“คุณเชื่อเรื่องความฝันไหม” เธอถามผม

ผมเจอเธอครั้งแรกที่คลับแห่งหนึ่งย่านฝั่งตะวันออกของริมสระขนาดใหญ่ชื่อ อโนดาต ซึ่งเป็นย่านที่คนที่มีเชื้อสายเทพหรือเทพีนิยมไปสังสรรค์กัน มนุษย์น้อยคนนักจะรู้จัก

ในวันนั้นผมเจอเธอโดยบังเอิญระหว่างที่รอเครื่องดื่มบริเวณบาร์ ซึ่งผมมักไปหา ‘นักเขียน’ ที่จะมาสัมภาษณ์ในคอลัมน์นี้

ผมได้ยินบริกรพูดกับผู้หญิงคนหนึ่งว่า “วันนี้ไม่เขียนหนังสือเหรอครับ”

ผมหันไปทางนั้นในทันที และเห็นเธอกำลังตอบกลับไปว่า “ช่วงนี้ขอลาพักร้อนค่ะ”

ผมรีบปรี่เข้าไปนั่งใกล้เธอ แนะนำตัวเองว่าเป็นคอลัมนิสต์จาก The Cloud พร้อมอธิบายถึงคอลัมน์ที่ผมรับผิดชอบอยู่ “ผมต้องการสัมภาษณ์นักเขียน เมื่อสักครู่ผมได้ยินว่าคุณเขียนหนังสือด้วย”

เธอยิ้ม ก่อนจะตอบว่า “ก็ไม่ได้เขียนอะไรมากนักหรอกค่ะ เกรงว่าจะให้ข้อมูลคุณไม่ได้”

เธอออกตัวมาอย่างนี้ เหมือนว่าจะปิดประตูไม่ให้ผมสัมภาษณ์

“แต่ว่า…มีเพื่อนสนิทฉันที่เขียนหนังสือมากกว่าฉัน และผลงานก็เยอะกว่า ถ้าคุณสนใจ”

ผมเลิกคิ้ว และพยักหน้าพร้อมตอบรับว่าสนใจ “ใครกันครับ เผื่อผมจะเคยอ่านงานเขียนเขา”

“เธอชื่อ ‘กิ่งฉัตร’ ค่ะ”

โลกอีกใบในเรื่องเล่าของ กิ่งฉัตร นักเขียนนวนิยายเจ้าของผลงาน สูตรเสน่หา พรพรหมอลเวง ฯลฯ

กิ่งฉัตร! นี่เป็นชื่อนักเขียนที่ผมคิดถึงอยู่ตลอดว่าจะต้องสัมภาษณ์เธอให้ได้สักครั้ง แต่เป็นเรื่องไกลตัวผมเหลือเกินที่จะเข้าหาเธอได้ เพราะเธอสืบเชื้อสายมาจากฝ่ายเทพีและอาศัยอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่จะหาโอกาสเจอได้ยากในโลกมนุษย์

อย่าว่าแต่จะสัมภาษณ์เลย แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะได้เจอกับเธอ ผมมานั่งในคลับย่านสระอโนดาตนี้ก็เพื่อจะมีโอกาสเจอเธอบ้าง แต่ก็ไม่เคยได้พบ

“ฉันจะพาไปค่ะ” อลินาตอบ “คุณเชื่อเรื่องความฝันไหมล่ะคะ ถ้าคุณเชื่อดิฉันจะพาไป”

“ความฝันที่คุณหมายถึงคือ ความมุ่งมั่นตั้งใจ หรือความฝันเวลาที่เราหลับ กันครับ” ผมสงสัย

“ทั้งสองอย่างค่ะ ถ้าคุณเชื่อว่าตัวเองมี ฉันจะพาไป” อลินายิ้ม ก่อนยกเครื่องดื่มในมือขึ้นจิบ

ผมจะขอละคำตอบไว้ก่อน ว่าผมตอบเธอไปว่าอะไร

ตอนนี้ผมข้ามจากโลกมนุษย์เข้ามาในเขตของอีกโลกหนึ่งแล้ว (จะผ่านเข้ามายังไง ผมก็ขอละไว้ตอบตอนท้ายเรื่องอีกเช่นกัน)

ในอีกโลกหนึ่งที่ว่านี้ดูเหมือนไม่มีอะไรแตกต่างจากโลกมนุษย์นัก จะมีที่แปลกตาไปบ้างก็คือถนนหนทางสำหรับพวกกินรีที่ต้องเหินขึ้นไปบนฟ้า

อลินาพาผมมาถึงบ้านของกิ่งฉัตร

บ้านของเธอมีซุ้มต้นไม้ขนาดใหญ่ปกคลุมเป็นหลังคา สายลมเย็นพัดมาวูบหนึ่ง เป็นลมเย็นที่ทำให้รู้สึกเบาสบาย เนื่องจากอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ ขณะที่ผมชื่นชมความร่มรื่นและเขียวขจีอยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงบริวารตัวเล็กๆ ของเธอออกมาต้อนรับ

จากนั้นก็ได้ยินเสียงที่หวานไพเราะดังแทรกขึ้นมา “เชิญค่ะๆ”

เธอนั่นเอง กิ่งฉัตร

“ขอโทษด้วยนะคะ บริวารของเราไวต่อพวกมนุษย์ค่ะ” กิ่งฉัตรพูดพลางต้อนเหล่าบริวารของเธอออกจากบริเวณนั้น

“เขาอยากมาสัมภาษณ์เธอน่ะ” อลินาเดินเข้าไปหากิ่งฉัตร “ฉันเห็นว่าเขาเป็นมนุษย์ที่ยังเชื่อในโลกของเราอยู่”

กิ่งฉัตรมองมาทางผมและยิ้ม “ยินดีค่ะ เราเข้าไปคุยกันข้างในกันดีกว่า”

โลกอีกใบในเรื่องเล่าของ กิ่งฉัตร นักเขียนนวนิยายเจ้าของผลงาน สูตรเสน่หา พรพรหมอลเวง ฯลฯ
สูตรเสน่หา พรพรหมอลเวง

ผมเดินเข้าไปยังที่นั่งที่เตรียมไว้ เป็นแท่นหินที่ตัดเรียบ มีเบาะนุ่มวางรองไว้ด้านบน ภายในเสมือนเรานั่งอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ในป่าหิมพานต์

ผมอธิบายถึงความตั้งใจในการมาสัมภาษณ์ครั้งนี้ เพราะอยากรู้ว่าเส้นทางตลอด 30 ปี ในการเป็นนักเขียนของเธอ และมีผลงานนวนิยายหลากหลายแนวกว่า 40 – 50 เล่ม

“ก็เหมือนนักเขียนโดยทั่วไปค่ะ เริ่มต้นจากการชอบอ่านหนังสือ พออ่านมาก ก็อยากเขียนให้คนอ่าน อยากจะเปลี่ยนสถานภาพจากนักอ่านไปเป็นนักเขียน อยากจะเข้าไปในร้านหนังสือแล้วมีผลงานเราอยู่ อยากให้คนอ่านอ่านงานเราแล้วก็รู้สึกเหมือนที่เราเคยอ่านแล้วมีความสุข เราหัวเราะ เราร้องไห้ กับเรื่องราวในนั้น ก็อยากให้คนอื่นรู้สึกกับงานของเรา ก็เลยเริ่มต้นเขียน

