ท่ามกลางเสียงประทัดและกลองเฉิดสิงโตในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว หรือล้ง 1919  เมื่อตรุษจีนที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใต้ศาลก็ถือโอกาสเปิดตัวเป็นทางการกับเขาด้วย ใช่แล้ว เรากำลังจะพาทุกท่านไปเยี่ยมชม ‘ร้านขายยากิเลน เต๊กเฮงหยู’ สถานที่เล่าเรื่องราว ‘ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน’ ยาสูตรจีนที่มีอายุอยู่คู่คนไทยมากว่า 128 ปี และเป็นที่มาของบริษัทโอสถสภาที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

เมื่อเราเข้ามาด้านใน เราจะรู้สึกเหมือนได้ย้อนยุคไปในบรรยากาศของร้านขายยาเก่า มีพนักงานใส่ชุดจีนต้อนรับเรียบร้อย พวกเขาเสิร์ฟน้ำอุทัยทิพย์แก้วเล็กชื่นใจ แล้วนำเราไปชมการจัดแสดงที่แบ่งโซนไว้เป็น 5 โซนหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์ ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

โซนหนึ่ง ‘จุดเริ่มต้นของใจที่ดี’ (The Founder’s table) จัดจำลองโต๊ะทำงานของผู้ก่อตั้งร้านยาเต๊กเฮงหยูคือ นายแป๊ะ แซ่ลิ้ม ผู้อพยพเข้ามาจากจีนแผ่นดินใหญ่และตั้งรกรากอยู่ที่สำเพ็ง เขาเป็นผู้ริเริ่มนำสูตรยากฤษณากลั่นจากบรรพบุรุษมาผลิตและจัดจำหน่ายในไทย โดยยานี้ขึ้นชื่อเรื่องสรรพคุณที่รักษาโรคอหิวาต์ได้อย่างชะงัด ทั้งยังเป็นยาที่ช่วยเหลือกิจการกองเสือป่าในรัชกาลที่ 6 จนทำให้นายแป๊ะได้รับพระราชทานนามสกุลโอสถานุเคราะห์ (อนุเคราะห์ผู้คนด้วยยา) นั่นเอง

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

โซนสอง ‘กายและใจที่ดี’ (Holistic Healing) ก่อนที่เราจะไปรู้จักตัวยาดังกล่าว เราก็จะต้องทำความเข้าใจเรื่องวิถีของแพทย์แผนจีนเสียก่อน ซึ่งในโซนนี้จะอธิบายเรื่องของ พลังชี่ (氣) ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของพลังทั้งมวลในร่างกายเรา ผ่าน ‘นาฬิกาชีวิต’ และ ‘กระจกส่องโรค’ ที่จะโชว์ให้เห็นว่าการเดินทางของพลังชี่ในร่างกายนั้นส่งผลกับแต่ละอวัยวะอย่างไร และเราควรจะต้องดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อให้พลังชี่อยู่ในจุดสมดุล

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

ต่อมาโซนสาม ‘กรรมวิธีที่ใส่ใจ’ (Making of Medicine)  ป็นโต๊ะยาวเล่าส่วนประกอบและกรรมวิธีกว่าจะออกมาเป็นยากฤษณากลั่น เช่น ต้องชั่ง ตวง บด ดองในแอลกอฮอล์ ฯลฯ ซึ่งตรงนี้ผู้ชมสามารถดมและจับสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดได้ด้วย (ในอนาคตอันใกล้นี้เห็นว่าจะมียาให้ชิมบนโต๊ะนี้ด้วย)

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์ ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์ ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์ ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

ในโซนที่สี่ ‘ขุมทรัพย์ของกิเลน’ จะเป็นตู้ยาจีนขนาดใหญ่ แต่ในแต่ละลิ้นชักนั้นแทนที่จะเป็นสมุนไพรหรือตัวยา กลับเป็นเรื่องเล่าที่ว่าด้วย ‘ขุมทรัพย์’ ที่เลอค่าของร้านยากิเลน อาทิ ฉลากยา, หนังสือพระราชนิพนธ์ กันป่วย ที่รัชกาลที่ 6 ตรัสถึงตัวยานี้ไว้, ตราปั๊มบริษัทที่เปลี่ยนมาแต่ละรุ่น, ตัวไม้กฤษณา, ตัวอย่างหนังขายยาซึ่งถูกคิดค้นโดยโอสถสภา เป็นต้น

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์ ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์ ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

และโซนสุดท้ายคือห้า ‘ใจที่ดี ไม่สิ้นสูญ’ (Legacy Continues) เล่าถึงความตั้งใจอันดีที่สืบทอดมาในตระกูลผู้ก่อตั้งจากอดีตจวบปัจจุบันผ่านโปสเตอร์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ส่งเสริมสุขภาพคนไทยเสมอมา (มีที่เราคุ้นบ้าง เช่น  ยาอมโบตั๋น อุทัยทิพย์ และยาธาตุ ๔ ตรากิเลน แล้วก็มีที่ไม่คุ้นเลยด้วยความเกิดไม่ทันอีกเพียบ) แถมมีสมุดให้เขียนเรื่องราวความผูกพันของคนกับยาต่างๆ เหล่านี้ด้วย

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

ถ้าพิจารณาดีๆ เราจะเห็นว่าพระเอกของนิทรรศการนี้คือ โซนขุมทรัพย์ของกิเลน หรือเจ้าตู้ยาขนาดใหญ่นี่เอง เราประทับใจวิธีเล่าเรื่องที่ตัดย่อประวัติที่ยืดยาวลงมาเป็นสิ่งของเพียงสิบกว่าชิ้นในลิ้นชัก แถมแต่ละลิ้นชักก็มีกิมมิกให้คนได้ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ทั้งอ่าน ดู จับ ดม ฟัง ฯลฯ ได้อย่างน่าสนใจ

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์ ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

ซึ่งในวันเปิดมิวเซียมนี้ เราได้รับเกียรติพูดคุยกับ คุณพลอย-คณิตา มีชูบท ศิลปินและอาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ใช้เทคนิคคอลลาจและ Paper-cutting สร้างสรรค์ผลงานที่สำรวจกายวิภาคภายในของมนุษย์ และเป็นผู้รับงานออกแบบสร้างสรรค์เรื่องราวว่าด้วยประวัติศาสตร์และการแพทย์แผนจีนในกล่องลิ้นชักเหล่านี้ด้วย

คุณพลอยเล่าถึงความประทับใจส่วนตัวที่มีต่อพิพิธภัณฑ์และการแพทย์ให้เราฟังว่า ครั้งหนึ่งเธอได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์อันเก่าแก่ที่ลอนดอน ชื่อว่า Hunterian Museum ตอนเป็นนักศึกษาปริญญาโทอยู่ที่นั่น ในมิวเซียมนั้นเธอได้พบกับ The Evelyn Tables ซึ่งแสดงส่วนต่างๆ ของร่างมนุษย์ แบ่งเป็น 4 ส่วน เป็นการแกะนำเอาเส้นเลือด เส้นประสาท ทั้งร่างมาจัดวางบนแผ่นไม้สนขนาดใหญ่ประมาณ 2 เมตร

“เมื่อเรายืนอยู่หน้าแผ่นไม้ขนาดยักษ์ทั้งสี่แผ่นนี้ รู้สึกตกตะลึงที่ได้เห็นความงดงามในร่างกายมนุษย์ เหมือนได้เห็นภาพศิลปะที่มันจริงมากๆ ทำให้คิดได้ว่า ‘We are our body.’ เราเห็นร่างกายของเราภายนอกตลอดเวลา แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ครึ่งเดียวของเรื่องราว มันทำให้ตัวเราเองอยากที่จะค้นหาความลับอีกครึ่งหนึ่งภายในร่างกายของเรา” คุณพลอยเล่า ดังนั้น เมื่อถูกทาบทามให้รับโปรเจกต์นี้ คุณพลอยจึงสนใจทันที บวกกับที่ตนเคยรู้จักยากฤษณากลั่น ตรากิเลน มาก่อนด้วย เพราะคุณปู่เคยใช้เวลาท้องเสีย!

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

ส่วนเทคนิคที่ใช้ในการทำลิ้นชักตู้ยาที่กล่าวไปนั้นก็จะเป็นเทคนิคที่เธอเชี่ยวชาญ และใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานส่วนตัว เช่น Paper-cutting สีน้ำ และการวาดเส้น (Drawing) โดยเฉพาะ Paper-cutting ที่คุณพลอยคิดว่าเป็นเทคนิคที่เหมาะสมกับภาพทางการแพทย์ เพราะมีการทำงานคล้ายแพทย์ผ่าตัดในการกรีดกระดาษซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ ในขณะที่ภาพวาดสีน้ำและการวาดเส้นก็เช่นกัน เป็นเทคนิคที่หมอผ่าตัดสมัยก่อนใช้บันทึกข้อมูลความรู้ทางการแพทย์ช่วงก่อนที่เราจะมีกล้องถ่ายรูปและกล้องส่องภายใน อย่างเช่น Anatomy Book ของ แอนเดรียส วีเซเลียส (Andrea Vesalius) เป็นต้น

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

ดังนั้น เมื่อเปิดลิ้นชักขุมทรัพย์ต่างๆ เหล่านี้ เราก็จะได้เห็นเรื่องราวถูกถ่ายทอดผ่านรูปแบบและสื่อกลางที่หลากหลาย อาทิ ลิ้นชักถอดรหัสฉลากยากฤษณากลั่นที่มีตรากิเลนสีทองเป็นโลโก้ ซึ่งนายแป๊ะเลือกมาใช้เพราะกิเลนเป็นสัตว์มงคลของจีน และสีทองยังเป็นสีของความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรือง พอเปิดลิ้นชักมาเราจะเห็นขวดยาและตัวอย่างไม้กฤษณาที่เป็นตัวยาสำคัญ

