตไปในทิศทางที่งดงามได้จริง ๆ

และการให้โอกาสเด็ก ๆ ได้พูด ทำ ส่งเสียง อย่างที่คุณครูและบุคลากรของ King’s Bangkok ได้ทดลองและมาแชร์ผลลัพธ์ให้เราเห็นผ่านบทสัมภาษณ์นี้ ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีไม่น้อยสำหรับผู้ใหญ่หรือแม้แต่ครูในประเทศ ที่จะเปิดใจรับฟัง และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนของตนเองได้ลงมือ ล้มลุก และเรียนรู้จากความผิดพลาด

เพราะแม้ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร การเรียนรู้จากการลงมือทำที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมให้เด็ก ๆ ขยับเข้าใกล้มหาวิทยาลัยในฝัน ชีวิตที่มีเป้าหมาย และความสำเร็จที่ไม่ใช่แค่การ ‘ได้’ แต่เป็นการ ‘ให้’ ด้วยเช่นกัน

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