“แต่เราเริ่มเขียนค่อนข้างช้า เริ่มอ่านหนังสือช้ากว่าคนอื่นหน่อย ตอนประถมก็จะอ่านแต่วรรณกรรมเยาวชน แล้วค่อยมาอ่านนวนิยาย ส่วนงานประเภทอื่นมาอ่านตอนมัธยมต้น แล้วมาเริ่มเขียนจริงๆ ตอนมัธยมปลาย

“ตอนที่เราเป็นเด็ก อ่านงานเขียนอะไรก็สนุกไปหมด ในห้องสมุดโรงเรียนมีนิตยสารเยอะมาก ตอนนี้ปิดตัวไปหมดแล้ว เช่น ดรุณี สตรีสาร ทุกเรื่องราวในนั้นเปิดโลกให้เรา สมัยนั้นโทรทัศน์ก็ไม่เหมือนปัจจุบันนะคะ ยังเป็นขาวดำ เห็นไหม ย้อนยุคไปไกลมาก รายการโทรทัศน์ก็มีจำกัด ช่องก็ไม่มาก มีสื่ออย่างเดียวก็คือหนังสือ เราชอบอ่านไพรัชนิยาย หรือนิยายท่องเที่ยว เพราะเราเป็นเด็ก เราไม่เคยไปไหนมาก่อนในชีวิต อย่าว่าแต่ต่างประเทศเลย ออกจากกรุงเทพฯ ยังไม่ค่อยจะได้ไปเลย เพราะฉะนั้น หนังสือคือโลกใบใหม่ มันเปิดหูเปิดตา มีไปล่องไพร เข้าป่าล่าสัตว์ ไปเยอรมนี ไปอเมริกา ไปที่ต่างๆ ซึ่งเราไม่เคยสัมผัสมาก่อน”

นั่นเป็นแรงกระตุ้นสำคัญของคนที่อยากเป็นนักเขียน

“พื้นฐานการอ่านจึงทำให้คุณกิ่งฉัตรเลือกเรียนทางด้านการเขียนใช่มั้ยครับ” ผมสงสัย

“ใช่ค่ะ ตอนจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเราเลือกเรียนเกี่ยวกับภาษาและวรรณกรรมทั้งหมด แต่ก็มาสอบได้ที่วารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์ เราเลือกวิชาเอกหนังสือพิมพ์ ซึ่งเกี่ยวกับการเขียนโดยตรง”

“แล้วการเขียนนวนิยายล่ะครับ เริ่มเมื่อไหร่” ผมถาม

“นวนิยายจะเริ่มเขียนตั้งแต่จบปีสุดท้าย ซึ่งปีสี่ตามปกติของคณะวารสารฯ จะต้องไปฝึกงานและทำสารนิพนธ์เพื่อจะจบ เราเรียนแค่ครึ่งเทอม อีกครึ่งเทอมก็ไปฝึกงาน ด้วยความที่ว่าง ไม่ต้องเข้าเรียนแล้ว ก็เลยเขียนนวนิยายไปด้วย เป็นเรื่อง พรพรหมอลเวง พอเรียนจบ ก็เขียนเรื่องนี้จบไปพร้อมกัน

“เรื่อง พรพรหมอลเวง เราเขียนรวดเดียวจบ ไม่ได้เขียนเป็นตอนๆ ด้วย เพราะการจะเขียนเป็นตอนลงในนิตยสารได้ คุณจะต้องเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงหรือเป็นอาชีพแล้ว เพราะเขาจะไว้ใจได้ว่าเราควบคุมผลงานเขียนได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

“เขารู้ว่าปัญหาของนักเขียนใหม่ พอเขียนไปเรื่อยๆ จะตัน แล้วก็หยุด ถ้าเกิดเขียนเองแล้วหยุดไม่เป็นไร แต่ถ้าเขียนส่งนิตยสารแล้วหยุดกลางคันมันเกิดความเสียหาย นิตยสารเขาก็เสี่ยง และไม่รู้ว่าวินัยในการทำงานของเราเป็นยังไง ดังนั้น นักเขียนหน้าใหม่อย่างเราก็ต้องพิสูจน์ด้วยการเขียนให้จบทั้งเรื่องก่อนแล้วส่งนิตยสาร”

“ทราบว่าเขียนเรื่องแรกก็ดังเลย” ผมตั้งข้อสังเกต

พรพรหมอลเวง

“ผลตอบรับเรื่อง พรพรหมอลเวง ดีนะคะ ตั้งแต่ยังลงในนิตยสารไม่จบ ทางช่องเจ็ดก็ติดต่อมาแล้ว หลังจากนั้นก็มีงานเขียนที่ได้ไปทำละครอยู่บ้างค่ะ”

ผมสงสัยว่า “พอมีงานเขียนเป็นรูปเล่มแล้ว มั่นใจไหมครับว่าจะทำงานเป็นนักเขียนอาชีพได้”

“เมื่อสามสิบกว่าปีก่อนนักเขียนเป็นอาชีพที่ไส้แห้ง ทุกคนจะบอกหมด ที่บ้านก็ไม่สนับสนุน เวลาบอกว่าจะเป็นนักเขียน ทุกคนก็จะมองด้วยสายตาที่ตั้งคำถามว่า อืม คิดอะไรอยู่ มันดูไม่มีอนาคต ไม่แน่นอน หนทางค่อนข้างจะลำบาก เป็นศิลปินไส้แห้งอย่างแท้จริงนะคะ เพื่อนฝูงจะมองว่าเป็นอาชีพที่จะต้องมีคนอุปถัมภ์

“ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ให้เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก ซึ่งจริงๆ ก็ถูกต้องนะคะ เพราะการทำงานประจำจะทำให้เรารู้จักโลก รู้จักคน รู้จักการทำงานในที่ทำงาน รู้จักว่าศรัทธาเป็นยังไง เสื่อมศรัทธาเป็นยังไง โดยเฉพาะการทำข่าว มันเปิดโลกมาก จะได้เจอผู้คนเยอะมาก ช่วงที่ทำข่าวในหนึ่งวันเราจะเจอคนที่แม้เงินจะเผาศพตัวเองยังไม่มี แต่อีกวันเราไปทำข่าวเจอคนที่ในบ้านมีสุขภัณฑ์เป็นทองคำ มันเจอเรื่องที่แตกต่างขนาดนั้น แล้วก็ท้าทายอยู่ตลอดเวลา”

นี่กระมังเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอเข้าทำงานเป็นนักข่าวในโลกมนุษย์ โดยเริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายสัปดาห์ อยู่ในหมวดปริทรรศน์ ซึ่งทำข่าวตั้งแต่ข่าวอาชญากรรม ข่าวผัวเมียตีกัน ไปจนถึงข่าวระดับประเทศ เธอเล่าประสบการณ์การเป็นนักข่าวว่า

“การทำงานข่าวตอนนั้นมีกฎอยู่ข้อหนึ่งคือ คุณต้องหมุนเวียนเปลี่ยนสาย เราไม่รู้จะโดนจับไปลงพื้นที่ไหน เราจะโดนจับให้ไปทดลองงานทุกสาย ทั้งสายเศรษฐกิจ สายอาชญากรรม สายสังคม สายการตลาด จะวนกันไปก่อน พอวนจบ ค่อยกลับมาที่สายเดิมของเรา คือมันจะทำให้เรารู้รอบด้าน