หรือลิ้นชักว่าด้วยเรื่องของสมุนไพรจีนที่เข้ามาในประเทศไทยพร้อมคนจีนอพยพ ปัจจุบันสมุนไพรเหล่านี้ได้ผสมผสานเข้ากับตำหรับยาไทย จนยากที่จะแยกออกจากสมุนไพรไทยไปเสียแล้ว นอกจากตัวสมุนไพรแล้ว ในลิ้นชักนี้ยังมีภาพเขียนเรือสำเภาจีนด้วย หรือลิ้นชัก ‘หนังขายยา’ ที่นำสื่อดิจิทัลมาผสมกับโมเดลทำมือ ฉายหนังขายยาสมัยเก่าให้ได้ดูกัน ตรงนี้จะเล่าถึงนวัตกรรมการนำยาเข้าไปขายในชนบทที่ห่างไกลพร้อมรถฉายหนัง ซึ่งบริษัทโอสถสภาเป็นเจ้าแรกที่ริเริ่ม เป็นการนำทั้งยาและความบันเทิงไปสู่เขตภูมิภาคพร้อมๆ กัน

ส่วนตัวแล้ว ลิ้นชักที่เราชอบที่สุดอาจจะเป็นแผนผัง Family Tree ที่แสดงให้เห็นผู้บริหารแต่ละรุ่น ตั้งแต่นายแป๊ะ โอสถานุเคราะห์ จนถึงรุ่นปัจจุบัน คุณเพชร โอสถานุเคราะห์ ผู้เป็นเหลน ซึ่งมองเผินๆ ลิ้นชักนี้อาจจะไม่ได้ใช้สื่อหวือหวานัก แต่ภาพเขียนสีน้ำฝีมือคุณพลอยนั้นสวยไม่แพ้ภาพเขียน Family Tree ของตระกูลเก่าแก่ในยุโรปเลยทีเดียว

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

ก่อนจะลากัน ทางทีมงานบอกเราว่า สิ่งที่ถูกจัดแสดงอยู่นี้ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะในอนาคตเขากำลังวางแผนที่จะจ้างเภสัชกร และขอใบอนุญาตเพื่อขายยาอย่างเต็มตัวในบริเวณนี้ อีกทั้งมีการวางแผนที่จะสร้างโปรแกรมกิจกรรมหรือเวิร์กช็อปให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น อบรมเรื่องการชงชาเพื่อสุขภาพ การเขียนอักษรจีน มีการเชิญหมอแมะเข้ามาวินิฉัยโรคให้เบื้องต้นในร้าน เป็นต้น

ทั้งหมดนี้แน่นอนว่าไม่ได้มุ่งหวังกำไรแต่อย่างใด เช่นเดียวกับยากฤษณากลั่นที่ยังคงราคาถูกแทบขาดทุน แต่มันเป็นตัวแทนอุดมการณ์และคุณธรรมที่มีค่าสำคัญยิ่งของบริษัทโอสถสภาที่ต้องคงไว้ และเล่าสืบต่อไปให้สังคมได้รับรู้  แถมในอนาคตก็มีแผนที่จะต่อยอด ทำ Pop-up Museum แบบนี้ไว้ตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ หรือในต่างประเทศด้วย

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์ ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

จะว่าไปแล้วพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยการแพทย์ในไทยนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เรามีทั้งพิพิธภัณฑ์ศิริราช บ้านหมอหวาน พิพิธภัณฑ์ห้างยาเบอร์ลิน พิพิธภัณฑ์หัวเฮียวเฉลิมพระเกียรติ ร้านเจ้ากรมเป๋อ ฯลฯ แต่การเปิดตัวของ ‘ร้านยาเต๊กเฮงหยู’ ก็ยังถือเป็นการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งของวงการแพทย์ในบ้านเรา โดยเฉพาะทำให้เห็นถึงความหลากหลายและการผสมผสานของศาสตร์ต่างๆ จากหลายวัฒนธรรมได้อย่างน่าสนใจ

แน่นอนว่าแพทย์แต่ละศาสตร์นั้นมีตรรกะและระบบการทำงานที่ไม่เหมือนกัน ในฐานะคนดู การที่มีตัวเลือกให้การศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากมุมมองที่หลากหลายถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเยี่ยม แม้ว่า ‘ข้อเท็จจริง’ ที่ถูกจัดแสดงในแต่ละแห่งนั้นอาจจะไปในทางเดียวกันบ้างหรือขัดกันบ้าง แต่มันก็ช่วยให้คนดูได้เห็นภาพใหญ่ที่สมบูรณ์มากขึ้น และสร้างวิจารณญาณของตัวเอง ตัดสินใจ เลือกที่จะเชื่อ ‘ความจริง’ แบบไหนที่ตรงจริตกับร่างกายและจิตใจของเรามากที่สุด

“อยากให้มาดูเพราะเป็นการจัดแสดงที่พิเศษจริงๆ ค่ะ” เป็นคำเชิญชวนที่คุณพลอยฝากทิ้งท้าย ซึ่งเราเห็นด้วยอย่างมาก

ร้านยาเต็กเฮงหยู, พิพิธภัณฑ์

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล