การ Walk ของผมครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งไหนๆ เพราะเป็นการ Walk กับบุคคลระดับ The King เลยทีเดียวครับ และ The King พระองค์นี้ทรงเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเล็กๆ แห่งหนึ่งนามว่า ราชอาณาจักรอัลลาดา (Kingdom of Allada) ที่ตั้งอยู่ไกลโพ้นถึงภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ในประเทศที่มีชื่อว่า ‘เบนิน’

ดะ… ดะ…ดะ…เดี๋ยวนะ เบนินเป็นประเทศสาธารณรัฐที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมีประธานาธิบดีเป็นประมุขไม่ใช่หรือ แล้วกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอัลลาดาพระองค์นี้มาจากไหน? ผมคิดว่าผู้อ่าน The Cloud หลายต่อหลายท่านอาจเกิดคำถามนี้ขึ้นมาในใจ

ถูกต้องครับ ประเทศเบนินนั้นเป็น ‘สาธารณรัฐ’ (Republic of Benin) และมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ในอดีตเคยอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสจนได้รับเอกราชเมื่อ ค.ศ. 1974 และนั่นคือข้อเท็จจริงในยุคปัจจุบัน

แต่ถ้าหากเราย้อนเวลาล่วงไปในอดีต… ก่อนที่ฝรั่งเศสหรือชนชาติใดๆ ก็ตามจากยุโรปจะเข้ามามีอิทธิพลในทวีปแอฟริกา ดินแดนแทบทุกตารางนิ้วในทวีปนี้ล้วนมีกษัตริย์หรือไม่ก็ประมุขเผ่าทำหน้าที่ปกครองกันมาก่อนทั้งนั้น

เมื่อยุโรปหลากหลายชนชาติเข้ามายึดดินแดนต่างๆ ทั่วแอฟริกาเป็นอาณานิคมนั้น พวกเขาก็จัดการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนกันเองตามใจชอบ โดยมิได้สนใจว่าในอดีตดินแดนเหล่านี้เคยเป็นของใคร ปกครองกันมาอย่างไร และกินพื้นที่มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญคือ ไม่มีชาวแอฟริกันร่วมอยู่ในกระบวนการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนเลยแม้แต่คนเดียว เรียกว่าเป็นฝีมือของชาวยุโรปล้วนๆ

ดังนั้น สาธารณรัฐต่างๆ ที่กำหนดขึ้นใหม่จึงเกิดขึ้นในยุคอาณานิคม และในพื้นที่ของสาธารณรัฐเหล่านั้นก็มีราชอาณาจักรเล็กๆ หรือแว่นแคว้นน้อยๆ ซอกซอนซ่อนเร้นอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อให้อำนาจการปกครองประเทศในปัจจุบันจะตกเป็นของรัฐบาลกลางอันมีประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ฯลฯ ทำหน้าที่บริหารงาน ควบคุม และดูแล แต่กษัตริย์ ราชินี หรือประมุขเผ่า ก็ยังมีสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และยังคงได้รับความเคารพในเชิงผู้นำทางจิตวิญญาณและจารีตประเพณีอยู่เช่นเดิม

Voodoo Festival, แอฟริกา

ผมชวนพี่ๆ น้องๆ เดินทางไปเบนินในช่วงเดือนมกราคมเพื่อไปร่วมชมเทศกาลวูดู (Voodoo Festival) ซึ่งถือเป็นเทศกาลประเพณีสำคัญระดับประเทศที่ทางการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ และมีการเฉลิมฉลองนานนับสัปดาห์ ดังนั้น ในเทศกาลสำคัญระดับนี้กษัตริย์และราชินี หรือประมุขเผ่า ย่อมเข้ามามีบทบาทในฐานะประธานฝ่ายพิธีกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนี่จึงเป็นที่มาของการ Walk with the King ในวันนี้

Voodoo Festival, แอฟริกา

รถเรามาจอดที่หน้าพระราชวังหลวงแห่งราชอาณาจักรอัลลาดาช่วงสายๆ ที่หน้าวังมีป้ายระบุพระนามและช่วงปีที่กษัตริย์แต่ละพระองค์ครองราชย์ ที่ผมชอบมากคือตราสัญลักษณ์ประจำแต่ละพระองค์ที่เป็นสัตว์ชนิดต่างๆ และมีดีไซน์ง่ายๆ น่ารักแบบแอฟริกัน