“ข้อดีของการทำข่าวคือ เราได้เดินทางไปทั่วทุกที่ เดินทางไปใต้สุดข้ามไปฝั่งมาเลเซีย ด้วยความที่เพิ่งจบใหม่ งานนี้จึงเป็นโอกาสให้เราไปหลายที่มาก คนเป็นแอร์โฮสเตสเขาก็โชคดีนะคะ ได้บินไปนั่นไปนี่ ส่วนเรานั่งรถตุ๊กตุ๊กมุดไปตามรูที่สุนัขลอด

“สิ่งเหล่านี้ให้บทเรียนในชีวิต ทุกอย่างเป็นข้อมูลที่ดี เราก็จะบอกเสมอว่า การเขียนหนังสือควรจะมีงานอื่นควบคู่กันไปก่อนเพื่อที่จะเรียนรู้และได้ประสบการณ์ ซึ่งการไปเห็นของจริงหรือความเป็นจริงช่วยได้เยอะมาก เมื่อเราเอามาเขียน เนื้อหาเราจะมีความสมจริง

“แต่ที่สำคัญคือ การได้ทำงานกับการได้เจอผู้คน เพราะว่าสิ่งสำคัญในการเขียนหนังสือ สิ่งที่เราจะต้องเข้าใจ คือการเข้าใจมนุษย์”

ขณะนั้นอลินาพูดขึ้นว่า “เท่าที่จำได้ เธอทำข่าวอยู่ได้ไม่นานใช่ไหม”

“ใช่ เราทำงานนักข่าวอยู่แค่สองปีแล้วก็ไปเรียนต่อที่ซีแอตเทิล อเมริกา พอไปเรียนต่อเราก็คิดว่าจะทำงานเขียนอย่างเดียว โดยไม่กลับไปทำงานสายงานสื่อสิ่งพิมพ์อีก แต่ก็เสียดายนะ บางครั้งที่ทำงานอยู่คนเดียวเราก็คิดถึงบรรยากาศการทำงานที่มีคนถามว่ากลางวันนี้จะไปกินอะไร หรือเวลามีข่าวด่วนเข้ามาแล้วทุกคนวิ่งวุ่นวายในออฟฟิศ บรรยากาศแบบนี้มันแทนที่ไม่ได้”

“แต่คุณกิ่งฉัตรมีโอกาสออกไปต่างแดน ในดินแดนอื่น ถือว่าได้โอกาสที่ดีนะครับ” ผมเสริม

โลกอีกใบในเรื่องเล่าของ กิ่งฉัตร นักเขียนนวนิยายเจ้าของผลงาน สูตรเสน่หา พรพรหมอลเวง ฯลฯ

“ตอนไปเรียนอยู่หนึ่งปีก็ได้เก็บเกี่ยวเยอะเหมือนกันค่ะ แต่ส่วนใหญ่ไปเที่ยว ไปเกาะเพื่อนคนโน้นคนนี้ เราจะอยู่ที่ซีแอตเทิลเป็นหลัก ก็ให้เพื่อนที่อยู่ แอล.เอ. มารับเราไปเที่ยว จนได้เรื่อง แสงดาวฝั่งทะเล มาอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมาจากชื่อรถไฟ ‘The Coast Starlight’ เพราะเราเดินทางโดยรถไฟที่วิ่งระหว่างเมือง

“ด้วยความที่รถไฟเขาไม่เหมือนของเมืองไทย รถไฟเขาส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เลย เขาจะเลือกเส้นทางที่สวยด้วยบรรยากาศสองข้างทาง วิ่งเลียบชายทะเล จะมีโบกี้ที่เจาะเป็นกระจกบนเพดานให้เรามองวิวได้ตอนกลางคืน แล้วเวลาผ่านป่าก็จะสลับกับท้องทุ่งที่มีวัว เห็นโคบาล แล้วก็หยุดตามเมือง ใครอยากลงไปถ่ายรูปก็ได้ ระหว่างนี้เราก็เที่ยวไปด้วย เรียนไปด้วย เขียนหนังสือส่งลงนิตยสารที่เมืองไทยด้วย”

ดูเหมือนว่าเมื่อคุณกิ่งฉัตรเล่าถึงเรื่องเที่ยว แววตาของเธอจะสดใสเป็นพิเศษ อลินามองมาทางผมแล้วอมยิ้ม ก่อนจะพูดว่า “เธอเที่ยวขนาดนี้ เลยมีเรื่องจะเขียนเยอะเลยสิ”

กิ่งฉัตรหัวเราะ ก่อนตอบว่า “ก็เราเป็นนักเที่ยวนักกินมากกว่า ไปที่ไหนที่ดีเราก็อยากจะเขียน อยากจะแนะนำเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่ไปไหนแล้วเขียนทุกเรื่องนะ จะไปแล้วเก็บข้อมูลไว้ก่อน แล้วเดี๋ยวนี้ง่าย เราเก็บความทรงจำไว้ในความประทับใจแล้ว ที่เหลือถ้าเราอยากจะเขียน เราก็ค้นได้หมด

“ช่วงแรกๆ ที่เขียนลำบากมากเลย เพราะว่าเวลาไปเที่ยว สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือต้องไปซื้อหนังสือท่องเที่ยวที่นั่น ตำรา ภาพถ่าย ข้อมูลของสถานที่นั้นๆ แล้วมันหนักมากเพราะส่วนมากพิมพ์สี่สี เราก็แบกมา ปัจจุบันนี้แทบไม่ทำเลย แค่ถ่ายรูปเก็บไว้ ข้อมูลอื่นๆ เราก็มาค้นเอาทีหลังได้”

“แล้วเรื่องกินล่ะ” อลินาลองแกล้งถามอีก

“เราก็ชอบอาหารการกิน ชอบดูรายการทำอาหาร ตอนเขียน สูตรเสน่หา รายการมาสเตอร์เชฟหรือรายการแข่งขันทำอาหารยังไม่มีเลย เพราะเขียนตอนสิบกว่าเกือบยี่สิบปีแล้วมั้ง มีแต่รายการทำอาหารของต่างประเทศ แล้วเราชอบเจมี โอลิเวอร์ มาก

“อีกอย่างคือ สมัยนั้นนวนิยายส่วนใหญ่จะมีแต่นางเอกตามขนบ คือแสนดี ไม่มีปากเสียง เรียบร้อย หลังจากนั้นบังเอิญมีน้องนักอ่านคนหนึ่งชอบบอกว่าตัวเองสวยที่สุดในสามโลก แล้วตานี่ตวัดจิกกัด เราก็หัวเราะ เราก็บอก เออ เราชอบๆ ถ้าจะมีนางเอกสักคนหนึ่งที่หลงตัวเองสุดขีด ก็คิดเรื่องนี้ขึ้นมา เราก็เอาเจมี โอลิเวอร์ มาเป็นต้นแบบพระเอก คือครูสอนทำอาหาร”

อลินาหันมาทางผมและเสริมว่า “คนติดกันงอมแงม ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองเลยนะเรื่องนี้”

โลกอีกใบในเรื่องเล่าของ กิ่งฉัตร นักเขียนนวนิยายเจ้าของผลงาน สูตรเสน่หา พรพรหมอลเวง ฯลฯ

“แต่ตอน สูตรเสน่หา ลงตีพิมพ์ใน สกุลไทย เราเป็นกังวลมากนะ” คุณกิ่งฉัตรเล่าต่อ “เพราะนางเอกร้ายผิดปกติ ทั้งโก๊ะ ทั้งเหวี่ยงวีน เจ้าอารมณ์ ไม่ใช่สไตล์นางเอกทั่วไป ขณะที่เนื้อเรื่องก็เบาๆ ไม่ซับซ้อน เล่นกับตัวละครมากกว่า

“ตอนนั้น คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ ยังเป็นบรรณาธิการอยู่ เราก็คุยกับคุณป้า ตอนนั้นจำได้แม่นเลย คุณป้าบอกว่า ทำนิตยสารก็เหมือนจัดสำรับอาหาร ในหนึ่งสำรับจะต้องมีทั้งคาวและหวาน มีทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด คือจะต้องมีหลายรสชาติให้คนเลือกกินได้

“เพราะฉะนั้น คนทำนิตยสารก็ต้องนำเสนอความหลากหลายให้ผู้อ่านได้ลองลิ้มชิมรส แต่ว่าทุกรสต้องอร่อย คุณป้าก็บอกแบบนี้ ปรากฏว่าเป็นเรื่องที่ได้รับการตอบรับสูงมาก ฮือฮามาก แต่จะมีนักอ่านผู้ใหญ่บางคนที่รับไม่ได้กับนางเอกแบบนี้เหมือนกัน แต่ตอนนี้คงไม่รู้สึกกันแบบนี้แล้ว เพราะนางเอกนิสัยแบบนี้เยอะไปหมดแล้ว”

“แล้วมีวิธีการคิดสูตรอาหารในเรื่องยังไงครับ เพราะส่วนใหญ่เป็นอาหารที่อยู่ในโลกมนุษย์” ผมสงสัย

“ตอนนั้นเว็บบอร์ดสาธารณะเริ่มเข้ามาแล้วค่ะ เราจะใช้ชื่อบอร์ดว่า ‘บ้านกิ่งฉัตร’ เราจะโยนคำถามเข้าไปว่า ใครมีเมนูเด็ดแนะนำบ้าง ทุกคนก็จะเสนอมา เช่น ไก่ต้มโค้กมั้ย หรือแนะนำเมนูที่ตัวเองเคยทำง่ายๆ และอร่อยมากมาย

“แต่ว่านางเอกในเรื่อง สูตรเสน่หา เลือกทำซูเฟล่ซอสปูไปประกวด ด้วยเหตุเดียวคือ เธอดัดจริต เราต้องดูนิสัยตัวละครน่ะ ด้วยความที่เธอเป็นผู้หญิงที่หลงตัวเองสุดขีด ถือว่าตัวเองรวยเพราะฐานะตัวเองดีมาก เป็นเศรษฐีที่นครชัยศรี เธอหรูหราฟู่ฟ่า เธอจะมาตำส้มตำไม่ได้

“แต่เราทำอาหารไม่เป็นหรอกนะ เราต้องไปค้นสูตร แต่ค้นจากที่เดียวก็ไม่ได้ เพราะแต่ละเมนูขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ทำให้เชฟแต่ละคนต้องดัดแปลงพลิกแพลง เราก็คัดเอามาปรับ ส่วนบางเมนูเราไม่รู้จักจริงๆ หรือไม่เคยกิน เราจะไม่เขียนเลย เพราะมีสิทธิ์มากที่เราจะพลาด

“บางเมนูนี่ก็จะมีปัญหาในการออกเสียง เช่นฮาร์มุสหรือฮาร์มัส บางคนก็ออกเสียงไม่เหมือนกัน แต่เราต้องค้นหาและเก็บข้อมูลไว้เผื่อวันหนึ่งมีคนคัดค้านมา เราจะบอกได้ว่าเราเอามาจากแหล่งข้อมูลไหนเพื่อยืนยันว่าคำนี้อ่านได้ทั้งสองแบบนะ แต่สุดท้ายเราก็ต้องตัดสินใจเลือกว่าเราต้องใช้สักคำ แต่ก็เป็นการเลือกที่มีฐานข้อมูลรองรับไว้แล้ว คือดูเหมือนง่ายเวลาเราอ่าน แต่จริงๆ แล้วกว่าเราจะค้นหามาได้สักคำหนึ่งมันยากมาก”

ดูเหมือนว่าประสบการณ์ทั้งการท่องเที่ยวและการกิน สำหรับคนทั่วไปอาจเป็นการเสพความสุขเพื่อผ่านพ้นไปในเวลาหนึ่ง แต่สำหรับกิ่งฉัตรแล้ว ดูเหมือนว่าประสบการณ์เหล่านี้ถูกแปลงเป็นวัตถุดิบสำหรับการเขียนได้เสมอ ผมจึงถามเธอว่า “ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนหรือไปกินอะไร คุณกิ่งฉัตรจะเอามาเขียนเสมอไหมครับ”

“ไม่ค่ะ ข้อมูลที่เราเก็บเกี่ยวไว้ทั้งทำข่าวหรือเดินทางจะเก็บไว้จนถึงเวลาที่เหมาะสม หรือมีพล็อตเรื่องที่เหมาะสม เรื่องบางเรื่องเกิดจากหลายๆ ปัจจัย ไม่มีอะไรแน่นอน มันจะแวบเข้ามาก็มาเอง

โลกอีกใบในเรื่องเล่าของ กิ่งฉัตร นักเขียนนวนิยายเจ้าของผลงาน สูตรเสน่หา พรพรหมอลเวง ฯลฯ

“นวนิยายหลายๆ เรื่องที่เขียนในช่วงแรกมาจากประสบการณ์จริง อย่างชุดสามทหารเสือที่เป็นนักข่าวสามคน คือเรื่อง มายาตะวัน มนต์จันทรา และ ฟ้ากระจ่างดาว ก็ดึงเรื่องจากพี่นักข่าวที่ไปทำข่าวที่ต่างๆ บางเรื่องเราก็ไปทำข่าวเอง บางเรื่องเขียนไม่ได้ด้วยซ้ำเพราะมันลงลึกมาก บางทีเราก็เว้นวรรคเอาไว้

“อย่างเรื่องที่เกี่ยวกับโสเภณีก็ลงไปสัมผัส ลุยไปจนถึงหาดใหญ่ เข้าไปดูในมาเลเซียแวบหนึ่ง แต่เราก็ได้ข้อมูลจากคนที่เราแอบเข้าไปคุย ตอนนั้นที่ไปเพราะทางมาเลเซียเขาส่งตัวกลับมาหาดใหญ่

“เรายังลงไปไม่ลึกมาก เพื่อนบางคนต้องเข้าไปสัมภาษณ์ในซ่องเลยจริงๆ เคยโดนล้อม ออกมาไม่ได้ เพราะเพื่อนเป็นผู้หญิง ก็ต้องให้พี่นักข่าวอีกคนเข้าไปช่วยออกมา สมัยนั้นเอดส์เริ่มระบาดหนัก เพื่อนเข้าไปทำข่าวเรื่องเอดส์ เราก็ฟังเขาเล่าด้วยความตื่นเต้น

“ช่วงที่เขียนเรื่อง ฟ้ากระจ่างดาว ซึ่งเป็นเรื่องที่สามในชุดสามทหารหญิง ห่างจากเรื่องแรกสิบปี แต่ที่ตลกคือ วันที่เขียน นั่งเขียนไป เปิดทีวีไป ก็มีข่าวเรื่องจับโสเภณี เราเห็นว่าทำไมยังเหมือนเมื่อสิบปีที่แล้วเลย ทำไมไม่พัฒนาเลย วิธีการแอบลักลอบออกไปนอกประเทศก็ยังเหมือนเดิม มันทำให้เราเศร้าใจเหมือนกัน

“สิบปีที่ผ่านมา การศึกษาเราไม่พัฒนาไปไหนเลย คนที่ถูกหลอกไปก็ยังถูกหลอก ยังหวังว่าไปทำงานแล้วจะได้เงินเป็นหมื่น ตอนนั้นเงินหมื่นเยอะมากนะคะ เขาจะเข้าใจว่าไปทำงานเสิร์ฟ แต่ไม่รู้ภาษาอังกฤษเลยจะทำงานได้ยังไง แต่ยุคสมัยปัจจุบันคงเปลี่ยนไปเยอะแล้ว ทุกวันนี้เป็นโสเภณีกันในลักษณะยินยอมพร้อมใจ”

“แล้วเรื่องอื่นๆ ล่ะครับ ได้มาจากที่ใดบ้าง” ผมถามต่อ

“ที่มาของนวนิยายมาจากไหน ก็ตอบไม่ได้ เพราะเกิดจากจังหวะและเวลา

“บางครั้งแม้แต่คำพูดคำเดียวก็เกิดเป็นเรื่องได้ อย่างเรื่องล่าสุดคือ แผนร้ายเกี่ยวรัก นางเอกเป็นเชฟในเรือสำราญที่ภูเก็ต เป็นเรือแบบเหมาทริป จะมีลูกค้าไม่เกินแปดคน อยู่ในเรือสักห้าวัน เจ็ดวัน หรือ แปดวัน ซึ่งจะมีเชฟประจำเรือ เพื่อนผู้หญิงเราก็เป็นเชฟ แต่ว่าเราไม่เคยรู้เรื่องว่าเพื่อนไปเป็นเชฟบนเรือ

“จนวันหนึ่งคุยโทรศัพท์กับเพื่อนอีกคน ก็ถามเพื่อนว่าทำไมไม่ไปหาเพื่อนคนนั้น เขาก็บอกว่า มันไปลงเรือ เราก็งงว่า อ้าว ไปเที่ยวเรือเหรอ เพื่อนก็บอกว่า เปล่า แกไม่รู้เหรอว่ามันไปเป็นเชฟในเรือ เราก็เอะใจ เลยโทรหาเพื่อนที่เป็นเชฟ แล้วก็ขอรูป ขอเมนู ขอให้เล่าประสบการณ์ทั้งหมดที่เขาเจอมาบนเรือ เราก็มาผูกเป็นเรื่อง

“เรื่องหนึ่งเกิดจากการไปเที่ยว Universal Studio ที่อเมริกา มีการแสดงละครสัตว์ มีการฝึกสัตว์ เราก็เดินเข้าไป สิ่งที่เห็นคือผู้หญิงคนหนึ่งสวยมาก ใส่ชุดสูทสีแดง นั่งหันหลังให้เวที ตรงหน้าเป็นลูกทัวร์ฝรั่งที่ดูมีอายุหน่อย แล้วพอการแสดงเริ่มเธอก็ไม่กลับไปที่นั่ง ยังนั่งหันหลังให้เวที

“ปรากฏว่าเธอเป็นล่ามภาษามือ เราสนใจมาก ก็ปิ๊งอีกว่า นี่แหละ นางเอกฉัน เลยสร้างเรื่อง กุหลาบเกี่ยวใจ ขึ้นมา ให้นางเอกเป็นล่ามภาษามือสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวเมืองไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มีปัญหาทางการได้ยิน”

โลกอีกใบในเรื่องเล่าของนักเขียนนวนิยายเจ้าของผลงาน สูตรเสน่หา พรพรหมอลเวง ฯลฯ
โลกอีกใบในเรื่องเล่าของนักเขียนนวนิยายเจ้าของผลงาน สูตรเสน่หา พรพรหมอลเวง ฯลฯ

ผมนึกภาพไม่ออกว่า “แล้วคุณกิ่งฉัตรรู้วิธีการสื่อสารกับคนที่มีปัญหาทางการได้ยินยังไงครับ”

“วิธีการหาข้อมูลเราง่ายมากเลย โดยเฉพาะสมัยนี้ แม้กระทั่งวิธีการสอนใช้ภาษามือก็มีในยูทูบ ทำให้เรารู้ว่าที่เราคิดว่าภาษามือเป็นภาษาสากล จริงๆ แล้วมีสองแบบ คืออเมริกาใช้แบบหนึ่ง ไทยก็แบบหนึ่ง เหมือนทางรถที่มีทั้งขับเลนซ้ายเลนขวา

“ตอนเราศึกษาวิธีการใช้ก็คิดว่าสบายมากเลย ถ้าเรารู้ภาษามือเราจะสื่อสารกับผู้มีปัญหาทางการได้ยินได้ แต่ไม่ใช่ ส่วนฉากที่เราจะพาตัวละครไปก็ค้นคว้าหมด เรากำหนดว่าบางส่วนของฉากจะต้องอยู่ที่ประจวบคีรีขันธ์ แล้วทำให้เรารู้ว่าที่นั่นมีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะมาก คนมักจะมองเห็นแต่หัวหิน เพราะที่ตั้งของจังหวัดจะเป็นเมืองผ่าน ถ้าถามว่าทำไมเลือกประจวบฯ ก็ไม่รู้ มันปิ๊งขึ้นมาเอง

“แต่ถ้าให้เทียบเคียงกับเรื่อง ดวงใจที่ผูกพัน อันนั้นใช้ฉากกระบี่ด้วยเหตุผลสองข้อคือ หนึ่ง เคยไปแล้วประทับใจ ข้อสองคือ ของกินอร่อย มันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เราอยากเขียน หรืออยากหยิบยกมาเขียน ส่วนเมืองไหนที่เราไปแล้วยังไม่ประทับใจเราก็ผ่านไปก่อน จนกว่าจะมีอะไรที่เหมาะสมหรือเวลาที่เหมาะสม”

อลินาแซวขึ้นว่า “สุดท้ายยังไงก็ไม่พ้นเรื่องกินนะ”

กิ่งฉัตรหัวเราะคิก ก่อนออกตัวว่านวนิยายเรื่อง ตามรักคืนใจ ก็มีข้อมูลอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการกิน

“ตอนเขียนเรื่อง ตามรักคืนใจ นางเอกจะอยู่ในสวนสัก โชคดีตรงที่เราเคยไปทำข่าวป่าไม้ที่จังหวัดแพร่ เขาบอกวิธีการปลูกสักว่าต้องใช้อะไรบ้าง เราก็เคยพยายามเอามาปลูกเองที่บ้าน เอาเมล็ดมาสองถึงสามถัง มันขึ้นอยู่สองถึงสามต้น คือต้นสักขึ้นยากมาก ไม่ใช่ว่าอยากจะปลูกก็ปลูกได้

“ตอนนั้นอินเทอร์เน็ตก็ไม่มี เราต้องไปซื้อตำราปลูกสักมาสองสามเล่ม ก็นั่งอ่านไปๆ บางทีอ่านไปเป็นเล่มๆ แต่เอามาใช้จริงได้แค่ประโยคถึงสองประโยคเท่านั้นเอง คนอ่านอาจจะไม่รู้สึกหรืออ่านผ่านๆ แต่เราก็ต้องทำงานหนักแบบนี้ มันพลาดไม่ได้ เพราะถ้าพลาดขึ้นมาจะเป็นเรื่องใหญ่ จะกระทบไปหมดเลยตั้งแต่นักเขียน บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ หรือนิตยสาร ถ้ามันผิดก็แสดงว่าคุณไม่รู้จริง”

“เท่าที่ผมฟังมา คุณกิ่งฉัตรเขียนนวนิยายหลากหลายแนว จากหลากหลายแหล่งที่มานะครับ” ผมตั้งข้อสังเกต

“คนเขียนหนังสือจะสงสัยอยากรู้อยากเห็นค่ะ แต่อาจจะไม่ได้เชื่อเรื่องที่เขียนทั้งหมด เพราะบางเรื่องเราก็ไม่เคยเห็นหรือพิสูจน์ได้ ทุกอย่างมันก็เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยความที่เราเป็นคนเขียนหนังสือ ทุกอย่างมันเป็นไปได้ทั้งนั้น แล้วเราไม่ได้จำกัดตัวเองว่าจะเขียนแนวไหน”

“นี่ใช่ไหมที่ทำให้เธอเขียนเรื่องแนวแฟนตาซีด้วย” อลินาถามบ้าง

“ใช่เราเขียนแนวสืบสวนด้วย ไม่มีเรื่องรัก เขียนเป็นชุด ‘ชุดสาวน้อยเกวลิน’ ก็แนววรรณกรรมเยาวชนวัยรุ่นในแบบ Young Adult เหมือนของต่างประเทศที่จะแก้ไขเป็นคดีไปในแต่ละเล่ม หรือ ‘ชุดชมรม’ ก็จะเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติเข้ามา ซึ่งเราจะใช้นามปากกาว่า อลินา”

ผมหันมองไปทางอลินา ซึ่งก็หันมามองผมด้วย ดูเหมือนว่าความแปลกใจของผมจะทำให้เธอพอใจ

ขณะที่คุณกิ่งฉัตรก็เล่าต่อไปว่า “แต่ชุดที่ทำให้นามปากกาอลินาติดตลาดจริงๆ คือ ‘ชุดนวหิมพานต์’ จะเป็นการเอาตำนานหิมพานต์มาเขียน

“จุดเริ่มต้นของ ‘ชุดนวหิมพานต์’ มาจากตอนที่เราไปร้านรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นหมอดู เพื่อนก็ไปดูหมอ แต่เราไม่ได้เป็นคนดูหมอ ด้วยความที่เราเป็นคนที่เชื่อง่าย ถ้าเชื่อแล้วจะสลัดไม่ออก มันจะเปลี่ยนชีวิตเรา เราจึงตั้งคำถามว่า ถ้าโหรไม่มาทำนายชีวิต เรื่องนั้นมันจะเกิดไหม ถ้าโหรไม่บอกว่าลูกจะโตมาล้างเผ่าพันธุ์ คุณจะเอาลูกไปทิ้งไหม ถ้าไม่ทิ้งลูก ลูกจะกลับมาล้างเผ่าพันธุ์จริงไหม ถ้าสังเกตดูดีๆ มันเกิดจากคำทำนายทั้งนั้น ถ้าถูกคำทำนายว่าไว้แบบนี้ คุณก็ไปพยายามบิดให้มันเป็นไปตามนั้น

“เราสนใจเรื่องนี้มาก แต่ไม่ยุ่งดีกว่า ไม่ขอฟังคำทำนาย พอเพื่อนไปดู เราก็ไปนั่งฟังด้วย ในที่นั้นมีหนังสือเล่มหนึ่งพูดถึงคำทำนายเรื่องโลกแตก เขาทำนายว่าปีนี้โลกจะแตก จะหยุดหมุนไปเเป๊บหนึ่ง ไม่กี่วินาที แต่การหยุดจะทำให้เกิดฝุ่นฟุ้ง เกิดระเบิด เกิดน้ำท่วม อเมริกาน้ำจะท่วมจนเหลือเป็นเกาะ เพราะน้ำจะผ่าเข้าไปตรงกลางกลายเป็นเมืองอกแตก ทวีปทางใต้จะจมหมด เหลือแต่ชมพูทวีป หรืออินเดียตอนเหนือทั้งหมด คือเทือกเขาหิมาลัย

“เราอ่านและคิดว่าถ้ามันเหลือแค่นั้นจริง คงเหลือแต่ป่าหิมพานต์แล้ว และคิดต่อว่าถ้าโลกแตก เมืองที่เป็นคู่ขนานอย่างป่าหิมพานต์ก็ต้องแตกด้วย แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าสองโลกมาชนกันแล้วเกิดเป็นโลกใหม่ขึ้น คือนวหิมพานต์

โลกอีกใบในเรื่องเล่าของนักเขียนนวนิยายเจ้าของผลงาน สูตรเสน่หา พรพรหมอลเวง ฯลฯ

“พอเราสร้างโลกขึ้นมา เราก็สร้างตัวละคร เรามองว่ามนุษย์นั้นด้อยกว่าเทพกว่าอสูรอยู่แล้ว มนุษย์ก็กลายเป็นชั้นที่ถูกปกครอง เทพกับอสูรก็กลายเป็นชั้นปกครองไป แต่เทพกับอสูรเมื่อออกจากป่าหิมพานต์ก็ต้องสูญเสียบางอย่างไป เช่นพวกมนตร์วิเศษต่างๆ จะเหลือเพียงน้อยนิด แต่ก็มีเหลืออยู่พอให้รู้ว่ามีความแตกต่างจากมนุษย์ จะมีพวกกินรี ราชสีห์ หรือพวกครึ่งคนครึ่งสัตว์ มีรากษสออกมาด้วย และอาศัยปะปนกันไป แต่ตัวละครพวกนี้จะมีคุณลักษณะเฉพาะของเขาอยู่แล้ว

“คำถามคือเมื่อพวกเขามาอาศัยอยู่ในโลกมนุษย์จะเป็นอย่างไร เช่น คุณเป็นกินรี ขาคุณเป็นนก คุณก็ต้องใส่กระโปรงสุ่มปิดบังขาไว้ และสงสัยว่ากินรีจะนอนยังไง เพราะขาเขาเหมือนไก่ เราก็สังเกตไก่นอน คือนั่งนอนเหมือนกกไข่ และที่สำคัญคือ พวกนี้จะสายตาดี เพราะเขาเป็นนก

“ตัวละครพวกนี้จะมีรายละเอียดเยอะมาก ยังมีอีกว่าตัวผู้ชายเรียกอะไร ผู้หญิงเรียกอะไร เอกพจน์เรียกอะไร พหูพจน์เรียกอะไร มันจุกจิกมาก เพราะเราเอาตัวละครที่มีอยู่แล้วในวรรณคดีมาใช้ชีวิตปัจจุบันที่แตกต่างจากหิมพานต์

“รวมทั้งภาษาในการพูด เราไม่ใช้ภาษาอังกฤษเลย เพราะว่าถ้าโลกล่มสลาย คนเหลืออยู่นิดเดียวแล้ว อารยธรรมทางตะวันตกจะด้อยกว่าทางตะวันออก เพราะฉะนั้น ภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาของเราหมด ถามว่า คำว่า ‘ลิฟต์’ เราจะแทนด้วยภาษาไทยว่าอะไร เราก็มาคิดว่าจะใช้คำว่า ‘ห้องเดินทาง’ หรือคำว่า ‘คอมพิวเตอร์’ เราก็ใช้ว่า ‘เครื่องช่วยอัจฉริยะ’ หรือแม้แต่คำว่า อัตโนมัติ เราก็ไม่ใช้ ต้องคิดคำอื่นแทน เรื่องนี้มันจึงยาก เพราะมีรายละเอียดมากมาย”

ขณะนั้นผมเริ่มสับสนว่า ที่ผมข้ามจากโลกมนุษย์มาอีกโลกหนึ่งนั้น เป็นโลกที่เธอสร้างขึ้นหรือมีอยู่จริงกันแน่ แต่มากไปกว่านั้นคือ อลินาที่พาผมมาหากิ่งฉัตรนั้นเป็นเพื่อนกับกิ่งฉัตรจริงหรือ หรือทั้งสองคนมีความสัมพันธ์ที่มากกว่านั้น

ในระหว่างที่ผมยังมึนตื้อกับข้อสงสัย อลินาก็ถามถึงนวนิยายของกิ่งฉัตรที่นำไปทำละคร “นวนิยายของเธอมีสีสันสนุกสนานแบบนี้ก็เลยเหมาะกับไปทำละครทีวีที่โลกมนุษย์ชอบดูกันสินะ”

“ตอนเราเขียนเราไม่เคยคิดว่ามันจะเป็นละครเลยนะ โดยเฉพาะตอนเขียนช่วงแรกๆ เมื่อก่อนการจะนำนวนิยายไปทำละครเป็นเรื่องยากมาก ตอนที่ทางช่องเจ็ดติดต่อว่าอยากได้ พรพรหมอลเวง ไปทำละคร เรายังถามเลยว่า พี่แน่ใจเหรอ แน่ใจจริงๆ เหรอ เพราะว่าตอนนั้นเราไม่คิดว่าใครจะทำเรื่องวิญญาณของผู้ใหญ่ที่อยู่ในร่างเด็กได้ เราคิดว่าการเอานวนิยายไปทำละครเป็นผลพลอยได้

“เราเป็นนักเขียน กลุ่มเป้าหมายแรกของเราคือกลุ่มคนอ่าน เพราะฉะนั้น เราต้องยึดผู้อ่านเป็นอันดับแรก เราทำงานเขียนเพื่อทำให้คนอ่านของเรามีความสุขที่สุด เมื่อเป็นละครก็ไม่ใช่งานของเราร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เขาก็ต้องเขียนบท ดัดแปลง กำกับ หรือการแสดงของดาราก็ประกอบเป็นงานอีกชิ้นหนึ่งขึ้นมา

“การทำงานเขียนเราจึงเชื่อมั่นอยู่อย่างเดียวคือ เขียนให้คนอ่าน เราไม่ทำงานให้คนดูละคร และที่แปลกมากคือ คนอ่านกับคนดูมักจะไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน คนอ่านเวลาดูละครก็จะไม่ค่อยชอบ แต่คนดูละครก็ดูสนุกๆ ไป”

อลินายังใช้ช่วงที่ผมงุนงงอยู่ถามอีกว่า “เดี๋ยวนี้คนอ่านมีทางเลือกให้อ่านเยอะมาก แล้วโลกมนุษย์ก็มีช่องทางเผยแผ่เยอะมาก ว่าแต่เธอได้อ่านงานของรุ่นใหม่ๆ บ้างหรือเปล่า”

“เราก็ตามงานเขียนของคนรุ่นใหม่ที่เขียนตามเว็บต่างๆ นะ บางทีเราก็ทึ่งมาก ทึ่งที่เด็กรุ่นใหม่เก่ง บางคนเขียนเรื่องแรกก็ดีเลย แสดงถึงการใช้ภาษาที่ดี แม้ว่าจะมีคำผิดอยู่เยอะพอสมควร แล้วเดี๋ยวนี้งานเขียนมันเยอะมาก เยอะจริงๆ คือเป็นพันเป็นหมื่นเรื่อง แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาเขียนกันมาก ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และเป็นเรื่องโชคดีที่สมัยนี้ง่าย คุณเขียนเรื่อง เผยแผ่ ถ้าสำนักพิมพ์สนใจก็ติดต่อมาทำเป็นเล่ม”

โลกอีกใบในเรื่องเล่าของ กิ่งฉัตร นักเขียนนวนิยายเจ้าของผลงาน สูตรเสน่หา พรพรหมอลเวง ฯลฯ
โลกอีกใบในเรื่องเล่าของ กิ่งฉัตร นักเขียนนวนิยายเจ้าของผลงาน สูตรเสน่หา พรพรหมอลเวง ฯลฯ

อลินายังเสริมว่า “แต่พอเขียนง่าย เผยแผ่ง่าย ทำให้งานเขียนขาดการตรวจแก้ บรรณาธิการก็หายไป”

“ใช่ เราจึงให้ความสำคัญกับบรรณาธิการมาก” กิ่งฉัตรตอบ “เรายังเคารพบรรณาธิการเราอยู่ เราเชื่อว่านักเขียนทุกคนมีอีโก้ เชื่อว่างานฉันออกมาดีแล้ว แต่ว่าเราจะตาบอด เราจะมองไม่เห็นจุดบอดของเรา เราจะไม่เห็นจุดบกพร่องว่าอะไรอยู่ตรงไหน เขียนผิดหรือเปล่า ใจความสับสนหรือเปล่า

“บรรณาธิการจะเข้ามาช่วยหาจุดผิดพลาดเหล่านี้ให้เรา งานบรรณาธิการจึงเป็นงานสำคัญที่จะช่วยให้งานเขียนเราสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ถ้าเป็นไปได้ ช่วยหาคนที่เป็นบรรณาธิการหรือคนช่วยอ่านงานเรา คนที่มีความรู้ มีทักษะในการอ่าน อ่านหนังสือมาเยอะ มาช่วยอุดข้อบกพร่องให้งานของเรา

“เราโชคดีที่ได้บรรณาธิการที่เคารพเราและเราเคารพเขา เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่แก้ เขาจะไม่แก้โดยพลการ จะให้เรารับรู้และแก้ไขจุดบกพร่องด้วยตัวเราเอง แต่ด้วยความที่ทำงานมานานมาก บรรณาธิการจะรู้จุดอ่อนเราอยู่แล้ว เช่นรู้ว่าเรามักผิดคำนี้บ่อยๆ ก็จะแก้ให้เราไปเลย”

ขณะนั้นผมยังนั่งข้องใจอยู่กับปัญหาที่ยังไม่ถูกคลี่คลาย นั่นคือความสัมพันธ์ระหว่างกิ่งฉัตรกับอลินา ว่าตกลงแล้วเธอทั้งสองคนเป็นอะไรกันแน่ ถึงได้นำชื่อไปสร้างเป็นอีกนามปากกาหนึ่ง ผมจึงลองถามว่า “ในฐานะที่คุณกิ่งฉัตรกับคุณอลินาเป็นเพื่อนกันและเป็นนักเขียนด้วยกันทั้งคู่ ไม่ทราบว่ามีการแข่งขันกันบ้างหรือเปล่าครับ”

“นักเขียนทำงานกับตัวเองเป็นหลักค่ะ” กิ่งฉัตรตอบ

“เราไม่ได้สู้กับใคร เราสู้กับตัวเอง” อลินาเสริม

ผมถามต่ออีกว่า “มีความรู้สึกกดดันบ้างไหมครับเมื่อเขียนหนังสือที่ดีมากออกมาแล้ว จะทำให้เขียนเรื่องต่อไปได้ยากขึ้น” แต่หลังจากคำถามนั้น ผมจำไม่ได้แล้วว่าใครเป็นคนตอบ เพราะเสียงของทั้งสองคนฟังดูสอดประสานกัน

“ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจเราเอง ถ้าเราเขียนแล้วเรากดดัน มันก็จะกดดันตัวเอง แต่ถ้าเราปล่อยวางได้ก็ปล่อยไป สมัยที่เริ่มต้นงานใหม่ๆ เรากังวลตรงจุดนี้มากว่างานมันจะออกมาไม่ดี

“นักเขียนผู้ใหญ่คือ คุณกฤษณา อโศกสิน เคยพูดกับเราว่า ผลงานไม่มีทางที่จะเท่ากันได้หมด มันจะมีขึ้น มีลง มีหลากหลาย เป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำงานเป็นมาสเตอร์พีซทุกชิ้น หรือแย่ทุกชิ้น แล้วก็เป็นจริงอย่างนั้น

“เราเคยไปสอนหนังสือครั้งหนึ่ง แล้วให้น้องๆ ลองแต่งนามปากกา น้องเขาก็แต่งนามปากกาว่า ผู้ชนะ เพราะเวลาเขียนหนังสือจะได้สู้กับนักเขียนคนอื่นได้ เราก็แปลกใจ บอกว่า น้อง เดี๋ยวนะ นักเขียนจะไปสู้กันเองทำไม แค่สู้กับตัวเองก็จะแย่อยู่แล้ว เพราะศัตรูที่สำคัญที่สุดและเป็นศัตรูคนแรกของนักเขียนคือตัวนักเขียนเอง

“เราต้องสู้ให้เขียนเรื่องจนจบให้ได้ ก่อนสู้กับความขี้เกียจ สู้กับอคติและความเชื่อของตัวเอง ที่จะทำให้ผลงานเล่มหนึ่งออกมาได้ เมื่อสู้จนเขียนงานออกได้เล่มหนึ่งแล้ว เราก็ต้องสู้เพื่อผลิตงานเล่มต่อไป และต่อไปอีกให้ดีขึ้นๆ มันเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานไม่มีการพัก และการสู้กับตัวเองนี่แหละหนักที่สุด

“เพราะไม่ใช่ว่าหนังสือเล่มเดียวจะเลี้ยงคุณไปได้ตลอดชีวิต คุณจะต้องเขียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง ความสำคัญคือการทำงานให้ได้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้คนอ่านยังติดตามเราไปตลอด”

ผมถามต่ออีกว่า “แล้วคิดจะเกษียณอายุหรือเลิกเขียนหนังสือกันไหมครับ” หลังจากคำถามนั้น ผมก็ไม่สนใจแล้วว่ากิ่งฉัตรหรืออลินาจะเป็นผู้ตอบ เพราะดูเหมือนว่าแรงใจในการเขียนของทั้งสองคนสอดคล้องต้องกัน

โลกอีกใบในเรื่องเล่าของ กิ่งฉัตร นักเขียนนวนิยายเจ้าของผลงาน สูตรเสน่หา พรพรหมอลเวง ฯลฯ

“ทุกวันนี้นักเขียนอาวุโสก็ยังเขียนหนังสืออยู่ คุณกฤษณา อโศกสิน คุณทมยันตี หรือ ม.ล.เนื่อง ซึ่งตอนเขียนก็อายุมากแล้ว ท่านก็ยังเขียน นักเขียนผู้ใหญ่ที่หยุดเขียนไปส่วนมากมักมีปัญหาสุขภาพ ดังนั้น การเขียนของนักเขียนไม่มีเกษียณอายุ

“ข้อดีมากๆ ของอาชีพนี้คือ อิสระ เรามีคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง เราไปไหนก็ได้ เราทำงานจากที่ไหนก็ได้ของมุมโลก ต่อให้ไม่มีไฟฟ้า เราก็มีปากกาและกระดาษเขียนอะไรของเราได้ ตรงนี้คือข้อดีมาก ส่วนข้อเสียคือเราจะหยุดไม่ได้ ต้องคิดตลอดเวลา คิดถึงพล็อต คิดถึงตัวละคร แต่อิสระนี่ก็อาจจะทำให้เราขี้เกียจ เราจึงต้องบังคับตัวเองให้มีวินัย

“นักเขียนเป็นอาชีพที่ทำแล้วเรามีความสุข แล้วเรารักมันจริงๆ เวลาที่เขียนงานลื่นหรือปิดต้นฉบับได้อย่างพอใจ เราจะโล่ง เหมือนได้ปลดปล่อย แล้วคนเขียนหนังสือจะมีความรู้สึกเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อหนังสือออกมาเป็นเล่มหรือมีผลงานปรากฏวันแรกที่วางขายเราจะมีความสุข

“ที่สำคัญมากคือ คนอ่าน เพราะเป็นแรงใจให้เราเขียนหนังสือต่อไป โชคดีที่เรามีคนอ่านที่สนับสนุนเราและรักเรา เวลาเรามีปัญหาก็จะมีคนเข้ามาช่วยทำให้เรายืนหยัดอยู่ได้ แต่วันไหนถ้าไม่มีคนอุดหนุนงานเรา เราก็คงอยู่ไม่ได้

“การหยุดเขียนของนักเขียนจึงมีอยู่ปัจจัยเดียวคือ ไม่มีผู้อ่าน ถ้าไม่มีผู้อ่าน นักเขียนก็จะหยุดเขียนไปโดยปริยาย”

จู่ๆ คำตอบสุดท้ายก็ทำให้ผมหายสงสัยเรื่องการเดินทางไปอีกโลกหนึ่ง รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างกิ่งฉัตรกับอลินาก็พลันหายไปด้วย เมื่อผมย้อนกลับไปที่คำถามตอนต้นว่า “คุณเชื่อในความฝันไหม”

ผมก็อยากบอกว่า “เราทุกคนต้องมีความฝัน”

ไม่ใช่เพราะความฝันนั้นคือความมุ่งมั่น ตั้งใจ เชื่อใจ ไว้เป็นเป้าหมายให้เราเดินไปให้ถึงเท่านั้น

แต่ที่สำคัญคือ ความฝันยังหมายถึงจินตนาการ

จินตนาการจะทำให้เราเปิดใจและเข้าใจโลกใบอื่น

โดยเฉพาะโลกใบอื่นที่อยู่ในนวนิยายของกิ่งฉัตร หรืออลินา ซึ่งทำให้เราสุข เศร้า หัวเราะ เสียน้ำตา ทำให้เราได้ท่องไปในโลกที่ยังไม่เคยไป ได้พบเจอกับตัวละครแปลกหน้า อาจทำให้เรารักตัวละครนี้ หรือชังตัวละครอีกตัว ทำให้เราร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับตัวละครได้อย่างน่าอัศจรรย์

นวนิยายทำให้เราจินตนาการถึงอีกโลกหนึ่ง

โลกที่ทำให้เรา ‘รู้สึก’ ถึงความเป็นมนุษย์ในตัวเราและผู้อื่น

Writer

Avatar

จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร

หลงใหลโลกวรรณกรรมในหลากหลายมิติ ศึกษามาทางด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ มีผลงานเขียนทั้งเรื่องสั้น (นามปากกา สมุด ทีทรรศน์) ความเรียง บทวิจารณ์วรรณกรรม บทความวิชาการ และบทสัมภาษณ์ นอกจากงานเขียนยังเป็นบรรณาธิการแปลอิสระและนักเดินทาง (ไม่อิสระ) ด้วย

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล