ประเทศไทยกับประเทศศรีลังกามีความสัมพันธ์กันมายาวนาน เรารับพุทธศาสนาสายลังกาวงศ์มาตั้งแต่สมัยโบราณ เมืองลังกาเคยเป็นสถานที่แสวงบุญของชาวพุทธมาก่อนที่เราจะรู้จักพุทธคยา และเมื่อพุทธศาสนาในลังกาเสื่อมลง อยุธยาได้ส่งสมณทูตเข้าไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในเกาะลังกาให้กลับคืนมาจนเป็นที่มาของพุทธศาสนานิกาย ‘สยามวงศ์’ ในลังกาปัจจุบัน แต่ยิ่งไปกว่านั้น มีวัดบนเกาะลังกาแห่งหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับราชวงศ์ไทยอยู่ด้วย วัดแห่งนั้นคือ วัดศรีปรมานันทะราชมหาวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองกอลล์ เมืองท่าทางตอนใต้ของประเทศศรีลังกา

วัดศรีปรมานันทะราชมหาวิหาร (Sri Paramananda Raja Maha Viharaya) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ‘อัฐธรรมวิหาร’ สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1824 หรือ พ.ศ. 2367 โดยมีพระเดชพระคุณ พระอรุทณวรา ปัณณะติสสะเถระ (Most ven. Aluthanuwara Pannathissa thera) เป็นผู้ก่อตั้ง ทว่า พระรูปสำคัญที่เราจะพูดถึงก็คือ พระเดชพระคุณ พระบุราทะกามา ธรรมลังกา สิริ สุมณติสสะเถโร ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. 2380 พระรูปนี้มีความชำนาญภาษาต่างประเทศหลายภาษา ในจำนวนนั้นมีภาษาไทยด้วย นอกจากนี้ ท่านยังรู้จักกับพระวชิรญาณมหาเถระ ผู้ที่ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ในการจัดตั้งโรงพิมพ์พุทธศาสนาแห่งแรกในประเทศศรีลังกาเมื่อ พ.ศ. 2405 และพระองค์ยังส่งพระราชหัตถเลขาไปยังพระเดชพระคุณ พระบุราทะกามา เถโร ให้มาจำพรรษาในช่วงเข้าพรรษาหลายครั้ง ซึ่งท่านไม่สามารถเดินทางมาได้ แต่ท่านก็เดินทางมายังประเทศสยามเพื่อเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2429 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงนิมนต์ให้พระเดชพระคุณ พระบุราทะกามา เถโร มาจำพรรษาในช่วงเข้าพรรษาซึ่งท่านก็ตอบรับ เมื่อสิ้นช่วงเข้าพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถวายพระพุทธรูปทองคำ พระบรมสารีริกธาตุบรรจุในผอบทองคำ ผ้าไตรจีวรแบบสยาม และพระไตรปิฎก แด่พระเดชพระคุณ พระบุราทะกามา เถโร ซึ่งสิ่งของทั้งหมดนั้นปัจจุบันเก็บรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด

เมื่อพระเดชพระคุณ พระบุราทะกามา เถโรมรณภาพใน พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จฯ เยือนศรีลังกาและเสด็จฯ ทอดพระเนตรวัดศรีปรมานันทะ ราชมหาวิหาร และยังทรงวางศิลาฤกษ์ศาลาการเปรียญขนาดใหญ่ และเพื่อรำลึกถึงการเสด็จฯ เยือนในครั้งนั้น ศาลาการเปรียญนี้จึงมีชื่อว่า ‘จุฬาลงกรณ์ธรรมศาลา’ วัดแห่งนี้ยังได้รับการเยี่ยมเยือนโดยผู้แทนจากประเทศไทยอยู่บ่อยครั้งจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงการเสด็จฯ เยือนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ใน พ.ศ. 2536 ซึ่งพระองค์ได้ปลูกต้นบุนนาคไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์การเสด็จฯ เยือนครั้งนั้น จุฬาลงกรณ์ธรรมศาลาได้รับความเสียหายจากสึนามิเมื่อ พ.ศ. 2547 ซึ่งทางสถานทูตไทยได้มอบเงินช่วยเหลือในการบูรณปฏิสังขรณ์

เมื่อเดินทางไปถึงวัด อาคารหลังแรกสุดที่จะเจอก่อนก็คือ จุฬาลงกรณ์ธรรมศาลา อาคารในผังกากบาทหลังคามุงกระเบื้องโดยทางทิศใต้จะมีอาคารทรงตะวันตกสูง 2 ชั้นพร้อมป้ายชื่อ 3 ภาษา คือ สิงหล ไทย และอังกฤษ ไม่เท่านั้น ยังมีจารึกประวัติของอาคารสำคัญหลังนี้เขียนโดย 3 ภาษาเอาไว้ด้วย ด้านหน้าอาคารนี้ยังมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมจารึกภาษาสิงหลและอังกฤษระบุถึงที่มาของพระบรมรูปนี้ว่า เพื่อเฉลิมฉลอง 110 ปีการเสด็จฯ เยือนวัดของรัชกาลที่ 5 โดยผู้มอบและเดินทางมาเปิดคือพระเดชพระคุณ พระราชรัตนาภรณ์ (ปัจจุบันคือพระเทพวิสุทธาภรณ์) วัดอินทรวิหาร กรุงเทพมหานคร และคณะผู้ศรัทธา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2550

พอเข้าไปในตัวอาคารจะพบห้องโถงกว้างที่ที่รองรับด้วยเสาไม้ขนุน พร้อมกับพระพุทธชินราชจำลองที่ไม่มีซุ้มเรือนแก้ว แต่เรายังสามารถสังเกตเห็นประติมากรรมรูปยักษ์ที่มุมของฐานทั้งสองด้านที่จะอยู่บริเวณฐานของซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งน่าสนใจมากว่าพระพุทธชินราชหลายองค์ที่พบในประเทศศรีลังกามักจะประดิษฐานโดยไม่มีซุ้มเรือนแก้ว ไม่เพียงเท่านั้น ที่นี่ยังมีพระเก้าอี้ที่ตั้งอยู่บนแท่นโดยส่วนท้ายสามารถเปิดออกเป็นบันไดขึ้นไปยังเก้าอี้ได้ ซึ่งน่าจะเป็นเก้าอี้สำคัญ ผมไม่ได้ถามพระในวัดว่าใช้ทำอะไร แต่สันนิษฐานว่าน่าจะอารมณ์ประมาณธรรมาสน์บ้านเรา คือให้พระขึ้นไปนั่งเทศน์ข้างบน

ในส่วนของอาคารที่มี 2 ชั้นนั้นมีพิพิธภัณฑ์ของวัดอยู่บ้านชั้น 2 ของอาคาร ภายในจัดแสดงข้าวของที่น่าสนใจหลายชิ้น แต่แน่นอนว่าชิ้นที่น่าสนใจที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นพระราชหัตถเลขาฉบับจริงของล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ในตู้กระจกซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายฉบับ โดยถูกเคลือบเอาไว้แล้ว นอกเหนือจากนั้นก็ยังมีพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พ.ศ. 2470 คัมภีร์ใบลาน ย่ามพระ พระพุทธรูปทองคำ ตาลปัตร พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และยังมีจดหมายภาษาไทยจากหลวงอนันตสมบัติ ซึ่งมีการระบุชื่อเรียกวัดแห่งนี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า บรมานันทิวิหาร แขวงเมืองคาลุณ ซึ่งก็คือคำเรียกเมืองกอลล์นั่นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งยังเป็นมกุฎราชกุมารและเสด็จฯ มายังวัดแห่งนี้เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2536 พร้อมกับลายเซ็นของพระองค์ท่านในสมุดเยี่ยม และยังมีภาพถ่ายของแท่นพิมพ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเคยอยู่ที่วัดแห่งนี้ แต่ปัจจุบันได้ย้ายไปเก็บรักษาที่วัดอีกแห่งหนึ่งแล้ว

ข้อมูลที่ได้จากเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์วัดศรีปรามานันทะราชมหาวิหารทำให้ทราบว่า วัดที่เก็บรักษาแท่นพิมพ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 คือวัดรังเวลละปูรณะมหาวิหารในย่านคาทาลูวา (Kathaluwa) ผมไม่ทราบประวัติของวัดแห่งนี้ แต่จากงานศิลปกรรมเท่าที่ปรากฏก็พอจะคาดเดาว่าน่าจะเป็นวัดสร้างในยุคแคนดี้ อายุราว 200 ปีหรือหลังจากนั้น

สถานที่เก็บรักษาแท่นพิมพ์นี้อยู่ภายในกุฏิเจ้าของเจ้าอาวาสวัดแห่งนี้ ตัวแท่นพิมพ์นี้มีรูปนกอินทรีหัวขาวติดอยู่บริเวณเครื่องถ่วงน้ำหนัก ที่เสา 2 ด้านประดับรูปคทางูไขว้หรือไม้เท้าผู้แจ้งข่าว ซึ่งในบางที่จะใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการแพทย์ด้วย น่าเสียดายว่าแท่นพิมพ์นี้ไม่ปรากฏชื่อหรือตราสัญลักษณ์ใดๆ ที่บอกชื่อบริษัทที่ผลิตแท่นพิมพ์นี้

แต่ก็เป็นโชคดีที่ผมเจอแท่นพิมพ์ที่หน้าตาคล้ายๆ กันหน้าวัดคงคาราม เมืองโคลัมโบ ทำให้รู้ว่า แท่นพิมพ์นี้เรียกว่า โคลัมเบียนเพรส (Columbian Press) แท่นพิมพ์ที่คิดค้นโดย จอร์จ ไคล์เมอร์ (George Clymer) นักประดิษฐ์และวิศวกรชาวอเมริกันในราว พ.ศ. 2357 แท่นพิมพ์นี้เดิมมีฐานการผลิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะย้ายไปยังลอนดอนและประสบความสำเร็จอย่างมาก นายไคล์เมอร์ต่อมาได้ตั้งบริษัทร่วมกับ ซามูเอล ดิกซัน (Samuel Dixon) ภายใต้ชื่อของไคล์เมอร์ ดิกซัน แอนด์ โค (Clymer, Dixon and Co.) ก่อนที่จะถูกเทกโอเวอร์โดย วิลเลียม คาร์เพนเทอร์ (William Carpenter) อย่างไรก็ตาม แท่นพิมพ์นี้ยังมีการผลิตต่อเนื่องมาจนถึงศตวรรษต่อมา โดยผลิตทั้งในสหราชอาณาจักรและหลายประเทศในยุโรป

ดังนั้น ถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปยังเมืองกอลล์แล้วเบื่อที่จะชมโบสถ์ ชมป้อม อยากลองเปลี่ยนบรรยากาศไปชมวัดบ้าง 2 วัดนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อยากจะแนะนำให้ลองไปชมครับ อีกทั้งคุณยังจะได้มีโอกาสได้สัมผัสเรื่องราวของราชวงศ์จักรีไปพร้อมๆ กันเลยครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1.  วัดศรีปรมานันทะราชมหาวิหารอยู่ค่อนข้างห่างจากย่านท่องเที่ยวของเมืองกอลล์ ดังนั้น วิธีการเดินทางที่เหมาะสมที่สุดก็คือรถตุ๊กตุ๊กซึ่งสามารถหาได้ทั่วไปในเมืองนี้ สามารถนั่งได้ 3 คนต่อ 1 คัน แต่ถ้านั่งอัดๆ กันสามารถนั่งได้ 4 คน
  2. จุฬาลงกรณ์ธรรมศาลาปกติจะปิด ต้องไปติดต่อพระในวัดให้ช่วยมาเปิดอาคารนี้ให้ชมครับ หรือถ้าโชคดีอาจจะเจอพระมาช่วยเปิดให้เพราะคิดว่าน่าจะมีคนไทยมาวัดนี้อยู่บ้าง
  3. วัดรังเวลละปูรณะมหาวิหารอยู่ห่างจากวัดศรีปรมานันทะราชมหาวิหารพอสมควร ไกลจากเมืองกอลล์กว่าเพราะอยู่ในย่านคาธาลูวา ดังนั้น ต้องใช้รถตุ๊กตุ๊กสถานเดียว อาจจะเปิดตำแหน่งในกูเกิลให้คนขับตุ๊กตุ๊กดูได้ครับ โดยเสิร์ชว่า Kathaluwa Old Temple หรืออาจให้เจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์เรียกให้ก็ได้ครับ
  4. แท่นพิมพ์ของรัชกาลที่ 4 ตั้งอยู่ภายในกุฏิเจ้าอาวาสวัด ให้ลองถามทางจากคนในวัดดูครับ อาจจะเอาภาพให้เขาดูก็ได้ครับ
  5. ถ้าใครยังอยากชมวัดอื่นอีก ขอแนะนำวัดปูรวรมะมหาวิหาร (Poorvarama Maha Viharya) วัดแห่งนี้มีรูปแบบที่น่าจะสร้างร่วมสมัยกับวัดรังเวลละปูรณะมหาวิหาร แต่วัดนี้จะมีวิหารที่ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังสมัยแคนดี้ที่เล่าเรื่องพุทธประวัติและชาดก แต่ถ้าใครดูและตีความไม่ออก คุณก็ยังสามารถชมความงามของฉากที่เริ่มมีอาคาร เครื่องแต่งกาย และเฟอร์นิเจอร์ แบบตะวันตกเข้ามาแล้ว

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