Voodoo Festival, แอฟริกา

อัลลาดาเป็นเมืองที่สำคัญมากต่อลัทธิวูดู เชื่อกันว่าลัทธิวูดูถือกำเนิดขึ้นที่นี่มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 โดย Adjahounto ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อัลลาดา และลัทธิวูดูที่เผยแผ่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปจนเติบโตในประเทศเฮติ (Haiti) นั้นก็มีรากมาจากลัทธิวูดูที่ก่อกำเนิดในอัลลาดาเช่นกัน ดังนั้น พิธีเปิดงานเทศกาลวูดูจะเริ่มต้นขึ้นจากเมืองเล็กๆ แห่งนี้ เพื่อที่จะเป็นการส่งสัญญาณให้พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศเบนินได้เริ่มเทศกาลวูดูกันอย่างเป็นทางการ

มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาออกันอยู่หน้าวัง ผมได้รับคำอธิบายว่ากษัตริย์และราชินีแห่งอัลลาดาจะเสด็จพระดำเนินด้วยพระบาทจากวังไปยังลานพิธีพร้อมกับกษัตริย์และราชินีจากราชฮาณาจักรพันธมิตรใกล้เคียง รวมทั้งประมุขแห่งลัทธิวูดูด้วย แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นตอนไหน

Voodoo Festival, แอฟริกา

ในขณะที่ผมกับพี่ๆ น้องๆ เดินโต๋เต๋ไปมารอเวลาสำคัญที่ลานหน้าท้องพระโรงพร้อมกับฟังดนตรีพื้นเมืองขับกล่อมอยู่นั้น

“อยากถ่ายรูปกับท่านไหม? แต่…ต้องมีของขวัญหน่อยนะ” การ์ดผิวคล้ำร่างใหญ่กระซิบผมเบาๆ แต่ได้ยินกันชัดๆ ด้วยภาษาฝรั่งเศส

คำว่า ‘ของขวัญ’ หรือ Cadeau ในภาษาฝรั่งเศสนั้นเป็นคำที่ผมเริ่มชินแล้วหลังจากใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้มาสักพัก มันหมายถึงค่าน้ำร้อนน้ำชาที่เจ้าหน้าที่พร้อมจะเรียกจากเราเพื่อมอบบริการบางอย่างให้ และในที่นี้คือการนำผมเข้าไปในห้องท้องพระโรงเพื่อเข้าเฝ้ากษัตริย์และราชินี

ขณะนั้นในมือผมมีธนบัตรใบละ 2,000 ฟรังก์ เซ.แอ็ฟ.อา. (Franc C.F.A.) และผมก็ตัดสินใจยื่นให้เขาไป มันตีเป็นเงินไทยได้ประมาณ  120 บาท และเขาก็อนุญาตให้พวกผมเข้าไปได้เพียง 2 จาก 4 คนเท่านั้น ในวินาทีต่อมาผมก็พบว่าตัวเองกำลังอยู่ในห้องรับรองเล็กๆ พร้อมกับน้องหนิงที่ตามมาด้วยกัน เราสองคนกำลังอยู่ท่ามกลางบุรุษและสตรีที่แต่งกายในชุดพื้นเมืองนั่งอยู่จำนวนหนึ่ง

Voodoo Festival, แอฟริกา

‘ใครบ้างหว่า? ไม่รู้จักเลย แล้วต้องทำไงเนี่ย?’ ผมเริ่มคิด แล้วหันไปมองหน้าน้องหนิงทำนองว่าทำยังไงดีล่ะ

ผมเห็นคนมีท่าทีนบนอบต่อพวกท่าน ผมกับน้องหนิงจึงรีบทำตามด้วยความเคารพ ตอนนั้นผมพอเดาได้แล้วว่าผมกำลังอยู่ต่อพระพักตร์กษัตริย์และราชินีแห่งราชอาณาจักรต่างๆ ในเครืออัลลาดา ราษฎรในแคว้นอัลลาดาจะก้มเอาศีรษะจรดพื้นเพื่อทำความเคารพ และเรียกกษัตริย์และราชินีของเขาว่า Sa Majesté ทุกคำ

คำว่า Sa Majesté นั้นออกเสียงว่า ซา  มาเชสเต้ เป็นราชาศัพท์ภาษาฝรั่งเศสซึ่งเทียบเท่ากับคำว่า His หรือ Her Majesty ในภาษาอังกฤษ

ซา มาเชสเต้ ดีพระทัยมากๆ ที่มีอาคันตุกะหน้าจืดมาไกลจากประเทศไทย ยิ่งพอผมสื่อสารกับพระองค์ด้วยภาษาฝรั่งเศสได้บ้าง จึงทรงเป็นกันเองมากขึ้น

อีกสิ่งหนึ่งคือ การใช้ราชาศัพท์ภาษาฝรั่งเศสของคนที่นี่นั้นเต็มรูปแบบมากๆ ปกติเวลาเราสนทนากับใครสักคนในภาษาฝรั่งเศส เราจะเรียกผู้นั้นว่า Vous (แปลว่า You หรือท่าน) แต่เมื่อเราพูดกับซา มาเชสเต้ เขาจะเรียกท่านว่า Il (แปลว่า He หรือเขา) สำหรับกษัตริย์ และ Elle (แปลว่า She หรือเธอ) สำหรับราชินีแทน

ผมพอมีความรู้เรื่องราชาศัพท์ภาษาฝรั่งเศสบ้างเพราะผมเคยเห็นผ่านๆ ตามาจากหนังสือวรรณกรรมฝรั่งเศส แต่เมื่อต้องสนทนากับซา มาเชสเต้ เข้าจริงๆ ผมก็พบสิ่งที่สร้างความสับสนแก่ผมพอควร มันคล้ายกับว่าเรากำลังพูดกับใครสักคนที่อยู่ตรงหน้าแท้ๆ แต่แทนที่จะเรียกเขาว่า You กลับไปเรียกเขาว่า He หรือ She แทน

Voodoo Festival, แอฟริกา

ในห้องเดียวกันมีบุรุษผู้หนึ่งใส่เสื้อสีขาวพร้อมหมวก ซึ่งท่านนั่งอยู่อีกหนึ่งกับสตรี 2 คนที่แต่งชุดสีขาวเช่นกัน ผมกำลังสงสัยว่าท่านเป็นใคร เป็นกษัตริย์และราชินีหรือไม่ ขณะที่ผมกำลังคิดวิธีหาคำตอบอยู่นั้น

“เขาเป็นประมุขของลัทธิวูดูแห่งอัลลาดา และก็ครอบครัว” ราชินีตรัส

“อยากได้อะไรจากพวกเราบ้างไหม?” กษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงถามผมกับน้องหนิง

“อยากได้รูปหมู่ถ่ายด้วยกันพะยะค่ะ” ผมชิงตอบ และไม่กี่วินาทีต่อมาเราก็ได้รับพระเมตตา

Voodoo Festival, แอฟริกา

หลังจากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ก็มาเชิญผมออกจากห้อง ขบวนนักดนตรีเริ่มตั้งแถว และการ Walk with the King ก็เริ่มต้น ณ บัดนั้น

ขบวนเริ่มต้นโดยนักดนตรีที่มีทั้งคนตีกลอง คนเป่าแตร และคนขับร้อง เดินนำ มีเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยคอยกันคนให้พ้นทางเสด็จ  มีคนถือพระกลดถวายเพื่อบังแดด และมีผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งหน้าดุมากๆ ถือพัดและคอยพัดให้พระองค์ท่านตลอดเวลา ประมุขแห่งลัทธิวูดูก็เดินตามเสด็จมาพร้อมกันด้วย

Walk แรกคือการไปเดินวนรอบต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์หน้าวังหลวงเป็นจำนวน 3 รอบ การ Walk ช่วงนี้โกลาหลมากๆ ครับ เพราะขบวนเสด็จนั้นยาวพอสมควร สื่อมวลชน ช่างภาพ และนักท่องเที่ยว จำนวนมากต่างก็พยายามจะเดินตามเก็บภาพกันจ้าละหวั่นจนขบวนเคลื่อนเหมือนงูกลืนหางที่หัวกับท้ายแทบจะเกยกัน

Voodoo Festival, แอฟริกา Voodoo Festival, แอฟริกา

จากต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ การ Walk ลำดับต่อมาก็จะเป็นการเดินไปตามเส้นทางผ่ากลางเมืองอัลลาดาไปยังลานพิธีซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร ถนนสายหลักนั้นไม่ใช่ถนนลาดยาง แต่เป็นถนนดินแดงที่ขรุขระและมีฝุ่นฟุ้ง เมืองอัลลาดานั้นก็มีสภาพคล้ายๆ หมู่บ้านเล็กๆ ในชนบทอันห่างไกลของไทย ราษฎรในพื้นที่พากันออกมายืนชมขบวน และก็มีอีกมากมายที่เดินตามกันมาในขบวนเสด็จด้วย ดูเป็นกันเองดีแท้

