ในชีวิตติดงานที่แสนวุ่นวายตั้งแต่เช้าจรดเย็น เราจะเก็บเกี่ยวความสุขเล็กความสุขน้อยในชีวิตประจำวันได้อย่างไร เป็นคำถามที่หลายคนเพียรค้นหาคำตอบ 

หากเราได้ทำงานในสถานที่ที่ชวนให้ใจเย็น เหมือนได้เหม่อมองทอดสายตาออกไปยังโค้งน้ำ สูดอากาศบริสุทธิ์เข้าให้เต็มปอด ท่ามกลางบทสนทนาของเพื่อนร่วมงานทั้งคุ้นหน้าและแปลกหน้าบนพื้นที่แสนสบาย

นี่ไม่ใช่เพียงจินตนาการ แต่กำลังจะเกิดขึ้นจริงอีกไม่นานนี้ที่อาคาร ‘KingBridge Tower’ โดยบริษัท คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ บริษัทในเครือสหพัฒน์ที่พวกเราคุ้นเคยกันดี

KingBridge Tower กำลังจะเป็นอาคารสำนักงานให้เช่าที่รังสรรค์ขึ้นให้ตั้งตระหง่านเป็น ‘สถาปัตยกรรมเคียงคู่สะพานภูมิพล’ หนึ่งในสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงามที่สุดบนถนนพระราม 3 ซึ่งเครือสหพัฒน์ได้ชักชวนพาร์ตเนอร์ด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบทั้งในไทยและนานาชาติมาร่วมกันสร้างสรรค์อาคารแห่งนี้ เพื่อให้ตอบคุณภาพชีวิตของการทำงานที่เข้าอกเข้าใจและสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคน

เพื่อให้มองเห็นภาพของอาคารสำนักงานแห่งนี้ได้ลึกซึ้งในทุกรายละเอียดที่ทีมงานตั้งใจมอบให้กับผู้ใช้งาน คุณธนินธร โชควัฒนา ผู้อำนวยการโครงการคิงบริดจ์ ทาวเวอร์ และ คุณเมธินทร์ จันทรอุไร กรรมการบริหาร บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด จึงเป็นผู้เล่าเรื่องราวตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงอนาคตของอาคารแห่งนี้แบบรอบด้าน ทั้งจากมุมมองของเจ้าของและนักออกแบบ

KingBridge Tower อาคารสำนักงานมีน้ำใจที่มองทุกความสุขเป็นเรื่องสำคัญ

ถนนพระราม 3 วิถีชีวิต และการประสานพลัง

“เครือสหพัฒน์เราเติบโตมาจากตรอกอาเนี๊ยเก็ง ถนนทรงวาด ย่านเยาวราช และเริ่มมาขยายกิจการให้เติบโตขึ้นในย่านสาธุประดิษฐ์ พระราม 3 เราต้องการมาพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ สร้างชุมชนที่มีความสุข แล้วเติบโตไปด้วยกัน” คุณธนินธรเท้าความให้เราเห็นภาพของความผูกพัน 

“ย่านพระราม 3 เป็นย่านสำคัญทางเศรษฐกิจอีกแห่งของกรุงเทพฯ ด้วยการเชื่อมต่อกับถนนสายสำคัญอย่างสาทรและสีลมที่มีธนาคารและสำนักงานใหญ่ของบริษัทต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่แถบนี้เป็นจำนวนมาก เรามองว่าย่านธุรกิจและอยู่อาศัยจะขยายมาทางพระราม 3 มากขึ้น ซึ่งย่านนี้จะไม่ต้องกระจุกตัวมากนัก ทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เดินทางสะดวก และด้วยความที่เราได้ที่ดินใกล้แม่น้ำตรงนี้มา เราจึงตั้งใจทำสถาปัตยกรรมใหม่นี้ให้เป็นแลนด์มาร์กเคียงคู่กับสะพานภูมิพล และเป็นความภาคภูมิใจของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในย่านนี้”

อาคารแห่งนี้เป็นอาคารสูงหลังแรกของเครือสหพัฒน์หลังผ่านการดำเนินงานมากว่า 80 ปี นับเป็นบ้านหลังแรกที่บริษัทต่าง ๆ ในเครือจะได้มาอยู่ร่วมกัน พร้อมกับสร้างพื้นที่แห่งการพบปะของพันธมิตรและองค์กรเพื่อสร้างโอกาสที่เติบโตมากกว่า โจทย์ข้อแรกของทางสหพัฒน์จึงเกิดขึ้นจากโลเคชัน ด้วยทัศนวิสัยที่อยู่เคียงข้างสะพานภูมิพล พร้อมกับวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ต้องการประสานพลังของทุกฟากฝั่งได้อย่างยั่งยืน จึงเกิดเป็นแนวความคิดที่ว่า ‘The Spirit of Synergy’

KingBridge Tower อาคารสำนักงานมีน้ำใจที่มองทุกความสุขเป็นเรื่องสำคัญ

“คำว่า Synergy นอกจากหมายถึงการรวมตัวกันของผู้คนและองค์กรแล้ว ในทางการออกแบบ เรายังอยากให้อาคารแห่งนี้สอดประสานเข้ากันดีกับสะพานภูมิพล ด้วยทัศนวิสัยที่กลมกลืนเคียงคู่ไปกับสะพาน และบริบทโดยรอบ ทั้งกับชุมชน เรียกว่างดงามคู่ควรที่จะอยู่เคียงคู่กับสะพานภูมิพลและย่านพระราม 3”

ขั้นตอนถัดมาจึงเป็นการเสาะหาเพื่อนร่วมงานในการสร้างสรรค์อาคารแห่งนี้ ซึ่งต้องเป็นคนเก่งที่เชื่อในคุณค่าร่วมแบบเดียวกัน โดยเฉพาะกับเรื่องการสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีให้กับผู้คนที่ใช้งานอาคาร “พลังของคนเก่งหลายคนที่รวมกันเป็น ‘พลังของทีม’ ที่ Synergy กัน เพื่อผลลัพธ์ที่อิมแพกต์และเป็นไปอย่างที่ตั้งใจได้ดียิ่งกว่า” A49 สถาปนิกผู้เป็นหัวเรือใหญ่ของงานออกแบบสถาปัตยกรรม และ Mott MacDonald บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาระดับโลก ผู้ออกแบบสะพานภูมิพล คือทีมอเวนเจอร์สที่มารวมพลังกันในงานครั้งนี้ 

แม้ช่วงระหว่างทางในขั้นตอนการออกแบบจะพอดีกันกับช่วงสถานการณ์โควิด แต่นี่เองที่เครือสหพัฒน์ได้ชวนพาร์ตเนอร์อย่าง Thai Obayashi มาทำงาน CSR ร่วมกัน ในการแจกจ่าย ‘กล่องปันน้ำใจ’ ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องใช้อุปโภคบริโภคที่สร้างความสุขและพลังใจกับชุมชนโดยรอบและสังคม ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความตั้งใจที่ได้มอบกล่องปันน้ำใจในทุกเดือน พร้อมกับการพัฒนาโครงการแบ่งปันน้ำใจในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีงบประมาณ 150 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 4 ปีในการสร้างอาคาร KingBridge Tower

KingBridge Tower อาคารสำนักงานมีน้ำใจที่มองทุกความสุขเป็นเรื่องสำคัญ
KingBridge Tower อาคารสำนักงานมีน้ำใจที่มองทุกความสุขเป็นเรื่องสำคัญ

อาคารที่ไม่เบียดเบียนรอบข้าง

“จุดเริ่มต้น ผมว่าทุกคนคงอยากทำอาคารไอคอนิก แต่คำว่าไอคอนิกมันตีความได้หลายแบบ ในเชิงของเรา เราต้องการสร้างอาคารที่มีเสน่ห์ อาจจะเป็นอาคารที่ไม่ได้หันมองทันทีก็ได้ แต่ถ้าคุณได้หันมามองแล้ว คุณจะมองเราไปอีก 2 – 3 ชั่วโมง แล้วก็ให้เหมือนอยู่คู่กับสะพานมานานแล้ว ซึ่งเรียกว่าเป็น Harmonious Approach คือไม่ได้สร้างมาแข่งกัน แต่มาเสริมกัน” 

ด้วยสถาปัตยกรรมที่การปาดเอียงส่วนยอดของอาคารทำมุม 45 องศา มุ่งหน้าทอดสายตาไปยังสะพานภูมิพลราวกับอยู่เคียงคู่ด้วยกันมา “ผมคิดว่านี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อาคารของเรายั่งยืนและอยู่ยาว” คุณเมธินทร์เริ่มเล่า

“คนเราเกิดมาอย่ามุ่งแต่จะหาประโยชน์ใส่ตน จนกลายเป็นคนเอาเปรียบสังคมหรือเบียดเบียนธรรมชาติสิ่งแวดล้อม” คือปรัชญาการทำงานของ ดร.เทียม โชควัฒนา ที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบให้กับคุณเมธินทร์และทีมงาน A49

“จริง ๆ คำว่า ‘ไม่เบียดเบียน’ มันขยายต่อได้ในเชิงสถาปัตยกรรมแน่นอน เราเลยลองเอาคำนี้มาขยายความดูว่าจะประยุกต์กับการออกแบบได้อย่างไรบ้าง โดยเริ่มต้นจากที่ว่า อาคารของเราต้องไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม นั่นคือเรื่องความยั่งยืน และสถาปัตยกรรมอาคารสูงที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด หรือแนวคิด Passive Design”

เบื้องหลังการออกแบบ KingBridge Tower โดยเครือสหพัฒน์ อาคารสำนักงานให้เช่าที่ออกแบบโดยอยากให้คนทำงานมีความสุขที่สุด

นั่นเป็นเหตุผลที่สถาปัตยกรรมของอาคารถูกคิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมจริงในพื้นที่ ทั้งเรื่องแรงต้านลมที่ปะทะตัวอาคารในระดับความสูงที่แตกต่างกัน และการเปิดพื้นที่เพื่อต้อนรับธรรมชาติในทุกประสาทสัมผัส “ถ้าสังเกต อาคารนี้จะเหมือนเอียงสอบขึ้น แล้วโค้งตรงมุมปลายอาคารตามหลักการ Aerodynamic หรืออากาศพลศาสตร์ เพื่อลดแรงต้านของลม ร่วมกับอาคารที่เปลี่ยนระนาบ 2 ช่วง ซึ่งออกแบบเป็นช่องลมลอดเพื่อลดแรงต้านอากาศลงไปอีก”

งานกายภาพของอาคารอีกส่วนที่คิดเพื่ออยู่กับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนสำหรับภูมิอากาศเมืองร้อน คือการติดตั้งฟินตามแนวนอนรอบอาคารที่ยื่นมากน้อยแตกต่างกันไปตามระดับแสงแดดที่ส่องถึง “ออฟฟิศทั่วไป มุมริมกระจกเป็นมุมที่ดีที่สุด เพราะมีแสงธรรมชาติและวิวที่ดีที่สุด แต่เป็นมุมที่ไม่มีใครอยากนั่งมากที่สุด เพราะมันร้อน คนที่นั่งริมกระจกก็จะบ่น”

“หลักการของฟินก็เหมือนกับเรากางร่มให้ตึก เราไม่ได้บอกว่าตึกจะเย็น แต่ความสบายมันเกิดขึ้น เพราะช่วยลดความร้อนที่เข้ามาในตัวอาคาร ทำให้ใช้ปริมาณแอร์น้อยลง ปล่อยความร้อนออกจากตัวอาคารน้อยลง ก็กลับไปเรื่องการเบียดเบียนธรรมชาติให้น้อยที่สุดตามจุดมุ่งหมายหลักที่ตั้งไว้” การออกแบบทางกายภาพตั้งแต่วันแรกจึงนับเป็นการลงทุนที่อยู่ยาว โดยไม่ต้องเป็นห่วงว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่อาคารหลังนี้ยังคงบทบาทหน้าที่ได้อย่างดีตลอดอายุการใช้งาน

“เราเอาเรื่องเล็ก ๆ ที่คนประสบปัญหาในชีวิตประจำวัน มาเป็นตัวขยายให้แน่ใจได้ว่าเราไม่ได้แคร์แค่ว่าอาคารต้องเป็นไอคอนิก แต่เราแคร์ไปถึงชีวิตของคนจริง ๆ ที่ทำงานในพื้นที่นั้น” 

ภายในอาคาร พื้นที่ของคุณภาพชีวิตและรอยยิ้ม

ทีมออกแบบเริ่มต้นด้วยการกลับมามองตัวเองว่า “ถ้าเราจะย้ายไปอยู่อาคารนี้ เราจะอยากได้อะไรบ้าง” แน่นอนว่าคำตอบที่ได้หลากหลายมาก และทั้งหมดคือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่หยิบมาประกอบรวมกันเป็นภาพใหญ่ภายในอาคาร

“มีเสียงของทีมงานคนหนึ่งพูดขึ้นมา ซึ่งพวกเราเห็นด้วย คือพักเที่ยงเป็นช่วงเวลาไฮไลต์ของวัน ทุกคนจะรวมตัวกันคุยเรื่องงานหรือนอกเรื่อง ได้กินของอร่อยที่อยากกินแล้วมีความสุข เลยกลับมาสังเกตว่า แล้วทำไมออฟฟิศยุคเก่าถึงมีแคนทีนอยู่ใต้ตึก เพราะนั่นคือพื้นที่เหลือเพื่อเก็บพื้นที่วิวดีไว้ใช้งานอย่างอื่น แต่กลายเป็นว่าเรากำลังเอาช่วงเวลาที่ดีที่สุดเพียงชั่วโมงเดียวของคนทำงานไปอยู่ในที่ที่แย่ที่สุด”

“ตอนนั้นเลยคิดต่างว่า เป็นไปได้ไหม ถ้าผมจะเอาสาธารณูปโภคส่วนกลางเข้ามาอยู่ในโซนที่คนไปแล้วจะมีความสุขและสร้างรอยยิ้ม เราเลยยกแคนทีนขึ้นมาบนชั้น 3 ในระดับเดียวกันกับสะพานพอดี ได้วิวแม่น้ำ วิวเมืองของพระราม 3 และเห็นกระโดงสะพาน นอกจากคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการเติมความสุขให้ชีวิตทำงาน นี่คือแกนหลักของงานดีไซน์ที่ทำให้พื้นที่มีความหมายและทำให้ผู้คนยิ้มออก”

เบื้องหลังการออกแบบ KingBridge Tower โดยเครือสหพัฒน์ อาคารสำนักงานให้เช่าที่ออกแบบโดยอยากให้คนทำงานมีความสุขที่สุด

จากรอยยิ้ม เมื่อมารวมพลังกับคีย์เวิร์ดสำคัญ Synergy จึงเกิดเป็นอีกแนวคิดของการสร้างพื้นที่ส่วนกลางสำหรับสมาชิกผู้คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ที่มารอผู้ปกครองเลิกงาน ได้ใช้พื้นที่ส่วนกลางตรงนี้อย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะนั่งทำงานหรือวิ่งเล่น “เพราะว่าออฟฟิศไม่ได้มีความเท่อย่างเดียว ในชีวิตจริงยังมีสิ่งหลากหลายที่เกิดขึ้น ผมเลยคิดว่าควรมีสเปซให้ครอบครัวมาอยู่แล้วปลอดภัย และใช้งานได้จริง”

นอกเหนือจากวิวนอกกระจกที่จะได้เห็นแบบเต็ม ๆ ตาแล้ว ภายในก็เนรมิตให้เป็นสวนธรรมชาติที่รายล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ ช่วงกลางวันมานั่งรับประทานอาหาร ระดมสมอง หรือประชุมแบบกึ่งทางการ ส่วนช่วงเย็นมาจ็อกกิงหรือเดินให้ได้ออกกำลัง ก็นับว่าเป็นโซนนันทนาการและพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนสำหรับทุกคน

แนวความคิดของการ Synergy ยังไปถึงชั้นที่มี Water Scape ด้านบนที่เป็นพื้นที่กิจกรรมที่เป็นเหมือนกับสะพานที่ยื่นออกมาเป็นแพลตฟอร์มสำหรับจัดกิจกรรม โดยมีฉากหลังเป็นวิวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ “โดยเฉพาะงานตอนกลางคืนหรือช่วงปีใหม่ มองไปเห็นพลุจากสถานที่โดยรอบ”

อีกไอเดียของพื้นที่ส่วนกลางที่น่าสนใจ ในส่วนชั้นห้องประชุมที่เตรียมอุปกรณ์และสถานที่ให้สำหรับรูปแบบการประชุมที่หลากหลาย ซึ่งนับว่าน่าสนใจสำหรับบริษัทผู้เช่าขนาดเล็กที่อาจไม่มีห้องประชุมใหญ่เป็นของตัวเอง ก็ใช้งานห้องประชุมส่วนกลาง หรือแม้แต่การเปลี่ยนบรรยากาศห้องประชุมจากที่เดิม มาเติมพลังในพื้นที่แห่งใหม่ ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้ดีไปอีก

เรื่องราวของคุณภาพชีวิตยังรวมถึงการสร้างคุณภาพอากาศที่ดีต่อสุขภาพของผู้ใช้งานในระยะยาว ด้วยระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศ MERV 14 กรองอากาศ ฝุ่นละออง และมลภาวะ PM 2.5 ได้มากกว่า 90% อีกด้วย

อาคารที่อยู่ยาวอย่างยั่งยืน

นอกจากกระบวนการออกแบบอาคารที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติแล้ว ในช่วงระหว่างการก่อสร้างในตอนนี้ยังต้องมีการวางแผนงาน เพื่อให้ลดผลกระทบที่จะเกิดต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด อาคารแห่งนี้จึงมีความตั้งใจในการขอรับรองมาตรฐานสากลต่าง ๆ เช่น LEED Gold, Fitwel ประเภท Multi-tenant Base Building อาคารแรกในไทยและในเอเชีย มาตรฐานอาคารเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้อาคารระดับสากล ในระดับสูงสุด 3 ดาว และ CECI เครือข่ายความร่วมมือองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน กับการเสนอให้เป็นโครงการนำร่องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

เบื้องหลังการออกแบบ KingBridge Tower โดยเครือสหพัฒน์ อาคารสำนักงานให้เช่าที่ออกแบบโดยอยากให้คนทำงานมีความสุขที่สุด

“ยกตัวอย่างการรีไซเคิลเสาเข็มที่ใช้ในการก่อสร้าง แทนที่จะขนไปทิ้งไกล ๆ แล้วทำลาย ทั้งวงรอบจะเกิดมลพิษจากกระบวนการขนส่งที่ไม่จำเป็น เราก็หาวิธีรียูสหัวเสาเข็มมาบดแล้วใช้ในไซต์งานที่ตรงตามสเป็กได้ การใช้เทคโนโลยี Modular Toilet อย่างเช่นห้องน้ำทำสำเร็จพร้อมติดตั้ง หรือการใช้หุ่นยนต์เพื่อขนของสำหรับการก่อสร้างแทนที่แรงงานในบางประเภทงาน แม้ต้นทุนจะสูงกว่า แต่ลดขยะส่วนเกินหน้างาน ฝุ่นน้อยลง ย่นระยะเวลาก่อสร้างลง พลังงานถูกใช้อย่างรู้คุณค่ามากขึ้น ทุกคนรอบไซต์ก่อสร้างก็มีความสุข” คุณธนินธรเล่าถึงกระบวนการหน้างานในตอนนี้

“อาคารแห่งนี้เป็นอาคารแรกของเครือสหพัฒน์ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่” คุณธนินธรสรุปถึงภาพรวมของโครงการทั้งหมด​ “อาคารนี้จะเป็นทั้งไอคอนิก และ The Spirit of Synergy เป็นภาพลักษณ์ที่ให้เห็นถึงการเติบโตของเราและสิ่งที่เราทำ”

“เมื่อเรามีโอกาส เราก็อยากจะสร้างสิ่งที่ทำให้ไม่ใช่แค่พนักงานในองค์กร แต่เป็นทุกคนที่ได้มีโอกาสมาอยู่ร่วมกัน ได้สร้างความสุข สร้างรอยยิ้ม สร้างความเบิกบาน เหมือนเป็นคำตอบถึงสิ่งที่เราทำอย่างต่อเนื่อง ขยายความให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านอาคารหลังนี้ แล้วทุกคนที่เข้ามาก็จะได้รับความรู้สึกที่ว่า นี่คือสิ่งที่เครือสหพัฒน์ทำมาตลอด”

Website : www.kingbridgetower.com
หรือรับชมเรื่องราวของ KingBridge Tower ได้ที่

Writer

Avatar

ณัฐนิช ชัยดี

อดีตนักเรียนสัตวแพทย์ผู้ หลงใหลในเส้นสายสถาปัตยกรรม ก่อนผันตัวเองมาเรียน'ถาปัตย์ และเลือกเดินบนถนนสายนักเขียนหลังเรียนจบ สามสิ่งในชีวิตที่ชอบตอนนี้คือ การได้ติ่ง BNK48 ไปญี่ปุ่น และทำสีผม

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)