พวกเราใช้ชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นและดับลงอย่างรวดเร็ว นาฬิการ้องปลุกทุก 5 นาที ลุกขึ้นมาอาบน้ำ 10 นาที ชงกาแฟ 2 นาที ประชุมงาน 30 นาที บอกรักแม่ไม่ถึง 1 นาที พักผ่อนสัปดาห์ละครึ่งวัน และใช้เวลาไป-กลับดวงจันทร์แค่ 8 วันกับอีก 3 ชั่วโมงกว่าๆ การจะนึกภาพตามว่ากาลครั้งหนึ่ง กษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยต้องเสด็จประพาสยุโรปด้วยระยะเวลาติดต่อกันกว่า 8 เดือนนั้น คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากอยู่สักหน่อย
ย้อนกลับไปเมื่อ 122 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศได้เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นครั้งที่ยาวนานแสนสาหัสและเป็นครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์โลก เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจให้สำเร็จ แม้จะทรงคิดถึงบ้านเมืองและครอบครัวมากเพียงใดก็ตาม
“เวลานี้พอกินเข้าแล้วฉันช่างไม่มีความสบายเสียจริงๆ เพราะความคิดถึงบ้านเหลือที่จะอดกลั้น ให้รุ่มร้อนในอก เกรงจะฉุนเละ ต้องตั้งสติอารมณ์ ค้าขันตีเป็นที่ตั้ง” (พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ฯ, 2440)
ประเทศฮังการีเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่เสด็จประพาสในครั้งนั้น โดยพระองค์เสด็จเยือนเมืองบูดาเปสต์ รวมถึง ตำบลเกอเดอเลอะ ทางฝั่งตะวันออก และตำบลบาโบลนะ ทางฝั่งตะวันตก ตั้งแต่วันที่ 26 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2440

Budapest
หลังจากครบกำหนดการเสด็จประพาส ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับรถไฟเสด็จฯ สู่เมืองบูดาเปสต์
ระหว่างทางพระองค์ทอดพระเนตรเห็น “ไร่นาของราษฎรปลูกผักและทำนาเข้าอย่างโอตแลวีตเปนพื้น มีต้นไม้เรียงรายตามคันนา แลดูภูมิ์ฐานอย่างที่ไร่นาอย่างทางเมืองลพบุรีและพระพุทธบาท” (จดหมายเหตุฯ, 2450)
เมื่อรถไฟเทียบท่าที่สถานีรถไฟกลางเมืองบูดาเปสต์ นายบารอน บันฟี (Baron Dezső Bánffy de Losonc) นายกรัฐมนตรีของฮังการีพร้อมด้วยคณะมารอรับเสด็จตามพระบรมราชโองการของ สมเด็จพระจักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟที่ 1 (Franz Joseph I) ผู้ดำรงพระยศเป็นพระเจ้าแผ่นดินของฮังการี
ขณะนั้นเมืองบูดาเปสต์มีอายุเพียง 24 ปี ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมกันของ 3 เมือง คือเมืองบูดาและเมืองโอบูดาทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดานูบ และเมืองเปสต์ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ มีประชากรอยู่ราว 506,000 คน มีสะพานข้ามแม่น้ำทั้งหมด 4 แห่ง ส่วนอาคาร ก็มีการสร้างใหม่มากมายในช่วงนั้น (เพราะประเทศฮังการีเพิ่งฉลองครบรอบ 1,000 ปี เพียง 1 ปี ก่อนรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาส)

โรงแรมที่ประทับในคราวนั้น คือโรงแรมแกรนด์โฮเต็ลฮุงกาเรีย (2414 – 2488) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดานูบ “เปนโฮเต็ลใหญ่สบายดี” (จดหมายเหตุฯ, 2450) เสียดายที่ทุกวันนี้เราชื่นชมความงามของโรงแรมนี้ได้ผ่านภาพถ่ายโบราณเท่านั้น เพราะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงแรมโดนระเบิดจากการโจมตีทางอากาศจนราบคาบ
ตลอดระยะเวลา 5 วัน พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอย่างหนัก ทรงเริ่มต้นวันตั้งแต่ตี 5 และสิ้นสุดวันในเวลาดึกดื่น จนพระองค์ทรงสังเกตเห็นได้ถึงความเหนื่อยล้าของข้าราชบริพารที่มาด้วย
กระนั้นราษฎรท้องถิ่นก็ยังมาเฝ้ารับเสด็จรอชมพระบารมี และร้องกล่าวคำถวายพระพรชัยมงคลกันเซ็งแซ่สองข้างถนนหน้าโรงแรมและในทุกที่ที่เสด็จประพาสทุกวันทั้งเช้าค่ำ “ร้องเสียง เอเลียนๆๆๆ แปลว่า ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ พระชนมายุยืนนาน” (จดหมายเหตุฯ, 2450)
ในเย็นของวันที่ 1 พระองค์เสด็จข้ามสะพานโซ่ (Széchenyi Chain Bridge) ซึ่งเป็นสะพานแขวนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป ยาว 380 เมตร กว้าง 14 เมตร เพื่อเสด็จฯ เยือนพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินฮังการี ชมสวนหน้าพระราชวัง และวิวเมืองบูดาเปสต์ โดยมีแม่น้ำดานูบ “ใหญ่ขนาดแม่น้ำกรุงเทพฯ” (จดหมายเหตุฯ, 2450) ไหลผ่านใจกลางเมือง ทำให้พระองค์ทรงระลึกถึงกรุงเทพฯ ยามค่ำคืน

ปัจจุบันพระราชวังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์บูดาเปสต์ (Budapesti Történeti Múzeum) หอศิลป์แห่งชาติ (Magyar Nemzeti Galéria) และน้ำพุมัธยัช (Mátyás-kút) ที่เชื่อกันว่าหากโยนเหรียญลงไปในบ่อแล้วจะได้กลับมาเยือนบูดาเปสต์อีกอย่างปลอดภัย เรื่องแบบนี้ตอนฟังก็ไม่ค่อยเชื่อ แต่พอถึงหน้างานเห็นโยนกันทุกคน
ในช่วงค่ำ เสด็จฯ กลับมายังโรงแรมที่ประทับเพื่อเสวยพระกระยาหารค่ำ ก่อนจะเสด็จลงเรือกลไฟท้องตื้นเพื่อทอดพระเนตรเมืองตามลำแม่น้ำดานูบยามค่ำคืน เมื่อเรือแล่นมาถึงเกาะมาร์กิต (Margit-sziget) กลางแม่น้ำดานูบ พระองค์เสด็จประพาสบนเกาะ ทอดพระเนตรน้ำพุร้อนที่ “น้ำนั้นมีกลิ่นกำมะถันร้อนถึง 100 ดีกรีปรอทอย่างฟาเรนไฮต์” (จดหมายเหตุฯ, 2450) หลายแห่งจึงจัดให้ใช้อาบเพื่อบำบัดโรคได้

ปัจจุบันเกาะมาร์กิตมีทั้งทางเดิน ลู่วิ่ง และชายหาดที่สวยงาม คนหนุ่มสาวนิยมมาออกเดตกันที่นี่ หรือมานั่งปิกนิกกันในช่วงฤดูร้อน ส่วนนักท่องเที่ยวก็หาเช่าจักรยานมาปั่นชมวิว หรือเข้าร่วมกิจกรรมกลางแจ้งที่มีให้เลือกหลากหลายในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปีได้
ช่วงเช้าของวันที่ 2 พระองค์เสด็จฯ เยือนอาคารรัฐสภา (Országház) ซึ่งขณะนั้นยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เป็นที่จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 1,000 ปี การตั้งรกรากของชาวฮังการีที่ประเทศแห่งนี้เมื่อปีกลาย

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเข้าชมบริเวณภายในอาคารได้บางส่วนและถ่ายรูปได้ ยกเว้นบริเวณโถงโดมซึ่งเป็นที่เก็บรักษามงกุฎศักดิ์สิทธิ์แห่งฮังการี (Magyar Szent Korona) ผู้ที่สนใจชมพิธีเปลี่ยนกะทหารองครักษ์ มาชมได้ทุกวันเวลา 11.30 และ 12.30 น.

Gödöllő
ในช่วงบ่าย พระองค์เสด็จฯ เยือนนาหลวง ตำบลเกอเดอเลอะ (Gödöllő) ตั้งอยู่ห่างจากบูดาเปสต์ไปทางตะวันออกเพียง 30 กิโลเมตร ขนาดของนาหลวงนั้นกว้างพอๆ กับอำเภอหนึ่งของประเทศไทยเรา มีทั้งวังและที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินฮังการีอยู่บริเวณนี้ และพระเจ้าแผ่นดินฮังการียังพระราชทานค่านาแก่แผ่นดินฮังการีอีกด้วย

ณ ที่นั่นมีทั้งเจ้านายระดับสูงและราษฎรทั่วไปมาเฝ้าชมพระบารมี พร้อมกล่าวคำถวายพระพรชัยมงคลอยู่มิขาดสาย พระองค์ได้ทอดพระเนตร “กระบวนแห่ชาวนาแต่งตัวตามเพศฮังเกรีบ้านนอก” (จดหมายเหตุฯ, 2450) ประมาณ 200 คน ต่อด้วยการแสดงเต้นรำแบบชาวนาฮังการีเป็นคู่ๆ จากนั้นหญิงสาวชาวบ้านก็นำน้ำองุ่นมาถวาย ซึ่ง “ขวดที่ทรงดื่มนั้นชาวบ้านเรียกว่าถ้วยแต่เหมือนขวดมากกว่าถ้วย คือตัวถ้วยขนาดเท่าขวดเจียรไนใส่น้ำอบอย่างใหญ่ของเราแต่ยาวเกือบศอก…ถ้วยอย่างนี้ชาวบ้านนับถือว่าเป็นของดี” (จดหมายเหตุฯ, 2450) ก่อนเสด็จฯ กลับ โปรดเกล้าฯ ให้ช่างฉายพระบรมรูป แล้วพระราชทานเงินตราแก่เหล่าชาวนาที่มาเต้นรำในวันนั้น
ปัจจุบัน เดินทางไปเที่ยวเกอเดอเลอะได้ทั้งโดยรถไฟสมัยใหม่และรถไฟหัวจักรไอน้ำเพื่อรำลึกถึงวันวาน สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ พระราชวังหลวง (Gödöllői Királyi Kastély) พระราชวังบาโรกที่สุดแสนโรแมนติก ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่พักผ่อนที่สมเด็จพระจักรพรรดินีเอลีซาเบ็ทแห่งออสเตรีย-ฮังการี (Elisabeth of Hungary) หรือพระนางซีซี่ (Sisi) โปรดที่สุด และยังเป็นหนึ่งในพระราชวังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศฮังการีอีกด้วย

หลังเสด็จกลับเข้ามายังบูดาเปสต์ พระองค์ประทับรถไฟใต้ดินสาย 1 ซึ่งถือเป็นรถไฟใต้ดินสายแรกในภาคพื้นทวีปยุโรป เป็นสายที่ 2 ในโลกหลังจากลอนดอน (และยังใช้การได้จนถึงปัจจุบันนี้) ก่อนจะประทับรถม้ากลับโรงแรมที่ประทับเป็นคืนที่ 2 พร้อมด้วยความประทับพระราชหฤทัยที่ยากจะลืมเลือน ซึ่งทำให้พระองค์ทรงหวนระลึกถึงเมื่อคราที่รับเสด็จ ซาเรวิชนิโคลัส มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียเมื่อ พ.ศ. 2434
“เขารับรองวันนี้มันช่างสนุกสนานเสียจริงๆ ทำเช่นเรารับซาร์วิดที่บางปอิน…อาหารที่กินก็เปนแกงหมูต้มยำ ทำให้นึกถึงบ้านถึงลูกถึงเมีย จนต้องบ่นออกมาว่าสบายจนคิดถึงบ้าน” (พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ฯ, 2440)
ใครที่เคยแอบกังวลเรื่องอาหารฝรั่ง ว่าไปถึงฮังการีแล้วจะเลี่ยนไหม ขอตอบเลยว่าไม่ เพราะคนที่นี่ก็ชอบทานรสจัดเหมือนกัน แถมยังมีพริกปาปริกา (Kalocsai fűszerpaprika-őrlemény) เป็นหนึ่งในฮุงการิคุม หรือของเฉพาะที่หาได้จากที่ประเทศฮังการีเท่านั้น มาแล้วอย่าลืมหาลองทานกันดู
Bábolna
เช้าตรู่ของวันที่ 3 พระองค์เสด็จฯ เยือนนาหลวง ตำบลบาโบลนะ ตั้งอยู่ห่างจากบูดาเปสต์ไปทางตะวันตกประมาณ 100 กิโลเมตร เพื่อทอดพระเนตรวิธีทำไร่ทำนา การเลี้ยงม้าและผสมพันธุ์ม้า รวมถึงการต้อนม้าของพนักงานโรงม้าที่แต่งตัวคล้ายแขกอาหรับ

ณ โรงเลี้ยงม้าหลังหนึ่ง เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมเก้าอี้ประทับไว้บนพรม เพื่อถวายทอดพระเนตรม้าตัวเมียที่เลี้ยงไว้ขายและม้าตัวผู้ที่เลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม ทั้งพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์อาหรับ พร้อมอธิบายหน้าที่ อายุ และราคา ของม้าที่จูงออกมาทีละตัวด้วยวาจาฉะฉาน ให้บรรยากาศคล้ายแฟชั่นโชว์ม้าแห่งตำบลบาโบลนะ
ปัจจุบันบาโบลนะยังโด่งดังเรื่องการเลี้ยงและผสมพันธุ์ม้า มีทั้งโรงเลี้ยงม้าที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง Bábolna Nemzeti Ménesbirtok ที่อายุเก่าแก่เกือบ 230 ปี มีทั้งโชว์ขี่ม้า กิจกรรมนั่งรถม้า หรือกระทั่งการให้ลองขี่รถม้าเยี่ยงสุภาพบุรุษสมัยโบราณ ที่สำคัญ พันธุ์ม้าที่นี่เป็นพันธุ์ชั้นดีทั้ง Arabians และ Shagya-Arabians และโรงเรียนสอนขี่ม้าชื่อดังอย่าง Pettkó-Szandtner Tibor Lovas Szakközépiskola és Kollégium ซึ่งเปิดสอนขี่ม้าแบบจริงจัง และผลิตนักกีฬาเยาวชนไปคว้ารางวัลจากการแข่งขันขี่ม้าระดับชาติมาแล้วมากมาย

ในวันที่ 4 และ 5 พระองค์ประกอบพระราชกรณียกิจอยู่ภายในเมืองบูดาเปสต์ ได้เสด็จทอดพระเนตรร้านกระเบื้องเคลือบ Zsolnay ชื่อดังแห่งฮังการี การแข่งม้า และพิพิธภัณฑ์เพื่อการเกษตร (Mezőgazdasági Múzeum) ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณปราสาทวอยดะฮุนหยาด (Vajdahunyadvár)

นอกจากพิพิธภัณฑ์เพื่อการเกษตรแล้ว ภายในบริเวณปราสาทยังประกอบไปด้วยหมู่อาคารที่สร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมจากแต่ละยุคสมัยของประเทศฮังการี ที่ทางการสร้างขึ้นเมื่อครั้งประเทศฮังการีครบรอบ 1,000 ปี โดยใช้รถไฟใต้ดินสาย 1 เฉกเช่นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสที่นี่ได้ ถือเป็นการตามรอยเสด็จประพาสอย่างสมบูรณ์แบบ

นอกจากนั้น พระองค์ยังพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่เสนาบดีและข้าราชการฝ่ายฮังการี รวมถึงเจ้าของโรงแรมแกรนด์โฮเต็ลฮุงกาเรีย โดยได้ทรงสังเกตและชื่นชมความงามของเครื่องแต่งตัวอย่างพินิจพิเคราะห์ “เครื่องแต่งตัวผู้มีบรรดาศักดิ์ตามเพศฮังเกรีนี้งามมาก คือสวมหมวกขนสัตว์คล้ายหมวกแก๊บไม่มีกระบัง เสื้อที่สวมเปนเสื้อโหมดเทดอย่างดีสีต่างๆ อย่างรูปคล้ายกับเสื้อเยียรบับเมืองเราแต่ยาวกว่าสักหน่อย มีลูกกระดุมทองเม็ดใหญ่ประดับพลอยต่างๆ ยังมีเสื้อขนสัตว์คลุมชั้นนอกอีกชั้นหนึ่งยาวลงมาพอบีดเสื้อชั้นในได้” (จดหมายเหตุฯ, 2450)
เย็นวันที่ 5 ของการเสด็จประพาส ณ ประเทศฮังการี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับรถไฟพระที่นั่งที่ทางการจัดถวายพิเศษเพื่อเสด็จฯ ต่อไปยังประเทศรัสเซีย “เสนาบดีกราบบังคมทูลถวายไชยมงคลให้ทรงพระราชสำราญในระยะทางแลแสดงความอาไลยในทูลลอองธุลีพระบาท ด้วยพอใจในพระราชอัทยาไศรย ซึ่งได้มีขึ้นในเวลามาประทับอยู่เมืองบูดาเปสต์” (จดหมายเหตุฯ, 2450)

แม้ในวันนี้เวลาจะล่วงมากว่าศตวรรษ ฮังการีก็ยังมีความงามชั่วนิรันดร์ที่สะท้อนผ่านผืนน้ำดานูบที่มิเคยหลับใหล ทุ่งนาอันแสนกว้างใหญ่ เหล่าม้าเลี้ยงที่ยังคงทีท่าสง่างาม ตึกรามบ้านช่องสุดแสนคลาสสิก และบ่อน้ำพุร้อนสาธารณะที่ทั้งสวยงามและผ่อนคลายใจกลางกรุงบูดาเปสต์
การได้กลับไปเยือนฮังการีอีกครั้ง ก่อให้เกิดภาพแฟลชแบ็กมากมายในหัว และจุดประกายไฟแห่งการเดินทางสู่ดินแดนแห่งนี้ให้ลึกซึ้งและยาวนานขึ้นกว่าที่เคย ที่สำคัญ พระราชกรณียกิจของพระปิยมหาราชในวันนั้นก็ถูกสานต่ออย่างงดงาม และในปีนี้ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทย-ฮังการีก็ดำเนินมาครบรอบ 150 ปี แล้วฮังการีก็ยังมีความงามทั้งยามเช้า สาย บ่าย ค่ำ รอให้ทุกคนไปสัมผัสด้วยตัวเอง
ข้อมูลอ้างอิง
พระยาศรีสหเทพ (เส็ง), จดหมายเหตุ เสด็จประพาศยุโรป ร.ศ. ๑๑๖ เล่ม ๑, 2450
พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาท ขณะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖)
พัชญาณ์ ธีระวัฒน์สกุล, ใครๆ ก็ไปเที่ยวยุโรปตะวันออก เล่ม 2, 2559
รศ.วุฒิชัย มูลศิลป์, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐), 2543
Write on The Cloud
Trevlogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