Voodoo Festival, แอฟริกา Voodoo Festival, แอฟริกา

การ Walk ช่วงนี้เป็นช่วงวิ่ง-สู้-ฟัดสำหรับผม เพราะผมพยายามบันทึกภาพกษัตริย์ ราชินี พระองค์ต่างๆ และประมุขแห่งลัทธิวูดู ผมต้องวิ่งนำขบวนไปดักรอด้านหน้า เพื่อเตรียมชวงชิงพื้นที่ก่อนช่างภาพคนอื่นๆ จะแห่กันมา บางช่วงผมต้องเดินถอยหลังไปถ่ายภาพไปรวมทั้งหลบคนที่มาคอยชมขบวนบ้าง หลบเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบ้าง หลบหลุมและบ่อบนถนนที่แสนจะขรุขระ พร้อมกับสูดฝุ่นแดงจำนวนมหาศาล แต่ผมพบว่า Walk ช่วงนี้พีกมากๆ และผมสนุกกับทุกสิ่งรอบตัว ไม่ว่าเสียงดนตรีปี่กลองที่ดังกระหึ่มตลอดเวลา เสื้อผ้าพื้นเมืองหลากสีสัน กองทัพช่างภาพจำนวนมหาศาล บรรยากาศแสง สี เสียง ประเคนมาสู่ผมแบบไม่ยั้ง และเมื่อครบ 2 กิโลเมตรแล้วการ Walk ของผมก็สิ้นสุดลงที่ลานพิธีที่จะทำการเปิดเทศกาลวูดูอย่างเป็นทางการ

Voodoo Festival, แอฟริกา Voodoo Festival, แอฟริกา

เมื่อการกล่าวถวายรายงานโดยรัฐมนตรีวัฒนธรรมแห่งเบนินสิ้นสุดลง เสียงกลองก็ดังรัวขึ้นจากมุมนู้นมุมนี้รอบลานพิธี เหล่านักบวช นักเต้น จากสำนักวูดูต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรอัลลาดาล้วนมารวมตัวกันที่นี่ และกำลังออกลวดลายการเต้นแบบไม่ยั้ง สีสันของเสื้อผ้าที่สดใสหลากเฉดสี เครื่องประดับทั้งสร้อย กำไล ต่างหู หมวก และรัดเกล้า เต้นระริกอยู่ใต้เปลวแดดอย่างรัวเร็วไปตามจังหวะการเคลื่อนตัวของผู้เต้นพร้อมเสียงปี่กลองอันสุดเร้าใจบนลานพิธีเล็กๆ แห่งนั้น ผมสังเกตเห็นรอยบากตามร่างกายของผู้เต้นทั้งชายหญิงหลายต่อหลายคน และต่อมาก็ได้รับคำอธิบายว่านั่นคือลวดลายที่แสดงว่าบุคคลผู้นั้นมาจากเผ่าไหน

Voodoo Festival, แอฟริกา Voodoo Festival, แอฟริกา Voodoo Festival, แอฟริกา

ในแอฟริกาตะวันตก วูดูไม่ใช่เป็นเพียงความเชื่อ วูดูคือศรัทธา คือวิถีชีวิต คือการแพทย์ คือจิตวิญญาณที่หล่อรวมผสมผสานกับศาสนาคริสต์หรือศาสนาอื่นใดก็ตามที่เผยแพร่เข้ามาในช่วงหลัง แม้จะเป็นคาทอลิก คริสเตียน หรือมุสลิมนิกายใดๆ ก็ตาม วูดูยังคงฝังรากและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาเสมอ และการเต้นนั้นก็ถือว่าเป็นพลีกรรมที่พึงกระทำเพื่อเชื่อมต่อมนุษย์กับวิญญาณของบรรพบุรุษ ของผืนดิน ผืนฟ้า แผ่นน้ำ หรือสรรพสิ่งอันควรบูชาที่รายล้อมอยู่รอบตัว

ผมกับพี่ๆ น้องๆ เดินดูการเต้นของสำนักวูดูต่างๆ อย่างตื่นตาตื่นใจ มีจามมีไอกันบ้างค่อกๆ แค่กๆ เนื่องด้วยฝุ่นนั้นมีปริมาณมหาศาล ดังนั้น ใครที่คิดจะไปชมพิธีสำคัญนี้ควรมีหน้ากากอนามัยติดมือไปด้วยนะครับ

Voodoo Festival, แอฟริกา

เมื่อเวลาผ่านไปพักใหญ่ เจ้าหน้าที่มาชวนพวกผมเดินเลยเข้าไปยังแนวป่าร่มครึ้มที่อยู่ติดกับลาน เขาอธิบายว่านี่คือบริเวณป่าศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังจะมีพิธีบูชายัญ

ต้นไม้สูงใหญ่หลายต้นถูกหุ้มด้วยผ้าแถบสีขาวและแดง เหล่านักเต้นจำนวนหนึ่งย้ายสำนักมายังบริเวณลานบูชายัญ พร้อมกับเหล่านักตีกลองที่ตามมาด้วยอีกกลุ่มใหญ่ ที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งมีเทวรูปไม้แกะสลักวางอยู่ พร้อมกับเทียนและเหล้าหลายชนิด ผมคิดว่าพื้นที่นี้คือปะรำพิธีบูชายัญ และไม่ไกลกันนักผมเห็นหมูและแพะอย่างละตัวมัดอยู่

Voodoo Festival, แอฟริกา

ไม่นานจากนั้น เมื่อกษัตริย์แห่งอัลลาดาและประมุขลัทธิวูดูมาถึง ผมก็ได้ยินเสียงร้องของแพะและหมูดังแหวกอากาศมาถึงหูก่อนที่จะเงียบไป ขณะนั้นคนจำนวนมากพากันไปมุงอยู่ที่ปะรำบูชายัญจนผมเข้าไปไม่ถึง และเมื่อผมเข้าไปได้ ผมก็พบว่าทั้งหมูและแพะนั้นได้นอนแน่นิ่งไปแล้ว พร้อมกับรอยเลือดที่ปรากฏบนแท่นพิธี

สิ่งที่ตามมาต่อจากนั้นคือการเชิญวิญญาณของบรรพบุรษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาสิงในกองฟาง และสิ่งนี้เรียกรวมกันว่า Zangbeto

Voodoo Festival, แอฟริกา Voodoo Festival, แอฟริกา

เชื่อกันว่า ‘ซังเบโต’ เป็นเหมือนผู้พิทักษ์ซึ่งจะทำหน้าที่คุ้มครองดูแลหมู่บ้านหรือพื้นที่นั้นๆ ให้ปลอดภัย ไร้การรบกวนจากสิ่งชั่วร้าย รวมทั้งปกป้องคนดีจากคนชั่ว และนำความปลอดภัยมายังพื้นที่นั้นๆ และเชื่อกันว่าภายใต้กองฟางที่วิ่งไปมานั้นไม่มีร่างกายมนุษย์อยู่ แต่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยวิญญาณ

นี่เป็นคำอธิบายที่ผมได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่เช่นกันนะครับ ส่วนจะเชื่อหรือไม่อย่างไรนั้นผมขอให้เป็นการใช้วิจารณญาณของแต่ละบุคคลแล้วกัน แต่เท่าที่ผมจำได้ในวันนั้น ซังเบโตเคลื่อนที่เร็วมากๆ เดี๋ยววิ่งไปทางนู้นทีไปทางนี้ทีโดยมีผู้ติดตามคอยตะโกนให้ผู้คนหลีกทางให้กันจ้าละหวั่น …ถ้าหลีกไม่ทันนี่มีโดนพุ่งชนได้ง่ายๆ เลยนะครับ

พวกผมใช้เวลาอยู่ในลานพิธีและพื้นที่ป่าศักดิ์สิทธิ์กันอีกพักใหญ่เพื่อซึมซับบรรยากาศที่อยู่รอบตัวทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น

Voodoo Festival, แอฟริกา

การ Walk ของผมกับพี่ๆ น้องๆ จบลงกันในช่วงบ่ายเมื่อกษัตริย์และราชินีเสด็จฯ กลับวัง พร้อมกับพวกผมที่ต้องเดินทางต่อไปพร้อมกับประสบการณ์ Walk with the King ในพิธีเปิดเทศกสลวูดูที่ผมคงจะลืมไม่ลงอย่างแน่นอน

เอ่อ… แต่บ่ายนี้ผมขอตัวไปล้างจมูกก่อนนะครับ… ฮ้าดเช่ยยยย…

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer